ครั้งที่ 358

18 มีนาคม 2561 14:37 น.

       "ทางเดินริมแม่น้ำเพื่อประโยชน์สาธารณะ"
       
       เมื่อวันเสาร์ที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา ชาวเมืองปารีสรวมตัวกันเป็นจำนวนมากเพื่อเรียกร้องให้มีการทบทวนการใช้ถนนเลียบแม่น้ำ Seine ฝั่งขวาซึ่งเดิมเคยเป็นถนนสำหรับรถวิ่งแต่ต่อมาเทศบาลเมืองปารีสก็ได้เปลี่ยนการใช้ถนนจากให้รถวิ่งมาเป็นการใช้ถนนสำหรับการพักผ่อนโดยปิดถนนให้ผู้คนมาเดินเล่น ผู้ที่มาร่วมชุมนุมส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ใช้ถนนเลียบแม่น้ำเพื่อพักผ่อน เช่น เดินเล่น ออกกำลัง ขี่จักรยานในช่องทางที่ทำไว้สำหรับจักรยาน เป็นต้น ในการเรียกร้อง กลุ่มบุคคลเหล่านั้นชูประเด็นที่ว่าถนนเลียบแม่น้ำเป็นของประชาชนทุกคน ควรเปลี่ยนการใช้ถนนให้เป็นที่พักผ่อนของประชาชนมากกว่าให้เป็นถนนที่มีรถวิ่งเนื่องจากปัจจุบันนั้นเมืองปารีสมีมลพิษมากเพียงพออยู่แล้ว
       
       ปัจจุบัน ทางเดินริมแม่น้ำ Seine ฝั่งซ้ายมีสถานะเป็นที่สาธารณะและที่เดินเล่นของประชาชน ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ Seine ในเขต 7 ของเมืองปารีสระหว่างสะพาน Alma และพิพิธภัณฑ์ d’Orsay ทางเดินสร้างขึ้นในรูปแบบของถนนตามความยาวของแม่น้ำ Seine ฝั่งซ้าย มีสวนลอยน้ำ 5 แห่ง ปลูกต้นไม้สวยงาม มีพื้นที่สำหรับการแสดง พื้นที่ออกกำลัง ร้านกาแฟ มีตู้คอนเทนเนอร์กระจกกว้างให้เช่าสำหรับใช้เป็นที่ประชุม มีสวนเด็กเล่น มีกำแพงให้ปีนป่ายเล่น ใช้เป็นที่สอนแอโรบิก มีพื้นที่แสดงภาพถ่าย ฯลฯ
       
       สำหรับความเป็นมาของทางเดินริมแม่น้ำ Seine ฝั่งซ้ายนั้น ในปี ค.ศ. 1961 ได้มีการสร้างถนนเลียบแม่น้ำเพื่อลดปัญหาการจราจรในเมืองปารีส ต่อมาในปี ค.ศ. 2001 ได้มีการปิดถนนดังกล่าวในวันอาทิตย์เพื่อให้ประชาชนทั่วไปใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ นับแต่ปี ค.ศ. 2008 มีการปิดถนนดังกล่าวเป็นการถาวรเพื่อให้ใช้เป็นทางเดินสาธารณะ มีการก่อสร้างและปรับเปลี่ยนถนนให้เป็นทางเดินสาธารณะและเปิดใช้อย่างเป็นทางการในปี ค.ศ.2013 ทางเดินริมแม่น้ำนี้สามารถปิดและเคลื่อนย้ายสิ่งของทั้งหมดออกไปได้ใน 24 ชั่วโมงหากเกิดน้ำท่วมขึ้น ทางเดินดังกล่าวมีระยะทางประมาณ 2.3 กิโลเมตร
       
       ส่วนฝั่งขวาของแม่น้ำ Seine ยังเป็นถนนที่รถวิ่งได้ ซึ่งก็มีข้อมูลออกมานำเสนอว่าคนที่ใช้ถนนฝั่งขวาของแม่น้ำเป็นทางเพื่อที่จะผ่านกรุงปารีสไปยังที่อื่นๆนั้นส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นคนที่อาศัยอยู่ในปารีส เพราะฉะนั้นจึงไม่เดือดร้อนกับมลพิษที่เกิดขึ้นจากรถของตนในขณะที่ชาวเมืองปารีสเองซึ่งต้องการสถานที่พักผ่อนหย่อนใจเพิ่มมากขึ้นและไม่ต้องการให้เมืองมีมลพิษมากขึ้นก็ต้องการที่จะเปลี่ยนถนนเลียบแม่น้ำฝั่งขวาให้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจเหมือนกับทางเดินริมแม่น้ำฝั่งซ้าย
       
       จริงๆแล้วหากเราคุ้นเคยกับวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของคนฝรั่งเศสก็จะพบว่าเป็นชนชาติที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการใช้ชีวิตนอกเวลางานมาก รัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างก็มีหน้าที่จัดทำบริการสาธารณะในหลายๆรูปแบบเพื่อสนองตอบต่อความต้องการของประชาชนไม่ว่าจะเป็นการสร้างสวนสาธารณะ สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์หรือแม้กระทั่งจัดงานต่างๆขึ้นทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นเพื่อให้ประชาชนได้มีกิจกรรมนอกเวลาทำงาน แต่ในขณะเดียวกัน การทำถนนหนทางสำหรับรถวิ่งก็เป็นบริการสาธารณะอีกประเภทหนึ่งที่ทั้งรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างก็ต้องดำเนินการ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีความสมดุลในระหว่างการจัดทำบริการสาธารณะทั้งสองประเภท เรื่องที่เกิดขึ้นในเมืองปารีสนั้นจะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจที่กล้าหาญเพราะการปิดถนนเส้นหนึ่งอย่างถาวรและเปลี่ยนถนนเส้นนั้นเป็นทางเดินให้คนมาเดินเล่นและพักผ่อนหย่อนใจก็จะมีทั้งคนพอใจและคนไม่พอใจ บรรดาผู้ที่เคยใช้ถนนเลียบแม่น้ำเพื่อเป็นทางเลี่ยงเมืองไปยังจุดต่างๆเมื่อไม่ได้ใช้ก็ต้องย้อนกลับมาใช้ถนนเส้นเดิมที่อยู่ในเมืองปารีสซึ่งก็จะทำให้เกิดปัญหารถติดเพิ่มมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะฉะนั้น จึงต้องรอดูกันต่อไปว่านายกเทศมนตรีจะตัดสินใจในการดำเนินการอย่างไรซึ่งเรื่องนี้แม้ว่าเทศบาลเมืองปารีสจะเป็นเจ้าของพื้นที่แต่เนื่องจากส่วนกลางคือกระทรวงต่างๆ หน่วยงานรัฐรวมไปถึงที่ทำการรัฐบาลและทำเนียบประธานาธิบดีก็อยู่ในเมืองปารีสด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้น จึงไม่แน่ใจนักว่าการตัดสินใจของนายกเทศมนตรีจะสามารถทำโดยปราศจากการแทรกแซงใดๆจากรัฐได้หรือไม่
       
       ประเทศไทยเราก็มีปัญหาลักษณะเดียวกันนี้เกิดขึ้นเช่นกันโดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา รัฐบาลมีโครงการที่จะสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ เป็นทางจักรยาน ได้มีการจ้างสถาบันการศึกษาสำรวจออกแบบและจัดทำแผนแม่บท สรุปก็คือจะมีการก่อสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่งเป็นทางคอนกรีตขนาดใหญ่กว้าง 10 เมตรสร้างคร่อมบนแม่น้ำเจ้าพระยาข้างละ 7 กิโลเมตร รวมสองฝั่งเป็น 14 กิโลเมตร เริ่มจากสะพานพระรามเจ็ดจนถึงสะพานพระปิ่นเกล้า โครงการนี้เป็นโครงการนำร่องเพราะเท่าที่ทราบก็จะมีการสร้างต่อไปอีกหลายช่วง มีคนออกมาคัดค้านเป็นจำนวนมากทั้งสถาปนิก วิศวกรและนักอนุรักษ์ต่างๆ ซึ่งโครงการสร้างถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาของประเทศไทยนั้นจะแตกต่างไปจากโครงการของประเทศฝรั่งเศสซึ่งมีถนนอยู่แล้วแต่จะเปลี่ยนการใช้ประโยชน์จากให้รถวิ่งมาเป็นให้คนเดิน ส่วนในประเทศไทยยังไม่มีถนนเลียบแม่น้ำแต่จะสร้างถนนเลียบแม่น้ำขึ้นมาใหม่โดยต้องสร้างลงไปในแม่น้ำเนื่องจากที่ดินริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาส่วนใหญ่เป็นที่ดินส่วนบุคคล มีแต่บ้านเรือน โรงแรม ร้านอาหารเป็นจำนวนมาก ใครก็ตามที่ต้องการใช้ประโยชน์จากการพักผ่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยาก็จะไม่สามารถทำได้โดยง่ายเพราะมีพื้นที่เพียงไม่กี่จุดที่เราสามารถเข้าไปถึงริมแม่น้ำเจ้าพระยาได้โดยไม่ต้องไปผ่านที่ของบุคคลอื่นหรือไม่ต้องไปเสียเงินนั่งทานอาหารแพงๆตามโรงแรมต่างๆที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะฉะนั้น ปัญหาประการแรกของเราก็คือที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยานั้นต่างก็เป็นสมบัติส่วนตัวของเจ้าของที่ดินที่อยู่ริมแม่น้ำ ปัญหาประการต่อมาก็คือโครงการสร้างถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยานี้จะเป็นการสร้างถนนลงไปบนแม่น้ำซึ่งก็จะทำให้แม่น้ำแคบเข้ามา การเดินเรือก็คงจะลำบากขึ้นเพราะแม่น้ำแคบลง โครงการที่จะสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยานี้คงต้องถูกคัดค้านเป็นอย่างมากทั้งจากผู้ใช้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นทางสัญจรและจากบรรดาเจ้าของที่ดินที่อยู่ริมแม่น้ำรวมไปถึงโรงแรมและร้านอาหารต่างๆด้วยเพราะเดิมคนและสถานที่เหล่านี้เป็นเจ้าของบรรยากาศหรือขายบรรยากาศริมแม่น้ำเจ้าพระยา หากโครงการที่จะสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาเกิดขึ้น ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาก็จะมีถนนขวางอยู่ด้านหน้า ทำให้บรรดาเจ้าของที่ที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยานั้นไม่สามารถใช้ประโยชน์จากแม่น้ำเจ้าพระยาได้ดังเช่นที่เคยทำมาตลอด
       
       ไม่ทราบว่าจนถึงปัจจุบัน โครงการสร้างถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาหายเงียบไปไหน มีการดำเนินการก่อสร้างหรือยังก็ไม่ทราบ แต่ที่แน่นอนก็คือมีการคัดค้านจากกลุ่มบุคคลเป็นจำนวนมาก ก็คงจะเหมือนกับที่เกิดขึ้นในประเทศฝรั่งเศสนั่นเองที่มีคนคัดค้าน เพียงแต่ว่าการคัดค้านเป็นคนละวัตถุประสงค์กัน ก็คงต้องมารอดูกันว่าในที่สุดแล้ว รัฐหรือแม้กระทั่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของทั้งสองประเทศจะแก้ปัญหาอย่างไรกับความต้องการของประชาชนสองกลุ่มที่ขัดแย้งกันและก็ดูเหมือนว่าความต้องการของประชาชนทั้งสองกลุ่มที่ขัดแย้งกันนั้นต่างก็มีประเด็นร่วมกันก็คือเพื่อประโยชน์สาธารณะด้วยกันทั้งสองฝ่ายเพราะถนนก็เป็นประโยชน์สาธารณะ ปิดถนนเพื่อให้คนเดินก็เป็นประโยชน์สาธารณะ เช่นเดียวกับในประเทศไทย การสร้างถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาก็เพื่อประโยชน์สาธารณะ ในขณะเดียวกัน การใช้แม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งน่าจะมีปัญหาตามมาหลังจากการมีถนนก็เป็นการใช้แม่น้ำเพื่อประโยชน์สาธารณะเช่นเดียวกันครับ
       
       ไม่ว่าจะเลือกทางใด ข้อขัดแย้งก็คงต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ครับ !!!
       
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอสองบทความด้วยกัน บทความแรก เป็นบทความของ อาจารย์ลัดดาวัลย์ อุทัยนา หัวหน้าภาควิชากฎหมายหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม และ คุณกวี อุ้งเภา นิติกรปฏิบัติการ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา ที่เขียนเรื่อง "เงื่อนไขความชอบด้วยกฎหมายในการออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01)"  บทความที่สองเป็นบทความของคุณชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ ที่เขียนเรื่อง "การกระจายอำนาจคืออนาคตของประเทศไทย" ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสองไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ 
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 2 เมษายน 2561
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ 
        
        


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=2013
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 07:39 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)