|
|
การปฏิวัติที่ไม่สมประกอบ : ผ่านความคิดที่ถูกครอบโดยภาษา-ศาสนา 18 กุมภาพันธ์ 2561 18:31 น.
|
สังคมเพื่อสัตว์กับการปฏิบัติเยี่ยงมนุษย์
เราจะเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ว่าเป็นการปฏิวัติได้อย่างไร หากปราศจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ในเรื่อง Animal Farm ภายหลังเหตุการณ์ที่บรรดาสัตว์ต่างๆ เชื่อว่าการปฏิวัติได้เกิดขึ้นแล้ว และการปฏิวัตินี้จะนำไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม เป็นชีวิตที่ไร้ซึ่งการขูดรีดจากมนุษย์ผู้ที่ไม่เคยทำงานอะไรเลย ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นกลับไม่ได้ดีไปกว่าการปกครองของมนุษย์ เช่น สัตว์ยังคงต้องทำงานอย่างหนักและหนักมากขึ้นกว่าเดิม มีการจัดตั้งองค์กรต่างๆ เพื่อแบ่งงานกันทำ การสร้างกฎเกณฑ์ พิธีกรรม เกิดการแบ่งแยกชนชั้นว่าใครควรเป็นผู้ปกครอง ใครควรทำงานอะไร รวมถึงการแบ่งแยกว่าใครที่ควรเป็นสมาชิกของฟาร์มและใครไม่ใช่สมาชิกของฟาร์มเป็นต้น ซึ่งการแบ่งแยกนี้ล้วนอยู่บนฐานของผลประโยชน์ทั้งสิ้น เห็นได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นภายในฟาร์มหลังการปฏิวัตินี้ มิได้มีความแตกต่างไปจากสิ่งที่เกิดขึ้นในสมัยที่มนุษย์ปกครองเลย แต่กลับเป็นการผลิตซ้ำและการสร้างคำอธิบายใหม่โดยหมู เพื่อสร้างความเห็นพ้องต้องกัน (consent) ในการอยู่ร่วมกันของสังคมสัตว์ผ่านการอ้างแนวคิด (ideology) ของหมูท่านผู้พันที่ได้เสียชีวิตไปแล้วเป็นเครื่องมือหลักในการสร้างสังคมแห่งสัตว์ขึ้นมา และดำเนินรอยตามแบบแผนการปกครองเดิมของมนุษย์ ดังนั้นจึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจเลยว่าเหตุใดสัตว์ในฟาร์มจึงมิได้รู้สึกยินดีมีความสุขอย่างที่คาดหวังไว้ เพราะการปฏิวัติที่เกิดขึ้นในฟาร์มแห่งนี้ก็ไม่ได้ต่างอะไรไปจากการเปลี่ยนเหล้าเก่าไปขวดใหม่ อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในฟาร์มแห่งนี้กลับสามารถสะท้อนสภาพสังคมมนุษย์ที่เต็มไปด้วยการกดขี่ควบคุมบงการจากผู้มีอำนาจได้เป็นอย่างดี
บัญญัติ 7 ประการกับการศึกษาของใคร
ใครสร้างใครใช้ใครปกครอง
ภายหลังการปฏิวัติที่ไม่คาดคิดมาก่อนประสบความสำเร็จ ในนามของความรู้เราจะเห็นได้ว่าหมูได้กลายมาเป็นกลุ่มคนที่ขึ้นมามีบทบาทในการอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นและชี้นำสังคมว่าควรดำเนินไปในทิศทางใด และสัตว์อื่นต่างให้การยอมรับอำนาจนี้เป็นอย่างดี จะเห็นได้ว่าในการสรุปบัญญัติ 7 ประการล้วนถูกกำหนดโดยหมู อธิบายโดยหมู ผ่านการศึกษาของหมูแต่เพียงกลุ่มเดียว ซึ่งต่อมาบัญญัติเหล่านี้ได้กลายเป็นฐานความชอบธรรมในการปกครองของหมูในเวลาต่อมา แม้ว่าในช่วงแรกของการร่างบัญญัตินั้น ต้องได้รับความเห็นชอบจากสัตว์อื่น แต่มันจะมีประโยชน์อันใดหากสัตว์เหล่านั้นไม่มีความสามารถในเข้าใจบัญญัติเหล่านั้นได้ด้วยตัวเอง หากแต่ต้องพึ่งหมูที่ผูกขาดความรู้ในการช่วยอธิบาย ดังนั้นการยอมรับบัญญัติ 7 ประการของสัตว์ในฟาร์มจึงเท่ากับการยอมรับอำนาจของหมูในฐานะของผู้ที่สูงส่งกว่าโดยปริยาย แม้ว่าหมูจะใช้อำนาจอย่างบิดเบือนก็ตาม สัตว์อื่นก็มิอาจโต้แย้งได้เนื่องจากเป็นสิ่งที่อยู่เหนือกว่าการรับรู้ของตัวเองจึงมิอาจโต้แย้งได้
การรับรู้ของสัตว์อื่นกับความเป็นอื่นของความหมาย
การเปลี่ยนไปของบัญญัติ 7 ประการ ซึ่งเกิดจากการใช้อำนาจอย่างบิดเบือนของหมู ทว่ากลับไร้การโต้แย้งจากสัตว์อื่นนั้นสามารถสะท้อนถึงความเป็นจริงทางสังคมของมนุษย์เราได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าในสังคมการเมืองใดๆ ความรู้และภาษาถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปกครองอย่างทรงประสิทธิภาพ เนื่องจากมันสามารถควบคุมการรับรู้ของคนในสังคมได้ ดังเช่นสิ่งที่เกิดขึ้นในฟาร์ม เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การเปลี่ยนแปลงไปของบัญญัติ 7 ประการจึงไม่ได้สร้างความผิดแปลกไปจากการรับรู้และความรู้สึกของสัตว์ในฟาร์ม เนื่องจากการรับรู้สิ่งเหล่านั้นไม่ได้เกิดขึ้นจริง หากแต่เป็นเพียงการรับรู้ผ่านการครอบงำคำอธิบายจากหมู โดยการใช้ rhetoric ต่างๆ เป็นเครื่องมือในการโน้มน้าวใจให้สัตว์ในฟาร์มเชื่อว่าความจริงเป็นอย่างไร และควรจะเป็นอย่างไร ดังนั้นบัญญัติ 7 ประการจึงไม่ได้มีคุณค่าและมีความหมายตั้งแต่แรก แต่เป็นเพียงการจารึกตัวอักษรที่ว่างเปล่าจากความหมายเท่านั้นเอง และเมื่อสัตว์อื่นในฟาร์มมิอาจเข้าใจบัญญัตินี้แต่แรก ก็ทำให้หมูสามารถใช้อำนาจการตีความในนามของความรู้ที่เหนือกว่าเข้ามาครอบงำสังคมได้อย่างไร้ข้อครหา ในฐานะของผู้นำที่ชอบธรรม และความว่างเปล่าจากความหมายของบัญญัตินี้เองที่เปิดทางให้หมูสามารถตีความเพื่อประโยชน์ของตัวเองได้อย่างไร้ขีดจำกัด ตราบเท่าที่หมูยังสามารถอธิบายและโน้มน้าวใจสัตว์อื่นในฟาร์มให้เชื่อตามตนได้
ศาสนาที่ไม่เคยหายไปจากการเมือง
ในฐานะความเขลาจากอดีตถึงปัจจุบัน
หากมองย้อนกลับไปในอดีต เราจะเห็นได้ว่าศาสนากับการเมืองนั้นเป็นสิ่งที่ยากต่อการแยกออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด เป็นเรื่องที่มีพื้นที่ทับซ้อนและใกล้ชิดกันเป็นอย่างมาก ในทางหนึ่งเราอาจกล่าวได้ว่าศาสนาเป็นเครื่องมือของการเมือง หรือในบางบริบทการเมืองเองก็เป็นเครื่องมือของศาสนาเช่นกัน สองสิ่งนี้มีความคล้ายคลึงกัน ทั้งคู่เป็นศูนย์รวมและที่ยึดเหนี่ยวของคนในสังคม โดยหากพิจารณากลไกการทำงานของศาสนาแล้วจะเห็นได้ว่า ศาสนาคือสิ่งที่เข้าถึงผู้คนผ่านความศรัทธาและปราศจากการตั้งคำถามใดๆ ศาสนาจะมีคำตอบให้เราเสมอเพียงแค่เราศรัทธา ดังนั้นศาสนาจึงไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแค่การเชื่อมโยงคนในสังคมเข้าด้วยกันแต่ยังเป็นสิ่งที่กำกับแนวทางการใช้ชีวิตของเราด้วย
ผู้เขียนได้ซ่อนเรื่องราวนี้เอาไว้ผ่าน กาชื่อโมเสก ในตอนต้นของเรื่องโมเสกถูกอธิบายว่าเป็นกาเลี้ยงของนายโจนส์ ที่วันๆ ไม่ทำงานอะไรคอยแต่จะเล่าเรื่องราวดินแดนภูเขาลูกกวาดให้สัตว์อื่นๆ ฟัง ซึ่งดินแดนภูเขาลูกกวาดนี้เป็นโลกหลังความตายอันแสนสุขสบาย สถานที่ซึ่งบรรดาสัตว์ไม่ต้องทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อยหรือลำบากอีกต่อไป มีอาหารให้กินตลอดไม่มีหมด และมีแสงอาทิตย์ที่ไม่เคยสิ้นสุด เป็นต้น ภายหลังการปฏิวัติความคิดของโมเสกนั้นถูกต่อต้านเป็นอย่างมากจากหมูและถูกโจมตีว่าเป็นความคิดที่ไร้สาระ ไม่สมควรได้รับความเชื่อถืออีกต่อไป โดยการต่อต้านศาสนาของหมูนี้เป็นการเสียดสีแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์ ดังเช่นมุมมองของ Marx ที่ว่า ศาสนาก็เปรียบเสมือนฝิ่น ที่สามรถยุติความเหน็ดเหนื่อยได้และสร้างความสุขได้เพียงชั่วคราว แต่หาใช่ความสุขที่ยืนยาวไม่… ในทางหนึ่งเสมือนว่าหมูคือผู้นำทางการเมืองที่พยายามผลักดันแนวคิด Animalism ให้มาแทนที่ ศาสนาที่โมเสกเผยแพร่อยู่ในอดีต
สิ่งที่น่าสนใจคือเหตุใดความคิดของโมเสกกลับกลายเป็นสิ่งที่สัตว์ทั้งหลายยอมรับ หากคำบอกเล่าของโมเสกคือการเผยแพร่ศาสนา แสดงให้เห็นว่าความเชื่อชุดนี้เป็นสิ่งที่ทำให้สัตว์ในฟาร์มยอมจำนนต่อชะตาชีวิต และไม่ตั้งคำถามใดๆ ต่อผู้ปกครอง เพราะเชื่อว่าในช่วงชีวิตนี้ไม่สามารถมีชีวิตที่ดีขึ้นได้เพราะชะตาได้ถูกกำหนดเอาไว้แล้ว ทำให้สัตว์ยอมทำงานอย่างหนักต่อไป โดยหวังว่าจะได้พบกับความสุขสบายหลังจากที่ตายไปแล้วในดินแดนภูเขาลูกกวาด ฉะนั้น ความคิดของกาโมเสกจึงเป็นสิ่งที่ต้องลบล้าง เพื่อให้แนวคิด Animalism ได้รับการยอมรับแทน ผ่านการอธิบายโดยหมูว่า ต่อไปนี้ผลประโยชน์ทั้งหมดจะเป็นของสัตว์และสัตว์จะลิขิตชะตาชีวิตของตัวเอง เมื่อแนวคิดของหมูได้รับการยอมรับก็จะทำให้สัตว์ในฟาร์มพร้อมอุทิศตนเพื่อการทำงานอย่างเต็มที่และเต็มใจ ซึ่งส่งผลดีต่อหมูผู้ปกครองในฐานะผู้ชี้นำทางความคิด ซึ่งสามารถสร้างผลประโยชน์ให้กับตัวเองได้ ในฐานะของผู้ตีความ ผู้ชี้นำ และผู้แบ่งบันผลประโยชน์ เป็นต้น
ในตอนท้ายของเรื่อง การกดขี่ขูดรีดของหมูโดยการให้สัตว์ในฟาร์มทำงานอย่างหนัก เพื่อผลประโยชน์ของหมูก็ยังคงดำเนินต่อไป ภายใต้การบงการของนโปเลียน และแล้วกาโมเสกก็ได้ย้อนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง และสิ่งที่น่าสนใจคือเหตุใดนโปเลียนจึงต้องยอมรับการกลับมาของมัน และยังแบ่งปันเบียร์และขนมปังให้โมเสกอีกด้วย เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่า นโปเลียนจำเป็นต้องยอมรับการกลับมาของโมเสก แม้ว่าศาสนาของโมเสกเป็นสิ่งที่ขัดแย้งต่อความเชื่อหลักของหมู เนื่องจากการนำเสนอความเชื่อใหม่ให้กับสังคมเป็นสิ่งที่กระทำได้อยาก ดังนั้น เพื่อให้สังคมยอมรับแนวคิดใหม่นี้ (Animalism) ศาสนาจึงต้องถูกทำให้หายไป แต่ท้ายที่สุดก็จะเห็นได้ว่าการกำจัดศาสนาจากการเมืองนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้จริง โดยเฉพาะเมื่อการปฏิวัติในฟาร์มได้เกิดขึ้นแล้ว แต่ความสุขสบายและความเท่าเทียมกลับไม่ได้เกิดขึ้นตามมาด้วย ซึ่งผิดไปจากสิ่งที่สัตว์ในฟาร์มคาดหวังเอาไว้ สัตว์ในฟาร์มกลับต้องทำงานหนักมากขึ้นแต่กลับได้รับส่วนแบ่งที่น้อยลง สภาพความจริงที่เกิดขึ้นนี้ทำให้แนวคิด Animalism ไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงอีกต่อไป เมื่อความคาดหวังต่อสิ่งใหม่เสื่อมถอยลง นโปเลียนจึงจำเป็นต้องเปิดทางให้กับการกลับเข้ามาของศาสนา เพื่อให้สัตว์ในฟาร์มมีที่พึ่งทางใจ มีความหวังและเป้าหมายในชีวิตในการทำงานต่อไป ในแง่นี้จะเห็นได้ว่าศาสนายังคงเป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องนำมาใช้แม้ว่าจะไม่ได้ถูกใจผู้ปกครอง
อำนาจคงอยู่ได้อย่างไร
ความชอบธรรม
จะเห็นได้ว่าการปฏิวัติคงเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดคำอธิบายของหมูในฐานะสัตว์ที่มีสติปัญญามากที่สุดและได้รับการยอมรับจากสัตว์อื่นในฟาร์ม การยอมรับจากสัตว์อื่นในฐานะของผู้มีสติปัญญามากที่สุดนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของความชอบธรรมของหมู เมื่อได้รับความชอบธรรมเท่ากับว่าหมูคือผู้ที่ถูกต้อง ดังนั้นการตัดสินใจต่างๆ ของหมูจึงถูกต้องตามไปด้วยและการเป็นการตัดสินใจที่ดี เนื่องจากเป็นการตัดสินใจของผู้ที่ฉลาดที่สุด แม้ว่าในบางครั้งหมูจะมีความเห็นไม่ตรงกัน แต่หากผลประโยชน์ลงตัว หมูก็พร้อมที่จะสามัคคีกัน เช่น เรื่องนมวัวกับแอปเปิลที่อ้างว่ามีประโยชน์ต่อหมู และหมูสมควรได้รับเพราะเป็นผู้ใช้สติปัญญาในการจัดการฟาร์ม จากข้ออ้างนี้จะเห็นว่า นอกจากหมูจะเป็นผู้ที่ถือครองความรู้แล้ว หมูก็ยังเป็นผู้ที่ผูกขาดการตีความด้วย แม้ว่าจะต้องมีการโหวตรับรองนโยบายก่อนการปฏิบัติก็ตาม แต่ข้อเสนอทั้งหมดก็ถูกคิดโดยหมูอยู่ดี ดังนั้นไม่ว่าจะเลือกนโยบายอะไรก็อยู่ภายใต้การควบคุมของหมูทั้งสิ้น และการโหวตรับรองก็เป็นเพียงหนึ่งในเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมให้กับหมูเท่านั้น นอกจากนั้นยังมีเครื่องมืออื่นๆ อีกด้วย เช่น พิธีกรรม การจัดโครงสร้างทางสังคม โดยที่หมูอยู่จุดสูงสุดเป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนสนับสนุนการอยู่ในอำนาจของหมู
ความกลัว
นอกจากการสร้างความชอบธรรมแล้ว ความกลัวยังเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ทำให้บรรดาสัตว์ในฟาร์มต่างยอมรับในความรู้ของหมู หากพิจารณาในแง่ความกลัวในอย่างแรกคือ ความกลัวต่อมนุษย์ เพราะมนุษย์คือสิ่งชั่วร้ายที่คอยกดขี่สัตว์ หมูใช้ข้ออ้างนี้ในการอ้างกับสัตว์อื่นในการปกครอง เพื่อสร้างความกลัวต่อการกลับมาของมนุษย์ ส่วนความกลัวต่อมานั้นเป็นความกลัวที่เกิดขึ้นจากการสร้างศัตรูทางการเมือง หรือหมูสโนบอล ที่ถูกทำให้กลายเป็นผู้ร้ายที่มีพลังมากและเป็นผู้ทรยศต่อสังคม สมควรต้องถูกลงโทษ แต่ในความเป็นจริงหมูสโนบอลนี้กลับไม่ได้เป็นผู้ร้ายที่แท้จริง แต่เป็นเพียงสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสร้างความหวาดกลัวในสังคม ทำให้สัตว์ที่เชื่อเกิดความหวาดกลัวและยอมรับการปกครองของหมู นโปเลียนที่อ้างความปลอดภัย อีกทั้งความกลัวกลัวต่อผู้ปกครองหรือหมูนโปเลียน ความหวาดกลัวนี้เกิดขึ้นผ่านการใช้อำนาจอย่างเด็ดขาด รุนแรง โดยเห็นได้จากการที่นโปเลียนมีสุนัขอารักขาถึง 9 ตัวและพร้อมที่จะกำจัดผู้เห็นต่างจากตนเองอย่างโหดร้าย ทำให้สัตว์ตัวอื่นในฟาร์มต่างไม่กล้าที่จะขัดขืนต่ออำนาจ แม้ว่าจะมีการต่อต้านในบางครั้ง เช่นในกรณีของแม่ไก่ที่ไม่ยอมไข่เพื่อไปขายตามนโยบายของท่านผู้นำ ทำให้ให้แม่ไก่ต้องอดข้าวตายไปจำนวนหนึ่งและต้องยอมแพ้ในที่สุด เพราะไม่มีใครกล้าให้ความช่วยเหลือเป็นต้น
ความเชื่อความศรัทธา
หมูสามารถสร้างความเชื่อมั่นได้เป็นอย่างดีผ่านการอธิบายสิ่งต่างๆ โดยหมู สคีลเลอร์ ที่มีความสามารถในการพูดเป็นอย่างมาก ทำให้สัตว์อื่นเชื่อฟังการปกครองของหมูได้เป็นอย่างดี จะเห็นได้ว่าเมื่อสัตว์ในฟาร์มเกิดความศรัทธาต่อระบอบใหม่ และเชื่อว่ามันช่วยให้ชีวิตของสัตว์ดียิ่งขึ้น แต่ภายใต้ความเชื่อความศรัทธาที่ปราศจากความรู้นี้เองทำให้สัตว์อื่นไม่สามรถหลุดพ้นจากการโน้มน้าวใจของหมูได้ และความศรัทธาต่อการเปลี่ยนแปลง(การปฏิวัติ)นี้เอง คือสิ่งที่หมูใช้เป็นเครื่องมือในการสนับสนุนอำนาจของตัวเอง และการสร้างความเชื่อนี้ไม่ได้มีความจำเป็นเลยที่สัตว์ทุกตัวต้องเชื่อและศรัทธาในหมู และระบอบการปกครองใหม่ เพียงแค่สามารถทำให้สัตว์ที่มีพลังมากที่สุดเชื่อได้ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้หมูคงอยู่ในอำนาจต่อไปได้ ดังเช่น ม้าบ๊อกเซอร์ ที่มีคติว่า ฉันจะต้องทำงานให้หนักขึ้นมากกว่านี้ หรือ นโปเลียนพูดถูกเสมอ เป็นตน
Reality is shaped by word
ภาษาสถาปนาอำนาจให้หมู
อาจกล่าวได้ว่าภาษาคือทางผ่านของอำนาจ ซึ่งเห็นได้ว่าหมูคือผู้ที่ผูกขาดการใช้ภาษาในเรื่องโดยที่สัตว์อื่นไม่สามารถเข้าถึงสิ่งนี้ได้ การใช้ภาษาในการเข้าสู่อำนาจของหมูนั้นได้เริ่มต้นตั้งแต่ก่อนการปฏิวัติ จากการอธิบายแนวคิดของท่านผู้พันให้สัตว์อื่นๆ เข้าใจได้โดยง่าย ผ่านภาษาของหมูเอง ดังนั้นภายใต้บริบทนี้ หมูได้ใช้ภาษาเพื่อสถาปนารากฐานความชอบธรรมให้กับตัวเองไปแล้วในขั้นแรก และภายหลังการปฏิวัติก็จะเห็นได้ว่าหมูสามารถขึ้นมามีบทบาทในการชี้นำสัตว์อื่นได้โดยง่ายอย่างเห็นได้ชัดผ่านโครงสร้างทางภาษาที่ตัวเองได้สร้างไว้แล้ว ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการผูกขาดอำนาจในการใช้ภาษานี้จึงเป็นสิ่งที่สะท้อนด้วยว่าใครคือผู้ที่ใช้อำนาจโดยแท้จริง นอกจากนั้นอำนาจของหมูในการใช้ภาษายังเป็นสิ่งที่นำไปสู่การเข้าถึงองค์ความรู้อื่น เช่นการอ่านหนังสือของมนุษย์เป็นต้น และภาษายังเป็นพื้นฐานในการสร้างความชอบธรรมให้กับหมูในฐานะผู้รู้อีกด้วย เพราะการผูกขาดอำนาจนี้ได้รวมไปถึงการตีความด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจึงไม่มีสัตว์ตัวใดที่สามารถโต้แย้งต่อความคิดเห็นของหมูได้ นอกจากนั้นจะเห็นได้ว่าอำนาจของหมูถูกใช้ผ่านภาษาแทบทั้งสิ้น เช่น การอธิบายบัญญัติ 7 ประการ หรือการอธิบายแนวคิด Animalism เป็นต้น ซึ่งรวมไปถึงเพลงต่างๆ ที่ถูกแต่งขึ้นมาด้วย
หมูใช้ภาษาเป็นเครื่องมือการปกครอง ความชอบธรรม การโน้มนาวใจ
หากเรามองภาษาในฐานะกรอบที่กำกับการรับรู้ของคนในสังคม เห็นได้ว่าหมู สคีลเลอร์ หนึ่งในตัวหลักของเรื่องนั้นเป็นสัตว์ที่มีความสามารถในการใช้ภาษาได้อย่างยอดเยี่ยม หมูตัวนี้สามารถอธิบายคลายความสงสัยให้กับสัตว์อื่นได้เป็นอย่างดีเกี่ยวกับความจำเป็นต่างๆ ในฟาร์ม ที่สัตว์อื่นในฟาร์มต้องทำงาน หรือที่ต้องเสียสละเพื่อส่วนรวมและสามารถโน้มน้าวใจสัตว์ตัวอื่นให้เชื่อความแนวคิดของหมูได้ เห็นได้จากเนื้อเรื่อง ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์เลวร้ายเพียงใด หมูสคีลเลอร์ ก็สามารถเรียกความเชื่อมั่นจากสัตว์อื่นให้เชื่อในการปกครองของหมูได้เสมอ ผ่านการใช้ภาษาของเขาในการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจกับสัตว์อื่นในสังคม ทั้งการอธิบาย การกล่าวสุนทรพจน์ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าภาษามิได้ถูกใช้เพียงเพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันในสังคมหนึ่งๆ แต่ยังทำหน้าที่กำกับการรับรู้ความเข้าใจและประสบการณ์ของสังคมนั้นๆด้วย
นอกจากนั้นสคีลเลอร์ยังเป็นตัวละครที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของตัวผู้นำ เนื่องจากคุณสมบัติหนึ่งของผู้นำก็คือความสามารถในการพูด ดังเช่นหมูสโนบอลที่มีความสามารถในการพูดที่เก่งมากจึงสามารถขึ้นมามีอำนาจได้ในช่วงแรก แต่เขากลับไม่สามารถทำให้สคีลเลอร์มาอยู่ข้างเขาได้ จึงถูกโค่นล้มในที่สุด และทางกลับกันจะเห็นได้ว่าหมู นโปเลียนนั้นแทบไม่มีความสามารถในการพูดเลย แต่เขาสามารถใช้สคีลเลอร์ให้เป็นกระบอกเสียงของเขาได้อย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวได้ว่าสคีลเลอร์นั้นเปรียบเสมือนภาษาที่ถูกใช้โดยผู้มีอำนาจที่แท้จริงคือนโปเลียน และคำถามที่น่าสนใจคือเหตุใดนโปเลียนจึงสามารถทำให้หมูสคีลเลอร์มารับใช้ตัวเองได้
การผูกขาดการตีความ ผ่านความกำกวมของภาษา
ภายใต้บริบทโครงสร้างทางภาษาที่หมูใช้ในการสื่อสารกับสังคมนั้นจะเห็นได้ว่าเป็นภาษาที่เต็มไปด้วยความกำกวม ซึ่งเอื้อต่อการใช้อำนาจการตีความของหมู เนื่องจากความกำกวมนี้ทำให้สัตว์อื่นในฟาร์มไม่สามารถเข้าใจภาษานี้ได้ด้วยตัวเอง แต่ต้องคอยอาศัยการตีความจากหมูเท่านั้น ซึ่งยิ่งทำให้การใช้อำนาจของหมูมีขอบเขตที่กว้างออกไปด้วย เช่นในบัญญัติ 7 ประการ เช่น สองขาเลว สี่ขาดี จากวลีนี้จะเห็นได้ว่าการนิยามว่าอะไรบ้างที่เป็นสองขาที่ดีหรือไม่ดี ต้องได้รับคำอธิบายเพิ่มจากหมู เป็นต้น การอธิบายเพิ่มนี้เองที่เอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการตีความใหม่เพื่อผลประโยชน์ของหมู เนื่องจากเป็นกระบวนการผลิตซ้ำที่ทำโดยหมูทั้งสิ้น เมื่อถ้อยคำถูกเปลี่ยนเป็น สี่ขาดี สองขาดีกว่า ดังนั้นความเข้าใจทั้งหมดในการสื่อสารกับสังคมจึงถูกกำกับโดยหมู แม้ว่านโปเลียนจะละเมิดกฎอย่างรุนแรงหลายครั้ง แต่ก็ไม่ถูกต่อต้านจากสัตว์อื่น เนื่องจากสัตว์ทั้งหลายในฟาร์มต่างไม่ได้ตระหนักถึงความจริงที่เกิดขึ้น เพราะความจริงที่สามารถรับรู้ได้ล้วนต้องใช้หมูอธิบาย เพราะภาษาเป็นสิ่งที่เกินกว่าสัตว์ในฟาร์มจะเข้าใจได้ด้วยตนเอง และอีกหนึ่งเหตุผลคือ การที่สัตว์อื่นติดอยู่ภายใต้กรอบความภาคภูมิใจจากการกล่อมเกลาของผู้มีอำนาจ ซึ่งการติดอยู่ภายใต้กรอบนี้ในทางหนึ่งทำให้บรรดาสัตว์ในฟาร์มยังคงเชื่อและปฏิบัติตามผู้นำอยู่นั่นเอง ดั้งนั้นแม้ว่าผู้นำนั้นจะเป็นอย่างก็สามารถควบคุมความคิดของคนในสังคมได้เสมอ หากเขาสามารถควบคุมภาษาได้
สรุป
ภาษาเป็นสิ่งสะท้อนความเปราะบางของความเป็นมนุษย์
จากงานเขียนนี้ผู้แต่งได้สะท้อนความเปราะปางของความเป็นมนุษย์ได้เป็นอย่างดี ผ่านการรับรู้ภาษาของคนในสังคม ซึ่งมักถูกชักจูงผ่านภาษาที่กินใจหรือที่ตรงกับความในใจของเรา เนื่องจากขาดการคิดวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วน ทำให้คนจำนวนมากในสังคมถูกใช้เป็นเพียงเครื่องมือทางการเมืองของคนบางกลุ่มเท่านั้น ซึ่งในบางครั้งเราไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าถูกครอบงำด้วยกรอบอำนาจแห่งภาษาเหล่านี้ เนื่องจากความเคยชิน เฉกเช่นเดียวกับสัตว์รุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นในฟาร์มดังคำที่ว่า ช่วงเวลานั้นยาวนาน แต่ชีวิตสัตว์นั้นแสนสั้นนัก… การถูกกล่อมเกลาโดยสังคมอย่างที่เราไม่รู้ตัวนี้เองที่มักทำให้เราถูกปกครองโดยไม่รู้สึกถึงการกดขี่ ความเป็นชาตินิยมของเรานี้ทำให้เรามีความเชื่อมันในรัฐบาล ซึ่งในที่นี้จะเห็นได้ว่าไม่ใช่เฉพาะรัฐที่เป็นเผด็จการเท่านั้น อย่างเช่น วาทะอมตะของเคเนดี้ ที่กล่าวว่า อย่าถามว่าประเทศให้อะไรกับคุณ แต่จงถามว่าคุณให้อะไรแก่ประเทศ จะเห็นได้ว่าไม่ว่าในระบบการปกครองรูปแบบใดต่างก็มีการเรียกร้องให้พลเมืองต้องอุทิศตนต่อรัฐเสมอ ผ่านความเชื่อที่ว่าหากคุณทำจะนำมาซึ่งความเจริญและความผาสุกของคนส่วนใหญ่ แต่แท้จริงแล้วความเป็นจริงในสังคมกลับไม่ได้ดีขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น หากพิจารณาโครงสร้างของรัฐที่ประกอบไปด้วยภาคส่วนสถาบันต่างๆ จะเห็นได้ว่าสถาบันเหล่านั้นไม่ได้ทำหน้าที่เพียงเป็นกลไกลการทำงานของรัฐ แต่ยังทำหน้าที่ผลิตซ้ำวาทะกรรม การโฆษณาชวนเชื่ออยู่เสมอ ดั้งนั้นแม้ว่าถ้อยคำที่เราได้ยินจะกินใจสักเพียงใด ในความเป็นจริงเราก็ไม่ควรเชื่อและอุทิศตนโดยทันที โดยเฉพาะคำพูดที่มาจากนักการเมือง
ในนามของผู้ใต้ปกครองและผู้อุทิศตน
แนวคิดของศาสนาสอนให้สัตว์ในฟาร์มต้องอดทนและทำงานอย่างหนักและใช้ความศรัทธาเพื่อรอคอยการไปสู่ชีวิตที่ดีในภายหน้า ในขณะที่การปฏิวัติซึ่งต่อต้านศาสนาก็ต้องใช้ความศรัทธาและการรอคอยเช่นกัน ทั้งสองสิ่งนี้ทำให้เกิดความหวัง และการไปสู่ชีวิตที่ดีไม่ว่าในทางใดก็ล้วนบีบบังคับให้สัตว์ผู้ใต้ปกครองต้องยอมรับชะตากรรมตัวเองในปัจจุบัน หากเป็นเช่นนี้แล้วการเมืองกับศาสนานั้นแตกต่างกันอย่างไร ในฐานะผู้ใต้ปกครองมีจุดใดพวกเขาได้ประโยชน์จากมันจริงๆ หรือแท้ที่จริงแล้วอุดมการณ์และความหวังที่ผู้นำคอยป้อนให้กับเราก็คือฝิ่นในรูปแบบหนึ่ง ซึ่งไม่ได้ต่างไปจากฝิ่นในศาสนาที่ Marx ได้กล่าวไว้เลย
แด่สหาย ห่าน ผู้กล้าหาญ อะไรกันที่ทำให้เรารู้สึกผิดต่อสิ่งที่ไม่ได้มีอยู่จริงและพร้อมจะตายเพื่อมันได้ ข้าวสาลี 6 รวงหรือว่าการถูกครอบงำโดยสมบูรณ์จากผู้ปกครอง การตายของห่านนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นจริงในสังคมบางอย่างที่เรารับรู้ร่วมกันแต่ก็มิอาจพูดออกมาได้ อะไรบางอย่างที่เรารู้ว่ามันไม่ถูกต้องแต่เราก็ยังคงเชื่อต่อไปว่าการตายของเรานั้นจะเปลี่ยนสังคมที่ไม่ถูกต้องนี้ให้ดีขึ้นได้ ซึ่งหากพิจารณาจะเห็นได้ว่าในสังคมที่เราใช้ชีวิตอยู่นั้นมีคนจำนวนมากที่เป็นเช่นห่าน นอกจากนั้น การสารภาพผิดของห่านยังสะท้อนถึงความยอมจำนนต่อระบบอย่างที่สุด ความรู้สึกผิดอย่างมหันต์นี้ได้นำไปสู่ความตายของห่าน หรือว่ามันเป็นเพียงทางออกเดียวที่สามารถปลดแอกความเป็นทาสของตัวเองได้ แต่ท้ายที่สุดความเสียสละนี้ก็ไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไร แล้วในสังคมไทยนั้นต้องมีห่านอีกกี่ตัวที่ต้องเสียสละชีวิต สังคมจึงจะเปลี่ยนแปลง
แด่สหายเบนจามินผู้แสนน่ารังเกียจ ผู้มีความรู้และผู้เห็นแก่ตัว ลามีความเชื่อเสมอว่า ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ก็ตามชีวิตยังดำเนินต่อไปเหมือนเดิมคืออย่างลำเค็ญ แม้ว่าลาจะเป็นผู้ที่มีความรู้ที่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ แต่กลับเพิกเฉยต่อสิ่งนี้ เป็นผู้ที่ปล่อยให้ความไม่ถูกต้องดำเนินต่อไปโดยไม่สนใจใยดีต่อสิ่งใด ลาเป็นเพื่อนสนิทกับม้าบ๊อกเซอร์ ซึ่งเป็นสัตว์ที่ทรงพลังมากที่สุด แต่กลับปล่อยให้เพื่อนเชื่อในสิ่งที่ผิดและต้องตายในที่สุดทั้งที่มีโอกาสมากมายในการบอกกล่าว หากลาโน้มน้าวและทำให้บ๊อกเซอร์ใช้พลังของตัวเองได้ในทางที่ถูกต้องได้ หมูคงไม่อาจปกครองอย่างกดขี่ต่อไปได้ ในหลายๆ ครั้งที่สังคมเกิดวิกฤติก็มักจะมาจากการเพิกเฉยของผู้ที่มีความรู้ ผ่านมุมมองที่มีความเห็นแก่ตัวของคนในสังคมที่มองว่านี่ไม่ใช่เรื่องของตัวเอง ในทางหนึ่งแม้ว่าลาจะยังคงไม่ตาย แต่ก็ได้สะท้อนจิตวิญญาณสามัญสำนึกต่อส่วนรวมที่ได้ตายไปแล้ว ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่น่ากลัวกว่าการตายของ ห่าน เป็นอย่างมาก เนื่องจากหากจิตวิญญาณสำนึกต่อส่วนรวมได้หายไปจากสังคม แม้ว่าคนจะมีความรู้แต่การกดขี่ก็จะยังคงดำเนินต่อไป ดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
หากจะต้องเลือกว่าจะเป็นสัตว์ตัวใด ข้าพเจ้าจะขอเป็น ลาที่มีจิตวิญญาณของห่าน เราไม่จำเป็นต้องใช้จิตวิญญาณเพื่อรับใช้อุดมการณ์อย่างสุดตัว แต่จงใช้จิตวิญญาณเพื่อทำดีต่อสังคมรอบข้างเรา เราไม่จำเป็นต้องใช้ความรู้อย่างเห็นแก่ตัว แต่จงใช้ความรู้เพื่อช่วยเหลือสังคมรอบข้าง เราไม่จำเป็นต้องวางเฉยต่อมิตรภาพและสังคมรอบตัว แต่จงวางเฉยต่อสิ่งที่เป็นภัยได้และอย่าเอาตัวเองเข้าไปในความเสี่ยง
Propaganda only successes if people are gullible
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=2006
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 11:49 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|