|
|
สภาพลเมืองเชียงใหม่ : ประชาธิปไตยที่ปฏิบัติได้ 18 กุมภาพันธ์ 2561 18:31 น.
|
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 ก.พ.61 ที่ผ่านมาได้มีการเปิดประชุมสภาพลเมืองเชียงใหม่ ครั้งที่ 1/2561 เพื่อพิจารณาประเด็นปัญหาคลองแม่ข่าเป็นประเด็นหลัก และปัญหาอื่นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมือง โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมอย่างคับคั่งทั้งจากภาคประชาชนชาวเชียงใหม่ซึ่งประกอบไปด้วยชุมชนริมฝั่งคลองแม่ข่า 27 ชุมชน ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และภาครัฐซึ่งประกอบไปด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่คนปัจจุบันและผู้ว่าฯคนก่อนหน้า, นายช่างใหญ่ฯจากสนง.ชลประทานฯ,ผู้แทนคณะกรรมาธิการฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.),ผู้แทนผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่33,รองนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ทั้ง 3 ท่าน ฯลฯ
สภาพลเมืองคืออะไร
สภาพลเมือง (Civil Juries หรือ Citizen Juries) เป็นรูปแบบที่ใช้ในสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ทศวรรษ 70s โดยมีการคัดเลือกลูกขุนมาจำนวนหนึ่งเพื่อทำหน้าที่พิจารณากิจกรรมต่างๆ ซึ่งอาจจะใช้ระยะเวลามากน้อยแล้วแต่ภารกิจ โดยสภาพลเมืองนี้จะเป็นตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ (Interest Groups) โดยคณะลูกขุน (ซึ่งของไทยเราผมใช้คำว่า สภาพลเมือง แทนเพื่อมิให้สับสนกับคำว่าลูกขุนในระบบศาล) จะทำหน้าที่ฟังการอภิปรายหรือการชี้แจงของฝ่ายต่างๆ รวมทั้งซักถามและฟังเหตุผลของแต่ละฝ่าย โดยเรื่องราวต่างๆ ที่จะเข้าสู่สภาพลเมืองนี้จะเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะที่จะต้องร่วมกันตัดสินใจโดยใช้หลักของการมีฉันทามติร่วมกัน (concencus) แทนการโหวตเพื่อเอาแพ้เอาชนะ
สภาพลเมืองเชียงใหม่มหานคร
สภาพลเมืองเชียงใหม่มหานครได้เปิดประชุมไปแล้วหลายครั้งตั้งแต่ปี2555 ในหลายหัวข้อ อาทิ หัวข้อที่เกี่ยวกับวาระขนส่งสาธารณะ หัวข้อ จากคุ้มสู่คอก จากคอกสู่อะไร ซึ่งเป็นการร่วมกันหาทางออกในการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณให้รื้อถอนอดีตเรือนจำเชียงใหม่ที่สร้างทับเวียงแก้วที่เชื่อกันว่าเป็นพระราชวังเดิมของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ว่าควรจะมีทิศทางไปในแนวทางจนได้ข้อยุติในที่สุด ฯลฯ ล่าสุดก่อนหน้านี้ก็คือการเปิดประชุมสภาพลเมืองสีเขียวเพื่อเรียกร้องให้กรมธนารักษ์คืนพื้นที่ที่จะสร้างบ้านพักข้าราชการกลางเมืองย่านการศึกษาข้างโรงเรียนเรยินาวิทยาลัย เพื่อมาทำเป็นสวนสาธารณะแทน จนประสบความสำเร็จ
การเปิดประชุมสภาพลเมืองเชียงใหม่มหานครจะมีการเชิญผู้ที่มีความรู้ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ โบราณคดี สังคมวิทยา รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ ฯลฯ มาให้ความรู้เกี่ยวกับประเด็นหหรือหัวข้อที่จะประชุมฯก่อนสั้นๆ แล้วจึงเปิดให้มีการอภิปรายแลกเปลี่ยนกัน หากมีประเด็นที่จะต้องให้ผู้ทรงคุณวุฒิอธิบายก็จะมีการแทรกเป็นระยะๆ ซึ่งจะสามารถนำฉันทามติจากประชุมไปเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหา ที่สำคัญคือเป็นการเปิดห้องเรียนประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง(สามารถค้นคว้าเพิ่มเติมได้ที่ http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=1515)
ปัญหาคลองแม่ข่า
คลองแม่ข่าเป็น 1 ใน 7 ชัยมงคลของเมืองเชียงใหม่ที่มีมาตั้งแต่สมัยพญามังรายที่สร้างเมืองเชียงใหม่มา กว่า 720 ปีแล้ว แต่เพิ่งมาเปลี่ยนสภาพเป็นน้ำเสียเมื่อ30-40 ปีที่ผ่านมานี้เอง เหตุที่ปัญหาคลองแม่ข่าได้ถูกนำขึ้นมาสู่สภาพลเมืองนั้นก็เนื่องเพราะเหตุว่าจากการที่ได้มีการเสนอให้เชียงใหม่เป็นเมืองมรดกโลก โดยเมื่อปี 60ที่ผ่านมาผมได้โพสต์ลงในเฟซบุ๊กว่าเชียงใหม่ยังเป็นมรดกโลกไม่ได้หรอกถ้าน้ำแม่ข่ายังสกปรกหรือดำปี๋อยู่อย่างนี้ หลังจากนั้นก็มีการแสดงความคิดเห็นตามมาอย่างมากมาย และผมก็ได้ลงเรือสำรวจคลองแม่ข่าพร้อมกับชาวบ้านซึ่งพบว่าทัศนียภาพของสองฝั่งคลองแม่ข่านั้นสวยงามมากแต่มีข้อเสียคือการมีน้ำสกปรกเท่านั้น และเมื่อผมได้นำรูปภาพการสำรวจฯลงไปโพสต์ในเฟซบุ๊กอีกทำให้บริษัทเชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด(Chiang Mai Social Enterprise - CSE)ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งโดยภาคธุรกิจของเชียงใหม่ที่มาร่วมทุนกันโดยไม่มีการปันผลคืนผู้ถือหุ้น แต่จะนำไปลงทุนในกิจการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมแทนซึ่งผมก็เป็นกรรมการฯคนหนึ่งด้วย เกิดความสนใจที่ร่วมเข้ามาแก้ปัญหาด้วย
จากการที่ผมได้สำรวจและศึกษาพบว่าปัญหาคลองแม่ข่านั้นเกิดขึ้นเพราะการขาดการบูรณาการของภาคส่วนต่างๆ ซึ่งต่างคนต่างทำแม้ว่าจังหวัดจะมีแผนแม่บทเป็นการเฉพาะก็ตามแต่ก็ติดขัดด้วยปัญหาของโครงสร้างของการบริหารราชการแผ่นดินที่ทับซ้อนกันระว่างราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องท้องถิ่น และที่สำคัญที่สุดคือเกือบทุกฝ่ายต่างเพ่งโทษไปที่นักธุรกิจและชาวบ้านสองฝั่งคลองว่าเป็นผู้ร้ายทำให้น้ำแม่ข่าสกปรก แต่สำหรับผมแล้วเห็นว่าทั้งภาคธุรกิจและชาวบ้านสองฝั่งคลองคือพลังสำคัญในการแก้ไขปัญหาที่จะขาดเสียมิได้ และยิ่งภาคธุรกิจและภาคพลเมืองยิ่งเข้มแข็งก็จะยิ่งทำให้ปํญหาแก้ไขได้ง่ายและเป็นระบบขึ้น
จากการประชุมฯที่ผ่านมาทำให้ทราบว่าได้มีการค้นคว้าวิจัยไว้อย่างดีจากทั้งสถาบันการศึกษาทั้งจากภายในและต่างประเทศ ส่วนราชการต่างๆได้ทำกิจกรรมโครงการไว้มากมายแต่ชาวบ้านไม่ทราบ เปรียบเสมือนคนตาบอดคลำช้าง บ้างคลำงวง บ้างคลำขา บ้างคลำหาง บ้างคลำหู ฯลฯ แต่เมื่อมีการนำมาเสนอให้ทุกฝ่ายได้ทราบในการประชุมสภาพลเมืองเชียงใหม่จึงทำให้ทราบว่าแท้ที่จริง ปัญหาคลองแม่ข่าซึ่งเปรียบเสมือน ช้างนั้นเป็นอย่างไรและควรจะแก้ไขอย่างไร
ที่ประชุมได้ข้อยุติด้วยฉันทามติว่าจะมีการร่วมกันปรึกษาหารือในการไขปัญหาและการที่จะมีโครงการต่างๆลงมานั้นควรที่จะมีการให้ชาวบ้านหรือประชาชนมีส่วนร่วมในการรับรู้หรือร่วมพิจารณาด้วย บนหลักการที่ว่า ไม่มีใครรู้ปัญหาท้องถิ่นดีกว่าคนท้องถิ่นนั่นเอง
จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าประชาธิปไตยนั้นมีหลายรูปแบบ ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือโดยสภาพลเมืองก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งนอกจากประชาธิปไตยทางตรงหรือประชาธิปไตยแบบตัวแทนเท่านั้น
ความเจริญรุ่งเรืองของวัฒนธรรมการเมืองการปกครองมีวิวัฒนาการผ่านการลองผิดลองถูกมาอย่างยาวนาน สภาพลเมืองเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ผมเชื่อว่าจะสามารถบรรเทาปัญหาความยุ่งยากทางการเมืองของไทยเราที่ผ่านมา แม้ว่าสภาพลเมืองอาจจะเป็นประชาธิปไตยที่กินไม่ได้ แต่ผมยืนยันว่าสภาพลเมืองเป็นประชาธิปไตยที่ปฏิบัติได้อย่างแน่นอนครับ
------------
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=2005
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 13:48 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|