ประเภทของคำสั่งทางปกครองกับการทุเลาการบังคับคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๕๖ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙

4 กุมภาพันธ์ 2561 15:05 น.

       ผู้เขียนเคยกล่าวไว้หลายครั้งในหลายคราวว่า การที่จะศึกษาและรู้พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ อย่างถ่องแท้และถูกตรงตามหลักข้อความคิด (concept)  ของคำสั่งทางปกครองที่เป็นหลักการและทฤษฎีอันเป็นที่ยอมรับของสากลประเทศ ลำดับเริ่มแรกคือการรู้จัก “ประเภทของคำสั่งทางปกครอง” หากไม่รู้จักประเภทของคำสั่งทางปกครองแล้ว ลำพังอ่านตัวบทลายลักษณ์อักษรแต่เพียงเดียวอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดในปรับใช้และตีความกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองได้
       การทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง (เป็นภาษาที่เข้าใจกันทั่วไป ซึ่งไม่ถูกต้องตามโครงสร้างระบบกฎหมาย หมวดหมู่ของตัวบท ที่ถูกต้องแล้วจะต้องเรียกว่า “การทุเลาการบังคับใช้มาตรการบังคับทางปกครอง” แต่ผู้เขียนขอเรียกว่า การทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง ตามภาษาทั่วไปเพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจง่าย)  เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ผู้อ่านแต่ตัวบทลายลักษณ์อักษรแล้วไปเข้าใจผิดๆ ว่า เจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งมีอำนาจทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองได้ทุกกรณี โดยที่ไม่รู้ว่า การทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองจะมีได้เฉพาะแต่คำสั่งทางปกครองบางประเภทเท่านั้น
       หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๕๖ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า
        “เจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองมีอำนาจที่จะพิจารณาใช้มาตรการบังคับทางปกครองเพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งของตนได้ตามบทบัญญัติในส่วนนี้ เว้นแต่จะมีการสั่งให้ทุเลาการบังคับไว้ก่อนโดยเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งนั้นเอง ผู้มีอำนาจพิจารณาคำอุทธรณ์หรือผู้มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยความถูกต้องของคำสั่งทางปกครองดังกล่าว”  
       การทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองได้ คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองได้อธิบายวางหลักกฎหมายอย่างชัดแจ้งว่า การทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองจะมีได้เฉพาะแต่คำสั่งทางปกครองให้กระทำดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ตามเรื่องเสร็จที่ ๗๙๙/๒๕๕๕  เรื่อง การทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง : กรณีคำสั่งปลดออกจากราชการ  
       “คำสั่งลงโทษ ปลดออกจากราชการเป็นมติของ ก.ค.ศ. ซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาต้องสั่งตามมติดังกล่าว ตามวรรคสามของมาตรา ๑๐๔ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและ  บุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗ โดย ก.ค.ศ. เป็นองค์กรที่ใช้อำนาจซึ่งมีผลผูกพันเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา หากเลขาธิการ คณะกรรมการการอาชีวศึกษามีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งปลดออกจากราชการซึ่งต้องสั่งตามมติของ ก.ค.ศ. จึง เท่ากับเป็นการโต้แย้งคำสั่งขององค์กรที่ตนต้องผูกพันนั้น ประกอบกับคำสั่งปลดออกจากราชการเป็นคำสั่งที่มีผลให้ผู้ถูกลงโทษต้องออกจากราชการทันที การยับยั้งผลของคำสั่งดังกล่าวจะต้องยกเลิกหรือเพิกถอนคำสั่งนั้นด้วยการ พิจารณาอุทธรณ์หรือการฟ้องคดีต่อศาล หากผู้มีคำสั่งปลดออกจากราชการสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งเสียเอง ก็เท่ากับเป็นการยอมรับว่าคำสั่งของตนไม่ถูกต้อง ซึ่งชอบที่จะยกเลิกหรือเพิกถอนคำสั่งของตนเสีย โดยไม่จำเป็นต้องทุเลาการบังคับตามคำสั่งปลดออกจากราชการไว้ก่อนแต่อย่างใด และหากต่อมามีการยกเลิกหรือเพิกถอนคำสั่งลงโทษให้ปลดออกจากราชการดังกล่าว บุคคลนั้นก็ชอบที่จะได้รับการเยียวยาความเสียหายที่ตนได้รับจากคำสั่งปลดออกจากราชการนั้นในภายหลังได้ ดังนั้น เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาจึงไม่มีอำนาจที่จะสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งลงโทษปลดออกจากราชการได้เพราะต้องผูกพันตามมติ ก.ค.ศ. ในการสั่งลงโทษ ทางวินัย”
       เมื่ออ่านบทบัญญัติมาตรา ๕๖ วรรคหนึ่ง ประกอบความเห็นคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เรื่องเสร็จที่ ๗๙๙/๒๕๕๕ แล้ว บางคนสงสัยไม่เข้าใจว่า ในเมื่อตัวบทกฎหมายเขียนว่า เจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งนั้นมีอำนาจการสั่งให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งไว้ก่อนได้ แต่ทำไมคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองจึงกลับเห็นว่า เจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งนั้นไม่มีอำนาจทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองที่ตนเองเป็นผู้ออกคำสั่งได้  ซึ่งขัดแย้งกับตัวบทชัดๆ  นั้นย่อมแสดงว่า คนผู้นั้นไม่เข้าใจถึงประเภทของคำสั่งทางปกครอง จึงไม่เข้าใจในข้อความคิด (concept) ของการบังคับทางปกครองและการทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองในการอ่านบทบัญญัติมาตรา ๕๖ วรรคหนึ่ง นั้นเอง
       อันที่จริงแล้ว ความเห็นคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เรื่องเสร็จที่ ๗๙๙/๒๕๕๕ เป็นการตีความกฎหมายให้เป็นตามเจตนารมณ์ตามหลักตีความคือ การตีความอย่างสอดคล้องกันเป็นระบบ (Systematic Interpretation)[1] และการตีความตามความมุ่งหมาย (Teleological Interpretation)[2] ที่ถูกต้องตามหลักการและทฤษฎีทุกประการ ดังจะอธิบายได้จากประเภทของคำสั่งทางปกครองในแง่ของการก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ตามลักษณะสภาพของผลบังคับ ดังนี้
        
       ประเภทผลผลิตของคำสั่งทางปกครองในแง่ของการก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่
       การจัดประเภทผลผลิตของคำสั่งทางปกครองในแง่ของการก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ตามลักษณะสภาพของผลบังคับ สามารถแบ่งได้ 3 ประเภท คือ
       ก. คำสั่งทางปกครองมีผลเป็นการก่อตั้งสิทธิ คือ ผลของคำสั่งทางปกครองเป็นการกำหนดสภาพการณ์ในทางกฎหมาย เช่น คำสั่งทางปกครองรับจดทะเบียนสมรส ,คำสั่งทางออกใบอนุญาตให้ประกอบกิจการ, คำสั่งจดทะเบียนตั้งบริษัท, คำสั่งขีดชื่อบริษัทร้าง, คำสั่งอนุมัติการลา เป็นต้น ผลของการก่อตั้งสิทธิคู่กรณีไม่จำต้องบังคับตามคำสั่งทางปกครองหรือจะต้องบังคับคดีตามคำพิพากษา เพราะผลในทางกฎหมายโดยตรงและเกิดขึ้นทันทีเมื่อมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งทางปกครอง  อนึ่ง คำสั่งทางปกครองมีผลเป็นการก่อตั้งสิทธิ นี้ต้องเข้าใจว่า รวมถึง คำสั่งทางปกครองที่เป็นการทำลายสิทธิในทางลบด้วย คือ คำสั่งที่ปฏิเสธการก่อตั้งสิทธิ และคำสั่งที่ผลเป็นการทำลายสิทธิด้วย เช่น คำสั่งไม่ออกใบอนุญาต คำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิม คำสั่งให้ออกจากราชการ คำสั่งไม่อนุมัติการลา เป็นต้น
       ข. คำสั่งทางปกครองมีผลเป็นการยืนยันสิทธิ คือ คำสั่งทางปกครองที่ยืนยันการดำรงอยู่หรือไม่ดำรงอยู่ของสิทธิหน้าที่ หรือนิติสัมพันธ์อย่างหนึ่งอย่างใด รวมทั้งการยืนยันความถูกต้องแท้จริงหรือไม่ถูกต้องแท้จริงของเอกสาร เช่น คำสั่งทางปกครองให้สัญชาติไทยแก่ผู้โอนสัญชาติ เป็นต้น คำสั่งทางปกครองประเภทนี้ ผลในทางกฎหมายโดยตรงและเกิดขึ้นทันที ไม่จำต้องบังคับคดีหรือใช้มาตรการบังคับทางปกครองเช่นเดียวกันกับคำสั่งทางปกครองมีผลเป็นการก่อตั้งสิทธิ
       ค. คำสั่งทางปกครองมีผลให้ดำเนินการ คือ คำสั่งทางปกครองที่ให้คู่กรณีดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ให้กระทำการ ให้งดเว้นกระทำการ หรือให้ยอมให้บุคคลอื่นกระทำการ ได้แก่ คำสั่งให้เจ้าหน้าที่ชดใช้เงินในกรณีละเมิด, คำสั่งให้รื้อถอนอาคาร, คำสั่งแก้ไขบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น คำสั่งทางปกครองให้ดำเนินการนี้ เป็นผลให้เกิดสิทธิเรียกร้องให้ผู้อยู่ภายใต้บังคับคำสั่งนั้นกระทำการหรืองดเว้นกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง หากได้เกิดผลในทางกฎหมายทันทีไม่ หากคู่กรณีใดไม่ดำเนินการตามคำสั่ง จำเป็นต้องใช้มาตรการบังคับทางปกครองเพื่อมีการปฏิบัติตามคำสั่งทางปกครองนั้น
        
       เมื่อนำประเภทผลผลิตของคำสั่งทางปกครองในแง่ของการก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ตามลักษณะสภาพของผลบังคับสามประเภทดังกล่าวมาจัดประเภทคำสั่งทางปกครองในแง่การบังคับตามคำสั่งตามลักษณะของการเกิดผลในทางกฎหมายก็สามมารถแบ่งได้ ๒ ประเภท คือ
       ก. คำสั่งทางปกครองมีที่ไม่ต้องมีการบังคับตามคำสั่ง คือคำสั่งทางปกครองมีผลเป็นการก่อตั้งสิทธิ และ คำสั่งทางปกครองมีผลเป็นการยืนยันสิทธิ เหตุที่ไม่ต้องมีการบังคับตามคำสั่งเพราะว่า คำสั่งทั้งสองประเภทนี้ผลในทางกฎหมายโดยตรงและเกิดขึ้นทันที ไม่จำต้องใช้มาตรการบังคับใดๆ อีก  
       ข. คำสั่งทางปกครองมีที่ไม่ต้องมีการบังคับตามคำสั่ง  คือ คำสั่งทางปกครองมีผลให้ดำเนินการ คำสั่งประเภทนี้ เป็นการสั่งการให้ผู้อยู่ภายใต้บังคับของคำสั่งดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งหากไม่ดำเนินการตามคำสั่ง ก็ต้องใช้มาตรการบังคับทางปกครองเพื่อมีผลเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งทางปกครอง
       ดังนั้น คำสั่งทางปกครองทั้งสามประเภทดังกล่าวนั้น มีเพียงคำสั่งทางปกครองที่ให้คู่กรณีดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ที่จะต้องบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย ในกรณีที่ผู้รับคำสั่งทางปกครองไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามคำสั่งทางปกครองนั้น ส่วนคำสั่งทางปกครองที่ก่อตั้งสิทธิและคำสั่งทางปกครองที่ยืนยันสิทธิ เป็นคำสั่งทางปกครองที่มีผลในทางกฎหมายโดยตรงและมีผลในทางกฎหมายทันที ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องบังคับการให้เป็นไปตามคำสั่งทางปกครองดังกล่าวอีก
       จะเห็นได้ แม้ว่าคำสั่งทางปกครองตามกฎหมายมีหลายประเภทก็ตาม แต่เราสามารถจำแนกประเภทของคำสั่งทางปกครองที่ต้องมีการบังคับการทางปกครองคือ คำสั่งทางปกครองที่ให้คู่กรณีดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งสามารถจำแนกออกเป็น ๒ ประเภท เท่านั้น คือ  คำสั่งทางปกครองที่ให้ชำระเงิน และคำสั่งทางปกครองที่ให้กระทำการหรือละเว้นกระทำการ โดยคำสั่งทางปกครองทั้งสองประเภทเมื่อออกคำสั่งทางปกครองแล้ว ถ้าหากผู้รับคำสั่งหรืออยู่อยู่ใต้คำสั่งไม่ปฏิบัติตามก็จะต้องมีมาตรการบังคับทางปกครองเพื่อให้เป็นไปตามคำสั่ง โดยมาตรการบังคับการตามคำสั่งทางปกครองทั้งสองประเภทจะมีหลักการในการดำเนินการตามมาตรา ๕๗ และมาตรา ๕๘
        
       เมื่อเข้าใจแล้วว่า การบังคับการทางปกครอง มีเฉพาะแต่คำสั่งทางปกครองที่ให้คู่กรณีดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น เมื่อตัวบทกฎหมายของการทุเลาการบังคับการใช้มาตรการทางปกครองได้บัญญัติไว้ในส่วนที่ ๖ การบังคับทางปกครอง มาตรา ๕๖ วรรคหนึ่ง ซึ่งมีข้อความตอนต้นว่า  “เจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองมีอำนาจที่จะพิจารณาใช้มาตรการบังคับทางปกครองเพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งของตนได้ตามบทบัญญัติในส่วนนี้” จะยิ่งเห็นได้ชัดว่า ต้องเป็นกรณีที่จะต้องใช้มาตรการบังคับทางปกครองเท่านั้น หากไม่ใช่กรณีที่จะต้องใช้มาตรการบังคับทางปกครองแล้วก็ไม่อาจปรับบทมาตรานี้ได้เลยตั้งแต่ต้น และข้อความต่อมาว่า “เว้นแต่จะมีการสั่งให้ทุเลาการบังคับไว้ก่อนโดยเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งนั้นเอง ผู้มีอำนาจพิจารณาคำอุทธรณ์หรือผู้มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยความถูกต้องของคำสั่งทางปกครองดังกล่าว” การทุเลาการบังคับนี้คือ การทุเลามาตรการบังคับทางปกครองตอนต้นนั้นเอง และเมื่อนำข้อความว่าด้วย ประเภทผลผลิตของคำสั่งทางปกครองในแง่ของการก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ตามลักษณะสภาพของผลบังคับมาปรับแล้ว จะเห็นได้ชัดว่า เจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งนั้นเอง ผู้มีอำนาจพิจารณาคำอุทธรณ์หรือผู้มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยความถูกต้องของคำสั่งทางปกครองดังกล่าว มีอำนาจทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองได้เฉพาะคำสั่งทางปกครองที่จะต้องใช้มาตรการบังคับเท่านั้น ซึ่งหมายถึง เฉพาะแต่สั่งทางปกครองที่ให้คู่กรณีดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ที่สามารถทุเลาการบังคับการใช้มาตรการทางปกครองได้
       ใจความสำคัญที่คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองได้ให้ความเห็นในเรื่องเสร็จที่ ๗๙๙/๒๕๕๕ ว่า “คำสั่งปลดออกจากราชการเป็นคำสั่งที่มีผลให้ผู้ถูกลงโทษต้องออกจากราชการทันที” คือ การเห็นว่า คำสั่งปลดออกจากราชการเป็นคำสั่งทางปกครองประเภทคำสั่งทางปกครองมีผลเป็นการก่อตั้งสิทธิ (รวมถึง คำสั่งทางปกครองที่เป็นการทำลายสิทธิในทางลบด้วย) ซึ่งผลของคำสั่งนั้นผลในทางกฎหมายโดยตรงและเกิดขึ้นทันที ไม่จำต้องใช้มาตรการบังคับทางปกครองอีก จึงไม่อาจจะทุเลาการบังคับตามคำสั่งได้
       ส่วนที่คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองเห็นว่า “หากผู้มีคำสั่งปลดออกจากราชการสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งเสียเอง ก็เท่ากับเป็นการยอมรับว่าคำสั่งของตนไม่ถูกต้อง ซึ่งชอบที่จะยกเลิกหรือเพิกถอนคำสั่งของตนเสีย โดยไม่จำเป็นต้องทุเลาการบังคับตามคำสั่งปลดออกจากราชการไว้ก่อนแต่อย่างใด” คือ การความเห็นว่า คำสั่งทางปกครองประเภทคำสั่งทางปกครองมีผลเป็นการก่อตั้งสิทธิที่มีผลในทางกฎหมายโดยตรงและเกิดขึ้นทันที การยับยั้งผลทางกฎหมายที่เกิดทันทีจะมีเพียงแต่การจะต้องยกเลิกหรือเพิกถอนคำสั่งนั้น ด้วยการพิจารณาอุทธรณ์ หรือการฟ้องคดีต่อศาล ในส่วนที่คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เห็นว่า “หากผู้มีคำสั่งปลดออกจากราชการสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งเสียเอง ก็เท่ากับเป็นการยอมรับว่าคำสั่งของตนไม่ถูกต้อง” นั้น เพราะว่า แม้ว่ามาตรา ๕๖ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าเพียงแต่ว่า การสั่งให้ทุเลาการบังคับไว้ก่อนสามารถกระทำโดยเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งนั้นเอง ผู้มีอำนาจพิจารณาคำอุทธรณ์หรือผู้มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยความถูกต้องของคำสั่งทางปกครองดังกล่าวโดยไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับเงื่อนไขหลักเกณฑ์ในรายละเอียดวิธีการการสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองไว้ก็ตาม แต่โดยหลักทั่วไปของการทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองจะต้องประกอบหลักเกณฑ์ ๓ ประการ คือ  ประการแรก คำสั่งดังกล่าวไม่น่าจะชอบด้วยกฎหมาย ประการที่สอง หากไม่ทุเลาตามคำสั่งก็จะเป็นการยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง และประการที่สาม ไม่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการภาครัฐ (ซึ่งเปรียบเทียบได้จากมาตรา ๖๖ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาทางปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ และระเบียบที่ประชุมใหญ่ฯ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครองฯ ข้อ ๖๙ ทีเป็นหลักสากลตามกฏหมายปกครองประเทศฝรั่งเศสต้นแบบระบบกฎหมายปกครองไทยส่วนใหญ่) ดังนั้น ด้วยเงื่อนไขประการแต่แรกคือ ประการแรก คำสั่งดังกล่าวไม่น่าจะชอบด้วยกฎหมาย หากเจ้าหน้าที่ผู้อำนาจคำสั่งหรือเจ้าหน้าที่ผู้อำนาจพิจารณาอุทธรณ์ พบว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็มีอำนาจริเริ่มด้วยตนเอง (ex officio) ที่จะยกเลิกหรือเพิกถอนคำสั่งนั้นตาม มาตรา ๔๙ ถึง ๕๒ ได้อยู่แล้ว ไม่จำต้องใช้วิธีการทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองแต่อย่างใด นอกจากนี้ คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ยังได้ให้ความเห็นอีกว่า “และหากต่อมามีการยกเลิกหรือเพิกถอนคำสั่งลงโทษให้ปลดออกจากราชการดังกล่าว บุคคลนั้นก็ชอบที่จะได้รับการเยียวยาความเสียหายที่ตนได้รับจากคำสั่งปลดออกจากราชการนั้นในภายหลังได้” จึงเป็นการให้ความเห็นว่า การขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งดังกล่าวไม่เข้าเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่จะให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งนั้นเอง (ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับประเด็นนี้ว่า บุคคลนั้นก็ชอบที่จะได้รับการเยียวยาความเสียหายที่ตนได้รับจากคำสั่งปลดออกจากราชการนั้นในภายหลังได้ เพราะว่า การเยียวยาโดยการคืนสิทธิประโยชน์แก่ผู้นั้นได้เฉพาะการให้เป็นตัวเงินเท่านั้น แต่สิทธิอื่นๆ ที่มิใช่ตัวเงิน เช่น อายุราชการ การครองตำแหน่งเพื่อเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนขั้นเพื่อนำไปสู่การเลื่อนตำแหน่ง การขอเครื่องราชฯ อันเป็นเกียรติยศ สิ่งเหล่านี้ไม่อาจทดแทนเยียวยาเป็นตัวเงินในภายหลังได้)
        
       สรุปโดยใจความ คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองได้วินิจฉัยไว้ตามเรื่องเสร็จที่ ๗๙๙/๒๕๕๕ เห็นว่า คำสั่งปลดออกจากราชการเป็นคำสั่งที่มีผลให้ผู้ถูกลงโทษต้องออกจากราชการทันที เป็นคำสั่งทางปกครองประเภทก่อตั้งสิทธิ ไม่อาจที่จะทุเลาการใช้มาตรการบังคับทางปกครองได้ (ทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง)
        
       ฉะนั้น พึงเข้าใจว่า การบังคับการทางปกครอง มีเฉพาะแต่คำสั่งทางปกครองที่ให้คู่กรณีดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น การทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕๖ วรรคหนึ่ง มีได้เฉพาะแต่คำสั่งทางปกครองที่ให้คู่กรณีดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้นเช่นกัน แต่คำสั่งทางปกครองก่อตั้งสิทธิและคำสั่งทางปกครองยืนยันสิทธิไม่อยู่ในบทบัญญัติการบังคับทางปกครองและการทุเลาการบังคับทางปกครอง
        
       อนึ่ง การทุเลาตามคำสั่งในชั้นพิจารณาทางปกครองของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองมีความแตกต่างจาก การทุเลาตามคำสั่งในวิธีพิจารณาคดีปกครองชั้นศาลอย่างตรงข้าม กล่าวคือ ศาลปกครองจะมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองได้เฉพาะแต่คำสั่งทางปกครองที่มีผลเกิดขึ้นในระบบกฎหมายแล้ว คือ คำสั่งทางปกครองก่อตั้งสิทธิและคำสั่งทางปกครองยืนยันสิทธิ เท่านั้น แต่คำสั่งทางปกครองที่ให้คู่กรณีดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง หากไม่มีการเริ่มใช้มาตรการบังคับทางปกครอง ศาลจะไม่ทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองให้ เนื่องจากยังไม่มีการบังคับตามคำสั่งในทางที่จะก่อให้เกิดความเดือนร้อยหรือเสียหาย เช่น การขอให้ทุเลาการบังคับคำสั่งให้ชดใช้เงินจากเจ้าหน้าทีที่กระทำละเมิดต่อหน่วยงาน ศาลจะไม่ออกคำสั่งให้ทุเลาตามคำสั่ง หากยังไม่มีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินเพื่อชดใช้หนี้
        
       
       
       
       
       [1] การตีความอย่างสอดคล้องกันเป็นระบบ (Systematic Interpretation) การตีความโดยคำนึงถึงข้อความและเหตุผลแวดล้อมของบทกฎหมาย และความสัมพันธ์เชิงเหตุผลของบทกฎหมายนั้นกับระบบกฎหมายทั้งระบบ   ซึ่งหมายรวมตั้งแต่ตำแหน่งแห่งที่แห่งบทกฎหมาย   การจัดหมวดหมู่   การจัดลำดับ หัวเรื่อง และอารัมภบทของกฎหมาย ทั้งนี้โดยถือว่าบทกฎหมายกับระบบกฎหมายมีความสัมพันธ์กันอย่างเป็นเอกภาพทั้งระบบ มีลำดับชั้น และสอดคล้องเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่ขัดแย้งกันเอง และมีความท้าวถึงกันอย่างมีระเบียบ 
       
       
       [2] การตีความตามความมุ่งหมาย (Teleological Interpretation) หมายถึงการตีความตามความมุ่งหมายหรือคุณค่า  หรือตามเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังบทกฎหมายนั้น  โดยมิได้ขึ้นอยู่กับความประสงค์ของผู้บัญญัติกฎหมายแต่อย่างใด แต่ขึ้นอยู่กับความมุ่งหมายของบทกฎหมายนั้นโดยตัวของบทกฎหมายนั้นเอง
       
       


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=2004
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 13:24 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)