ครั้งที่ 355

4 กุมภาพันธ์ 2561 15:05 น.

       มาตรฐานทางจริยธรรมสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง
       
       ช่วงเวลาสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันในประเทศไทยในหมู่ประชาชนแทบจะเรียกได้ว่าทุกสาขาอาชีพก็คือข่าวที่เกี่ยวข้องกับ “นาฬิกา” ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูงที่ “มีที่มาไม่ชัดเจน” และหน่วยงานตรวจสอบที่ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบก็ “ไม่ทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างชัดเจน” ก็เลยกลายเป็นประเด็นใหญ่ในสังคมและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันไปทั่ว แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อวันพุธที่ 31 มกราคม 2561 ที่ผ่านมามีสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและเป็นสิ่งที่น่าสนใจติดตาม นั่นคือการมีผลใช้บังคับของมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวนี้ใช้บังคับกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมาชิกวุฒิสภาและคณะรัฐมนตรีด้วย
       
       มาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ..2561 นี้ มีที่มาจากมาตรา 219 และมาตรา 276 วรรคแรก ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่บัญญัติไว้ว่า 
       
       “มาตรา 219 ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันกําหนดมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้นใช้บังคับแก่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ ทั้งนี้ มาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าวต้องครอบคลุมถึงการรักษาเกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ และต้องระบุให้ชัดแจ้งด้วยว่าการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมใดมีลักษณะร้ายแรง
       ในการจัดทํามาตรฐานทางจริยธรรมตามวรรคหนึ่ง ให้รับฟังความคิดเห็นของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย และเมื่อประกาศใช้บังคับแล้วให้ใช้บังคับแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และคณะรัฐมนตรีด้วย แต่ไม่ห้ามสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือคณะรัฐมนตรีที่จะกําหนดจริยธรรมเพิ่มขึ้นให้เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ของตน แต่ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับมาตรฐานทางจริยธรรมตามวรรคหนึ่ง และให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา”
       “มาตรา 276 ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระดําเนินการให้มีมาตรฐานทางจริยธรรม ตามมาตรา ๒๑๙ ภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ หากดําเนินการไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระพ้นจากตําแหน่ง………………………………”
       ภายหลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีผลใช้บังคับ ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญต่างก็ได้ร่วมกันจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้น ผ่านกระบวนการต่างๆรวมไปถึงรับฟังความคิดเห็นของสภานิติบัญญัติแห่งชาติเนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา จากนั้นก็ได้มีการประกาศใช้บังคับมาตรฐานทางจริยธรรมในราชกิจจานุเบกษาและมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2561
        
       มาตรฐานทางจริยธรรมมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้ คือ
       
       1. บุคคลที่จะต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานทางจริยธรรม ได้แก่บุคคลที่บัญญัติไว้ในข้อ 3 อันได้แก่
       (1) ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
       (2) ผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ ได้แก่ ประธานกรรมการและกรรมการการเลือกตั้ง ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินและผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานกรรมการและกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประธานกรรมการและกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และประธานกรรมการและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
       (3) ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
       (4) หัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ได้แก่ เลขาธิการสํานักงาน ศาลรัฐธรรมนูญ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง เลขาธิการสํานักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และเลขาธิการคณะกรรมการ สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
       (5) มาตรฐานทางจริยธรรมนี้ให้ใช้บังคับแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และ คณะรัฐมนตรีตาม ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๙ วรรคสอง ด้วย
       2.อะไรคือ”มาตรฐานทางจริยธรรม” ที่ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงต้องปฏิบัติตาม
       มาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ..2561  ข้อ 5 ถึงข้อ 26 ได้แบ่งมาตรฐานทางจริยธรรมออกเป็น 3 เรื่องใหญ่ด้วยกัน คือ มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์ มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลัก และมาตรฐานทางจริยธรรมทั่วไป 
       (1) มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์ มีอยู่ 6 เรื่องด้วยกันคือ
       -ต้องยึดมั่นและธํารงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
       -ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขตและเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิ อธิปไตย เกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน
       -ต้องถือผลประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน
       -ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เพื่อตนเอง หรือผู้อื่น หรือมีพฤติการณ์ที่รู้เห็นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตําแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ
       -ต้องไม่ขอ ไม่เรียก ไม่รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดในประการที่อาจทําให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่
       -ต้องไม่รับของขวัญของกํานัล ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เว้นแต่เป็นการรับจากการให้โดยธรรมจรรยา และการรับที่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับให้รับได้
       (2) มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลัก มีอยู่ 10 เรื่องด้วยกันคือ
       -ไม่กระทําการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
       -ยึดมั่นหลักนิติธรรม และประพฤติตนอยู่ในกรอบศีลธรรมอันดีของประชาชน
       -ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยุติธรรม เป็นอิสระ เป็นกลาง และปราศจากอคติ โดยไม่หวั่นไหวต่ออิทธิพล กระแสสังคม หรือแรงกดดันอันมิชอบด้วยกฎหมาย โดยคํานึงถึงสิทธิและ เสรีภาพของประชาชน ทั้งนี้ ตามความเหมาะสมแห่งสถานภาพ
       -รักษาไว้ซึ่งความลับในการประชุม การพิจารณาวินิจฉัย รวมทั้งเคารพต่อมติของที่ประชุมฝ่ายข้างมาก และเหตุผลของทุกฝ่ายอย่างเคร่งครัด
       -ให้ข้อมูลข่าวสารตามข้อเท็จจริงแก่ประชาชนหรือสื่อมวลชนอันอยู่ในความรับผิดชอบ ของตน ถูกต้องครบถ้วนและไม่บิดเบือน
       -ไม่ให้คําปรึกษาแก่บุคคลภายนอก หรือแสดงความคิดเห็น หรือข้อมูลต่อสื่อสาธารณะ หรือสาธารณชนในเรื่องที่อยู่ในระหว่างการพิจารณา อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือเสียความเป็นธรรม แก่การปฏิบัติหน้าที่ เว้นแต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายขององค์กร
       -ไม่กระทําการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดํารงตําแหน่ง
       -ไม่ปล่อยปละละเลยหรือยินยอมให้บุคคลในครอบครัวหรือบุคคลที่อยู่ในกํากับดูแลหรือความรับผิดชอบของตน เรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากคู่กรณี หรือจากบุคคลอื่นใด ในประการที่อาจทําให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่ของตน
       -ไม่คบหาสมาคมกับคู่กรณี ผู้ประพฤติผิดกฎหมาย ผู้มีอิทธิพล หรือผู้มีความประพฤติ หรือผู้มีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสีย อันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่
       -ไม่กระทําการอันมีลักษณะเป็นการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ จนเป็นเหตุทําให้ผู้ถูกกระทําได้รับความเดือดร้อนเสียหายหรือกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ โดยผู้ถูกกระทําอยู่ในภาวะ จําต้องยอมรับในการกระทํานั้น
       -ไม่นําความสัมพันธ์ทางเพศที่ตนมีต่อบุคคลใดมาเป็นเหตุหรือมีอิทธิพลครอบงําให้ใช้ดุลพินิจ ในการปฏิบัติหน้าที่อันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลใด
       (3) จริยธรรมทั่วไป มีอยู่ 6 เรื่องด้วยกันคือ
       -ปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างเต็มกําลังความสามารถ และยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรม โปร่งใสและตรวจสอบได้ และปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการ โดยคํานึงถึง ผลประโยชน์ของชาติ และความผาสุกของประชาชนโดยรวม
       -อุทิศเวลาแก่ทางราชการ ไม่เบียดบังเวลาราชการไปประกอบธุรกิจ เพื่อประโยชน์ ส่วนตัวหรือผู้อื่น
       -ปฏิบัติต่อประชาชนด้วยความเต็มใจ ให้บริการด้วยความรวดเร็ว เสมอภาค ถูกต้อง โปร่งใส ปราศจากอคติ และเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
       -ดูแลรักษาและใช้ทรัพย์สินของทางราชการอย่างประหยัด คุ้มค่า โดยระมัดระวังมิให้ เสียหายหรือสิ้นเปลืองโดยไม่จําเป็น
       -รักษาความลับของทางราชการตามกฎหมาย และระเบียบแบบแผนของราชการ
       -ปฏิบัติ กํากับดูแลหรือบังคับบัญชาเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดําเนินการอื่น ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และระบบคุณธรรม รวมทั้งส่งเสริมและ สนับสนุนให้เกิดความสามัคคีในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวม
       (3) สภาพบังคับของจริยธรรม
       ข้อ 27 ของมาตรฐานทางจริยธรรมกำหนดไว้ว่า การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์ ให้ถือว่ามีลักษณะร้ายแรง ส่วนการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลัก และมาตรฐานทางจริยธรรมทั่วไป จะถือว่ามีลักษณะร้ายแรงหรือไม่ ให้พิจารณาถึงพฤติกรรมของการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ เจตนาและความร้ายแรงของความเสียหายที่เกิดจากการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัตินั้น
       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบันได้บัญญัติถึงกระบวนการที่จะดำเนินการกับผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมที่ถือว่ามีลักษณะร้ายแรงเอาไว้ในมาตรา 234 (1) โดยให้เป็นอำนาจคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติที่จะเป็นผู้ไต่สวนผู้ที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ส่วนในมาตรา 235 ก็ได้บัญญัติเอาไว้ว่า หากคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วและมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เห็นว่าผู้นั้นฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย เมื่อศาลฎีกาประทับรับฟ้องก็ให้ผู้นั้นหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำพิพากษา หากศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าบุคคลดังกล่าวมีพฤติการณ์หรือกระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา ให้ผู้ต้องคำพิพากษานั้นพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้นตลอดชีวิตโดยผู้นั้นไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตลอดไปและไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆทั้งสิ้น ส่วนในมาตรา 226 วรรคท้าย ก็ได้กำหนดให้การพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาเป็นไปตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาซึ่งต้องกำหนดให้ใช้ระบบไต่สวนและให้ดำเนินการโดยรวดเร็ว
       
       ทันทีที่มาตรฐานทางจริยธรรมฉบับนี้มีผลใช้บังคับ หมายความว่า นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในองค์กรต่างๆ ต่างก็ต้องอยู่ภายใต้บังคับของมาตรฐานทางจริยธรรมฉบับนี้กันถ้วนหน้า
       จริงๆแล้ว ผมไม่เห็นด้วยกับเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรมที่นำเสนอไปแล้วข้างต้นตั้งแต่แรกที่ได้อ่านรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่กำหนดให้นำมาตรฐานทางจริยธรรมที่ใช้กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงที่ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีหน้าที่ “ตรวจสอบ” มาใช้กับ “นักการเมือง” เพราะผมมองว่า จริยธรรมของคนทั้ง 2 ประเภทเป็นคนละแบบกัน คนทั้ง 2 ประเภทมีที่มาที่แตกต่างกัน มีอำนาจหน้าที่ที่แตกต่างกัน มีวิธีการทำงานที่แตกต่างกันและมีผลสัมฤทธิ์ของการทำงานที่แตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้เองที่ผมมองว่ามาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพจึงควรแตกต่างกันไปตามสาขาอาชีพ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ให้ศาลและองค์กรอิสระกับนักการเมืองต้องมีมาตรฐานทางจริยธรรมแบบเดียวกัน ก็คงทำอะไรไม่ได้นอกจากต้องดำเนินการไปตามนั้นครับ
        
       ย้อนกลับมาดูเรื่อง “นาฬิกา” กันดีกว่าครับว่าจะสามารถนำมาตรฐานทางจริยธรรมนี้มาใช้กับเรื่อง “นาฬิกา”ได้หรือไม่
       
       มีช่องทางนะครับ มาตรฐานทางจริยธรรมที่ถูกนำมาใช้กับ “นักการเมือง” ได้บัญญัติไว้ในข้อ 9 ว่าต้องไม่ขอ ไม่เรียก ไม่รับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดในประการที่อาจทำให้กระทบกระเทือนต่อการปฎิบัติหน้าที่ส่วนข้อ 10 ก็บัญญัติไว้ว่าต้องไม่รับของขวัญ ของกำนัล ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเว้นแต่จะเป็นการรับจากการให้โดยธรรมจรรยาหรือการรับที่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ระเบียบหรือข้อบังคับให้รับได้ ส่วนมาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลักก็บัญญัติไว้ในข้อ 17 ว่าจะไม่กระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง
       
       นำมาใช้กับกรณี “นาฬิกา” ได้ทั้ง 3 ข้อเลยนะครับ ลองดูหน่อยไหมครับ
       
       ในสัปดาห์นี้เรามีบทความมานำเสนอ 2 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความของคุณชำนาญ จันทร์เรือง ที่เขียนเรื่อง "The Post : สื่อ vs รัฐบาล" บทความที่สองเป็นบทความของ คุณณรงค์ฤทธิ์ เพชรฤทธิ์ ที่เขียนเรื่อง "ประเภทของคำสั่งทางปกครองกับการทุเลาการบังคับคำสั่งทางปกครองตามมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539" ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสองด้วยครับ
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2561 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์
       
        


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=2002
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 06:52 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)