กฎ UEFA Financial Fair Play กับประเด็นปัญหาสิทธิมนุษยชนในสหภาพยุโรป

24 ธันวาคม 2560 15:20 น.

       [1] บทนำ
       กีฬาฟุตบอลได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความบันเทิงเพลิดเพลินแก่ผู้ชมการแข่งขันกีฬาฟุตบอลมาช้านาน ผู้ชมการแข่งขันกีฬาฟุตบอลอาจติดตามชมการแข่งขันกีฬาฟุตบอลได้จากการรับชมการแข่งขันในสนามกีฬาฟุตบอลหรือการรับชมการแข่งขันจากการถ่ายผ่านสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์และสื่อสังคมออนไลน์  อีกทั้งกีฬาฟุตบอลก็ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือสำหรับสร้างรายได้และผลประโยชน์ทางธุรกิจให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับอุตสาหกรรมกีฬาฟุตบอล (Football Industries)[1] ตัวอย่างเช่น สโมสรกีฬาฟุตบอลทำกำไรจากขายบัตรเข้าชมการแข่งขันกีฬาฟุตบอลหรือของที่ระลึกหลากประเภท นักกีฬาฟุตบอลได้รับเงินเดือนจากการจ้างงานของสโมสรกีฬาฟุตบอลที่สังกัดอยู่ และนิติบุคคลที่บริหารจัดการลีกการแข่งขันระดับต่างๆ ได้รับค่าลิขสิทธิ์จากการประมูลลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอล
       เมื่อกีฬาฟุตบอลถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างทั้งความบันเทิงกับผลประโยชน์ทางธุรกิจแล้ว ก็ย่อมเป็นปัจจัยที่ทำให้สโมสรกีฬาฟุตบอลต่างหันมาหาโอกาสทำกำไรและผลประโยชน์ทางธุรกิจ รวมไปถึงสร้างปรากฏการณ์ทางธุรกิจในหลากลักษณะที่ทำให้เกิดความเข้มข้นของการแข่งขันทางธุรกิจในอุตสาหกรรมกีฬาฟุตบอลมากขึ้นไปด้วย ส่งผลให้สโมสรกีฬาฟุตบอลระดับชาติและนานาชาติ ต่างพยายามอาศัยกลยุทธ์ทางธุรกิจและกลไกตลาดเพื่อจูงใจให้ผู้ชมการแข่งขันกีฬาฟุตบอลหันมาติดตามรับชม เลือกซื้อสินค้าและใช้บริการของสโมสรกีฬาฟุตบอลของตน อีกทั้งสโมสรกีฬาฟุตบอลยังดึงดูดนักลงทุนรายใหม่ให้เข้ามาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจหรือร่วมลงทุนกับสโมสรกีฬาฟุตบอล เช่น ธุรกิจสินค้าฟุ่มเฟือย ธุรกิจเฟรนไซน์ และธุรกิจอาหาร[2]
       ซึ่งเมื่อมีสโมสรฟุตบอลที่เข้ามาร่วมการแข่งขันในระบบลีกเป็นจำนวนมาก สโมสรฟุตบอลก็จะต้องพยายามปรับตัวให้สอดรับกับการแข่งขันและตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมที่อาจเปลี่ยนแปลงในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะสภาพแวดล้อมทางการแข่งขันในอุตสาหกรรมกีฬาฟุตบอล (Competitive Environment)[3] กล่าวคือ สโมสรกีฬาฟุตบอลที่เป็นสมาชิกในระบบลีกการแข่งขันกีฬาฟุตบอลย่อมมีผลผลิต สินค้าและบริการคล้ายคลึงกัน หรือดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกีฬาฟุตบอลในลักษณะเดียวกัน สภาพแวดล้อมทางการแข่งขันในธุรกิจกีฬาฟุตบอลเช่นว่านี้ย่อมอาจส่งผลกระทบต่อสโมสรกีฬาฟุตบอลได้ รวมไปถึงส่งผลกระทบต่อการได้กำไรและการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจเพื่อความอยู่รอดของสโมสรกีฬาฟุตบอล สภาพแวดล้อมทางการแข่งขันเช่นว่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ สโมสรกีฬาฟุตบอลที่เป็นสโมสรคู่แข่งขันกันในธุรกิจกีฬาฟุตบอลจะต้องแสวงหาวิธีการเพื่อจะให้สโมสรกีฬาฟุตบอลของตนประสบความสำเร็จทั้งในการเล่นเกมการแข่งขันกีฬาฟุตบอลในลีกและในการสร้างกำไรจากสินค้าและบริการ
       อนึ่ง ในสภาพแวดล้อมทางการแข่งขันเช่นว่านี้ สโมสรกีฬาฟุตบอลที่มีศักยภาพทางธุรกิจ[4] เช่น สโมสรกีฬาฟุตบอลขนาดใหญ่ ก็สามารถใช้รายจ่ายหรือทุ่มงบประมาณเพื่อสร้างกลไกให้ผู้คนหันมาติดตามชมเกมแข่งขันจากสโมสรกีฬาฟุตบอลของตนและดึงดูดให้ผู้ชมกีฬาฟุตบอลหันมาบริโภคผลิตภัณฑ์ สินค้าและบริการจากสโมสรกีฬาฟุตบอลของตนหรือจากพันธมิตรทางธุรกิจของตนมากขึ้น ในขณะเดียวกันสโมสรกีฬาฟุตบอลขนาดปานกลางและขนาดเล็กต่างก็พยายามดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจในตลาดอุตสาหกรรมกีฬาฟุตบอล จนอาจต้องเผชิญกับภาวการณ์ขาดทุนเรื้อรังหรือประสบภาวะรายจ่ายขยายตัวมากกว่ารายรับก็ตาม
       จากปรากฏการแข่งขันทางธุรกิจของสโมสรกีฬาฟุตบอลที่กล่าวมาในข้างต้น นิติบุคคลเอกชนหรือสมาคมกีฬาฟุตบอลผู้จัดการแข่งขันกีฬาฟุตบอลในระบบลีก เห็นพ้องต้องกันว่าหากปล่อยให้มีการแข่งขันทางธุรกิจอย่างไร้ขีดจำกัดระหว่างสโมสรกีฬาฟุตบอล ย่อมอาจทำให้เกิดการผูกขาดชัยชนะในการแข่งขันเกมกีฬาฟุตบอลภายใต้ระบบลีกกับการผูกขาดทางการค้าในอุตสาหกรรมกีฬาฟุตบอลจากสโมสรฟุตบอลรายใหญ่[5] ก่อให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรเกมการแข่งขันกีฬาฟุตบอลที่ไม่เป็นธรรม โดยสโมสรกีฬาฟุตบอลขนาดใหญ่ย่อมมีโอกาสที่จะทุ่มรายจ่ายของตนเพื่อแลกกับการได้มาซึ่งนักกีฬาฟุตบอลที่มีศักยภาพสูงและได้มาซึ่งสาธารณูปโภคกีฬาฟุตบอลที่ทันสมัยสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้ชมกีฬาฟุตบอลได้[6] ในทางตรงกันข้าม สโมสรกีฬาฟุตบอลขนาดกลางและขนาดเล็กย่อมไม่สามารถทุ่มรายจ่ายของตนได้หรืออาจต้องเลือกจ่ายในสิ่งที่จำเป็นต่อการอยู่รอดทางเศรษฐกิจมากกว่า ทำให้สโมสรกีฬาฟุตบอลขนาดกลางกับสโมสรกีฬาฟุตบอลขนาดเล็กมีข้อจำกัดทางโอกาสที่จะได้ครอบครอบนักกีฬาฟุตบอลที่มีศักยภาพสูงหรือขาดโอกาสที่จะทุ่มงบประมาณพัฒนาสาธารณูปโภคที่เหมาะสมเพื่อรองรับการฝึกซ้อมพัฒนาศักยภาพนักกีฬาหรือการเข้าชมการแข่งขันกีฬาฟุตบอลของผู้ชม
       ความแตกต่างทางสถานภาพทางเศรษฐกิจของสโมสรกีฬาฟุตบอลขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็กย่อมสะท้อนให้เห็นว่ามีการขาดโอกาสในการพัฒนาศักยภาพสโมสรของสโมสรขนาดกลางและขนาดเล็ก ทำให้สโมสรทั้งสองขนาดนี้ไม่อาจจัดหาทรัพยากรบางอย่างให้เหมาะสมสำหรับการสร้างทีมฟุตบอลให้มีศักยภาพในการแข่งขันระหว่างทีมสมาชิกในลีกต่างๆ รวมไปถึงสโมสรขนาดใหญ่ย่อมมีงบประมาณมากพอที่จะสะสมทรัพยากรที่มีศักยภาพและประสิทธิภาพ ทำให้สโมสรขนาดใหญ่มีโอกาสได้รับชัยชนะในการแข่งขันมากกว่าสโมสรขนาดกลางและขนาดเล็ก ทั้งนี้ กฎดังกล่าวไม่ได้มุ่งหมายที่จะขจัดความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่ง (Wealth Inequality) หรือแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการกระจายโอกาส (Opportunity Inequality)[7] ระหว่างสโมสรกีฬาฟุตบอลขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็ก  แต่กฎดังกล่าวมุ่งให้สโมสรขนาดใหญ่ สโมสรขนาดกลางและสโมสรขนาดเล็กมีวินัยทางการเงินและการใช้จ่าย เพื่อให้สโมสรสามารถอยู่รอดทางการเงินได้ในระยะยาว
       [2] หลัก Fair Play ในวงการกีฬาฟุตบอลยุโรป
       จากเหตุผลที่กล่าวมาในข้างต้น นิติบุคคลตามกฎหมายเอกชนผู้จัดระบบการแข่งขันกีฬาฟุตบอลภายในประเทศ (เช่น บริษัทนิติบุคคลพรีเมียร์ลีก (Football Association Premier League Ltd.)[8] ที่ก่อตั้งขึ้นตามกฎหมายหุ้นส่วนและบริษัทของอังกฤษ) หรือสมาคมผู้จัดระบบการแข่งขันกีฬาฟุตบอลระหว่างประเทศ (เช่น สหภาพสมาคมฟุตบอลยุโรปหรือยูฟ่า (Union of European Football Associations หรือ UEFA)[9]) ได้สร้างหลักเสริมสร้างการแข่งขันอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือ Fair Play[10] มาบังคับใช้ในระบบการแข่งขันหรือลีกที่ตนกำกับหรือบริหารจัดการ  โดยมุ่งเน้นสร้างการจัดการควบคุมดูแลการแข่งขันกีฬาฟุตบอลให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์กติกาการแข่งขันสากล รวมไปถึงสร้างการบริหารจัดการที่ดีขององค์กรกำกับระบบการแข่งขันกีฬาฟุตบอล (Organising Body of the Football Competition)[11] ให้อยู่บนพื้นฐานธรรมาภิบาลที่องค์กรทางการกีฬาพึงปฏิบัติ เช่น โปรงใส่ ตรวจสอบได้ และปราศจากการแทรกแซงจากองค์กรอื่นๆ กล่าวอีกนัยหนึ่ง หลัก Fair Play ถือเป็นหลักการพื้นฐานของการส่งเสริมการละเล่นกีฬาทุกชนิดให้เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม[12] สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับการแข่งขันกีฬาฟุตบอลว่าเมื่อเข้าสู่ระบบการแข่งขันหรือเข้ามาแข่งขันภายใต้ระบบลีกแล้ว จะถูกปฏิบัติภายใต้กฎเกณฑ์อันหนึ่งอันเดียวกัน โดยปราศจากการกีดกันหรือการเลือกปฏิบัติ ทั้งยังส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เท่าเทียมระหว่างสโมสรกีฬาฟุตบอลที่มีที่มาแตกต่างกัน เช่น จำนวนผู้ติดตามสโมสร (ความนิยม) สถานะภาพทางการเงินของสโมสร (ความมั่งคั่ง) และจำนวนนักกีฬาฟุตบอลที่เล่นได้ดีเยี่ยมและมีชื่อเสียง (ศักยภาพนักกีฬา) เป็นต้น
       นิติบุคคลตามกฎหมายเอกชนผู้จัดระบบการแข่งขันกีฬาฟุตบอลภายในประเทศและระหว่างประเทศ จึงได้นำเอาหลัก Fair Play มาปรับใช้ในหลายเรื่องทำให้ยกระดับคุณภาพการแข่งขันกีฬาฟุตบอลให้มีความเป็นธรรมต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายมากขึ้น[13] ควบคู่ไปกับเสริมสร้างการบริหารจัดการที่ดีโดยมุ่งลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างสโมสรกีฬาฟุตบอล ทำให้ไม่เกิดความเหลื่อมล้ำ แม้ว่าสโมสรกีฬาฟุตบอลแต่ละแห่งจะมีสัดส่วนรายได้ที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดก็ตาม แต่ว่าหลัก Fair Play มุ่งเน้นว่าต้องกระจายโอกาสในการครอบครองทรัพยากรในกีฬาฟุตบอลและโอกาสได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจสังคมที่ไม่เหลื่อมล้ำกันมากจนเกินไป เหตุนี้จึงมีการสร้างกฎบางอย่างในการลดความเหลื่อมล้ำในโอกาสถือครองทรัพยากรในกีฬาฟุตบอลที่เป็นปัจจัยไปสู่ชัยชนะในเกมกีฬาฟุตบอลและลดความเหลื่อมล้ำในโอกาสการสร้างรายได้จากธุรกิจกีฬาฟุตบอล ได้แก่ กฎ Financial Fair Play กฎดังกล่าวมุ่งให้สโมสรกีฬาฟุตบอลแต่ละแห่งสามารถใช้จ่ายเงินหรือบริหารรายจ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพยากรทางการกีฬาฟุตบอล (Football-Related Expenditure) แต่ทว่าสโมสรกีฬาฟุตบอลไม่สามรถใช้จ่ายเงินหรือบริหารรายจ่ายเกินจำนวนเงินมากไปกว่าที่กฎ Financial Fair Play ได้กำหนดเอาไว้ (Excessive Spending)[14]
       สหภาพสมาคมฟุตบอลยุโรปหรือยูฟ่า (UEFA) เป็นองค์กรผู้จัดระบบการแข่งขันกีฬาฟุตบอลภายระหว่างประเทศ (ในภูมิภาคยุโรป) องค์กรหนึ่ง ที่ได้นำเอากฎ Financial Fair Play มาใช้บังคับกับสโมสรกีฬาฟุตบอลที่เป็นสมาชิกในระบบการแข่งขันกีฬาฟุตบอลยูฟ่า นั้นคือ ระบบการแข่งขันยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก (UEFA Champions League) สโมสรกีฬาฟุตบอลในทวีปยุโรปที่ได้รับคัดเลือกให้เข้ามาแข่งขันในระบบการแข่งขันยูฟ่า ก็ย่อมจะต้องผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามหรือดำเนินการไม่ขัดต่อกฎดังกล่าว (Commitment) ภายใต้ความผูกพันตามข้อกำหนดในสัญญาเข้าร่วมการแข่งขันที่ทำไว้ระหว่างยูฟ่ากับสโมสรกีฬาฟุตบอล 
       [3] กฎ UEFA Financial Fair Play ภายใต้ระบบการแข่งขันยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก
       กฎ UEFA Financial Fair Play (อาจเรียกโดยย่อว่า กฎ UEFA FFP) หมายถึง กฎที่ยูฟ่าได้ตั้งขึ้นมาเพื่อจำกัดจำนวนวงเงินการใช้จ่ายหรือกำกับการบริหารรายจ่ายแก่สโมสรกีฬาฟุตบอลที่เป็นสมาชิกระบบการแข่งขันยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก โดยกฎที่นี้บังคับใช้ก็เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับสโมสรกีฬาฟุตบอลที่อยู่ในระบบการแข่งขันว่าสโมสรแต่ละแห่งย่อมมีโอกาสใช้จ่ายเงินหรือถูกควบคุมรายจ่ายสูงสุดที่เท่าๆ กัน ทำให้สโมสรกีฬาฟุตบอลสามารถที่จะจัดหาทรัพยากรที่คล้ายคลึงกัน โดยไม่เปิดโอกาสให้สโมสรกีฬาฟุตบอลขนาดใหญ่ทำการผูกขาดโอกาสเข้ารอบการแข่งขันหรือผูกขาดธุรกิจในตลาดอุตสาหกรรมกีฬาฟุตบอล กฎดังกล่าวถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญของยูฟ่าในการสนับสนุนให้มีการแข่งขันอย่างยุติธรรม ที่มุ่งส่งเสริมทั้งมิติของการแข่งขันอย่างเสรีควบคู่ไปกับส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม ขจัดการใช้จ่ายเงินหรือการบริหารงบประมาณของสโมสรกีฬาฟุตบอลขนาดใหญ่ในลักษณะใช้อำนาจเหนือตลาดจำกัดหรือกีดกันไม่ให้สโมสรขนาดกลางกับสโมสรขนาดเล็กมีโอกาสพัฒนาศักยภาพทางการแข่งขันเกมกีฬาฟุตบอลและศักยภาพทางการค้าในธุรกิจกีฬาฟุตบอลได้[15] กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า กฎ UEFA FFP ดังกล่าวป้องกันการผูกขาดชัยชนะและผูกขาดทางธุรกิจจากสโมสรกีฬาฟุตบอลขนาดใหญ่ ทำให้แต่ละทีมสามารถใช้จ่ายงบประมาณหรือมีการใช้จ่ายที่พัฒนาสโมสรในจำนวนเงินที่ไม่แตกต่างกันมากนัก ซึ่งแท้จริงแล้วกฎ UEFA FFP ไม่ได้กำหนดว่าการเป็นมหาอำนาจทางการเงินและความสามารถดึงดูดนักกีฬาฟุตบอลที่มีศักยภาพสูงของบางสโมสรกีฬาฟุตบอลเป็นสิ่งที่ผิดกฎ หากทว่าจะผิดกฎดังกล่าวได้ก็ต่อเมื่อมีการใช้จ่ายเงินเกินกว่าจำนวนขั้นต่ำที่กฎดังกล่าวได้ระบุเอาไว้   
       การบังคับใช้กฎ UEFA FFP ดังกล่าวถือเป็นการกระตุ้นทางเศรษฐกิจ (Financial Doping)[16] ให้กับสโมสรกีฬาฟุตบอลขนาดกลางและขนาดเล็กในทางหนึ่ง นั้นก็เพราะการกำกับการใช้จ่ายหรือการควบคุมรายจ่ายของสโมสรกีฬาฟุตบอล ย่อมทำให้สโมสรกีฬาฟุตบอลที่เป็นสมาชิกระบบการแข่งขันยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกใช้งบประมาณที่ตนมีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสโมสร รวมทั้งไม่ใช้จ่ายเงินเกินไปกว่าศักยภาพทางเศรษฐกิจที่แท้จริง (Spending Beyond The Means) กับไม่ใช้จ่ายเงินในทางที่อาจสร้างหนี้สินให้กับสโมสร (Racking Up Huge Debts)
       การกระตุ้นเศรษฐกิจจากการบังคับใช้กฎ UEFA FFP ย่อมเป็นหนทางที่ทำให้สโมสรกีฬาฟุตบอลขนาดกลางและสโมสรขนาดเล็ก สามารถอยู่รอดทางการเงินได้ในระยะยาว (Long-Term Survival) ในขณะเดียวกันก็ยังสร้างสมดุลการแข่งขันระยะยาว (Long-term Competitive Balance)[17] ทำให้เกิดแรงผลักดันแก่สโมสรกีฬาฟุตบอลในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ให้ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเลือกใช้จ่ายเงินเพื่อนำมาซึ่งผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูงสุด โดยจะต้องพยายามใช้งบประมาณที่มีอย่างจำกัดเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพยากรทางการกีฬาอย่างคุ้มค่าและได้ประโยชน์สูงสุด หลักเกณฑ์อันเป็นสาระสำคัญของกฎ UEFA FFP ได้แก่ การสร้างวินัยทางการเงินและการควบคุมการใช้จ่ายกับสโมสรกีฬาฟุตบอลที่เป็นสมาชิกในระบบการแข่งขันในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกระยะยาว ซึ่งยูฟ่าจะทำหน้าที่เป็นทั้งผู้กำหนดมาตรฐานกฎ UEFA FFP เกี่ยวกับการควบคุมการเงินของสโมสรกีฬาฟุตบอลสมาชิกในระบบการแข่งขันและเป็นผู้ใช้อำนาจลงโทษแก่สโมสรกีฬาฟุตบอลที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎ UEFA FFP ได้วางเอาไว้ ซึ่งหากสโมสรใดฝ่าฝืนถือเป็นการผิดวินัยทางการเงิน ก็ต้องเผชิญกับโทษที่ยูฟ่าได้กำหนดเอาไว้
       ยูฟ่าสามารถควบคุมการจ่ายเงินของสโมสรกีฬาฟุตบอลที่เป็นสมาชิกในระบบการแข่งขันได้ โดยกำหนดจำนวนเงินที่สโมสรกีฬาฟุตบอลสามารถใช้จ่ายได้ขั้นต่ำหรือกำหนดจำนวนเงินขั้นต่ำที่สโมสรกีฬาฟุตบอลสามารถใช้จ่ายได้ อันเป็นการป้องกันไม่ให้สโมสรกีฬาฟุตบอลใช้จ่ายมากเกินไปกว่าเงินรายได้ของตัวเอง(Preventing professional football clubs from spending more than they earn)[18] เช่น การจ่ายค่าตอบแทนให้กับนักกีฬาฟุตบอล (Spending on Salaries) และการจ่ายค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการโอนย้ายของนักกีฬาฟุตบอลข้ามสโมสร (Transfer Fees) ที่ใช้เงินฟุ่มเฟือยเมื่อเทียบกับรายรับหรือเกินฐานานุรูปของสโมสรกีฬาฟุตบอล
       นอกจากกฎ UEFA FFP ได้กำหนดหน้าที่ในการตรวจสอบให้กับยูฟ่าแล้ว กฎดังกล่าวก็ยังกำหนดหน้าที่รับผิดชอบให้สโมสรกีฬาฟุตบอลจะต้องมีหน้าที่ยืนบัญชีและเอกสารเกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณในช่วงระยะเวลา 3 ปีให้กับยูฟ่า แล้วยูฟ่าจะทำการตรวจสอบวินัยการเงินและการใช้จ่ายของสโมสรกีฬาฟุตบอลดังกล่าวว่าได้ปฏิบัติตามเกณฑ์รายจ่ายขั้นต่ำตามที่กฎ UEFA FFP ได้กำหนดเอาไว้หรือไม่ โดยกำหนดให้สโมสรกีฬาฟุตบอลสามารถใช้จ่ายเกินกว่าจำนวนรายได้ 5 ล้านยูโร (€5m) แต่ระยะเวลาหนึ่งช่วงการประเมิน (ระยะเวลา 3 ปี) แต่สโมสรกีฬาฟุตบอลจะขาดทุนได้ไม่เกิน 30 ล้านยูโร (€30m) หากสโมสรใดไม่ได้ปฏิบัติตามหรือกระทำการใดอันฝ่าฝืนกฎดังกล่าวแล้ว ยูฟ่าเองอาจกำหนดโทษสำหรับควบคุมวินัยการเงินและการใช้จ่ายกับสโมสรกีฬาฟุตบอลได้[19] เช่น โทษปรับ(Fines) การหักเงินรางวัล (Withholding prize money) การห้ามการโยกย้ายนักกีฬาฟุตบอลข้ามสโมสร (Transfer bans) การตัดแต้ม (Points deductions) การห้ามรับนักกีฬาฟุตบอลหน้าใหม่เข้ามาเล่นในสโมสร (Ban on registration of new players) และการจำกัดจำนวนนักกีฬาฟุตบอล (Restriction on the number of players) เป็นต้น
       ในเรื่องของการกำหนดโทษและลงโทษสมาชิกที่ฝ่าฝืนกฎ UEFA FFP ยูฟ่าได้จัดตั้งองค์กร Club Financial Control Body หรือองค์กร CFCB[20] ที่มีอำนาจหน้าที่ไต่สวนและวินิจฉัยชี้ขาดสโมสรกีฬาฟุตบอลที่ฝ่าฝืนวินัยการใช้จ่าย รวมไปถึงกำหนดโทษสำหรับควบคุมวินัยการเงินและการใช้จ่ายกับสโมสรกีฬาฟุตบอลได้ดังที่ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้น  องค์กร CFCB นี้ ประกอบด้วยคณะกรรมการทำหน้าที่ไต่สวนและวินิจฉัยชี้ขาดการฝ่าฝืนวินัยการใช้จ่ายตามกฎ UEFA FFP ซึ่งแยกออกเป็น 2 คณะกรรมการ ได้แก่ คณะกรรมการคณะกรรมการไต่สวน (Investigatory Chamber)[21] กับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาด (Adjudicatory Chamber)[22] หากสโมสรกีฬาฟุตบอลไม่พอใจคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาด ก็สามารถใช้สิทธิอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งลงโทษต่อศาลอนุญาโตตุลาการทางการกีฬาแห่งเมืองโลซานน์ (Court of Arbitration for Sport in Lausanne หรือ CAS)
       ที่ผ่านมายูฟ่าได้เคยลงโทษสโมสรกีฬาฟุตบอลที่กระทำการฝ่าฝืนกฎ UEFA FFP ตัวอย่างเช่น สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตี้ (Manchester City F.C.) สโมสรปารีส แซงต์-แชร์กแมง (Paris Saint-Germain F.C.) และและสโมสรฟุตบอลเร้ด สตาร์ เบลเกรด (Red Star Belgrade F.C.) ก็เคยใช้จ่ายเงินหรือบริหารการใช้จ่ายในลักษณะที่ขัดต่อกฎ UEFA FFP สโมสรแมนเชสเตอร์ซิตี้ถูกปรับเป็นจำนวนเงิน 60 ล้านยูโร (€60m fine) พร้อมกับถูกตัดจำนวนนักกีฬาฟุตบอลให้เหลือ 21 คนในแชมป์เปียนลีก (cut in their Champions League squad to 21 players) และถูกห้ามขึ้นค้าจ้างให้กับนักกีฬาฟุตบอลเป็นจำนวน 1 ปี (ban on increasing their wages for at least a year)[23] สโมสรปารีส แซงต์-แชร์กแมงถูกปรับเป็นจำนวนเงิน 34 ล้านยูโร (€34m fine) ในฐานที่ใช้จ่ายเงินเกินไปกว่าอัตราที่กำหนดเอาไว้ในกฎ UEFA FFP[24] และสโมสรฟุตบอลเร้ด สตาร์ เบลเกรดก็ถูกสั่งห้ามลงเล่นในแชมป์เปียนลีกฤดูกาล 2014/2015 เนื่องจากใช้จ่ายเงินเกินไปกว่าที่กฎ UEFA FFP ได้กำหนดเอาไว้[25]
       อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้กฎ UEFA FFP อาจไปกระทบต่อสิทธิของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับเกมการแข่งขันกีฬาฟุตบอลหรือมีความสัมพันธ์กับสโมสรกีฬาฟุตบอล เพราะการบังคับใช้หลักเกณฑ์ภายใต้กฎ UEFA FFP ย่อมจำทำให้บุคคลบางคนหรือบุคคลบางกลุ่มเสียประโยชน์ที่กฎหมายพื้นฐานของรัฐรับรองหรือคุ้มครองมิให้มีการละเมิด เช่น สิทธิในการประกอบอาชีพ สิทธิในการเดินทาง และสิทธิในการเลือกถิ่นที่อยู่ อีกทั้งอาจไปกระทบต่อเสรีภาพในการตัดสินใจที่จะเลือกกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเกมกีฬาฟุตบอลได้ เช่น เสรีภาพในการโยกย้ายถิ่นฐาน
       [4] ประเด็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่อาจเกิดจากการบังคับใช้กฎ UEFA Financial Fair Play
       การบังคับใช้กฎ UEFA FFP ดังกล่าวอาจนำไปสู่ข้อถกเถียงในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาคยุโรป เพราะกฎดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้บังคับกับสโมสรกีฬาฟุตบอลที่ตั้งอยู่ในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป แล้วสโมสรกีฬาฟุตบอลเหล่านี้เองก็ประกอบไปด้วยผู้เกี่ยวข้อง อาทิ เจ้าของสโมสร (นายทุน) ผู้บริหารสโมสร เจ้าหน้าที่สโมสร และนักกีฬาฟุตบอลอาชีพ ผู้เกี่ยวข้องเหล่านี้เองก็อาจเป็นพลเมืองสหภาพยุโรป (EU Citizens) ที่กฎหมายสหภาพยุโรปรับรองสิทธิและคุ้มครองเสรีภาพ
       ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวงการกีฬาฟุตบอลที่อาจเป็นพลเมืองของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปหรือไม่ใช่พลเมืองของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป แต่ทว่าการบังคับใช้กฎ UEFA FFP อาจไปกระทบต่อสิทธิบางประการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวงการกีฬาฟุตบอล ตัวอย่างเช่น กฎ UEFA FFP มุ่งป้องกันไม่ให้สโมสรกีฬาฟุตบอลที่เป็นสมาชิกในระบบการแข่งขันของยูฟ่าไม่ใช้จ่ายมากกว่ารายรับ หากการจ่ายเงินเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ อาทิ การจ่ายเงินย้ายสโมสรของนักกีฬาฟุตบอล (Transfer Expenditure) การจ่ายค่าจ้างนักกีฬาฟุตบอล (Wage Expenditure) การจ่ายค่าเกี่ยวกับกิจการแพร่ภาพโทรทัศน์ (Television Advertising Expenditure) ค่าใช้จ่ายพัฒนาสาธารณูปโภค (Training Facilities Expenditure) ค่าใช้จ่ายในการพัฒนานักกีฬาฟุตบอลรุ่นเยาว์ (Youth Development Expenditure) และค่าใช้จ่ายในโครงการชุมชนต่างที่สโมสรกีฬาฟุตบอลเข้าไปมีส่วนร่วม (Community Project Expenditure)  เกินไปกว่าอัตราขั้นต่ำของรายจ่ายที่สโมสรกีฬาฟุตบอลสามารถจ่ายได้แล้ว ก็ย่อมถือว่าขัดต่อหรือฝ่าฝืนต่อกฎ UEFA FFP โดยยูฟ่าเองอาจกำหนดโทษและลงโทษสโมสรกีฬาฟุตบอลที่ฝ่าฝืนกฎ UEFA FFP อย่างไรก็ดี การลงโทษสโมสรกีฬาฟุตบอลเช่นที่กล่าวมาแล้วในตอนต้น อาจไปกระทบสิทธิและเสรีภาพของนักกีฬาที่สนธิสัญญาว่าด้วยการดำเนินงานของสหภาพยุโรป (Treaty on the Functioning of the European Union หรือ สนธิสัญญา TFEU หรืออาจเรียกว่าสนธิสัญญาลิสบอน (Lisbon Treaty)) ได้บัญญัติเอาไว้ เช่น การลงโทษโดยการห้ามสโมสรจ่ายเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการรับโอนนักกีฬาฟุตบอลที่โยกย้ายมาสังกัดสโมสรของตน อาจขัดต่อเสรีภาพในการโยกย้ายถิ่นฐานของนักกีฬาฟุตบอลในฐานะที่นักกีฬาฟุตบอลก็เป็นแรงงานในตลาดแรงงานสหภาพยุโรป (Free Movement of Workers) แล้วนักกีฬาฟุตบอลก็ย่อมจะมีเสรีภาพที่จะเดินทางข้ามประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปเพื่อไปทำงานข้ามประเทศได้เฉกเช่นอาชีพอื่นๆ อีกประการหนึ่ง เจ้าของสโมสรกีฬาฟุตบอลในฐานะที่เป็นนักลงทุนในภูมิภาคยุโรปเอง ก็ย่อมพึงมีเสรีภาพในการเคลื่อนย้ายทุนได้อย่างเสรี (Free Movement of Capital) เพื่อนำเงินที่ตนมีอยู่ไปลงทุนข้ามประเทศ อันจะสามารถสร้างรายได้และงานให้กับลูกจ้างที่เป็นแรงงานของสโมสรกีฬาฟุตบอลท้องถิ่นในประเทศที่ตนนั้นได้เข้าไปลงทุน[26]
       ประการต่อมา ยูฟ่าอาจลงโทษห้ามไม่ให้สโมสรกีฬาฟุตบอลสมาชิกใช้จ่ายงบประมาณในการพัฒนานักกีฬาฟุตบอลรุ่นเยาว์ที่เกินความจำเป็นและอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสถานภาพทางการเงินของสโมสรในระยะยาว ในทางตรงกันข้าม สนธิสัญญา TFEU กลับวางหลักเกณฑ์ให้สหภาพยุโรปและสถาบันทางการเมืองของสหภาพยุโรปต้องมีส่วนร่วมในการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาทางการกีฬาที่ไม่เพียงคำนึงถึงลักษณะทางการกีฬาเท่านั้น แต่ยังต้องตระหนักว่าการดำเนินกิจกรรมกีฬาควรเป็นไปโดยสมัครใจและคำนึงถึงบทบาทของการศึกษาและสังคมที่มีอยู่เหนือการกีฬาด้วย ดังนี้ การจ่ายเงินของสโมสรกีฬาฟุตบอลเพื่อพัฒนาศักยภาพนักกีฬาฟุตบอลรุ่นเยาว์ก็อาจเป็นการปลูกฝังให้เยาวชนมีใจรักและได้มีโอกาสฝึกฝนทักษะการเล่นกีฬาฟุตบอล อาจนำไปสู่การสร้างนักกีฬาฟุตบอลที่มีศักยภาพสูงต่อไปในอนาคต หากแต่การลงโทษตามกฎ UEFA FFP ให้สโมสรกีฬาฟุตบอลตัดรายจ่ายของสโมสรกีฬาฟุตบอลในการพัฒนานักกีฬารุ่นเยาว์ ก็อาจเป็นการตัดโอกาสพัฒนานักกีฬาฟุตบอลรุ่นเยาว์ที่อาจกลายมาเป็นกำลังสำคัญวงการกีฬาฟุตบอลยุโรปในอนาคต[27]
       กฎ UEFA FFPเป็นกฎเกณฑ์ในวงการธุรกิจกีฬาฟุตบอล สโมสรกีฬาฟุตบอลที่เป็นสมาชิกระบบการแข่งขันที่ยูฟ่าได้กำกับดูแลต่างยอมรับ ผูกพันและปฏิบัติตาม เพราะว่ามีข้อตกลงระหว่างยูฟ่าในฐานะที่เป็นองค์กรกำกับกีฬาฟุตบอลนานาชาติ (เอกชน) กับสโมสรกีฬาฟุตบอลที่เป็นสมาชิกระบบการแข่งขันของยูฟ่า (เอกชน) ผูกพันว่าสโมสรกีฬาฟุตบอลจะต้องปฏิบัติตามกฎ UEFA FFP อย่างเคร่งครัด ในทางตรงกันข้าม กฎ UEFA FFP ไม่ถือเป็นประเพณีปฏิบัติทางธุรกิจการกีฬาฟุตบอลและไม่ใช่กฎเกณฑ์ในการละเล่นเกมกีฬาฟุตบอลที่เป็นสากล รวมไปถึงกฎ UEFA FFP ก็ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายสหภาพยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องไม่ขัดต่อสนธิสัญญา TFEU อันถือเป็นกฎหมายสหภาพยุโรปที่รัฐสมาชิกหรือเอกชนในรัฐสมาชิกต้องเคารพและพึงปฏิบัติตาม
       ประเด็นสุดท้าย ด้วยลักษณะและสภาพของกฎ UEFA FFP เอง ไม่ใช่กฎที่จำกัดการแข่งขันทางการค้า (Rules That Restrict Competition) ในอุตสาหกรรมกีฬาฟุตบอลยุโรป สโมสรทุกทีมก็ยังสามารถแข่งขันกันได้อย่างเสรีในตลาดการค้าสหภาพยุโรปและไม่ใช่กฎที่ถูกสร้างมาเพื่อป้องกันการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขันทางการค้าในสหภาพยุโรป[28] เพราะสโมสรดังกล่าวยังคงสามารถใช้ศักยภาพของตนแสวงหารายได้ของตน (Income) และมีเสรีภาพในการแสวงหารายได้ของตนอย่างเต็มที่ ซึ่งสโมสรกีฬาฟุตบอลจะสร้างความร่ำรวยให้กับสโมสรมากเพียงใดก็ได้ ตราบเท่าที่ไม่ได้กระทำการฝ่าฝืนข้อบังคับของยูฟ่า กฎหมายภายในประเทศและกฎหมายสหภาพยุโรป  หากแต่กฎดังกล่าวจำกัดเพียงรายจ่าย (Expenditure) เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเท่าเทียมบนรากฐานของการมีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ไม่เหลื่อมล้ำกันมาก เพื่อสโมสรกีฬาฟุตบอลขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็กจะได้มีโอกาสจ่ายเงินให้ได้มาซึ่งทรัพยากรในกีฬาฟุตบอลที่มีศักยภาพและประสิทธิภาพที่ไม่แตกต่างกันมากจนเกินไป
       [5] สรุป
       หลักเสริมสร้างการแข่งขันอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือ Fair Play ไม่เพียงแต่จะนำมาใช้ในการละเล่นเกมกีฬาฟุตบอลเท่านั้น หากแต่ยังมีการขยายแนวคิดของหลักดังกล่าวจนถูกพัฒนามาเป็น Financial Fair Play  หรือหลัก FFP  ซึ่งยูฟ่าเองก็ได้พัฒนากฎ UEFA FFP ของตนขึ้นมากำกับความเสี่ยงในการบริหารการเงินของสโมสรกีฬาฟุตบอลและสร้างกฎให้ยกระดับการเปิดโอกาสให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมในอุตสาหกรรมกีฬายุโรป ควบคุมพฤติกรรมการใช้จ่ายของสโมสรกีฬาฟุตบอลขนาดใหญ่ในลักษณะที่อาจนำไปสู่บ่อเกิดของความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรทรัพยากรให้กับสโมสรกีฬาฟุตบอลที่เป็นสมาชิกระบบการแข่งขันที่ยูฟ่ากำกับดูแล อย่างไรก็ดี การดำเนินมาตรการและลักษณะของโทษบางอย่างภายใต้กฎ UEFA FFP ก็อาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาวงการกีฬาในตลาดสหภาพยุโรปได้ รวมไปถึงอาจนำไปสู่การจำกัดเสรีภาพบางอย่างของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวงการกีฬาฟุตบอลยุโรป
       
       
       
       
       [1] de Dios Crespo, J. & Santorcuato, S. (2014). The Union European Football Association ("UEFA") Financial Fair Play. African Sports Law and Business Bulletin, 2/2014, 26-59.
       
       
       [2] Schirato, T. (2006). From Sport to Cultural Consumption: Media, Capitalism and the Transformation of Football. Football Studies, 2 (9), 40-51.
       
       
       [3] Office of Communications. (2010). Sports and general market definition and market power appendices. London: Office of Communications.
       
       
       [4] Budzinski, O. (2014). The competition economics of financial fair play, Ilmenau Economics Discussion Papers, No. 85. Ilmenau: Ilmenau University of Technology Institute of Economics.
       
       
       [5] Kaplan, V. (2015). UEFA Financial Fairplay Regulations and European Union Antitrust Law Complications. Emory International Law Review, 4 (29), Retrieved December 15, 2017, from http://law.emory.edu/eilr/content/volume-29/issue-4/comments/uefa-fairplay-european-union-antitrust.html
       
       
       [6] Peeters, T. & Szymanski, S. (2013). Financial Fair Play in European football Research Paper 2013-021. Antwerpen: University of Antwerp Faculty of Applied Economics.
       
       
       [7] Hovell, M. & Gunawardena, T. (2014). UEFA’s Financial Fair Play Regulations: Saving Football from Itself?. Retrieved December 15, 2017, from https://www.americanbar.org/content/dam/aba/publications/entertainment_sports_lawyer/hovell-gunawardena-uefa-financial-fair-play-rules-final.authcheckdam.pdf
       
       
       [8] Bloomberg L.P. (2017). Football Association Premier League Ltd. Retrieved December 15, 2017, from https://www.bloomberg.com/profiles/companies/2635863Z:LN-football-association-premier-league-ltd/the
       
       
       [9] Union of European Football Associations. (2017). About UEFA. Retrieved December 15, 2017, from http://www.uefa.com/insideuefa/about-uefa/
       
       
       [10] Brink, D. O. (2005). The Principle of Fair Play. Retrieved December 15, 2017, from http://philosophyfaculty.ucsd.edu/faculty/rarneson/Courses/167Fair%20Playdavidbrink2005.pdf
       
       
       [11] Evan, R. (2014). Economic model of financial fair play in professional football Working Paper. London: Birkbeck University of London Sport Business Centre.
       
       
       [12] Davis, T. (2001). What Is Sports Law?. Marquette Sports Law Review, 7 (11), 211-244.
       
       
       [13] Viewe, K. (2014). Lex Sportiva And The Fairness Principle. International Sports Law Review Pandektis (ISLR/Pandektis), 4 (10), 382-394.
       
       
       [14] Jemson, T. J. (2013). For the Love of Money, Football, and Competition Law: An analysis of whether UEFA’s Financial Fair Play Regulations breach European competition law. Ontago: University of Otago.
       
       
       [15] Union of European Football Associations. (2017). Financial fair play: all you need to know. Retrieved December 15, 2017, from http://www.uefa.com/community/news/newsid=2064391.html
       
       
       [16] Uglebakken, E. H. (2015). In which way can the Break-Even Requirement benefit European football?. Tromsø: Arctic University of Norway School of Business and Economics.
       
       
       [17] Vöpel, H. (2013). Is Financial Fair Play Really Justified? An Economic and Legal Assessment of UEFA’s Financial Fair Play Rules. Hamburg: Hamburgisches WeltWirtschaftsInstitut.
       
       
       [18] Geey, D. (2011). The UEFA Financial Fair Play Rules: a difficult balancing act. Entertainment & Sports Law Journal, 1 (9), 1-11.
       
       
       [19] British Broadcasting Corporation. (2014). Financial fair play: All you need to know about how it works. Retrieved December 15, 2017, from http://www.bbc.com/sport/football/29361839
       
       
       [20] Union of European Football Associations. (2014). Club Financial Control Body. Retrieved December 15, 2017, from https://www.uefa.com/insideuefa/disciplinary/news/newsid=2052612.html#/
       
       
       [21] Union of European Football Associations. (2014). Club Financial Control Body Investigatory Chamber. Retrieved December 15, 2017, from https://www.uefa.com/insideuefa/disciplinary/club-financial-controlling-body/investigatory-chamber/index.html
       
       
       [22] Union of European Football Associations. (2014). Club Financial Control Body Adjudicatory Chamber. Retrieved December 15, 2017, from https://www.uefa.com/insideuefa/disciplinary/club-financial-controlling-body/adjudicatory-chamber/index.html
       
       
       [23] British Broadcasting Corporation. (2014). Manchester City fined and squad capped for FFP breach. Retrieved December 15, 2017, from http://www.bbc.com/sport/football/27445475
       
       
       [24] The Irish Time. (2013). Uefa warns Manchester City and Paris Saint-Germain their figures must add up. Retrieved December 15, 2017, from https://www.irishtimes.com/sport/uefa-warns-manchester-city-and-paris-saint-germain-their-figures-must-add-up-1.1254236
       
       
       [25] British Broadcasting Corporation. (2014). Red Star Belgrade suffer UEFA Champions League ban. Retrieved December 15, 2017, from http://www.bbc.com/sport/football/27741460
       
       
       [26] EUROSTEP - EEPA. (2013). The Lisbon Treaty Article 45. Retrieved December 15, 2017, from http://www.lisbon-treaty.org/wcm/the-lisbon-treaty/treaty-on-the-functioning-of-the-european-union-and-comments/part-3-union-policies-and-internal-actions/title-iv-free-movement-of-persons-services-and-capital/chapter-1-workers/187-article-45.html
       
       
       [27] EUROSTEP - EEPA. (2013). The Lisbon Treaty Article 165. Retrieved December 15, 2017, from http://www.lisbon-treaty.org/wcm/the-lisbon-treaty/treaty-on-the-functioning-of-the-european-union-and-comments/part-3-union-policies-and-internal-actions/title-xii-education-vocational-training-youth-and-sport/453-article-165.html
       
       
       [28] EUROSTEP - EEPA. (2013). The Lisbon Treaty Article 101. Retrieved December 15, 2017, from http://www.lisbon-treaty.org/wcm/the-lisbon-treaty/treaty-on-the-functioning-of-the-european-union-and-comments/part-3-union-policies-and-internal-actions/title-vii-common-rules-on-competition-taxation-and-approximation-of-laws/chapter-1-rules-on-competition/section-1-rules-applying-to-undertakings/369-article-101.html
       
       


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1995
เวลา 29 มีนาคม 2567 21:33 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)