ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมมาตรฐานผู้ฝึกสอนกีฬาและผู้ตัดสินกีฬา พ.ศ. .... ตอนที่ 1

26 พฤศจิกายน 2560 16:47 น.

       นอกจากกีฬา (Sports) จะถือเป็นกิจกรรมที่สร้างความสนุกให้กับผู้ที่เข้าร่วมการแข่งขันและสร้างความตื่นเต้นเร้าใจให้กับผู้ชมการแข่งขันทั้งจากในสนามและจากการติดตามการถ่ายทอดสดแล้ว กีฬายังถือเป็นกิจกรรมที่ถูกกำหนดกรอบของการละเล่นเพื่อแข่งขันเอาไว้ภายใต้กฎ กติกา ระเบียบและข้อบังคับที่ถูกปฏิบัติติดต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน อีกทั้งอยู่กฎ กติกา ระเบียบและข้อบังคับเกี่ยวกับการแข่งขันกีฬาเหล่านี้เองก็ได้รับการยอมรับและถูกบังคับใช้โดยองค์กรกำกับธรรมาภิบาลทางการกีฬาในแต่ละประเภทกีฬา (Sports Governing Bodies) โดยที่องค์กรดังกล่าวอาจอยู่ในรูปแบบของสมาคมกีฬาอาชีพ (Sports Associations) หรืออยู่ในรูปแบบของหน่วยงานของรัฐ (Sports Authorities) ที่รัฐได้ให้อำนาจกำกับธรรมาภิบาลด้านกีฬา ซึ่งเมื่อมีการแพร่หลายของเกมการแข่งขันกีฬาหลากประเภทกีฬามากขึ้นและมีการขยายระบบการแข่งขันเกมกีฬาในระดับต่างๆ ทั้งในระดับภูมิภาค ระดับชาติและระดับนานาชาติ ก็ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องที่เข้ามามีบทบาทในเกมการแข่งขันกีฬาย่อมมีมากขึ้นตามไป ซึ่งก็ก่อให้เกิดผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวงการกีฬา (Stakeholders) มากมายหลายประเภท ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเหล่านี้เองอาจมีบทบาทช่วยผลักดันเกมการแข่งขันกีฬาประเภทต่างๆ ให้มีความก้าวหน้า ในทางตรงกันข้าม ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเหล่านี้ก็อาจสร้างปัญหาและอุปสรรคต่อการพัฒนาวงการกีฬาทำให้วงการกีฬาถดถอยลงได้ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวงการกีฬา (จากสมาคมกีฬาอาชีพหรือหน่วยงานของรัฐ) อาจมีบทบาทร่วมกันกำหนดมาตรการส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานแห่งวิชาชีพของนักกีฬาอาชีพและผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับเกมการแข่งขันกีฬาอื่นๆ ทำให้เกิดมาตรการที่สามารถอำนวยความเป็นธรรมให้แก่ผู้ซึ่งได้รับผลกระทบจากนักกีฬาอาชีพที่ไม่ปฏิบัติตามกฎ กติกาและมารยาทของการแข่งขันและจากผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับเกมการแข่งขันกีฬาที่กระทำการอันฉ้อฉลหรือคดโกงอันขัดต่อจริยธรรมทางการกีฬาอย่างเป็นรูปธรรม
       ผู้ฝึกสอนกีฬา (Sports Coach) และผู้ตัดสินกีฬา (Sports Referee) ก็ถือเป็นผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับเกมการแข่งขันกีฬาที่มีบทบาทสำคัญต่อเกมการแข่งขันกีฬา เพราะผู้ฝึกสอนกีฬามีบทบาทสำคัญในฝึกสอนนักกีฬาให้เชี่ยวชาญจนมีทักษะการเล่นกีฬาที่เหมาะสมสำหรับเข้าร่วมการแข่งกีฬาในระดับต่างๆ และผู้ตัดสินกีฬามีบทบาทที่สำคัญในการรักษากติกาในเกมการแข่งขันกีฬา รวมไปถึงควบคุมเกมการแข่งขันกีฬาให้ดำเนินต่อเนื่องไปได้จนจบการแข่งขัน ทั้งฝึกสอนกีฬาและผู้ตัดสินกีฬา ต่างจะต้องมีเสรีภาพในการถ่ายทอดความรู้ทักษะทางการกีฬาและมีความเป็นอิสระในการตัดสินการแข่งขันกีฬา ที่ปราศจากการครอบงำจากธุรกิจดำเนินกิจกรรมสโมสรกีฬา (เจ้าของสโมสรกีฬา) ผู้สนับสนุนทางการเงินแก่สโมสรกีฬา (สปอนเซอร์) และกลุ่มอิทธิผลหรือกลุ่มผลประโยชน์ทางการกีฬาอื่นๆ ส่งผลให้ทั้งผู้ฝึกสอนกีฬาและผู้ตัดสินกีฬา มีบทบาทที่สำคัญในการพัฒนาเกมการแข่งขันกีฬาของประเทศไทยให้ก้าวสู่ระดับสากล อีกประการหนึ่ง ทั้งการดำเนินงานของผู้ฝึกสอนกีฬาและผู้ตัดสินกีฬาก็สามารถส่งผลต่อสาธารณชนได้อย่างกว้างขวาง แม้ว่าในอดีตที่ผ่านมาผู้ฝึกสอนกีฬาและผู้ตัดสินกีฬาจะพยายามเข้ามารวมกลุ่มกันเป็นสมาคม (สมาคมผู้ฝึกสอนกีฬาและสมาคมผู้ตัดสินกีฬา) แล้วกำหนดมาตรฐานกำกับดูแลกันเอง (Self-regulation) หรือบัญญัติมาตรฐานจริยธรรม (Code of Ethics) มาเป็นกรอบมาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่ก็ตาม แต่ก็ดูเหมือนไม่มีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุว่ากลไกการกับกำดูแลกันเองกับมาตรฐานจริยธรรมก็ไม่ได้มีสภาพบังคับให้ผู้ฝึกสอนกีฬาและผู้ตัดสินกีฬาจะต้องปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกันแต่อย่างใด
       ดังนั้น กรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจึงได้จัดทำ “ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมมาตรฐานผู้ฝึกสอนกีฬาและผู้ตัดสินกีฬา พ.ศ. ....” ขึ้นมาเพื่อยกระดับผู้ฝึกสอนกีฬาให้กลายมาเป็นวิชาชีพที่จะต้องมีความรู้ความชำนาญในแต่ละชนิดกีฬาสำหรับถ่ายทอดองค์ทักษะทางการกีฬาเป็นการเฉพาะกับยกระดับผู้ตัดสินกีฬาให้กลายมาเป็นวิชาชีพที่จะต้องอาศัยความรอบรู้ในกฎ กติกาและมารยาทการแข่งขันชนิดกีฬาต่างๆ สำหรับดำเนินการแข่งขันให้เป็นไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรม ภายใต้เหตุผลในการตรากฎหมายดังนี้ที่ว่า “โดยที่ปัจจุบันการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ฝึกสอนกีฬาซึ่งเป็นผู้ที่นำความรู้ความชำนาญ เฉพาะด้านเกี่ยวกับกีฬามาใช้ในการฝึกสอนกีฬาแก่นักกีฬาและเยาวชน และผู้ตัดสินกีฬาซึ่งทำหน้าที่ ตัดสินกีฬาให้เป็นไปตามกฎและกติกาการแข่งขันเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานของแต่ละชนิดกีฬา เป็นผู้มีบทบาทอย่างยิ่งต่อการแข่งขันกีฬาและการส่งเสริมการกีฬาเพื่อสุขภาพของประชาชน สมควรมีการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพ รวมทั้งควบคุมการปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ฝึกสอนกีฬาและผู้ตัดสิน กีฬาให้มีคุณภาพ มาตรฐาน อยู่ในกรอบของจรรยาบรรณ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริม พัฒนาองค์ ความรู้สร้างมาตรฐาน ส่งเสริมความก้าวหน้า และปกป้องดูแลสิทธิและประโยชน์ในการเป็นผู้ฝึกสอน กีฬาและผู้ตัดสินกีฬา รวมทั้งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนที่จะได้รับการส่งเสริมการออกกำลังกาย และเล่นกีฬาอย่างถูกต้องและมีความปลอดภัย” 
       ร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ ได้นำเสนอการเสริมสร้างมาตรฐานวิชาชีพผู้ฝึกสอนกีฬาและผู้ตัดสินกีฬา ผ่านการให้อำนาจ “คณะกรรมการส่งเสริมมาตรฐานผู้ฝึกสอนกีฬาและผู้ตัดสินกีฬา” ที่ประกอบด้วยผู้แทนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากองค์กรกำกับธรรมาภิบาลทางการกีฬาและหน่วยงานของรัฐทางการกีฬาหลายฝ่ายมาใช้อำนาจกำหนดนโยบายและแผนส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานผู้ฝึกสอนกีฬาและผู้ตัดสินกีฬา รวมไปถึงกำหนดระเบียบ หลักเกณฑ์ และปฏิบัติการต่างๆ เพื่อส่งเสริมยกระดับมาตรฐานวิชาชีพทั้งผู้ฝึกสอนกีฬาและผู้ตัดสินกีฬา
       ร่างพระราชบัญญัติฯ ยังได้เสนอหลักเกณฑ์กำกับมาตรฐานวิชาชีพผู้ฝึกสอนกีฬาและผู้ตัดสินกีฬา ผ่านการสร้างมาตรการการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้ฝึกสอนกีฬาและผู้ตัดสินกีฬา (Licensure) ที่รวมหลักเกณฑ์ว่าด้วยวิธีการการขอรับใบอนุญาต การออกใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต และการออกใบแทนใบอนุญาต ซึ่งผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทั้งสองจะต้องมีคุณวุฒิและคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด จึงจะได้รับใบอนุญาต (License) เช่น สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีในสาขาที่เกี่ยวข้อง ผ่านการทดสอบหรือมีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับการฝึกสอนกีฬาและการตัดสินกีฬา และไม่เป็นผู้วิกลจริตหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ เป็นต้น
       ร่างพระราชบัญญัติฯ ยังได้เสนอหลักเกณฑ์การส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพผู้ฝึกสอนกีฬาและผู้ตัดสินกีฬา ผ่านการกำหนดวิธีการส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพ เช่น การส่งเสริมให้เข้าศึกษาอบรมเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ผู้ฝึกสอนกีฬาหรือผู้ตัดสินกีฬาในหลักสูตรที่คณะกรรมการรับรอง การส่งเสริมให้มีทุนการศึกษา การค้นคว้า การทดลอง การวิเคราะห์ และการวิจัย ด้านการกีฬา และการส่งเสริมให้เข้าร่วมประชุมและการสมัครเป็นสมาชิกองค์การกีฬาระหว่างประเทศ เป็นต้น
       นอกจากนี้ ร่างพระราชบัญญัติฯ ยังได้ผู้ฝึกสอนกีฬาและผู้ตัดสินกีฬาต้องปฏิบัติตามจรรยาบรรณในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ฝึกสอนกีฬาและผู้ตัดสินกีฬา  ซึ่งหากผู้ฝึกสอนกีฬาและผู้ตัดสินกีฬาไม่ยอมปฏิบัติตามจรรยาบรรณดังกล่าว ก็อาจถูกว่ากล่าวตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใช้ใบอนุญาตมีกำหนดเวลาตามที่เห็นสมควร แต่ไม่เกินสองปี และเพิกถอนใบอนุญาต
       จากที่กล่าวมาในข้างต้น ถือเป็นความพยายามของกรมพลศึกษาและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางการกีฬาต่างๆ ที่ประสงค์จะสร้างมาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ฝึกสอนกีฬาในฐานะที่เป็นผู้ที่นำความรู้ความเชี่ยวชาญในแต่ละชนิดกีฬามาฝึกสอนนักกีฬาอาชีพและนักกีฬาสมัครเล่นและผู้ตัดสินกีฬาในฐานะที่เป็นผู้ทำหน้าที่ตัดสินกีฬาให้เป็นไปตามกฎและกติกาของการแข่งขันกีฬาในแต่ละชนิดกีฬา เพื่อให้เกมการแข่งขันกีฬาดำเนินไปได้อย่างเรียบร้อยและยุติธรรมต่อนักกีฬาที่เข้ารับการแข่งขัน
       อย่างไรก็ตาม มีผู้เขียนมีข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับ “ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมมาตรฐานผู้ฝึกสอนกีฬาและผู้ตัดสินกีฬา พ.ศ. ....” ที่อาจถูกนำเอามาประกาศใช้ในอนาคต..................... (โปรดติดตาม ตอนที่ 2)
        
       อ้างอิง:
       ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมมาตรฐานผู้ฝึกสอนกีฬาและผู้ตัดสินกีฬา พ.ศ. ....: โปรดดูhttp://www.dpe.go.th/content/file/download/1129161480383912.pdf
       สำรวจความคิดเห็น (ร่าง) พระราชบัญญัติ ส่งเสริมมาตรฐานผู้ฝึกสอนกีฬาและผู้ตัดสินกีฬา พ.ศ. .... ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 โปรดดู http://survey.dpe.go.th/index.php/489725?lang=th


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1988
เวลา 4 พฤศจิกายน 2567 20:29 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)