กำหนดเวลาในกฎหมายนั้น สำคัญไฉน

12 พฤศจิกายน 2560 19:39 น.

       
       การที่มาตรา ๗๗ ของรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ บัญญัติไว้ตอนหนึ่งว่ารัฐพึงกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายให้ชัดเจนนั้น ถ้าอ่านแบบผ่าน ๆ โดยไม่คิดอะไรก็จะเข้าใจไปว่าไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญ แถมไม่มันส์เท่าบทบัญญัติในหมวดอื่น ๆ ที่ทำให้คนช่างฝันสามารถ “จินตนาการ” ไปได้ต่าง ๆ นา ๆ ว่าเมื่อเลือกตั้งแล้ว พรรคไหนจะได้เข้ามาเท่าไร ใครจะรวมกับใคร ใครจะเป็นนายก ฯลฯ
       
       แต่จริง ๆ แล้วบทบัญญัตินี้มีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของพี่น้องประชาชนมากนะครับ ว่าง่าย ๆ คือถ้ากฎหมายกำหนดแต่ขั้นตอนต่าง ๆ ไว้ แต่ไม่กำหนดว่าใครต้องทำอะไรภายในเวลาเท่าไร การทำงานตามขั้นตอนต่าง ๆ เหล่านั้นก็จะมีลักษณะเป็นการทำงานแบบ “ลมโชย” คือทำไปเรื่อย ๆ คนเดือดร้อนก็คือพี่น้องประชาชนนะครับ เพราะเป็นผู้ที่ต้องทำตามกฎหมาย
       
       ถ้าเป็นเรื่องที่มีการร้องเรียนหรือฟ้องร้องกัน การไม่กำหนดเวลาดำเนินการก็ทำให้คนถูกกล่าวหาตกนรกทั้งเป็นได้ง่าย ๆ เพราะเมื่อไรเรื่องหรือคดีจะจบจะสิ้นกันเสียทีก็ไม่รู้ ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการต่อสู้ความกันไม่รู้เท่าไร บางทีสู้กันเป็นหนี้หัวโตเพื่อรักษาเกียรติยศ บ้างผู้ถูกกล่าวหาตายไปแล้วเรื่องยังไม่ไปถึงไหนก็มี ทิ้งเรื่องที่ถูกร้องเรียนหรือฟ้องร้องให้เป็นประวัติเสียติดค้างคาไปถึงลูกหลานเพราะความจริงยังไม่ปรากฏกันเยอะแยะไป สร้างบาปสร้างกรรมนะครับนี่
       
       ดังนั้น ยิ่งบ้านเราให้น้ำหนักกับความสะดวกในการกล่าวหา จึงยิ่งต้องใส่ใจในการกำหนดเวลาในการพิสูจน์ทราบว่าใครถูกใครผิดไว้ให้ชัดเจนเป็นของคู่กันด้วย ไม่งั้นสังคมคงอลเวงกันไปหมด งานการไม่ต้องทำกันพอดี กลัวถูกกล่าวหา กลัวเป็นคดี กลัวเสียชื่อเสียง ทำงานไปวัน ๆ ดีกว่า ชั่วไม่มี ดีไม่ปรากฏ ถ้าเช่นนี้ประเทศไม่ต้องไปไหนกัน
       
       ถ้าเป็นเรื่องการขออนุมัติอนุญาตจากทางราชการแล้วไม่มีกำหนดเวลาดำเนินการแล้วเสร็จไว้ คนขออนุญาตเขาก็จะไม่รู้ว่าเขาจะรู้ผลเมื่อไร เขาก็เสียหาย ยิ่งถ้าเป็นการขออนุมัติอนุญาตที่เกี่ยวกับการทำสัมมาอาชีวะหรือประกอบธุรกิจนี่ชัดเจนมาก เพราะการจะทำมาหากินอะไรนี่ต้องมีการลงทุน ต้องมีการวางแผน ถ้ามันไม่เป็นไปตามแผนหรือผิดแผนมาก ๆ นี่ต้นทุนดำเนินการมันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นะครับ ไหนจะเสียโอกาสในทางธุรกิจอีก เพราะเวลาที่เดินไปเรื่อย ๆ นี่เขาอาสเสียเปรียบคู่แข่งทางการค้าได้ โบราณว่ากว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้เสียแล้ว
       
       ดังนั้น ทิศทางการร่างกฎหมายของโลกปัจจุบันจึงให้ความสำคัญกับ “ข้อมูลที่เป็นจริง”(Evidence based) เพื่อ “สร้างขั้นตอนเพียงเท่าที่จำเป็น” และ “กำหนดเวลาในการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอนให้ชัดเจน” ครับ 
       
       OECD นี่ถึงขนาดออก Standard Cost Model (SCM) ขึ้นเป็นแนวทางการคำนวณต้นทุนในการปฏิบัติตามกฎหมายของประชาชน (Compliance Cost) ไว้เป็นคู่มือประกอบการกำหนดขั้นตอนต่าง ๆ ของผู้เสนอกฎหมายทางธุรกิจไว้เป็นเรื่องเป็นราว โดยเขาเอาเวลาในแต่ละขั้นตอนเป็นตัวคำนวณด้วยตามสูตรนี้ครับ
       
       Compliance Cost = Price X Times X Quantity (population x frequency) หรือ
       ต้นทุนต่อกิจกรรม = ค่าใช้จ่าย X ระยะเวลา X ปริมาณ (ผู้เกี่ยวข้อง X ความถี่)
       เช่น การที่ผู้ร่างกฎหมายเสนอว่าสมควรกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องได้รับใบอนุญาตทำกิจกรรม ก. ไม่ใช่สักแต่เขียนในกฎหมายว่าต้องทำอย่างไรเพราะมันเป็น “แบบ” แต่ผู้เสนอร่างกฎหมายต้องคิดว่าคนมาขอใบอนุญาตเขาต้องใช้เอกสารใดบ้าง ค่าใช้จ่ายในการทำเอกสารคิดเป็นเงินเท่าใด ต้องใช้แรงงานคนกี่คนในการทำเอกสาร ทำกี่วัน และต้องคิดว่าจะใช้เวลาในการออกใบอนุญาตกี่วัน รวมทั้งต้องคิดว่ามีผู้ประกอบการอย่างน้อยที่สุดกี่รายที่จะต้องมาขอใบอนุญาต กับต้องขอใบอนุญาตครั้งเดียวจบหรือหลายครั้ง แล้วนำมาคำนวณให้เห็นว่ามันเป็นภาระขนาดไหน จะได้รู้ว่ามันคุ้มค่าหรือจำเป็นแค่ไหนในการสร้างขั้นตอนนั้นขึ้นมา
       
       ตามตัวอย่างข้างต้น ถ้าต้องใช้คนหนึ่งคน ต้องใช้เวลากรอกคำขอและเอกสารประกอบรวม ๓ วัน ค่าใช้จ่ายก็เท่ากับ ๓๐๐ X ๓ = ๙๐๐ บาท รวมกับค่าใช้จ่ายในการถ่ายเอกสารอีกสมมุติว่า ๑๐๐ บาทก็จะเท่ากับ ๑,๐๐๐ บาท ต้องใช้เวลารอจนกว่าจะได้รับใบอนุญาตอีกสมมุติว่า ๖๐ วัน มีผู้ประกอบกิจการนั้นอย่างน้อย ๕,๐๐๐ ราย และขออนุญาตปีละ ๑ ครั้ง ต้นทุนต่อกิจกรรมขอใบอนุญาตนี้จะเท่ากับ ๑,๐๐๐ X ๖๐ X ๕,๐๐๐ X ๑ = ๓๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท!!!
       
       โอว์ แม่เจ้า!!!!!!! เขียนกฎหมายง่าย ๆ ตามแบบและใช้ระยะเวลาที่ (ผู้เสนอร่างกฎหมายคิดเอาเองว่า) ไม่ยาวนักนี่สร้างต้นทุนถึงสามร้อยสิบล้านบาทต่อปีเป็นอย่างน้อยเจียวหรือ ยังไม่นับค่าเสียโอกาสในช่วงรอ ๖๐ วัน หรือต่อขยายเวลาต่อไปอีกด้วยนะจอร์ช ... นี่ยังไม่ได้คิดอย่างละเอียดลอออย่างฝรั่งมังค่านะครับ แค่คิดแบบดิบ ๆ นี่ก็แย่แล้วละ ...
       
       เห็นไหมครับว่าเรื่องการกำหนดเวลาในกฎหมายนี่กระทบต่อประชาชนจัง ๆ เลย แถมตีชิ่งไปที่ความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วย จึงต้องคิดให้รอบคอบ มโนเอาแบบเดิม ๆ ไม่ได้แล้ว
       
       เรามาสนใจเรื่องพรรค์นี้บ้างดีกว่าไหมครับ?
       
       http://lawdrafter.blogspot.com/2017/11/blog-post.html


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1985
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 13:58 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)