ครั้งที่ 348

29 ตุลาคม 2560 20:17 น.

        
       “การปฏิรูปด้านการเรียนการสอนและการศึกษากฎหมาย (ตอนที่ 2)”
        
       ในบทบรรณาธิการครั้งก่อน ผมได้เล่าให้ฟังถึงผลการดำเนินงานบางส่วนของ “คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย” โดยผมได้เล่าให้ฟังถึงประเด็นเกี่ยวกับการปฏิรูปด้านการเรียนและการสอนและการศึกษากฎหมายตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 258 ค.(2) แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ให้มีการปฏิรูประบบการเรียนการสอนและการศึกษาอบรมด้านวิชาชีพกฎหมายเพื่อพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายให้เป็นผู้มีความรอบรู้ มีนิตินิทัศน์และยึดมั่นในคุณธรรมและจริยธรรมของนักกฏหมาย โดยคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายได้ทำข้อเสนอแนะสองเรื่องซึ่งในบทบรรณาธิการครั้งที่แล้ว ผมได้เล่าให้ฟังถึงข้อเสนอแนะเรื่องแรกคือหลักสูตรการศึกษานิติศาสตร์ระดับปริญญาตรีผลิตบัณฑิตนิติศาสตร์ที่มีคุณภาพทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติ มีความรอบรู้ และมีคุณธรรมจริยธรรมเพื่อเป็นนักกฎหมายที่ดี จบไปเรียบร้อยแล้ว ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ก็จะเป็นข้อเสนอแนะเรื่องที่สองของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายคือเรื่อง การศึกษาอบรมวิชาชีพกฎหมายสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายทุกสาขา สร้างความรู้ที่ทันสมัย สามารถประยุกต์ใช้และบังคับใช้กฎหมายให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ
       
        
       ในเรื่องที่สองนี้ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายได้กำหนดให้มีการดำเนินการใน 3 ส่วน คือ การจัดการฝึกอบรมให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพต่างๆทั้งภาครัฐและภาคเอกชนโดยสอดแทรกหลักจริยธรรมของนักกฏหมาย การจัดทำหลักสูตรการศึกษากฎหมายต่อเนื่องเพื่อให้นักกฎหมายได้รับความรู้ที่ทันสมัยในการนำไปใช้ประกอบวิชาชีพ การจัดให้มีหลักสูตรอบรมให้ความรู้ทางด้านกฎหมายแก่ประชาชนเพื่อให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจกฎหมายรวมทั้งให้ความรู้ด้านกฎหมายแก่ประชาชนผ่านทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ
       
        
       ในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดการฝึกอบรมให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนโดยสอดแทรกหลักจริยธรรมของกฎหมายนั้น คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายมีข้อเสนอแนะให้ดำเนินการหลายประการด้วยกัน คือ
       
       -ให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคลของข้าราชการและเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐแต่ละประเภทจัดให้มีหลักสูตรอบรมกฎหมายที่มีความจำเป็นต่อการปฏิบัติงานให้แก่ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐให้มีความรู้และตระหนักถึงหลักจริยธรรมของนักกฏหมายก่อนเข้าปฎิบัติงานด้านกฎหมาย
       -ให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคลของข้าราชการและเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐแต่ละประเภทจัดให้มีหลักสูตรอบรมกฎหมายและทดสอบความรู้ก่อนมีการเลื่อนระดับตำแหน่งในทุกระดับ
       -ให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคลของข้าราชการและเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐแต่ละประเภทประเมินผลหลักสูตรทุกๆ 5 ปีเพื่อให้เนื้อหาหลักสูตรสอดคล้องกับสภาพสังคมและมีองค์ความรู้ที่ทันสมัยอยู่เสมอ
       -ให้เนติบัณฑิตยสภาและสภาทนายความจัดให้มีหลักสูตรอบรมวิชากฏหมายที่มีองค์ความรู้ที่ทันสมัยและสอดแทรกจริยธรรมเพื่อให้นักกฏหมายทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ารับการอบรมพัฒนาองค์ความรู้โดยค่าใช้จ่ายในการเข้ารับการอบรมควรมีความเหมาะสมและนักกฎหมายทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงได้
       -ให้สภาทนายความจัดให้มีหลักสูตรอบรมกฎหมายและทดสอบความรู้ผู้ประกอบวิชาชีพทนายความอยู่เสมอโดยให้สภาทนายความกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนให้ผู้ประกอบวิชาชีพทนายความเข้ารับการอบรมกฎหมายและทดสอบความรู้เพื่อให้ทนายความมีองค์ความรู้ที่ทันสมัยสอดคล้องกับสภาพสังคม
       -ส่วนหน่วยงานของรัฐฝ่ายตุลาการองค์กรอิสระหรือองค์กรอัยการให้จัดทำแผนส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรผู้ทำหน้าที่ผู้พิพากษาตุลาการในศาลทุกศาล อัยการ รวมทั้งบุคลากรในองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ได้พัฒนาความรู้ใหม่ๆให้ที่ทันสมัยอยู่เสมอโดยให้คณะรัฐมนตรีทำหน้าที่ประสานให้คำปรึกษาหรือเสนอแนะต่อหัวหน้าหน่วยงานของรัฐขององค์กรเหล่านั้น
        
       ในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดทำหลักสูตรการศึกษากฎหมายต่อเนื่องเพื่อให้นักกฎหมายได้รับความรู้ที่ทันสมัยในการนำไปใช้ประกอบวิชาชีพ นั้น คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย มีข้อเสนอแนะให้ดำเนินการหลายประการคือ
       -ให้สถาบันอุดมศึกษาที่มีการจัดการเรียนการสอนสาขาวิชานิติศาสตร์ที่มีความพร้อม จัดให้มีหลักสูตรอบรมกฎหมายสอดคล้องจริยธรรมนักกฎหมายที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือเพื่อเปิดให้นักกฎหมายทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเข้ารับการอบรมพัฒนาองค์ความรู้และตระหนักถึงจริยธรรมการเป็นนักกฎหมายอยู่เสมอๆ โดยผู้เข้ารับการอบรมซึ่งเป็นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐที่ผ่านการอบรมและทดสอบความรู้ สามารถนำใบประกาศนียบัตรเสนอให้หน่วยงานต้นสังกัดใช้ประกอบการพิจารณาความดีความชอบได้
       -ให้คณะกรรมการสภานิติศึกษาแห่งชาติจัดทำหลักสูตรการศึกษากฎหมายต่อเนื่องเพื่อให้นักกฎหมายได้รับความรู้ที่ทันสมัยในการนำไปใช้ประกอบวิชาชีพกฎหมายโดยให้คณะกรรมการสภานิติศึกษาแห่งชาติดำเนินการจัดประชุมสภานิติศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาที่มีการจัดการเรียนสาขาการเรียนการสอนสาขาวิชานิติศาสตร์ทั่วประเทศเพื่อสร้างความร่วมมือทางวิชาการในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านกฎหมาย แล้วให้ที่ประชุมสภานิติศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาที่มีการจัดการเรียนการสอนสาขาวิชานิติศาสตร์ทั่วประเทศร่วมกันจัดทำหลักสูตรการศึกษากฎหมายต่อเนื่องเพื่อเปิดให้นักกฎหมายทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเข้ารับการอบรมและทดสอบความรู้ เมื่อที่ประชุมสภานิติศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาที่มีการจัดการเรียนการสอนสาขาวิชานิติศาสตร์ทั่วประเทศจัดทำหลักสูตรการศึกษากฎหมายต่อเนื่องเสร็จสิ้นแล้ว ให้คณะกรรมการสภานิติศึกษาแห่งชาติเสนอหลักสูตรดังกล่าวต่อคณะกรรมการการอุดมศึกษาเพื่อให้การรับรอง เมื่อคณะกรรมการการอุดมศึกษารับรองหลักสูตรแล้วให้มีการเปิดการอบรมได้และให้คณะกรรมการสภานิติศึกษาแห่งชาติประสานงานไปยังหน่วยงานของรัฐและภาคเอกชนเพื่อให้หน่วยงานของรัฐและเอกชนส่งผู้ปฏิบัติงานด้านกฎหมายเข้ารับการอบรมและทดสอบความรู้ตามหลักสูตรเป็นระยะๆโดยให้ผู้ผ่านการอบรมและทดสอบความรู้สามารถนำผลการอบรมและทดสอบความรู้ไปประกอบการประเมินความดีความชอบได้ และให้สภานิติศึกษาแห่งชาติให้ความร่วมมือและสนับสนุนให้ภาคเอกชนที่ประสงค์จะจัดทำหลักสูตรอบรมเพื่อให้นักกฎหมายมีความรู้ที่ทันสมัยสามารถจัดทำหลักสูตรที่ได้มาตรฐาน
        
       ในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดให้มีหลักสูตรอบรมให้ความรู้ทางด้านกฎหมายแก่ประชาชนเพื่อให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจกฎหมายรวมทั้งให้ความรู้ทางด้านกฎหมายแก่ประชาชนผ่านทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายมีข้อเสนอแนะให้ดำเนินการดังนี้คือ
       -ให้กระทรวงยุติธรรมประสานความร่วมมือกับสำนักงานอัยการสูงสุดและสภาทนายความจัดทำหลักสูตรอบรมให้ความรู้ทางด้านกฎหมายแก่ประชาชนทั่วไปโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เมื่อได้มีการจัดทำหลักสูตรอบรมให้ความรู้ทางด้านกฎหมายแก่ประชาชนทั่วไปเสร็จสิ้นแล้วให้มีการเปิดอบรมโดยให้กระทรวงยุติธรรมสำนักงานอัยการสูงสุดและสภาทนายความร่วมกับกระทรวงมหาดไทยจัดอบรมแก่ประชาชนในพื้นที่ต่างๆให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศหรือเปิดการอบรมผ่านช่องทางเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆหรือวิธีการอื่นใดที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน
       -ให้หน่วยงานของรัฐผู้บังคับใช้กฎหมายทุกหน่วยงานจัดทำคู่มือหรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศอธิบายกฎหมายที่หน่วยงานของตนรับผิดชอบโดยใช้ถ้อยคำภาษาที่เข้าใจได้ง่ายเผยแพร่ให้แก่ประชาชนรับรู้เพื่อให้ประชาชนสามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง 
       
        
       ที่กล่าวไปแล้วทั้งหมดทั้งในบทบรรณาธิการครั้งที่แล้วและในบทบรรณาธิการครั้งนี้ก็คือข้อเสนอแนะของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปการเรียนการสอนและการศึกษาอบรมวิชาชีพกฎหมายเพื่อพัฒนานักกฏหมายให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพที่ดีครับ
        
       
       ในสัปดาห์นี้เรามีบทความมานำเสนอสองบทความด้วยกัน บทความแรกเป็นตอนที่สองของบทความที่ได้ลงเผยแพร่ไปแล้วในครั้งก่อนหน้านี้ คือบทความของรองศาสตราจารย์ ดร. ณรงค์เดช สรุโฆษิต อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง "การให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่ง กับหลักความเป็นอิสระของตุลาการ ตอนที่ 2 "ส่วนบทความที่สองเป็นบทความเรื่อง "มองอาเจะห์ มองไทย" โดยคุณชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ ผมขอขอบคุณผู้เขียนบทความทั้งสองไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2560
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1983
เวลา 20 เมษายน 2567 03:54 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)