|
|
ครั้งที่ 347 15 ตุลาคม 2560 20:18 น.
|
การปฏิรูปด้านการเรียนการสอนและการศึกษากฎหมาย (ตอนที่ 1)
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้บัญญัติถึงกลไกในการปฏิรูปประเทศเอาไว้ในหมวด 16 มาตรา 257 ถึง 261 โดยในมาตรา 259 ได้กำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ ซึ่งต่อมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติก็ได้จัดทำพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560 ขึ้น กฎหมายฉบับนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 และมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 สิงหาคม 2560
มาตรา 8 แห่งกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศได้กำหนดให้มีการจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆรวม 10 ด้านและในมาตรา 10 ของกฎหมายดังกล่าวก็ได้กำหนดให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปแต่ละด้านเพื่อจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศซึ่งตัวผมเองก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายซึ่งมีอยู่ด้วยกันทั้งสิ้นรวม 10 คน
คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายประชุมกันไปแล้วหลายครั้งและได้มีการกำหนดประเด็นที่จะทำการปฏิรูปกฏหมายในด้านต่างๆรวม 10 ประเด็นด้วยกัน แต่ในส่วนที่ผมจะนำมาเล่าให้ฟังในบทบรรณาธิการครั้งนี้ เป็นประเด็นเกี่ยวกับการปฏิรูปด้านการเรียนการสอนและการศึกษากฎหมาย ทั้งนี้ เนื่องมาจากรัฐธรรมนูญมาตรา 258 ค.(2) ได้กำหนดให้มีการปฏิรูประบบการเรียนการสอนและการศึกษาอบรมด้านวิชากฎหมายเพื่อพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายให้เป็นผู้มีความรอบรู้ มีนิติทัศนะและยึดมั่นในคุณธรรมและจริยธรรมของนักกฏหมาย
ในการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย มีการจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปฏิรูปการเรียนการสอนและการศึกษาอบรมวิชาชีพกฎหมายเพื่อพัฒนานักกฏหมายให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพที่ดี โดยได้กำหนดเป้าหมายหรือผลอันพึงประสงค์และผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการเอาไว้ 3 ประการด้วยกัน คือ
1. หลักสูตรการศึกษานิติศาสตร์ที่มีคุณภาพ ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ทางด้านทฤษฎีและปฏิบัติ
2. ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายมีความรอบรู้ มีนิติทัศนะและยึดมั่นในคุณธรรมและจริยธรรม
3. ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีความรู้ที่ทันสมัยและสามารถประยุกต์ใช้ให้เกิดความเป็นธรรมอย่างมีประสิทธิภาพ
จากเป้าหมายดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายได้แบ่งการเสนอแนะออกเป็นสองเรื่อง เรื่องแรกคือ หลักสูตรการศึกษานิติศาสตร์ระดับปริญญาตรี ผลิตบัณฑิตนิติศาสตร์ที่มีคุณภาพทางด้านทฤษฎีและปฏิบัติ มีความรอบรู้และมีคุณธรรมจริยธรรมเพื่อเป็นนักกฎหมายที่ดี ส่วนเรื่องที่สองคือ การศึกษาอบรมวิชากฏหมายสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายทุกสาขา สร้างความรู้ที่ทันสมัย สามารถประยุกต์ใช้และบังคับใช้กฎหมายให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ
ในเรื่องแรก หลักสูตรการศึกษานิติศาสตร์ระดับปริญญาตรี ผลิตบัณฑิตนิติศาสตร์ที่มีคุณภาพทางด้านทฤษฎีและปฏิบัติ มีความรอบรู้และมีคุณธรรมจริยธรรมเพื่อเป็นนักกฎหมายที่ดีนั้น คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายเห็นว่ามีกิจกรรมที่จะต้องดำเนินการอยู่ด้วยกันทั้งหมด 2 กิจกรรมด้วยกัน กิจกรรมแรกคือต้องมีการกำหนดนโยบายในระดับประเทศเกี่ยวกับการสร้างนักกฏหมายให้มีความชัดเจนเพื่อตอบสนองต่อนโยบายของการพัฒนาประเทศให้สอดคล้องกับยุคสมัย การดำเนินการตามข้อนี้เริ่มจากต้องมีการสำรวจข้อมูลของหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคส่วนต่างๆว่าในกระบวนการทำงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง มีนักกฎหมายเพียงพอต่อความต้องการแล้วหรือไม่ และมีความต้องการนักกฎหมายที่มีคุณสมบัติและความเชี่ยวชาญในลักษณะใด โดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการให้มีการสำรวจข้อมูลปริมาณความต้องการนักกฎหมายของภาคส่วนต่างๆ คุณสมบัติและความเชี่ยวชาญของนักกฎหมายที่ภาคส่วนต่างๆต้องการ จากนั้น ก็ต้องดำเนินการให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากเนติบัณฑิตยสภา สภาทนายความ หน่วยงานของรัฐผู้บังคับใช้กฎหมายและสำรวจผู้ใช้บัณฑิตทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้ทั่วถึง แล้วจึงนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการสภานิติศึกษาขึ้นเพื่อจัดทำนโยบายการสร้างนักกฏหมายของประเทศให้มีความชัดเจน สามารถตอบสนองต่อนโยบายการพัฒนาประเทศให้สอดคล้องกับยุคสมัย โดยคณะกรรมการสภานิติศึกษาประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายและคณบดีคณะนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยที่มีประสบประการณ์ในการจัดการเรียนการสอนวิชากฏหมายมายาวนาน คณะกรรมการสภานิติศึกษาแห่งชาติจะต้องดำเนินการจัดประชุมคณบดีจากสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดการเรียนการสอนวิชานิติศาสตร์ นายกเนติบัณฑิตยสภาและนายกสภาทนายความเพื่อร่วมกันจัดทำนโยบายการสร้างนักกฏหมายของประเทศ จากนั้นก็นำเอานโยบายไปรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานของรัฐผู้บังคับใช้กฎหมาย ผู้ใช้บัณฑิตทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง ท้ายที่สุด คณะกรรมการสภานิติศึกษานำเสนอนโยบายการสร้างนักกฏหมายของประเทศต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อประกาศเป็นนโยบายและเป็นทิศทางในการพัฒนาหลักสูตรการศึกษานิติศาสตร์ต่อไป
การดำเนินการทั้งหมดที่ผมได้เล่าให้ฟังไปนั้น คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายเห็นว่าควรดำเนินการให้แล้วเสร็จเพื่อสร้างหลักสูตรโดยเร็วเพราะกว่าจะผลิตบัณฑิตอันพึงประสงค์ได้ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4 ปี
ส่วนกิจกรรมที่สองคือเรื่องพัฒนาหลักสูตรและสร้างมาตรฐานการศึกษากฎหมายในระดับปริญญาตรี ตลอดจนพัฒนาการเรียนการสอนเพื่อผลิตบัณฑิตนิติศาสตร์ที่มีคุณภาพทั้งทางด้านทฤษฎีและปฏิบัติ มีความรอบรู้ มีคุณธรรมจริยธรรมเพื่อเป็นนักกฎหมายที่ดีนั้น เรื่องนี้ก็เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการสภานิติศึกษาแห่งชาติที่จะต้องพัฒนาหลักสูตรนิติศาสตร์และสร้างมาตรฐานการศึกษากฎหมายในระดับปริญญาตรี โดยคณะกรรมการสภานิติศึกษาแห่งชาติจะต้องตั้งคณะทำงาน ขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อจัดทำกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรีสาขาวิชานิติศาสตร์ (มคอ.1) โดยคณะทำงานที่คณะกรรมการสภานิติศึกษาแห่งชาติตั้งขึ้นจะต้องจัดทำกรอบมาตรฐาน มคอ.1 ที่ประกอบด้วยเนื้อหาดังต่อไปนี้เป็นอย่างน้อยคือ
1. เนื้อหาหลักสูตรต้องสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรมและหลักวิชาชีพของนักกฏหมาย ให้มีการฝึกภาคปฏิบัติโดยเรียนรู้จากปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคมและศึกษาแนวทางในการแก้ไขปัญหาเพื่อผลิตบัณฑิตนิติศาสตร์ที่มีคุณภาพรองรับการเข้าสู่วิชาชีพทางกฎหมายอันได้แก่ผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ รวมทั้งผู้ประกอบวิชาชีพนักกฎหมายในภาครัฐและภาคเอกชน
2. เนื้อหาหลักสูตรต้องมุ่งสร้างนักกฎหมายยุคใหม่ที่มีความรอบรู้ด้านกฎหมายควบคู่กับความรอบรู้ในด้านอื่นๆ เช่น เศรษฐศาสตร์ การเมือง การเงิน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้นเพื่อผลิตบัณฑิตที่สามารถใช้กฎหมายให้บรรลุผลกับการแก้ปัญหาในสังคมที่มีความเป็นพลวัต รองรับการเข้าสู่การเป็นนักกฏหมายภาครัฐและนักกฎหมายภาคเอกชนเพื่อช่วยขับเคลื่อนประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติต่อไป
3. เนื้อหาหลักสูตรควรมีการยกระดับให้เป็นหลักสูตรนานาชาติเพื่อสร้างนักกฎหมายที่สามารถทำงานได้ในระดับสากลด้วย
การจัดทำกรอบมาตรฐาน มคอ.1 ข้างต้นจะต้องสอดคล้องกับนโยบายการสร้างนักกฏหมายของประเทศเมื่อคณะทำงานจัดทำร่างกรอบมาตรฐาน มคอ.1 เสร็จสิ้นแล้วก็ให้ไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากคณบดีหรือผู้บริหารจัดการหลักสูตรหรือผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่มีการจัดการเรียนการสอนสาขาวิชานิติศาสตร์ หน่วยงานของรัฐผู้บังคับใช้กฎหมาย สภาทนายความ เนติบัณฑิตยสภา หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในฐานะผู้ใช้บัณฑิต รวมทั้งผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆด้วย จากนั้นก็ให้คณะกรรมการสภานิติศึกษาแห่งชาติเสนอกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรีสาขาวิชานิติศาสตร์ (มคอ.1) ที่จัดทำเสร็จเรียบร้อยแล้วต่อคณะกรรมการการอุดมศึกษาเพื่อประกาศใช้เป็นเกณฑ์ในการประเมินเพื่อไปพัฒนาหรือปรับปรุงหลักสูตรให้บรรลุเป้าหมายต่อไป
ในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดกระบวนการพัฒนาการเรียนการสอนนิติศาสตร์ของสถาบันอุดมศึกษานั้น คณะกรรมการสภานิติศึกษาแห่งชาติจะเป็นแกนกลางในการจัดประชุมสภานิติศึกษาที่เกิดจากการรวมตัวกันของสถาบันอุดมศึกษาที่มีการจัดการเรียนการสอนสาขาวิชานิติศาสตร์เพื่อจัดทำแผนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างอาจารย์ผู้สอนกฎหมายและเผยแพร่ความรู้ให้แก่นักศึกษาข้ามสถานศึกษาเสนอต่อคณะรัฐมนตรี โดยในแผนดังกล่าวอย่างน้อยจะต้องกำหนดให้อาจารย์ผู้สอนกฎหมายที่เชี่ยวชาญด้านต่างๆถ่ายทอดองค์ความรู้ ประสบการณ์และเอกสารประกอบการสอน รวมทั้งการจัดทำระบบการสอนผ่านทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อให้นักศึกษากฎหมายในมหาวิทยาลัยต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยในภูมิภาคได้รับความรู้จากอาจารย์ผู้สอนกฎหมายหรือผู้ทรงคุณวุฒิทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแผนของที่ประชุมสภานิติศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาที่มีการจัดการเรียนการสอนสาขานิติศาสตร์ตามที่คณะกรรมการสภานิติศึกษาแห่งชาติเสนอ ให้มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการดังกล่าวบรรลุวัตถุประสงค์ต่อไป
ทั้งหมดที่กล่าวไปข้างต้นเป็นรายละเอียดที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายมีความเห็นเบื้องต้นเกี่ยวกับการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษานิติศาสตร์ระดับปริญญาตรีที่มีคุณภาพ เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ทั้งทางด้านทฤษฎีและปฏิบัติครับ ความเห็นดังกล่าวยังไม่เป็นที่สุดเพราะยังจะต้องผ่านกระบวนการต่างๆอีกมากมายรวมไปถึงกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดก่อน
ส่วนเรื่องที่สอง การศึกษาอบรมวิชากฏหมายสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายทุกสาขา สร้างความรู้ที่ทันสมัย สามารถประยุกต์ใช้และบังคับใช้กฎหมายให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ นั้น ขอติดเอาไว้เล่าให้ฟังในบทบรรณาธิการครั้งต่อไปครับ
ขอย้อนกลับไปหรือยังที่ผมได้เล่าให้ฟังไปข้างต้น จะเห็นได้ว่ามีการพูดถึง สภานิติศึกษา หลายๆคนอาจจะตั้งคำถามว่าสภานิติศึกษาคืออะไร? ผมขอใช้พื้นที่ตรงนี้เล่าให้ฟังว่า สภานิติศึกษาเกิดจากการรวมตัวกันของสถาบันการศึกษาด้านนิติศาสตร์ 4 แห่งด้วยกันคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงและมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช การรวมตัวกันมีวัตถุประสงค์ที่จะทำกิจกรรมต่างๆที่มีเป้าหมายเดียวกันในฐานะที่เป็นผู้จัดการเรียนการสอนวิชากฎหมายคือ ทำหลักสูตรสำหรับนิติศาสตร์บัณฑิตใหม่ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคม ทั้งนี้เนื่องจากหลักสูตรที่จัดทำในอดีตนั้นเน้นเพื่อให้ นิสิตนักศึกษาได้ไปประกอบวิชาชีพเป็นผู้พิพากษา อัยการหรือทนายความ แต่ในปัจจุบัน การประกอบวิชาชีพสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาด้านนิติศาสตร์นั้นเปลี่ยนไปและมีความหลากหลายมากกว่าเดิม สภานิติศึกษาที่ตั้งขึ้นจึงมีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาหลักสูตรนิติศาสตร์ให้มีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น นี่คือจุดเริ่มต้นของการจัดตั้งสภานิติศึกษา ที่ผ่านมา สภานิติศึกษาไม่ได้มีการดำเนินการหรือไม่ได้มีกิจกรรมอะไรมากนัก จึงไม่เป็นที่รู้จักของสังคม แต่เมื่อผมเข้ามาเป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พศ. 2556 ผมได้เสนอแนวความคิดว่าควรนำเอาระบบสภานิติศึกษากลับมาใช้ใหม่อีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากเมื่อได้พูดคุยกับบรรดาผู้ใช้บัณฑิตนิติศาสตร์จะพบว่า บัณฑิตนิติศาสตร์มีความแตกต่างกันในด้านองค์ความรู้และในด้านอื่นๆ จากการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นในขณะนั้น พบว่ามีคณะนิติศาสตร์หรือสถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนด้านนิติศาสตร์เกิดขึ้นมากมายเกือบจะร้อยแห่ง แต่ละแห่งต่างก็มีมาตรฐานของตัวเองซึ่งแตกต่างกันไป แต่ที่เหมือนกันคือบรรดาสถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนด้านนิติศาสตร์เหล่านี้ล้วนมีเป้าประสงค์เพื่อให้ผู้เข้ารับการศึกษาได้สำเร็จการศึกษาออกมาประกอบวิชาชีพกฎหมาย ผมเห็นว่าการประกอบวิชาชีพกฎหมายนั้นควรจะมีพื้นความรู้ทางวิชาการในมาตรฐานที่ไม่แตกต่างกันไม่ว่าจะสำเร็จการศึกษามาจากที่ใดก็ตาม ผมจึงเริ่มจัดทำโครงการที่จะสร้างสภานิติศึกษาขึ้นมาใหม่เพื่อเป็นที่ประชุมของบรรดาคณบดีหรือเทียบเท่าของคณะนิติศาสตร์หรือสถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนด้านนิติศาสตร์ทั่วประเทศเพื่อที่จะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันหรือเพื่อที่จะดำเนินการจัดทำกิจกรรมทางวิชาการในลักษณะอื่นๆร่วมกัน เช่น การจัดทำรายชื่อ สถานที่ติดต่อ ผลงานทางวิชาการของคณาจารย์ระดับแนวหน้าเพื่อสร้างความร่วมมือทางวิชาการและเพื่อการไปช่วยบรรยายให้ความรู้ในสถาบันการศึกษาอื่นๆ การสร้างมาตรฐานหลักสูตรกลางที่จะทำให้ผู้ศึกษาในแต่ละคณะนิติศาสตร์หรือสถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนด้านนิติศาสตร์จะได้ศึกษาในรายวิชาที่ไม่แตกต่างกัน นอกจากนี้ความตั้งใจที่จะตั้งสภานิติศึกษายังประกอบด้วยวัตถุประสงค์อื่นๆอีกมากมายไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือทางด้านกิจกรรมวิชาการ เช่น การจัดประชุมวิชาการของผู้สอนกฎหมายเพื่อนำเสนอบทความวิชาการ การมีส่วนร่วมพัฒนาอาจารย์ผู้สอนกฎหมายด้วยการรับเข้าศึกต่อในระดับที่สูงขึ้น เป็นต้น
เนื่องจากผมได้เตรียมพร้อมที่จะสร้างสภานิติศึกษาขึ้นมาใหม่ตั้งแต่ตอนต้นของการเข้ารับตำแหน่งคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เราจึงได้ตั้งงบประมาณสำหรับสภานิติศึกษาไว้สองปี ในปีแรก สภานิติศึกษาได้จัดการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง ทิศทางการจัดการเรียนการสอนวิชานิติศาสตร์ ขึ้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559 โดยเชิญคณบดีหรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าของคณะคณบดีนิติศาสตร์หรือสถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนด้านนิติศาสตร์ทั่วประเทศมาประชุมกันที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การประชุมในวันนั้นถือว่าเป็นการประชุม คณบดีนิติศาสตร์ มากที่สุดเป็นครั้งแรกในประเทศไทยโดยผม ในฐานะประธานสภานิติศึกษา ได้กล่าวเปิดการสัมมนาด้วยการเล่าให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาฟังถึงความตั้งใจ ความพยายามและวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งสภานิติศึกษาให้เป็นรูปร่างขึ้น เพื่อให้เกิดความร่วมมืออย่างจริงจังในบรรดาสถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนนิติศาสตร์ทั่วประเทศ โดยก่อนหน้านี้เราได้มีการประชุมกันไปหลายครั้งเพื่อที่จะวางแผนและทำข้อตกลงร่วมกันในบรรดาผู้บริหารคณะนิติศาสตร์ 4 สถาบันหลักที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งสภานิติศึกษา ส่วนการจัดสัมมนาในครั้งที่สองนั้น จัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 3 มิถุนายน 2560 การสัมมนาในวันนั้นได้มีการนำเสนอร่างกรอบมาตรฐานคุณวุฒิอุดมศึกษา(มคอ.1)ในระดับปริญญาตรีสาขาวิชานิติศาสตร์ ขึ้นโดยมี ศ.ณรงค์ ใจหาญ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และคณะ เป็นผู้นำเสนอเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรดังกล่าว การดำเนินการของสภานิติศึกษาทั้งสองครั้ง ถือได้ว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากและเท่าที่ทราบที่ผ่านมาเมื่อต้นเดือนตุลาคมนี้เอง ได้มีการนำเสนอกรอบมาตรฐานคุณวุฒิอุดมศึกษา(มคอ.1)ในระดับปริญญาตรีสาขาวิชานิติศาสตร์ต่อเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษาไปเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น สภานิติศึกษาซึ่งปัจจุบันยังรวมตัวกันอยู่หลวมๆจึงได้ถือกำเนิดขึ้นภายใต้การริเริ่มของคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นี่คือที่มาของสภานิติศึกษาอย่างสังเขปครับ
ก็ต้องฝากความหวังไว้กับประธานสภานิติศึกษาคนต่อไปคือ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่จะเป็นผู้สานต่ออุดมการของสภานิติศึกษาต่อไป ซึ่งผมก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ภายในช่วงเวลาอันใกล้นี้ สภานิติศึกษาน่าจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมามากกว่าที่เป็นอยู่ครับ
เมื่อผมได้มีโอกาสเข้ามาเป็นกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย ผมจึงได้เสนอให้มีการนำเอาสภานิติศึกษาเข้าไปใส่ไว้เป็นกลไกหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยปฏิรูประบบการศึกษากฎหมายดังที่เล่าให้ฟังไปแล้วข้างต้นครับ
แม้ว่า www.public-law.net จะหยุดการจัดทำกิจกรรมตามปกติของเรามาเป็นเวลานานพอสมควร แต่วันนี้ เราก็ได้เปิดให้บริการตามปกติและเหมือนเดิมทุกอย่างอย่างเป็นทางการแล้วนะครับ หวังว่า www.public-law.net จะเป็นสื่อกลางสำหรับผู้สนใจไฝ่หาความรู้ด้านกฎหมายมหาชนเช่นเดิมครับ
ช่วงที่ผ่านมา ในส่วนที่เกี่ยวกับ ตำราวิชาการด้านกฎหมายมหาชน มีผลผลิตใหม่ๆออกมาบ้างจากนักวิชาการรุ่นใหม่ซึ่งผมจะทยอยมานำเสนอในครั้งต่อๆไป แต่ในวันนี้ จะขอแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบว่า มีหนังสือจำนวนมากของนักวิชาการ รุ่นใหญ่ ที่ผลิตผลงานวิชาการออกมามากมายจนทำให้นักวิชาการในรั้วมหาวิทยาลัยต้องกลับไปทบทวนการทำหน้าที่ของตัวเองกันใหม่ หนังสือเหล่านี้เป็นของศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญชัย แสวงศักดิ์ รองประธานศาลปกครองสูงสุด ครับ ลองเข้าไปสำรวจดูได้ใน แนะนำหนังสือใหม่ ครับ
สำหรับการเปิดตัวครั้งใหม่อย่างเป็นทางการของ www.public-law.net เรามีบทความมานำเสนอเป็นจำนวนถึง 5 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความของรองศาสตราจารย์ ดร. ณรงค์เดช สรุโฆษิต อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เขียนเรื่อง การให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่งกับหลักความเป็นอิสระของตุลาการ (ตอนที่ 1) บทความที่ 2 คือบทความเรื่อง หลักเกณฑ์ใหม่เกี่ยวกับระยะเวลาในการออกคำสั่งทางปกครอง โดยคุณศุภวัฒน์ สิงห์สุวงษ์ แห่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา บทความที่ 3 เป็นบทความของคุณณัฐวุฒิ สุขแสวง นักบริหารท้องถิ่นระดับกลาง เรื่อง อำนาจดุลพินิจในกระบวนการบริหารงานบุคคลของฝ่ายปกครอง บทความที่ 4 เรื่อง มายาคติเกี่ยวกับโรฮิงญา โดยคุณชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ และบทความสุดท้าย เป็นบทความเรื่อง ศาลตรวจเงินแผ่นดินของประเทศฝรั่งเศส ที่เขียนโดยนักศึกษาไทยที่ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ที่ Université de Bordeaux คุณณัฐวุฒิ คล้ายขำ ครับ ผมขอขอบคุณผู้เขียนบทความทุกคนไว้ ณ ที่นี้ครับ
พบกันใหม่ในอีก 2 สัปดาห์ คือ วันจันทร์ที่ 30 ตุลาคม 2560 ครับ
ศาสตราจารย์ ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1980
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 12:58 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|