การให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่ง กับหลักความเป็นอิสระของตุลาการ (ตอน 1)

15 ตุลาคม 2560 20:18 น.

       ในช่วงนี้จนถึง 31 ตุลาคม 2560 สภานิติบัญญัติแห่งชาติเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. .... (ต่อไปในบทความนี้ เรียกว่า “ร่าง พ.ร.ป.”) ตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภา[1] นอกเหนือจากประเด็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปแล้ว[2] บทความนี้ขอร่วมแสดงความคิดเห็นในอีกประเด็นหนึ่ง คือ การกำหนดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ดำรงตำแหน่งอยู่ ณ ปัจจุบัน ต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามร่างมาตรา 76 และมาตรา 77 ของร่าง พ.ร.ป. ดังกล่าว อาจละเมิดต่อหลักความเป็นอิสระของตุลาการ ดังนั้น จึงอาจขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้
        
       1. ความนำ
                   ในการจัดทำยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดนายมีชัย ฤชุพันธุ์ และการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวในชั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาตินั้น ประเด็นหนึ่งที่มีการถกเถียงกันมากและเป็นข่าวอยู่บ่อย ๆ คือ จะให้ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ อาทิ กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ฯลฯ ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ ณ ปัจจุบัน พ้นจากตำแหน่ง เมื่อมีการประกาศใช้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยองค์กรต่าง ๆ นั้นหรือไม่ หรือที่สื่อมวลชนไทยคุ้นเคยกับคำว่า จะเซทซีโร่หรือไม่ นั่นเอง
       แน่นอนว่า บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญย่อมต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายบัญญัติไว้สำหรับตำแหน่งนั้น ๆ และโดยปกติแล้ว ก็ย่อมเป็นอำนาจของผู้จัดทำรัฐธรรมนูญ และฝ่ายนิติบัญญัติผู้พิจารณาร่างกฎหมายที่จะกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขว่าด้วยคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม และวิธีการได้มาซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ เช่น ต้องมีสัญชาติไทยโดยการเกิด อายุขั้นต่ำ 45 ปี ขั้นสูง 70 ปี ต้องจบปริญญาตรีเป็นอย่างน้อย[3] ฯลฯ รวมทั้งยังมีอำนาจกำหนดเงื่อนไขในบทเฉพาะกาล ว่าจะให้บุคคลที่ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ดังกล่าว อยู่ ณ ปัจจุบัน ยังคงดำรงตำแหน่งต่อไปตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใหม่หรือไม่[4] ในประเด็นนี้ เท่าที่ผู้เขียนสอบทานกฎหมายและร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง พบว่า อาจจำแนกได้เป็น 3 แนวทาง กล่าวคือ
       แนวทางแรก ให้บุคคลผู้ดำรงตำแหน่ง ณ ปัจจุบัน พ้นจากตำแหน่งทันที ในวันที่กฎหมายใช้บังคับ แต่ให้รักษาการไปพลางก่อน จนกว่าบุคคลที่สรรหาและแต่งตั้งใหม่ จะเข้ามารับหน้าที่ต่อ เช่น กรณีกรรมการการเลือกตั้ง[5] กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ[6] และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน[7]
                   แนวทางที่สอง ให้บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งอยู่ ณ วันที่กฎหมายใช้บังคับ ยังคงดำรงตำแหน่งต่อไป จนกว่าจะครบวาระหรือมีเหตุอื่นให้พ้นจากตำแหน่ง เช่น กรณีกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน[8]  ทั้งนี้ อาจมีการยกเว้นหลักเกณฑ์เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามบางประการด้วย เช่น กรณีผู้ตรวจการแผ่นดิน[9]
       แนวทางที่สาม ให้บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งอยู่ ณ วันที่กฎหมายใช้บังคับ ซึ่งมีคุณสมบัติครบถ้วน และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่รัฐธรรมนูญใหม่กำหนด  ดำรงตำแหน่งต่อไป จนกว่าจะครบวาระหรือมีเหตุอื่นให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง เช่น กรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ[10]
                   อนึ่ง รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 273 กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป แต่การดำรงตำแหน่งต่อไปจะยาวนานเพียงใดนั้น ให้เป็นไปตามที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับองค์กรนั้น ๆ จะได้กำหนดไว้ในโอกาสต่อไป ดังนั้น สภานิติบัญญัติแห่งชาติจึงมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในดำรงตำแหน่งต่อไปเช่นไรก็ได้ ทั้งนี้ โดย “คำนึงถึงเหตุผล ความจำเป็น และความเหมาะสมทั้งในเรื่ององค์ประกอบ หน้าที่และอำนาจของแต่ละองค์กร และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ”[11]
                   อย่างไรก็ดี การใช้อำนาจหน้าที่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการดำรงตำแหน่งต่อไปดังกล่าวนั้น  หากเป็นกรณีองค์กรตามรัฐธรรมนูญ อาทิ คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คงมิได้มีประเด็นปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและหลักนิติรัฐ‑นิติธรรมให้ถกเถียงกันมากเท่าใดนัก หากแต่เมื่อเป็นกรณีของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กลับมีปมปัญหาทฤษฎีรัฐธรรมนูญให้ต้องวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง เนื่องจาก การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและองค์ประกอบขององค์กรตุลาการก็ดี การเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของผู้พิพากษาตุลาการก็ดี หากกำหนดให้มีผลใช้บังคับในทันที จนเป็นเหตุให้ผู้พิพากษาตุลาการที่ดำรงตำแหน่งอยู่ ณ ขณะนั้น ต้องพ้นจากตำแหน่งไป อาจถือเป็นการละเมิดต่อหลักพื้นฐานทางรัฐธรรมนูญข้อหนึ่งที่ได้รับการยอมรับโดยนานาอารยประเทศและในกฎหมายระหว่างประเทศว่าเป็นส่วนหนึ่งของหลักนิติรัฐ-นิติธรรม นั่นก็คือ หลักความเป็นอิสระของตุลาการ (Judicial Independence)[12]
                   ในบทความนี้ ผู้เขียนจะลองนำเสนอแนวคำพิพากษาของศาลต่างประเทศและศาลสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมทั้งความตกลงระหว่างประเทศ ทั้งที่มีผลผูกพันและไม่ผูกพันรัฐไทย ในส่วนที่เกี่ยวกับหลักความเป็นอิสระของตุลาการ เพื่อใช้ในการศึกษาเปรียบเทียบกรณีของไทย โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของตุลาการโดยกฎหมายใหม่ แต่ส่งผลให้ตุลาการที่ดำรงตำแหน่งอยู่ ต้องพ้นจากตำแหน่งไปเพราะเหตุที่มีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นใหม่ เพื่อชวนให้ท่านผู้อ่านลองพิจารณาว่า หลักการที่กำหนดไว้ในร่าง พ.ร.ป. มาตรา 76 และ 77 นั้น ขัดต่อหลักความเป็นอิสระของตุลาการหรือไม่ อย่างไร
        
       2. การพ้นจากตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามบทเฉพาะกาลของร่าง พ.ร.ป.
                2.1 ร่าง พ.ร.ป. มาตรา 76 และ 77
                   “มาตรา 76 ให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับบรรดาที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 หรือพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 18
                ให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 24/2560 เรื่อง ให้งดเว้นการคัดเลือกหรือสรรหาบุคคลให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 23/2560 ลงวันที่ 20 เมษายน พุทธศักราช 2560 บรรดาที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ยังคงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่
                มาตรา 77 ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้องค์กรอิสระแต่งตั้งและส่งชื่อผู้แทนให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเพื่อประกอบเป็นคณะกรรมการสรรหาตามมาตรา 11
       เมื่อพ้นกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่งแล้ว หากองค์กรอิสระใดยังไม่อาจแต่งตั้งผู้แทนได้ หรือในกรณีที่ไม่มีผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ให้คณะกรรมการสรรหาปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ โดยให้ถือว่าคณะกรรมการสรรหาประกอบด้วยกรรมการสรรหาเท่าที่มีอยู่ แต่ไม่ตัดสิทธิองค์กรอิสระที่จะแต่งตั้งผู้แทนมาในภายหลัง การแต่งตั้งดังกล่าวไม่มีผลให้การดำเนินการของคณะกรรมการสรรหาที่ได้ดำเนินการไปแล้วต้องเสียไป  
       ภายในสิบห้าวันนับแต่วันพ้นจากระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการสรรหาพิจารณาและวินิจฉัยว่าประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับผู้ใดขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญหรือไม่
       ในกรณีที่คณะกรรมการสรรหามีคำวินิจฉัยว่าประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญผู้ใดขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งตั้งแต่วันถัดจากวันที่คณะกรรมการสรรหา มีคำวินิจฉัย และเพื่อประโยชน์ในการรับบำเหน็จตอบแทนตามมาตรา 26 ให้ถือว่าการพ้นจากตำแหน่งดังกล่าวเป็นการพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุลาออก
       คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด”
        
                   จากบทบัญญัติข้างต้น เห็นได้ว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีคุณสมบัติครบถ้วนและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ 2560 ยังคงดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระ 9 ปีตามรัฐธรรมนูญ 2550 (มิใช่วาระ 7 ปีตามรัฐธรรมนูญ 2560)[13] เว้นแต่จะมีเหตุอื่น ๆ ให้พ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ 2560[14] อย่างไรก็ดี หากเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้วแต่ยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 24/2560  ตุลาการกลุ่มนี้หากมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม จะอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปในช่วงเวลาสั้น ๆ คือ จนกว่าจะมีตุลาการที่สรรหาใหม่เข้ารับหน้าที่ ทั้งนี้ องค์กรผู้มีอำนาจวินิจฉัยว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผู้ใดขาดคุณสมบัติหรือไม่ หรือมีลักษณะต้องห้ามในข้อหนึ่งข้อใดหรือไม่นั้น คือ คณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั่นเอง ซึ่งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาฯ ย่อมถือเป็นที่สุด
                2.2 การเปรียบเทียบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ 2560 และ 2550
                   รัฐธรรมนูญ 2560 ได้กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไว้เข้มงวดกว่ารัฐธรรมนูญ 2550 อาทิ ตุลาการที่มาจากศาลฎีกานั้น รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดว่า ต้องดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา โดยระบุระยะเวลาการดำรงตำแหน่งดังกล่าวด้วยว่า ต้องไม่น้อยกว่า 3 ปี[15] ในขณะที่รัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดเพียงแค่ว่า ต้องดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา โดยไม่ได้ระบุระยะเวลาดำรงตำแหน่งไว้[16] ดังนั้น แม้เพิ่งจะดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกาได้เพียงวันเดียว ก็อาจได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ 2550 ได้ นอกจากนั้น ในขณะที่รัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดคุณสมบัติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ว่า ต้องเคยเป็นกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แต่รัฐธรรมนูญ 2560 กลับกำหนดห้ามผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระใดตามรัฐธรรมนูญ เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น[17]
                   อนึ่ง ความแตกต่างในเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับนั้น สามารถนำบทบัญญัติบางส่วนมาเปรียบเทียบเพื่อเป็นตัวอย่างได้ตามตารางข้างท้ายนี้ โดยขอสังเกตตัวอักษรสีเข้มและตัวอักษรที่ขีดเส้นใต้เปรียบเทียบกัน
       
       
       
       
       รัฐธรรมนูญ 2560
       
       
       รัฐธรรมนูญ 2550
       
       
       
       
       มาตรา 200  ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวนเก้าคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากบุคคล ดังต่อไปนี้
        
        
            (1) ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกามาแล้วไม่น้อยกว่าสามปี ซึ่งได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จำนวนสามคน
        
             (2) ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าตุลาการศาลปกครองสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี ซึ่งได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด จำนวนสองคน
        
              (3) ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี และยังมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์ จำนวนหนึ่งคน
            (4) ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปีและยังมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์ จำนวนหนึ่งคน
            (5) ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้รับหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดี หรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า หรือตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีจำนวนสองคน
             ในกรณีไม่อาจเลือกผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาตาม (1) ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะเลือกบุคคลจากผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาในศาลฎีกามาแล้วไม่น้อยกว่าสามปีก็ได้
             การนับระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้นับถึงวันที่ได้รับการคัดเลือกหรือวันสมัครเข้ารับการสรรหา แล้วแต่กรณี ในกรณีจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ คณะกรรมการสรรหาจะประกาศลดระยะเวลาตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองลงก็ได้ แต่จะลดลงเหลือน้อยกว่าสองปีมิได้
       
       
       มาตรา 204  ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่งและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอื่นอีกแปดคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาจากบุคคลดังต่อไปนี้
            (1) ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาโดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวนสามคน
        
             (2) ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดโดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวนสองคน
        
        
        
            (3) ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์…
            (4) ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์อื่น…
        
       มาตรา 205  ผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 204 (3) และ (4) ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
             (3) เคยเป็นรัฐมนตรี ตุลาการพระธรรมนูญในศาลทหารสูงสุด กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุด อธิบดีหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางบริหารในหน่วยราชการที่มีอำนาจบริหารเทียบเท่าอธิบดี หรือดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าศาสตราจารย์ หรือเคยเป็นทนายความที่ประกอบวิชาชีพอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องไม่น้อยกว่าสามสิบปีนับถึงวันที่ได้รับการเสนอชื่อ
        
        
       
       
       
       
       มาตรา 201  ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ด้วย
            (1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
            (2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบห้าปี แต่ไม่ถึงหกสิบแปดปีในวันที่ได้รับการคัดเลือกหรือวันสมัครเข้ารับการสรรหา
              (3) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
              (4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
              (5) มีสุขภาพที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
       
       
        
        
        
        
        
        
       รัฐธรรมนูญ 2550 ไม่มีเงื่อนไขต้องสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี  ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และสุขภาพดี
        
        
       
       
       
       
       มาตรา 202  ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
               (1) เป็นหรือเคยเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระใด
        
        
        
        
                (3) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
        
        
        
             (4) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในระยะสิบปีก่อนเข้ารับการคัดเลือกหรือสรรหา
        
              (5) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกหรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นของพรรคการเมืองในระยะสิบปีก่อนเข้ารับการคัดเลือกหรือสรรหา
        
             (10) มีพฤติการณ์อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
       
       
        
        
       รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 205 (3) กำหนดว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญประเภทผู้ทรงคุณวุฒิต้องเคยเป็นกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
        
       รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 205 (4) ประกอบมาตรา 102 (5) กำหนดลักษณะต้องห้ามไว้ว่า เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกโดยพ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปี... เว้นแต่...
        
       มาตรา 205 (5) ไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น
        
       มาตรา 205 (6) ไม่เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกหรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นของพรรคการเมือง ในระยะสามปีก่อนดำรงตำแหน่ง
        
       รัฐธรรมนูญ 2550 มิได้กำหนดไว้
       
       
       
       
        
                   เมื่อร่างพ.ร.ป. ดังกล่าวมีผลใช้บังคับ คณะกรรมการสรรหาฯ ก็ต้องวินิจฉัยว่า ประธานและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ดำรงตำแหน่งอยู่ มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้หรือไม่ หรือมีลักษณะต้องห้ามหรือไม่ ในการนี้ หากเป็นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามที่เหมือนเดิมตามรัฐธรรมนูญ 2550 ทุกประการ ก็คงไม่มีปัญหาใด ๆ แต่หากเป็นคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามที่เพิ่มเติมเข้ามาใหม่ หรือมีการบัญญัติให้เข้มงวดรัดกุมยิ่งกว่าเดิม เช่นนี้แล้ว เมื่อมีการตีความและนำมาบังคับใช้กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ดำรงตำแหน่งอยู่ ณ วันที่กฎหมายใช้บังคับ จุดนี้เองที่หมิ่นแหม่ต่อการละเมิดหลักความเป็นอิสระของตุลาการ ดังจะได้กล่าวถึงในลำดับต่อไป
        
       3. หลักความเป็นอิสระของตุลาการ
       หลักความเป็นอิสระของตุลาการเป็นคุณลักษณะพื้นฐานของรัฐเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democracy)[18] เพราะเป็นมิติหนึ่งของหลักการแบ่งแยกอำนาจ[19] เป็นองค์ประกอบหนึ่งของหลักนิติรัฐ[20] และเป็นหลักประกันซึ่งสิทธิมนุษยชน[21] หลักการนี้มีขึ้นเพื่อให้ผู้พิพากษาตุลาการแต่ละคนสามารถตัดสินคดีตามกฎหมายได้อย่างอิสระ ทั้งอิสระจากองค์กรนิติบัญญัติและบริหาร และอิสระจากผู้พิพากษาตุลาการด้วยกันเอง เพื่อให้ผู้พิพากษาที่ตัดสินคดีไม่ตกอยู่ภายใต้อคติแห่งความหวังและความหวาดกลัว “เป็นการปิดกั้นโอกาสที่ผู้พิพากษาจะได้รับรางวัลจากคำพิพากษาที่ตัดสินไป และป้องกันมิให้ถูกแก้แค้นอันเนื่องมาจากคำพิพากษาดังกล่าว”[22] ทั้งนี้ เพื่อเป็นหลักประกันว่า ข้อพิพาทระหว่างเอกชนด้วยเอกชนด้วยกันเองจะได้รับการตัดสินอย่างเที่ยงธรรม[23] และสิทธิเสรีภาพของเอกชนจะไม่ถูกรัฐล่วงละเมิดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ด้วยการให้องค์กรตุลาการนี้สามารถทำหน้าที่ “ตรวจสอบ” การใช้อำนาจรัฐของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายอย่างถูกต้องเป็นธรรม[24]
                   หลักความเป็นอิสระของตุลาการนั้นเป็นหลักการสากลปรากฎในตราสารระหว่างประเทศหลายฉบับ อาทิ หลักการพื้นฐานของสหประชาชาติว่าด้วยความเป็นอิสระของตุลาการ (U.N. Basic Principles on the Independence of the Judiciary (1985)) จัดทำขึ้นในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด ครั้งที่ 7 ที่นครมิลาน และได้รับความเห็นชอบโดยที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติ (General Assembly resolutions 40/32 of 29 November 1985 and 40/146 of 13 December 1985)[25] หลักการบังกาลอร์ว่าด้วยความประพฤติของตุลาการ (The Bangalore Principles on Judicial Conduct) จัดทำขึ้นโดยกลุ่มตุลาการเพื่อเสริมสร้างหลักความสุจริตเที่ยงธรรมของตุลาการ (the Judicial Group on Strengthening Judicial Integrity) ซึ่งได้รับการรับรองโดยมติคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมของสหประชาชาติ (ECOSOC Resolution 2006/23)[26] และมติคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Commission on Human Rights Resolution: 2004/33) ว่าด้วยความเป็นอิสระและปราศจากอคติขององค์กรตุลาการ ลูกขุน ผู้ตัดสิน และความเป็นอิสระของนักกฎหมาย (Independence and impartiality of the judiciary, jurors and assessors and the independence of lawyers)[27] และที่สำคัญ คือ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (the Universal Declaration of Human Rights) ข้อ 10 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) ซึ่งไทยเป็นภาคีและมีผลผูกพันรัฐไทยตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2540 ข้อ 14.1. บทบัญญัติดังกล่าวได้รับรองสิทธิของปัจเจกชนที่จะได้รับการพิจารณาพิพากษาคดีอาญาอย่างเป็นธรรมโดยองค์กรที่เป็นอิสระ อันเป็นรากฐานของหลักความเป็นอิสระของตุลาการที่ปรากฎในกฎหมายสิทธิมนุษยชน[28]
                   เช่นเดียวกัน หลักความเป็นอิสระของตุลาการก็ปรากฎในรัฐธรรมนูญของนานาอารยประเทศ ไม่ว่าโดยการบัญญัติคำว่า “อิสระ หรือ Independent” ในการทำหน้าที่ของผู้พิพากษาหรือขององค์กรตุลาการไว้โดยชัดแจ้ง เช่น เยอรมนี[29] สเปน[30] อินโดนีเซีย[31] เกาหลีใต้[32]  แอฟริกาใต้[33] หรือโดยการบัญญัติรับรองหลักการย่อย ๆ ของหลักความเป็นอิสระของตุลาการไว้ เช่น อาร์เจนติน่า[34] อินเดีย[35] สหรัฐอเมริกา[36] ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า รัฐธรรมนูญของรัฐเสรีประชาธิปไตยทุกประเทศ โดยเฉพาะที่จัดทำขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ล้วนแล้วแต่บัญญัติรับรองหลักการข้อนี้[37] รวมถึงรัฐธรรมนูญไทยแทบทุกฉบับก็อยู่ภายใต้กระแสความคิดและวิถีปฏิบัตินี้ดุจกัน
                   นอกจากนั้น ศาลในระบบคอมมอน ลอว์ เช่น ศาลฎีกาแคนนาดา ก็ได้สถาปนาหลักประกันความเป็นอิสระของตุลาการขึ้น ผ่านการตีความบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหลายมาตราประกอบกัน[38] และถึงขนาดเคยประกาศว่า “มีหลักการหนึ่งของหลักความเป็นอิสระของตุลาการซึ่งแม้มิได้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญ แต่ก็อาจส่งผลให้พระราชบัญญัติที่ลดเงินเดือนผู้พิพากษา สิ้นสภาพบังคับได้”[39] ในทำนองเดียวกัน ศาลอังกฤษก็ได้ยึดถือหลักความเป็นอิสระของตุลาการมาอย่างยาวนาน[40]
       แต่กระนั้นก็ตาม มิได้หมายความว่า เนื้อหาสาระปลีกย่อยของหลักความเป็นอิสระของตุลาการในรัฐเสรีประชาธิปไตยทุกแห่งจะเหมือนกันเสมอไป[41] อย่างไรก็ดี จากการศึกษาเปรียบเทียบหลักการดังกล่าวในระบบกฎหมายของหลายประเทศ พบว่า หลักความเป็นอิสระของตุลาการนั้นมุ่งคุ้มครองผู้พิพากษาตุลาการในการใช้ “อำนาจตุลาการ” (Judicial Power) เพื่อทำหน้าที่ตัดสินข้อพิพาท (adjudicative function)[42] ซึ่งแน่นอนย่อมรวมถึงการวินิจฉัยสั่งการต่าง ๆ ในกระบวนพิจารณา เช่น การสั่งงดสืบพยาน การสั่งเลื่อนการพิจารณา ฯลฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินคดีด้วย เพื่อการนี้ หลักความเป็นอิสระของตุลาการจึงคุ้มครองตุลาการในสองระดับ ได้แก่ ระดับองค์กรตุลาการ (Institutional/Structural Independence) และระดับผู้พิพากษาแต่ละคน (Individual/Personal Independence)[43]
       อนึ่ง รัฐธรรมนูญ 2560 ของไทยก็ดำเนินไปในทิศทางสากล โดยมีการรับรองหลักความเป็นอิสระของตุลาการในระดับองค์กร เช่น การพิจารณาพิพากษาคดีเป็นอำนาจของศาล[44] แม้ศาลต่าง ๆ จะตั้งขึ้นได้โดยกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ แต่จะมีการตั้งศาลใหม่หรือกำหนดวิธีพิจารณาคดีใหม่เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีใดคดีหนึ่งหรือข้อหาใดข้อหาหนึ่งเป็นการเฉพาะมิได้[45] องค์กรศาลจะหน่วยธุรการที่เป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร[46] มีระบบการบริหารงานบุคคลของตุลาการเป็นเอกเทศโดยกรรมการส่วนใหญ่ในคณะกรรมการบริหารงานบุคคลมาจากผู้พิพากษาตุลาการด้วยกันเอง[47] ผู้พิพากษาตุลาการมีระบบเงินเดือนและค่าตอบแทนแยกต่างหากจากเจ้าหน้าที่รัฐอื่น[48] รัฐมีหน้าที่จัดสรรงบประมาณให้เพียงพอแก่การปฏิบัติหน้าที่ของศาล[49] หลักการเหล่านี้มีขึ้นเพื่อมิให้องค์กรตุลาการตกอยู่ภายใต้การครอบงำของฝ่ายนิติบัญญัติผ่านการตรากฎหมายจัดตั้งศาลและวิธีพิจารณาคดี และการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตลอดจนฝ่ายบริหารผ่านการบังคับบัญชาหน่วยธุรการของศาลและการควบคุมระบบการบริหารบุคคล
       นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ 2560 ยังรับรองหลักความเป็นอิสระของตุลาการในระดับตัวบุคคล ดังความในมาตรา 188 วรรคสองที่ว่า “ผู้พิพากษาและตุลาการย่อมมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เป็นธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง” ทั้งนี้ การมีระบบบริหารงานบุคคลดังกล่าวก็ดี ระบบเงินเดือนเป็นเอกเทศก็ดี ก็เป็นหนึ่งในวิธีการสร้างหลักประกันความเป็นอิสระแก่ผู้พิพากษาตุลาการแต่ละคนในอีกทางหนึ่ง ยิ่งไปกว่านั้น รัฐธรรมนูญไทยในอดีต เช่น รัฐธรรมนูญ 2550 ห้ามโยกย้ายผู้พิพากษาโดยไม่ได้รับความยินยอม เว้นแต่เข้าข้อยกเว้นที่กฎหมายกำหนด อาทิ เป็นการโยกย้ายตามวาระปกติ[50] รัฐธรรมนูญ 2540 บัญญัติชัดเจนว่า การพิจารณาพิพากษาคดีไม่อยู่ภายใต้สายการบังคับบัญชา การจ่ายสำนวนต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่แน่นอนตามที่กฎหมายกำหนด และจะมีการเรียกคืนสำนวนคดีหรือโอนสำนวนคดีไม่ได้ เป็นต้น[51] หลักการเหล่านี้กำหนดขึ้นเพื่อให้ผู้พิพากษาตุลาการแต่ละคนมีอิสระในการพิพากษาคดี ไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของผู้บริหารศาลนั่นเอง
        
       หมายเหตุ        ตอน 2 ประกอบด้วยหัวข้อ  
       4. หลักความมั่นคงในการดำรงตำแหน่งของตุลาการ (Tenure and Irremovability of Judicial Office)
       4.1 การยุบเลิกตำแหน่งผู้พิพากษาหรือยุบเลิกศาล
       4.2 การเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการดำรงตำแหน่งตุลาการ
       5. บทวิเคราะห์ร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ....
        
       
       
       
       
       [1] เข้าถึง ณ วันที่ 8 ตุลาคม 2560.
       
       
       [2] ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. .... มาตรา 38 และมาตรา 39 (ฉบับที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2560) ซึ่งถูกวิจารณ์โดย อาทิ คุณคณิณ บุญสุวรรณ โปรดดู ฯลฯ
       
       
       [3] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (6 เมษายน 2560) (รธน. 2560) มาตรา 216.
       
       
       [4] รธน. 2560, มาตรา 273 วรรคหนึ่ง.
       
       
       [5] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 มาตรา 70.
       
       
       [6] ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. .... มาตรา 60 (ฉบับที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติเห็นชอบให้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2560)
       
       
       [7] ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. .... มาตรา 108 (ฉบับที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2560)
       
       
       [8] ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. .... มาตรา 107 (ฉบับที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2560)
       
       
       [9] ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. .... มาตรา 56 (ฉบับที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติเห็นชอบให้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2560) และโปรดดู คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 1/2560 ลงวันที่ 5 กันยายน 2560.
       
       
       [10] ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. .... มาตรา 76 และ 77 (ฉบับที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2560)
       
       
       [11] คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 1/2560 ลงวันที่ 5 กันยายน 2560.
       
       
       [12] โปรดดู Vicki C. Jackson, ‘Judicial Independence: Structure, Context, Attitude’ ใน Lydia Friederke Müller and others (eds), Judicial Independence in Transition (Springer, 2012) น.19- 86; Peter H. Russell, ‘Toward a General Theory of Judicial Independence’, ใน Peter H. Russell และ David M. O'Brien (eds), Judicial Independence in the Age of Democracy: Critical Perspectives from Around the World (Constitutionalism and Democracy) (University of Virginia Press, 2001) น. 1-24; และ Shimon Shetreet, ‘Judicial Independence and Accountability: Core Values in Liberal Democracies’, ใน H. P. Lee (ed.), Judiciaries in Comparative Perspective (CUP, 2011) น. 3-23.
       
       
       [13] เทียบ ร.ธ.น. 2560 มาตรา 207 และ ร.ธ.น. 2550 มาตรา 208.
       
       
       [14] ร.ธ.น. 2560 มาตรา 208 และร่าง พ.ร.ป. มาตรา 18
       
       
       [15] ร.ธ.น. 2560 มาตรา 200 และโปรดดู วรรคสองและวรรคสาม ซึ่งกำหนดข้อยกเว้นว่า หากไม่อาจเลือกตามนั้นได้ ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาก็อาจเลือกผู้ที่ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาในศาลฎีกามาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปีได้
       
       
       [16] ร.ธ.น. 2550 มาตรา 204.
       
       
       [17] เทียบ ร.ธ.น. 2560 มาตรา 202 (1) และ ร.ธ.น. 2550 มาตรา 205 (3) ซึ่งก็มีปัญหาต้องตีความต่อไปว่า ห้ามเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระที่ได้รับการแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 หรือรวมถึงผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ ด้วย.
       
       
       [18] Peter H. Russell, เรื่องเดิม, น. 3.
       
       
       [19] Daniel Smilov, ‘The Judiciary: The Least Dangerous Branch?’ ใน Michel Rosenfeld และ Andras Sajo, The Oxford Handbook of Comparative Constitutional Law (OUP, 2012) น. 864.
       
       
       [20] วรเจตน์ ภาคีรัตน์, รัฐและหลักกฎหมายมหาชน (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เดือนตุลา, 2555) น. 158-9; บรรเจิด สิงคะเนติ, หลักพื้นฐานเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (กรุงเทพฯ: วิญญูชน, พิมพ์ครั้งที่ 5, 2558) น. 30-1; และ Luc Heuschling, ‘Why Should Judges Be Independent? : Reflection on Coke, Montesquieu, and the French Tradition of Judicial Dependence’ ใน Anthony W. Bradley and others (eds), Constitutionalism and the Role of Parliaments (Hart Publishing, 2007) น. 199-223.
       
       
       [21] Aharon Barak, The Judge in A Democracy, (New Jersey: Princeton University Press, 2006) น. 76.
       
       
       [22] Roderick A. Macdonald และ Hoi Kong, ‘Judicial Independence as a Constitutional Virtue’ ใน Michel Rosenfeld และ Andras Sajo (eds), The Oxford Handbook of Comparative Constitutional Law (OUP, 2012) น. 833.
       
       
       [23] Vicki C. Jackson, เรื่องเดิม, น. 21-22.
       
       
       [24] โปรดดู Christoph Möllers, The Three Branches: A Comparative Model of Separation of Powers (OUP, 2013) 89-96.
       
       
       [25] เข้าถึง ณ วันที่ 8 ตุลาคม 2560.
       
       
       [26] เข้าถึง ณ วันที่ 9 ตุลาคม 2560.
       
       
       [27] เข้าถึงเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2560
       
       
       [28] Param Cumaraswamy, Report of the Special Rapporteur: Independence and Impartiality of the Judiciary, Jurors and Assessors and the Independence of Lawyers, UN Doc E/CN.4/1995/39 P 35 (1995), ย่อหน้า 24.   เข้าถึง ณ วันที่ 9 ตุลาคม 2560; และ Michael Kirby, ‘Abolition of Courts and Non-Reappointment of Judicial Officers’ (1995) 12 Australian Bar Review 181, น. 193.
       
       
       [29] German Basic Law, มาตรา 97.
       
       
       [30] Spain Constitution, มาตรา 117.
       
       
       [31] Indonesia Constitution, มาตรา 24.
       
       
       [32] South Korea Constitution, มาตรา 103.
       
       
       [33] South Africa Constitution, มาตรา 165 (2).
       
       
       [34] Argentina Constitution, มาตรา 108-115.
       
       
       [35] India Constitution, มาตรา 124-125.
       
       
       [36] US Constitution, มาตรา 3, วรรค 1.
       
       
       [37] Roderick A. Macdonald และ Hoi Kong, เรื่องเดิม, น. 842-855; Peter H. Russell and David M. O'Brien (eds), เรื่องเดิม; และ Shimon Shetreet, เรื่องเดิม.
       
       
       [38] Beauregard v. Canada [1986] 2 S.C.R. 56
       
       
       [39] Re Remuneration of Judges [1997] 3 S.C.R. 3: “there was an unwritten principle of judicial independence in the Constitution of Canada that could have the effect of invalidating statutes that reduced judicial salaries”; อ้างถึงใน Peter W. Hogg, Constitutional Law of Canada (Thomson*Carswell, 2004) น. 14.
       
       
       [40] Luc Heuschling, เรื่องเดิม, น. 206-207.
       
       
       [41] Peter H. Russell, เรื่องเดิม, น. 2.
       
       
       [42] Roderick A. Macdonald และ Hoi Kong, เรื่องเดิม, น. 832.
       
       
       [43] Peter H. Russell, เรื่องเดิม, น. 13-23; และ Frank Cross, “Judicial Independence,” ใน Keith E. Whittington and others (eds), The Oxford Handbook of Law and Politics, (New York: Oxford University Press, 2010) น. 557 - 572.
       
       
       [44] รธน. 2560, มาตรา 188.
       
       
       [45] รธน. 2560, มาตรา 189.
       
       
       [46] รธน. 2560, มาตรา 193.
       
       
       [47] รธน. 2560, มาตรา 196 และ 198.
       
       
       [48] รธน. 2560, มาตรา 193 วรรคสอง.
       
       
       [49] รธน. 2560, มาตรา 141 วรรคสอง.
       
       
       [50] รธน. 2550, มาตรา 197 วรรคสาม.
       
       
       [51] รธน. 2550, มาตรา 249.
       
       


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1976
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 22:58 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)