|
|
หลักเกณฑ์ใหม่เกี่ยวกับระยะเวลาในการออกคำสั่งทางปกครอง 15 ตุลาคม 2560 20:18 น.
|
เป็นที่ทราบกันดีว่าปัญหาหนึ่งของระบบราชการไทย คือ ความล่าช้าในการพิจารณาของหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะการอนุมัติอนุญาตในเรื่องต่าง ๆ ที่มักจะใช้เวลานานจนเกินสมควร ที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่ประสบผล สำเร็จเป็นที่น่าพอใจ ล่าสุดผู้ตรากฎหมายจึงกำหนดมาตรการใหม่เพื่อจัดการกับปัญหานี้ โดยมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๗[๑] แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ เพิ่มมาตรา ๓๙/๑[๒] ว่าด้วยระยะเวลาในการออกคำสั่งทางปกครอง โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้เจ้าหน้าที่ออกคำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือและตามคำขอของคู่กรณีให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอและเอกสารถูกต้องครบถ้วน เว้นแต่จะมีกฎหมายหรือกฎกำหนดระยะเวลาในการออกคำสั่งทางปกครองในเรื่องนั้นไว้เป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ แม้ว่าบทบัญญัติดังกล่าวจะใช้บังคับมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ประชาชนทั่วไปรวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจจะยังไม่รับรู้รับทราบหรือยังมีความเข้าใจไม่ชัดเจน ในบทความนี้จึงขอนำเสนอว่า บทบัญญัติใหม่นี้มีความเป็นมาอย่างไร มีขอบเขตการใช้บังคับเพียงใด และระยะเวลาที่กำหนดไว้นั้น มีผลทางกฎหมายอย่างไร
๑. ความเป็นมาของบทบัญญัติใหม่
แนวความคิดในการแก้ไขปัญหาความล่าช้าในการพิจารณาของทางราชการไม่ใช่ เรื่องใหม่ หากย้อนกลับไปพิจารณากฎหมายและระเบียบของทางราชการนับแต่อดีตแล้ว จะพบว่า มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการปฏิบัติราชการเพื่อประชาชนของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๓๒ ได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับระยะเวลา การปฏิบัติราชการไว้ในหมวด ๑ ข้อ ๘ ถึงข้อ ๑๗ ทวิ สรุปสาระสำคัญได้ว่า หน่วยงานของรัฐจะต้องพิจารณาและดำเนินการตามคำขอของประชาชนให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งวันทำการ (ข้อ ๘) ถ้าเรื่องใดโดยสภาพไม่อาจดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งวัน ให้หน่วยงานของรัฐออกระเบียบกำหนดระยะเวลาการปฏิบัติราชการสำหรับคำขอในเรื่องนั้น (ข้อ ๙) โดยกำหนดการปฏิบัติราชการทุกขั้นตอนให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวัน (ข้อ ๑๐) หรือถ้าโดยสภาพของเรื่องไม่อาจกำหนดระยะเวลาการปฏิบัติราชการภายในกำหนดเวลาเก้าสิบวันได้ ให้ขออนุมัติรัฐมนตรีหรือปลัดกระทรวงซึ่งเป็นผู้มีอำนาจ ลงนามในระเบียบเพื่อกำหนดระยะเวลาที่จำเป็นหรือสมควรแก่สภาพของเรื่อง (ข้อ ๑๑) โดยกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่อาจดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนดในระเบียบ ให้ขออนุมัติรัฐมนตรีหรือปลัดกระทรวงเพื่อขยายระยะเวลาได้อีกไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลา พร้อมทั้งแจ้งการขยายระยะเวลาและเหตุผลให้ประชาชนผู้ยื่นคำขอทราบ (ข้อ ๑๓)
ต่อมาเมื่อมีการจัดทำกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ผู้ยกร่าง ก็มิได้ละเลยในเรื่องความรวดเร็วในการปฏิบัติราชการของหน่วยงานของรัฐ โดยมีบทบัญญัติเกี่ยวกับกำหนดเวลาในการพิจารณาทางปกครองมาตั้งแต่ในร่างแรกที่จัดทำขึ้นในปี ๒๕๓๔[๓] และเมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๓๓ ของพระราชบัญญัติดังกล่าวก็กำหนดไว้ว่า เพื่อประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ความประหยัดและความมีประสิทธิภาพในการดำเนินงานของรัฐ ให้คณะรัฐมนตรีวางระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อให้เจ้าหน้าที่กำหนดเวลาสำหรับการพิจารณาทางปกครองขึ้นไว้ตามความเหมาะสมแก่กรณี ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายหรือกฎในเรื่องนั้น โดยบทเฉพาะกาลในมาตรา ๘๕ ได้กำหนด ให้ถือว่าระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการปฏิบัติราชการเพื่อประชาชนของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๓๒ เป็นระเบียบที่คณะรัฐมนตรีวางขึ้นตามมาตรา ๓๓ (จนกว่าจะมีการออกระเบียบฉบับใหม่ขึ้นใช้บังคับแทนระเบียบฉบับนี้)
ทั้งนี้ ต่อมาในปี ๒๕๔๖ ได้มีการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีบางฉบับ พ.ศ. ๒๕๔๖ ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับต่าง ๆ ที่ใช้บังคับมาเป็นเวลานานและไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยระเบียบฉบับหนึ่งที่ถูกยกเลิก คือ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการปฏิบัติราชการเพื่อประชาชนของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๓๒ และในปีเดียวกันนั้นเอง ก็ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. ๒๕๔๖ ขึ้นใช้บังคับ โดยมาตรา ๓๗ แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวกำหนดว่า ในการปฏิบัติราชการที่เกี่ยวข้องกับการบริการประชาชนหรือติดต่อประสานงานระหว่างส่วนราชการด้วยกัน ให้ส่วนราชการกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จของงานแต่ละงาน และประกาศให้ประชาชนและข้าราชการทราบเป็นการทั่วไป ส่วนราชการใดมิได้กำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จของงานใด และ ก.พ.ร. พิจารณาเห็นว่างานนั้นมีลักษณะที่สามารถกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จได้ หรือส่วนราชการได้กำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จไว้ แต่ ก.พ.ร. เห็นว่าเป็นระยะเวลาที่ล่าช้าเกินสมควร ก.พ.ร. จะกำหนด เวลาแล้วเสร็จให้ส่วนราชการนั้นต้องปฏิบัติก็ได้ ทั้งนี้ โดยที่มาตรา ๓๗ แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดเวลาในการพิจารณาทางปกครองเช่นเดียวกับที่เคยกำหนดไว้ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการปฏิบัติราชการเพื่อประชาชนของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๓๒ คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองจึงให้ความเห็นว่า ส่วนราชการทั้งหลายสามารถอาศัยพระราชกฤษฎีกานี้กำหนดขั้นตอนและระยะเวลาสำหรับการพิจารณาทางปกครองเพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ได้ โดยถือว่าเป็นการปฏิบัติตามมาตรา ๓๓ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ[๔]
บทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นของพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีฯ ดูเหมือนจะช่วยแก้ไขปัญหาความล่าช้าในการพิจารณาของทางราชการไปได้บ้าง แต่อย่างไรก็ดี กรณีที่การออกคำสั่งทางปกครองในเรื่องใดไม่มีกฎหมายกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาและส่วนราชการก็มิได้กำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จของงานไว้ ย่อมไม่มีหลักประกันแก่ผู้ยื่นคำขอต่อทางราชการว่าเรื่องของตนจะได้รับการพิจารณาให้แล้วเสร็จเมื่อใด ช่องว่างของกฎหมายดังกล่าวเป็นเหตุให้ศาลปกครองสูงสุดมีแนวคำวินิจฉัยว่า ในกรณีที่กฎหมายมิได้กำหนดระยะเวลาในการพิจารณาทางปกครองในเรื่องใดไว้ การพิจารณาทางปกครองในเรื่องนั้นจะต้องกระทำภายใน ระยะเวลาอันสมควร โดยบางกรณี ศาลปกครองสูงสุดมีคำวินิจฉัยว่า ต้องเทียบเคียงระยะเวลาขั้นสูงในการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ ที่กำหนดไว้รวมแล้ว ไม่เกินเก้าสิบวันนับแต่วันที่เจ้าหน้าที่ได้รับอุทธรณ์ มาเป็น ระยะเวลาอันสมควร ในการพิจารณาทางปกครอง ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาสั่งจ่ายบำนาญของหน่วยงานของรัฐ[๕] การพิจารณาเรื่องร้องเรียนโดยคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค[๖] หรือการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพื่อพิจารณาสอบสวนความผิดด้านจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม[๗] และบางกรณีศาลปกครองสูงสุดก็มีคำวินิจฉัยว่า ระยะเวลาอันสมควร ในการพิจารณาทางปกครองมีกำหนดเวลาเก้าสิบวันโดยเทียบเคียงจากระยะเวลาฟ้องคดีต่อศาลปกครองตามมาตรา ๔๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เช่น การพิจารณาคำขอขึ้นทะเบียนเป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัทหลักทรัพย์โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย[๘]
สภาพปัญหาข้างต้นเป็นที่มาของแนวคิดในการกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาออกคำสั่งทางปกครองในลักษณะที่เป็นหลักเกณฑ์กลาง โดยการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ เพิ่มบทบัญญัติว่าด้วยระยะเวลาในการพิจารณาออกคำสั่งทางปกครองเป็นความคิดริเริ่มของคณะกรรมการพัฒนากฎหมายตามกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกา[๙] การดำเนินการของคณะกรรมการพัฒนากฎหมายในเรื่องนี้มีที่มาจากการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๕๕ มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาศึกษาและปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ ในการนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงเสนอเรื่องให้คณะกรรมการพัฒนากฎหมายพิจารณา และคณะกรรมการพัฒนากฎหมายได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการดำเนินการศึกษาและปรับปรุงกฎหมายที่จำกัดสิทธิหรือเสรีภาพหรือที่ก่อให้เกิดภาระแก่การประกอบอาชีพหรือธุรกิจของบุคคลโดยไม่จำเป็น เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องนี้
คณะอนุกรรมการฯ ได้ศึกษาแล้วมีความเห็นว่า ปัจจุบันมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาตต่อหน่วยงานของรัฐจำนวนมากที่มิได้กำหนดระยะเวลาและขั้นตอนวิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ไว้ อีกทั้งในการขออนุญาตประชาชนต้องติดต่อกับหน่วยงานของรัฐหลายแห่ง อันเป็นการ สร้างภาระจนเกินสมควรและเป็นอุปสรรคต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบธุรกิจและ การแข่งขันของประเทศ คณะอนุกรรมการฯ จึงเห็นควรจัดทำ กฎหมายกลาง ที่กำหนดระยะเวลาและขั้นตอนวิธีปฏิบัติในการอนุญาตให้หน่วยงานของรัฐต่าง ๆ ดำเนินการ โดยกฎหมายกลางที่ว่านี้ประกอบด้วยสองส่วน ส่วนที่หนึ่ง เป็นร่างกฎหมายใหม่ คือ ร่างพระราชบัญญัติการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. .... (ซึ่งต่อมามีการปรับปรุงชื่อร่างฯ เป็นร่างพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. ....) ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดปัญหาอุปสรรคสำหรับประชาชนในการขออนุญาตต่อทางราชการ เช่น กำหนดให้ ผู้อนุญาตจัดทำคู่มือสำหรับประชาชนที่ระบุหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการยื่นคำขออนุญาต ขั้นตอนและระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาต รวมทั้งรายการเอกสารหรือหลักฐานที่ต้องยื่นพร้อมกับคำขอ หน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการแจ้งให้ผู้ยื่นคำขอแก้ไขคำขอให้ถูกต้องหรือยื่นเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมให้ครบถ้วน การจัดตั้งศูนย์บริการร่วมเพื่อรับคำร้องและศูนย์รับคำขออนุญาต ณ จุดเดียว ฯลฯ และส่วนที่สอง เป็นร่างกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ในสองเรื่อง เรื่องแรก แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๒๗ กำหนดหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการแจ้งให้ผู้ยื่นคำขอแก้ไขคำขอให้ถูกต้องหรือยื่นเอกสารเพิ่มเติมให้ครบถ้วน และการแจ้งสิทธิอุทธรณ์ในกรณีส่งเอกสารคืนให้ผู้ยื่นคำขอที่ไม่แก้ไขหรือส่งเอกสารเพิ่มเติมให้ครบถ้วน เรื่องที่สอง เพิ่มมาตรา ๓๙/๑ กำหนดระยะเวลาในการออกคำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือและตามคำขอของคู่กรณี
คณะกรรมการพัฒนากฎหมายได้พิจารณาแล้วเห็นชอบด้วยกับโครงสร้างของ กฎหมายกลาง ดังกล่าวและมีการแก้ไขเนื้อหาเล็กน้อย จากนั้นสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เสนอร่างกฎหมายทั้งสองฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ต่อคณะรัฐมนตรี ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติจนประกาศใช้เป็นกฎหมายในที่สุด โดยพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (ฉบับที่ ๒)ฯ มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ ส่วนพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. ๒๕๕๘[๑๐] มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ (ยกเว้นบทบัญญัติที่เกี่ยวกับ หน้าที่ในการจัดทำคู่มือสำหรับประชาชนที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๘)[๑๑]
จากกระบวนการในการจัดทำกฎหมายข้างต้น จะเห็นได้ว่า การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ เพิ่มบทบัญญัติว่าด้วยระยะเวลาในการออกคำสั่ง ทางปกครอง มิได้เกิดจากความประสงค์ของผู้ยกร่างกฎหมายที่จะพัฒนากฎหมายวิธีปฏิบัติราชการ ทางปกครองโดยตรง แต่บทบัญญัติมาตรา ๓๙/๑ ที่เพิ่มเข้ามาใหม่นั้น เป็น ผลสืบเนื่อง มาจากแนวความคิดในการลดปัญหาอุปสรรคในการประกอบธุรกิจและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ในการขออนุญาตต่อทางราชการ เมื่อกฎหมายเฉพาะฉบับต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการอนุญาตมักจะมิได้กำหนดระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาตไว้ อีกทั้งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ ซึ่งเป็น กฎหมายกลาง เกี่ยวกับการพิจารณาทางปกครอง ก็มิได้กำหนดระยะเวลาในการพิจารณาออกคำสั่งทางปกครองไว้ ผู้ยกร่างกฎหมายจึงเห็นว่าจำเป็นต้องมีบทบัญญัติที่กำหนดระยะเวลาในการออกคำสั่งทางปกครองในลักษณะที่เป็นหลักเกณฑ์กลางสำหรับการอนุญาตตามกฎหมายต่าง ๆ และเห็นควรกำหนดระยะเวลาดังกล่าวไว้ในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ โดยเพิ่มบทบัญญัติมาตรา ๓๙/๑[๑๒]
มีปัญหาน่าคิดว่าด้วยเหตุผลใดคณะกรรมการพัฒนากฎหมายจึงเลือกที่จะบัญญัติระยะเวลาในการออกคำสั่งทางปกครองไว้ในกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองแทนที่ จะกำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการอำนวยความสะดวกฯ โดยตรง ทั้งที่ระยะเวลาดังกล่าวมุ่งหมาย ที่จะใช้บังคับกับเรื่องที่เป็นการพิจารณา อนุญาต ตามกฎหมายว่าด้วยการอำนวยความสะดวกฯ เป็นสำคัญ ปัญหานี้เป็นเรื่องยากที่จะหยั่งรู้คำตอบได้ เพราะในเอกสารยกร่างกฎหมายทั้งสองฉบับ ไม่ปรากฏเหตุผลใด ๆ ในเรื่องดังกล่าวเลย แต่เป็นไปได้ว่า การที่คณะกรรมการฯ ตัดสินใจในแนวทางนี้นั้น เป็นเพราะเห็นว่ากฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมีฐานะเป็น กฎหมายกลาง เกี่ยวกับการพิจารณาทางปกครอง จึงน่าจะเป็นฐานทางกฎหมายที่มั่นคงแน่นอนมากกว่ากฎหมาย ว่าด้วยการอำนวยความสะดวกฯ ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดขั้นตอนปฏิบัติทั่วไปสำหรับเจ้าหน้าที่[๑๓] ทั้งนี้ ไม่ว่าการตัดสินใจของคณะกรรมการฯ จะเป็นไปด้วยเหตุผลประการใด แต่การกำหนดระยะเวลา ในการออกคำสั่งทางปกครองไว้ในกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ก็ส่งผลให้ระยะเวลาที่กำหนดขึ้นใหม่นี้มีขอบเขตการใช้บังคับกว้างไกลเกินไปกว่าเจตนารมณ์ดั้งเดิมของผู้ยกร่างกฎหมาย
๒. ขอบเขตการใช้บังคับ
มาตรา ๓๙/๑ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๗ บัญญัติว่า การออกคำสั่งทางปกครองเป็นหนังสือในเรื่องใด หากมิได้มีกฎหมายหรือกฎกำหนดระยะเวลาในการออกคำสั่งทางปกครองในเรื่องนั้นไว้เป็นประการอื่น ให้เจ้าหน้าที่ออกคำสั่งทางปกครองนั้นให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เจ้าหน้าที่ได้รับคำขอและเอกสารถูกต้องครบถ้วน จากบทบัญญัติดังกล่าวจึงเข้าใจได้ในเบื้องต้นว่า ระยะเวลาที่ผู้ตรากฎหมายกำหนดขึ้นใหม่นี้มุ่งหมายที่จะใช้บังคับ กับการพิจารณาออกคำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือและทำขึ้นตามคำขอของคู่กรณี แต่ก็มีประเด็น ต้องพิจารณาต่อไปอีกว่า ระยะเวลาตามบทบัญญัติดังกล่าวจะใช้กับคำสั่งทางปกครองใด ๆ ที่ทำเป็นหนังสือและตามคำขอของคู่กรณี หรือจะใช้เฉพาะกรณีที่เป็นการพิจารณาอนุญาตตามคำขอของผู้ยื่นขออนุญาตตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ เท่านั้น
เมื่อคำนึงถึง บริบท ในการตรากฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้แก่ พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (ฉบับที่ ๒)ฯ และพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ ที่จัดทำควบคู่ไปพร้อมกัน ประกอบกับเจตนารมณ์ของผู้จัดทำกฎหมายทั้งสองฉบับแล้ว อาจพิเคราะห์ได้ว่า ระยะเวลาดังกล่าวมีความมุ่งหมายที่จะใช้บังคับกับการพิจารณา อนุญาต ตามนิยามในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ ซึ่งได้แก่ การที่เจ้าหน้าที่ยินยอมให้บุคคลกระทำการใด ที่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องได้รับความยินยอมก่อนกระทำการนั้น และหมายความรวมถึงการออกใบอนุญาต การอนุมัติ การจดทะเบียน การขึ้นทะเบียน การรับแจ้ง การให้ประทานบัตร และการให้อาชญาบัตร ซึ่งหากพิจารณาบันทึกหลักการและเหตุผลประกอบร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วยแล้ว ยิ่งเป็นที่ชัดเจนว่า เป็นเรื่องการพิจารณาอนุญาตให้ประชาชนประกอบกิจการต่าง ๆ เป็นสำคัญ[๑๔] กล่าวอีกนัยหนึ่ง ระยะเวลาในการออกคำสั่งทางปกครองตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ เป็นมาตรการหนึ่งในการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่ยื่นขออนุญาตต่อทางราชการ และเป็น มาตรการเสริม พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ นั่นเอง ดังที่ประธานคณะกรรมการพัฒนากฎหมายได้กล่าวไว้ว่า ร่างพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีหลักการเป็นการปรับปรุงกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองให้สอดคล้องกับร่างพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ[๑๕] ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายทั้งสองฉบับได้เป็นอย่างดี
แม้ว่าการตีความตามบริบทในการจัดทำกฎหมายและเจตนารมณ์ของผู้ตรากฎหมายจะมีเหตุผลสนับสนุน แต่แนวทางดังกล่าวก็อาจมีข้อโต้แย้งได้ เพราะไม่มีข้อความใด ๆ ในมาตรา ๓๙/๑ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ ที่อ้างอิงถึงพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ ในลักษณะที่จะทำให้เห็นได้ว่าพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับมีความเชื่อมโยงกันและระยะเวลาในการออกคำสั่งทางปกครองที่กำหนดไว้ในมาตรา ๓๙/๑ มุ่งหมายที่จะใช้บังคับกับการอนุญาตตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ เท่านั้น นอกจากนี้ ในแง่ของช่วงเวลาที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ ในขณะที่พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (ฉบับที่ ๒)ฯ ที่เพิ่มมาตรา ๓๙/๑ เริ่มมีผลใช้บังคับในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๗ พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ ก็ยังไม่ได้ประกาศใช้ แต่พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ เริ่มมีผลใช้บังคับทั้งฉบับในวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๘ ซึ่งเป็นเวลาหลายเดือนหลังจากบทบัญญัติมาตรา ๓๙/๑ มีผลใช้บังคับแล้ว
ภายหลังจากพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (ฉบับที่ ๒)ฯ มีผล ใช้บังคับได้ไม่นาน คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองก็มีโอกาสได้วินิจฉัยเกี่ยวกับขอบเขต การใช้บังคับมาตรา ๓๙/๑[๑๖] ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้ตีความบทบัญญัตินี้ในแนวทางที่ไม่เชื่อมโยงกับพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ การให้ความเห็นของคณะกรรมการฯ ในเรื่องนี้มีที่มาจากข้อหารือของแพทยสภาที่ขอหารือว่า การพิจารณาคดีจริยธรรมตามข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยกระบวนการพิจารณาเกี่ยวกับคดีด้านจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. ๒๕๔๘ จะอยู่ภายใต้บังคับระยะเวลาสามสิบวันตามมาตรา ๓๙/๑ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ ที่แก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่งเหตุที่แพทยสภามีข้อสงสัยในเรื่องนี้ เนื่องจากโดยทั่วไปแล้ว กระบวนการพิจารณาคดีจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมจะเริ่มจากการที่มีผู้ยื่นคำร้องเรียนต่อแพทยสภาอันอาจถือเป็น คำขอ และแพทยสภาต้องพิจารณาและมีคำสั่งให้ยุติเรื่องหรือมีคำสั่งลงโทษด้านจริยธรรมแก่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมซึ่งเป็น คำสั่งทางปกครอง
ในการตอบข้อหารือนี้ หากคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองเห็นว่าการใช้บังคับมาตรา ๓๙/๑ มีความเชื่อมโยงกับพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ ก็สามารถวินิจฉัยได้เลยว่า การพิจารณาคดีจริยธรรมของแพทยสภามิใช่การพิจารณา อนุญาต ตามนิยาม ในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับมาตรา ๓๙/๑ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ ที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องพิจารณาออกคำสั่งทางปกครองให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่ได้รับคำขอและเอกสารถูกต้องครบถ้วน อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ ได้ตอบข้อหารือในอีกแนวทางหนึ่ง โดยพิจารณาว่าคำสั่งทางปกครองที่ทำขึ้นตาม คำขอ ของคู่กรณีอันจะอยู่ภายใต้บังคับมาตรา ๓๙/๑ นั้น คำขอ ที่ว่านี้จะต้องมีลักษณะอย่างไร ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้อธิบายหลักการในเรื่องนี้สรุปได้ว่า มาตรา ๓๙/๑ มุ่งหมายใช้บังคับกับการออกคำสั่งทางปกครองที่มีผู้ยื่นคำขอให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมาย โดยการออกคำสั่งทางปกครองนั้นก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ยื่นคำขอ เช่น การออกใบอนุญาตให้ประกอบกิจการ การออกหนังสือรับรอง การรับจดทะเบียน การอนุญาตหรือการอนุมัติ เพื่อเป็นการป้องกันการพิจารณาที่ล่าช้าจนเกินสมควรหรือการใช้ดุลพินิจที่ไม่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่ แต่บทบัญญัติมาตรา ๓๙/๑ มิได้มุ่งหมายใช้บังคับกับคำสั่งทางปกครองที่เกิดจากการขอให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายที่ไม่ได้ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ขอ เช่น คำร้องเรียน คำกล่าวหา หรือคำกล่าวโทษ ซึ่งเป็นการขอให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการในลักษณะที่ เป็นโทษ เป็นภาระ หรือเพิกถอนสิทธิของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพราะกรณีเช่นว่านี้ไม่ได้เป็นการพิจารณาความถูกต้องครบถ้วนของเอกสารเท่านั้น แต่มีความจำเป็นต้องพิจารณาพยานหลักฐาน รับฟังพยานบุคคลหรือพยานผู้เชี่ยวชาญด้วย ซึ่งอาจใช้เวลามากกว่าสามสิบวัน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ ผู้ถูกร้องเรียน ผู้ถูกกล่าวหา หรือผู้ถูกกล่าวโทษ ดังนั้น การออกคำสั่งทางปกครองของแพทยสภา ในคดีจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมจึงไม่อยู่ภายใต้บังคับมาตรา ๓๙/๑
จากความเห็นของคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองข้างต้น จึงสรุป ได้ว่า มาตรา ๓๙/๑ มีขอบเขตใช้บังคับกับการออกคำสั่งทางปกครองที่เกิดจากคำขอให้เจ้าหน้าที่ ให้สิทธิแก่ผู้ยื่นคำขอเท่านั้น ไม่รวมถึงการออกคำสั่งทางปกครองที่เกิดจากคำขอให้ดำเนินการที่ไม่ได้ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ขอ เช่น การยื่นคำร้องเรียน คำกล่าวหา หรือคำกล่าวโทษ ต่อองค์กรควบคุม การประกอบวิชาชีพต่าง ๆ ให้พิจารณาลงโทษผู้ประกอบวิชาชีพนั้น ๆ ในทางปฏิบัติ มาตรา ๓๙/๑ จึงใช้บังคับกับการออกคำสั่งทางปกครองที่เป็น การอนุญาต ตามพระราชบัญญัติการอำนวย ความสะดวกฯ ซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองที่เกิดจากคำขอให้เจ้าหน้าที่ให้สิทธิแก่ผู้ยื่นคำขอ ไม่ว่าจะเป็น การออกใบอนุญาต การอนุมัติ การจดทะเบียน การขึ้นทะเบียน การรับแจ้ง การให้ประทานบัตร หรือการให้อาชญาบัตร อย่างไรก็ดี โดยที่คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมิได้ตีความบทบัญญัติมาตรา ๓๙/๑ โดยยึดโยงกับ การอนุญาต ตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ บทบัญญัติดังกล่าวจึงมีขอบเขตการใช้บังคับที่กว้างไกลไปกว่า การอนุญาต ตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ ที่มุ่งหมายใช้บังคับกับการขออนุญาตของประชาชน โดยเฉพาะการประกอบกิจการต่าง ๆ
สำหรับการออกคำสั่งทางปกครองที่ไม่ได้อยู่ในนิยามคำว่า อนุญาต ตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ แต่อาจจะอยู่ภายใต้บังคับระยะเวลาออกคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๓๙/๑ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ เช่น คำสั่งทางปกครองที่ เกิดจากคำขอของบุคลากรในหน่วยงานของรัฐ เป็นต้นว่า คำสั่งที่ทางราชการอนุมัติเงินหรือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้แก่เจ้าหน้าที่ของตน เช่น คำสั่งอนุมัติให้ข้าราชการเบิกค่าเช่าบ้าน ซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองที่ต้องทำเป็นหนังสือและทำขึ้นตามคำขอของคู่กรณี (คงไม่มีส่วนราชการใดที่สั่งอนุมัติ ค่าเช่าบ้านด้วยวาจาหรืออนุมัติให้เบิกค่าเช่าบ้านโดยไม่มีคำขอจากข้าราชการ) ทั้งนี้ เมื่อกฎที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ไม่ว่าพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๔๗ หรือระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๔๙ มิได้กำหนดระยะเวลาในการพิจารณามีคำสั่งอนุมัติหรือไม่อนุมัติให้เบิกค่าเช่าบ้านไว้ ดังนั้น ส่วนราชการจึงต้องพิจารณามีคำสั่งให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอและเอกสารถูกต้องครบถ้วนตามที่กำหนดในมาตรา ๓๙/๑ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ อย่างไรก็ดี เราก็อดคิดไม่ได้ว่า การนำระยะเวลาตามบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้กับการออกคำสั่งทางปกครองเหล่านี้ จะเป็นเรื่องที่เกินเลยเจตนารมณ์ของผู้ตรากฎหมายไปหรือไม่ เพราะแรกเริ่มเดิมทีนั้นผู้ตรากฎหมาย มีความตั้งใจที่จะอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่ขออนุญาตประกอบกิจการต่าง ๆ เป็นสำคัญ นอกจากนี้ ระยะเวลาตามมาตรา ๓๙/๑ อาจใช้บังคับกับการออกคำสั่งทางปกครองอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในความคิดของผู้ตรากฎหมายมาก่อนเลย เช่น การพิจารณาคำขอค่าทดแทนความเสียหายจากการ เพิกถอนคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕๒ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ หรือการพิจารณาคำขอให้พิจารณาคำสั่งทางปกครองใหม่ตามมาตรา ๕๔ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน
นอกจากนี้ น่าสังเกตว่า การออกคำสั่งทางปกครองในบางกรณีที่อยู่ในนิยามคำว่า อนุญาต ตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ แต่ไม่อยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัตินี้ เช่น การอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับยกเว้นตามมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง (๔)[๑๗] การพิจารณาอนุญาตในเรื่องดังกล่าวก็ยังคงอยู่ภายใต้บังคับระยะเวลาสามสิบวัน ตามมาตรา ๓๙/๑ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ เพราะเป็นการออกคำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือและตามคำขอของคู่กรณี ทั้งนี้ เว้นแต่กฎหมายหรือกฎในเรื่องที่เกี่ยวข้อง จะกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาตไว้เป็นอย่างอื่น
ทั้งนี้ การอนุญาต ในบางกรณีอาจจะไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายทั้งสองฉบับทั้งพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ และพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ เช่น การอนุญาตที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการทางทหารด้านยุทธการ ซึ่งได้รับยกเว้นไม่อยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ ตามมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง (๕) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และขณะเดียวกันก็ได้รับยกเว้นไม่อยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ ตามมาตรา ๔ วรรคหนึ่ง (๗) ที่กำหนดมิให้ใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้แก่การดำเนินงานเกี่ยวกับราชการทหารในการป้องกันและรักษาความมั่นคงของราชอาณาจักรจากภัยคุกคามทั้งภายในและภายนอกประเทศ ส่วนการอนุญาตตามกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมยุทธภัณฑ์และกฎหมายว่าด้วยโรงงานผลิตอาวุธของเอกชน ซึ่งได้รับยกเว้นตามมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง (๕) แห่งพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ หากตีความว่าเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับการดำเนินงานเกี่ยวกับราชการทหารในการป้องกันและรักษาความมั่นคงของราชอาณาจักร การพิจารณาอนุญาตในเรื่องดังกล่าวก็จะไม่อยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ รวมทั้งระยะเวลาในการออกคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๓๙/๑ เช่นเดียวกัน[๑๘]
ตามมาตรา ๓๙/๑ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ ระยะเวลาสามสิบวันจะใช้กับการออกคำสั่งทางปกครองในเรื่องที่ไม่มีกฎหมายหรือกฎกำหนดระยะเวลาในการออกคำสั่งทางปกครองในเรื่องนั้นไว้เป็นอย่างอื่น ดังนั้น หากกฎหมายในเรื่องใดกำหนดระยะเวลา ในการพิจารณาออกคำสั่งทางปกครองไว้เป็นการเฉพาะ การออกคำสั่งทางปกครองในเรื่องนั้นย่อม อยู่ภายใต้บังคับระยะเวลาตามกฎหมายเฉพาะ ไม่อยู่ภายใต้บังคับระยะเวลาตามมาตรา ๓๙/๑ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ โดยระยะเวลาที่กำหนดในกฎหมายเฉพาะอาจจะ มีลักษณะเป็นเพียงบทเร่งรัดการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ (ระยะเวลาเร่งรัด) หรือส่งผลต่อการใช้อำนาจออกคำสั่งทางปกครองของเจ้าหน้าที่ก็ได้ (ระยะเวลาบังคับ)
สำหรับตัวอย่างของระยะเวลาในการออกคำสั่งทางปกครองตามกฎหมายเฉพาะ ที่เป็น ระยะเวลาเร่งรัด เช่น การออกใบอนุญาตผลิต นำเข้าเพื่อขาย หรือขายอาหารสัตว์ ตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. ๒๕๒๕ ซึ่งมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ผู้อนุญาตตรวจพิจารณาและออกใบอนุญาต หรือมีหนังสือแจ้งคำสั่งไม่อนุญาตพร้อมเหตุผลให้ผู้ขออนุญาตทราบภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอซึ่งมีรายละเอียดถูกต้องและครบถ้วนตามที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยกรณีมีเหตุจำเป็นอาจขยายเวลาได้อีกไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสามสิบวัน ส่วนระยะเวลาในการออกคำสั่งทางปกครองตามกฎหมายเฉพาะที่เป็น ระยะเวลาบังคับ เช่น การออกใบอนุญาตให้นำภาพยนตร์ หรือสื่อโฆษณาภาพยนตร์ ออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่าย หรือให้ส่งภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นในราชอาณาจักรออกไปนอกราชอาณาจักร ซึ่งมาตรา ๓๖ แห่งพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑กำหนดว่า คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์จะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ ถ้าพิจารณาไม่เสร็จภายในกำหนดระยะเวลา ให้ถือว่าอนุญาต อันเป็นการมีคำสั่งอนุญาตโดยปริยาย
ทั้งสองกรณีข้างต้นนี้ ระยะเวลาในการออกคำสั่งทางปกครองย่อมเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎหมายเฉพาะแต่ละเรื่อง ไม่ใช้ระยะเวลาที่กำหนดในมาตรา ๓๙/๑ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ ทั้งนี้ โดยไม่จำต้องเปรียบเทียบว่า หลักเกณฑ์ในกฎหมายเฉพาะมีหลักประกันความเป็นธรรมหรือมาตรฐานในการปฏิบัติราชการสูงกว่าหลักเกณฑ์ ในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ ซึ่งเป็นกฎหมายกลางหรือไม่ ตามที่กำหนดในมาตรา ๓ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เพราะการที่กฎหมายในเรื่องใดได้กำหนดระยะเวลา ในการออกคำสั่งทางปกครองในเรื่องนั้นไว้เป็นการเฉพาะ ย่อมเป็นกรณีที่ผู้ตรากฎหมายได้พิจารณากำหนดระยะเวลาให้เหมาะสมกับลักษณะของเรื่องนั้นแล้ว โดยคำนึงถึงความยุ่งยากซับซ้อนของเรื่อง ระยะเวลาที่เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องใช้ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง เอกสาร และหลักฐานต่าง ๆ เพื่อจะได้พิจารณาออกคำสั่งทางปกครองได้อย่างรอบคอบและถูกต้อง หรือหากกฎหมายในเรื่องใดกำหนด ให้มีการอนุญาตโดยปริยายเมื่อครบกำหนดเวลาและเจ้าหน้าที่พิจารณาไม่แล้วเสร็จ ย่อมเป็นกรณีที่ ผู้ตรากฎหมายมีความประสงค์ให้การพิจารณาอนุญาตในเรื่องนั้นมีความรวดเร็วเป็นพิเศษ
นอกจากระยะเวลาที่กำหนดในกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติแล้ว หากกฎในเรื่องใดได้กำหนดระยะเวลาในการออกคำสั่งทางปกครองไว้เป็นการเฉพาะ การออกคำสั่งทางปกครองในเรื่องนั้นย่อมไม่อยู่ภายใต้บังคับระยะเวลาตามมาตรา ๓๙/๑ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ เช่นกัน ซึ่งโดยหลักแล้ว กฎ ที่ว่านี้จะต้องเป็นกฎหมายลำดับรองหรืออนุบัญญัติ ที่ออกตามกฎหมายแม่บทที่ให้อำนาจออกคำสั่งทางปกครองในเรื่องนั้น ๆ เช่น กฎกระทรวงที่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการขออนุญาตและการพิจารณาอนุญาต ซึ่งอาจกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาตไว้ด้วย ส่วนระยะเวลาแล้วเสร็จของงาน (ซึ่งบางกรณีอาจเป็นระยะเวลาในการพิจารณาทางปกครอง เช่น ระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาตในเรื่องต่าง ๆ)ที่ส่วนราชการทั้งหลายกำหนดขึ้นหรือที่ ก.พ.ร. เป็นผู้กำหนดขึ้นตามมาตรา ๓๗ แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีฯ และถือเป็นกำหนดเวลาสำหรับการพิจารณาทางปกครอง ที่เจ้าหน้าที่กำหนดขึ้นตามมาตรา ๓๓ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ นั้น โดยที่ส่วนราชการต่าง ๆ อาจจะกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จของงานในรูปของ ประกาศ โดยอ้างบทอาศัยอำนาจตามมาตรา ๓๗ แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีฯ และมีการลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ประชาชนรับทราบ นักกฎหมายส่วนหนึ่งจึงมองว่าเป็น กฎ ที่กำหนดระยะเวลาในการพิจารณาทางปกครองไว้เป็นการเฉพาะ การพิจารณาออกคำสั่งทางปกครองในเรื่องนั้น ๆ จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับระยะเวลาตามมาตรา ๓๙/๑ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ ซึ่งหากถือตามแนวทางดังกล่าว ส่วนราชการต่าง ๆ ก็คงไม่รีรอที่จะกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาทางปกครองในแต่ละเรื่องขึ้น เพื่อที่จะได้ไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับระยะเวลาสามสิบวันตามมาตรา ๓๙/๑ (ซึ่งบางกรณีอาจมองว่าสั้นเกินไป)
อนึ่ง ในบางกรณีกฎหมายหรือกฎอาจมิได้กำหนดไว้แน่นอนว่าเจ้าหน้าที่ต้องพิจารณาออกคำสั่งทางปกครองภายในกี่วัน แต่กำหนดแต่เพียงว่า ให้พิจารณาโดยไม่ชักช้า ในกรณีเช่นนี้ จะถือว่ามีกฎหมายหรือกฎกำหนดระยะเวลาในการออกคำสั่งทางปกครองในเรื่องนั้นไว้เป็นประการอื่นหรือไม่ ในประเด็นนี้ ผู้เขียนเห็นว่า ระยะเวลาในการออกคำสั่งทางปกครอง ที่กฎหมายหรือกฎกำหนด จะต้องเป็นระยะเวลาที่แน่นอน หากกฎหมายหรือกฎกำหนดในลักษณะทั่วไปให้เจ้าหน้าที่พิจารณาโดยไม่ชักช้า ย่อมไม่อาจถือว่าเป็นการกำหนดระยะเวลาในการออกคำสั่งทางปกครองไว้เป็นประการอื่น การออกคำสั่งทางปกครองในเรื่องนั้นจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับระยะเวลาสามสิบวันตามมาตรา ๓๙/๑ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ
๓. ผลทางกฎหมายของระยะเวลา
ในกรณีที่เป็นการออกคำสั่งทางปกครองที่อยู่ภายใต้บังคับมาตรา ๓๙/๑ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองมีหน้าที่ต้องพิจารณาออกคำสั่ง ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอและเอกสารถูกต้องครบถ้วน ส่วนกรณีที่ล่วงเลยระยะเวลาสามสิบวันไปแล้ว จะส่งผลประการใดต่อการพิจารณาของเจ้าหน้าที่นั้น เห็นว่า ระยะเวลาในการออกคำสั่งทางปกครองตามมาตรานี้เป็นเพียง ระยะเวลาเร่งรัด การพิจารณาของเจ้าหน้าที่เท่านั้น ผู้ตรากฎหมายหาได้มุ่งหมายให้การครบกำหนดเวลามีผลเป็นการตัดอำนาจของเจ้าหน้าที่ที่จะออกคำสั่งทางปกครอง เพราะมิฉะนั้น ย่อมเป็นผลร้ายต่อประชาชนผู้ยื่นคำขอเสียเอง ดังนั้น แม้ว่าระยะเวลาสามสิบวันจะล่วงพ้นไปแล้ว เจ้าหน้าที่ก็ยังคงมีอำนาจออกคำสั่งทางปกครองขึ้นใช้บังคับได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ ในทำนองเดียวกันกับระยะเวลาในการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ ที่แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ภายหลังล่วงพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ไปแล้ว ก็ไม่มีผลให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย[๑๙]
นอกจากนี้ การที่ระยะเวลาในการออกคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๓๙/๑ เป็นเพียง ระยะเวลาเร่งรัด ก็ส่งผลต่อขั้นตอนการพิจารณาทางปกครองตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ เช่น ในเรื่องการรับฟังคู่กรณีก่อนออกคำสั่งทางปกครองที่อาจกระทบถึงสิทธิของคู่กรณี ซึ่งมาตรา ๓๐[๒๐] วรรคสอง (๒) ได้กำหนดยกเว้นให้เจ้าหน้าที่มีดุลพินิจที่จะไม่รับฟังคู่กรณีก่อนออกคำสั่งทางปกครองก็ได้ หากจะมีผลทำให้ระยะเวลาที่กฎหมายหรือกฎกำหนดไว้ในการทำคำสั่งทางปกครองต้องล่าช้าออกไป นั้น ผู้เขียนมีความเห็นว่า ข้อยกเว้นไม่ต้องรับฟังคู่กรณีตามบทบัญญัตินี้ใช้กับกรณีที่ระยะเวลาที่กฎหมายหรือกฎกำหนดไว้มีลักษณะเป็น ระยะเวลาบังคับ ที่มีผลต่อการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่เท่านั้น เช่น กรณีที่มาตรา ๓๖ แห่งพระราชบัญญัติภาพยนตร์ และวีดิทัศน์ฯ กำหนดให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์พิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ ถ้าพิจารณาไม่เสร็จภายในกำหนดระยะเวลา ให้ถือว่าอนุญาต ในกรณีเช่นนี้ ขั้นตอนการรับฟังคู่กรณีอาจมีผลทำให้การพิจารณาของเจ้าหน้าที่ล่าช้าและไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ซึ่งจะทำให้เกิด คำสั่งอนุญาตโดยปริยาย จึงอาจยอมรับให้เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับฟังคู่กรณีก่อนออกคำสั่งไม่อนุญาตก็ได้[๒๑] นอกจากนี้ กรณีที่การล่วงพ้นของระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดจะมีผลตัดอำนาจของเจ้าหน้าที่ในการออกคำสั่งทางปกครอง โดยหลักแล้วก็อาจยอมรับให้เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับฟังคู่กรณีได้เช่นเดียวกัน เช่น การเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่มีลักษณะเป็นการให้ประโยชน์ซึ่งต้องกระทำภายในเก้าสิบวันนับแต่รู้ถึงเหตุแห่งการเพิกถอนตามที่กำหนด ในมาตรา ๔๙ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ[๒๒] อย่างไรก็ดี สำหรับระยะเวลาในการออกคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๓๙/๑ นั้น เมื่อระยะเวลาดังกล่าวเป็นเพียง ระยะเวลาเร่งรัด ซึ่งแม้จะล่วงพ้นระยะเวลาไปแล้ว เจ้าหน้าที่ก็ยังคงมีอำนาจที่จะออกคำสั่งทางปกครองได้โดยชอบด้วยกฎหมาย กรณีจึงเป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผลหากจะยอมรับให้เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับฟังคู่กรณีก่อนออกคำสั่ง โดยอ้างว่าต้องออกคำสั่งทางปกครองให้ทันภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด กล่าวอีกนัยหนึ่ง ขั้นตอนการรับฟังคู่กรณีซึ่งอาจเป็นผู้รับคำสั่งทางปกครองเองหรือเป็นบุคคลที่สามที่อาจได้รับผลกระทบจากการออกคำสั่งทางปกครอง ย่อมเป็นหลักประกันในกระบวนพิจารณาที่มีความสำคัญมากกว่าการที่เจ้าหน้าที่จะออกคำสั่งทางปกครองให้ทันภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดซึ่งเป็นเพียง ระยะเวลาเร่งรัด เท่านั้น[๒๓]
ทั้งนี้ แม้ว่าระยะเวลาในการออกคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๓๙/๑ จะเป็นเพียง ระยะเวลาเร่งรัด แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีผลต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่พิจารณาออกคำสั่งทางปกครองเอาเสียเลย เพราะหากความล่าช้าในการพิจารณาออกคำสั่งทำให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานของรัฐก็อาจต้องรับผิดต่อผู้เสียหาย[๒๔] ซึ่งหากความเสียหายเกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าหน้าที่ หน่วยงานของรัฐก็อาจไล่เบี้ยให้เจ้าหน้าที่รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ทางราชการได้ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ นอกจากนี้ ในกรณีที่การออกคำสั่งทางปกครองเป็นการ อนุญาต ตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ ผู้อนุญาตจะต้องระบุระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาตไว้ในคู่มือสำหรับประชาชน (มาตรา ๗ วรรคหนึ่ง) ซึ่งระยะเวลาที่ระบุไว้นั้นอาจเป็นระยะเวลาสามสิบวันตามมาตรา ๓๙/๑ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ (หากการอนุญาตในเรื่องนั้นไม่มีกฎหมายหรือกฎกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาตไว้เป็นอย่างอื่น) และผู้อนุญาตจะต้องพิจารณาอนุญาต ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในคู่มือและแจ้งให้ผู้ยื่นคำขอทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่พิจารณาแล้วเสร็จ (มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง) หากครบกำหนดเวลาแล้วยังพิจารณาไม่เสร็จ ก็ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ยื่นคำขอทราบถึงเหตุแห่งความล่าช้าทุกเจ็ดวันจนกว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จ พร้อมทั้งส่งสำเนาการแจ้งให้ ก.พ.ร. ทราบทุกครั้ง (มาตรา ๑๐ วรรคสอง) ถ้าผู้อนุญาตไม่แจ้ง ถือว่ากระทำการหรือละเว้นกระทำการเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น เว้นแต่จะมีเหตุสุดวิสัย (มาตรา ๑๐ วรรคสี่)
ส่งท้าย
การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ เพิ่มบทบัญญัติว่าด้วยระยะเวลาในการออกคำสั่งทางปกครอง ถือเป็นความพยายามครั้งใหม่ในการแก้ไขปัญหาความล่าช้าในการพิจารณาของฝ่ายปกครอง จากเดิมที่ต้องเทียบเคียงระยะเวลาพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองหรือระยะเวลาฟ้องคดีต่อศาลปกครองซึ่งมีกำหนดเวลาเก้าสิบวันมาใช้เป็น ระยะเวลา อันสมควร ในการพิจารณาทางปกครองสำหรับกรณีที่ไม่มีกฎหมายกำหนดระยะเวลาไว้เป็นการเฉพาะ ปัจจุบันการพิจารณาออกคำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือและตามคำขอของคู่กรณีก็มีกรอบเวลา ที่กระชับยิ่งขึ้น คือ สามสิบวันนับแต่วันที่เจ้าหน้าที่ได้รับคำขอและเอกสารถูกต้องครบถ้วน อย่างไรก็ดี การแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้คงไม่ได้จบลงเพียงเท่านี้ เพราะยังมีประเด็นให้ต้องพิจารณาอีกหลายประการ
ในแง่โครงสร้างของบทบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวกับระยะเวลาในการพิจารณาทางปกครองในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ บทบัญญัติที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้แก่ มาตรา ๓๓ และมาตรา ๓๙/๑ เป็นบทบัญญัติที่ตราขึ้นต่างยุคต่างสมัยกันและอาจจะไม่สอดรับกันเสียทีเดียว โดย มาตรา ๓๓ ได้ออกแบบไว้ในช่วงที่ยังไม่มีระยะเวลาพิจารณาออกคำสั่งทางปกครองตามกฎหมายกลาง ผู้ยกร่างจึงให้เจ้าหน้าที่กำหนดระยะเวลาในการพิจารณาทางปกครองในแต่ละเรื่องขึ้นเอง แต่จะต้อง ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายหรือกฎในเรื่องนั้น หมายความว่า ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายหรือกฎเฉพาะเรื่อง ต่อมาเมื่อมีการเพิ่มมาตรา ๓๙/๑ กำหนดระยะเวลาในการออกคำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือและตามคำขอของคู่กรณี บทบัญญัตินี้ก็กำหนดให้ใช้ระยะเวลาตามกฎหมายกลาง หากไม่มี กฎหมายหรือกฎกำหนดระยะเวลาในการออกคำสั่งทางปกครองในเรื่องนั้นไว้เป็นประการอื่น ทั้งนี้โดยมาตรา ๓๙/๑ มิได้กล่าวถึงระยะเวลาที่เจ้าหน้าที่กำหนดขึ้นเองตามมาตรา ๓๓ แต่อย่างใด ซึ่งทำให้เกิดความไม่ชัดเจนว่าระยะเวลาที่กำหนดขึ้นโดยกฎจะหมายความรวมถึงระยะเวลาที่เจ้าหน้าที่กำหนดขึ้นเองตามมาตรา ๓๓ ด้วยหรือไม่ และตกลงแล้วบทบัญญัติทั้งสองมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างไร ในโอกาสต่อไป ผู้ตรากฎหมายจึงชอบที่จะ บูรณาการ หลักเกณฑ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับระยะเวลาในการพิจารณาทางปกครองในกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองให้เป็นระบบยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ผู้ตรากฎหมายสมควรพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการพิจารณาคำขอของประชาชนให้ครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เช่น การออกใบรับคำขอแก่ผู้ยื่นคำขอ ซึ่งจะเป็นหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่ได้รับคำขอและเอกสารถูกต้องครบถ้วนเมื่อใด อันจะเป็นวันที่เริ่มนับระยะเวลาในการพิจารณาออกคำสั่งทางปกครองตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งแม้ว่าหน่วยงานของรัฐหลายแห่งจะมีแนวทางปฏิบัติในเรื่องนี้ และกฎหมายหรือกฎในบางเรื่องอาจจะกำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องนี้ไว้แล้ว แต่หากเป็นไปได้ ก็สมควรบัญญัติหลักเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าวไว้ในกฎหมายกลางว่าด้วยการพิจารณาทางปกครอง เพื่ออุดช่องว่างในเรื่องที่ไม่มีกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ไว้เป็นการเฉพาะ ซึ่งน่าสังเกตว่า กฎหมายของหลายประเทศได้บัญญัติหลักเกณฑ์ในเรื่องนี้ไว้[๒๕] และเดิมในร่างแรกของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองของไทย ผู้ยกร่างก็เคยกำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าวไว้[๒๖] แต่มีการตัดออกไปในภายหลังอย่างน่าเสียดาย
บทบัญญัติมาตรา ๓๙/๑ จะยังผลให้การพิจารณาทางปกครอง โดยเฉพาะการอนุมัติอนุญาตในเรื่องต่าง ๆ มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น สมดังความตั้งใจของผู้ตรากฎหมายหรือไม่ ขณะนี้คงเร็วเกินไปที่จะประเมินผลได้ และจะว่าไปแล้ว เราก็ไม่ควรฝากความหวังไว้กับบทบัญญัติใหม่นี้ มากจนเกินไป เพราะระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดเป็นเพียง ระยะเวลาเร่งรัด ที่มีสภาพบังคับเบาบางต่อเจ้าหน้าที่ และไม่อาจเป็นหลักประกันที่แน่นอนแก่ผู้ยื่นคำขอได้ว่าเรื่องของตนจะได้รับการพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด เพียงแต่หากครบกำหนดเวลาแล้ว เจ้าหน้าที่ยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ ผู้ยื่นคำขอก็อาจฟ้องคดีต่อศาลปกครองว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร แต่การพิจารณาคดีของศาลก็คงจะใช้เวลายาวนาน ก่อนจะจบลงด้วยการมีคำบังคับให้เจ้าหน้าที่พิจารณาคำขอให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่ศาลกำหนด กรณีจึงน่าคิดว่า จะมีวิธีการที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดมากกว่านี้ที่ทำให้ผู้ยื่นคำขอไม่ต้อง ร้องเพลงรอ เรื่อยไปหรือไม่ ทางเลือกหนึ่งก็คือ การใช้กลไก คำสั่งทางปกครองโดยปริยาย ที่ถือว่าการที่ฝ่ายปกครองนิ่งเงียบไม่พิจารณาคำขอภายในระยะเวลาที่กำหนด ถือว่าฝ่ายปกครองมีคำสั่งปฏิเสธคำขอหรือเห็นชอบกับคำขอ ปัจจุบันหลายประเทศได้หันมาใช้กลไกดังกล่าวมากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่ประเทศไทยยังใช้กลไกนี้ในกฎหมายบางฉบับเท่านั้น ซึ่งหากจะนำมาใช้เป็นการทั่วไป ก็คงต้องพิจารณาข้อดีข้อเสียให้รอบคอบเสียก่อน ทั้งนี้ โดยที่ คำสั่งทางปกครองโดยปริยาย เป็นเรื่องที่มีรายละเอียดค่อนข้างมาก โดยเฉพาะแง่มุมในเชิงกฎหมายเปรียบเทียบ ผู้เขียนจึงขอยกไปจัดทำเป็นบทความอีกชุดหนึ่งมานำเสนอในโอกาสต่อไป
_________________
[๑]ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑ ตอน ๘๙ ก วันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๗ หน้า ๑
[๒]มาตรา ๓๙/๑ การออกคำสั่งทางปกครองเป็นหนังสือในเรื่องใด หากมิได้มีกฎหมายหรือกฎกำหนดระยะเวลาในการออกคำสั่งทางปกครองในเรื่องนั้นไว้เป็นประการอื่น ให้เจ้าหน้าที่ออกคำสั่งทางปกครองนั้นให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เจ้าหน้าที่ได้รับคำขอและเอกสารถูกต้องครบถ้วน
ให้เป็นหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปของเจ้าหน้าที่ ที่จะกำกับดูแลให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามวรรคหนึ่ง
[๓]ร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาทางปกครอง พ.ศ. .... มาตรา ๑๕ กำหนดให้คณะรัฐมนตรีวางระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อให้เจ้าหน้าที่กำหนดเวลาสำหรับการพิจารณาและทำคำสั่งทางปกครองตามความเหมาะสมแก่กรณี สำหรับรายละเอียด โปรดดู เรื่องเสร็จที่ ๖๙/๒๕๓๕
[๔]ความเห็นคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เรื่องเสร็จที่ ๖๘๑/๒๕๕๖
[๕]คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.๗๓/๒๕๔๗
[๖]คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.๒๗๔/๒๕๕๗
[๗]คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.๔๖๖/๒๕๕๗
[๘]คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.๓๑๘/๒๕๕๒ และ อ.๕๖๖-๕๖๙/๒๕๕๔
[๙]คณะกรรมการพัฒนากฎหมายเป็นองค์กรที่กำหนดขึ้นโดยพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๔ มีอำนาจหน้าที่ศึกษาวิจัยและจัดทำรายงานพร้อมร่างกฎหมายตามโครงการหรือแผนงานพัฒนากฎหมาย ในด้านต่าง ๆ เสนอคณะรัฐมนตรี โดยมีสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาปฏิบัติหน้าที่เป็นหน่วยงานเลขานุการ
[๑๐]ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒ ตอน ๔ วันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๘ หน้า ๑
[๑๑]สำหรับความเป็นมาและสาระสำคัญของพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ โปรดดู พงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์, การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ, www. krisdika.go.th
[๑๒]มีข้อควรสังเกตว่า โดยหลักแล้ว ตำแหน่งแห่งที่ ของบทบัญญัติเกี่ยวกับระยะเวลาในการออกคำสั่งทางปกครองน่าจะอยู่ในส่วนที่ ๓ การพิจารณา มากกว่าจะอยู่ในส่วนที่ ๔ รูปแบบและผลของคำสั่งทางปกครอง เพราะระยะเวลาในการออกคำสั่งทางปกครองเป็นเรื่องขั้นตอนการออกคำสั่ง มิใช่เรื่องรูปแบบของคำสั่ง
[๑๓]ตัวอย่างอีกกรณีหนึ่งที่สนับสนุนข้อสันนิษฐานนี้ ก็คือ แนวทางของผู้ยกร่างในการบัญญัติหลักเกณฑ์เกี่ยวกับหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการแจ้งให้ผู้ยื่นคำขอแก้ไขคำขอและส่งเอกสารหรือหลักฐานเพิ่มเติม รวมทั้งบรรดาการดำเนินการ ที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งผู้ยกร่างได้บัญญัติหลักเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าวไว้ในมาตรา ๘ และมาตรา ๙ ของพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ แล้ว แต่ก็ยังบัญญัติหลักเกณฑ์ทำนองเดียวกันไว้อีกชั้นหนึ่งในมาตรา ๒๗ วรรคสอง ของพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้ยกร่างมีความกังวลว่าลำพังบทบัญญัติของพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ อาจจะเป็นฐานทางกฎหมายที่มีสภาพบังคับไม่เพียงพอ หรืออาจมีปัญหาในเรื่องหลักประกันความเป็นธรรมหรือมาตรฐานในการปฏิบัติราชการเมื่อเทียบกับพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ จึงต้องกำหนดหลักเกณฑ์ในกฎหมายทั้งสองฉบับให้มีความสอดคล้องกันไว้ก่อน
[๑๔]บันทึกหลักการและเหตุผลประกอบร่างพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ ได้อ้างถึงอุปสรรคของประชาชน ในการยื่นคำขออนุญาตดำเนินการต่าง ๆ เนื่องจากปัจจุบันมีกฎหมายว่าด้วยการอนุญาตเป็นจำนวนมาก การประกอบกิจการของประชาชนจะต้องขออนุญาตจากส่วนราชการหลายแห่ง อีกทั้งกฎหมายว่าด้วยการอนุญาตบางฉบับไม่ได้กำหนดระยะเวลา เอกสารและหลักฐานที่จำเป็นรวมถึงขั้นตอนในการพิจารณาไว้
[๑๕]โปรดดู รายงานการประชุมคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย ครั้งที่ ๑๑๓-๑/๒๕๕๖ วันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๕๖ หน้า ๑๑
[๑๖]ความเห็นคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เรื่องเสร็จที่ ๑๕๔๕/๒๕๕๘
[๑๗]สำหรับขอบเขตของ การอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับยกเว้นว่าได้แก่เรื่องใดและขั้นตอนใด โปรดดู ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) เรื่องเสร็จที่ ๙๘๑/๒๕๕๘
[๑๘]สำหรับบทวิเคราะห์ข้อยกเว้นในเรื่องการดำเนินงานเกี่ยวกับราชการทหารตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ โปรดดู ศุภวัฒน์ สิงห์สุวงษ์, ราชการทหารกับกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง, วารสารกฎหมายปกครอง เล่ม ๓๐ ตอน ๑, ๒๕๕๖, หน้า ๑๒๑-๑๓๗
[๑๙]คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.๒๗๑/๒๕๕๖
[๒๐]มาตรา ๓๐ ในกรณีที่คำสั่งทางปกครองอาจกระทบถึงสิทธิของคู่กรณี เจ้าหน้าที่ต้องให้คู่กรณีมีโอกาสที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน
ความในวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้บังคับในกรณีดังต่อไปนี้ เว้นแต่เจ้าหน้าที่จะเห็นสมควรปฏิบัติเป็นอย่างอื่น
ฯลฯ ฯลฯ
(๒) เมื่อจะมีผลทำให้ระยะเวลาที่กฎหมายหรือกฎกำหนดไว้ในการทำคำสั่งทางปกครองต้องล่าช้าออกไป
ฯลฯ ฯลฯ
[๒๑]มีความเห็นทางวิชาการที่ตีความบทบัญญัติมาตรา ๒๘ วรรคสอง (๒) ของรัฐบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองของประเทศเยอรมันซึ่งเป็นต้นแบบในการยกร่างมาตรา ๓๐ วรรคสอง (๒) ของพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการ ทางปกครองฯ ของประเทศไทยในแนวทางนี้ โปรดดู EISENBERG (E.), L’audition du citoyen et motivationdes décisions administratives individuelles - Étude comparative en France et en Allemagne, (Paris : L’Harmattan, 2000), p.134.
[๒๒]สำหรับฝ่ายตำราที่มีความเห็นตามแนวทางนี้ เช่น วรเจตน์ ภาคีรัตน์, กฎหมายปกครอง ภาคทั่วไป, (กรุงเทพฯ : นิติราษฎร์, ๒๕๕๔) หน้า ๑๗๔ อย่างไรก็ดี ผู้เขียนมีความเห็นว่า การใช้ข้อยกเว้นตามมาตรา ๓๐ วรรคสอง (๒) กับการเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ให้ประโยชน์คงเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ เพราะเมื่อเจ้าหน้าที่มีเวลาถึงเก้าสิบวันนับแต่รู้ถึงเหตุแห่งการเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่จะเพิกถอนคำสั่งนั้น เจ้าหน้าที่ย่อมมีเวลาเพียงพอที่จะรับฟังคู่กรณีก่อนออกคำสั่งเพิกถอนได้ นอกจากนี้ หากเจ้าหน้าที่ได้รู้ถึงเหตุแห่งการเพิกถอนมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ไม่ได้ดำเนินการแจ้งข้อเท็จจริงให้คู่กรณีทราบและให้โอกาสโต้แย้งแสดงพยานหลักฐาน จนเหลือเวลาอีกไม่มากก่อนจะครบกำหนดเวลาเก้าสิบวัน ย่อมถือว่าความล่าช้าเกิดจากตัวเจ้าหน้าที่เอง เจ้าหน้าที่จึงไม่อาจอ้างว่าต้องข้ามขั้นตอนการรับฟังคู่กรณีเพื่อออกคำสั่งให้ทันก่อนจะครบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
[๒๓]หลักการนี้ย่อมนำไปใช้กับกรณีที่กฎหมายเฉพาะได้กำหนดระยะเวลาในการออกคำสั่งทางปกครองที่มีลักษณะเป็น ระยะเวลาเร่งรัด ได้เช่นเดียวกัน
[๒๔]คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.๗๓/๒๕๔๗ : กรณีหน่วยงานของรัฐพิจารณาสั่งจ่ายบำนาญล่าช้าเกินสมควร ; คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.๓๑๘/๒๕๕๒ และ อ.๕๖๖-๕๖๙/๒๕๕๔ : กรณีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยพิจารณาคำขอขึ้นทะเบียนเป็นเจ้าหน้าที่หลักทรัพย์ล่าช้าเกินสมควร
[๒๕]ในฝรั่งเศส ประมวลกฎหมายว่าด้วยการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างประชาชนและหน่วยงานทางปกครอง (code des relations entre le public et l’administration - CRPA) มาตรา L ๑๑๒-๓ บัญญัติให้หน่วยงานทางปกครองออก ใบรับคำขอ (accusé de réception de la demande) แก่ผู้ยื่นคำขอ โดยมาตรา R ๑๑๒-๕ กำหนดให้ใบรับคำขอจะต้องระบุรายการดังต่อไปนี้ (๑) วัน เดือน ปีที่ได้รับคำขอ และวันที่จะครบกำหนดเวลา ซึ่งหากไม่มีการออกคำสั่งโดยชัดแจ้ง จะถือว่ามีการเห็นชอบกับคำขอหรือปฏิเสธคำขอโดยปริยาย (๒) ชื่อ สถานที่ติดต่อ หรือที่อยู่ทางอิเล็กทรอนิกส์ และหมายเลขโทรศัพท์ของหน่วยงานทางปกครองที่รับผิดชอบเรื่อง (๓) รายการที่กำหนดในมาตรา L ๑๑๔-๕ ซึ่งได้แก่ เอกสารหลักฐานที่เจ้าหน้าที่แจ้งให้ผู้ยื่นคำขอนำมายื่นเพิ่มเติมให้ครบถ้วน กำหนดเวลาในการยื่นเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม รวมทั้งหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการนับระยะเวลาในการเกิดคำสั่งโดยปริยายที่เห็นชอบคำขอหรือปฏิเสธคำขอ ทั้งนี้ มาตรา R ๑๑๒-๔ กำหนดข้อยกเว้นให้หน่วยงานทางปกครองไม่จำต้องออกใบรับคำขอแก่ผู้ยื่นคำขอในสองกรณีด้วยกัน ได้แก่ (๑) กรณีที่กฎหมายกำหนดให้เกิดคำสั่งโดยปริยายหรือโดยชัดแจ้งเพื่อประโยชน์ของผู้ยื่นคำขอภายในกำหนดเวลาเท่ากับหรือน้อยกว่าสิบห้าวันนับแต่วันยื่นคำขอ และ (๒) กรณีที่เป็นการยื่นคำขอให้หน่วยงานทางปกครองจัดหาเอกสารหรือให้บริการหรือดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด โดยหน่วยงานทางปกครองไม่มีอำนาจพิจารณาเป็นอย่างอื่นไปได้นอกจากตรวจสอบว่าผู้ยื่นคำขอเข้าเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนดที่จะได้รับเอกสารหรือบริการหรือการดำเนินการตามที่ร้องขอนั้นหรือไม่
[๒๖]ร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาทางปกครอง พ.ศ. .... ซึ่งจัดทำขึ้นร่างแรกในปี ๒๕๓๔ ได้บัญญัติในมาตรา ๑๗ ว่า เมื่อมีผู้ยื่นคำขอ เจ้าหน้าที่ต้องจัดให้มีการออกใบรับคำขอให้ไว้เป็นหลักฐาน ใบรับคำขอต้องระบุ วัน เดือน ปี ที่รับคำขอ และลงลายมือชื่อของผู้รับ สำหรับรายละเอียดของร่างฯ โปรดดู เรื่องเสร็จที่ ๖๙/๒๕๓๕
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1975
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 17:47 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|