“ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” หรือ “เลือกตั้งก่อนปฏิรูป” (?) (เราจะปฏิรูปประเทศกันอย่างไร) (หน้าที่2)

21 พฤษภาคม 2557 12:34 น.

       ●●สิ่งที่เรา(คนไทย) จะต้อง “ทำ”ต่อไป หลังจากการทำ “สิ่งแรก” แล้ว  (ถ้าเราต้องการปฏิรูป(ประเทศ) ให้สำเร็จ)  คือ อะไร
       เมื่อ เราได้พูด ถึง  “สิ่งแรก ที่เราจะต้อง “รู้” และสิ่งแรก ที่เราจะต้อง “ทำ” ในการปฏิรูป (ประเทศ)ว่า  คือ อะไร” แล้วและผู้เขียนได้เรียนไว้แล้ว  สิ่งแรกที่จะต้อง “ทำ” ในการปฏิรูป (ประเทศ) นั้น เป็นสิ่งที่ง่ายที่สุด ของการปฏิรูปประเทศ   แต่สิ่งที่จะต้อง “ทำ” เพื่อทำให้มีการปฏิรูปประเทศมีผลสำเร็จนั้น จะยากมากกว่าหลายเท่า
             เราทราบแล้วว่า สิ่งแรกที่เราจะต้อง“รู้” ในการปฏิรูป(ประเทศ)  คือ  ต้องหา”สาเหตุ” ของการทุจริตคอร์รัปชั่นและการผูกขาดอำนาจของพรรคการเมืองนายทุน (หรือ ระบอบทักษิน)ให้พบและ ขจัด  “สาเหตุ”ให้หมดไป ซึ่งในบทตวามนี้ได้อธิบายให้ท่านผู้อ่าน ทราบแล้วว่า “สาเหตุ”ของการผูกขาดอำนาจรัฐของพรรคการเมืองนายทุน ฯ นั้น อยู่ที่บทมาตรา ๓ มาตราของรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่สร้าง “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมืองนายทุน ในระบบรัฐสภา” (ประเทศเดียวในโลก)  และ”สิ่งแรก” ที่เราจะต้อง “ทำ” ในการปฎิรูป(ประเทศ) ก็คือ ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ และยกเลิกบทมาตราทั้ง ๓ ดังกล่าวออกไปจากรัฐธรรมนูญ และสิ่งแรกนี้  เราต้องทำ “ก่อนการเลือกตั้งครั้งใหม่”
        
        ต่อไปนี้ เราก็จะมาพูดว่า สิ่งที่เรา  จะต้อง “ทำ” ต่อไป  (หากเราต้องการทำการ “ปฏิรูป(ประเทศ)” ให้สำเร็จ)
        
       สิ่งที่ต้อง “ทำ”ในการปฏิรูปประเทศ (ให้สำเร็จ)  ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ
                ตามที่กล่าวมาแล้วว่า  “การปฏิรูป(ประเทศ)”  ประกอบด้วยการแก้ไข “กฎหมาย” จำนวนมาก  และดังนั้น  สิ่งที่ต้อง “ทำ”ในการปฏิรูปประเทศ(ให้สำเร็จ)คงไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ตามที่พูด ๆ กันอยู่บนเวทีสาธารณะทุกวันนี้โดยเฉพาะอย่าง“การปฏิรูปประเทศ”สำหรับประเทศที่ไม่มี (ไร้)statesman ดังเช่น “ประเทศไทย” ในขณะนี้
       คำว่า “statesman” ในที่นี้  ผู้เขียนไม่ได้หมายความ ถึง   “รัฐบุรุษ” ที่เป็นตำแหน่งที่มีการแต่งตั้ง  และไม่ได้หมายถึง   “รัฐบุคคล” ตามที่จะมีการเรียกขานกันเอง 
        แต่ผู้เขียน หมายถึง บุคคล(ตามสภาพความจริง)   ทีมีความรอบรู้มีความเสียสละ และมีบารมี คือได้รับความเชื่อถือศรัทธาจากประชาชนส่วนใหญ่  ให้เป็น “ผู้ชึ้นำ”ในการปฏิรูป(ประเทศ)  ให้แก่คนทั้งประเทศในยาม “วิกฤตชาติ”
              ตัวอย่าง   ดังเช่น  นายพล  De Gaulleของประเทศฝรั่งเศส  ที่เข้ามาแก้ “วิกฤตชาติ” ให้คนฝรั่งเศสในปี ค.ศ. ๑๙๕๘ โดยนายพล  De Gaulle ได้มาปรับเปลี่ยน “รูปแบบ” ของสถาบันการเมืองในรัฐธรรมนูญ ใน “ระบบรัฐสภา -parliamentary  system” แบบเดิม ๆ    ให้เป็นระบบ  rationalized  systemใหม่ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ (ค.ศ. ๑๙๔๕)
               หรือเช่น  ประธานาธิบดี  “Woodrow Wilson” ของสหรัฐอเมริกา (ค.ศ. ๑๙๑๓ - ๑๙๒๔ ) ซึ่งเป็นนักกฎหมายมหาชนที่มีชื่อเสียงที่สุดของสหรัฐอเมริกาในระยะนั้น  ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็น “ประธานาธิบดี”;  และประธานาธิบดี  Woodrow Wilsonได้ใช้เวลา ๘ ปีเต็มของการเป็นประธานาธินาธิบดี ๒ สมัยวางพื้นฐานการปฏิรูปประเทศ  ด้วย “การปฏิรูประบบกฎหมายมหาชน” ให้แก่สหรัฐอเมริกา
       [หมายเหตุโปรดดู  บทความของผู้เขียน ในหนังสื่อ เรื่อง “ผลไม้มีพิษ  มาจากต้นไม้ที่มีพิษ จริงหรือ (?)” , สำนักพิมพ์วิญญูชน. พ.ศ.๒๕๕๖]
        
       สถานการณ์ของประเทศในปัจจุบัน (เดือนพฤษภาคม) “ทางออก”ในการปฏิรูป(ประเทศ) ของประเทศไทย อยู่ที่ไหน
             ก่อนที่ผู้เขียนจะให้ความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ว่า “เรา(คนไทย) จะทำอย่างไร  การปฏิรูป(ประเทศ) จึงจะสำเร็จ” ;เราลองมาประมวลดู  “สถานการณ์ของประเทศในขณะนี้( เดือนพฤษภาคม)”   และ ลองดู “ความเข้าใจ  การปฏิรูป(ประเทศ)” ของมวลชนและชนชั้นนำของเรา(คนไทย) อย่างสั้น ๆ  ดูอีกสักครั้ง
        
       เหตุการณ์สำคัญ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๗
                     ในเดือนพฤษภาคม  ตั้งแต่ต้นเดือนเป็นต้นมาได้มี “เหตุการณ์”สำคัญ ( ที่ผู้สนใจการเมืองสมควรบันทึกเอาไว้ เพื่อดูความเปลี่ยนแปลงของกระแสการเมือง)อยู่ ๓ เหตุการณ์   ซึ่งท่านผู้อ่านบางท่าน อาจคิดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นวิวัฒนาการไปสู่การแก้ “ปัญหาวิกฤตชาติ” ก็ได้  หรือ บางท่าน(รวมทั้งผู้เขียน) อาจคิดว่า เป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ กัน และเป็นการวนเวียนอยู่ใน”ความคิด”เดิม ๆและ “ปัญหา”เดิม ๆโดยไม่มีวิวัฒนาการ  ก็ได้เหตุการณ์เหล่านี้ก็คือ
        
                (๑)คำวินิจฉัยของศาลรัฐูธรรมนูญ (กรณีการโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนสี  เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ - สมช.)
              ในวันที่  ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๗ศาลรัฐูธรรมนูญ ได้มีคำ(วินิจฉัย กรณีที่ประธานวุฒิสภาส่งความเห็นของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว. สรรหา กับคณะ ขอให้วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๘๒ วรรคหนึ่ง (๗) ประกอบกับมาตรา ๒๖๘ กรณีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนสี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) โดยมิชอบด้วยกฎหมาย
               ศาลรัฐธรรมนูญ(โดยมติเอกฉันท์  ๙ ต่อ ๐) วินิจฉัยว่า นายกรัฐมนตรีได้ใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นนายกรัฐมนตรี  เข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงในเรื่องการบรรจุแต่งตั้งโยกย้าย ฯ ตำแหน่งของข้าราชการ ฯ   เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่น   เป็นการกระทำอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๖๘ ประกอบกับมาตรา ๒๖๖ วรรคหนึ่ง (๒)(๓) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี  ต้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัว  ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๘๒ วรรคหนึ่ง (๗)  และไม่อาจจะอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๑๘๑ ได้อีกต่อไป รวมทั้งวินิจฉัยให้คณะรัฐมนตรีที่ร่วมประชุมและลงมติกรณีการโยกย้ายข้าราชการฯ ดังกล่าวในวันที่ ๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔ ต้องสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัวตามมาตรา ๑๘๒ วรรคหนึ่ง (๗) ด้วย [ หมายเหตุ  รัฐมนตรีที่อยู่ในคณะรัฐมนตรีในขณะนั้นที่ดำรงตำแหน่งอยู่จนถึงปัจจุบันและความเป็นรัฐมนตรีต้องสิ้นสุดลงตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ  มีจำนวน ๙ คนและยังมีรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีปัจจุบัน ที่ยังอยู่ในตำแหน่งเหลืออยู่อีก ๒๕ คน]
        
                 (๒) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ  - ป.ป.ช. (ชี้มูลความผิดกรณีนายกรัฐมนตรี  น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทุจริตในโครงการรับจำจำข้าว)
       ในวันที่ ๘ พฤษภาคม๒๕๕๗คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ  (ป.ป.ช.)มีคำแถลง ว่า “ป.ป.ช.” ได้มีมติ ๗ ต่อ ๐ ชี้มูลความผิดให้ส่งสำนวนการถอดถอน  “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี” ไปยังวุฒิสภากรณี “ประธานวุฒิสภา” ส่งคำร้องขอให้วุติสภา ถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากมีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ  มาตรา ๑๗๘หรือข้อกฎหมาย ปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำจำข้าวและระบายข้าว  และมีเหตุอันควรสงสัยว่านายกรัฐมนตรีเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้น ตามอำนาจหน้าที่อันเป็นเหตุแห่งการถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗๐ [ หมายเหตุป.ป.ช. ให้ส่งสำนวนการถอดถอน  “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี” ไปยังวุฒิสภา แม้ว่านางสาวยิ่งลักษณ์  จะได้ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นสภาพการเป็นนายกรัฐมนตรีไปแล้ว เนื่องจากยังมี “โทษเพิกถอนการดำรงตำแหน่งทางการเมือง ๕ ปี”  ที่วุฒิสภาที่จะดำเนินการต่อไปอยู่ด้วย]
       ส่วนคดีอาญา  ที่ประชุม ป.ป.ช. มีมติให้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมต่อไปจนกว่าจะสิ้นกระแสความ  โดยไม่ตัดพยานที่นายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกกล่าวหา) ได้อ้างมาในคำร้องขอนำสืบ  และจะนำไปพิจารณาใน “สำนวนคดีอาญา” ต่อไป
        
               (๓) วุฒิสภา มีมติเลือก “ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภา”
       ในวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๕๗ได้มีการประชุมวุฒิสภา (ในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ) ตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีกาเรียกสมัยประชุมวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๗ เพื่อให้มีการประชุมวุฒิสภาตามมาตรา ๑๓๒ (๒) ( เพื่อพิจารณาผู้ดำรงตำแหน่ง “กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ”ในคณะกรรมการศาลปกครอง  และ “กรรมการ” ในคณะ“กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ )
       ในการประชุมวุฒิสภา วุฒิสภาได้มี “มติ”(ด้วยคะแนนเสียง  ๙๖ ต่อ ๑๗  คะแนน)  ให้มีวาระการเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภาเป็นการเพิ่มเติมจากวาระที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาฯ
       วุฒิสภา  ได้มีมติเลือกให้ นายสุรชัย  เลี้ยงบุญเลิศชัย (รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง) เป็น “ประธานวุฒิสภา” ด้วยคะแนนเสียง๙๖ คะแนน  (โดย พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ - ส.ว.สรรหา  ได้ ๕๑ คะแนน) ; และมีมติเลือกให้ นายพีระศักดิ์ พอจิต ส.ว.อุตรดิตถ์  เป็น “รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง” ด้วยคะแนนเสียง  ๘๖ คะแนน (โดย นายจองชัย เที่ยงธรรม ส.ว.สุพรรณบุรี  ได้ ๕๑ คะแนน)  [หมายเหตุ  ซึ่งเลขาธิการวุฒิสภา  จะได้ส่งชื่อ ผู้ทีได้รับเลือกฯ  ไปให้นายกรัฐมนตรี เพื่อนำความกราบบังคมทูลฯต่อไป]
        
        
       “ความเข้าใจ - การปฏิรูป(ประเทศ)” ภายหลังเหตุการณ์สำคัญ
       “เหตุการณ์สำคัญ  ๓ เหตุการณ์” ในต้นเดือนพฤษภาคม ดังกล่าวข้างต้น  ได้ทำให้ “ประเด็น” การขัดแย้งระหว่าง“กระแสการเรียกร้องการปฎิรูป(ประเทศ)”  และ “กระแสการโต้แย้ง” มีความชัดเจนยิ่งขึ้น  และทำให้ผู้เขียนมี “โอกาส”มองเห็นสภาพความจริงของ “มาตรฐานความรู้ทางกฏหมายมหาชน” ของสังคมของเรา ได้มากที่สุดอย่างที่ไม่เคยมีโอกาสมาก่อน
       แต่ก่อนที่ผู้เขียนจะให้ความเห็นของผู้เขียน  ขอให้ท่านผู้อ่าน  โปรดดู “ข้อเท็จจริง” ดังต่อไปนี้
        
        (๑)“มวลมหาประชาชน และ กปปส.” 
       หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีคำวินิจฉัย ในวันที่ ๗ พฤษภาคม  มวลชน ของ”มวลมหาประชาชน” และ  “กปปส.” ได้เข้าปิดล้อมสถานีโทรทัศน์ หลายแห่ง และ ในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๗ กปปส.ได้ออกแถลงการณ์ผ่านสถานีโทรทัศน์  เรียกร้องไปยัง (ว่าที่)ประธานวุฒิสภา / ประธานศาลฎีกา /  ประธานศาลปกครองสูงสุด / ประธานศาลรัฐธรรมนูญ / และประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง  ให้ร่วมกันคัดเลือกและทูลเกล้าฯ แต่งตั้ง “นายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๗ แห่งรัฐธรรมนูญ”
              และหลังจากนั้น  “กปปส.” ก็ได้แถลงอีกหลายครั้ง และในหลายที่ รวมทั้งที่ “ตึกสันติไมตรี” ( ทำเนียบรัฐบาล) ยืนยันว่า ประเทศไทยในขณะนี้ไม่มีนายกรัฐมนตรี จึงจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องหานายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่มีอำนาจเต็มมาทำหน้าที่บริหาร และขณะนี้มี “วุฒิสภา” เพียงองค์กรเดียวที่เป็นองค์กรที่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นอำนาจโดยชอบธรรมที่วุฒิสภาจะเร่งหารัฐบาลใหม่มาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ฯลฯ
        
       (๒) พระพุทธอิสระ(หลวงปู่)  ได้กล่าว ณ เวที กปปส. ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ ในเวลาใกล้เคียงกัน  ว่า ถ้า กปปส. ยังไม่สามารถทำให้เรื่องจบลงได้ ก็คงต้อง “ถวายคืนพระราชอำนาจ”
        
       (๓) (ว่าที่)ประธานวุฒิสภา (นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย) และสมาชิกวุฒิสภา
        หลังจากที่ได้มีการประชุมวิสามัญ ของวุฒิสภา เมื่อวันที่ ๙  พฤษภาคม ๒๕๕๗  และได้มีการเลือกผู้ที่จะดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภาแล้วปรากฎว่า   (ว่าที่)ประธานวุฒิสภา (นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย) และสมาชิกวุฒิสภาจำนวนหนึ่ง  ก็ได้มีการนัดพบกับบุคคลหลายกลุ่ม ตามวัน  เวลา และสถานที่ต่าง ๆ กัน ต่อเนื่องกันมาโดยลำดับ เพื่อหา “ทางออกให้แก่ประเทศไทย”
       ในบรรดาบุคคลและกลุ่มบุคคลที่ได้พบกับ (ว่าที่)ประธานวุฒิสภา (นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย) และสมาชิกวุฒิสภาก็มีเป็นต้นว่า  หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (นายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ  / หัวหน้าหน่วยราชการและตัวแทนเหล่าทัพ จำนวน ๑๗ หน่วยงาน จากจำนวน ๒๕ หน่วยงาน เช่น ปลัดกระทรางสาธารณสุข ปลัดกระทรวงการคลัง รอง ผบ.ทหารสูงสุด ฯลฯ / องค์กรภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน เช่น สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  สมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ฯลฯ / ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย จากสถาบันการศึกษาและมหาวิทยาลัยของรัฐ ๒๑ แห่ง (ในจำนวน ๒๗ แห่ง) เช่น อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล อธิการบดีสถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ อธิการบดีม.ธรรมศาสตร์ ฯลฯ 
                ตามข่าวที่ปรากฏในสื่อมวลชน  “ประเด็น” ที่หารือในการประชุมระหว่าง(ว่าที่)ประธานวุฒิสภาและสมาชิกวุฒิสภา  กับผู้ที่เกี่ยวข้อง  ก็คือ “ความเป็นไปได้”ในการเสนอให้มีการแต่งตั้ง “นายกรัฐมนตรีคนกลาง” ที่มีอำนาจเต็ม ในการบริหารประเทศ
        
       ในวันศุกร์ ที่ ๑๖ พฤษภาคม  ได้มีการประชุมวุฒิสภาสภานอกรอบ) เพื่อสรุปผล “แนวทางแก้ไขปัญหาทางออกประเทศ” หลังจากที่ได้มีการพบปะหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องมาแล้ว ; ในการประชุม  มี ส.ว.เข้าร่วมประชุม ๖๕ คน 
       หลังการประชุม  (ว่าที่)ประธานวุฒิสภาแถลงผลการประชุมว่า  ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่าส.ว.ต้องมีส่วนร่วมแก้ไขวิกฤติจากการประสานรับฟังความเห็นจากเวทีสาธารณะทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และส.ว.ขอเรียกร้องไปยังรัฐบาล ๓ ข้อโดยสรุปได้ดังนี้ (๑) เพื่อให้การแก้ไขปัญหาบรรลุเจตนารมณ์ในการคืนความสงบสุขฯ  ต้องเริ่มดำเนินการให้มี “การปฏิรูปประเทศ”ในทุกด้านให้เสร็จโดยเร็วโดยจะต้องมี “นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่มีอำนาจเต็ม”เพื่อดำเนินการ ; (๒) ขอเรียกร้องให้รัฐมนตรี ที่รักษาการอยู่ขณะนี้และพรรคการเมือง  ให้ความร่วมมือกับวุฒิสภาในการหาทางออกให้ประเทศ เพื่อแก้ปัญหาอย่างมีรูปธรรม ; (๓) วุฒิสภาพร้อมทุ่มเทการทำงานอย่างต่อเนื่องโดยจะนำความเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนมาพิจารณาในการประชุมเป็นกรณีพิเศษเพื่อให้ได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีภายไต้กรอบของของรัฐธรรมนูญและประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทางเป็นประมุขของไทยและในระดับสากลโดยเร็ว
        
       จากข้อเท็จจริงดังกล่าว  จะเห็นได้ว่า  “ชนชั้นนำ”ของคนไทย(เกือบ)ทั้งหมดที่ต้องการ“ปฏิรูป(ประเทศ)” มีความ เห็นไปในแนวทางเดียวกัน  คือ ต้องการ “นายกรัฐมนตรีคนกลาง”  (และคณะรัฐมนตรี) ที่มีอำนาจเต็ม เพื่อมาแก้ปัญหา “วิกฤตชาติ”  และ “ปฏิรูป (ประเทศ)”
       ปัญหามีว่าจริง ๆ แล้ว   การมี“นายกรัฐมนตรีคนกลาง”ฯ ที่มีอำนาจเต็ม จะสามารถ แก้ปัญหา “วิกฤตชาติ”  และ “ปฏิรูป (ประเทศ)”ๆ ได้หรือไม่  (?)
        
       ▪▪ข้อคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน  (ปัญหาว่า การมี “นายกรัฐมนตรีคนกลาง”ฯตามมาตรา ๗ หรือมาตราใด ๆ  ของรัฐธรรมนูญจะปฏิรูป (ประเทศ) ได้หรือไม่)
        
       ตามที่ผู้เขียนได้กล่าวมาในตอนต้นของหัวข้อที่ ๒ นี้แล้วว่า  การที่ “มวลมหาประชาชน และ “กปปส.”  มองไม่เห็น “สาเหตุ” ของวิกฤตชาติ ( ซึ่งได้แก่  ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมืองนายทุนฯ อันเนื่องมาจากบทมาตรา ๓ มาตราของรัฐธรรมนูญของเรา)ได้ทำให้มวลมหาประชาชน”และ “กปปส.เสนอ “วิธีการในการปฏิรูป(ประเทศ)” ให้แก่คนไทย  ผิดพลาด ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องให้มี “สภาประชาชน” ที่มาจากผู้แทนนานาอาชีพ โดยไม่มีการเลือกตั้ง  / หรือ การให้มีนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา ๗ ของรัฐธรรมนูญ / หรือการจะใช้ “อำนาจอธิปไตย” หรือ “อำนาจรัฏฐาธิปัตย์” ของมวลมหาประชาชน
       และเพราะ “ความผิดพลาด” นี้เอง  ที่ทำให้ “นายทุนพรรคการเมือง”  และ  “พรรคการเมืองที่ผูกขาดอำนาจรัฐอยู่ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน”ฉวยโอกาสนำเอา “จุดอ่อน” และ “ข้อบกพร่อง”ใน“วิธีการ การปฏิรูป(ประเทศ” ตามข้อเสนอของ “กปปส.” มาโต้แย้งและโจมตี “กปปส.”เอง
        
        
                  ผู้เขียนคิดว่า “มวลมหาประชาชน” และ “กปปส.”อาจหลง “ประเด็น”ไปตาม “การชักนำ” ของพรรคการเมืองของนักการเมืองนายทุน ที่กำลังยึดครองอำนาจรัฐ
       “คำถาม” ที่มวลมหาประชาชน และ กปปส. จะต้องถามและตอบให้กับตัวเอง  ก็คือ การที่ “กปปส.” ตั้งข้อเรียกร้องให้มี “นายกรัฐมนตรีคนกลาง”ฯตามมาตรา ๗ หรือตามมาตราใด ๆ  ของรัฐธรรมนูญ นั้น  “กปปส.” ได้คิดให้รอบคอบ หรือยังว่านายกรัฐมนตรีคนกลางที่เรียกร้เองให้มีกรแต่งคั้งนั้น   มีอำนาจ แก้ไขรัฐธรรมนูญยกเลิก บทมาตราทั้ง ๓ ( เพื่อไม่ให้ “ระบอบทักษิณ” กลับเข้ามาอีก)ได้หรือไม่(?)
       ผู้เขียนไม่สามารถเข้าใจได้ ว่า  เพราะเหตุใด  “กปปส.”จึงได้กำหนด  “ข้อเรียกร้อง”  ให้มีนายกรัฐมนตรีคนกลางตามมาตรา ๗  ขึ้นมา  ทั้ง ๆ ที่เห็นได้ชัดว่า “นายกรัฐมนตรีคนกลาง”นั้นไม่มีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิกบทมาตราทั้ง ๓ ( เพื่อป้องกันมิให้  “ระบอบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุน” หรือ “ระบอบทักษิณ” กลับเข้ามาอีก)ได้
       ยิ่งกว่านั้น  ในเดือนพฤษภาคมนี้  กปปส. ยังได้ไปตั้งข้อเรียกร้อง ให้วุฒิสภาและประธานศาลอีก ๓ ศาลร่วมกันคัดเลือกและทูลเกล้าฯ แต่งตัง  “นายกรัฐมนตรี” ตามมาตรา ๗    ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า   “กปปส” ได้ทำให้  “สมาชิกวุฒิสภา” และ “ประชาชนทั้งประเทศ”  หลง “ประเด็น”ตาม กปปส. ไปด้วย  และคิดว่า “การมีนายกรัฐมนตรีคนกลาง  จะนำไปสู้ “การปฏิรูปประเทศ”ได้ซึ่งตามความเห็นของผู้เขียน  ไม่สามารถเป็นจริงได้
       ผู้เขียนเห็นว่า  ถ้า “กปปส.”  ไม่ทบทวนข้อเรียกร้องของ กปปส. แล้ว  การหลงประเด็นของ กปปส. นี่ อาจนำไปสู่ความล้มเหลวของการแก้ “ปัญหาวิกฤตชาติ”  และ “การปฏิรูป(ประเทศ)” ได้  และเป็นการทำลายพลังของ “มวลมหาประชาชน” นับเป็นล้าน ๆ คนของ “กปปส.”เอง
        
             ◊ ผู้เขียนคิดว่า  สิ่งที่ “กปปส.”  ควรจะต้องทำและต้องทำโดยเร็ว   ก็คือ  การทำให้คนไทยทั่วไป   ได้รู้ถึง “สาเหตุ” ของปัญหาวิกฤตชาติว่าเกิดจากอะไร  และทำให้คนไทยรู้ว่า  “การแก้ปัญหาวิกฤตชาต” ต้องแก้ที่ ”สาเหตุ” ของปัญหาและ นั่นก็คือ การแก้รัฐธรรมนูญ โดยการยกเลิกบทมาตรา ทั้ง ๓ มาตราของรัฐธรรมนูญ ก่อนการเลือกตั้งทั่วไป
       ไม่ใช่การตั้ง “ข้อเรียกร้อง”  เพื่อขอให้มีนายกรัฐมนตรีคนกลาง ที่มีอำนาจเต็มแต่ไม่มีอำนาจในการ “แก้รัฐธรรมนูญ” ที่เป็น “สาเหตุ” ของปัญหาวิกฤตชาตและ”หลงประเด็น”มาถกเถียงตีความใน  “ปัญหากฎหมายรัฐธรรมนูญ”   ว่า จะตั้งนายกรัฐมนตรีคนกลางกันได้หรือไม่  และจะตั้งกัน ตามมาตรา ๗  หรือ มาตรา ๑๓๒ (๒) หรือ มาตราใด  (?)]
         ผู้เขียนคิดว่า  เมื่อเรา(คนไทย) ได้รู้ถึงความเลวร้าย - viceของ “ระบอบทักษิณ” แล้ว (ซึ่งขณะนี้ คนไทยทุกคนรู้อยู่แล้ว เพราะได้ฟังความจริง จากมวลมหาประชาชน ทาง blue sky TV มานานกว่า๖ เดือน)  และไม่ต้องการ “ระบอบทักษิณ”   เรา(คนไทย) ย่อมรู้ได้เองว่า   การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จะยกเลิก บทมาตราทั้ง ๓ มาตรา  (เพื่อไม่ให้ “ระบอบทักษิณ” กลับเข้ามาอีก)จะกระทำได้อย่างไร  ด้วยวิธีการใด
        และถ้านักการเมืองนายทุนที่ผูกขาดอำนาจรัฐอยู่  ไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญให้เราแล้ว ; เรา(คนไทย)ย่อมจะ “เข้าใจ” ได้เองว่า   ถ้าจำเป็นจะต้องทำ “การปฏิวัติ” หรือ “รัฐประหาร“ เพื่อทำให้ระบอบการปกครองของเรา เป็นประชาธิปไตย   เรา(คนไทย)จะทำหรือไม่
       ผู้เขียนไม่เชื่อว่า  จะมี “ประเทศมหาอำนาจ” ประเทศใดที่จะเข้ามาแทรกแซงการบริหารของประเทศไทยในกรณีทีมีการปฏิวัติหรือรัฐประหาร  ตามที่ได้มีการพูดให้กลัวกันอยู่ทุกวันนี้;  ถ้า “การปฏิวัติหรือรัฐประหาร” ของเรานั้น ประกาศอย่างเปิดเผยว่า เราจำเป็นต้องทำการปฏิวัติ  เพราะ“การเลือกตั้ง” ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของเรา ไม่ใช่ democratic process และการปกครองของเรา ไม่ใช่ “ระบอบประชาธิปไตย”   เราจำต้องปฏิวัติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญของเราให้มีการเลือกตั้งตามหลักการของ “ระบอบประชาธิปไตย” และ เมื่อเราแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ยกเลิกบทมาตรา ๓ มาตรา ประเทศเดียวในโลก) แล้ว  เราก็จะจัดไห้มี “การเลือกตั้งทั่วไป”  โดยเร็ว
       หรือถ้าเรา (คนไทย) โชคร้าย  คือ  เราบังเอิญมีแต่ “ผู้ที่ชอบแต่งเครื่องแบบเพื่อความสวยงาม” และขอรับเงินเดือนไปวัน ๆ   แต่ไม่มี “ผู้ใด” ที่จะเข้ามาแก้ปัญหาวิกฤตชาติให้เรา(คนไทย)  ผู้เขียนก็คิดว่า   เรา(คนไทย)ก็ยังมี “ที่พึ่งสุดท้าย”  คือ ถ้าจำเป็น  เรา(คนไทย) ก็ต้อง “long march” คือเดินจาก “กรุงเทพ  ไป ถึงหัวหิน”  ไปหา “ที่พึ่งสุดท้าย”  คือพ่อของเรา ที่เป็น “ประมุขของรัฐ” และทรงเป็น “จอมทัพไทย”
       แต่ไม่ใช่เพื่อไปขอ “พระราชทานนายกรัฐมนตรี” (เพราะนายกรัฐมนตรี ไม่มีอำนาจที่จะแก้รัฐธรรมนูญ ยกเลิกบทมาตรา  ๓ มาตราที่สร่าง ระบอบเผด็จการ โดยพรรคการเมืองนายทุน)  และ ไม่ใช่ไป “ถวายคืนพระราชอำนาจ”(โดยไม่ทราบว่า  ถวายคืน เพื่อขอพระราชทานอะไรจากพระองค์ท่านเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตชาติ)  แต่เรา (คนไทย) จะไปขอ “รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป(ประเทศ)”เพื่อทำให้การปกครองของประเทศไทย  เป็น “ระบอบประชาธิปไตย”
        
       ◊  ข้อที่ “มวลมหาประชาชน”  และ “กปปส.” จะต้องพีงระวัง  ก็คือ  “การเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่”  โดยยังไม่ได้แก้รัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐ (ยกเลิกบทมาตรา ๓ มาตรา ที่ “ระบอบทักษิณ” ใช้เป็นเครื่องมือให้พรรคการเมืองของตนเข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐ)
       ผู้เขียนไม่เข้าใจว่า  เพราะเหตุใด   “กปปส.”จึงมองไม่ออกว่า  ทำไม  “พรรคการเมืองที่ผูกขาดอำนาจรัฐอยู่ในปัจจุบัน” จึงต้องการให้มี “การเลือกตั้งทั่วไป”โดยเร็ว ; ซึงปัญหานี้ ตอบได้ง่าย ๆ ว่า เขาต้องการการเลือกตั้งทั่วไป ก็เพราะการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน  ยังคงมีบทมาตรา ๓ มาตรานั้นอยู่  วึ่งจะทำให้พรรคการเมืองของเขาสามารถกลับเข้ามา “ผูกขาดอำนาจรัฐได้อีก  ด้วยการ “ซื้อเสียง” ในการเลือกตั้ง และ “ซื่อ” ส.ส. (ด้วยการแจกซองเป็นประจำเดือน ซึ่งเป็นความจริงที่ทราบกันอยู่ทั่วไป แม้ไม่มีหลักฐาน ) เพื่อให้ ส.ส. ออกเสียงตามมติสั่งการของพรรคการเมือง เพื่อแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเองและพรรคพวกได้
       การที่พรรคการเมืองนายทุนที่ผูกขาดอำนาจรัฐ  ต้องการการเลือกตั้งทั่วไปตามรัฐธรรมนูญ (โดยไม่มีการยกเลิกบทมาตราท้ง ๓ มาตรา) โดยเร็ว เป็นสิ่งที่ปรากฎชัดเจนตัวอย่างเช่น ในวันที่กกต.เรียกพรรคการเมืองให้มาพบ เพือปรึกษาหารือสำหรัยการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ในวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๕๗)  ก็ปรากฎเป็นข่าวว่า ได้มีจ่ายเงิน(“แจกถุงขนม “) ให้มีการรวบรวมพรรคการเมืองเล็กๆ เข้าด้วยเป็น “สหพรรค” เพื่อเรียกร้องให้ กกต. จัดมีการเลือกตั้งทั่วไปโดยเร็ว  หรือตัวอย่างเช่นในวันเสาร์ ที่๑๐ พฤษภาคม ที่ผ่านมานี้นักวิชาการ กลุ่ม  “สมัชชาป้องกันประชาธิไตย- สปป.” และ “กลุ่มนิติราษฎร์” ได้จัดให้มีการอภิปราย ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  รังสิต ในหัวข้อ “เลือกตั้ง คือ ทางออก - นายกเถื่อนคือทาวตัน”  โดยมีการถ่ายทอดทางทีวีของรัฐบาล ฯลฯ
        
        ”ระบอบทักษิณ” เป็นระบอบที่ฉลาด  และใช้วิธีการโฆษณาชวนเชื่อ ให้คนไทยทั้งประเทศ  เชื่อว่า “รัฐธรรมนูญ” และ “การเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ”  ของเรา เป็น “ระบอบประชาธิปไตย” ทั้ง ๆ ที่  ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลก  ที่ “ระบบเผด็จการ  โดยพรรคการเมืองนายทุน ในระบบรัฐสภา”  เกิดขึ้น ด้วย บทบัญญัติของ “รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร”ฉบับแรกของโลก
        “ระบอบทักษิณ”  ได้จัดตั้ง นปช. -แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ขึ้นมาเพื่อป้องกันมิให้มีการ  ”การปฏิวัติ”  หรือ “รัฐประหาร” เพื่อมาล้มล้าง “ระบบเผด็จ โดยพรรคการเมืองนายทุน” ของตน;เพราะ “ระบอบทักษิณ” ทราบดีว่าหลังจากที่ “พรรคการเมือง” ของตน ได้ผูกขาดอำนาจรัฐ แล้ว ก็จะมีแต่ “การปฏิวัติ”  หรือ “รัฐประหาร” เท่านั้น ที่จะแก้รัฐธรรมนูญได้ ;เพราะ ส.ส. ในพรรคการเมืองที่รับ“ซองประจำเดือน” จากนายทุนพรรคการเมือง ก๋คงเปรียบเสมือนกับที่มีบางคนพูดว่า  เป็น”ลูกจ้างของบริษัท”และลูกจ้างของบริษัท ไม่มีสิทธิปลดนายจ้าง)
        [หมายเหตุ   นปช. - แนวร่ามประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ  (หรือ “เสื้อแดง”) นี้  เข้าใจว่า  ได่จัดตั้งขึ้นโดยเลียนแนวความคิด มาจากการจัดตั้ง“กองกำลัง ของ  พรรคนาซี -Nazi party “ ของฮิตเล่อร์ ในในสมัยก่อนการเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ( ระหว่างปี  ค.ศ.๑๙๓๓ ถึง  ๑๙๔๕)   ที่เรียกกันว่า “brown  shirt” หรือ เสื้อสีน้ำตาล  นั่นเอง ข้อเท็จจริงเหล่านี้  แสดงว่า “ระบอบทักษิณ” ได้มีการเตรียมการ และมีการวางแผนใน “การเข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐ”  เป็นอย่างดีมาตั้งแต่ต้น   และในขณะนี้   ก็ปรากฎเป็นข่าวในหน้าสื่อมวลชนว่า  ได้มีการเสริมกำลังของ นปช.  ในลักษณะที่เป็น “ทหารรับจ้าง”  คือ เป็นกองกำลังที่มีการจ่ายเงินเดือนประจำ (?)  ]
        
       เป็นที่สังเกตว่า “กลุ่มบุคคล”หลายกลุ่ม  ที่รู้กันอยู่ว่าถูกจัดตั้งขึ้นโดยหรือมีความสัมพันธ์กับ “พรรคการเมืองที่เป็นเผด็จการและผูกขาดอำนาจรัฐอยูใปัจจุบัน  จะใช้ “ชื่อ” ที่มีคำว่า “ ประชาธิปไตย” ประกอบอยู่ด้วยเสมอ  เช่น แนวร่ามประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติหรือ  แม้แต่ “สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย” 
       ปัญหามีว่า “กลุ่มบุคคล” เหล่านี้  ปกป้อง ”ประชาธิปไตย” จริงหรือไม่
               ถ้าเราจะติดตามและสังเกตพฤติกรรมจากการดำเนิน “กิจกรรม” ของกลุ่มบุคคล เหล่านี้  ก็จะพบว่า   “กิจกรรม” ของกลุ่มบุคคลเหล่านี้ ล้วนแต่มีความมุ่งหมายที่ทำให้คนทั่วไปเห็นว่า “การปฏิวัติ” หรือ “รํฐประหาร” เป็นเผด็จการ และ ไม่เป็น “ประชาธิปไตย”และชักชวนให้มีการต่อต้าน“การปฏิวัติ” หรือ “รํฐประหาร”แต่  “กลุ่มบุคคล” เหล่านี้ จะไม่กล่าวถึงหรือทำให้คนทั่วไปได้รู้ถึง   “ระบบเผด็จการ  โดยพรรคการเมืองนายทุน ในระบบรัฐสภา” ตามที่บัญญัติอยูในรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญ ฉบับเดียวในโลก  แม้แต่ครั้งเดียว
       จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่า  “กลุ่มบุคคล”เหล่านี้ ได้ถูกจัดตั้งขึ้ยมา มิใช่เพื่อปกป้อง “ประชาธิปไตย”แต่ได้ถูกจัดตั้งขึ้นมา เพื่อพิทักษ์ “ ระบบเผด็จการ  โดยพรรคการเมืองนายทุน” ให้พ้นจากการถูกล้มล้างโดย “การรัฐประหาร” หรือ “การปฏิวัต” นั่นเอง;การตั้ง “ชื่อ” กลุ่มบุคคลเหล่านี ให้มีคำว่า “ประชาธิปไตย” อยู่ด้วย  ก็เพื่อทำให้เกิดความสับสน ตามหลักการของการโฆษณาชวนเชื่อ นั่นเอง
        
       สรุป ก็คือ ผู้เขียนเห็นว่า เมื่อใดก็ตาม  ที่เรามี “การเลือกตั้งทั่วไป”ครั้งใหม่  โดยยังไม่มีการยกเลิกบทมาตรา ๓ มาตราดังกล่าวออกไปจากรัฐธรรมนูญฯ ผู้เขียก็คิดว่า  เรากำลังเริ่มต้น “ความผิดพลาดครั้งใหม่”ใน “ปัญหาเก่า”เป็นครั้ง ที่ ๒ความผิดพลาดครั้งแรกของเรา คือ ความผิดพลาด ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ หลังการปฏิวัติในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ที่เราได้มี “การเลือกตั้งทั่วไป”  ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. ๒๕๕๐ (ที่นำมาใช้แทน รัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. ๒๕๔๐)โดยที่รัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. ๒๕๕๐  ไม่ได้ยกเลิก บทมาตรา ๓ มาตราดังกล่าว ในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ;  ซึ่งในที่สุด  “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมืองนายทุน”  ก็กลับเข้ามาอีก
        
                                    ========================================
        
       “วิธีการ ปฏิรูป(ประเทศ)” ให้สำเร็จ (ตามความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน)
       ผู้เขียนได้กล่าวไว้ในตอนต้นของหัวข้อนี้แล้วว่า ผู้เขียนไม่อยากเห็น “การปฏิรูป(ประเทศ)” ของเราในครั้งนี้ ไม่สำเร็จ;เนื่องจาก ประเทศไทยอาจมี “โอกาส”เช่นนี้ ไม่มากนัก   หรือบางที  เรา(คนไทย) อาจจะไม่มีโอกาสเช่นนี้อีกเลยในอนาคต ก็ได้
        
       ผู้เขียนทราบดี“การปฏิรูป(ประเทศ) ของ ประเทศไทย”  มีความหมายมากกว่า การ rationalization “ระบบรัฐสภา” ให้มีประสิทธิภาพ ตามที่ประเทศที่พัฒนาแล้วในยุโรปเคยทำมาเมื่อหลังสงตรามโลกครั้งที่สอง (ค.ศ. ๑๙๔๕) คือ กว่ากึ่งศตวรรษมาแล้ว(เพราะเราทิ้งปัญหาหมักหมมกันมานาน)
       ผู้เขียนทราบดีว่า  สาระที่ผู้เขียนจะเขียนต่อไปในหัวข้อนี้จะมี “สาระ” ที่ยาว และยากที่จะเขียนให้ครบถ้วนในทุก ๆ ด้าน ; แต่ผู้เขียนจะพยายามอธิบายให้สั้นที่สุดและให้ดีที่สุด แม้ว่าผู้เขียนเองจะไม่แน่ใจว่า ความพยายามของผู้เขียน ที่จะให้ท่านผู้อ่าน(พอ)เข้าใจว่า“การปฏิรูปประเทศ”  คือ อะไร  และเราต้องทำอย่างไร  “เราจึงจะปฏิรูปประเทศได้สำเร็จ”จะประสบความสำเร็จ หรือไม่  
       แต่อย่างไรก็ตาม  เอาเป็นว่า  ผู้เขียนขอเรียนว่าท่านผู้อ่านอย่าเพิ่งไปกังวลและคิดถึง “ปัญหาเรื่องการปฏิรูป (ประเทศ)”ตามที่ผู้เขียนจะกล่าวต่อไปในหัวข้อที่ ๒ นี้ให้มากนัก; ถ้าท่านผู้อ่านมีเวลาว่างพอที่จะอ่าน ก็อ่าน แต่ถ้าท่านผู้อ่านไม่มีเวลาอ่าน  ก็ไม่ต้องอ่าน และท่านผู้อ่านอ่านแล้วจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจ ก็ไม่สำคัญ  
       ต่อเมื่อเรา(คนไทย)มี “อำนาจ(รัฏฐาธิปัตย์)”มาแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (ยกเลิก บทมาตรา ๓ มาตราดังกล่าว)  และล้มล้าง “ระบอบทักษิณ” ออกไปจากรัฐธรรมนูญของเรา ให้ได้ก่อนหลังจากนั้นเราจึงค่อยมาคิดถึง “ปัญหาเรื่องการปฏิรูป (ประเทศ) ”  และมาทำความเข้าใจกันอีกที(ก็ได้นะครับ)
       ในหัวข้อที่ ๒ นี้ ต่อไปนี้  ผู้เขียนจะพูดถึงเรื่องการปฏิรูป(ประเทศ)ว่า   เราจะทำให้การปกครองใน “ระบอบประชาธิปไตย” ที่ใช้ระบบรัฐสภา -parliamentary  systemของเรา นี้มีประสิทธิภาพ ขึ้นมาได้อย่างไร   และเราจะมี “มาตรการ” อะไร  ที่จะมากำกับ “นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง” และเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ใช้ “อำนาจรัฐ”ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย คือ เพื่อ “ประโยชน์ส่วนรวม”  และแน่นอน  เราคงไม่ต้องหวังว่า  เมื่อมีการปฏิรูปประเทศแล้ว   เราจะไม่มีการทุจริตคอร์รัปชั่นกันเสียเลย  แต่ขอเพียงให้เรามีการทุจริตคอร์รัปชั่นให้เหลือน้อยที่สุดก็แล้วกัน
        
       หัวข้อที่ ๒ นี้  ผู้เขียนขอแยกกล่าวออกเป็น ๕ ตอน ตามลำดับ  ดังต่อไปนี้
       =การปฏิรูปประเทศ คือ อะไร
       =ทำไม “ กฎหมายมหาชน (รัฐธรรมนูญ และกฎหมายพื้นฐานในการบริหารประเทศ)”ของประเทศไทยจึงล้าหลัง(ถึงเพียงนี้)
       = “รัฐธรรมนูญ ฉบับปฏิรูป(ประเทศ)”  คือ อะไร
       =ความจำเป็นที่จะต้องยกระดับ “มาตรฐานความรู้กฎหมายมหาชนของประเทศไทย”ก่อนทำการปฏิรูป(ประเทศ)และ “วิธีการ”ยกระดับมาตรฐานความรู้ฯ ภายในเวลาอันจำกัด
       = “รัฐธรรมนูณฉบับอนาคต”(และ “กฎหมายพื้นฐานในการบริหารประเทศ”)หลังการปฏิรูปแล้ว จะมีรูปร่างหน้าตา  อย่างไร
        
         ผู้เขียนคิดว่าในการทำการปฏิรูปประเทศนั้น ใครก็ตามหรือองค์กรใดก็ตาม  ที่ “คิด” จะทำการปฏิรูป(ประเทศ) ใครคนนั้นหรือองค์กรนั้น จะต้องทำความเข้าใจ ในประเด็นสำคัญเบื้องต้น ๒ ประการก่อน คือ ประการแรก  ต้องรู้ว่า  “การปฏิรูปประเทศ” คือ อะไร และ ต่อจากนั้นต้องรู้ว่า   เพราะเหตุใด  “ กฎหมายมหาชน (รัฐธรรมนูญ และกฎหมายพื้นฐานในการบริหารประเทศ)” ของประเทศไทยจึงล้าหลัง(อย่างมาก)  อยู่ในขณะนี้
       และหลังจากนั้นเราจึงค่อยกำหนด “วิธีการ”ในการปฏิรูป(ประเทศ); โดยจะต้องเป็น “วิธีการ” ที่คาดหมายได้ว่า  เมื่อดำเนินการแล้ว “การปฏิรูป(ประเทศ)” จะต้องสำเร็จคือไม่ใช่ขอเพียงแต่ ให้มี “การปฏิรูป(ประเทศ)” ตามวิธีการที่ตนเองเสนอแต่จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ  ก็ได้
       และในการกำหนด “วิธีการ” ในการปฏิรูป(ประเทศ) ให้สำเร็จได้นั้นผู้ที่จะทำการปฏิรูป(ประเทศ)จะต้องรู้ว่า เราจะหาสิ่งใดมาทดแทน “statesman” (ที่มีความรอบรู้ และมา “ชี้นำ” การปฏิรูปฯ)ที่ประเทศไทยไม่มีได้อย่างไร (?)เพราะการที่จะอธิบายกลไกในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หลังการปฏิรูป(ประเทศ)เพื่อให้ประชายนเข้าใจ  ก่อนที่จะมีการ “ออกเสียงประชามติ”(เพื่อให้ความเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่)โดยที่ไม่มีstatesman ที่ประชาชนมีความศรัทธา มา “ชี้นำ” นั้นมิใช่เรื่องที่ง่าย
       และแน่นอน   ในการกำหนด “วิธีการ” ในการปฏิรูป(ประเทศ) ให้สำเร็จผู้ที่จะทำการปฏิรูป(ประเทศ)จะต้องแสวงหาวิธีการที่จะยกระดับ “มาตรฐานความรู้กฎหมายมหาชนของประเทศไทย”ที่ล้าหลังเพื่อทำให้ผู้ที่จะเข้ามารับผิดชอบในการยกร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่าง ๆมีระดับมาตรฐานสูงขึ้น  พอที่จะ “เขียน(ออกแบบ)” กฎหมายที่ดีได้ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอีกเช่นเดียวกัน (?)
       “รัฐธรรมนูญ ฉบับปฏิรูป (ประเทศ)” คือ อะไร การเขียน(ออกแบบ) “รัฐธรรมนูญ ฉบับปฏิรูป(ประเทศ) ” ทำอย่างไร 
       ในระหว่างที่ทำการปฏิรูปประเทศผู้ที่จะทำการปฏิรูป(ประเทศ)จะออกแบบ “การบริหารประเทศ ในระบบรัฐสภา” อย่างไร  จึงจะทำให้ “การบริหารประเทศ(ในระหว่างที่ทำการปฏิรูปประเทศ)”  มีประสิทธิภาพพอสมควรและในขณะเดียวกัน  ต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อ “กระบวนการแก้ไขกฎหมาย เพื่อการปฏิรูป(ประเทศ)” ที่จะต้องเป็นไปตาม “หลักวิชาการ” เพื่อประโยชน์ส่วนรวม  ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการในการเขียน(ออกแบบ) “รัฐธรรมนูญฉบับอนาคต”  หรือกระบวนการในการเขียน(ออกแบบ) “กฎหมายธรรมดา” ที่เป็นพื้นฐานของระบบการบริหารประเทศ
        “วิธีการ” ในการปฏิรูป(ประเทศ) ให้สำเร็จตามที่กล่าวมานี้คงไม่ยาก  ถ้าบังเอิญ “ประธานาธิดี De Gaulle”หรือ  “ประธานาธิบดี Woodrow Wilson”  มาเกิดในประเทศไทย
        
                 ท่านผู้อ่านรู้สึกแปลกใจบ้างหรือไม่ว่า  ตลอดระยะที่ผ่านมาเราไม่มี และไม่เคยมี “นักกฏหมาย” “นักวิชาการ”  และ “ชนชั้นนำ” ของไทย  ที่เสนอ “วิธีการ ในการปฏิรูป(ประเทศ) หรือการปฏิรูปการเมือง”  โดยได้แสดงตนเองว่าตนเองได้ศึกษา “วิธีการปฏิรูประบบรัฐสภา”  ของประเทศที่พัฒนาแล้วมาแล้วว่า  เขาทำกันอย่างไร  และ บอกกับเรา(คนไทย)ว่า  เราควรจะทำอย่างไร เพราะ เหตุใด
          เราอาจจะยังไม่มี อาจารย์กฎหมายในคณะนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยของรัฐของเรา  ที่เคยศึกษา“วิธีการ ปฏิรูประบบรัฐสภา”  ของประเทศที่พัฒนาแล้ว มาก่อนเลย ก็ได้
        และ โปรดสังเกตว่า  ในกรณีนี้  ผู้เขียนได้ยกประเด็นขึ้นพูดเฉพาะในเรื่อง “วิธีการในการปฏิรูประบบรัฐสภา”  เท่านั้น  ผู้เขียนยังมิได้พูดเลยไปถึงว่า  นอกเหนือไปจาก“วิธีการ”ในการปฏิรูปฯแล้วในการปฏิรูป “ระบบรัฐสภา” กันจริง ๆแล้ว  ประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาแก้ใข “สาระ” ของระบบรัฐสภากัน  อย่างไรบ้าง (how);  เพราะถ้าพูดไปถึง “สาระ”ของระบบรัฐสภา ที่ ประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาrationalizedกันไปนานแล้วกว่ากึ่ง ศตวรรษ เรื่องนี้ก็อาจจะเป็น”จุดบอด” ของวงการวิชาการไทยทั้งประเทศไทย  ที่ไม่มีผู้ใดรู้ ทั้งนี้ ก็เนื่องมาจากความล้าหลังใน “มาตรฐานการเรียนการสอนวิชากฎหมาย ในคณะนิติศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยของรัฐของเรา มานานกว่า ๘๐ ปี นั่นเอง
        
       ตามความเห็นของผู้เขียน  ผู้เขียนเห็นว่าใน  “การปฏิรูป(ประเทศ ให้สำเร็จ”  เราไม่สามารถทำได้  โดยอาศัย “common sense”ของ นักกฏหมาย นักวิชาการ และชนชั้นนำของไทยแต่ต้องทำด้วย “ความรู้”          
        
       *******************************************
        
        
        
       = การปฏิรูปประเทศ คือ อะไร
        
       คำว่า “การปฏิรูปประเทศ”  มีความหมายกว้างและมีสิ่งที่ต้อง “ทำ” เพื่อการปฏิรูป ฯ มากมาย ; “การปฏิรูปประเทศ” หมายถึงการปฏิรูป (การปรับเปลี่ยน)“โครงสร้าง และขอบเขตอำนาจหน้าที่ของสถาบันการเมือง  และขององค์กรหรือหน่วยงานของรัฐที่สำคัญ ๆ ในการบริหารประเทศ” โดยมีความมุ่งหมาย ที่จะทำให้การทำงานของสถาบันการเมืองและองค์กรฯ ที่สำคัญของรํฐมีประสิทธิภาพ และ ทำให้การใช้อำนาจของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งและเจ้าหน้าที่ของรัฐในสถาบัน องค์กร และหน่วยงานของรัฐ  เป็นไปตามเจตนารมณ์ ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย คือเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม และ ในขณะเดียวกัน  ต้องป้องกันการบิดเบือนอำนาจ -abuse of powerของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งและเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อประโยขน์ส่วนตัว
        “การปฏิรูปประเทศ” ไม่มีความหมายรวมถึง“นโยบายของรัฐบาล” ;นโยบายของรัฐบาล  แตกต่างกับ “นโยยายของรัฐ” เพราะนโยบายของรัฐบาลเป็นนโยบายของ “ฝ่ายบริหาร” ที่จะเข้ามาบริหารประเทศในแต่ละช่วงเวลา  และอยู่ภายในกรอบตามแนวทางของ “นโยบายของรัฐ” ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
       นโยบายเกี่ยวกับวิธีการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจหรือวิธีการในการแก้ปัญหาทางสังคมเช่นการแก้ปัญหาความยากจนเป็น“นโยบายของรัฐบาล”มิใช่ “การปฏิรูปประเทศ” ;เรามักจะพบอยู่บ่อย ๆ ว่า  ในหลาย ๆ ครั้งที่เราพูดถึง “การปฏิรูป(ประเทศ”  ก็จะมีบุคคลบางคนหรือหรือหลายคน  พูดถึงเรื่องการแก้ปํญหาทางเศรษฐกิจหรือการแก้ปัญหาความยากจนซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นปัญหา “นโยบายของรัฐบาล”  และไม่ใช่เรือง “การปฏิรูป(ประเทศ)”
       ผู้เขียนคิดว่าการพูดปะปนกันระหว่าง “นโยบายของรัฐบาล” กับ “การปฏิรูป(ประเทศ)”จะทำให้เกิดความสับสน  และทำให้เรา(คนไทย)มองไม่เห็นความสำคัญของ “การปฏิรูปประเทศ”  และในที่สุด  ก็จะนำไปสู่ความลัมเหลวของ “การปฏิรูปประเทศ” ได้; ดังนั้น  ถ้าหากผู้ใดประสงค์จะพูดถึงหรือประสงค์จะเปรับเปลี่ยน “นโยบายของรัฐบาล(ของฝ่ายบริหาร)”   ก็ควรจะต้องแยก “ประเด็น” ที่พูดออกไปให้ชัดเจน  เพราะเป็นคนละเรื่องกัน  และทั้งสองเรื่องนี้  มี“วิธีการแก้ปัญหา”ที่แตกต่างกัน
        
                การปฏิรูปประเทศ  ได้แก่  การปรับเปลี่ยน-rationalization “โครงสร้างการบริหารประเทศของสถาบันการเมืองตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ฯลฯซึ่งเป็นที่มาของ “รัฐบาลที่ดี”และเมื่อได้ “รัฐบาลที่ดี” มาปกครองบ้านเมืองแล้วเราจึงค่อยมาพูดถึง “นโยบายของรัฐบาล”ในเรื่องการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจหรือในเรื่องการแก้ปัญหาความยากจน
       การปฏิรูปประเทศ  สำคัญกว่า  “นโยบายของรัฐบาล”และเราต้องทำการ “ปฏิรูปประเทศ”ให้สำเร็จก่อน ที่จะพิจารณาแก้ปัญหา “นโยบายของรัฐบาล” เพื่อการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจหรือการพัฒนาสังคม
        
        “กฎหมาย” ที่จะต้องปฏิรูปมีระดับแตกต่างกัน
       เราทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่า“กฎหมาย” ที่เป็นกฎเกณฑ์การบริหารประเทศที่จะต้องปรับเปลี่ยนแก้ไขในการปฏิรูป นั้นมีอยู่  ๒ ระดับ  คือ  มีทั้งกฎเกณฑ์ที่บัญญัติใน  “รัฐธรรมนูญ”ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศว่าด้วยการจัดระบบสถาบันการเมืองและการจัดตั้งศาลและองค์กรอิสระต่าง ๆ ฯลฯ  และมีทั้งกฎเกณฑ์ที่เป็น “กฎหมายธรรมดา”ซึ่งเป็นกฎหมายพื้นฐานในระบบการบริหารประเทศ”
       กฎหมายพื้นฐานในระบบการบริหารประเทศ”ประกอบด้วยกฎหมายสำคัญ ๆมากมายหลายเรื่องหลายสาขาเช่นกฎหมายว่าด้วยกระบวนการยุติธรรม ( ได้แก่  ระบบการบริหารตำรวจ /  ระบบการสอบสวนของตำรวจ  กรมสอบสวนพิเศษหรือDSI และระบบอัยการ รวมทั้ง ระบบศาลต่าง ๆ และระบบการบริหารผู้พิพากษา)  กฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการประจำ /กฎหมายว่าด้วยการกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่น- หลายรูปแบบ  / กฎหมายการบริหารรัฐวิสาหกิจ /กฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง และกฎหมายที่สำคัญอื่น ๆ
        
        และเราทุกคนก็ทราบดีอยู่แล้วเช่นเดียวกันว่ากฎหมายทั้ง ๒ ระดับ คือ “รัฐธรรมนูญ”  และ “กฎหมายธรรมดา” (กฎหมายพื้นฐานของระบบบริหารประเทศ)นั้น  มี “กระบวนการตราและแก้ไข(กฎหมาย)” ที่ แตกต่างกัน
       กระบวนการแก้ไข “รัฐธรรมนูญ”  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือการแก้ไข
       รัฐธรรมนูญในประเด็นสำคัญนั้นจะมีหลักสากลของประเทศในระบอบประชาธิปไตย(ที่เราจำเป็นต้องปฏิบัติตามวิธีปฏิบัติที่นานาประเทศยอมรับ)  คือ ต้องนำร่างรัฐธรรมนูญที่จะตราขึ้นใช้บังคับนั้นมาให้ประชาชนทั้งประเทศให้ความเห็นชอบโดยตรง ด้วยการออกเสียงเป็นประชามติ -referendum[เนื่องจากแนวความคิดทางนิติปรัชญาในยุคปัจจุบัน มีความไม่แน่ใจ ว่า ในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยทางผู้แทน( ซึ่งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง) นั้น   สมาชิกสภา ฯ จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ  เพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม (คือ การจัดให้มีระบบถ่วงดุลและการตรวจสอบ “การใช้อำนาจรัฐ” ระหว่างกัน) หรือกระทำ เพื่อประโยชน์ใน “การรักษาอำนาจของคนเอง”ไว้]
       สำหรับกระบวนการแก้ไข “กฎหมายธรรมดา” (กฎหมายพื้นฐาน ของระบบบริหารประเทศ)นั้นแม้ว่ากฎหมายธรรมดาเหล่านี้จะมีกระบวนการตรากฎหมายที่เหมือน ๆ กัน  คือ ตราขึ้นโดยผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรหรือสภานิติบัญญัติ(โดยไม่จำเป็นต้องมีการออกเสียงประชามติ-referendum)ก็จริง  แต่ โดยที่ กฎหมาย(ธรรมดา)เหล่านี้เป็น “กฎหมายหลากหลายสาขา” และมีกลไกแตกต่างกัน  ดังนั้น  การที่จะกล่าวว่า การออกแบบและยกร่างกฎหมายเหล่านี้เหมือนกันก็ยังไม่ถูกต้อง   เพราะการออกแบบและยกร่างกฎหมายเหล่านี้ ต้องการ“นักกฎหมาย”ที่มีความเชี่ยวชาญในสาขากฎหมายที่แตกต่างกัน  และต้องการ “วิธีการยกร่างกฎหมาย”  แตกต่างกันไปแต่ละฉบับไม่มากก็น้อย
        
       ถ้าเราต้องการ “ปฏิรูปประเทศ” ที่จะต้องมีการแก้ไขกฎหมายทั้ง ๒ ระดับ  คือ  ต้องแก้ “รัฐธรรมนูญ” ด้วย และต้องแก้กฎหมายธรรมดา ( “กฎหมายพื้นฐานในระบบบริหารประเทศ” )ด้วย
       ปัญหาของเรา  ก็คือ เราจะทำการแก้ไขกฎหมายเหล่านี้   ให้ได้พร้อม ๆ กัน และสอดคล้องกันได้อย่างไร
        
        การเขียน(ออกแบบ)กฎหมาย เพื่อการบริหารประเทศของ “รัฐสมัยใหม่ -modern state” ในยุคศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๑ นี้  ไม่เหมือนกับการตรากฎหมาย ในศตวรรษที่ ๑๙
       นอกเหนือจาก  การทราบถึง “ประเภทกฎหมาย” ที่จะต้องแก้ไขในการปฏิรูปประเทศแล้ว  สิ่งที่“ผู้ที่จะทำการปฏิรูปประเทศ”จะต้องทราบก็คือการเขียน(ออกแบบ)กฎหมาย  เพื่อการบริหารประเทศของ “รัฐสมัยใหม่ -modern state” ในยุคศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๑ นี้  ไม่เหมือนกับการตรากฎหมายฯ ในสม้ยMontesquieu ในศตวรรษที่ ๑๘- ๑๙
       การตรากฎหมายตาม “หลักการแบ่งแยกอำนาจ -  separation of  power”ของMontesquieu  (ที่ได้ตายไปแล้วตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๘  ปี ค.ศ. ๑๗๕๕ ) เป็นการตรากฎหมาย “เพื่อความเป็นประชาธิปไตย”  โดยมีความมุ่งหมาย  เพื่อลดอำนาจของกษัติรย์ในการบริหารประเทศ  และให้มีสภานิติบัญญัติที่มีสมาชิกมาจากการเลือกตั้ง เพื่อถ่วงดุล “อำนาจบริหาร” ของกษัตริย์ และเพื่อให้ประชาชนมีความเสมอภาคและมีศาลที่เป็นอิสระเพื่อเป็นหลักประกันในสิทธิเสรีภาพของบุคคล(ปัจเจกชน) อันเป็น “ปัญหา” ที่มาจากการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชในสมัยศตวรรษ ที่ ๑๘
        แต่การตรากฎหมาย(มหาชน)ในการบริหารประเทศในยุคปัจจุบัน ที่เป็น รัฐสมัยใหม่ - modern state เป็นการตรากฎหมายที่มีจุดมุ่งหมาย  เพื่อทำให้การบริหาร “ประเทศในระบอบประชาธิปไตย”มีประสิทธิภาพ และเพื่อกำกับให้การใช้อำนาจรัฐของนักการเมือง(ที่มาจากการเลือกตั้ง) และของเจ้าหน้าที่ของร้ฐเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายเพื่อ “ประโยชน์ส่วนรวม”;และ คำว่า “ประโยชน์ส่วนรวม”  ในที่นี้  มิได้หมายถึง ประโยชน์ของ“ประชาชนแต่ละกลุ่ม” ตามที่นักการเมือง จะยกขึ้นมาอ้าง  แต่หมายถึง ประโยชน์ของ “ประชาชนโดยรวม”ที่เป็นนามธรรม
       ปัญหาของเราในการปฏิรูป (ประเทศ)  ก็คือมาตรฐานความรู้ (กฏหมายมหาชน) ของ “นักกฎหมาย” และ”นักวิชาการ”  ของเราที่มีอยู่ในปัจจุบัน   ไม่สูงพอที่จะเขียน(ออกแบบ)กฎหมายเหล่านี้  (ซึ่งแตกต่างกับประเทศที่พัฒนาแล้ว)การเขียน(ออกแบบ) กฎหมายในปัจจุบัน  ต้องการการวิจัยและการศึกษากฎหมายเปรียบเทียบ  - comparative  law  ที่นักกฎหมายและนักวิชาการไทย  ยัง ขาดประสบการณ์
        
       นอกจากนั้น  ผู้ที่จะทำการ“ปฏิรูปประเทศ”จะต้องทราบด้วยว่า  ในปัจจุบันนี้ประเทศที่พัฒนาแล้วเขาได้พัฒนา “วิธีการตรากฎหมาย”  ที่ทำให้ “กระบวนการตรากฎหมาย” ของเขามีความโปร่งใส -transparencyเพื่อให้ประชาชนทั่วไปและ บุคคลภายนอก สามารถตรวจสอบได้ว่า กลไกใน(ร่าง)กฎหมายที่จะตราขึ้นนั้น จะเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพหรือไม่เพียงใด และสามารถตรวจสอบได้ว่านักการเมืองในสภาของเขามิได้ซ่อน “บทมาตรา”ต่าง ๆ  ที่ให้อำนาจดุลพินิจแก่ตนเองในการแสวงหาประโยชน์ส่วนตนไว้ในร่างกฎหมาย
        “วิธีการ” เหล่านี้ ประเทศที่พัฒนาแล้วเขาไม่ได้กำหนดโดยการตราเป็น “กฎหมาย”  แต่เป็นกฎเกณฑ์ที่กำหนดเป็นระเบียบปฏิบัติในทางราชการ
       ▪▪สรุป เมื่อเรารู้ว่า“การปฏิรูป(ประเทศ) คือ อะไรแล้ว”   เราก็จะเห็นได้ว่า  การปฏิรูป(ประเทศ) เพื่อให้การบริหารประเทศของเรา  มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับประเทศที่พัฒนาแล้วนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ตามที่พูด ๆ กันอยู่ในเวทีสาธารณะทุกวันนี้
          ในการปฏิรูป (ประเทศ)  เราต้องการ “ช่วงเวลา” สำหรับศึกษาวิเคราะห์กฎหมายจำนวนมาก(ทั้งรัฐธรรมนูญ และทั้งกฎหมายธรรมดาที่เป็นพระราชบัญญัติ ฯ ) ก่อนที่จะเขียน(ออกแบบ) กฎหมายแต่ละฉบับ; ดังนั้น  บางส่วนของการปฏิรูปฯ  ที่จำเป็น ก็จะต้องทำก่อน “การเลือกตั้งทั่วไป”  เพื่อทำให้การปกครองประเทศของเรา เป็น “ระบอบประชาธิปไตย” และ หลุดพ้นจากการผูกขาดอำนาจของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ; และบางส่วนของการปฏิรูปฯก็จะกระทำหลัง “การเลือกตั้งทั่วไป” หลังจากที่ได้มีการศึกษาวิจัยแล้ว และมี “สภาผู้แทนราษฎร” (ที่ไม่มีการผูกขาดอำนาจโดยนายทุนเจ้าของพรรคการเมือง) แล้ว;และแน่นอน   เรา (คนไทย) ควรจะค้องทราบแล้วว่า  ขณะนี้  การปกครองประเทศของเราตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ใช่ “ระบอบประชาธิปไตย” แต่เป็น “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุน ในระบบรัฐสภา”  ประเทศเดียวในโลก
       ตามความเห็นของผู้เขียน  การปฏิรูป(ประเทศ) จึงไม่ใช่ “ปัญหาของการเลือกเอาระหว่าง “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” หรือ “เลือกตั้งก่อนปฏิรูป” (?)ตามที่เราพูด ๆ กัน และตามความเห็นของผู้เขียนการปฎิรูป(ประเทศ)  คงไม่สามารถทำให้สำเร็จได้  ด้วยการตั้ง  “สภาประชาชน” โดยไม่มีการเลือกตั้ง  ตามข้อเสนอ ของ กปปส.
        
       (จบตอนที่  ๒- ยังมีต่อ )
        ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๗
       ***********************


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1966
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 12:50 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)