|
|
ครั้งที่ 341 20 เมษายน 2557 23:32 น.
|
สำหรับวันจันทร์ที่ 21 เมษายน ถึงวันอาทิตย์ที่ 4 พฤษภาคม 2557
ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ และคุณถวิล เปลี่ยนศรี
ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่ต่างฝ่ายต่างก็ไม่มีใครยอมใคร มี ความพยายาม นำเหตุต่าง ๆ มาใช้เพื่อให้ นายกรัฐมนตรี และ รัฐบาล ต้องพ้นจากจากการทำหน้าที่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจำนำข้าวที่ว่ากันว่าจะเป็น ไม้ตาย ที่ทำให้นายกรัฐมนตรีต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่พอคณะกรรมการ ปปช. ยังไม่สามารถ จบ เรื่องดังกล่าวได้และมีทีท่าว่าจะต้องใช้เวลาพิจารณาอีกระยะหนึ่ง เรื่องของคุณถวิล เปลี่ยนศรี จึงถูกนำมาใช้เป็นกรณีที่จะทำให้นายกรัฐมนตรีต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ในขณะที่เขียนบทบรรณาธิการนี้เข้าใจว่าเรื่องของคุณถวิล เปลี่ยนศรี ยังเป็น ความหวัง ของผู้ที่ต้องการให้รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งดังที่เป็นข่าวออกมารายวันทุกวัน
ความเป็นมาของกรณีคุณถวิล เปลี่ยนศรี เป็นเรื่องน่าสนใจและมีประเด็นที่เกี่ยวกับกฎหมายมหาชนมากมาย เรื่องเริ่มจากคุณถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติถูกโอนย้ายไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำเมื่อเดือนกันยายน 2554 ซึ่งคุณถวิลฯ เห็นว่าการโอนดังกล่าวไม่เป็นธรรม จึงได้ฟ้องศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งโอน ศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งและประกาศโดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่คำสั่งและประกาศเกี่ยวกับการโอนมีผลใช้บังคับ พร้อมกับมีข้อสังเกตว่า เมื่อคำสั่งและประกาศดังกล่าวถูกศาลเพิกถอนให้มีผลย้อนหลังย่อมมีผลทางกฎหมายว่า คุณถวิลฯ มิได้พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้เกี่ยวข้องก็ต้องดำเนินการให้คุณถวิลฯ สามารถปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติโดยเร็ว ต่อมาเมื่อมีการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นดังกล่าว ศาลปกครองสูงสุดก็มีคำพิพากษาโดยผลก็เป็นเช่นเดียวกับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น คือเพิกถอนประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีที่ให้คุณถวิลฯ พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับและให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการตามกฎหมายเพื่อให้คุณถวิลฯ ได้กลับสู่ตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา คือถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2557
ต่อมานายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกวุฒิสภาและคณะรวม 25 คน ก็ได้ยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภาเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีของคุณถวิลฯ โดยเห็นว่าปัจจัยสำคัญในการโอนคุณถวิลฯ ให้พ้นจากตำแหน่งเดิมมิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนแต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตน จึงเป็นการใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นนายกรัฐมนตรีเข้าไปแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ผู้อื่นหรือของพรรคการเมือง อันเป็นการกระทำต้องห้ามตามมาตรา 268 ประกอบกับ มาตรา 266 (2) และ (3) แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาแล้วมีมติเมื่อวันพุธที่ 2 เมษายน 2557 รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย
หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องเรื่องคุณถวิลฯ ไว้พิจารณา ก็มีการนำเสนอความเห็นกันมากมายในทุกช่องทาง มีคำถามสำคัญเกิดขึ้นว่าหากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวแล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป คณะรัฐมนตรีจะต้องพ้นตามนายกรัฐมนตรีไปด้วยหรือไม่ และใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ด้วยวิธีการใด ฯลฯ
เมื่อพิจารณาข้อกฎหมายก็จะพบว่า บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตราที่ถูกนำมาใช้กับกรณีการโอนคุณถวิลฯ คือมาตรา 268 และ 266 ซึ่งมีเนื้อหาสรุปได้ว่า ห้ามนายกรัฐมนตรีเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือของผู้อื่นหรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ในการบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอน ข้าราชการประจำ หรือการให้ข้าราชการประจำพ้นจากตำแหน่ง เว้นแต่เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการตามนโยบายที่ได้แถลงต่อสภาหรือตามที่กฎหมายบัญญัติ หากฝ่าฝืนก็ต้องเป็นไปตามมาตรา 91, 92 และ 182 แห่งรัฐธรรมนูญคือให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพสิ้นสุดลงหรือไม่ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพสิ้นสุดลง ความเป็นรัฐมนตรีก็ต้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัว
ทั้งหมดนี้คือข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกรณีการโอนย้ายคุณถวิลฯ ซึ่งขณะที่เขียนบทบรรณาธิการนี้ ศาลรัฐธรรมนูญก็ยังมิได้มีคำวินิจฉัยในเรื่องนี้แต่อย่างใด
ในความเห็นส่วนตัวของผมนั้น เมื่อได้อ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดอันเป็นที่มาของการนำเรื่องมาฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้วก็ยังมีความสับสนในบางประการอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 2-3 หน้าสุดท้ายของคำพิพากษายังมีความไม่ชัดเจนถึง ความผิด ของนายกรัฐมนตรี ในตอนหนึ่งของคำพิพากษา ศาลปกครองสูงสุดได้กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลและในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของข้าราชการประจำของส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาคย่อมมีอำนาจดุลพินิจในการบริหารงานบุคคลหมุนเวียนสับเปลี่ยนบทบาทหรือการทำหน้าที่ของข้าราชการเพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปตามแนวนโยบายที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาได้ แต่ในการใช้อำนาจดุลพินิจดังกล่าวของนายกรัฐมนตรีนั้น นอกจากจะต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของกฎหมายและอยู่ภายในขอบเขตของกฎหมายแล้ว ยังจะต้องมีเหตุผลรองรับที่มีอยู่จริงและอธิบายได้ ซึ่งไม่มีปรากฏข้อเท็จจริงว่านายกรัฐมนตรีได้อ้างเหตุผลในการโอนคุณถวิลฯ ว่าคุณถวิลฯ ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่มีประสิทธิภาพ มีข้อบกพร่องหรือไม่สนองนโยบายของรัฐบาล ซึ่งจะถือได้ว่ามีเหตุผลอันสมควรที่ผู้บังคับบัญชาสามารถสั่งโอนได้ตามความเหมาะสม จึงถือได้ว่าเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ การโอนคุณถวิลฯ จากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติมาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สรุปง่าย ๆ ก็คือ ศาลปกครองสูงสุดยอมรับว่าการหมุนเวียนสับเปลี่ยนบทบาทหรือการทำหน้าที่ของข้าราชการเพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินตามนโยบายของรัฐบาลที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาสามารถทำได้ แต่ต้องมีเหตุผลรองรับที่มีอยู่จริงและอธิบายได้ ซึ่งในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีที่ให้โอนคุณถวิลฯ ไม่ได้มีรายละเอียดในส่วนของเหตุผล ศาลปกครองสูงสุดจึงสั่งเพิกถอนประกาศดังกล่าวเสีย
คำถามที่สงสัยก็คือ การที่ประกาศโอนคุณถวิลฯ ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐนมตรีฝ่ายข้าราชการประจำไม่มีเหตุผลรองรับที่มีอยู่จริงและอธิบายได้นั้น มีความร้ายแรงถึงขนาดที่ศาลปกครองสูงสุดจะต้องเพิกถอนประกาศดังกล่าวย้อนหลังไปถึงวันที่ประกาศมีผลใช้บังคับหรือไม่
ลองมาพิจารณาดูกฎหมายที่เกี่ยวข้องการทำคำสั่งศาลปกครองโดยตรงคือพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 กันก่อน มาตรา 37 ได้วางหลักเอาไว้ในวรรคแรกว่า คำสั่งทางปกครองต้องจัดให้มีเหตุผล โดยเหตุผลอย่างน้อยต้องประกอบด้วยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอิง ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนการใช้ดุลพินิจ แต่ถ้าคำสั่งทางปกครองนั้นทำโดย ไม่ดำเนินการจัดให้มีเหตุผล มาตรา 41 แห่งกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองก็บัญญัติ ทางแก้ ความ ไม่สมบูรณ์ ของคำสั่งดังกล่าวเอาไว้ว่า ถ้าได้มีการจัดให้มีเหตุผลในภายหลัง คำสั่งทางปกครองนั้นก็สมบูรณ์ บทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความมั่นคงของคำสั่งทางปกครองและความจำเป็นที่จะต้องจัดให้มีเหตุผลในคำสั่งทางปกครอง แต่มิได้หมายความว่า การไม่ให้เหตุผลในคำสั่งทางปกครองจะทำให้คำสั่งทางปกครองนั้น เสียไป แต่อย่างไรก็ตาม คงไม่สามารถนำเอาบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้กับกรณีของคุณถวิลฯ ได้เพราะการให้เหตุผลในภายหลังต้องทำก่อนที่จะมีการนำคำสั่งทางปกครองนั้นไปฟ้องต่อศาลปกครองตามที่บัญญัติไว้ในวรรคท้ายของมาตรา 41 แห่งกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองครับ
ที่ยกตัวอย่างกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาก็เพื่อให้เห็นว่า การไม่ให้เหตุผลในคำสั่งทางปกครองไม่เป็นเหตุให้คำสั่งทางปกครองนั้นเสียไป ยังสามารถทำให้คำสั่งทางปกครองนั้นมีความสมบูรณ์ได้ด้วยการจัดให้มีเหตุผลในภายหลังครับ !!!
เป็นที่ทราบกันดีว่า ในระบบกฎหมายปกครองนั้น เมื่อคำสั่งทางปกครองมีความไม่ชอบด้วยกฎหมายเกิดขึ้นไม่ว่าความไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นจะเกิดจากข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่นำมาใช้ในการออกคำสั่งทางปกครองจะมีข้อผิดพลาดหรือไม่ถูกต้อง ศาลปกครองก็มีอำนาจที่จะเพิกถอนคำสั่งทางปกครองนั้นได้ แต่ก็ยังมีวิธีการอื่นที่ใช้กันในศาลปกครองฝรั่งเศส โดยศาลปกครองฝรั่งเศสอาจไม่เพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากมีข้อบกพร่องของข้อเท็จจริงที่นำมาใช้ในการออกคำสั่งทางปกครองได้ แต่ศาลปกครองอาจใช้วิธีเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงที่อยู่ในคำสั่งทางปกครองเสียใหม่ให้ถูกต้องเพื่อให้คำสั่งทางปกครองนั้นมีผลใช้บังคับได้ ซึ่งในเรื่องนี้ ผมไม่แน่ใจว่าศาลปกครองไทย รู้จัก วิธีการดังกล่าวหรือไม่ และถ้า รู้จัก ก็ไม่แน่ใจว่าจะกล้านำมาใช้หรือไม่ด้วยครับ !!!
นอกจากนี้แล้ว หากฝ่ายปกครองยังคงยืนยันว่าการโอนคุณถวิลฯ ไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำเป็นสิ่งที่ต้องทำ แม้ศาลปกครองจะมีคำพิพากษาให้เพิกถอนประกาศเรื่องการโอนคุณถวิลฯ แต่ฝ่ายปกครองเองก็มีอำนาจที่จะออกคำสั่งทางปกครองใหม่เพื่อโอนคุณถวิลฯ ได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความไม่ชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งทางปกครองที่เกิดขึ้นมาจากการไม่มีเหตุผลในคำสั่งทางปกครอง เมื่อศาลปกครองจะเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวได้ ฝ่ายปกครองก็ออกคำสั่งใหม่ได้ โดยในคำสั่งใหม่ก็เพิ่มส่วนที่ขาดเข้าไปคือให้เหตุผลในการโอนย้ายคุณถวิลฯ เอาไว้ในคำสั่งทางปกครองฉบับใหม่ แค่นี้ก็สิ้นเรื่องครับ !!!
แต่ประเด็นคงอยู่ที่ว่า ฝ่ายปกครองจะกล้าออกคำสั่งใหม่หรือไม่เท่านั้นเองครับ ในปัจจุบันจะเห็นได้ชัดเจนว่าฝ่ายปกครองของเรา ไม่กล้า ทำอะไรทั้งนั้น นอกจากนี้แล้ว คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่เพิกถอนประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีที่ให้คุณถวิลฯ พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำยังมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา (ซึ่งข้อสังเกตดังกล่าวไม่มีสถานะเป็นคำบังคับของศาล) เอาไว้ว่า ควรที่จะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายเพื่อให้คุณถวิลฯ ได้กลับสู่ตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติภายใน 45 วัน นับแต่วันที่มีคำพิพากษา ฝ่ายปกครองก็เลยคิดอะไรอย่างอื่นไม่ออก นอกจากรีบคืนตำแหน่งให้คุณถวิลฯ ตามข้อสังเกตของศาลปกครองสูงสุดครับ !!!
ไหน ๆ เขียนเรื่องคุณถวิลฯไปแล้ว คงต้องมาดูต่อถึงปัญหากฎหมายที่เกิดขึ้นในเวลานี้ว่า หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าการโอนย้ายคุณถวิลฯ มิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนแต่เป็นประโยชน์ส่วนตนหรือของผู้อื่นหรือของพรรคการเมืองแล้ว จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป
ผมให้สัมภาษณ์สื่อต่าง ๆ ไปหลายครั้งแล้วว่า กรณีมาตรา 181 แห่งรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ชัดเจนว่า คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ ก็หมายความว่ายังไง ๆ คณะรัฐมนตรีก็ต้องอยู่ต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ารับหน้าที่ แม้ในทางปฏิบัติหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงแค่เพียงคนเดียว มาตรา 10 วรรคสี่ของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 22538 ก็ได้วางกลไกเพื่อรักษาความต่อเนื่องของการบริหารราชการแผ่นดินเอาไว้ว่า ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี แต่ถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน ในทางกลับกัน หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ คณะรัฐมนตรีต้อง มีอันเป็นไป พร้อมนายกรัฐมนตรี ที่เคยปฏิบัติกันมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ยังไม่มี นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี เช่นในช่วงเวลาที่มีรัฐประหาร รัฐธรรมนูญถูกฉีกทิ้งและคณะรัฐประหารยังไม่ได้ตั้งบุคคลเข้ามาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะรัฐประหารก็จะให้ปลัดกระทรวงทำหน้าที่แทนรัฐมนตรี ตัวอย่างเช่นในการรัฐประหารครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2547 ได้มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 4 ลงวันที่ 19 กันยายน 2547 เรื่องอำนาจบริหารราชการแผ่นดิน ข้อ 2 กำหนดไว้ว่า ในระหว่างที่ยังไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ให้บรรดาอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติว่าเป็นอำนาจหน้าที่ที่ของรัฐมนตรีว่ากระทรวงใดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของปลัดกระทรวงนั้น... แนวทางปฏิบัติดังกล่าวมีความเป็นเหตุเป็นผลอยู่ในตัวเพราะมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ก็ได้กำหนดให้ปลัดกระทรวงเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการของส่วนราชการในกระทรวงรองจากรัฐมนตรี ดังนั้นถ้าไม่มีรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงก็ย่อมจะใช้อำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีในกระทรวงได้
ตัวบทกฎหมายที่นำเสนอไปข้างต้นก็เพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่า ไม่มีทางตันสำหรับการบริหารราชการแผ่นดินครับ ต่อให้ไม่มีฝ่ายการเมือง ฝ่ายประจำก็ยังสามารถจัดการบริหารราชการแผ่นดินต่อไปได้
เพื่อแก้ปัญหาคาราคาชังที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลานาน สิ่งที่ต้องรีบดำเนินการเร็วที่สุดก็คือจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มี ฝ่ายการเมือง เข้ามาทำหน้าที่ของตนตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายโดยเร็ว
เว้นไว้แต่เพียงว่า ถ้าต้องการวิ่งเข้าไปหาทางตัน นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง การใช้มาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญอันเป็นสิ่งที่ผู้คนจำนวนหนึ่งรอคอยอย่างใจจดใจจ่อจะเกิดขึ้นได้หากหลาย ๆ ฝ่ายร่วมมือกันสร้างทางตันให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ทั้งๆ ที่ไม่ว่าจะเป็นโดยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ต่างก็กำหนดให้มีทางออกเอาไว้ทุกเรื่องครับ !!!
ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอเพียงบทความเดียว คือบทความเรื่อง เหตุเพราะความเชื่อทางการเมือง ที่เขียนโดย คุณชำนาญ จันทร์เรือง ขอขอบคุณคุณชำนาญฯ ที่มีส่วนร่วมกับเราสม่ำเสมอตลอดเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมาครับ
พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 5 พฤษภาคม 2557 ครับ
ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1955
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 13:00 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|