ครั้งที่ 339

23 มีนาคม 2557 20:21 น.

       สำหรับวันจันทร์ที่ 24 มีนาคมถึงวันอาทิตย์ที่ 6 เมษายน 2557
       
       “ ถ้ายังอยากมีรถไฟความเร็วสูง ”
       
       สถานการณ์การเมือง “แบบแปลกๆ” ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยยังคงเป็นสิ่งที่ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ให้ความสนใจอย่างมากตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นักกฎหมายเองก็หนีไม่พ้น “ความแปลกใหม่” ที่เกิดขึ้นในวงการกฎหมายจากคำพิพากษา คำวินิจฉัย คำสั่ง หรือความเห็นที่ทยอยกันปรากฏออกมาสู่สาธารณชนในช่วงเวลาที่ผ่านมา  “ความแปลกใหม่”ที่ว่านี้แม้จะเป็นที่ถูกอกถูกใจคอการเมืองฝ่ายหนึ่งและนักกฎหมายฝ่ายหนึ่ง  แต่ก็มีคอการเมืองอีกฝ่ายหนึ่งและนักกฎหมายอีกฝ่ายหนึ่งที่ “กลุ้มใจ” ใน “ความแปลกใหม่” ที่เกิดขึ้นด้วยเหตุผลต่างๆ นานาที่ผมคงไม่อยากนำมากล่าวไว้ในที่นี้
                 เมื่อวันพุธที่ 12 มีนาคม ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยในเรื่องที่ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งความเห็นของสมาชิกขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ....  ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่  โดยศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหมวด 8 ว่าด้วยการเงิน การคลัง และงบประมาณ ทำให้ร่างกฎหมายตกไป
                 หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้นมากมายทั้งในส่วนของข้อกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการให้คำนิยามของ “เงินแผ่นดิน” อำนาจของฝ่ายบริหารเกี่ยวกับการบริหารจัดการเงินกู้ที่กำหนดไว้ในร่างพระราชบัญญัติ และในส่วนของสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยไปแล้วโดยมีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่า โอกาสของการมีรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทยคงต้องจบลงเพราะคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้
                 ในประเด็นข้อกฎหมายนั้นมีคนให้ความเห็นกันมากแล้ว ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ ผมจึงขอนำเสนอสิ่งที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากถึงโอกาสของประเทศไทยที่จะมีรถไฟความเร็วสูงโดยผมจะขอนำเอาบทบรรณาธิการครั้งที่ 216 ที่ได้เผยแพร่ไปตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2552 เรื่อง “ปัญหาการจัดทำบริการสาธารณะด้านขนส่งมวลชนประเภทรถไฟ” มาปรับปรุงและนำเสนอใหม่เนื่องจากในบทบรรณาธิการครั้งนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับวิธีการที่จะทำให้เรามีรถไฟใช้ในประเทศไทยได้โดยไม่ต้องลงทุนครับ.
                 ในช่วงเวลา 50 ปีที่ผ่านมา มีความพยายามที่จะแก้ปัญหารถไฟในประเทศไทยหลายครั้งแต่ก็ไม่สำเร็จ เท่าที่ทราบมีการจ้างหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ทำการศึกษาถึงแนวทางในการปรับปรุงการรถไฟแห่งประเทศไทยกันอยู่มาก แต่ก็ไม่เคยมีอะไรแปลกใหม่เกิดขึ้น แม้ล่าสุดรัฐบาลจะพยายามนำเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหารถไฟด้วยการกู้เงินเพื่อมาสร้างรถไฟความเร็วสูง แต่ก็จบลงด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ทำให้ดูเหมือนว่า คงยากที่จะกู้เงินมาสร้างรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทยได้
                 สิ่งที่หลายๆ คนคงกังวลในวันนี้ก็คือ ประเทศไทยเราจะมีการ “ปฏิรูป” หรือ “ปรับปรุง”           การขนส่งโดยรถไฟได้หรือไม่ เมื่อไหร่ และอย่างไร
                 ก่อนที่จะมาพิจารณาถึงทางออกของข้อกังวลดังกล่าว คงต้องตั้งคำถามกันก่อนว่า รถไฟเป็นขนส่งมวลชนที่ดีที่ควรมีอยู่ต่อไปหรือไม่ก่อน คำถามนี้ หากไปถามผู้ใช้บริการรถไฟในยุโรป ญี่ปุ่นและอีกหลายๆ ประเทศ ก็คงได้คำตอบที่ไม่แตกต่างกันเท่าไรนักว่า ควรมีอยู่ต่อไป เพราะการเดินทางโดยรถไฟมีความสะดวก ปลอดภัย ตรงเวลา เข้ามาถึงใจกลางเมือง สามารถบรรทุก คน สัตว์ สินค้า มีความสิ้นเปลืองน้อยกว่าขนส่งมวลชนประเภทอื่น ๆ และก็ก่อให้เกิดมลพิษน้อยกว่าการขนส่งมวลชนประเภทอื่นๆ  แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว แม้เราจะมีรถไฟมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่เท่าที่ผมจำความได้ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ผมไม่เห็นกิจการรถไฟมีการปรับปรุงอะไรที่ผิดแผกแตกต่างไปจากเมื่อเริ่มจัดตั้งกรมรถไฟขึ้นมา ซึ่งเรื่องดังกล่าวเมื่อมองดูกิจการรถไฟของประเทศฝรั่งเศสสมัยที่ผมเรียนหนังสืออยู่จนกระทั่งปัจจุบันก็พบว่ามีพัฒนาการตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจนทำให้ในวันนี้             รถไฟฝรั่งเศสกลายเป็นขนส่งมวลชนประเภทที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุด นอกจากที่กิจการรถไฟของไทยไม่มีพัฒนาการเท่าที่ควรจะเป็นแล้ว ปัญหาที่เราได้ยินบ่อยที่สุดของ รฟท. ก็คือ การขาดทุน ก็จะไม่ขาดทุนได้อย่างไรในเมื่อสภาพของรถไฟก็มีปัญหา การบริการก็มีปัญหา แถมยังมีเส้นทางไม่ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศอีกด้วยครับ คนก็เลยต้องใช้รถส่วนตัวหรือไม่ก็ใช้บริการขนส่งประเภทรถเมล์หรือรถโดยสารกันหมด ส่วนปัญหาอีกประการหนึ่งของการรถไฟแห่งประเทศไทยก็คือ แม้จะมีทรัพย์สินที่เป็นที่ดินมากมายแต่การบริหารจัดการก็ไม่เป็นระบบ จึงทำให้ไม่อาจหารายได้จากทรัพย์สินเหล่านั้นได้เท่าที่ควรจะได้ เพราะฉะนั้นหากจะถามคำถามข้างต้นว่า รถไฟเป็นขนส่งมวลชนที่ดีที่ควรมีอยู่ต่อไปหรือไม่ คำตอบจากผมก็คือ แม้มีปัญหามากอย่างไรก็ตาม เราก็ควรมีรถไฟต่อไปเพราะสะดวก รวดเร็วและประหยัดกว่าขนส่งมวลชนอื่น ๆ ครับ
                 หากเราคิดว่า ยังคงมีความจำเป็นสำหรับประเทศไทยที่จะต้องมีการขนส่งมวลชนประเภทการรถไฟอยู่ต่อไป ก็จะต้องมาหาหนทางกันว่า ทำอย่างไรที่จะทำให้กิจการรถไฟไทยประสบผลสำเร็จ เรื่องดังกล่าวผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องยากนัก เพียงแต่ต้องหาวิธีการที่เหมาะสมที่สุดที่จะให้ประชาชนได้ใช้บริการรถไฟอย่างดีที่สุดครับ
                 เราลองมาพิจารณาสภาพการณ์ปัจจุบันของ รฟท. กันก่อน เป็นที่แน่นอนว่า ในวันนี้ไม่ว่าตัวรถไฟหรือรางรถไฟที่มีอยู่คงไม่สามารถทำอะไรได้นอกจากต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด สถานีก็ต้องปรับปรุงใหม่ เส้นทางเดินรถก็ต้องขยายให้ครอบคลุมทุกจังหวัดและเข้าไปถึงเมืองใหญ่ ๆ หรือเมืองสำคัญ ๆ ของทุกจังหวัด แค่นี้ก็คงเป็นโจทย์ที่รัฐบาลต้องตอบแล้วว่าจะทำอย่างไรและจะเอาเงินมาจากไหนในเมื่อจะกู้เงินมาสร้างก็ไม่สามารถทำได้
                 ผมไม่คิดว่า การปฏิรูปกิจการรถไฟด้วยการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบางส่วนจะสามารถแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ได้ทั้งหมดได้ เพราะการปฏิรูปคือการทำให้ดีกว่าเดิมซึ่งใช้ไม่ได้สำหรับกิจการรถไฟของไทยที่เราต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่เหมือนกับการสร้างกิจการขนส่งมวลชนประเภทใหม่ขึ้นมา จากปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น หากเราต้องการให้มีรถไฟในประเทศไทยต่อไป สิ่งที่ต้องทำก็คือต้องรื้อของเก่าทิ้งและเอาของใหม่ที่ดีกว่ามาใช้ซึ่งวิธีการที่จะทำได้นั้น ผมมองว่ามีทางทำได้ 3 วิธีการ วิธีแรก ก็คือรัฐทำเอง ซึ่งก็ต้องลงทุนสูงมากและคงไม่สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว วิธีที่สองก็คือให้สัมปทานกับเอกชน ซึ่งก็คงไม่แตกต่างกับวิธีการแรกเท่าไรนัก เพราะในเมื่อระบบการให้สัมปทานของไทยเรายังคงเป็นแบบเดิม ๆ ที่เอกชนผู้ลงทุนต้องจ่ายค่าตอบแทนให้กับรัฐเพื่อแลกกับสิทธิที่จะได้ สัมปทาน เอกชนก็ต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมากซึ่งก็ส่งผลให้ค่าโดยสารมีราคาสูงขึ้นและคงไม่สามารถทำได้อย่างกว้างขวางทั่วประเทศเท่าที่ควรจะเป็น สองวิธีดังกล่าวจึงไม่น่าจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดที่น่าจะนำมาใช้กับกิจการรถไฟของไทย ดังนั้น ผมจึงขอเสนอวิธีที่สามก็คือ ควรให้เอกชนเข้ามาเป็นผู้ทำกิจการรถไฟในประเทศไทยทั้งหมดด้วยการให้สัมปทานแต่เป็นการให้สัมปทานที่มีลักษณะเป็นการแลกเปลี่ยนซึ่งเป็นวิธีการที่ผมจะขอนำเสนอดังต่อไปนี้คือ เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า รฟท. มีที่ดินอยู่เป็นแสนไร่ ที่ดินจำนวนหนึ่งนั้นเป็นที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์โดยตรงในกิจการรถไฟ เช่นที่ดินที่ในปัจจุบัน รฟท. นำไปให้เอกชนเช่าทำศูนย์การค้า โรงแรม และอื่น ๆ อีกมากมาย หากเรายอมให้สิทธิในการหาประโยชน์ในที่ดินของการรถไฟที่ไม่ได้ใช้ในกิจการรถไฟแท้ๆ แก่เอกชนที่จะเข้ามาสร้างกิจการรถไฟใหม่เพื่อแลกกับการที่เอกชนจะเข้ามาจัดวางระบบรางรถไฟใหม่ให้เป็นสากล เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านได้ รถไฟเป็นระบบความเร็วสูง ขยายเส้นทางให้ครอบคลุมทุกจังหวัดและสถานที่สำคัญ ๆ ของประเทศ ค่าโดยสารที่เอกชนต้องคิดในอัตราที่ถูกมากๆ เพื่อให้คนสามารถใช้บริการได้อย่างไม่ลำบาก ผมคิดว่าน่าจะมีเอกชนสนใจมาลงทุนนะครับ พูดง่าย ๆ ก็คือ ยกที่ดินของการรถไฟให้เอกชนเข้ามาหาประโยชน์เพื่อแลกกับการที่เอกชนเข้ามาจัดทำรถไฟให้เราทั้งระบบ ส่วนรัฐก็เปลี่ยนสถานะจากผู้ให้บริการมาเป็นผู้กำกับดูแล ซึ่งในกรณีหลังนี้อาจใช้วิธีตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการขนส่งขึ้นมาทำหน้าที่ดังกล่าวแล้วก็ยุบการรถไฟแห่งประเทศไทยครับ
                 ผมเสนอข้อเสนอข้างต้นก็เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีและรัฐก็ไม่ต้องลงทุนอะไรเลย เอกชนลงทุนให้แต่ก็ต้องไม่คิดค่าโดยสารแพงเพราะเอกชนผู้ลงทุนก็จะมีรายได้สำคัญส่วนหนึ่งมาจากทรัพย์สินของการรถไฟที่เรายอมยกให้เอกชนไปหาประโยชน์เพื่อแลกกับการจัดทำรถไฟใหม่ทั้งระบบให้กับประเทศไทยและคิดค่าโดยสารในอัตราที่ประชาชนทั่วไปสามารถใช้บริการได้ตลอดอายุของการให้สัมปทานครับ
       
                 ส่วนวิธีการที่จะทำนั้น ผมคิดว่าหากรัฐบาลเสนอเรื่องดังกล่าวออกไปก็ต้องถูกโจมตีอย่างแน่นอนจากทั้งทุกฝ่ายรวมทั้งจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้เองที่ก่อนที่จะมีการดำเนินการตามข้อเสนอ ควรจะต้องสอบถามความเห็นของประชาชนเป็นการทั่วไปก่อนว่า การมีรถไฟความเร็วสูงด้วยวิธีการดังกล่าวเป็นสิ่งที่ประชาชนยอมรับหรือไม่ หากยอมรับได้รัฐคงต้องหามาตรการที่ดีที่สุด โปร่งใสที่สุดมาใช้กับการดำเนินการดังกล่าวทั้งหมด เพื่อป้องกันมิให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่นและเพื่อให้ประชาชนมีบริการสาธารณะดี ๆ ใช้กับเขาเสียทีครับ  
            
                 ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอ 4 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความของคุณชำนาญ จันทร์เรือง ที่เขียนเรื่อง “ภาวะผู้นำกับการยกเลิกโทษประหารชีวิต” บทความที่สองเป็นบทความของอาจารย์ ปีดิเทพ อยู่ยืนยง แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เขียนเรื่อง “วาจาที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองบนสื่อสังคมออนไลน์กับกฎหมายสิทธิมนุษยชนสหภาพยุโรป” บทความที่สามเป็นบทความของคุณพัฒน์พงศ์ อมรวัฒน์ พนักงานคดีปกครองปฏิบัติการ สำนักงานศาลปกครอง ที่เขียนเรื่อง “การโยกย้ายข้าราชการส่วนท้องถิ่นในกฎหมายฝรั่งเศส” บทความที่สี่เป็นบทความเรื่อง “หลักความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะกับการพิจารณาความเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารในระบบกฎหมายฝรั่งเศส” ที่เขียนโดย ดร.ฤทัยรัตน์ ปทุมานนท์ พนักงานคดีปกครองปฏิบัติการ สำนักงานศาลปกครอง  ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสี่ไว้ ณ ที่นี้ครับ
         
                 พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 7 เมษายน 2557 ครับ
       
                 ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1948
เวลา 19 เมษายน 2567 00:54 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)