ภาวะผู้นำกับการยกเลิกโทษประหารชีวิต

23 มีนาคม 2557 18:25 น.

       ติมอร์-เลสเต้ 
       อดีตประธานาธิบดีรามอส-ฮอร์ตาได้กล่าวถึงมูลเหตุจูงใจที่ตนสนับสนุนแนวทางการยกเลิกโทษประหารชีวิตไว้ในบทความที่ตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์บางกอกโพสท์ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2555 ว่า “ข้าพเจ้าภูมิใจที่จะพูดว่าสิทธิอันละเมิดมิได้ของการมีชีวิตได้ถูกบัญญัติอยู่ในรัฐธรรมนูญของประเทศติมอร์-เลสเตของข้าพเจ้า การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอิสรภาพของประเทศเราไม่ใช่ไม่มีการเสียสละ ในการแสวงหาศักดิ์ศรีและการตัดสินใจด้วยตนเอง บุคคลอันเป็นที่รักของเราหลาย ๆ คนต้องเสียชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งเตือนใจตลอดเวลาถึงคุณค่าศักดิ์สิทธิ์ของการมีชีวิต ดังนั้น สิ่งแรก ๆ สิ่งหนึ่งที่เราทำหลังจากได้รับอิสรภาพเมื่อ10 ปีมาแล้วคือการรับรองว่าจะไม่มีใครได้รับโทษประหารชีวิต”  ปัจจุบันประเทศติมอร์-เลสเตไม่มีโทษประหารชีวิตและบทลงโทษสูงสุดที่ใช้แทน คือ การจำคุก 25 ปี ไม่มีการใช้โทษจำคุกตลอดชีวิต
        
       ฟิลิปปินส์ 
       รัฐสภาประเทศฟิลิปปินส์ผ่านกฎหมายที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตเมื่อเดือนมิถุนายน 2549 โดยนางกลอเรีย มาคาปากัล อาโรโย ประธานาธิบดีในขณะนั้นเป็นผู้ลงนามรับรอง อดีตประธานานาธิบดีอาโรโยกล่าวว่า “เราขอเฉลิมฉลองให้แก่ชัยชนะของฝ่ายที่สนับสนุนคุณค่าของชีวิต ขอบคุณรัฐสภาที่ผ่านกฎหมายฉบับนี้อย่างรวดเร็ว แต่โปรดเข้าใจว่าการยกเลิกโทษประหารชีวิตนั้นจะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด”  การยกเลิกโทษประหารชีวิตในฟิลิปปินส์เป็นผลจากความร่วมมือระหว่างองค์กรเอกชน เช่น Free Legal Assistance Group (FLAG) คริสต์จักรโรมันคาธอลิก และสมาชิกรัฐสภา บทลงโทษสูงสุดที่นำมาใช้แทนโทษประหารชีวิต คือ โทษจำคุกตั้งแต่ 20 ปี 1 วัน จนถึง โทษจำคุก 40 ปี ขึ้นอยู่กับฐานความผิด
        
       แอฟริกาใต้ 
       ประเทศแอฟริกาใต้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางกฎหมายสำหรับอาชญากรรมทั่วไปในปี 2538 และสำหรับอาชญากรรมทุกประเภทในปี 2540 หลังจากศาลรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐแอฟริกาใต้มีคำวินิจฉัยในปี 2538 ว่าการลงโทษประหารชีวิตนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นบทลงโทษที่ทารุณโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แม้ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในขณะนั้นปรากฎว่า ร้อยละ 62-78 ยังคงสนับสนุนโทษประหารชีวิตอยู่ แต่นายอาเธอร์ ชาสคาร์ลสัน ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า “ แม้ความเห็นของประชาชนส่วนใหญ่มีข้อกังขาต่อคำวินิจฉัยของศาล แต่เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องตีความรัฐธรรมนูญเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิของประชากรส่วนน้อยที่ไม่สามารถปกป้องสิทธิของตนเองได้ผ่านกระบวนการประชาธิปไตย”
       สาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การผลักดันเพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิตในแอฟริกาใต้ คือ ประสบการณ์ในระหว่างการปกครองโดยรัฐบาลที่เหยียดสีผิว มักมีรายงานว่าศาลที่ประกอบด้วยผู้พิพากษาผิวขาวมักจะเลือกปฏิบัติต่อจำเลยผิวสีและใช้บทลงโทษร้ายแรงแก่พวกเขามากกว่าที่ลงโทษจำเลยผิวขาว มีการลงโทษประหารชีวิตต่อประชากรผิวสีทั้งในคดีอาญาทั่วไปและคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดเสียงคัดค้านจากกลุ่มการเมือง ผู้นำศาสนา สหภาพแรงงาน และนักกฎหมาย จนนำไปสู่การเคลื่อนไหวเพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิตในที่สุด หลังจากที่รัฐสภาแอฟริกาใต้แก้ไขกฎหมายอาญาเพื่อให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและตราบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิในการมีชีวิตในฐานะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานแล้ว
        
       เซเนกัล 
       ประชากรส่วนใหญ่ในประเทศเซเนกัลนับถือศาสนาอิสลาม โดยมีเครือข่ายองค์กรอิสลามเป็นกลุ่มสำคัญที่สนับสนุนการคงไว้ซึ่งโทษประหารชีวิต  แม้ศาลจะมีคำพิพากษาลงโทษประหารชีวิตหลายครั้งในปี 2546-2547 แต่รัฐสภาก็มีความพยายามผ่านกฎหมายเพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิต โดยบุคคลสำคัญที่สนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าว คือ นาย Sergine Diop รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้นและเครือข่ายองค์กรเอกชน รวมถึงอดีตประธานาธิบดี Abdoulaye Wade ร่างกฎหมายดังกล่าวจึงผ่านสภาได้สำเร็จในเดือนกรกฎาคม ปี 2547 ประเทศเซเนกัลยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับอาชญากรรมทุกประเภทในเดือนธันวาคม 2547 ส่วนผู้ต้องโทษประหารชีวิตในขณะนั้นก็ได้รับการเปลี่ยนแปลงโทษเป็นโทษจำคุก
       นอกจากประเทศข้างต้นแล้วยังมีตัวอย่างจากการผลักดันร่างกฎหมายยกเลิกโทษประหารชีวิตในประเทศฝรั่งเศสโดยมีนายโรแบร์ แบดองแต (Robert Badinter) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้นเป็นผู้นำคนสำคัญ แม้ว่าในยุค 1980 ประชาชนฝรั่งเศสกว่าร้อยละ 60-65 จะสนับสนุนโทษประหารชีวิตก็ตาม ซึ่งรวมถึงการตัดสินใจของประธานาธิบดีมองโกเลีย และผู้ว่าการรัฐคอนเน็กติคัต รัฐแมรีแลนด์ รัฐนิวเม็กซิโกในสหรัฐอเมริกา
       นอกจากนี้ประสบการณ์ส่วนบุคคลของผู้นำประเทศก็มีส่วนสำคัญที่ผลักดันให้เกิดการยกเลิกโทษประหารชีวิต เช่น อดีตประธานาธิบดีเนลสัน เมนเดลาแห่งแอฟริกาใต้ และอดีตประธานาธิบดีคิมแดจุงแห่งเกาหลีใต้ต่างเคยถูกศาลตัดสินลงโทษประหารชีวิตจากคดีที่มูลเหตุจูงใจทางการเมือง เมื่อทั้งสองคนได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจึงสนับสนุนแนวทางการยกเลิกโทษประหารชีวิต
        
       จะเห็นได้ว่าปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้การยกเลิกโทษประหารชีวิตสัมฤทธิผล คือ ภาวะผู้นำทางการเมืองนั่นเอง แม้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ในแต่ละประเทศในขณะนั้นมักจะคัดค้านการตัดสินใจยกเลิกโทษประหารชีวิตเสมอ แต่ความตระหนักของผู้มีอำนาจตัดสินใจเชิงนโยบายและการยืนหยัดในสิทธิในการมีชีวิตซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนที่มีอย่างเท่าเทียมกัน ประเทศส่วนใหญ่ในปัจจุบันถึง 140ประเทศทั่วโลกจึงต่างมุ่งหน้าสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิตเหลือเพียง 58 ประเทศเท่านั้นที่ยังคงมีการบังคับใช้โทษประหารชีวิตอยู่ และแน่นอนว่าไม่ช้าก็เร็วประเทศไทยก็ต้องไปถึงจุดนั้นอย่างแน่นอน ถ้าเรามีผู้นำดังเช่นประเทศที่ได้ยกตัวอย่างมาแล้วข้างต้น
       -------------


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1944
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 20:38 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)