|
|
ผลผูกพันของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญต่อการวินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดีอาญา (หน้าที่ 1) (Preclusive Effect of the Constitutional Court Decision Ruling on a Criminal Proceeding) 23 กุมภาพันธ์ 2557 21:05 น.
|
บทคัดย่อ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 216 วรรคห้า ได้กำหนดให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันองค์กรภายใต้รัฐธรรมนูญทุกองค์กรรวมถึงศาลยุติธรรมด้วย อย่างไรก็ตาม มีปัญหาเกิดขึ้นว่าความผูกพันของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวหมายความรวมถึงความผูกพันในการวินิจฉัยข้อเท็จจริงของศาลยุติธรรมด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากเป็นคดีอาญา ศาลยุติธรรมที่พิจารณาคดีอาญาจำเป็นจะต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงเป็นยุติตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยเอาไว้แล้วหรือไม่ ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ไม่มีกฎหมายบังคับหรืออนุญาตให้ศาลยุติธรรมต้องถือข้อเท็จจริงเป็นยุติตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยเอาไว้อย่างชัดแจ้ง อีกทั้งการนำเอาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมาใช้เป็นบทตัดสำนวนในการพิจารณาคดีอาญายังก่อให้เกิดปัญหาการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของจำเลยในคดีอาญาหลายประการอีกด้วย จึงไม่ควรนำเอาข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมารับฟังเป็นบทตัดสำนวนในคดีอาญาแต่อย่างใดบทความฉบับนี้มุ่งศึกษาผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่มีต่อการวินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดีอาญา เพื่อกำหนดสถานะในทางพยานหลักฐานที่ถูกต้องของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญต่อไป
ABSTRACT
The Constitution of Thailand B.E 2550 article 216 sub-article 5 provides that the decision of the Constitutional Court shall be deemed final and binding on state organs including the Judiciary. Nonetheless, such provision is considerably ambiguous since a particular definition of the word Binding has not been provided otherwise. This article aims to discuss the collateral effect of the Constitutional Court decision on criminal cases adjudicated before the court of justice in cases those courts share the same facts-in-issue. Additionally, recommendations regarding the admissibility of the Constitutional Court decision in a criminal proceeding are also appended at the end of this article.
ข้อความเบื้องต้น
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าการพิจารณาพิพากษาคดีอาญา ศาลจะต้องกระทำอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเฉพาะคดี (based on particular facts-in-issue) และการค้นหาข้อเท็จจริงแห่งคดีตามระบบกฎหมายสมัยใหม่สามารถค้นหาได้จากพยานหลักฐานที่แสดงถึงความมีอยู่ของข้อเท็จจริงนั้นๆ(Trial by Evidence) ด้วยเหตุนี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84[1]จึงกำหนดให้การวินิจฉัยข้อเท็จจริงแห่งคดีจะต้องกระทำโดยพยานหลักฐานในสำนวนเท่านั้น เว้นแต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเป็นข้อเท็จจริงซึ่งรู้กันอยู่ทั่วไป (Generally Known Facts) ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับกันแล้ว (Facts Admitted) หรือข้อเท็จจริงที่ไม่อาจโต้แย้งได้ (Undisputable Facts) ซึ่งข้อเท็จจริงเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนแต่อย่างใด
อนึ่ง มีข้อควรพิจารณาว่าในคดีอาญานั้น ถ้าหากศาลอาญาพบว่าข้อเท็จจริงที่เป็นประเด็นแห่งคดีอาญาเคยได้รับการวินิจฉัยเอาไว้แล้วครั้งหนึ่งโดยคำพิพากษาของศาลอื่น ศาลอาญาจะสามารถสั่งงดสืบพยานและวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามที่ศาลคดีก่อนได้เคยวินิจฉัยเอาไว้แล้วได้เลยหรือไม่? กรณีดังกล่าวจะเข้าข้อยกเว้นที่ทำให้ศาลไม่ต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานอีกต่อไปได้หรือไม่? โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากคำพิพากษาคดีก่อนเป็นคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นศาลคนละประเภทกันกับศาลอาญาที่เป็นศาลยุติธรรม? จากการศึกษาพบว่า แนวคิดในการนำเอาข้อเท็จจริงที่ได้รับการวินิจฉัยจากศาลอื่นมาใช้เป็นบทตัดสำนวน (Undisputable Facts) มีอยู่ทั้งในสากลประเทศ และในประเทศไทย แต่การอนุญาตให้นำเอาข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลคดีอื่นมาใช้เป็นบทตัดสำนวนจะมีได้เฉพาะในการพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งเท่านั้น[2] ไม่ปรากฏว่ามีระบบกฎหมายใดที่ยอมรับให้ศาลที่พิจารณาคดีอาญารับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามคำพิพากษาของศาลอื่นในฐานะของบทตัดสำนวน เพราะการใช้คำพิพากษาของศาลอื่นเป็นบทตัดสำนวนในคดีอาญามีความขัดแย้งกับหลักการดำเนินคดีอาญา และก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิของจำเลยในคดีอาญาหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคำพิพากษาของศาลคดีก่อนเป็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ยิ่งไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายมาตราใดที่บังคับหรืออนุญาตให้ศาลอาญาต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ การรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาเป็นยุติตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่ควรเกิดขึ้น
บทความฉบับนี้มุ่งศึกษาถึงสถานะของข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่มีต่อการวินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดีอาญา ว่าควรมีมากน้อยเพียงไร โดยจะเริ่มศึกษาจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติ, ทฤษฎีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง, บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงข้อพิจารณาประกอบการวิเคราะห์ความเหมาะสมในประเด็นดังกล่าว เพื่อประมวลเป็นข้อเสนอแนะต่อไป โดยมีลำดับการนำเสนอดังต่อไปนี้
1. ลักษณะของข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวพันกับข้อเท็จจริงในคดีอาญา
2. หลักกฎหมายปิดปากโดยคำพิพากษา (RES JUDICATA)
3. การนำหลักกฎหมายปิดปากเฉพาะประเด็นแห่งคดีมาใช้ในคดีอาญา
4.บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
5. ข้อพิจารณาเกี่ยวกับการรับฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเป็นบทตัดสำนวนในคดีอาญา
6. วิเคราะห์การรับฟังข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเป็นบทตัดสำนวนในคดีอาญา
7. บทสรุปและข้อเสนอแนะ
1. ลักษณะของข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวพันกับข้อเท็จจริงในคดีอาญา
ถึงแม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 หมวดที่ 10 จะได้จัดให้ศาลยุติธรรมกับศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลคนละประเภทกัน อีกทั้งยังวางหลักการสำคัญเอาไว้ในมาตรา 218 ว่า ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่นทำให้ศาลยุติธรรมกับศาลรัฐธรรมนูญมีเขตอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีที่แตกต่างกันก็ตาม แต่ในบางคราวอาจเกิดกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญและศาลยุติธรรมจะต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่เกี่ยวพันกันก็เป็นไปได้ ซึ่งในกรณีเช่นนี้เกิดคำถามที่สำคัญตามมาว่า ถ้าหากศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยในข้อเท็จจริงที่มีความเกี่ยวพันกันกับคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมเอาไว้แล้ว ศาลในคดีอาญาจะต้องรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามที่ได้มีการวินิจฉัยเอาไว้ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่
สำหรับตัวอย่างแรกที่เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ ได้แก่ กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 15-18/2556[3]เกี่ยวกับคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68ว่าการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภาถือเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ไดมาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิไดเป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไวในรัฐธรรมนูญโดยมีความตอนหนึ่งว่า
…..การกระทำเช่นนี้มีลักษณะที่ผิดปกติวิสัยและมีสมาชิกรัฐสภาใช้บัตรแสดงตนและออกเสียงลงคะแนนในระบบอิเล็กทรอนิกส์หลายใบจากการรับฟังพยานหลักฐานและคำเบิกความพยานในชั้นการพิจารณาไต่สวนคำร้องเป็นเรื่องที่แจ้งชัดทั้งภาพวีดิทัศน์ และประจักษ์พยานที่มาเบิกความประกอบการถ่ายทอดการประชุมรัฐสภาในระหว่างที่มีการออกเสียงลงมติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภาว่า มีสมาชิกรัฐสภาหลายรายมิได้มาออกเสียงลงมติในที่ประชุมรัฐสภาในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ แต่ได้มอบให้สมาชิกรัฐสภาบางรายใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนแทนในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม การดำเนินการดังกล่าวนอกจากจะเป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของการเป็นสมาชิกรัฐสภาซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ซึ่งจะต้องปฏิบัติหน้าที่โดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายหรือการครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามบทบัญญัติมาตรา 122 ของรัฐธรรมนูญแล้ว ยังขัดต่อข้อบังคับการประชุมของรัฐสภา ขัดต่อหลักความซื่อสัตย์สุจริตที่สมาชิกรัฐสภาได้ปฏิญาณตนไว้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 123 และขัดต่อหลักการออกเสียงลงคะแนนตามบทบัญญัติมาตรา 126 วรรคสาม ที่ให้สมาชิกคนหนึ่งมีเพียงเสียงหนึ่งเสียงในการออกเสียงลงคะแนน มีผลทำให้การออกเสียงลงคะแนนของรัฐสภาในการประชุมนั้นๆ เป็นการออกเสียงลงคะแนนที่ทุจริตไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของผู้แทนปวงชนชาวไทย เนื่องมาจากกระบวนการลงคะแนนเสียงที่ไม่ชอบด้วยข้อบังคับการประชุมของรัฐสภา และขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังที่ได้ระบุมาแล้วข้างต้น มิอาจถือว่าเป็นมติที่ชอบของรัฐสภาในกระบวนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม…..
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 15-18/2556 ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงในประเด็นสำคัญแห่งคดีว่า จากการรับฟังพยานหลักฐานและคำเบิกความพยานในชั้นการพิจารณาไต่สวนคำร้องเป็นเรื่องที่แจ้งชัดทั้งภาพวีดิทัศน์ และประจักษ์พยานที่มาเบิกความประกอบการถ่ายทอดการประชุมรัฐสภาในระหว่างที่มีการออกเสียงลงมติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภาว่า มีสมาชิกรัฐสภาหลายรายมิได้มาออกเสียงลงมติในที่ประชุมรัฐสภาในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ แต่ได้มอบให้สมาชิกรัฐสภาบางรายใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนแทนในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม…..ถือเป็นการออกเสียงที่ทุจริตไม่ชอบด้วยข้อบังคับการประชุมของรัฐสภา….. เช่นนี้แล้วถ้าหากมีผู้นำเอาข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ไปฟ้องร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พุทธศักราช 2542 มาตรา 123/1[4] ว่าการกระทำของสมาชิกรัฐสภาบางรายที่มอบหมายให้สมาชิกรัฐสภารายอื่นออกเสียงลงคะแนนแทน ถือเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะต้องรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 15-18/2556 ว่า …..ในระหว่างที่มีการออกเสียงลงมติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภาว่า มีสมาชิกรัฐสภาหลายรายมิได้มาออกเสียงลงมติในที่ประชุมรัฐสภาในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ แต่ได้มอบให้สมาชิกรัฐสภาบางรายใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนแทนในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม…..ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พุทธศักราช 2542 มาตรา 123/1 ทันทีโดยไม่จำต้องนำสืบพยานหลักฐานเลยได้หรือไม่? หรือศาลอาญาสามารถรับฟังพยานหลักฐานเพื่อนำสืบถึงข้อเท็จจริงใหม่ได้ด้วยตนเอง?
ตัวอย่างที่สองที่เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติได้แก่ กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 66/2556 เกี่ยวกับคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68ว่าการชุมนุมประท้วงรัฐบาลที่ราชดำเนินของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ถือเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ไดมาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไวในรัฐธรรมนูญโดยมีความตอนหนึ่งว่า
…..การชุมนุมบริเวณถนนราชดำเนินโดยมีการปิดเส้นทางการจราจรบนถนนราชดำเนินจากแยกสะพานผ่านฟ้าลีลาศไปจนถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย….การเคลื่อนขบวนผู้ชุมนุมไปปิดล้อมและบุกยึดสถานที่ราชการ สถานที่เอกชน และรัฐวิสาหกิจต่างๆ อันส่งผลทำให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐไม่อาจเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ได้ โดยเฉพาะวันที่ 25 ธันวาคม 2556…..ได้ประกาศผ่านสื่อมวลชลซึ่งมีการถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศว่าจะดำเนินการยึดอำนาจการปกครองให้กลับมาเป็นของประชาชนเพื่อจะได้เปลี่ยนแปลงประเทศ…..เป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเพื่อแสดงเจตนารมณ์ทางการเมือง โดยมีเหตุมาจากความไม่ไว้วางใจในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล อันถือเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และเป็นเพียงการเรียกร้องและแสดงพลังด้วยการสนับสนุนของประชาชนจำนวนมาก ประกอบกับสถานการณ์ตามคำร้องได้พัฒนาไปสู่การยุบสภาและเข้าสู่กระบวนการของการเลือกตั้งแล้ว จึงยังไม่มีมูลกรณีที่จะเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่คำสั่งไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย
จะเห็นได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญโดยคำวินิจฉัยที่ 66/2556 ได้รับฟังข้อเท็จจริงว่า การชุมนุมบริเวณถนนราชดำเนินมีการปิดเส้นทางการจราจรบนถนนราชดำเนินจากแยกสะพานผ่านฟ้าลีลาศไปจนถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และมีการเคลื่อนขบวนผู้ชุมนุมไปปิดล้อมและบุกยึดสถานที่ราชการ สถานที่เอกชน และรัฐวิสาหกิจต่างๆ อันส่งผลทำให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐไม่อาจเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ได้ รวมถึงในวันที่ 25 ธันวาคม 2556 ได้ประกาศผ่านสื่อมวลชลซึ่งมีการถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศว่าจะดำเนินการยึดอำนาจการปกครองให้กลับมาเป็นของประชาชนเพื่อจะได้เปลี่ยนแปลงประเทศซึ่งข้อเท็จจริงที่ศาลรัฐธรรมนูญรับฟังนี้มีลักษณะที่เป็นคุณแก่นาย สุเทพ เทือกสุบรรณ อย่างชัดเจน เพราะศาลรัฐธรรมนูญมองว่าลำพังเพียงข้อเท็จจริงที่กล่าวมายังอยู่ในขอบเขตของการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญอยู่นั่นเอง
ในขณะเดียวกัน ผู้เขียนอยากให้ตั้งข้อสังเกตว่า ณ ขณะที่มีการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลรัฐธรรมนูญนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้ถูกดำเนินคดีต่อศาลอาญาซึ่งเป็นศาลยุติธรรมและออกหมายจับในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 อันเกิดจากมูลกรณีเดียวกันกับคดีของศาลรัฐธรรมนูญ (Same Cause of Action) เช่นนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จะสามารถยื่นคำร้องขอถอนหมายจับในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 โดยอ้างว่าศาลอาญาจะต้องผูกพันตามข้อเท็จจริงที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยเอาไว้เป็นคุณแก่ตนข้างต้นได้หรือไม่?โดยถือว่าข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเป็นบทตัดสำนวนในคดีอาญา โดยผลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 216 วรรคห้า?ถ้าหากข้อเท็จจริงปรากฏตามทางนำสืบของศาลอาญาว่าการกระทำของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ มีลักษณะที่ร่วมกันขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายต่อฝ่ายบริหารไม่ให้ปฏิบัติหน้าที่ได้ อีกทั้งมีการตัดน้ำ ตัดไฟ เพื่อไม่ให้ข้าราชการและเจ้าพนักงานเข้าทำงาน ซึ่งเป็นการกระทำที่เกินเลยกว่าการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เช่นนี้ ศาลอาญาจะวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางนำสืบเพื่อยกคำร้องขอถอนหมายจับได้หรือไม่?[5]
กล่าวโดยสรุป จากตัวอย่างที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติทั้งสองกรณีข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ถึงแม้ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลยุติธรรมจะเป็นศาลคนละประเภทกันภายใต้รัฐธรรมนูญ อีกทั้งมีเขตอำนาจศาลที่แตกต่างกันด้วย (Different Jurisdiction) แต่ก็อาจเกิดเหตุการณ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญและศาลยุติธรรมในคดีอาญาจะต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงอันมีมูลกรณีเดียวกัน (Same Cause of Action) หรือเกี่ยวพันกันได้ ซึ่งในกรณีเช่นนี้อาจเกิดปัญหาต่อมาว่าจะถือคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเป็นบทตัดสำนวนในคดีอาญาไปเลยได้หรือไม่ อนึ่ง หลักกฎหมายหรือทฤษฎีที่สามารถใช้ในการอธิบายประเด็นดังกล่าวได้เรียกว่า หลักกฎหมายปิดปากเฉพาะประเด็นแห่งคดี (Issue Estoppel/Collateral Estoppel/ Issue Preclusion) อันถือเป็นสาขาหนึ่งของหลักกฎหมายปิดปากโดยคำพิพากษานั่นเอง (Res Judicata)ซึ่งจะได้กล่าวถึงในหัวข้อต่อไป
2. หลักกฎหมายปิดปากโดยคำพิพากษา (RES JUDICATA)
ปัญหาการรับฟังข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นบทตัดสำนวนในคดีอาญานั้น มีความเกี่ยวพันโดยตรงกับหลักกฎหมายปิดปากโดยคำพิพากษา (Res..Judicata) ซึ่งมีสาระสำคัญว่า[6]ประเด็นที่ได้รับการวินิจฉัยชี้ขาดเอาไว้แล้วโดยคำพิพากษาของศาลย่อมไม่อาจถูกคู่ความเดิมหยิบยกขึ้นเป็นประเด็นพิพาทเป็นครั้งที่สองได้[7]ซึ่งหลักกฎหมายปิดปากโดยคำพิพากษานี้ มีรายละเอียดแนวคิดต่อยอดไปอีกคือ หลักกฎหมายปิดปากเฉพาะประเด็นแห่งคดี (Issue Estoppel/Issue Preclusion/Collateral Estoppel)ซึ่งกล่าวถึง[8]กรณีที่ศาลที่คดีอยู่ในระหว่างพิจารณา จะต้องถือข้อเท็จจริงเป็นยุติตามข้อเท็จจริงที่ได้มีการวินิจฉัยเอาไว้แล้วในคำพิพากษาของศาลคดีอื่น หากปรากฏว่าทั้งสองคดีมีคู่ความและประเด็นแห่งคดีชุดเดียวกัน[9]กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ถ้าหากข้อเท็จจริงที่ศาลกำลังจะวินิจฉัยได้เคยมีการวินิจฉัยเอาไว้โดยคำพิพากษาคดีอื่นแล้ว ศาลจะต้องรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามที่ได้มีการวินิจฉัยเอาไว้ก่อนแล้วเท่านั้น ศาลจะรับฟังข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่น หรืออนุญาตให้คู่ความสืบพยานหลักฐานเพื่อโต้แย้งข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นก็ไม่ได้เช่นกัน
สำหรับนโยบายทางกฎหมาย (Legal Policy) ที่อยู่เบื้องหลังหลักกฎหมายปิดปากเฉพาะประเด็นแห่งคดี หรือหลักกฎหมายปิดปากโดยคำพิพากษานั้นก็คือ เมื่อคดีทั้งสองคดีตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงเดียวกัน อีกทั้งยังมีคู่ความและประเด็นแห่งคดีชุดเดียวกันอีก (Same Parties and Same Issue) หากปล่อยให้มีการดำเนินคดีซ้ำกันถึงสองครั้ง (Re-Litigation) อาจเกิดปัญหาที่ศาลในสองคดีรับฟังข้อเท็จจริงขัดแย้งกันซึ่งถือเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดอย่างมาก การรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่นตามหลักกฎหมายปิดปากเฉพาะประเด็นแห่งคดี (Issue Estoppel) จึงเป็นมาตรการที่ช่วยให้ศาลทั้งสองคดีมีการรับฟังข้อเท็จจริงที่เป็นเอกภาพ อันนำมาซึ่งความน่าเลื่อมใสศรัทธาในระบบการรับฟังข้อเท็จจริงของศาล และถ้าหากพิจารณาในแง่ของความเป็นธรรมแล้ว เมื่อคู่ความในคดีก่อนได้มีโอกาสในการต่อสู้คดีครั้งก่อนอย่างเต็มที่และเป็นธรรมแล้ว (Full and Fair Opportunity) เหตุใดจะต้องปล่อยให้มีการดำเนินคดีซ้ำกันอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคดีที่กำลังพิจารณาอยู่นั้นเป็นคดีอาญา จะถือเป็นการละเมิดสิทธิของจำเลยในคดีอาญาที่จะไม่ถูกดำเนินคดีซ้ำกันถึงสองครั้งในเรื่องเดียวกัน (Double Jeopardy) ซึ่งถือเป็นสิทธิพื้นฐานของจำเลยในคดีอาญาที่มีการยึดถือกันอย่างเป็นสากล นอกจากนี้ ในแง่ของเหตุผลทางเศรษฐกิจ (Judicial Economy) การถือข้อเท็จจริงในคดีอาญาเป็นยุติตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาอื่นยังช่วยป้องกันความสิ้นเปลืองทางเศรษฐกิจทั้งในด้านของเวลาและงบประมาณภาครัฐที่จะต้องเสียไปกับการดำเนินคดีอาญาซ้ำกันถึงสองครั้งอีกด้วย
เมื่อได้ทราบถึงลักษณะของกฎหมายปิดปากโดยคำพิพากษาและประโยชน์ของการนำหลักดังกล่าวมาใช้ในการพิจารณาคดีแล้ว ในลำดับต่อไปจะขอนำศึกษาถึงการนำหลักกฎหมายปิดปากโดยคำพิพากษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักกฎหมายปิดปากเฉพาะประเด็นแห่งคดี (Issue Estoppel) มาใช้ในการพิจารณาพิพากษาคดีอาญาว่ามีการนำมาใช้ในลักษณะใดบ้าง
3. การนำหลักกฎหมายปิดปากเฉพาะประเด็นแห่งคดีมาใช้ในคดีอาญา
ถึงแม้หลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดี (Issue Estoppel) จะมีประโยชน์หลายประการต่อระบบกระบวนพิจารณาคดีของศาลตามที่กล่าวมาแล้ว แต่การนำเอาหลักกฎหมายปิดปากเฉพาะประเด็นแห่งคดีมาใช้ โดยมากยังถูกจำกัดอยู่ในการพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งเท่านั้น และไม่ค่อยมีการยอมรับให้นำเอาหลักกฎหมายดังกล่าวมาใช้ในคดีอาญาเท่าใดนัก ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศดังจะกล่าวในรายละเอียดต่อไปนี้
(ก) การนำหลักกฎหมายปิดปากโดยคำพิพากษามาใช้ในคดีอาญาของประเทศไทย
เมื่อพิจารณาจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทยแล้วจะพบว่า ประเทศไทยมีการยอมรับเอาหลักกฎหมายปิดปากโดยคำพิพากษาโดยเฉพาะหลักกฎหมายปิดปากเฉพาะประเด็นแห่งคดี (Issue Estoppel) มาใช้ในระบบกฎหมายวิธีพิจารณาความและพยานหลักฐานของไทยด้วย ดังที่ปรากฏในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 โดยขอตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายทั้งสองมาตราดังกล่าวกำหนดให้นำเอาหลักกฎหมายปิดปากเฉพาะประเด็นแห่งคดีมาใช้ในคดีแพ่งเท่านั้น กล่าวคือ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 กำหนดให้ศาลในคดีแพ่งจะต้องถูกผูกพันโดยข้อเท็จจริงที่วินิจฉัยเอาไว้ในคดีแพ่งก่อนหน้า ส่วนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 กำหนดให้ศาลในคดีแพ่งจะต้องถูกผูกพันโดยข้อเท็จจริงที่วินิจฉัยเอาไว้ในคดีอาญา แต่ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตราใดที่กำหนดให้ศาลในคดีอาญาจะต้องถูกผูกพันโดยข้อเท็จจริงที่วินิจฉัยเอาไว้ในคดีอื่น ดังนั้น หากพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายลายลักษณ์อักษร ศาลที่พิจารณาคดีอาญาไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลอื่นใด โดยศาลสามารถที่จะวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของตนเองได้เลย
อย่างไรก็ตาม ศาลฎีกาได้สร้างแนวบรรทัดฐานเกี่ยวกับการนำเอาข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่นมาใช้เป็นบทตัดสำนวนในคดีอาญาเอาไว้ในคำพิพากษาฎีกาที่ 2774/2546[10]และคำพิพากษาฎีกาที่ 5175/2547[11]ซึ่งหลักวินิจฉัยที่ได้จากคำพิพากษาฎีกาทั้งสองเรื่องดังกล่าวก็คือ ศาลที่พิจารณาคดีอาญาจะต้องใช้คำพิพากษาคดีแพ่งเป็นบทตัดสำนวน ถ้าหากคำพิพากษาคดีแพ่งได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงเอาไว้ในลักษณะที่เป็นคุณแก่จำเลยในคดีอาญาแสดงให้เห็นว่าศาลฎีกายอมรับให้มีการนำหลักกฎหมายปิดปากเฉพาะประเด็นแห่งคดีมาใช้ในคดีอาญาได้ ถ้าหากคำพิพากษาคดีอื่นนั้นเป็นคำพิพากษาคดีแพ่งที่ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงเอาไว้เป็นคุณแก่จำเลยในคดีอาญา โดยองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ได้วางบรรทัดฐานคดีตามคำพิพากษาฎีกาข้างต้น ได้กล่าวเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า[12]การวินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดีอาญาตามคำพิพากษาฎีกาที่ 2774/2546 มีความจำเป็นที่จะต้องวินิจฉัยตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีแพ่ง เพราะเมื่อศาลในคดีแพ่งได้ทำการวินิจฉัยข้อเท็จจริงเอาไว้จนถึงที่สุดแล้ว ข้อเท็จจริงก็ควรจะยุติไปในครั้งเดียว ศาลในคดีอาญาที่มีประเด็นที่ต้องพิจารณาเหมือนกันจะไม่ฟังข้อเท็จจริงในคดีแพ่งได้อย่างไรอีกทั้งการรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีแพ่งยังทำให้การวินิจฉัยข้อเท็จจริงของทั้งสองศาลไม่ขัดแย้งกันเอง ประหยัดต้นทุนทางเศรษฐกิจ และประหยัดเวลาไม่ต้องมาสืบพยานกันใหม่อีกด้วย หลักการดังกล่าวไม่ได้ใช้กับคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาเท่านั้น ในความเป็นจริงที่เกิดในทางปฏิบัติแม้ไม่ใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาก็มีการฟ้องคู่ขนานกันทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งทั้งสองคดีมีประเด็นที่ต้องพิจารณาเหมือนกัน ศาลก็ต้องนำหลักการรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามคดีอื่นมาใช้อยู่เสมอๆ
จากที่กล่าวมาข้างต้นทำให้เข้าใจได้ว่า ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายลายลักษณ์อักษรแล้ว ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ศาลที่พิจารณาคดีอาญาจะต้องรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามคำพิพากษาคดีอื่น แต่ศาลฎีกาในประเทศไทยได้วางบรรทัดฐานให้ศาลที่พิจารณาคดีอาญาสามารถรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามคำพิพากษาคดีแพ่งที่เป็นคุณแก่จำเลยได้ โดยอ้างเอาบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 มาใช้กับคดีอาญาผ่านประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 นั่นเอง
(ข) การนำหลักกฎหมายปิดปากโดยคำพิพากษามาใช้ในคดีอาญาของต่างประเทศ
สำหรับประเด็นเรื่องการนำเอาหลักกฎหมายปิดปากเฉพาะประเด็นแห่งคดี (Issue Estoppel) มาใช้กับคดีอาญาในต่างประเทศนั้น นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างมาก เพราะในขณะที่ประเทศไทยมีแนวโน้มในการนำเอาหลักการดังกล่าวมาใช้ในคดีอาญาดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่มุมมองต่อการนำเอาหลักกฎหมายปิดปากเฉพาะประเด็นแห่งคดีมาใช้ในคดีอาญาของนักนิติศาสตร์ในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายแบบคอมมอนลอว์ (Common Law Countries) หรือประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายแบบซีวิลลอว์ (Civil Law Countries) ล้วนแต่มีมุมมองในเชิงปฏิเสธต่อการนำเอาหลักกฎหมายปิดปากเฉพาะประเด็นแห่งคดีมาใช้ในคดีอาญาทั้งสิ้น ดังนั้น ในบทนี้จะขอกล่าวถึงการนำเอาหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดีมาใช้ในคดีอาญาในต่างประเทศ โดยเริ่มศึกษาจากประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายแบบคอมมอนลอว์คือ ประเทศอังกฤษ และประเทศสหรัฐอเมริกา จากนั้นจะศึกษาจากประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายแบบซีวิลลอว์คือ ประเทศฝรั่งเศส และประเทศเยอรมนี เพื่อประโยชน์ในการนำมาศึกษาเปรียบเทียบ (Comparative Study) ดังรายละเอียดต่อไปนี้
(1) ประเทศอังกฤษ
ในประเทศอังกฤษ ประเด็นเกี่ยวกับหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นในคดี (Issue Estoppel) เคยมีการหยิบยกขึ้นพิจารณาในชั้นศาล กล่าวคือ ศาลอังกฤษในคดี R. v. Hogan[13] ตัดสินว่า จำเลยเคยถูกฟ้องฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนบาดเจ็บสาหัสและศาลในคดีนั้นได้พิพากษาลงโทษจำเลย ต่อมาผู้เสียหายถึงแก่ความตายอันเนื่องมาจากถูกจำเลยทำร้ายนั้น โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องจำเลยฐานฆ่าคนตายเป็นอีกคดีหนึ่ง ดังนั้น จำเลยย่อมถูกกฎหมายปิดปากห้ามไม่ให้ปฏิเสธข้อเท็จจริงในคดีแรกที่ว่าจำเลยเป็นผู้ทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ซึ่งคำพิพากษาในคดีนี้แสดงให้เห็นว่า ในอดีตศาลอังกฤษเคยยอมรับว่าหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดี (Issue Estoppel) สามารถนำมาใช้ในการพิจารณาพิพากษาคดีอาญาได้
อย่างไรก็ตาม ต่อมาได้มีคดี R. v. Humphrys[14]ซึ่งศาลสภาขุนนาง (House of Lords) ของอังกฤษได้วินิจฉัยและวางหลักว่า กฎหมายปิดปากโดยประเด็นในคดีไม่สามารถที่จะนำมาใช้ในคดีอาญาได้ (Issue Estoppel does not apply in English Criminal Proceedings) โดยในคดีนี้ จำเลยได้เคยถูกฟ้องเป็นคดีก่อนหน้าในความผิดฐานขับรถโดยไม่ได้รับอนุญาตแต่ศาลในคดีก่อนยกฟ้องเพราะเห็นว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยว่าจำเลยได้เบิกความเท็จในการพิจารณาคดีแรก โดยโจทก์นำพยานหลักฐานมาแสดงว่าจำเลยได้ขับรถโดยไม่ได้รับอนุญาตจริง ซึ่งศาลก็ได้พิพากษาลงโทษจำเลยฐานเบิกความเท็จ จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ได้นำพยานหลักฐานเดียวกันกับในคดีก่อนมาแสดง ฉะนั้นโจทก์จะอ้างพยานหลักฐานดังกล่าวไม่ได้เพราะถูกปิดปากโดยประเด็นในคดี (Issue Estoppel) โดยผลของคำพิพากษาในคดีแรกแล้ว ในที่สุดศาลสภาขุนนาง (House of Lords) ได้วินิจฉัยว่าหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดีนี้ไม่สามารถที่จะนำมาใช้ในคดีอาญาได้ โจทก์จึงไม่ต้องห้ามที่จะกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่น
จะเห็นได้ว่าคำพิพากษาของศาลในคดี R. v. Humphrysนี้ได้กลับหลักในคำพิพากษาของศาลในคดี R. v. Hogan ดังนั้นจึงมีผลว่าตามหลักกฎหมายของประเทศอังกฤษ กฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดี (Issue Estoppel) ไม่สามารถนำมาปรับใช้ในคดีอาญาได้ (Issue Estoppel does not apply in English criminal proceedings)[15] ศาลในคดีอาญาจึงไม่ผูกมัดที่จะต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาของศาลในคดีอื่นไม่ว่าศาลในคดีอื่นจะเป็นศาลแพ่งหรือศาลอาญาก็ตามทีและถ้าหากมีการนำเสนอข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่นเข้ามาเป็นพยานหลักฐานชิ้นหนึ่งในคดีอาญา ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาดังกล่าวก็ย่อมมีสถานะเป็นเพียงพยานบอกเล่าที่ต้องห้ามไม่ให้รับฟังตามหลักพยานหลักฐานที่ดีที่สุด (The Best Evidence Rule) อีกด้วย จึงสรุปในเบื้องต้นได้ว่า สำหรับประเทศอังกฤษแล้ว ศาลที่พิจารณาคดีอาญาจะไม่รับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่นโดยเด็ดขาด ไม่ว่าศาลในคดีอื่นจะเป็นศาลแพ่งหรือศาลอาญาก็ตาม
(2) ประเทศสหรัฐอเมริกา
สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกา นับเป็นประเทศที่มีมุมมองต่อการนำเอาหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดี (Collateral Estoppel) มาใช้ในคดีอาญาอย่างกว้างขวางมาก โดยมีการอภิปรายถึงเหตุผลและความเหมาะสมของหลักการดังกล่าวในคำพิพากษาของศาลสูงมาเป็นเวลานาน จนได้ข้อสรุปที่น่าสนใจ โดยการนำหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดี (Collateral Estoppel) มาใช้ในคดีอาญาของประเทศสหรัฐอเมริกานั้นมีลักษณะที่แตกต่างจากในประเทศอังกฤษ กล่าวคือในประเทศอังกฤษจะไม่มีการนำเอาข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่นใดมาเป็นบทตัดสำนวนในการพิจารณาพิพากษาคดีอาญาเลย แต่ในประเทศสหรัฐอเมริกากลับพบว่ามีการนำเอาข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลคดีอื่นมาใช้ในคดีอาญาบ้างในบางลักษณะ ดังจะกล่าวต่อไปนี้
การนำหลักกฎหมายปิดปากในประเด็นแห่งคดี (Collateral Estoppel) มาใช้ในคดีอาญาของประเทศสหรัฐอเมริกา ในเบื้องต้นต้องเข้าใจก่อนว่า การนำข้อเท็จจริงในคำพิพากษาคดีอาญาก่อนหน้ามาใช้ผูกพันข้อเท็จจริงในคดีอาญาที่กำลังพิจารณาอยู่นี้อาจเป็นไปได้สองลักษณะคือ นำเอาข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอาญาก่อนหน้ามาใช้ในลักษณะที่เป็นโทษแก่จำเลยในคดีอาญาที่กำลังพิจารณาอยู่ (Offensive Collateral Estoppel) หรืออาจเป็นกรณีที่นำข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอาญาก่อนหน้ามาใช้ในลักษณะที่เป็นคุณแก่จำเลยในคดีอาญาที่กำลังพิจารณาอยู่ (Defensive Collateral Estoppel)[16] ซึ่งการนำมาใช้ในสองลักษณะตามที่กล่าวมานี้ต่างก็มีเหตุผลและความชอบธรรมที่แตกต่างกันออกไป
ในการพิจารณาคดีอาญา หากปรากฏว่าข้อเท็จจริงอันเป็นประเด็นแห่งคดีที่กำลังพิจารณาอยู่ ได้เคยมีคำพิพากษาของศาลอาญาในคดีก่อนหน้าวินิจฉัยเอาไว้แล้วว่าจำเลยได้เคยกระทำความผิดจริง (Conviction) ย่อมเป็นธรรมดาที่โจทก์จะร้องขอต่อศาลให้วินิจฉัยข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีก่อนหน้าทันทีตามหลักกฎหมายปิดปากโดยคำพิพากษา (Offensive Collateral Estoppel) เพื่อบรรเทาภาระในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงของตน อย่างไรก็ตาม ศาลและนักนิติศาสตร์ในประเทศสหรัฐอเมริกาส่วนใหญ่มีความเห็นไปในทางที่ว่า ศาลที่พิจารณาคดีอาญาไม่ควรนำเอาข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของคดีอาญาก่อนหน้ามาใช้ในลักษณะที่เป็นโทษแก่จำเลย ทั้งนี้เพราะจำเลยควรจะต้องได้รับสิทธิในการพิจารณาคดีโดยลูกขุน (Right to a Jury Trial) ซึ่งเป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกาได้รองรับเอาไว้อย่างชัดเจนในการแก้ไขครั้งที่หก (the Sixth Amendment)[17] หากให้มีการถือข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาที่ลงโทษจำเลยในคดีก่อนหน้าย่อมเป็นการปิดกั้นไม่ให้โอกาสลูกขุนในการใช้ดุลพินิจพิจารณาคดีดังที่ควรจะเป็น[18] นอกจากนี้ Tennessee Supreme Court ก็ได้ให้เหตุผลสนับสนุนหลักการดังกล่าวเอาไว้อย่างน่าสนใจในคดี State v. Scarbrough (2005)[19]โดยศาลกล่าวในทำนองที่ว่า ถึงแม้การรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีก่อนหน้าจะเป็นการป้องกันการดำเนินคดีซ้ำซ้อนและป้องกันการสิ้นเปลืองทางเศรษฐกิจไปได้ แต่ในกรณีที่เป็นคดีอาญา สิทธิของจำเลยในการได้รับการพิจารณาโดยลูกขุน (Right to a Jury Trial) ซึ่งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ จำเป็นจะต้องถูกนำมาชั่งน้ำหนักเพื่อพิจารณาถึงความเหมาะสมด้วย รวมถึง California State Court ก็ได้เคยให้เหตุผลสนับสนุนเอาไว้ในคดี Gutierrez v. Superior Court (1994)[20]ว่าในกรณีของคดีอาญา สิทธิของจำเลยในการเสนอพยานหลักฐานว่าตนไม่ได้กระทำความผิด (Right in Presenting a Defense) และสิทธิในการได้รับการพิจารณาโดยลูกขุน มีน้ำหนักที่ควรใส่ใจมากกว่าเหตุผลเรื่องการป้องกันการสิ้นเปลืองทางเศรษฐกิจ ดังนั้นศาลในคดีอาญาจะต้องเปิดโอกาสให้จำเลยนำพยานหลักฐานเข้าสืบต่อหน้าลูกขุนเพื่อพิสูจน์ว่าตนไม่ได้กระทำความผิด ถึงแม้ศาลในคดีอาญาก่อนหน้าจะได้เคยวินิจฉัยเอาไว้แล้วว่าจำเลยกระทำความผิดก็ตาม
อนึ่ง the Ninth Circuit Court เคยตัดสินเอาไว้ในคดี Pena-Cabanillas v. United States (1968)[21] ว่า ให้นำเอาข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอาญาก่อนหน้า (Prior Conviction) ที่ตัดสินว่าจำเลยเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย มาใช้ในการพิจารณาคดีอาญาภายหลังด้วย ถ้าหากคดีมีประเด็นและคู่ความเดียวกัน แสดงให้เห็นว่าศาลในคดีดังกล่าวนำเอาหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดีมาใช้เป็นโทษแก่จำเลยในคดีอาญาอย่างชัดเจน (Offensive Use of Collateral Estoppel) อย่างไรก็ตาม เมื่อศึกษาถึงนโยบายที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินคดีดังกล่าวแล้วพบว่า การที่ศาลในคดี Pena-Cabanillas v. United States (1968) นำเอาข้อเท็จจริงที่เป็นโทษแก่จำเลยในคดีอาญามาใช้นั้น เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ และประโยชน์ในการบริหารกระบวนการยุติธรรมทางอาญา (Public Policy and Judicial Administration) กล่าวคือ ในช่วงเวลาดังกล่าวมีการหลบหนีเข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเยอะ เมื่อศาลพิพากษาลงโทษและขับออกนอกประเทศไปแล้ว จำเลยก็มักจะหนีกลับเข้ามาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอีกครั้ง หากปล่อยให้จำเลยคนเดิมสามารถยกข้อต่อสู้แบบเดิมได้อีกครั้งย่อมเป็นการเสียเวลาอย่างมาก ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการปราบปรามและควบคุมการหลบหนีเข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลจึงนำเอาข้อเท็จจริงในคดีอาญาก่อนหน้าที่ได้ตัดสินลงโทษจำเลยไปแล้ว มาใช้ผูกมัดจำเลยคนเดิมนั้นไม่ให้โต้แย้งข้อเท็จจริงเป็นประการอื่นอีกต่อไป[22] อย่างไรก็ตาม ศาลและนักนิติศาสตร์ส่วนใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกายังคงถือว่า หลักกฎหมายปิดปากโดยคำพิพากษา (Collateral Estoppel) จะไม่นำเอามาใช้ในลักษณะที่เป็นโทษแก่จำเลยในคดีอาญาอย่างเด็ดขาดอยู่นั่นเอง
ในประเด็นเกี่ยวกับการรับฟังคำพิพากษาในคดีอาญาก่อนหน้าที่ตัดสินลงโทษจำเลย (Conviction)นี้ มีข้อสังเกตว่าถ้าหากมีการนำเสนอคำพิพากษาคดีอาญาอื่นที่วินิจฉัยข้อเท็จจริงเกี่ยวพันกันเอาไว้ว่าจำเลยได้กระทำความผิดมาเป็นพยานหลักฐานชิ้นหนึ่งในคดีอาญา ย่อมถือเป็นเพียงพยานบอกเล่าเท่านั้น ซึ่ง Federal Rules of Evidence ข้อที่ 609(a)[23]และข้อที่ 803(22[24]) ได้วางหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการรับฟังคำพิพากษาในคดีอาญาก่อนหน้าที่ตัดสินว่าจำเลยกระทำความผิด (Prior Conviction) เอาไว้ กล่าวคือ คำพิพากษาในคดีอาญาอื่นมีสถานะเป็นพยานบอกเล่า (Hearsay) ซึ่งโดยหลักแล้วศาลไม่สามารถรับฟังได้ แต่ด้วยความที่คำพิพากษาในคดีอาญาอื่นนั้น โดยลักษณะที่มามีความน่าเชื่อถือกว่าพยานบอกเล่าประเภทอื่นๆ Federal Rule of Evidence จึงได้วางข้อยกเว้นให้ศาลสามารถรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาอื่นที่วินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิด (Prior Conviction) ได้ แต่จะต้องรับฟังในฐานะที่เป็นพยานหลักฐานชิ้นหนึ่งในคดีเท่านั้น หาใช่เป็นการนำมาผูกมัดให้ศาลในคดีอาญาต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามนั้นแต่อย่างใด
ประเด็นต่อมาที่ต้องกล่าวถึงก็คือ ถ้าหากเป็นกรณีที่คำพิพากษาของศาลในคดีอาญาก่อนหน้าได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงในประเด็นเดียวกันนี้เอาไว้ว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด (Acquittal) เช่นนี้ย่อมเกิดปัญหาว่าศาลอาญาคดีหลังจะต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีก่อนหน้าโดยวินิจฉัยว่าจำเลยในคดีหลังนี้ไม่ได้กระทำความผิด (Defensive Collateral Estoppel) ทันทีหรือไม่ ซึ่งในประเด็นนี้ The United Supreme Court ได้เคยวินิจฉัยเอาไว้ในคดี Ashe v. Swenson (1970)[25]ว่า เมื่อศาลในคดีแรกได้วินิจฉัยเอาไว้อย่างชัดแจ้งแล้วว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดอาญา รัฐย่อมไม่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าวอีกครั้งด้วยการดำเนินคดีอาญาภายหลังเป็นอีกคดีหนึ่ง ทั้งนี้เพราะประเด็นที่ว่าจำเลยได้กระทำความผิดหรือไม่ ถือเป็นหลักในการพิจารณาคดีทั้งสองคดี เมื่อศาลในคดีแรกได้วินิจฉัยแล้วว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดก็ต้องถือตามนั้น อีกทั้งในการพิจารณาคดีแรก รัฐก็ได้รับโอกาสอย่างเต็มที่และเป็นธรรม (Full and Fair Opportunity) ในการนำพยานหลักฐานเข้าพิสูจน์ความผิดของจำเลยแล้วด้วย ถ้ายอมให้มีการพิสูจน์ความผิดกันอีกครั้งหนึ่งในการดำเนินคดีอาญาภายหลัง ย่อมเป็นการขัดต่อสิทธิของจำเลยในคดีอาญาที่จะไม่ถูกดำเนินคดีสองครั้งในเรื่องเดียวกัน (Double Jeopardy) ซึ่งเป็นสิทธิที่ปรากฏอยู่ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกาครั้งที่ 5[26]และครั้งที่ 14[27] (the Fifth and Fourteenth Amendment) อย่างชัดแจ้งอีกด้วย ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ถ้าหากมีการอ้างอิงคำพิพากษาคดีอาญาก่อนหน้าในลักษณะที่เป็นคุณแก่จำเลยในคดีนี้ (Defensive Collateral Estoppel) ศาลอาญาในคดีนี้จำเป็นต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลอาญาคดีก่อนหน้าทันที หากโจทก์ขอนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยในคดีหลัง ศาลจะอนุญาตไม่ได้เพราะถูกกฎหมายปิดปากโดยคำพิพากษาในคดีก่อนหน้าแล้วนั่นเอง
อนึ่ง ในการพิจารณาคดีอาญา ถ้าหากข้อเท็จจริงในประเด็นเดียวกันเคยได้รับการวินิจฉัยเอาไว้โดยคำพิพากษาคดีแพ่งก่อนหน้าแล้ว จากการศึกษาไม่พบว่าศาลในคดีอาญาของประเทศสหรัฐอเมริกา รับฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ไม่ว่าจะเป็นการรับฟังในทางที่เป็นคุณ (Defensive Collateral Estoppel) หรือเป็นโทษ (Offensive Collateral Estoppel) ทั้งนี้ เพราะโดยหลักแล้วจำเลยในคดีอาญามีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาจากลูกขุน และมีสิทธิที่จะได้เผชิญหน้ากับพยานในคดีอาญา (Right to Confrontation of Witnesses) หากปล่อยให้มีการรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีแพ่งก็จะเป็นการละเมิดต่อสิทธิของจำเลยตามรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน[28]
กล่าวโดยสรุป ศาลอาญาในประเทศสหรัฐอเมริกาจะนำหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดี (Collateral Estoppel) มาใช้ในคดีอาญาเฉพาะกรณีที่คำพิพากษาคดีอาญาก่อนหน้าได้วินิจฉัยเอาไว้ในลักษณะที่เป็นคุณแก่จำเลยเท่านั้น ถ้าหากคำพิพากษาคดีอาญาก่อนหน้าได้วินิจฉัยเอาไว้ว่าจำเลยได้กระทำความผิดย่อมไม่ผูกพันให้ศาลอาญาในคดีหลังต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามนั้น รวมถึงในกรณีที่คำพิพากษาในคดีก่อนเป็นคำพิพากษาของศาลคดีแพ่ง ก็ไม่มีผลผูกพันให้ศาลในคดีอาญาที่มีข้อเท็จจริงเกี่ยวพันกันต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีแพ่งนั้นแต่อย่างใด
ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นแนวคิดเกี่ยวกับการรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาตามคำพิพากษาคดีอื่น ตามที่ปรากฏในประเทศคอมมอนลอว์ ซึ่งโดยหลักแล้วจะไม่มีการนำเอาข้อเท็จจริงในคดีอื่นมาใช้ในคดีอาญาเลย ไม่ว่าจะเป็นประเทศอังกฤษหรือสหรัฐอเมริกา เว้นแต่กรณีเดียวที่ศาลในประเทศสหรัฐอเมริกาอนุญาตให้นำเอาหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดีมาใช้ในคดีอาญาได้ คือกรณีที่ศาลในคดีอาญาก่อนหน้าได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงเอาไว้เป็นคุณแก่จำเลยในคดีอาญาเท่านั้น ในประเด็นต่อไปจะนำศึกษาถึงแนวคิดเกี่ยวกับการรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาตามคำพิพากษาคดีอื่นตามที่ปรากฏในกลุ่มประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายแบบซีวิลลอว์อันได้แก่ ประเทศฝรั่งเศส และประเทศเยอรมนี ซึ่งจากการศึกษาพบว่าในประเทศซีวิลลอว์ไม่ค่อยมีพัฒนาการของหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดีมากเท่าไรนัก แต่ก็พอจะมีแนวคิดดังกล่าวปรากฏอยู่ในระบบกฎหมายของประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายแบบซีวิลลอว์อยู่บ้าง ดังจะกล่าวในรายละเอียดต่อไปนี้
(3) ประเทศฝรั่งเศส
ในประเทศฝรั่งเศสไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กำหนดให้ศาลในคดีอาญาจะต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาของศาลคดีอื่นดังเช่นในประเทศคอมมอนลอว์ แม้จะปรากฏว่าศาลฎีกาในประเทศฝรั่งเศสได้สร้างบรรทัดฐานของการรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่นเอาไว้ในปี ค.ศ.1855[29]ว่า ศาลในคดีแพ่งต้องยึดถือข้อเท็จจริงที่ศาลอาญาได้ทำการวินิจฉัยเอาไว้แล้ว (L’autorite′ de la chose juge′e au criminal sur le civil)[30] โดยมีเจตนารมณ์ต้องการให้ศาลชั้นต้นสองศาลวินิจฉัยข้อเท็จจริงให้เหมือนกันก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องของคดีแพ่งที่จะต้องถือข้อเท็จจริงตามคดีอาญา หาได้ตอบคำถามว่ากรณีคดีอาญาจะต้องถือข้อเท็จจริงตามคดีอื่นหรือไม่ทั้งนี้ อาจด้วยเหตุผลที่ว่า ในประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายแบบซีวิลลอว์ และหลักในการพิจารณาคดีของประเทศฝรั่งเศสก็ยึดระบบไต่สวน (Inquisitorial System) เป็นสำคัญ ศาลยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลอาญาจึงมีอำนาจในการแสวงหาข้อเท็จจริงแห่งคดีอย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องคำนึงว่าคำพิพากษาของศาลในคดีก่อนหน้าจะวินิจฉัยเอาไว้ว่าอย่างไร
(4) ประเทศเยอรมนี
สำหรับประเทศเยอรมนีที่ถือเป็นประเทศต้นแบบของระบบกฎหมายซีวิลลอว์อีกประเทศหนึ่งนั้น ปรากฏว่าเคยได้รับอิทธิพลของหลักกฎหมายปิดปากโดยคำพิพากษา (Res Judicata) มาจากกฎหมายของโรมันในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ประเทศอังกฤษเริ่มมีพัฒนาการเกี่ยวกับหลักกฎหมายปิดปากโดยคำพิพากษา อย่างไรก็ตาม ในภายหลังราวคริสต์ศตวรรษ 18 -19 ซึ่งเป็นช่วงที่แนวคิดการจัดทำประมวลกฎหมาย (Codification) ในยุโรปกำลังเฟื่องฟู กลับปรากฏว่าแนวคิดการถือข้อเท็จจริงเป็นยุติตามคำพิพากษาของศาลคดีอื่นเสื่อมความนิยมลงไปในระบบกฎหมายของประเทศเยอรมนี ทั้งนี้ในช่วงเวลาดังกล่าว ได้มีการถกเถียงเกี่ยวกับปัญหาการถือข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่นอย่างกว้างขวางในวงการนิติศาสตร์ โดยผู้ที่เสนอให้มีการนำหลักการดังกล่าวมาใช้ในระบบกฎหมายของประเทศเยอรมนีก็คือ VonSavigny[31] ซึ่งภายหลังจากการอภิปรายปัญหาดังกล่าว ฝ่ายที่ต่อต้านทฤษฎีของ Von Savignyได้รับชัยชนะในการอภิปราย ทำให้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งของประเทศเยอรมนี ที่ร่างในปี คริสต์ศักราช 1877 จำกัดบทบาทของหลักการถือข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลคดีอื่นอย่างมาก กล่าวคือโดยหลักแล้วศาลไม่จำเป็นต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลคดีอื่น แม้ประเด็นเดียวกันนั้น (Identical Issue) จะได้รับการวินิจฉัยโดยศาลคดีอื่นที่มีอำนาจแล้วก็ตาม[32]
ต่อประเด็นปัญหาที่ว่า ศาลในคดีอาญาของประเทศเยอรมนีในปัจจุบันจะต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่นหรือไม่นั้น จากการศึกษาพบว่าหลักกฎหมายปิดปากในประเด็นแห่งคดี (Issue Estoppel) ไม่ปรากฏในระบบกฎหมายของประเทศเยอรมนีและประเทศในภาคพื้นทวีปยุโรปส่วนใหญ่[33]ดังนั้น ศาลที่พิจารณาคดีอาญาในประเทศเยอรมนีจึงไม่ต้องถือข้อเท็จจริงเป็นยุติตามที่ปรากฏในคำพิพากษาของศาลคดีอื่น เพียงแต่สามารถนำข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลในคดีอื่นมาเป็นพยานหลักฐานของศาลได้เท่านั้น และถึงแม้จะเป็นกรณีที่ข้อเท็จจริงมีความเกี่ยวพันกันระหว่างคดีแพ่งกับคดีอาญา (Sachzusammenhang) หรือที่เรียกว่าคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา (Das Adhaesionsverfahren)ก็ตาม[34] ก็ไม่ปรากฏว่ามีบทบัญญัติแห่งกฎหมายกำหนดให้ศาลที่พิจารณาคดีแพ่งต้องถือข้อเท็จจริงเป็นยุติตามที่ปรากฏในคำพิพากษาของศาลคดีส่วนอาญาดังเช่นในประเทศฝรั่งเศส และในทางกลับกันก็ไม่ปรากฏว่าศาลที่พิจารณาคดีอาญาต้องถือข้อเท็จจริงเป็นยุติตามที่ปรากฏในคำพิพากษาของศาลคดีส่วนแพ่ง ซึ่งในประเด็นนี้ ศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย ได้ให้ความเห็นเอาไว้ว่า[35]ศาลในประเทศเยอรมนีไม่มีการถือข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลคดีอื่น เพราะในประเทศเยอรมนีถือว่าศาลแต่ละคดีมีความเป็นอิสระจากกันนั่นเอง นอกจากนี้ อาจด้วยเพราะในประเทศเยอรมนีถือหลักว่าการดำเนินคดีอาญาจะต้องเป็นไปตามหลักการดำเนินคดีแบบตรวจสอบ (Examination Principle) ซึ่งศาลแต่ละคดีจะต้องค้นหาข้อเท็จจริงอย่างเต็มที่โดยปราศจากการผูกมัดจากคำพิพากษาคดีอื่นด้วย
กล่าวโดยสรุป เราได้ทราบว่าในสากลประเทศไม่ว่าจะเป็นประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายแบบคอมมอนลอว์ หรือระบบกฎหมายแบบซีวิลลอว์ ล้วนแต่ยึดถือเป็นหลักว่าจะไม่มีการนำเอาหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดีมาใช้ในคดีอาญาโดยในแต่ละประเทศก็มีการให้เหตุผลของการปฏิเสธไม่รับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาตามคำพิพากษาคดีอื่นที่แตกต่างกันออกไปตามที่เราได้ศึกษากันมาแล้ว
อ่านต่อหน้าสอง
[1]ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 กำหนดให้นำเอาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้ ดังนั้นในการวินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดีอาญาจึงต้องกระทำโดยอาศัยพยานหลักฐานในสำนวนเช่นเดียวกันกับคดีแพ่งนั่นเอง
[2]ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 กำหนดให้ศาลคดีแพ่งต้องถูกผูกพันโดยคำพิพากษาของศาลแพ่งคดีก่อนหน้า และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 กำหนดให้ศาลคดีแพ่งต้องถูกผูกพันโดยคำพิพากษาของศาลคดีอาญาก่อนหน้า
[3]ศาลรัฐธรรมนูญ, คำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญปี 2556[ออนไลน์], 5มกราคม 2556. แหล่งที่มาhttp://www.constitutionalcourt.or.th/index.php?option=com_docman&task=cat_view&gid=542&Itemid=94&lang=th
[4] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พุทธศักราช 2542 มาตรา 123/1 เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
[5]ในเรื่องนี้ปรากฏว่าในเวลาต่อมา ศาลอาญาได้ปฏิเสธคำร้องขอถอนหมายจับของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ด้วยเหตุผลที่ว่า ข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากการไต่สวนขอถอนหมายจับในคดีอาญาดังกล่าว มีความแตกต่างจากข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะนอกจากจะมีการบุกยึดสถานที่ราชการตามที่ปรากฏในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้วตามข้อเท็จจริงที่ได้รับจากการไต่สวนยังปรากฏด้วยว่ามีการขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย อีกทั้งยังปรากฏด้วยว่ามีการตัดน้ำ ตัดไฟ อีกด้วย แสดงให้เห็นว่าศาลอาญาไม่นำเอาข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมาใช้ในลักษณะของบทตัดสำนวนแต่อย่างใด ในทางกลับกัน ศาลอาญากลับเลือกรับฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏจากพยานหลักฐานในการไต่สวนขอถอนหมายจับเป็นหลัก ดังที่ศาลอาญากล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันศาลอาญา ให้ต้องรับฟังข้อเท็จจริงเช่นเดียวกันกับศาลรัฐธรรมนูญ (ที่มา: สำนักข่าวคม ชัด ลึ, ศาลอาญามีคำสั่งยกคำร้องขอถอนหมายจับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ [ออนไลน์], http://www.komchadluek.net/detail/20131127/173689.html)
[6] Bryan A. Garner, Black’s Law Dictionary, 9th ed. (St.Paul, Minn.: West Group, 2009), p.1425.
[7] An issue that has been definitively settled by judicial decision bars the same parties from litigating a second lawsuit on the same claim.
[8]Bryan A. Garner, Black’s Law Dictionary, p.298.
[9] A doctrine barring a party from relitigating an issue determined against that party in an earlier action.
[10]คำพิพากษาฎีกาที่ 2774/2546 (ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา: www. http://www.deka2007.supremecourt.or.th/deka/web/search.jsp) โจทก์เคยฟ้องจำเลยที่ 1 และบุตรสาวต่อศาลแพ่งว่าร่วมกันก่อสร้างรั้วคอนกรีตพิพาทรุกล้ำที่ดินของโจทก์ ศาลแพ่งวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยก่อสร้างรั้วคอนกรีตพิพาทรุกล้ำที่ดินของโจทก์ พิพากษายกฟ้อง คดีแพ่งดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว คำพิพากษาคดีแพ่งดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145 วรรค 1 การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้แม้จะเป็นคดีอาญา แต่คดีคงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่ารั้วคอนกรีตพิพาทรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์หรือไม่ อันเป็นประเด็นโดยตรงในคดีแพ่งดังกล่าว จึงต้องรับฟังว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ก่อสร้างรั้วคอนกรีตพิพาทรุกล้ำที่ดินของโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362 และมีผลถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสามีของจำเลยที่ 1 ด้วย และเมื่อรั้วคอนกรีตพิพาทมิได้รุกล้ำที่ดินของโจทก์แล้ว ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ยักย้ายหรือทำลายเครื่องหมายเขตแห่งที่ดินเพื่อถือเอาที่ดินส่วนใดของโจทก์มาเป็นของตนหรือของบุคคลที่สาม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 363
[11]คำพิพากษาฎีกาที่ 5175/2547 (ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา: www. http://www.deka2007.supremecourt.or.th/deka/web/search.jsp) เมื่อจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ในคดีที่โจทก์ฟ้องให้ชำระหนี้เงินกู้และในที่สุดศาลฎีกามีคำพิพากษาวินิจฉัยว่ามีเหตุให้พิจารณาใหม่ตามคำร้องของจำเลยที่ 1 โดยฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ไม่ทราบว่าถูกโจทก์ฟ้องให้ชำระหนี้เงินกู้ที่ศาลแพ่ง แต่เพิ่งมาทราบเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2540 ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงเป็นอันยุติและผูกพันโจทก์กับจำเลยที่ 1 ผู้เป็นคู่ความด้วยเหตุนี้เอง การที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องว่าเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2540 จำเลยทั้งสามร่วมกันโอนที่ดินพิพาททั้งสามแปลงในกรรมสิทธิ์ส่วนของจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 2 แสดงให้เห็นว่าในวันตามฟ้องดังกล่าวจำเลยที่ 1 ยังไม่ทราบว่าถูกโจทก์ฟ้องให้ชำระหนี้เงินกู้ ดังนั้น ในขณะเกิดเหตุตามฟ้อง จึงไม่อาจฟังเป็นยุติว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันโอนทรัพย์โดยรู้ว่าโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ทั้งนี้เพื่อมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยทั้งสามมีเจตนาร่วมกันกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 350
[12]สัมภาษณ์ประพันธ์ ทรัพย์แสง, ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์, 19 สิงหาคม 2556
[13]R. v. Hogam (1974) 2 All E.R.142.cited in R.J.Walker and M.G.Walker, The English Legal System, 5th ed. (London: Butterworths, 1980), p.569.
[14]R. v. Humphrys (1977) 2 All E.R.497.cited in R.J.Walker and M.G.Walker, The English Legal System, 5th ed. (London: Butterworths, 1980), p.569.
[15]Rupert Cross and Colin Tapper, Cross on Evidence, 7th Edition (London: Butterworths, 1990), p.91.
[16] Ray B.Schlegel, Zinger v. Terrel: The Collateral Effect of Criminal Judgment in Subsequent Civil Litigation: New Law in Arkansas and the Question Unanswered, Arkansas Law Review (2001): 3.
[17] The Sixth Amendment of the United State Constitution: In all criminal prosecutions, the accused shall enjoy the right to a speedy and public trial, by an impartial jury of the State and district wherein the crime shall have been committed, which district shall have been previously ascertained by law, and to be informed of the nature and cause of the accusation; to be confronted with the witnesses against him; to have compulsory process for obtaining witnesses in his favor, and to have the Assistance of Counsel for his defense.
[18] Donald L.Catlett, Charles D.Moreland, Janet M.Thompson, Collateral Estoppel in Criminal Cases: How and Where Does It Apply?, Journal of Missouri Bar (November-December 2006): 7.
[19] State v. Scarbrough (2005) cited in Donald L.Catlett, Charles D.Moreland, Janet M.Thompson, Collateral Estoppel in Criminal Cases: How and Where Does It Apply?, Journal of Missouri Bar (November-December 2006)
[20] Gutierrez v. Superior Court (1994) cited in Donald L.Catlett, Charles D.Moreland, Janet M.Thompson, Collateral Estoppel in Criminal Cases: How and Where Does It Apply?, Journal of Missouri Bar (November-December 2006)
[21] Pena-Cabanillas v. United States (1968) cited in Donald L.Catlett, Charles D.Moreland, Janet M.Thompson, Collateral Estoppel in Criminal Cases: How and Where Does It Apply?, Journal of Missouri Bar (November-December 2006)
[22] Donald L.Catlett, Charles D.Moreland, Janet M.Thompson, Collateral Estoppel in Criminal Cases: How and Where Does It Apply?, Journal of Missouri Bar (November-December 2006): 5.
[23]Federal Rule of Evidence. Rule 609(a)
In General. The following rules apply to attacking a witness’s character for truthfulness by evidence of a criminal conviction:(1) for a crime that, in the convicting jurisdiction, was punishable by death or by imprisonment for more than one year, the evidence: (A) must be admitted, subject to Rule 403, in a civil case or in a criminal case in which the witness is not a defendant; and (B) must be admitted in a criminal case in which the witness is a defendant, if the probative value of the evidence outweighs its prejudicial effect to that defendant; and (2) for any crime regardless of the punishment, the evidence must be admitted if the court can readily determine that establishing the elements of the crime required proving — or the witness’s admitting — a dishonest act or false statement.
[24]Federal Rule of Evidence. Rule 803(22)
The following are not excluded by the rule against hearsay, regardless of whether the declarant is available as a witness:
…(22) Judgment of a Previous Conviction. Evidence of a final judgment of conviction if:(A) the judgment was entered after a trial or guilty plea, but not a nolo contendere plea;(B) the conviction was for a crime punishable by death or by imprisonment for more than a year;(C) the evidence is admitted to prove any fact essential to the judgment; and(D) when offered by the prosecutor in a criminal case for a purpose other than impeachment, the judgment was against the defendant.The pendency of an appeal may be shown but does not affect admissibility…
[25] Ashe v. Swenson (1970) cited in Donald L.Catlett, Charles D.Moreland, Janet M.Thompson, Collateral Estoppel in Criminal Cases: How and Where Does It Apply?, Journal of Missouri Bar (November-December 2006).
[26] The Fifth Amendment of the United State Constitution : No person shall be held to answer for a capital, or otherwise infamous crime, unless on a presentment or indictment of a Grand Jury, except in cases arising in the land or naval forces, or in the Militia, when in actual service in time of War or public danger; nor shall any person be subject for the same offense to be twice put in jeopardy of life or limb; nor shall be compelled in any criminal case to be a witness against himself, nor bedeprived of life, liberty, or property, without due process of law; nor shall private property be taken for publicuse, without just compensation.
[27] The Fourteenth Amendment of the United State Constitution :All persons born or naturalized in the United States, and subject to the jurisdiction thereof, are citizens of the United States and of the State wherein they reside. No State shall make or enforce any law which shall abridge the privileges or immunities of citizens of the United States; nor shall any State deprive any person of life, liberty, or property, without due process of law; nor deny to any person within its jurisdiction the equal protection of the laws…
[28]Edward W.Cleary and others, Mccormick on Evidence, 3rd ed.(St.Paul,Minn: West Publishing, 1984), p.894.
[29] Cass. Civ.,7 mars 1855, affaire Quertier, D., 1855.I.81, อ้างถึงใน ปกป้อง ศรีสนิท, ศาลที่พิจารณาคดีแพ่งจำต้องถือตามคำพิพากษาคดีอาญาเพียงใด, วารสารนิติศาสตร์37, ฉบับที่ 2 (มิถุนายน 2551): 374.
[30]จิ๊ด เศรษฐบุตร, หลักกฎหมายแพ่งลักษณะละเมิด, พิมพ์ครั้งที่ 6 (กรุงเทพมหานคร: โครงการตำราและเอกสารประกอบการสอน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2550), หน้า 27-28.
[31]Ibid., p.7.
[32] Ibid.
[33]Budak, A.C., Res Judicata in Civil Proceedings in Common Law and Civillian Systems with Special Reference to Turkish and English Law, Civil Justice Quarterly (1992) : 1-2.
[34]สุรสิทธิ์ แสงวิโรจนพัฒน์, การมีส่วนร่วมของผู้เสียหายในกระบวนพิจารณาคดีอาญาตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเยอรมัน, ดุลพาห58 เล่มที่ 2:104.
[35]รายงานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ครั้งที่ 407-17/2515 วันอังคารที่ 6 มิถุนายน 2515 , สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา.
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1937
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 19:02 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|