คำพิพากษาการขอตีความในคดีปราสาทพระวิหาร: ประเด็นสำคัญที่ควรรู้

9 กุมภาพันธ์ 2557 19:10 น.

       1.     ความเป็นมา  
        
                 เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2554 กัมพูชาได้ยื่นขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) ซึ่งต่อไปเรียกว่า “ศาลโลก”  ตีความคำพิพากษาของวันที่ 15 มิ.ย. 2505 ในคดีปราสาทพระวิหาร  ตามธรรมนูญของศาลโลกข้อ 60   พร้อมกันนี้กัมพูชาได้ยื่นคำร้องเร่งด่วนขอให้ศาลโลกกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวตามธรรมนูญของศาลโลกข้อ 41 ให้ (1) ไทยถอนกำลังทหารออกจากส่วนของดินแดนกัมพูชาในพื้นที่บริเวณปราสาทพระวิหารในทันทีและไม่มีเงื่อนไข  (2) ห้ามไทยดำเนินกิจกรรมทางทหารใดๆ ในบริเวณดังกล่าว  และ (3) ให้ไทยงดเว้นการดำเนินการใดๆ ที่อาจกระทบสิทธิของกัมพูชาหรือเพิ่มความขัดแย้ง
                 ในวันที่ 30-31 พ.ค. 2554  ศาลโลกได้รับฟังการให้ถ้อยคำของทั้งไทยและกัมพูชากรณีคำร้องขอของกัมพูชาให้ศาลโลกกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราว  โดยกัมพูชาสรุปขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวรวม 3 ข้อตามที่กล่าวข้างต้น  ในขณะที่ไทยสรุปขอให้ศาลจำหน่ายคดีที่กัมพูชายื่นให้พิจารณาออกจากสารบบความของศาล 
                 ต่อมาในวันที่ 18 ก.ค. 2554  ศาลโลกได้มีคำสั่งยกคำขอของไทยดังกล่าว และกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวให้ทั้งไทยและกัมพูชาถอนกำลังทหารออกจากเขตปลอดทหารชั่วคราว (Provisional Demilitarized Zone: PDZ) ตามที่ศาลได้กำหนด  รวมทั้งให้ไทยจะต้องไม่ขัดขวางการเข้าถึงอย่างอิสระของกัมพูชาไปยังปราสาทพระวิหาร  ให้ทั้งสองฝ่ายต้องดำเนินความร่วมมือกันต่อไปตามในกรอบอาเซียนรวมทั้งต้องอนุญาตให้คณะผู้สังเกตการณ์เข้าไปยัง PDZ  และให้ทั้งสองฝ่ายต้องงดเว้นจากการกระทำใดๆ ที่อาจทำให้ข้อพิพาทนั้นเกิดมากขึ้น 
                 วันที่  18 ต.ค. 2554  ครม. ได้มีมติเห็นชอบให้ปฏิบัติตามคำสั่งมาตรการคุ้มครองชั่วคราวของศาลโลกตามที่สภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอ  และต่อมาวันที่ 18 ก.ค. 2555  ไทยและกัมพูชาได้ปรับกำลังทหารบางส่วนเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติตามคำสั่งของศาลโลกดังกล่าว
                 สำหรับกรณีคำขอของกัมพูชาให้ตีความคำพิพากษาของศาลโลก  ไทยได้ยื่นข้อสังเกต  และกัมพูชาได้ยื่นตอบข้อสังเกตของไทย  รวมทั้งไทยได้ยื่นคำอธิบายเพิ่มเติม  ทั้งหมดเป็นลายลักษณ์อักษรต่อศาลโลกแล้วเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2554   8 มี.ค.  และ  21 มิ.ย. 2555 ตามลำดับ 
       ในวันที่ 15-19 เม.ย. 2556   ไทยและกัมพูชาได้ให้ถ้อยคำต่อศาลกรณีคำขอของกัมพูชาให้ตีความคำพิพากษาของศาลโลก  โดยแต่ละฝ่ายได้มีโอกาสให้ถ้อยคำฝ่ายละ 2 รอบสลับกันโดยเริ่มจากฝ่ายกัมพูชาก่อน 
       ต่อมาในวันที่ 11 พ.ย. 2556  ศาลโลกได้อ่านคำพิพากษากรณีการขอตีความดังกล่าว
        
                 2.     เขตอำนาจของศาลเหนือข้อพิพาทระหว่างรัฐ  และเงื่อนไขกรณีการขอตีความคำพิพากษา     
                       ตามกฎบัตรสหประชาชาติข้อ 93 สมาชิกทั้งหมดของสหประชาชาติย่อมเป็นภาคีแห่งธรรมนูญศาลโลก  แต่ศาลโลกมิได้มีเขตอำนาจเหนือข้อพิพาทของรัฐที่มีลักษณะของการสู้ความ (Contentious jurisdiction) โดยอัตโนมัติเหมือนกับระบบศาลตามกฎหมายภายในของรัฐ  ตามธรรมนูญศาลโลกข้อ 36  ศาลโลกจะมีเขตอำนาจในการวินิจฉัยข้อพิพาทก็ต่อเมื่อรัฐคู่พิพาทตกลงยินยอมที่จะเสนอข้อพิพาทดังกล่าวให้ศาลโลกพิจารณา  หรือเมื่อรัฐมีคำประกาศ (Declaration) ยอมรับเขตอำนาจของศาลโลกในลักษณะบังคับโดยไม่ต้องมีความตกลงพิเศษกับรัฐอื่นใดซึ่งยอมรับพันธกรณีในลักษณะเดียวกัน  ปัจจุบันมี 67 ประเทศที่มีคำประกาศยอมรับเขตอำนาจของศาลโลกในลักษณะดังกล่าวซึ่งมีกัมพูชารวมอยู่ด้วย  ในขณะที่ไทยเคยมีคำประกาศดังกล่าวเมื่อปี 2493  แต่ได้ปล่อยให้คำประกาศสิ้นสุดลงโดยไม่ต่อใหม่เมื่อปี 2503 
                 อย่างไรก็ตาม  การขอของกัมพูชาให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาของวันที่ 15 มิ.ย. 2505    ในคดีปราสาทพระวิหารซึ่งเป็นคดีเก่าที่ไทยได้เคยยอมรับเขตอำนาจของศาลโลกและมีคำพิพากษาไปแล้ว จึงสามารถกระทำได้ตามธรรมนูญศาลโลกข้อ 60  ที่ได้บัญญัติว่า  “คำพิพากษาถือเป็นที่สุดและไม่สามารถอุทธรณ์ได้  แต่ในกรณีของการพิพาทเกี่ยวกับความหมายหรือขอบเขตของคำพิพากษา  ศาลโลกจะตีความตามที่รัฐคู่พิพาทใดๆ ร้องขอได้”  ซึ่งแม้ไทยนิ่งเฉยไม่ให้การต่อศาลโลก  ศาลโลกก็สามารถมีคำตัดสินการตีความได้ตามธรรมนูญศาลโลกข้อ 53  ที่ได้บัญญัติว่า  “เมื่อใดก็ตาม  หนึ่งในคู่ความไม่มาปรากฏต่อหน้าศาล  หรือไม่มาสู้คดี  คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งอาจขอให้ศาลตัดสินเป็นคุณแก่ข้อเรียกร้องของตนได้”  นอกจากนี้ธรรมนูญศาลโลกยังมิได้กำหนดระยะเวลานับแต่วันที่มีคำพิพากษาที่ต้องยื่นคำขอให้มีการตีความคำพิพากษา
                 สำหรับคดีต่างๆ ที่มีการขอตีความคำพิพากษาในอดีต  ศาลโลกได้เคยวินิจฉัยเงื่อนไขสำคัญของการที่ศาลจะมีเขตอำนาจ (jurisdiction) ภายใต้ธรรมนูญศาลโลกข้อ 60  ที่รับพิจารณาคำขอตีความคำพิพากษา  และคำขอตีความคำพิพากษารับฟังได้ (admissible)  ไว้ดังนี้
       1)       เงื่อนไขของการที่ศาลจะมีเขตอำนาจที่รับพิจารณาคำขอตีความคำพิพากษา:  จะต้องมีข้อพิพาทเกี่ยวกับความหมายหรือขอบเขตของคำพิพากษา  ข้อพิพาทต้องมีความแตกต่างกันของความเห็นระหว่างคู่ความในประเด็นที่แน่นอน  นอกจากนี้ข้อพิพาทดังกล่าวต้องเกี่ยวกับส่วนที่มีผลผูกพันให้ปฏิบัติ (Operative clause) หรือที่เรียกว่า “บทปฏิบัติการของคำพิพากษา”  และไม่เกี่ยวกับส่วนเหตุผลของคำพิพากษา  ยกเว้นกรณีที่ไม่สามารถแยกออกได้จากส่วนที่มีผลผูกพันให้ปฏิบัติ 
       2)       เงื่อนไขของคำขอตีความคำพิพากษารับฟังได้:  จุดประสงค์ที่แท้จริงของการขอต้องเพื่อให้มีการตีความคำพิพากษา  ซึ่งมีความหมายว่าต้องเป็นเรื่องที่จะขอความชัดเจนของความหมายและขอบเขตของสิ่งที่ศาลได้ตัดสินให้มีผลผูกพัน  และมิใช่ขอคำตอบต่อประเด็นที่มิได้มีการตัดสิน  อื่นๆ นอกเหนือจากนี้จะทำให้สิ้นผลต่อบทบัญญัติที่ว่า  คำพิพากษาถือเป็นที่สุดและไม่สามารถอุทธรณ์ได้
        
                 3.   คำขอของกัมพูชาให้ศาลโลกตีความคำพิพากษา และข้อต่อสู้ของไทย        
                       ในคดีปราสาทพระวิหารที่กัมพูชายื่นฟ้องไทยต่อศาลโลกเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2502 กัมพูชาได้มีคำแถลงสรุปสุดท้ายเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2505 โดยขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยทั้งหมด 5 ข้อ ต่อมาศาลโลกได้มีคำพิพากษาในวันที่ 15 มิ.ย. 2505 ซึ่งมีข้อความส่วนท้ายดังนี้  
                       “ในประการสุดท้าย  เมื่อพิจารณาถึงคำแถลงสรุปที่คู่ความได้ยื่นต่อศาลเมื่อตอนจบกระบวนพิจารณาภาควาจา  ศาลมีความเห็นดังเหตุผลที่ได้บ่งไว้ในตอนต้นของคำพิพากษานี้  ว่าคำแถลงสรุปข้อที่หนึ่งและข้อที่สองของกัมพูชาที่ขอให้ศาลพิพากษาชี้ขาดในเรื่องสภาพทางกฎหมายของแผนที่ภาคผนวก 1 และในเรื่องเส้นเขตแดนในอาณาบริเวณที่พิพาท  จะรับฟังได้ก็แต่เพียงในฐานที่เป็นการแสดงเหตุผล และมิใช่เป็นข้อเรียกร้องที่จะต้องกล่าวถึงในบทปฏิบัติการของคำพิพากษา” และมีคำพิพากษาในส่วนของบทปฏิบัติการจำนวนสามวรรคเรียงลำดับตามคำแถลงสรุปข้อที่สามถึงห้าของกัมพูชาดังนี้
                 “โดยคะแนนเสียงเก้าต่อสาม ลงความเห็นว่าปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา
                 โดยเหตุนี้  จึงพิพากษาโดยคะแนนเสียงเก้าต่อสาม  ว่าประเทศไทยมีพันธะที่จะต้องถอนกำลังทหารหรือตำรวจ  ผู้เฝ้ารักษาหรือผู้ดูแลซึ่งประเทศไทยส่งไปประจำอยู่ที่ปราสาทพระวิหารหรือบริเวณใกล้เคียงบนอาณาเขตของกัมพูชา
                 โดยคะแนนเสียงเจ็ดต่อห้า  ว่าประเทศไทยมีพันธะที่จะต้องคืนให้แก่กัมพูชา  บรรดาวัตถุชนิดที่ได้ระบุไว้ในคำแถลงสรุปข้อห้าของกัมพูชาซึ่งเจ้าหน้าที่ไทยอาจจะได้โยกย้ายออกจากปราสาทหรือบริเวณพระวิหาร  นับแต่วันที่ประเทศไทยเข้าครอบครองพระวิหารเมื่อ ค.ศ. 1954”
        
                 แผนที่ภาคผนวก 1 ต่อท้ายคำฟ้องของกัมพูชาซึ่งต่อไปเรียกว่า “แผนที่ภาคผนวก 1”  เป็นแผนที่มาตราส่วน 1:200,000  ที่ฝรั่งเศสทำขึ้นฝ่ายเดียว  ตอนเขาดงรัก
                 ต่อมากัมพูชาได้ยื่นคำขอในวันที่ 28 เม.ย. 2554 ให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาของวันที่ 15 มิ.ย. 2505 โดยนายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของกัมพูชาในฐานะผู้แทน (Agent) ฝ่ายกัมพูชา  ได้แถลงสรุปต่อศาลโลกในวันที่ 18 เม.ย. 2556 ซึ่งมีส่วนที่สำคัญดังนี้
       “1)  การให้การต่อศาลของแต่ละฝ่ายได้แสดงว่าทั้งสองฝ่ายมีข้อพิพาทในความหมายและขอบเขตของคำพิพากษา
       2)   ข้อพิพาทนั้นเกี่ยวกับการตีความของบทปฏิบัติการของคำพิพากษาทั้งวรรคที่หนึ่งและวรรคที่สอง  รวมทั้งการเชื่อมโยงที่แยกไม่ได้ระหว่างทั้งสองวรรคดังกล่าว
       3)   ข้อพิพาทแต่ละข้อเกี่ยวกับสิ่งที่ได้ถูกตัดสินโดยศาลให้มีผลผูกพัน  ซึ่งรวมถึงความแตกต่างของความเห็นว่าประเด็นเฉพาะประเด็นหนึ่งประเด็นใดได้ถูกตัดสินให้มีผลผูกพันหรือไม่
                 4)   การวินิจฉัยในคำพิพากษาของวันที่ 15 มิ.ย. 2505 เกี่ยวกับสภาพที่มีผลผูกพันของเส้นในแผนที่ภาคผนวก 1  ไม่สามารถแยกออกจากบทปฏิบัติการได้  และขาดไม่ได้สำหรับการตีความคำพิพากษาดังกล่าว
       5)   เนื่องจากการตัดสินของศาลเกี่ยวกับสถานะทางกฎหมายของแผนที่ภาคผนวก 1 ซึ่งแสดงถึงพรมแดนระหว่างทั้งสองฝ่าย  การแสดงด้วยถ้อยคำ  “ตั้งอยู่ในอาณาเขตภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา”  (วรรคที่หนึ่งของบทปฏิบัติการ)  และ  “อาณาเขตของกัมพูชา”  (วรรคที่สองของบทปฏิบัติการ)  ต้องเป็นที่เข้าใจในการพิจารณาพรมแดนในพื้นที่ของปราสาทพระวิหาร
       6)   พันธะในการถอนทหารที่ถูกกำหนดในวรรคที่สองของบทปฏิบัติการต้องเป็นที่เข้าใจว่าเป็นพันธะต่อเนื่องขยายไปยังอาณาเขตใดๆ ที่อยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชาดังที่ถูกกำหนดในพื้นที่ที่พิพาท
       บนพื้นฐานของสิ่งที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น  กัมพูชาขอให้ศาลยกคำขอของไทยที่เสนอต่อศาล  และขอให้ศาลได้ตีความคำพิพากษาของวันที่ 15 มิ.ย. 2505 ตามธรรมนูญศาลโลกข้อ 60 โดยตามความเห็นของกัมพูชา  “ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา”  (วรรคที่หนึ่งของบทปฏิบัติการ)  ซึ่งเป็นผลทางกฎหมายของข้อเท็จจริงที่ว่าปราสาทตั้งอยู่ในพรมแดนฝั่งของกัมพูชาโดยที่พรมแดนนั้นได้ยอมรับโดยศาลในคำพิพากษา  ดังนั้นพันธะที่ผูกพันไทยให้  “ถอนกำลังทหารหรือตำรวจ  ผู้เฝ้ารักษาหรือผู้ดูแล  ที่ประจำการอยู่ที่ปราสาทพระวิหาร หรือในบริเวณใกล้เคียงบนอาณาเขตของกัมพูชา”  (ตามวรรคที่สองของบทปฏิบัติการ)  เป็นผลโดยเฉพาะของพันธะทั่วไปและต่อเนื่องในการเคารพบูรณภาพแห่งดินแดนของกัมพูชา  ซึ่งอาณาเขตนั้นได้ถูกปักปันในพื้นที่ของปราสาทและบริเวณใกล้เคียงของปราสาทโดยเส้นตามแผนที่ภาคผนวก 1 ที่ใช้เป็นพื้นฐานในคำตัดสินของศาล”
        
       ในขณะที่ไทยได้มีข้อต่อสู้คัดค้านคำขอของกัมพูชาให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาใน 3 ประเด็นสำคัญดังนี้
       1)       ศาลโลกไม่มีอำนาจพิจารณาและคำขอตีความของกัมพูชารับฟังไม่ได้ (inadmissible)  เนื่องจากคำฟ้องของกัมพูชาไม่ใช่คำขอตีความคำพิพากษาเก่าตามที่กัมพูชาอ้าง  แต่เป็นการฟ้องคดีใหม่ซึ่งเกี่ยวกับข้อพิพาทใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 5-6 ปีมานี้  เพราะกัมพูชาต้องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกจึงเกิดข้อพิพาทใหม่เรื่องเส้นเขตแดนซึ่งอยู่นอกขอบเขตของคดีเก่าเมื่อปี 2505 
                 ทั้งนี้คดีเก่านั้นได้ถูกจำกัดอยู่ในข้อพิพาทเรื่องอธิปไตยเหนืออาณาเขต (territorial dispute) ของปราสาทพระวิหารเท่านั้น  ไม่ใช่ข้อพิพาทเรื่องเขตแดน (frontier dispute)  ศาลจึงไม่ได้มีคำพิพากษาในบทปฏิบัติการเกี่ยวกับเรื่องสภาพทางกฎหมายของแผนที่ภาคผนวก 1  และเรื่องเส้นเขตแดนในอาณาบริเวณที่พิพาท  อีกทั้งเส้นเขตแดนตามแผนที่ภาคผนวก 1 ไม่ใช่เหตุผลสำคัญที่ไม่สามารถแยกออกจากบทปฏิบัติการของคำพิพากษาได้  แต่เป็นเพียงเหตุผลหนึ่งที่ศาลใช้พิจารณาจากหลายๆ เหตุผลที่แสดงถึงพฤติกรรมที่ไทยนิ่งเฉยไม่โต้แย้งเกี่ยวกับอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารว่าเป็นของตน 
                 อีกทั้งคำว่า “บริเวณใกล้เคียง”  ตามวรรคที่สองของบทปฏิบัติการนั้น  เป็นคำที่มีความหมายทั่วไป  ไม่ได้มีจุดประสงค์ที่จะกำหนดพื้นที่อาณาเขต (territorial area)  แต่เป็นเพียงการกำหนดเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ทางทหารในการถอนกำลังออกจากปราสาทและที่ข้างเคียง (close by)  เท่านั้น  เพื่อให้เป็นไปตามคำขอของกัมพูชาในคดีเดิมซึ่งขอให้ไทยถอนทหารออกจากบริเวณสิ่งหักพังของปราสาทพระวิหาร
       2)       ไทยและกัมพูชาไม่มีข้อพิพาทในเรื่องการตีความคำพิพากษาในคดีเดิม  กัมพูชาได้ยอมรับอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2505 ว่าไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาแล้ว  โดยไทยได้ถอนกำลังทหารและเจ้าหน้าที่ออกจากปราสาทพระวิหารและบริเวณใกล้เคียงปราสาทตามขอบเขตที่กำหนดโดยมติ ครม. วันที่ 10 ก.ค. 2505 ซึ่งสอดคล้องกับขอบเขตพื้นที่พิพาทในคดีเดิมตามความเข้าใจทั้งของคู่ความและของศาล 
                 ทั้งนี้มีหลักฐานหลายอย่างที่แสดงว่ากัมพูชาพอใจกับการปฏิบัติตามคำพิพากษาของไทยแล้ว  เช่น  ถ้อยแถลงต่อสมัชชาสหประชาชาติของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของกัมพูชาเมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2505 ว่าไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาแล้ว  และการเสด็จไปยังปราสาทพระวิหารของเจ้าสีหนุเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2506  และทรงตรัสเกี่ยวกับแนวรั้วลวดหนามที่กำหนดขอบเขตตามมติ ครม. ของไทยว่า  ไทยรุกล้ำอาณาเขตของกัมพูชาที่ศาลโลกได้ตัดสินให้เพียงไม่กี่เมตร  พระองค์จะไม่ทรงทำให้เป็นประเด็นสำหรับเรื่องซึ่งไม่สำคัญนี้ เป็นต้น
       3)       คำฟ้องของกัมพูชาเป็นเสมือนการอุทธรณ์ที่ซ่อนมาในรูปคำขอตีความ  ซึ่งขัดต่อธรรมนูญศาลโลกและแนวคำพิพากษาของศาลเรื่องการตีความ  เนื่องจากกัมพูชาขอตีความคำพิพากษาในส่วนที่เป็นเหตุผล  ไม่ใช่ส่วนที่เป็นคำตัดสิน  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขอให้ศาลตัดสินสิ่งที่ศาลได้เคยปฏิเสธที่จะตัดสินให้แล้วอย่างชัดเจนเมื่อปี 2505  เพราะอยู่นอกขอบเขตของคดี  ซึ่งก็คือขอให้ศาลตัดสินสถานะทางกฎหมายของแผนที่ภาคผนวก 1 และเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาในบริเวณปราสาทพระวิหาร   
                 ในวันที่ 19 เม.ย. 2556  นายวีรชัย  พลาศรัย  เอกอัครราชทูตไทยประจำเนเธอร์แลนด์ในฐานะผู้แทนฝ่ายไทย  ได้แถลงสรุปต่อศาลโลกโดยมีส่วนที่สำคัญดังนี้
                 “ราชอาณาจักรไทยขอให้ศาลพิพากษาและชี้ขาด
       1)       ว่าคำขอของราชอาณาจักรกัมพูชาที่ขอให้ศาลตีความคำพิพากษาของวันที่ 15 มิ.ย. 2505 ในคดีปราสาทพระวิหารตามข้อ 60 ของธรรมนูญศาลโลก ไม่เข้าเงื่อนไขที่ระบุไว้ในข้อดังกล่าว  และดังนั้นศาลไม่มีอำนาจที่จะรับคำขอ  และ/หรือว่าคำขอนั้นรับฟังไม่ได้
       2)       ในอีกทางเลือกหนึ่ง  ว่าไม่มีเหตุผลในการรับคำขอของกัมพูชาให้ตีความคำพิพากษา  และไม่มีเหตุผลที่จะตีความคำพิพากษาของปี 2505  และ
       3)       ชี้ขาดอย่างเป็นทางการว่า  คำพิพากษาของปี 2505  ไม่ได้วินิจฉัยโดยมีผลผูกพันในเรื่องเขตแดนระหว่างราชอาณาจักรไทยและราชอาณาจักรกัมพูชา  และไม่ได้กำหนดขอบเขตของบริเวณใกล้เคียงปราสาท”
        
                   3.   คำพิพากษาการขอตีความในคดีปราสาทพระวิหาร
                 ในวันที่ 11 พ.ย. 2556  ศาลโลกได้มีคำพิพากษาการขอตีความคำพิพากษาของวันที่ 15 มิ.ย. 2505 ในคดีปราสาทพระวิหาร โดยในส่วนของบทปฏิบัติการของคำพิพากษาซึ่งมีผลผูกพันทั้งสองฝ่ายเป็นดังนี้
       “ศาล
                 (1)  อย่างเป็นเอกฉันท์  ลงความเห็นว่า  ศาลมีเขตอำนาจภายใต้ข้อ 60 ของธรรมนูญศาลที่รับพิจารณาคำขอตีความคำพิพากษา ค.ศ. 1962  ที่ยื่นโดยกัมพูชา  และคำขอนี้รับฟังได้
                 (2)  อย่างเป็นเอกฉันท์  ชี้ขาดโดยทางการตีความว่า  คำพิพากษาเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ค.ศ. 1962    ได้ตัดสินว่า  กัมพูชามีอธิปไตยเหนืออาณาเขตทั้งหมดของชะง่อนผาพระวิหาร (the promontory of Preah Vihear)  ซึ่งถูกกำหนดในวรรค 98 ของคำพิพากษาปัจจุบัน  และเป็นผลให้ไทยมีพันธะที่ต้องถอนออกจากอาณาเขตนั้น  บรรดากำลังทหารหรือตำรวจไทย หรือ ผู้เฝ้ารักษาหรือผู้ดูแลที่ประจำอยู่ที่นั่น”
        
                 โดยวรรค 98 ของคำพิพากษาปัจจุบัน  มีข้อความดังนี้
        
                 “98. จากการให้เหตุผลในคำพิพากษา ค.ศ. 1962  ซึ่งเห็นได้ในการพิจารณาในการให้การในกระบวนพิจารณาเดิม  เห็นได้ชัดว่า  ขอบเขตของชะง่อนผาพระวิหารทางทิศใต้ของเส้นของแผนที่ภาคผนวก 1 ประกอบด้วยลักษณะทางธรรมชาติ  ทางทิศตะวันออก  ใต้  และตะวันตกเฉียงใต้  ชะง่อนผาลดต่ำลงเป็นหน้าผาที่ลาดชันไปยังที่ราบของกัมพูชา  คู่กรณีได้เห็นพ้องกันใน ค.ศ. 1962  ว่าหน้าผานี้และพื้นดินที่ตีนของหน้าผาอยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชาในทุกกรณี  ทางทิศตะวันตก และตะวันตกเฉียงเหนือ  พื้นดินลดต่ำลงเป็นที่ลาดเอียงซึ่งลาดชันน้อยกว่าหน้าผา ไปยังหุบเขาซึ่งแยกพระวิหารออกจากภูมะเขือ (the hill of Phnom Trap) ที่อยู่ใกล้เคียง  แต่อย่างไรก็ตามก็เป็นหุบเขาซึ่งตัวมันเองลดต่ำลงไปในทิศใต้สู่พื้นที่ราบของกัมพูชา  (ดูวรรค 89 ข้างบน)  สำหรับเหตุผลที่ได้ให้ไว้แล้ว  (ดูวรรค 92-97 ข้างบน)  ศาลเห็นว่าภูมะเขืออยู่นอกพื้นที่พิพาท  และคำพิพากษา ค.ศ. 1962  ไม่ได้หยิบยกคำถามว่ามันอยู่ในอาณาเขตของไทยหรือกัมพูชา  ดังนั้นศาลเห็นว่าชะง่อนผาพระวิหารสิ้นสุดลงที่ตีนภูมะเขือ  ซึ่งพูดได้ว่า  ที่ซึ่งพื้นดินเริ่มสูงขึ้นจากหุบเขา
                 ในทิศเหนือ  ขอบเขตของชะง่อนผาเป็นตามเส้นของแผนที่ภาคผนวก 1  จากจุดทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของปราสาทที่ซึ่งเส้นนั้นจดหน้าผา  ไปยังจุดในทิศตะวันตกเฉียงเหนือที่ซึ่งพื้นดินเริ่มสูงขึ้นจากหุบเขาที่ตีนภูมะเขือ
                 ศาลเห็นว่าวรรคที่สองของบทปฏิบัติการของคำพิพากษา ค.ศ. 1962  กำหนดให้ประเทศไทยถอนจากอาณาเขตทั้งหมดของชะง่อนผาพระวิหารดังที่ได้กำหนด  ไปยังอาณาเขตของไทย  บรรดาเจ้าหน้าที่ของไทยซึ่งได้ประจำอยู่ที่ชะง่อนผานั้น” 
        
                 สำหรับคำว่า “the promontory of Preah Vihear” นั้น  ในหนังสือคำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ  คดีปราสาทพระวิหาร  ที่จัดพิมพ์โดยสำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2505  ได้แปลเป็นไทยโดยใช้คำว่า  “ยอดเขาพระวิหาร”  แต่ในที่นี้ใช้คำว่า  “ชะง่อนผาพระวิหาร”  เพื่อให้สอดคล้องกับภูมิลักษณะของเขาพระวิหารซึ่งมีลักษณะเป็นชะง่อนผายื่นสูงขึ้นมาในลักษณะคล้ายกับแหลม  ถ้าจะพูดคร่าวๆ ให้เข้าใจง่ายแล้ว  ชะง่อนผาพระวิหารก็คือตัวเขาพระวิหารนั่นเอง 
                 เป็นที่น่าสังเกตว่า  ในคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารของวันที่ 15 มิ.ย. 2505 มีการกล่าวถึง “ชะง่อนผาพระวิหาร (the promontory of Preah Vihear)” เพียง 3 ที่ดังนี้
       1)       วรรคแรกในหน้าที่ 15 ของคำพิพากษา ซึ่งกล่าวว่า  “. . . ปราสาทแห่งนี้ตั้งอยู่บนชะง่อนผาที่มีชื่อเดียวกัน อันประกอบเป็นส่วนตะวันออกของทิวเขาดงรัก ซึ่งกล่าวโดยทั่วไปแล้วเป็นเขตแดนระหว่างประเทศทั้งสอง กล่าวคือ ประเทศกัมพูชาอยู่ทางด้านใต้ และประเทศไทยทางด้านเหนือ . . .” 
       2)       วรรคแรกในหน้าที่ 21 ของคำพิพากษา ซึ่งกล่าวว่า  “. . . และบนแผนที่ฉบับนี้มีเส้นเขตแดนซึ่งดูเสมือนว่าเป็นผลจากการกำหนดเส้นเขตแดนและซึ่งแสดงว่าชะง่อนผาพระวิหารทั้งหมดรวมทั้งเขตปราสาทอยู่ทางด้านกัมพูชา . . .”
       3)       วรรคสามในหน้าที่ 26 ของคำพิพากษา ซึ่งกล่าวว่า  “. . . ถ้าหากว่าลักษณะสัณฐานภูมิศาสตร์ของพื้นที่นี้เป็นที่เห็นได้ชัดแก่ทุกคนที่เคยไปยังที่นั้นว่าสันปันน้ำเป็นไปตามเส้นขอบหน้าผาดังที่ประเทศไทยได้กล่าวอ้างแล้ว (ข้อเท็จจริงซึ่งถ้าเป็นความจริงย่อมต้องเห็นได้ชัดเช่นกันใน ค.ศ. 1908) แผนที่ฉบับนี้ก็ได้แสดงไว้อย่างชัดเจนว่า เส้นเขตแดนตามภาคผนวก 1 ในอาณาบริเวณนี้มิได้เป็นไปตามขอบหน้าผา แต่กลับหันเหขึ้นไปทางเหนือของชะง่อนผาพระวิหารทั้งหมดอย่างเห็นได้ชัดเจนไม่มีใครที่ดูแผนที่นี้แล้วจะเกิดความเข้าใจผิดในเรื่องนี้ได้”
                 ในการมีคำพิพากษาในส่วนของบทปฏิบัติการตามข้อ (1) และ (2) ดังกล่าวข้างต้น  ศาลได้มีคำพิพากษาในส่วนของเหตุผลดังนี้
                 สำหรับข้อ (1)  ศาลเห็นว่ามีข้อพิพาทระหว่างทั้งสองฝ่ายเกี่ยวกับความหมายและขอบเขตของคำพิพากษาปี 2505 ใน 3 ประเด็นดังนี้  ประเด็นที่หนึ่ง  มีข้อพิพาทว่าคำพิพากษาปี 2505 ได้ตัดสินให้มีผลผูกพันหรือไม่ว่า  เส้นตามแผนที่ภาคผนวก 1  เป็นเส้นกำหนดเขตแดนระหว่างทั้งสองฝ่ายในพื้นที่ของปราสาทพระวิหาร  ประเด็นที่สอง  มีข้อพิพาทเกี่ยวกับความหมายและขอบเขตของข้อความ “บริเวณใกล้เคียงบนอาณาเขตของกัมพูชา (vicinity on Cambodian territory”  ซึ่งกล่าวถึงในวรรคที่สองของบทปฏิบัติการของคำพิพากษาปี 2505  ประเด็นที่สาม  มีข้อพิพาทเกี่ยวกับลักษณะของพันธะของไทยที่ต้องถอนกำลังทหารตามวรรคที่สองของบทปฏิบัติการของคำพิพากษาปี 2505  ศาลจึงสรุปว่า  ศาลมีเขตอำนาจภายใต้ธรรมนูญศาลโลกข้อ 60  ที่รับพิจารณาคำขอตีความคำพิพากษาได้
                 อีกทั้งจากข้อพิพาทเกี่ยวกับความหมายและขอบเขตของคำพิพากษาปี 2505 ดังกล่าวข้างต้น  ศาลเห็นว่า  มีความจำเป็นสำหรับการตีความวรรคที่สองของบทปฏิบัติการของคำพิพากษาปี 2505  และผลทางกฎหมายของสิ่งที่ศาลได้กล่าวถึงเกี่ยวกับเส้นของแผนที่ภาคผนวก 1  ภายใต้ขอบเขตนี้  คำขอตีความของกัมพูชาจึงรับฟังได้
                 สำหรับข้อ (2)  ศาลเห็นว่า  มีสามลักษณะสำคัญของคำพิพากษาปี 2505  ประการแรก  ข้อพิพาทเป็นเรื่องอธิปไตยเหนืออาณาเขต (territorial sovereignty)  ของพื้นที่ที่ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่  ไม่เกี่ยวกับการปักปันเขตแดน (delimiting the frontier)   ประการที่สอง  แผนที่ภาคผนวก 1 มีบทบาทสำคัญในการให้เหตุผลของศาล  ประการที่สาม  ในการกำหนดข้อพิพาท  ศาลได้ทำให้เกิดความชัดเจนว่า  มันเกี่ยวเพียงแต่อธิปไตยในเขต (region) ของปราสาทพระวิหาร  และเขตนี้ประกอบด้วยพื้นที่เล็กๆ  ซึ่งปรากฏจากกระบวนการพิจารณาคดีปี 2505  รวมทั้งศาลได้บรรยายเขตดังกล่าวไว้ดังนี้
                 “ปราสาทพระวิหาร . . . . . ตั้งอยู่บนชะง่อนผา (promontory) ที่มีชื่อเดียวกัน  อันประกอบเป็นส่วนตะวันออกของทิวเขาดงรัก  ซึ่งกล่าวโดยทั่วไปแล้วเป็นเขตแดนระหว่างประเทศทั้งสองในบริเวณนี้  กัมพูชาอยู่ทางด้านใต้  และประเทศไทยอยู่ทางด้านเหนือ  ส่วนใหญ่ของทิวเขานี้ประกอบด้วยหน้าผาตั้งชันขึ้นไปจากที่ราบของกัมพูชา  เขาพระวิหารเองก็มีลักษณะเช่นนี้  ส่วนก่อสร้างที่สำคัญของปราสาทพระวิหารตั้งอยู่บนยอดของพื้นที่สูงรูปสามเหลี่ยมซึ่งชะโงกออกไปเหนือที่ราบเบื้องล่าง”
                 ศาลได้กล่าวอีกว่า  วรรคที่สองและที่สามของบทปฏิบัติการของคำพิพากษาปี  2505  เป็นผลตามมาจากคำตัดสินในวรรคที่หนึ่งของบทปฏิบัติการดังกล่าว  ดังนั้นทั้งสามวรรคของบทปฏิบัติการต้องถูกพิจารณารวมกัน 
                 สำหรับวรรคที่สองของบทปฏิบัติการกำหนดให้ไทยต้องถอนกำลังเจ้าหน้าที่ซึ่งได้ส่งไปประจำอยู่ที่ปราสาทพระวิหารหรือบริเวณใกล้เคียงบนอาณาเขตของกัมพูชา  ดังนั้นศาลเห็นว่าต้องเริ่มโดยการตรวจสอบหลักฐานต่อศาลในปี 2505 เกี่ยวกับตำแหน่งที่ซึ่งเจ้าหน้าที่ไทยประจำการอยู่  จากหลักฐานที่ให้โดยแอคเคอร์แมนน์ (Ackermann) ผู้เชี่ยวชาญและพยานของไทยซึ่งเคยไปยังปราสาทพระวิหารเป็นเวลาหลายวันในเดือนกรกฎาคม 2504  เขาได้ให้การว่า  ระหว่างการไปที่นั้น  ที่ชะง่อนผาพระวิหารเขาได้เห็นตำรวจตระเวนชายแดนและผู้เฝ้าปราสาทหนึ่งคน  โดยตำรวจตระเวนชายแดนประจำการอยู่ที่ค่ายพักซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของปราสาท  ในขณะที่ผู้เฝ้าปราสาทอาศัยอยู่ในบ้านแยกกันในระยะทางสั้นๆ ไปทางตะวันตกของค่ายพักตำรวจตระเวนชายแดน
                 ทนายของไทยได้ยืนยันต่อมาว่า  ค่ายพักตำรวจอยู่ทางทิศใต้ของเส้นของแผนที่ภาคผนวก 1 แต่อยู่เหนือเส้นซึ่งกัมพูชากล่าวว่าเป็นเส้นสันปันน้ำในกระบวนการพิจารณาคดีปี 2505  ดังนั้นจึงปรากฏชัดเจนว่า  ตำรวจไทยได้ไปประจำการที่ตำแหน่งเหนือเส้นที่ต่อมาได้ถูกกำหนดโดยมติ ครม. ไทยเมื่อปี 2505 ซึ่งอยู่นอกเขตที่ไทยเห็นว่าเป็นบริเวณใกล้เคียงปราสาทบนอาณาเขตของกัมพูชา  ดังนั้นบริเวณใกล้เคียงปราสาทบนอาณาเขตของกัมพูชาต้องถึงตีความออกไปอย่างน้อยไปยังพื้นที่ที่ตำรวจไทยได้ประจำการอยู่ในเวลานั้น
                 ศาลในคดีเดิมได้เน้นในการบรรยายพื้นที่รอบๆ ปราสาทว่า  ปราสาทตั้งอยู่บนที่ทางภูมิศาสตร์ที่บ่งบอกได้ง่าย  ที่นั้นก็คือชะง่อนผา  นอกจากนี้จากการให้เหตุผลของศาลในคดีเดิมเกี่ยวกับความสำคัญของแผนที่ภาคผนวก 1 แสดงให้เห็นว่า  ศาลได้เห็นว่าอาณาเขตของกัมพูชาขยายออกไปทางทิศเหนือไกลถึงเส้นของแผนที่ภาคผนวก 1  ด้วยเหตุนี้ศาลเห็นว่า ขอบเขตของอาณาเขตตามวรรคที่สองของบทปฏิบัติการต้องถูกตีความให้ขยายไปยังชะง่อนผาทั้งหมดตามวรรคที่ 98 ของคำพิพากษาปัจจุบัน
                 นอกจากนี้ศาลยังได้สรุปว่า  ขอบเขตของอาณาเขตที่กล่าวถึงในทั้งสามวรรคของบทปฏิบัติการของคำพิพากษาปี 2505  กล่าวคือ  “อาณาเขตภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา” ตามวรรคที่หนึ่ง  “บริเวณใกล้เคียงบนอาณาเขตของกัมพูชา” ตามวรรคที่สอง  และ “บริเวณปราสาทพระวิหาร” ตามวรรคที่สาม  มีความหมายเหมือนกันคือเป็นอาณาเขตทั้งหมดของชะง่อนผ่าพระวิหารตามวรรคที่ 98 ของคำพิพากษาปัจจุบัน
                 อีกทั้งศาลไม่เห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาว่า  คำพิพากษาปี 2505 ได้ตัดสินโดยมีผลผูกพันเกี่ยวกับเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาหรือไม่  เนื่องจากข้อพิพาทในคดีเดิมเกี่ยวแต่เพียงอธิปไตยเหนือชะง่อนผาพระวิหารเท่านั้น  รวมทั้งไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาลักษณะของพันธะที่ไทยต้องถอนกำลังเจ้าหน้าที่ตามวรรคที่สองของบทปฏิบัติการของคำพิพากษาเดิม  เนื่องจากเมื่อข้อพิพาทเกี่ยวกับอธิปไตยเหนืออาณาเขตได้ถูกแก้และความไม่แน่นอนได้หมดไป  แต่ละฝ่ายต้องดำเนินการโดยสุจริต (in good faith)  ตามพันธะที่ทุกรัฐต้องเคารพบูรณภาพแห่งดินแดนของรัฐอื่นๆ ทั้งหมด
        
       
       4.       สิ่งที่เสีย สิ่งที่ได้ และที่เข้าใจคลาดเคลื่อน
       
       จากคำพิพากษาการขอตีความดังกล่าว  มีสิ่งที่ไทยเสียและได้  รวมทั้งสิ่งที่หลายคนเข้าใจคลาดเคลื่อน  ดังนี้
       1)       สิ่งที่ไทยเสีย
                 ถึงแม้ภาครัฐจะไม่พูดให้ประชาชนทราบอย่างชัดเจนว่าพื้นที่บริเวณเขาพระวิหารนั้น  ไทยจะต้องเสียให้แก่กัมพูชาเพิ่มอีกเท่าใดจากพื้นที่เดิมตามแนวรั้วลวดหนามตามมติ ครม. เมื่อปี 2505  โดยกล่าวอย่างคลุมเครือว่าทั้งสองฝ่ายจะต้องไปเจราจากันต่อไป  แต่จากคำพิพากษาดังกล่าวข้างต้น  เป็นที่ชัดเจนว่าศาลได้กำหนดอาณาเขตของชะง่อนผาพระวิหารที่ให้ตกเป็นของกัมพูชาไว้อย่างชัดเจนโดยอ้างอิงภูมิประเทศในบริเวณดังกล่าวดังนี้ 
                 ทางทิศตะวันออก ใต้ และตะวันตกเฉียงใต้  อาณาเขตเป็นไปตามแนวหน้าผาของเขาพระวิหาร
                 ทางทิศตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือ  อาณาเขตเป็นไปตามแนวตีนภูมะเขือ
                 ทางทิศเหนือ  อาณาเขตเป็นไปตามเส้นของแผนที่ภาคผนวก 1 จากจุดทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของปราสาทที่ซึ่งเส้นนั้นจดหน้าผา  ไปยังจุดในทิศตะวันตกเฉียงเหนือที่ซึ่งพื้นดินเริ่มสูงขึ้นจากหุบเขาที่ตีนภูมะเขือ
       2)       สิ่งที่ไทยได้
                      2.1)  ศาลไม่ได้พิพากษาให้พื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน 4.6 ตร.กม. ทั้งหมดตกเป็นของกัมพูชา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลเห็นว่า ภูมะเขืออยู่นอกพื้นที่พิพาท  และคำพิพากษาปี 2505  ไม่ได้หยิบยกคำถามว่ามันอยู่ในอาณาเขตของไทยหรือกัมพูชา  จึงมีเฉพาะชะง่อนผาพระวิหารซึ่งมีอาณาเขตตามที่กล่าวในข้อ 3 เท่านั้นที่ตกเป็นของกัมพูชา
                      2.2)  เส้นของแผนที่ภาคผนวก 1 ผูกพันไทยเฉพาะบริเวณชะง่อนผาพระวิหารทางทิศเหนือเท่านั้น  โดยใช้เป็นเส้นกำหนดอาณาเขตชะง่อนผาพระวิหารตามที่กล่าวในข้อ 3  ส่วนเส้นของแผนที่ภาคผนวก 1 บริเวณนอกเหนือจากนี้ไม่มีผลผูกพันไทย  อย่างไรก็ตาม  กัมพูชาคงอ้างคำพิพากษาดังกล่าวเพื่อใช้ประโยชน์ในการสนับสนุนข้อกล่าวอ้างของตนที่ว่าเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชาตลอดแนวเป็นไปตามแผนที่ภาคผนวก 1 และแผนที่มาตราส่วน 1:200,000  ที่ฝรั่งเศสทำขึ้นฝ่ายเดียว  ระวางอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย
                      แต่ไทยมีความชอบธรรมที่จะปฏิเสธข้อกล่าวอ้างดังกล่าวเนื่องจากคำพิพากษาดังกล่าวจำกัดขอบเขตอยู่เฉพาะบริเวณชะง่อนผาพระวิหารเท่านั้น  โดยมิได้กล่าวถึงบริเวณอื่น  หากกัมพูชาต้องการขยายผลไปยังบริเวณอื่น กัมพูชาต้องยื่นฟ้องไทยต่อศาลโลกใหม่ ซึ่งย่อมไม่สามารถกระทำได้เพราะไทยได้ปล่อยให้คำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลโลกสิ้นสุดลงโดยไม่ต่อใหม่ตั้งแต่เมื่อปี 2503 แล้ว
                      2.3)  ศาลรับทราบข้อโต้แย้งของไทยเกี่ยวกับความยากในการถ่ายทอดเส้นของแผนที่ภาคผนวก 1 ลงบนพื้นที่จริง  โดยให้ทั้งสองฝ่ายมีพันธะที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลโดยสุจริต (in good faith) ซึ่งพันธะดังกล่าวไม่อนุญาตให้ฝ่ายใดดำเนินการได้โดยฝ่ายเดียว  ดังที่ศาลได้กล่าวไว้ในวรรค 99 ของคำพิพากษาปัจจุบัน  เนื่องจากการปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลโลกไม่ได้มีกำหนดเวลา  ไทยจึงไม่จำเป็นต้องรีบดำเนินการตราบเท่าที่การดำเนินการของไทยยังเป็นไปอย่างสุจริตก็จะไม่มีปัญหาอะไร  ยิ่งไปกว่านั้นกัมพูชาไม่สามารถดำเนินการไปกำหนดอะไรได้โดยฝ่ายเดียว  นอกจากนี้การถ่ายทอดเส้นของแผนที่ภาคผนวก 1 ลงบนพื้นที่จริงยังทำได้ยากและมีหลายวิธี  โดยการเลือกจุดบนเส้นของแผนที่ภาคผนวก 1 เพื่อนำมาถ่ายทอดลงบนพื้นที่จริงมีลักษณะเลือกได้ตามใจชอบ (arbitrary) 
       3)       สิ่งที่หลายคนเข้าใจคลาดเคลื่อน
                 สิ่งต่อไปนี้เป็นเรื่องที่หลายคนเข้าใจคลาดเคลื่อนเนื่องจากภาครัฐพูดคลุมเครือในเรื่องดังกล่าว
                      3.1)  ศาลโลกไม่ได้กำหนดพื้นที่บริเวณใกล้เคียงปราสาทที่ไทยต้องถอนกำลังทหารอย่างชัดเจน  ทั้งสองฝ่ายต้องไปเจรจาตกลงกัน  อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ขนาดเล็กมาก    แต่ที่จริงแล้วศาลได้กำหนดพื้นที่ดังกล่าวอย่างชัดเจนตามที่กล่าวแล้วในข้อ 3   เพียงแต่ว่าพิกัดที่แท้จริงอย่างเช่น แนวตีนภูมะเขือ และแนวเส้นของแผนที่ภาคผนวก 1 ทั้งสองฝ่ายจะต้องทำการสำรวจในภูมิประเทศจริง  และหารือกันเพื่อหาข้อสรุปในการกำหนดพิกัดที่แท้จริงของแนวดังกล่าว  นอกจากนี้จากการเปรียบเทียบพื้นที่ดังกล่าวซึ่งครอบคลุมอาณาเขตทั้งหมดของชะง่อนผาพระวิหารน่าจะมีพื้นที่ใกล้เคียงครึ่งหนึ่งของพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน 4.6 ตร.กม. (1 ตร.กม. = 625 ไร่)  จึงไม่ได้เป็นพื้นที่ขนาดเล็กมากอย่างที่หลายคนเข้าใจ  จริงๆ แล้วที่ศาลโลกกล่าวว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ขนาดเล็ก  เนื่องจากได้ไปเปรียบเทียบกับพื้นที่ที่เส้นของแผนที่ภาคผนวก 1 ครอบคลุมทั้งหมด   
                      3.2)  ศาลโลกไม่ได้พิพากษาตีความให้แผนที่ภาคผนวก 1 ผูกพันไทย  แต่ที่จริงแล้วศาลได้พิพากษาให้เส้นของแผนที่ภาคผนวก 1 เฉพาะบริเวณชะง่อนผาพระวิหารมีผลผูกพันไทยในฐานะเส้นกำหนดอาณาเขตของชะง่อนผาพระวิหารทางทิศเหนือตามที่กล่าวแล้วในข้อ 3
                      3.3)  ศาลโลกให้ไทยและกัมพูชาร่วมมือกันอนุรักษ์และพัฒนาปราสาทพระวิหารในฐานะมรดกโลก  ยิ่งไปกว่านั้นบางคนเข้าใจไปไกลว่าศาลโลกให้ไทยและกัมพูชาร่วมกันบริหารจัดการพัฒนาปราสาทพระวิหาร  แต่ที่จริงแล้วศาลโลกกล่าวในตอนหนึ่งของวรรค 106 ของคำพิพากษาปัจจุบันเพียงว่า  “ภายใต้ข้อ 6 ของอนุสัญญามรดกโลกซึ่งทั้งสองฝ่ายเป็นภาคี  กัมพูชาและไทยต้องร่วมมือระหว่างกันและกับประชาคมระหว่างประเทศในการคุ้มครองปราสาทพระวิหารในฐานะมรดกโลก”  ซึ่งเป็นหน้าที่ปกติของทุกรัฐที่เป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลกอยู่แล้ว  ศาลไม่ได้กล่าวให้ไทยและกัมพูชาร่วมมือกันอนุรักษ์และพัฒนา หรือร่วมกันบริหารจัดการพัฒนาปราสาทพระวิหารในฐานะมรดกโลกแต่อย่างใด   


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1932
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 16:53 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)