|
|
ครั้งที่ 335 26 มกราคม 2557 18:05 น.
|
สำหรับวันจันทร์ที่ 27 มกราคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2557
ระบอบประชาธิปไตย : อวสานหรือจุดเริ่มต้น
เมื่อวันจันทร์ที่ 13 มกราคม 2557 ที่ผ่านมา คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) ได้ทำการ ปิดกรุงเทพฯ ตามที่ได้แจ้งให้ประชาชนทั่วไปทราบล่วงหน้ามาก่อนหน้านี้แล้วไม่น้อยกว่าสัปดาห์
แต่เดิมนั้น ข่าวการปิดกรุงเทพมหานครสร้างความตื่นตระหนกให้กับชาวกรุงเทพมหานครเป็นอย่างมากเพราะไม่ทราบว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง มีบางคนที่ผมรู้จักกลัวถึงขนาดย้ายออกไปอยู่ต่างจังหวัดเป็นการชั่วคราวเพราะมีคนในครอบครัวป่วยเรื้อรังและเกรงว่าการปิดกรุงเทพฯ จะทำให้การเดินทางไปไหนมาไหนแม้กระทั่งไปโรงพยาบาลเป็นไปอย่างลำบาก บางคนก็ตุนอาหารเอาไว้เต็มที่ บางคนก็ถอนเงินสดเก็บไว้จำนวนพอสมควร แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงวันจันทร์ที่ 13 มกราคม การปิดกรุงเทพฯ ก็ไม่ได้ ร้ายแรง อย่างที่คิด มีคนจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่พบกับความยากลำบากในการเดินทาง ไม่สามารถเข้าที่ทำงานได้เนื่องจากอยู่ในบริเวณที่มีการชุมนุมหรือต้องสัญจรไปมาผ่านบริเวณที่มีการชุมนุม
ผมไม่ได้คิดหรือเตรียมตัวอะไรทั้งนั้นสำหรับการปิดกรุงเทพฯ เพราะผมมองออกว่า กรุงเทพฯคงจะปิดเหมือนเป็นกล่องอะไรสักอย่างไม่ได้ ด้วยสภาพความเป็นเมืองขนาดใหญ่ มีเส้นทางเข้าออกหลายทาง ประกอบด้วยชุมชนจำนวนมาก การปิดกรุงเทพฯ ให้สนิทเหมือนปิดกล่องจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ ด้วยเหตุนี้เองที่ในวันจันทร์ที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา ผมและชาวกรุงเทพมหานครจำนวนหนึ่งจึงสามารถใช้ชีวิตในกรุงเทพมหานครได้ตามปกติ การปิดกรุงเทพฯ จึงไม่สามารถทำได้ทั้งในทางพฤตินัยและในทางนิตินัยครับ
จากวันที่ 13 มกราคม เป็นต้นมาจนถึงวันที่ผมเขียนบทบรรณาธิการนี้ การปิดกรุงเทพฯ ก็ยัง คงทำต่อไปและไม่มีท่าทีว่าจะยุติลงได้ง่าย แต่เดิมที่คนกลัวกันว่าการปิดกรุงเทพฯ จะก่อให้เกิดปัญหาการจราจร ทำให้คนจำนวนมากออกมาใช้บริการขนส่งมวลชนสาธารณะกันมาก กลายเป็นคนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติด้วยการใช้รถยนต์ส่วนตัว การปิดขวางทางจราจรในหลายๆ จุดของ กปปส. จึงทำให้เกิดปัญหารถติดอย่างหลีกเลี่ยงมิได้
คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมทางการเมืองเพื่อประท้วงและขับไล่รัฐบาลสร้างความเสียหายอย่างมากให้กับประเทศชาติและประชาชน นับแต่เดือนพฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาร่วม 3 เดือนแล้วที่การชุมนุมประท้วงและขับไล่รัฐบาลยังคงมีอยู่และไม่มีท่าทีว่าจะจบลงง่ายๆ ไม่มีใครสามารถคาดเดาได้ว่าวันพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร และเราจะกลับไปใช้ชีวิตตามปกติเหมือนที่เคยเป็นอยู่ได้อย่างไร ส่วนหนึ่งของปัญหาก็คือ การที่ทั้งสองฝ่าย ต่างก็ไม่สามารถที่จะ ยอม หรือ หันหน้าเข้าหากัน เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาและเพื่อทำให้ประเทศชาติกลับสู่สภาวะตามปกติโดยเร็วที่สุด
ในส่วนของ กปปส. นั้น ข้อเรียกร้องที่มีต่อรัฐบาลเป็นข้อเรียกร้องที่ไม่มีข้อยุติที่ชัดเจนและบางข้อก็เป็นข้อเรียกร้องที่เป็นไปได้ยาก จากจุดเริ่มต้นที่เกี่ยวข้องกับการเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่แม้วุฒิสภาจะส่งร่างกฎหมายดังกล่าวกลับคืนไปยังสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ก็มีข้อเรียกร้องต่อไปว่าต้องทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวพ้นจากสภาผู้แทนราษฎร เมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรซึ่งก็หมายความว่าร่างกฎหมายนิรโทษกรรมไม่มีทางที่จะนำมาพิจารณาได้แล้ว ก็มีข้อเรียกร้องให้นายกลาออก ข้อเรียกร้องดังกล่าวได้รับการยืนยันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจากความเห็นของนักวิชาการด้านกฎหมายจำนวนหนึ่งว่าเป็นไปไม่ได้ในทางกฎหมาย ตามมาด้วยข้อเรียกร้องที่ให้ตั้งคนนอกขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีและตั้งสภาประชาชนซึ่งข้อเสนอดังกล่าวก็ไม่มีทางเป็นไปได้เช่นกันเพราะรัฐธรรมนูญไม่เปิดช่องให้ทำได้ เช่นเดียวกับการเลื่อนการเลือกตั้งหรือไม่มีการเลือกตั้ง ทุกอย่างที่เป็นข้อเสนอจากทางฝ่าย กปปส. ล้วนแล้วแต่เป็นข้อเสนอที่ไม่มีฐานทางกฎหมายและรัฐธรรมนูญรองรับ ในเมื่อการต่อสู้ตามตัวบทกฎหมายเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ประเด็นเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นซึ่งเป็นจุดอ่อนของนักการเมืองไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองซีกไหนก็ตามจึงถูกนำมาใช้เป็นประเด็นต่อสู้ทางการเมือง โดยในช่วงเวลาที่ผ่านมาเกิดปัญหาขึ้นจากโครงการ อภิมหาประชานิยม ของรัฐบาลเกี่ยวกับโครงการจำนำข้าวที่รัฐบาลใช้เงินจำนวนมากมายมหาศาลถึงกว่า 5 แสนล้านบาท ไปรับจำนำข้าวจากประชาชน และต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติแจ้งข้อกล่าวหาอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และพวกรวม 15 ราย เกี่ยวกับการทุจริตในโครงการดังกล่าว จึงทำให้ประเด็นข้อกล่าวหาหรือข้ออ้างว่ารัฐบาลทุจริตมีความชัดเจนขึ้น การปิดกรุงเทพฯ จึงเป็นไปเพื่อ ไล่ รัฐบาลออกจากตำแหน่งเพราะเป็นรัฐบาลที่ทุจริตคอรัปชั่น ในเมื่อความพยายามปิดกรุงเทพฯ ในวันแรกคือวันที่ 13 มกราคม 2557 ยังทำไม่สำเร็จ กลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งจึงยกระดับการดำเนินการขับไล่รัฐบาลด้วยการออกไปปิดล้อมหน่วยงานของรัฐเพื่อขัดขวางไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติ มีการนำโซ่ไปคล้องประตูหน่วยงานของรัฐบางแห่งเพื่อขัดขวางการเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ ก่อนหน้านี้ก็มีการขัดขวางไม่ให้มีการสมัครรับเลือกตั้ง เหตุทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมาทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบ รวมไปถึงหน้าตาและชื่อเสียงของประเทศที่ถูกกระทบด้วยเช่นกัน
ดูไปแล้ว การต่อสู้ครั้งนี้ไม่มีท่าทีว่าจะจบลงได้ง่าย เพราะต่างฝ่ายต่างก็มีจุดยืนของตนอย่างชัดเจน รัฐบาลรอการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ในขณะที่ กปปส. ไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นที่แน่นอนว่า หากไม่มีอำนาจนอกระบบเข้ามาแทรก การเลือกตั้งคงต้องมีขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ ดังนั้นจึงพอมองเห็นปัญหาที่น่าจะเกิดขึ้นทั้งในวันเลือกตั้งและหลังเลือกตั้งไว้ล่วงหน้าได้เลยว่าจะมีอะไรบ้าง เช่น คงจะเกิดการขัดขวางการเลือกตั้งในทุกรูปแบบไม่ว่าจะปิดกั้นสถานที่ลงคะแนนเสียงหรือการดำเนินการต่างๆ เพื่อไม่ให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งไปใช้สิทธิของตน ปัญหาที่จะเกิดจากการที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ครบจำนวนคนตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ปัญหาที่จะเกิดจากการไม่ยอมรับการเลือกตั้งและไม่ยอมรับผลของการเลือกตั้ง สารพัดปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาจนทำให้ผมค่อนข้างมั่นใจว่า การต่อสู้ของ ทั้ง 2 ฝ่าย ครั้งนี้คงไม่จบลงง่ายๆ ครับ !!!
ในฐานะคนกรุงเทพฯ คนหนึ่งที่สิทธิและเสรีภาพต่างๆ ถูกกระทบอย่างมากมายจากการชุมนุมที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมของ ฝ่ายใด และไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมที่เกิดขึ้น เมื่อใด ผมมีความรู้สึกว่า รัฐและกรุงเทพมหานครที่ผมอาศัยอยู่ไม่สามารถปกป้องสิทธิและเสรีภาพของผมได้ดีเท่าที่ควร ด้วยความที่เป็นข้าราชการ ทุกบาททุกสตางค์ที่ผมหามาได้ถูกหักภาษีเอาไว้อย่างครบถ้วน เดือนๆ หนึ่งใช้เงินจำนวนมากเพื่อซื้อของและดำรงชีวิตอยู่ซึ่งส่วนหนึ่งก็ไปเป็นภาษีเข้ารัฐและกรุงเทพมหานคร แต่ในฐานะผู้เสียภาษี รัฐและกรุงเทพมหานครกลับไม่สามารถปกป้องสิทธิและเสรีภาพของผมและของประชาชนคนอื่นๆ ได้ คนกรุงเทพฯ จำนวนหนึ่งไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้เพราะถูกผู้ชุมนุมปิดกั้นการเดินทางสัญจรไปมา สถานศึกษาหลายแห่งต้องปิดไปหลายวันด้วยเหตุที่มาจากการชุมนุม ประชาชนจำนวนหนึ่งซึ่งต้องทำมาหากินก็ไม่สามารถทำมาหากินได้ตามปกติ สิ่งหนึ่งที่น่าแปลกใจก็คือ ทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐและของกรุงเทพมหานคร ไม่ได้เข้ามาแก้ปัญหาให้กับ ผู้เสียภาษี เลย ขนาดผู้ชุมนุมบอกจะปิดกรุงเทพฯ จะชุมนุมกีดขวางทางจราจรก็ไม่มีใครออกมาห้าม ปล่อยให้ทำอะไรกันไปตามอำเภอใจจนทำให้ดูเหมือนกับว่าเราอยู่ในบ้านเมืองที่ไม่มีกฎหมาย
3 เดือนที่ผ่านมา การชุมนุมและผลกระทบที่เกิดจากการชุมนุมทำให้คนกรุงเทพฯ จำนวนหนึ่งต้องปรับตัวเข้ากับสภาวะแวดล้อม บางคนต้องตื่นเช้าขึ้น บางคนต้องเดินทางไกลขึ้น บางคนมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูงขึ้นเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ มาทำงานได้ตามปกติ ในขณะเดียวกันกับที่ผู้คนพยายามต่อสู้เพื่อให้ชีวิตของตนเป็นปกติ ผู้ชุมนุมก็พยายามปรับวิธีการชุมนุมให้ได้ผลมากยิ่งขึ้น ทำให้ผู้คนได้รับผลกระทบจากการชุมนุมมากขึ้น ส่วนเจ้าหน้าที่ทั้งของรัฐและของกรุงเทพมหานคร ยิ่งวันก็ยิ่งเงียบสงบมากขึ้น เงียบจนไม่แน่ใจว่า ยังมีตัวตนกันอยู่หรือเปล่า
ไม่อยากคิดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยจะจบลงอย่างไร หลังวันเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 จะเป็นฝ่ายไหนรัฐบาลชุดใหม่ที่เข้ามาบริหารประเทศและ อีกฝ่ายหนึ่ง จะยอมรับและปล่อยให้รัฐบาลใหม่เข้าบริหารประเทศอย่างราบรื่นหรือไม่ คงเป็นสิ่งที่ผมเข้าใจว่าหลายคนคงมีคำตอบอยู่ในใจแล้วแต่ก็ไม่อยากพูดอะไรทั้งนั้น เพราะที่ผ่านมา การปลุกระดมทางการเมืองทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ข้อมูลบางอย่างที่เผยแพร่ออกมาสู่ประชาชนเป็นข้อมูลที่ ทำให้เกิดความเกลียดชัง เคียดแค้นโดยไม่มีเหตุผล ใครที่เห็นต่างก็ถูกโจมตีและผลักให้ไปอยู่ฝ่ายตรงข้าม การยอมรับ อีกฝ่ายหนึ่ง ให้เข้ามาบริหารประเทศจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก
คงทำอะไรไม่ได้ทั้งนั้นสำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เราไปไกลเกินกว่าจะกลับไปสู่จุดเดิมเสียแล้วครับ อย่าได้หวังเลยว่า สิ่งที่พยายามทำกันมาในช่วงเวลา 2-3 ปี ที่ผ่านมาเป็น เช่น การปรองดอง จะเกิดขึ้นและประสบผลสำเร็จ
ผมดูข่าวที่มีประชาชนกลุ่มหนึ่งทำลายป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วยความรู้สึกเสียใจที่เกิดเหตุการณ์แบบนั้นขึ้นใน การชุมนุม รวมถึงรู้สึกวิตกกังวลเพราะมองเห็นถึง ความเกลียดชังอย่างมาก ที่มีอยู่ในสังคมของเรา เด็กที่โตขึ้นในวันนี้คงซึมซับอะไรไปมากกับการกระทำของผู้ใหญ่ที่ปฏิเสธไม่ยอมรับกฎหมายที่เป็นกติกาเพื่อให้ประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างสันติ กฎหมายกลายเป็นสิ่งที่ผู้คนจำนวนหนึ่งไม่ยอมรับและกระทำการฝ่าฝืนโดยไม่คำนึงถึงอะไรทั้งนั้นนอกจากความเกลียดชัง ความเกลียดชังกลายเป็นจุดเชื่อมโยงที่ทำให้คนจำนวนหนึ่งหันหน้าเข้าหากันและร่วมมือกันเพื่อทำให้ความเกลียดชังของตนเองบรรลุผล
สงครามกลางเมืองคงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้หากเรายังยัดเยียดความเกลียดชังกันในลักษณะนี้
เมื่อสงครามกลางเมืองเกิดขึ้น สิ่งที่จะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ การรัฐประหาร
พี่น้องประชาชนชาวไทยคงต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นและกำลังจะเกิดขึ้น คงต้อง เตรียมตัวให้พร้อมที่จะอยู่กับปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และต่อมาก็คือต้องวางแผนให้พร้อมสำหรับรับมือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ครับ
ไม่มีใครบอกได้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยจะจบลงอย่างสวยงามหรือย่อยยับ แต่ที่แน่ๆ สังคมของเราไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป ประชาชนคงอยู่ยากลำบากกว่าแต่เดิม ส่วนนักการเมืองก็อย่าหวังว่าจะทำอะไรได้ง่ายๆ เหมือนเดิมอีกต่อไป
ได้เวลาที่จะต้องมานั่งคิดกันแล้วว่า ระบบการปกครองประเทศไทยในวันข้างหน้าควรจะมีรูปแบบอย่างไรที่จะทำให้ทุกฝ่ายสามารถยอมรับกติกาของสังคมร่วมกันได้ เช่น จะทำอย่างไรกับระบบเลือกตั้งและระบบพรรคการเมืองที่มีปัญหาอยู่ในวันนี้และจะต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใดเพื่อแก้ปัญหา การผูกขาด ประเทศไทยผ่านระบบรัฐสภาอย่างที่เป็นอยู่ "ความพอดี" ของความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับองค์กรทางการเมืองในส่วนที่เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ อำนาจหน้าที่และการตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญทุกประเภทรวมถึงประเภทที่เป็นศาลด้วย เป็นต้น
ส่วนระบอบประชาธิปไตยที่เราเข้าใจว่ามีขึ้นมาในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 นั้น คงจะต้องลืมไปเลยว่าเป็นอย่างไรเพราะทุกวันนี้ก็เห็นชัดเจนเหมือนกันหมดแล้วว่า ระบอบประชาธิปไตยแบบที่เราใช้กันมากว่า 80 ปี นั้นใช้ไม่ได้แล้วสำหรับประเทศนี้ครับ !!!
ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอ 2 บทความด้วยกัน คือ บทความแรกเป็นบทความของคุณเลิศศักดิ์ ต้นโต ที่เขียนเรื่อง ข้อคิดบางประการ : กฎหมายการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน บทความที่สองเป็นบทความของคุณชำนาญ จันทร์เรือง ที่เขียนเรื่อง "ชัยชนะของประชาชน"ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความเอาไว้ ณ ที่นี้ครับ
พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557
ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1929
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 12:02 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|