ชัยชนะของประชาชน

26 มกราคม 2557 17:57 น.

       เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักสำหรับผู้ที่จะคาดเดาสถานการณ์การเมืองไทยที่ได้ทำผู้คนในประเทศไทยถูกแบ่งออกเป็น 2 ขั้ว  คือ ฝ่ายเอา กปปส.กับไม่เอา กปปส.จากเดิมที่ในช่วงแรกๆของการก่อตั้งขึ้นของ กปปส.มีอยู่ 3 ขั้วคือ กปปส. ,ฝ่ายรัฐบาล และ ฝ่ายกลางๆที่ไม่ได้เชียร์ทั้ง กปปส.และฝ่ายรัฐบาล แต่ตอนนี้ฝ่ายที่ 3 ถูก กปปส.ผลักให้ไปเป็นฝ่ายตรงข้ามกับ กปปส.เรียบร้อยแล้วว่าการเมืองไทยจะมีทิศทางเดินต่อไปเช่นไร
       
       เพราะในการคาดเดานั้นจะประกอบไปด้วยความเห็นที่เป็นวิชาการและความเห็นส่วนตัวที่อยากให้เป็นไปอยู่เสมอ เพราะในความเป็นจริงแล้วคนที่เป็นกลางจริงๆไม่มีอยู่ในโลกที่บิดเบี้ยวนี้ เราจึงได้เห็นความคิดความเห็นที่แตกต่างกันอยู่เสมอแม้แต่นักวิชาการที่อยู่ในสถาบันเดียวกันหรือเรียนมาจากครูบาอาจารย์และตำราเล่มเดียวกัน เพราะทุกคนต่างมีรสนิยม ทัศนคติและภูมิหลังทางการเมืองแตกต่างกันไป ซึ่งก็ไม่มีข้อยกเว้นสำหรับความเห็นของผมเช่นเดียวกัน
       ผมมักจะถูกถามอยู่เสมอว่า “มันจะจบอย่างไร” หรือ “มันจะเป็นอย่างไรต่อไป” ซึ่งก่อนผมจะตอบผมก็มักจะถามก่อนเสมอว่าคุณอยากให้มันเป็นอย่างไรล่ะ คำตอบที่ผมได้รับก็จะขึ้นอยู่กับว่าผู้ถามอยู่ฝ่ายไหนหรือเชียร์ฝ่ายไหน เช่น อยากให้ทหารปฏิวัติเสียให้สิ้นเรื่องสิ้นราวบ้าง อยากให้รัฐบาลลาออกเพื่อเรื่องจะได้จบบ้าง อยากให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปจนกว่าจะมีการปฏิรูปบ้าง อยากให้มีการเลือกตั้งต่อไปบ้าง และที่พบมากๆก็คืออยากให้บ้านเมืองสงบใครจะชนะก็ช่าง(มารดา)มัน ฯลฯ
       
       อย่างไรก็ตามจากข้อเท็จจริงของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมาโดยลำดับจากการ “ลักหลับ” พรบ.นิรโทษกรรมฉบับผิดซอยตามมาด้วยการชุมนุมคัดค้านกันไปทั่วประเทศ แต่เมื่อมีการยกระดับข้อเรียกร้องไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายคือต้องให้รัฐบาลรักษาการลาออกและให้มีการตั้งสภาประชาชนขึ้นมาโดยจะมีการจัดตั้งรัฐบาลคนกลางจริงๆ(ซึ่งยังไม่มีเกิดขึ้นในโลกนี้) ผู้คนก็เริ่มโดดลงจากขบวนรถไฟสายนี้
       
       ต่อมาได้มีการประกาศปิดกรุงเทพซึ่งผ่านมาแล้วอาทิตย์กว่าแล้วแต่ก็ไม่มีทีท่าว่าจะได้ผลตามข้อเรียกร้องแต่อย่างใด จนมีการประกาศให้ต่างจังหวัดประกาศปิดบ้างซึ่งก็คงจะไม่เป็นผลแต่อย่างใดอีกเช่นกัน เพราะยุคนี้เป็นยุคที่การทำงานสามารถทำผ่านระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่สงสารประชาชนตามดำๆที่ต้องไปติดต่อราชการที่ไม่ได้รับความสะดวกเท่าที่ควร จนท้ายสุดถึงวันที่เขียนบทความนี้คือการโยนระเบิดจนทำให้มีคนตายและบาดเจ็บจำนวนมาก
       เหตุการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป
       
       ผมเชื่อว่าการประท้วงก็คงยังมีต่อไป แต่ผู้คนจะลดน้อยลงซึ่งเป็นด้วยเพราะเหตุว่าคนต้องทำมาหากิน ที่สำคัญก็คือทุกคนต่างมีความรักตัวกลัวตาย แต่ข้อสันนิษฐานนี้อาจผิดได้หากมีการเพิ่มทวีความรุนแรงมากไปกว่านี้เพราะจะเกิดลุกลามไปทั่วประเทศดังวลีที่ว่า “ตายสิบเกิดแสน”นั่นเอง ทางที่ดีที่สุดก็คือต้องจับตัวคนร้ายให้ได้เร็วที่สุดเพราะผลจะขึ้นอยู่ว่าคนร้ายเป็นคนของใครและอยู่ฝ่ายไหน ซึ่งผมไม่เชื่อว่าจะเป็นมือที่สาม แต่เป็นมือที่หนึ่งและ/หรือมือที่สอง เพราะตอนนี้มีอยู่สองฝ่ายเท่านั้น
       
       ผมเชื่อว่าการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์จะยังคงมีต่อไปแม้ว่าจะเต็มไปด้วยความยุ่งยากก็ตามและจะยังได้ผู้แทนไม่ครบแต่ก็จะมีการเลือกตั้งใหม่ไปเรื่อยๆตามกำหนดระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งนี่ผมถือว่าเป็นชัยชนะของประชาชนที่สามารถทำให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นและเป็นชัยชนะต่อผู้ที่พยายามจะให้มีการรัฐประหารเกิดขึ้น แต่ไม่สำเร็จ
       
       ผมเชื่อว่าในระหว่าง 180 วัน ที่มีการเลือกตั้งใหม่ในเขตที่ยังได้ผู้แทนไม่ครบ องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญก็จะมีการลงดาบทำให้คุณยิ่งลักษณ์ตกจากเก้าอี้และทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะ แต่ไม่สามารถตั้งรัฐบาลที่เป็นคนกลางได้เพราะรัฐธรรมนูญไม่เอื้อให้ทำเช่นนั้น รองนายกคนถัดไปก็จะรักษาการไปเรื่อยๆในสภาพรัฐบาลเป็ดง่อย และเมื่อการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็จะมีการออกพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งครั้งใหม่(ไม่ใช่การเลื่อนการเลือกตั้ง)ในทำนองเดียวกับการเลือกตั้ง ปี 49 ที่ทั้งศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองต่างแย่งกันตัดสินคดีนั้น(only in Thailand)
       
       เมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ทุกฝ่ายรวมทั้งประชาธิปัตย์ก็จะแย่งกันประกาศนโยบายปฏิรูปและอาจจะมีการให้สัตยาบันหรือแม้กระทั่งมีการเสนอร่างรัฐธรรมนูญใหม่ประกอบนโยบายการหาเสียงว่าจะมีการปฏิรูปชนิดที่ว่าลด แลก แจก แถมกว่าที่ กปปส.เสนอไว้ 6 ข้อ อย่างแน่นอน และในระยะนี้ก็จะมีการปฏิรูปเกิดขึ้นไม่มากก็น้อย ซึ่งผมถือว่านี่ก็คือชัยชนะของประชาชนอีกเช่นกัน
       
       สุดท้ายผมก็ฟันธงอีกเช่นกันว่าพรรคประชาธิปัตย์ก็จะแพ้การเลือกตั้งอีกเช่นเคย และการเมืองของเราก็ยังคงลุ่มๆดอนๆไปอย่างนี้อีกระยะหนึ่งจนกว่าจะมีการปฏิรูปแก้กติกาของประเทศให้เป็นที่พอใจ พอสมควร ซึ่งจะถือได้ว่าเป็นชัยชนะของประชาชนอย่างแท้จริง แต่ก็คงมีปัญหาใหม่มาอีกเช่นกัน เพราะเป็นธรรมดาของการเมืองทั้งโลก
       ลองเอาความเห็นนี้แปะไว้ข้างฝาดูนะครับว่าจะถูกต้องสักกี่เปอร์เซ็นต์
        
       -------------------
        
        


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1927
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 17:57 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)