ครั้งที่ 334

12 มกราคม 2557 19:22 น.

       สำหรับวันจันทร์ที่ 13 ถึงวันจันทร์ที่ 26 มกราคม 2557
       
       “ปฏิรูปการเมืองด้วยการปิดกรุงเทพฯ”
       
                   ประชาชนชาวไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวกรุงเทพมหานครเริ่มต้นปีใหม่ 2557 ด้วย “ข่าวร้าย” ว่า กลุ่มประชาชนที่เรียกตัวเองว่า “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.)” จะปิดกรุงเทพมหานคร จริงๆ แล้วข่าวดังกล่าวมีออกมาเป็นระยะตั้งแต่ก่อนสิ้นปี 2556 เมื่อขึ้นปีใหม่ทุกอย่างก็มีความชัดเจน  ขึ้นว่า เริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ 13 มกราคม 2557 เป็นต้นไป กปปส. จะปิดกรุงเทพมหานครไปจนกว่ารัฐบาลจะลาออกจากการรักษาการ
                 ความสับสนวุ่นวายที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมานี้ไม่มีท่าทีว่าจะจบลงง่ายๆ ปัญหาการเมืองได้กลายมาเป็นปัญหาระดับชาติที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนจำนวนมาก บางคนต้องหยุดงาน หยุดเรียน ทำมาค้าขายไม่ได้ เกิดความเสียหายต่อบุคคลและต่อประเทศชาติเป็นอันมากกับสิ่งที่เกิดขึ้นจากการกระทำของกลุ่มคนบางกลุ่ม เกิดการกระทำผิดกฎหมายมากมาย ชุมนุมบนทางสาธารณะ บุกเข้าไปในอาคารและสถานที่ราชการ ดำเนินการต่างๆ ที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐธรรมนูญ ขัดขวางการสมัครรับเลือกตั้ง พยายามล้มการเลือกตั้ง แต่ก็เป็นที่น่าแปลกใจที่มีคนจำนวนน้อยมากที่ออกมาวิพากษ์การกระทำดังกล่าว แล้วก็ไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้ใดๆ จากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ในทางกลับกันหากทั้งหมดที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนี้เกิดขึ้นในประเทศประชาธิปไตยอื่น การดำเนินการเหล่านั้นคงถูกต่อต้านทั้งจากรัฐบาลและประชาชนทั่วไปเพราะเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์กับระบอบประชาธิปไตย
                 ในประเทศไทยวันนี้ ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยของประชาชนยังไม่ต้องตรงกันนักและก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ขนาดองค์กรสูงสุดด้านรัฐธรรมนูญ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญเองก็ยังมองระบอบประชาธิปไตยแตกต่างไปจากนักวิชาการ ดังที่ได้กล่าวไว้ในคำวินิจฉัยที่ 15-18/2556 ถึงเรื่องระบอบประชาธิปไตยที่ศาลรัฐธรรมนูญกล่าวว่ากลายเป็นระบอบเผด็จการฝ่ายข้างมาก ทำให้ “ฝ่ายเสียงข้างน้อยไม่มีที่อยู่ที่ยืนตามสมควร” ความเข้าใจไม่ตรงกันในระบอบประชาธิปไตยนี้ หากเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนก็ยังพอรับได้ด้วยเหตุเพราะคนในสังคมได้รับการเลือกปฏิบัติมานาน เกิดช่องว่าง เกิดความเหลื่อมล้ำ แต่ถ้าหากความไม่เข้าใจในระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้นในพรรคการเมืองหรือในองค์กรระดับสูง ย่อมเป็นภัยกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างมาก
                 ความแตกแยกที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเวลานี้มีมากนัก มากกว่าที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วจากการรัฐประหาร เมื่อปี พ.ศ. 2549 ที่ในครั้งนั้น ผู้คนในประเทศก็ยังไม่เกิดความแตกแยกเช่นที่เป็นอยู่ในวันนี้ แน่นอนที่ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2549 กับปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นปัญหาเดียวกัน ปัญหาดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า “ระบอบทักษิณ”
                 แม้ตัวผมเองได้ยินคำว่าระบอบทักษิณมานาน แต่ก็ยังจับต้นชนปลายไม่ถูกว่า อะไรคือระบอบทักษิณ ทราบแต่ว่า ระบอบทักษิณคือสิ่งเลวร้าย เป็นภัยต่อประเทศไทย และระบอบทักษิณก็ประกอบด้วย “สิ่งร้ายๆ” หลายอย่าง เช่น การทุจริตคอรัปชั่นและการใช้อำนาจในทางมิชอบ ระบบอุปถัมภ์ ประชานิยม
                 ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ ผมจะขอลองพิจารณาดูระบอบทักษิณว่ามีลักษณะเฉพาะอย่างไรหรือไม่เปรียบเทียบกับสิ่งที่มีอยู่ เป็นอยู่ และเกิดขึ้นในสังคมไทยตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาครับ
                 การทุจริตคอรัปชั่น เป็นเรื่องที่เป็นปัญหาสำคัญของภาครัฐและภาคเอกชน ประเทศต่างๆ ทั่วโลกล้วนแล้วแต่เจอปัญหาทุจริตคอรัปชั่นไม่มากก็น้อย  ในประเทศไทย การทุจริตคอรัปชั่นเป็นเหตุที่ทหารนำมาอ้างเพื่อทำการปฏิวัติรัฐประหารมาแล้วเกือบทุกครั้ง สมัยอดีตนายกรัฐมนตรีชาติชาย ชุณหะวัณ มีการทุจริตคอรัปชั่นเกิดขึ้นมากมาย คำว่า บุฟเฟต์คาบิเนต หรือแบ่งเค้ก ถูกนำมาใช้เรียกการทุจริตคอรัปชั่นในสมัยนั้น  หลังรัฐประหารรัฐบาลพลเอกชาติชาย  ชุณหะวัณ ในปี พ.ศ. 2534 มีความพยายามที่จะแก้ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นด้วยการวางเกณฑ์เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่นในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างขนาดใหญ่โดยมีการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2534  ออกมาใช้ กฎหมายดังกล่าวสามารถแก้ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นได้ระดับหนึ่ง ทำให้การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐมีกติกาที่ชัดเจน มีการตรวจสอบที่ชัดเจน ต่อมาในปี พ.ศ. 2540 เกิดการปฏิรูปการเมือง จากรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 สร้างกลไกในการตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่นโดยการตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขึ้นมา พร้อมกับองค์กรอื่นๆ เช่น ศาลปกครองเพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ต่อมาภายหลังการรัฐประหารในปี  พ.ศ. 2549 รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ได้ปรับปรุงที่มาของคนที่จะเข้ามาอยู่ในองค์กรตรวจสอบต่างๆ ให้ปลอดจากการเมืองมากที่สุด รวมถึงที่มาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ด้วย ในช่วงรัฐประหาร พ.ศ. 2549-2550 มีการแก้กฎหมาย ป.ป.ช. ใหม่ให้ดีกว่าเดิมโดยเพิ่มบทบาทของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เกี่ยวกับมาตรการในการป้องกันการทุจริตคอรัปชั่นเอาไว้ด้วย นอกจากนี้แล้ว ภาคเอกชนก็ยังตั้งองค์กรเข้ามาช่วยรณรงค์ต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นด้วย
                 อาจกล่าวได้ว่า การตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในปี พ.ศ. 2540 การดำเนินงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในช่วงเวลาที่ผ่านมา การแก้ไขกฎหมาย ป.ป.ช. ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น         และการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการรณรงค์ต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น น่าจะ ทำให้ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นในประเทศไทยเบาบางไปได้ระดับหนึ่ง
                 หากระบอบทักษิณหมายถึงการทุจริตคอรัปชั่น  ผู้ที่จะออกมาชี้แจงเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นในประเทศไทยได้ดีที่สุด คือ คณะกรรมการ ป.ป.ช. เพราะเป็นองค์กรหลักที่ทำหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตทุจริตคอรัปชั่นครับ
                 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งใช้งบประมาณแผ่นดินปีละไม่รู้เท่าไหร่ คงจะบอกได้อย่างชัดเจนว่า การทุจริตคอรัปชั่นที่เกิดจากระบอบทักษิณนั้น “มีอยู่จริงหรือไม่” และ “หลุดรอด” จากการตรวจสอบของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปได้อย่างไร    นอกจากนี้ หากจะแก้ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นที่ยังมีอยู่มีความจำเป็นที่จะต้องทำอะไรบ้าง เช่น แก้กฎหมาย แก้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. สามารถจัดการกับการทุจริตคอรัปชั่นของระบอบทักษิณได้หรือต้องไปไกลถึงการปฏิรูปการเมืองซึ่งก็ต้องบอกได้ด้วยว่าปฏิรูปตรงไหนถึงจะทำให้ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นหมดไปจากประเทศไทยครับ !!!
                 ระบบอุปถัมภ์ เป็นอีกส่วนหนึ่งของระบอบทักษิณ เรื่องนี้คงต้องมองไกลออกไปอีกนิดว่า การอุปถัมภ์นั้น  ชื่อมันก็ฟ้องอยู่แล้วว่าต้องมีหลายคนหลายฝ่ายประกอบกัน เช่น นักการเมือง ข้าราชการประจำ ประชาชน
                 ความสัมพันธ์ของฝ่ายต่างๆ เพื่อนำไปสู่ความช่วยเหลือเกื้อกูลกันนั้นเป็นวัฒนธรรมตะวันออกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นมานาน แต่ในประเทศไทยเราอาจมี “ตัวช่วย” ที่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ ก็คือ บรรดาองค์กรระดับสูงของประเทศไทย รวมทั้งศาลต่างๆ ด้วยต่างก็ได้สร้างบรรดาหลักสูตร ขึ้นมามากมายเพื่อให้ นักการเมือง ข้าราชการประจำ และประชาชนซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นพ่อค้านักธุรกิจได้เข้าไป “อบรม” และใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในช่วงเวลาหนึ่ง จากนั้นก็จะนับกันเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกัน ที่มีหน้าที่ต้องช่วยเหลือกัน
                 คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า ระบบอุปถัมภ์ในประเทศไทยส่วนใหญ่แล้วมาจากบรรดาเพื่อนร่วมรุ่นในหลักสูตรต่างๆ นี้เอง ระบอบทักษิณในส่วนที่เกี่ยวกับระบบอุปถัมภ์นั้นแม้จะมีอยู่จริง แต่ส่วนหนึ่งก็เกิดมาจากการสร้างความสัมพันธ์ขึ้นมาในรูปแบบของการเข้าร่วมอบรมหรือศึกษาในหลักสูตรต่างๆ ดังที่กล่าวไปแล้ว  ดังนั้น หากจะแก้ปัญหาระบบอุปถัมภ์ วิธีหนึ่งที่ต้องทำก็คือต้องย้อนกลับไปแก้ที่บรรดาหลักสูตรต่างๆ เหล่านี้ที่ทำให้คนจำนวนหนึ่งแย่งกันเข้าไปอยู่ในหลักสูตรเพื่อจะได้เข้าไปอยู่ในรุ่นเดียวกันแล้วก็จะส่งผลทำให้มีเส้นสายสัมพันธ์ในการทำงาน
                 เรื่องประชานิยม ซึ่งว่ากันแล้วเป็นจุดเด่นของระบอบทักษิณนั้น ประชาชนคนไทยก็คงมองเห็นและทราบดีอยู่แก่ใจเหมือนกันว่า ระบอบประชานิยมที่ พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร ได้สร้างขึ้นมากลายเป็นสิ่งที่พรรคการเมืองทุกพรรคเอาตามอย่างและพยายามสร้างรูปแบบแปลกๆ ใหม่ๆ ของประชานิยมออกมาเพราะเป็นสิ่งที่สามารถ “มัดใจ” ประชาชนจำนวนหนึ่งได้ เช่นเช็คช่วยชาติ ที่รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ แจกให้กับประชาชน รวมความแล้วไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองใดขึ้นมาเป็นรัฐบาลก็คงหนีไม่พ้นประชานิยม เพียงแต่จะมากหรือน้อยกว่ากันแค่นั้นเอง
                 ประชานิยมคือการที่รัฐบาลเอาทรัพยากรของรัฐมาแจกให้กับประชาชนแบบให้เปล่า เป็นเรื่องที่ดูๆ แล้วเกิดจาก “ความใจดี” ของรัฐบาล แต่เมื่อมองที่มาของเงินที่นำมาใช้ในระบบประชานิยมก็จะพบว่ามาจากภาษีอากรของประชาชนนั่นเอง แต่กลับทำให้รัฐบาลผู้แจกได้หน้าเป็นบุญคุณ  ทางแก้เรื่องประชานิยมคงไม่ใช่เลิกโครงการประชานิยมเพราะเมื่อประชาชนมีโอกาส “เสพ” ประชานิยมเข้าไปก็จะติดใจและต้องการให้มีต่อ ที่ดีที่สุดก็คือยังคงการให้ในสิ่งที่ประชาชนต้องการหรือสิ่งที่สำหรับการใช้ชีวิตของประชาชนเอาไว้แล้วปรับโครงสร้างของประเทศให้เป็นรัฐสวัสดิการ นี่คือทางออกของปัญหาประชานิยมเพราะอย่างน้อยเมื่อมีการกำหนดถึงสวัสดิการต่างๆ ที่รัฐต้องจัดให้มีหรือจัดทำเอาไว้อย่างชัดเจนแล้ว สิ่งเหล่านั้นก็จะไม่ใช้สิ่งที่เกิดจาก “ความใจดี” ของรัฐบาลหรือบรรดาพรรคการเมืองอีกต่อไป ไม่มีใครเอามาอ้างได้ว่าทำให้หรือทำเพื่อประชาชนเพราะทุกโครงการเป็นโครงการภาคบังคับ ที่รัฐต้องจัดทำ
                 ลองยกมาพิจารณาเพียง 3 เรื่องที่เรียกกันว่า “ระบอบทักษิณ” ก็ยังมองไม่เห็นว่าทั้ง 3 เรื่องมีลักษณะเฉพาะที่ผิดแผกแตกต่างไปจากสิ่งที่เกิดขึ้นหรือเป็นอยู่ในประเทศไทยอย่างไร แต่อย่างไรก็ตาม มีผู้เห็นว่าทั้ง 3 เรื่องเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมากในสมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร อยู่ในอำนาจ จึงเรียกเรื่องเหล่านั้นว่า เป็นระบอบทักษิณ
                 หลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรผ่านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2556 ก็เกิดกระแสคัดค้านจากประชาชนเป็นจำนวนมาก ต่อมา เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของ ส.ว. ก็เกิดกระแสขับไล่รัฐบาลตามมา แม้รัฐบาลจะยุบสภาและกำหนดวันเลือกตั้งใหม่คือวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 กลุ่ม กปปส. ซึ่งเป็นแกนนำในการขับไล่รัฐบาลก็จุดกระแสว่าต้องมีการปฏิรูปก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง เกิดการชุมนุมประท้วงหลายครั้ง หยุดพักบ้างในวันสำคัญ และล่าสุดหลังการหยุดฉลองวันขึ้นปีใหม่ ความวุ่นวายทางการเมืองก็กลับมาเป็นประเด็นปัญหาสำคัญของประเทศอีกครั้งหนึ่งด้วยข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมืองเพื่อล้มล้างระบอบทักษิณก่อนที่จะมีการจัดการเลือกตั้ง  ข้อเรียกร้องที่ว่านี้ไม่มีความชัดเจนในทางวิชาการเท่าไรนักว่าจะต้องทำอย่างไร ในประเด็นนี้เองที่ผมเห็นว่า แม้การทุจริตคอรัปชั่นจะเป็นปัญหาสำคัญของประเทศแต่ก็สามารถแก้ไขได้หากเราทราบว่าจะต้องแก้ที่จุดใดบ้าง ซึ่งคนที่จะบอกได้ดีที่สุดก็คือคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพราะเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอยู่แล้ว หากยังยืนยันว่าจะต้องทำการปฏิรูปการเมืองเพื่อแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น ก็คงต้องแสดงขอความเห็นใจต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ด้วยเพราะการปฏิรูปการเมืองเพื่อแก้ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นหมายความถึง ความล้มเหลวของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตครับ
                 ส่วนข้ออ้างที่จะต้องเลื่อนการเลือกตั้งที่กำหนดไว้ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ออกไปก่อนจนกว่าจะปฏิรูปการเมืองแล้วเสร็จนั้นยิ่งแย่ใหญ่ เพราะหากเรายังไม่มีความชัดเจนว่า การปฏิรูปการเมืองคืออะไร?  ระบบปัจจุบันมีปัญหาอย่างไรจึงต้องทำการปฏิรูปการเมือง? การปฏิรูปการเมืองก็จะเป็นเพียงวาทกรรมที่นำมาใช้เพื่อเลื่อนการเลือกตั้งออกไปโดยเหตุผลที่ไม่ปกติครับ !!!
                 ด้วยเหตุที่กล่าวมาแล้ว การ “ปิดกรุงเทพมหานคร” เพื่อ “ปฏิรูปการเมือง” จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ การปฏิรูปการเมืองจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ มีการศึกษาวิเคราะห์อย่างเป็นระบบว่า ประเทศไทยมีปัญหาใดบ้าง เช่นปัญหาทุจริตคอรัปชั่น ระบบการเลือกตั้ง ระบบอุปถัมภ์ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม ฯลฯ เมื่อทราบว่ามีปัญหาอะไรบ้างแล้ว ก็ต้องวิเคราะห์อย่างละเอียดถี่ถ้วนรอบครอบโดยผู้ชำนาญเพื่อให้ทราบว่า ปัญหานั้นเกิดจากที่ใด เช่น รัฐธรรมนูญ กฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ หรือเกิดจาก “พฤติกรรม” ของนักการเมือง ข้าราชการ ประชาชน เมื่อทราบว่าปัญหาเกิดจากที่ใดบ้างก็หาหนทางแก้ปัญหาที่ตรงนั้น บางปัญหาอาจจะแก้ได้ด้วยการแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบ บางปัญหาอาจไปไกลถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา แต่ถ้าปัญหามีมากมายทุกด้านก็คงจำเป็นต้องทำการปฏิรูประบบประเทศใหม่ทั้งระบบ ไม่ใช่เฉพาะปฏิรูปการเมืองแต่เป็นอย่างเดียวครับ !!!
       
                 ผมเขียนบทบรรณาธิการนี้ก่อนวันที่ 13 มกราคม หลายวันอยู่ ก็ขออวยพรให้ชาวกรุงเทพมหานครเอาตัวรอดและผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ไปได้ด้วยดีนะครับ
       
                 ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอ  5 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความเรื่อง “การบริหารจัดการที่ดินของรัฐของประเทศสหรัฐอเมริกา” ที่เขียนโดย คุณธิติ สายเชื้อ นักกฎหมายกฤษฎีกาชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา บทความที่สอง เป็นบทความเรื่อง “ร่างพระราชบัญญัติการบริหารจังหวัดปกครองตนเอง พ.ศ. ....” คำตอบหนึ่งของการ “ปฏิรูปประเทศ” ที่เขียนโดย คุณสรัล  มารู ผู้ช่วยนักวิชาการปฏิรูปกฎหมาย  สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย  บทความที่สาม เป็นบทความเรื่อง “หนึ่งคนหนึ่งเสียงในการเลือกตั้งกับความเท่าเทียม” ที่เขียนโดย อาจารย์ ปีดิเทพ อยู่ยืนยง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บทความที่สี่ เป็นบทความเรื่อง “พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 : มุมมองในมิติกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจ” ที่เขียนโดย คุณเทียนเงิน อุตระชัย นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บทความที่ห้าเป็นบทความเรื่อง “รู้ทันนักปลุกระดม” ที่เขียนโดย คุณชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ  ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกบทความด้วยครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 27 มกราคม 2557 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์  บรมานันท์
        
        


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1926
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 05:58 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)