|
|
พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550: มุมมองในมิติกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจ 12 มกราคม 2557 18:48 น.
|
1. บทนำ
กิจการพลังงานเป็นกิจการด้านสาธารณูปโภคที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก กิจการดังกล่าวถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานในทางเศรษฐกิจที่จะทำให้เกิดความสะดวกสบายแก่ผู้อยู่อาศัยในสังคม การประกอบกิจการด้านพลังงานนั้นมีประวัติความเป็นมายาวนานและได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามพลวัตของสังคมในแต่ละยุคสมัย กิจการพลังงานที่สำคัญคือ กิจการไฟฟ้า ซึ่งในยุคแรกเอกชนจะเป็นผู้ริเริ่มดำเนินกิจการด้านพลังงานก่อน โดยรัฐอาจเข้ามาวางกฎเกณฑ์ควบคุมการประกอบกิจการของเอกชนเพื่อมิให้กระทบกระเทือนต่อประโยชน์ส่วนรวม เช่น การให้สัมปทาน เป็นต้น ต่อมาเมื่อสังคมมีการขยายตัวมากขึ้น ส่งผลให้มีความต้องการในการใช้พลังงานในการดำรงชีพและการพัฒนาประเทศมากยิ่งขึ้น ประกอบกับกิจการพลังงานเป็นกิจการที่มีความเสี่ยงสูง ภาคเอกชนไม่สามารถรับภาระในการจัดหาพลังงานได้อย่างเพียงพอ รัฐจึงต้องเข้าไปทำหน้าที่เป็นผู้จัดทำกิจการด้านสาธารณูปโภคดังกล่าวในลักษณะ รัฐวิสาหกิจ เพื่อให้มีพลังงานที่เพียงพอต่อการบริโภคในสังคมนั้นๆ และในยุคนี้เองรัฐได้เข้ามาแทรกแซงในระบบเศรษฐกิจ โดยรัฐวิสาหกิจจะเป็นผู้ผลิตสินค้าหรือให้บริการเอง ซึ่งเป็นลักษณะคล้ายการประกอบธุรกิจของเอกชน ทั้งนี้ รัฐโดยการดำเนินงานในรูปแบบ รัฐวิสาหกิจ นั้นจะเป็นผู้ผูกขาดและประกอบกิจการด้านพลังงานเสียเอง
อย่างไรก็ตาม เมื่อโลกได้เข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์ที่ทำให้ประเทศต่างๆ สามารถติดต่อการค้าได้อย่างเสรี ภาคเอกชนเริ่มมีความเข้มแข็งและความสามารถทั้งด้านทุน เทคโนโลยี และบุคลากรมากยิ่งขึ้น รัฐจึงเริ่มลดบทบาทจากภารกิจในทางเศรษฐกิจซึ่งรวมถึงกิจการด้านพลังงานด้วย รัฐได้มีการปรับเปลี่ยนบทบาทจากผู้ประกอบการและผู้ควบคุมอย่างเข้มงวดในกิจการพลังงาน มาเป็นผู้กำกับดูแลและวางกฎกติกาในการประกอบกิจการดังกล่าวพร้อมทั้งสนับสนุนให้เอกชนเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น จะเห็นได้ว่า รัฐยังคงเข้ามาแทรกแซงในระบบเศรษฐกิจอยู่แต่เป็นลักษณะที่ลดระดับความเข้มข้นของการแทรกแซง จากการควบคุมผูกขาดเป็นเพียงการกำกับดูแลเท่านั้น ในปัจจุบันประเทศไทยได้มีการตรากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลกิจการพลังงาน คือ พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 กฎหมายนี้ใช้บังคับแก่การประกอบกิจการพลังงานทั่วประเทศ* (มาตรา 4) โดยกิจการพลังงานนั้น หมายถึง กิจการไฟฟ้าและกิจการก๊าซธรรมชาติ หรือกิจการระบบโครงข่ายพลังงาน** เท่านั้น (มาตรา 5) นอกจากนี้ พระราชบัญญัติฉบับนี้ได้มีการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลและวิธีการที่ใช้ในการกำกับดูแลกิจการพลังงานอย่างชัดเจนอีกด้วย และด้วยลักษณะสำคัญของกฎหมายฉบับนี้จึงทำให้ผู้เขียนมีความสนใจที่จะวิเคราะห์ถึงลักษณะหลักการพื้นฐานของกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจที่สะท้อนและปรากฎในกฎหมายฉบับนี้
2. ความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550
พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 เป็นกฎหมายสำคัญด้านพลังงาน โดยมีที่มาในการร่างกฎหมายนี้คือ ในสถานการณ์ปัจจุบัน กิจการพลังงานเป็นกิจการที่มีความสำคัญต่อโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของประเทศเป็นอย่างมาก และเพื่อให้การประกอบกิจการพลังงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีความมั่นคง มีปริมาณเพียงพอและทั่วถึงในราคาที่เป็นธรรมและมีคุณภาพที่ได้มาตรฐาน ตอบสนองต่อความต้องการภายในประเทศและต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในด้านศรษฐกิจ สังคม เและสิ่งแวดล้อม จึงมีความจำเป็นที่ต้องปรับโครงสร้างการบริหารกิจการพลังงานโดยมีการแยกงานนโยบาย งานกำกับดูแล และการประกอบกิจการพลังงานออกจากกัน เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคเอกชน ชุมชน และประชาชนมีส่วนร่วมและมีบทบาทมากขึ้น โดยพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้กำหนดให้มีการจัดตั้ง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ขึ้นเพื่อกำกับดูแลกิจการพลังงาน โดยกำหนดให้มีหน้าที่ป้องกันการใช้อำนาจผูกขาดโดยมิชอบ มีหน้าที่ให้การคุ้มครองผู้ใช้พลังงานและผู้ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการพลังงาน นอกกจากนั้นกฎหมายฉบับนี้ยังมีการจัดตั้ง สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ขึ้นมา มีฐานะเป็นหน่วยงานนิติบุคคลของรัฐ ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการอีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้คณะกรรมการสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
พระราชบัญญัติประกอบกิจการพลังงานฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีบริการด้านพลังงานอย่างเพียงพอและมั่นคงต่อความต้องการของประชาชน ส่งเสริมการแข่งขันในกิจการพลังงาน และป้องกันการใช้อำนาจในทางมิชอบในการประกอบกิจการพลังงาน ส่งเสริมให้การบริการของระบบโครงข่ายพลังงาน ส่งเสริมให้การประกอบกิจการพลังงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นธรรมต่อผู้รับใบอนุญาตและผู้ใช้พลังงาน ทั้งยังส่งเสริมการใช้พลังงานและการใช้ทรัพยากรในการประกอบกิจการพลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้ใช้พลังงานทั้งทางด้านอัตราค่าบริการและคุณภาพการให้บริการ และยังเป็นการปกป้องสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้พลังงาน ชุมชนท้องถิ่น ประชาชน และผู้รับใบอนุญาตในการมีส่วนร่วม เข้าถึง ใช้ และจัดการด้านพลังงาน ภายใต้หลักเกณฑ์ที่ให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย[1]
3. ความสอดคล้องของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 กับหลักการกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจ
ในการที่จะวิเคราะห์พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ตามหลักการกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจได้นั้น มีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาลักษณะพื้นฐานของกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจเสียก่อนว่า กฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจนั้นมีความหมายอย่างไร และมีหลักการพื้นฐานที่สำคัญเช่นใดบ้าง หลังจากนั้นจึงมาวิเคราะห์ลักษณะของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ว่ามีความสอดคล้องกับหลักการตามกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง
3.1 ความหมายและหลักการพื้นฐานทางกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจ
กฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจอาจมีความความหมายได้หลายแนวทางแตกต่างกันไปตามนิยามของนักวิชาการแต่ละคน อย่างไรก็ตามศาสตราจารย์ทางกฎหมายมหาชนที่มีชื่อเสียงของฝรั่งเศส คือ Andre’ de LAUBADERE และ Pierre DELVOLVE ได้ให้ความหมายของกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจ คือ กฎหมายที่กำหนดเกี่ยวกับการเข้ามามีบทบาทแทรกแซงในทางเศรษฐกิจของนิติบุคคลมหาชนทั้งหลาย[2]
สำหรับหลักการพื้นฐานที่เป็นส่วนของกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจนั้นมีที่มาได้สองทาง คือ 1.หลักการพื้นฐานของกฎหมายมหาชนทั่วไป และ 2. หลักการเฉพาะของกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. หลักการพื้นฐานของกฎหมายมหาชนทั่วไป
กฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจนั้นเป็นส่วนหนึ่งกฎหมายมหาชน เป็นกฎหมายที่ก่อขึ้นมาภายหลัง เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของโลกได้เปลี่ยนแปลงไป จนทำให้บทบาททางเศรษฐกิจของรัฐปัจจุบันต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงไปจากบทบาทของรัฐเดิมเป็นอย่างมาก[3] กฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจจึงเป็นกฎหมายที่ว่าบทบาทของรัฐในทางเศรษฐกิจ และเมื่อกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายมหาชนจึงทำให้หลักการพื้นฐานของกฎหมายมหาชนทั่วไปนั้น เป็นหลักการพื้นฐานของกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจอีกด้วย อาทิเช่น หลักความเสมอภาค หลักความได้สัดส่วน หลักความเป็นกลาง หลักฟังความสองฝ่าย หลักความต่อเนื่องของบริการสาธารณะ เป็นต้น
2. หลักการเฉพาะของกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจ
หลักการกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะหรือแท้นั้น ประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ สองประการ คือ หลักเสรีนิยม และหลักการแทรกแซงทางเศรษฐกิจโดยรัฐ ซึ่งหลักการทั้งสองต่างก็มีลักษณะที่เป็นการขัดแย้งและผสมผสานประโยชน์ซึ่งกันและกัน[4] ดังนี้
2.1 หลักเสรีนิยม
หลักเสรีนิยมนั้นมีรากฐานแนวคิดจากสำนักความคิดเสรีนิยมคลาสสิค ซึ่งสำนักความคิดนี้เชื่อว่ามนุษย์มีสิทธิเสรีภาพมาตั้งแต่กำเนิด มนุษย์มีความเสมอเท่าเทียมกัน และในสังคมของมนุษย์เองจะมีกฎธรรมชาติที่คอยประสานประโยชน์ของคนในสังคม หลักการเสรีนิยมจึงเน้นการมีเสรีภาพของมนุษย์ที่จะกระทำการต่างๆ ได้ โดยไม่ทำให้สังคมเดือดร้อน และเมื่อมนุษย์ได้ใช้แรงงานของตนกระทำสิ่งใดแล้วเกิดผลตามมา มนุษย์ย่อมมีสิทธิในทรัพย์สินนั้น ส่วนในกิจการของเอกชนนั้น รัฐไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว ควรปล่อยให้ระบบเศรษฐกิจดำเนินไปตามกลไกตลาดซึ่งเป็นกฎธรรมชาติในการประสานประโยชน์แก่ทุกฝ่ายในสังคม[5] หลักเสรีนิยมมีองค์ประกอบสำคัญ 2 ประการ คือ หลักการรับรองสิทธิในทรัพย์สินหรือหลักกรรมสิทธิ์ และหลักเสรีภาพในทางอุตสาหกรรมและการค้า คือ
2.1.1 หลักการรับรองสิทธิในทรัพย์สินหรือหลักกรรมสิทธิ์
กรรมสิทธิ์เป็นสิทธิเสรีภาพตามธรรมชาติที่ไม่อาจจำกัดได้ของมนุษย์ชาติ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่อาจถูกล่วงละเมิดได้ เพราะเมื่อมนุษย์ได้ใช้แรงงานกระทำสิ่งใดเกิดขึ้นมาแล้ว สิ่งนั้นย่อมเป็นของมนุษย์ผู้กระทำการนั้น กรรมสิทธิ์จึงเป็นเครื่องมือที่สนับสนุนให้มนุษย์มีเสรีภาพอย่างแท้จริง[6] หลักกรรมสิทธิ์นี้มีฐานะเป็นหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ได้ให้การรับรองหลักกรรมสิทธิ์ไว้ในมาตรา 41 คือ สิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน ย่อมได้รับความคุ้มครอง ขอบเขตแห่งสิทธิและการจำกัดสิทธิเช่นว่านี้ย่อมเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ สำหรับเนื้อหาของหลักกรรมสิทธิ์นั้น กรรมสิทธิ์ คือ สิทธิที่จะถือเอาและใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินอย่างสมบูรณ์ หลักกรรมสิทธิ์จึงเป็นการรับรองให้ผู้ทรงกรรมสิทธิ์สามารถใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินนั้นได้ตามที่พอใจและหาประโยชน์จากทรัพย์สินนั้นได้เต็มตามความสามารถของตน ซึ่งก็ย่อมหมายถึงการยึดถือเอาทรัพย์สินนั้นไว้ การใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินนั้นและการได้รับดอกผลจากทรัพย์สินนั้น อย่างไรก็ตามการใช้สิทธิในทรัพย์สินดังกล่าวก็ต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตที่รัฐธรรมนูญ กฎหมายหรือกฎข้อบังคับต่างๆ กำหนดไว้ ส่งผลให้กรรมสิทธิ์สามารถถูกรอดสิทธิได้ เช่น การเวนคืน การโอนเป็นของชาติในวิสาหกิจต่าง ๆ (Nationalization) เป็นต้น[7]
2.1.2 หลักเสรีภาพในทางอุตสาหกรรมและการค้า
หลักเสรีภาพในทางอุตสาหกรรมและการค้าเป็นเสรีภาพพื้นฐานของประชาชนและหลักกฎหมายทั่วไป ซึ่งเสรีภาพในทางอุตสาหกรรมและการค้านั้น หมายความว่าผู้ประกอบการย่อมมีเสรีภาพในการประกอบการทางเศรษฐกิจในทุกๆ ด้าน และมีเสรีภาพในการที่จะแข่งขันกับผู้อื่น โดยไม่ถูกขัดขวางจากสิ่งใด[8] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ได้บัญญัติรับรองหลักดังกล่าวไว้ดังนี้ มาตรา 43 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพและการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ... หลักเสรีภาพในทางอุตสาหกรรมและการค้านั้นประกอบด้วยหลักการสำคัญ 2 ประการ คือ หลักเสรีภาพในการประกอบการ และหลักการแข่งขันเสรี [9] ซึ่งจะกล่าวได้ ดังนี้
2.1.2.1 หลักเสรีภาพในการประกอบการ เป็นหลักที่รับรองความเป็นอิสระในการประกอบกิจการทางของเอกชน คือ ในกรณีที่ไม่มีกฎหมายกำหนดข้อห้ามไว้ เอกชนย่อมมีเสรีภาพในการเลือกการประกอบธุรกิจ และเลือกกรรมวิธีในการประกอบการธุรกิจอีกด้วย หลักดังกล่าวมีขึ้นเพื่อป้องกันมิให้รัฐออกกฎข้อบังคับ หรือข้อจำกัดใดๆ ที่กระทบต่อเสรีภาพในการประกอบกิจการของประชาชนได้ อย่างไรก็ตามการใช้เสรีภาพในการประกอบการก็อาจมีข้อจำกัดของการใช้หลักเสรีภาพได้ ซึ่งข้อจำกัดในการใช้เสรีภาพนั้นอาจมาจากอำนาจนิติบัญญัติที่ออกกฎหมายกำหนดกฎเกณฑ์เงื่อนไขบางประการในการใช้เสรีภาพในการประกอบการ นอกจากบทบัญญัติในกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติอาจให้ระบุอำนาจฝ่ายปกครองในการจำกัดเสรีภาพในการประกอบการได้ในบางกรณี ตามความจำเป็นหรือประโยชน์สาธารณะ สำหรับมาตรการจำกัดเสรีภาพในการประกอบการมีอยู่หลายกรณี เช่น การกำหนดให้ต้องแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ การออกระเบียบ เพื่อวางเงื่อนไขในการประกอบกิจการ การกำหนดให้มีการขออนุญาตล่วงหน้า การห้ามการประกอบการ การผูกขาดการประกอบการโดยรัฐ เป็นต้น[10]
2.1.2.2 หลักการแข่งขันเสรี คือ หลักการที่มุ่งคุ้มครองให้บุคคลทุกคนสามารถแย่งชิงกันไปสู่จุดหมายได้โดยไม่สร้างข้อจำกัดใดๆ แก่ผู้แข่งขันคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ หลักการนี้จะเป็นการรับประกันว่าการแข่งขันในการประกอบการจะเป็นไปโดยเสรี หลักการแข่งขันเสรียังมีผลโดยตรงไปถึงกิจการที่รัฐเข้ามาเป็นผู้ประกอบการเองอีกด้วย โดยหลักการแล้วรัฐจะต้องไม่ประกอบการแข่งขันกับประชาชน นอกจากจะมีเหตุผลจำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และหากรัฐเข้าไปประกอบกิจการทางเศรษฐกิจในลักษณะที่แข่งขันกับการประกอบการของเอกชน รัฐก็ต้องประกอบการแข่งขันในลักษณะที่เท่าเทียมกันและต้องไม่มีข้อกำหนดที่เอาเปรียบเอกชนด้วย[11] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ได้บัญญัติรับรองหลักดังกล่าวไว้ดังนี้
มาตรา 84 รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ ดังต่อไปนี้
(1) สนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีและเป็นธรรมโดยอาศัยกลไกตลาด ...โดยต้องยกเลิกและละเว้นการตรากฎหมายและกฎเกณฑ์ที่ควบคุมธุรกิจซึ่งมีบทบัญญัติที่ไม่สอดคล้องกับความจำเป็นทางเศรษฐกิจ และต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ รักษาผลประโยชน์ส่วนรวม หรือการจัดให้มีสาธารณูปโภค…
...(5) กำกับให้การประกอบกิจการมีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ป้องกันการผูกขาดตัดตอนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม...
2.2 หลักการแทรกแซงทางเศรษฐกิจโดยรัฐ
แม้รัฐธรรมนูญจะรับรองหลักเสรีภาพในทางอุตสาหกรรมและการค้าและหลักกรรมสิทธิ์ไว้โดยแจ้งชัดก็ตาม อย่างไรก็ตาม ยังมีหลักการอีกประการหนึ่งที่ได้มีการรับรองในตัวบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ กล่าวคือการเข้ามาจัดองค์ประกอบของการดำเนินการทางเศรษฐกิจของรัฐ หรือกล่าวให้ชัดเจนก็คือการเข้ามาแทรกแซงในทางเศรษฐกิจของภาครัฐนั่นเอง หลักการเข้าแทรกแซงทางเศรษฐกิจนี้เกิดขึ้นจากแนวคิดสังคมนิยมที่ตรงกันข้ามกับหลักเสรีนิยม จึงทำให้เนื้อหาของหลักการนี้ก็ตรงกันข้ามกับหลักเสรีนิยมอย่างเห็นได้ชัด เพราะแทนที่จะจำกัดบทบาทของรัฐในทางเศรษฐกิจ หลักการนี้กลับส่งเสริมหรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นที่มาของความชอบธรรม หรือเป็นการกำหนดภาระหน้าที่ในการที่รัฐจะต้องเข้าไปแทรกแซงในทางเศรษฐกิจ หรือเข้าไปวางหลักการหรือจำกัดขอบเขตของการประกอบกิจกรรมในทางเศรษฐกิจบางลักษณะอีกด้วย[12] โดยความจำเป็นที่รัฐจะต้องเข้ามามีบทบาทในทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่มีประสิทธิภาพของระบบกลไกตลาด มุ่งแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมกันในทางเศรษฐกิจซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาสังคมเสื่อมโทรมตามมา ดังนั้น รัฐจึงมีหน้าที่กำหนดกฎเกณฑ์และดำเนินการต่างๆ เพื่อให้เกิดการประโยชน์แก่ทุกฝ่าย[13]
หลักการแทรกแซงทางเศรษฐกิจโดยรัฐ มีรากฐานแนวคิดมาจากหลักแห่งประโยชน์ (principle of Utility) ที่ว่า การกระทำที่ดีที่สุด คือการกระทำที่ก่อให้เกิดความสุขของคนจำนวนมากที่สุด เสรีภาพเป็นวิธีการให้ได้ประโยชน์สูงสุด และถ้าประโยชน์สูงสุดจะถูกกระทบกระเทือนก็อาจจำกัดเสรีภาพได้[14] ฉะนั้นจะเห็นได้ว่า รัฐจึงสามารถกระทำจำกัดเสรีภาพของปัจเจกชนโดยการแทรกแซงในทางเศรษฐกิจได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทุกคนในสังคม ทั้งนี้ จะต้องเป็นไปโดยความยินยอมของคนในสังคมโดยผ่านสัญญาประชาคมหรือรัฐธรรมนูญนั่นเอง
การแทรกแซงทางเศรษฐกิจของรัฐนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 รูปแบบ[15] คือ
1. การวางแผนทางเศรษฐกิจ รัฐจะดำเนินการโดยผ่านมาตรการของการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งกำหนดแนวทางและเป้าหมายของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ตลอดถึงมาตรการต่างๆ ที่รัฐพึงดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามแผนการดังกล่าว
2. การผูกขาดการดำเนินการทางเศรษฐกิจบางประเภท โดยการกฎหมายห้ามมิให้เอกชนดำเนินการกิจการประเภทนั้นๆ เว้นแต่โดยได้รับอนุญาติโดยชัดเจนจากรัฐ ซึ่งปกติจะเป็นกิจการที่มีความสำคัญและมีผลกระทบต่อประชาชนหรือต่อเศรษฐกิจชาติ
3. การให้ความสนับสนุนแก่การดำเนินงานทางเศรษฐกิจของเอกชน รัฐอาจเล็งเห็นว่าการประกอบการทางเศรษฐกิจบางลักษณะอาจก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติได้ ดังนั้นรัฐจึงอาจออกกฎหมายให้การสนับสนุนแก่การประกอบกิจการนั้นๆ เช่น ออกกฎหมายงดเว้นการเก็บภาษีจากกำไรที่เอกชนได้รับจากการประกอบกิจการในระหว่างระยะเวลานั้นๆ เป็นต้น
4. การวางหลักเกณฑ์ในการประกอบอาชีพบางประเภท รัฐอาจเล็งเห็นว่าวิชาชีพบางประเภทอาจมีผลกระทบต่อประชาชน จึงอาจมีการวางหลักเกณฑ์ควบคุมมาตรฐานและควบคุมการประกอบวิชาชีพนั้นๆ ให้แตกต่างจากวิชาชีพอื่นๆ เช่น การจัดตั้งองค์กรวิชาชีพที่ค่อยสอดส่องดูแลการประกอบวิชาชีพ เป็นต้น
5. การห้ามประกอบอาชีพทางเศรษฐกิจบางลักษณะ รัฐอาจออกกฎเกณฑ์ที่มีลักษณะทั่วไปขึ้น เพื่อใช้กับการประกอบการทุกประเภท เพื่อห้ามการประกอบการในลักษณะที่เป็นการเอาเปรียบสังคม หรือการค้ากำไรเกินควรจนทำให้สังคมเดือดร้อน เช่น ออกกฎหมายป้องกันการผูกขาดและค้ากำไรเกินควร หรือ กฎหมายที่มีลักษณะคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น
3.2 วิเคราะห์พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ตามหลักการกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจ
พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกิจการพลังงาน โดยพระราชบัญญัตินี้มีโครงสร้าง ดังนี้
หมวด 1 บททั่วไป (มาตรา7- มาตรา9)
หมวด 2 องค์กรกำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงาน
ส่วนที่ 1 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (มาตรา 10 - มาตรา 29)
ส่วนที่ 2 สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (มาตรา 30 - มาตรา 46)
หมวด 3 การกำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงาน
ส่วนที่ 1 การอนุญาตการประกอบกิจการพลังงาน (มาตรา 47 - มาตรา 63)
ส่วนที่ 2 อัตราค่าบริการในการประกอบกิจการพลังงาน (มาตรา 64 - มาตรา 71)
ส่วนที่ 3 การกำหนดมาตรฐานและความปลอดภัยในการประกอบกิจการพลังงาน (มาตรา 72 - มาตรา 78)
ส่วนที่4 ระบบโครงข่ายพลังงานและศูนย์ควบคุมระบบโครงข่ายพลังงาน (มาตรา 79 - มาตรา 88)
หมวด 4 การคุ้มครองผู้ใช้พลังงาน
ส่วนที่ 1 มาตรฐานการให้บริการและการให้บริการที่ทั่วถึง (มาตรา 89 - มาตรา 92)
ส่วนที่ 2 กองทุนพัฒนาไฟฟ้า (มาตรา 93 - มาตรา 97)
ส่วนที่ 3 คณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต (มาตรา 98 - มาตรา 103)
หมวด 5 การใช้อสังหาริมทรัพย์ (มาตรา 104 - มาตรา 118)
หมวด 6 การพิจารณาข้อพิพาทและการอุทธรณ์ (มาตรา 119 - มาตรา 121)
หมวด 7 พนักงานเจ้าหน้าที่ (มาตรา 122 - มาตรา 126)
หมวด 8 การบังคับทางปกครอง (มาตรา127 - มาตรา 128)
หมวด 9 บทกำหนดโทษ (มาตรา 129 - มาตรา 141)
บทเฉพาะกาล (มาตรา 142 - มาตรา 155)
เมื่อพิจารณาจากที่มา วัตถุประสงค์และโครงสร้างของกฎหมายที่ได้กล่าวไปแล้วนั้น จะเห็นพบว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ส่งเสริมการประกอบกิจการพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันในกิจการพลังงาน การให้บริการ รวมถึงการใช้พลังงานให้เกิดความสมดุล ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความมีประสิทธิภาพในการประกอบกิจการแก่ผู้รับใบอนุญาต และเกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ใช้พลังงาน ฉะนั้นกฎหมายฉบับนี้จึงจะต้องกำหนดบทบัญญัติที่สะท้อนถึงหลักเสรีนิยม ทั้งหลักกรรมสิทธิ์และหลักเสรีภาพในทางอุตสาหกรรมและการค้า เพื่อให้เป็นการสนับสนุนให้การประกอบกิจการพลังงานมีประสิทธิภาพและเพียงพอต่อความต้องการ อีกทั้งกฎหมายฉบับนี้ยังต้องมีบทบัญญัติที่เป็นการให้ภาครัฐเข้ามามีบทบาทในการกำกับดูแลกิจการพลังงาน เนื่องจากเป็นกิจการสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก ภาครัฐจึงต้องมีหน้าที่ในการแทรกแซงทางเศรษฐกิจในการประกอบกิจพลังงาน ซึ่งสามารถวิเคราะห์ได้ตามหลักการพื้นฐานของกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจโดยแท้† ได้ดังนี้
1. หลักเสรีนิยม พระราชบัญญัติฉบับนี้มีบทบัญญัติที่เป็นการสะท้อนองค์ประกอบของหลักเสรีนิยม ไม่ว่าจะเป็นหลักกรรมสิทธิ์และหลักเสรีภาพในทางอุตสาหกรรมและการค้า คือ
1.1 หลักกรรมสิทธิ์
ในหมวด 5 การใช้อสังหาริมทรัพย์นั้น พระราชบัญญัติฉบับนี้ได้มีบทบัญญัติที่แสดงให้เห็นถึงหลักกรรมสิทธิ์และการจำกัดหลักกรรมสิทธิ์ไว้หลายประการด้วยกัน ซึ่งผู้เขียนขอนำเพียงประเด็นที่สำคัญมาอธิบาย ดังนี้
การเวนคืนที่ดิน เมื่อผู้รับใบอนุญาตต้องการจัดตั้งระบบโครงข่ายพลังงานในบริเวณใด จะใช้กระบวนการเวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น[16] ซึ่งบทบัญญัตินี้แสดงเห็นว่ามีการรับรองหลักกรรรมสิทธิ์ไว้อย่างชัดเจน คือ เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอย มีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย การจำกัดสิทธิในทรัพย์สินนั้นจะต้องใช้กฎหมายว่าด้วยการเวนคืนที่มีการกำหนดขั้นตอนไว้อย่างชัดเจนและมีการเสียค่าตอบแทน
การเข้าไปสำรวจที่ดินเพื่อจะทำโครงข่ายพลังงาน กฎหมายได้อนุญาตให้ผู้รับใบอนุญาตสามารถเข้าไปสำรวจในที่ดินนั้นได้ แต่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดเสียก่อน และถ้าเข้าไปแล้วเกิดความเสียหายในอสังหาริมทรัพย์นั้น ผู้รับใบอนุญาตจะต้องเสียค่าตอบแทน[17] และเมื่อกำหนดเขตแดนที่จะจัดตั้งระบบโครงข่ายพลังงาน ให้ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้รวมถึงการตกลงจ่ายค่าใช้ประโยชน์แก่เจ้าของทรัพย์ด้วย[18] หรือแม้กระทั่งการเข้าไปซ่อมหรือบำรุงรักษาโครงข่ายพลังงานจะต้องมีการแจ้งให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ทราบเสียก่อน และถ้าหากเกิดความเสียระหว่างการซ่อมแซม ผู้รับใบอนุญาตต้องชดเชยค่าเสียหายดังกล่าวด้วย[19] ซึ่งจะเห็นได้ว่า กฎหมายนี้ได้มีบทบัญญัติที่จำกัดกรรมสิทธิ์ของเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตาม หากเกิดความเสียหายเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ก็ยังมีสิทธิได้รับค่าทดแทนความเสียหายดังกล่าว เนื่องจากการเป็นผู้มีสิทธิในทรัพย์สินนั้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า กรณีเป็นการคงหลักการของหลักกรรมสิทธิ์ที่ผู้ทรงกรรมสิทธิ์มีสิทธิใช้ประโยชน์ในทรัพย์ของตนอย่างเต็มที่ ซึ่งหมายความว่าถ้าเกิดกรณีที่เจ้าของทรัพย์ไม่สามารถใช้ทรัพย์ได้เต็มที่ เจ้าของทรัพย์ก็ควรได้รับค่าทดแทนในประโยชน์ที่ตนเสียไป กรณีนี้รวมถึงการที่โครงข่ายพลังงานหรืออุปกรณ์ในโครงข่ายพลังงานทำให้เกิดการรบกวนต่อการใช้ประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์นั้น ผู้รับใบอนุญาตต้องดำเนินการแก้ไขการรบกวนดังกล่าว หากไม่สามารถแก้ไขได้ ก็ต้องรับผิดชอบเสียค่าตอบแทน[20]
1.2 หลักเสรีภาพในทางอุตสาหกรรมและการค้า
เมื่อพิจารณาหลักย่อยอันเป็นองค์ประกอบของหลักเสรีภาพในทางอุตสาหกรรมและการค้าทั้งประการแล้ว พบว่ากฎหมายฉบับนี้ได้บัญญัติหลัการที่สอดกับหลักเสรีภาพในการประกอบการ และหลักการแข่งขันเสรี ดังนี้
การส่งเสริมการแข่งขันและการประกอบกิจการ กฎหมายฉบับนี้มีวัถตุประสงค์ในการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการพลังงาน ส่งเสริมการประกอบกิจการพลังให้มีประสิทธิภาพ และเป็นธรรม พร้อมทั้งป้องกันการใช้อำนาจในทางมิชอบในการประกอบกิจการพลังงาน[21] ซึ่งจากบทบัญญํตินี้จะเห็นได้ว่า เป็นบทบัญญัติที่ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันทางการค้าอย่างเสรีและเป็นธรรม ทำให้การประกอบกิจการมีประสิทธิภาพ ซึ่งตรงตามหลักการแข่งขันเสรีที่ได้กล่าวไปแล้วนั้น นอกจากนี้ยังการกำหนดไว้อย่างชัดแจ้งว่าจะต้องป้องกันการใช้อำนาจในทางมิชอบในการประกอบกิจการพลังงาน ซึ่งก็เท่ากับเป็นหลักประกันว่าจะมีการป้องกันมิให้ใช้อำนาจมิชอบในการสร้างกฎเกณฑ์ที่ทำให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเสียเปรียบในการแข่งขันทางการค้า เพื่อจะทำให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีอย่างแท้จริ
การอนุญาตให้ประกอบกิจการพลังงาน พ.ร.บ. ฉบับนี้ได้กำหนดว่าการประกอบกิจการพลังงานไม่ว่าจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ ต้องได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน[22] ซึ่งก็หมายความว่า ไม่ว่าผู้ประกอบการรายใดก็ตาม ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติไว้ และไม่มีลักษณะที่ต้องห้ามตามที่กฎหมาย เอกชนรายนั้นย่อมมีเสรีภาพในการประกอบกิจการพลังงาน สามารถยื่นคำขออนุญาตจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน บทบัญญัติมาตรานี้จึงเป็นการสะท้อนถึงการรับรองหลักเสรีภาพในการประกอบการได
อนึ่ง สำหรับบทบัญญัติที่แสดงถึงข้อจำกัดในเสรีภาพในทางอุตสาหกรรมและการค้า ผู้เขียนจะขอกล่าวรวมในการอธิบายหลักการแทรกแซงทางเศรษฐกิจโดยรัฐ เนื่องจากข้อจำกัดดังกล่าวมีที่มาจากหลักการแทรกแซงทางเศรษฐกิจโดยรัฐ
2. หลักการแทรกแซงทางเศรษฐกิจโดยรัฐ
ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นนั้นว่า พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องการแทรกแซงทางเศรษฐกิจของรัฐในกิจการพลังงาน โดยรัฐได้สร้างเครื่องมือในการแทรกแซงกิจการพลังงาน คือ สร้างหน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) และได้กำหนดกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลกิจการพลังงาน ในกฎหมายฉบับนี้จึงมีบทบัญญัติที่สะท้อนให้เห็นถึงหลักการแทรกแซงทางเศรษฐกิจโดยรัฐเป็นอย่างมาก โดยลักษณะของการแทรกแซงทางเศรษฐกิจ ตั้งแต่ การสร้างองค์กรในการกำกับดูแลกิจการพลังงาน โดยให้อำนาจองค์กรในการออกกฎเกณฑ์ที่เป็นข้อจำกัดในการประกอบกิจการ มีการกำหนดกฎเกณฑ์ในการประกอบกิจการ เช่น ต้องมีการขออนุญาตประกอบกิจการพลังงานตามที่กำหนด มีการกำหนดมาตรฐานในการประกอบกิจการเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูง มีการจำกัดกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ที่เป็นโครงข่ายพลังงาน ซึ่งสามารถโดยสรุป ได้ดังนี้
การวางแนวนโยบายพื้นฐานว่าด้วยกิจการพลังงาน พ.ร.บ. ฉบับนี้กำหนดให้รัฐจะต้องมีแนวนโยบายพื้นฐานว่าด้วยกิจการพลังงาน จัดหาพลังงานให้เพียงพอกับความต้องการ มีคุณภาพ มีความมั่นคง และมีระดับราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม สนับสนุนกิจการไฟฟ้าเพื่อสาธารณูปโภคพื้นฐาน การรักษาความมั่นคงและเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า[23] โดยรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานจะเป็นผู้เสนอนโยบายเกี่ยวกับโครงสร้างกิจการพลังงาน และโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแล[24] จะเห็นได้ว่ากฎหมายเฉพาะนี้ได้มีการแทรกแซงทางเศรษฐกิจในกิจการพลังงาน ดังแต่ระดับการวางนโยบาย โดยได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนรัฐจะจัดนโยบายเพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลกิจการพลังงาน
องค์กรกำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงาน กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานของประเทศทำหน้าที่จะดูแลด้านกิจการไฟฟ้า และกิจการก๊าซธรรมชาติ เพื่อส่งเสริมให้มีความมั่นคงและเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า การให้บริการที่มีเสถียรภาพ ในราคาที่เหมาะสม ยุติธรรม ทั้งต่อผู้ใช้พลังงาน และผู้ให้บริการ โดยองค์กรกำกับดูแลนี้จะผู้กำหนดกฎเกณฑ์ในการประกอบกิจการให้เกิดความยุติธรรมแก่ผู้บริโภค เช่น ระเบียบและหลักเกณฑ์ในการจัดหาไฟฟ้า การการออกประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้า เป็นต้น ทั้งนี้ ป้องกันการเอาเปรียบจากผู้ประกอบการ[25] บทบัญญัตินี้เป็นการให้อำนาจในการแทรกแซงทางเศรษฐกิจแก่หน่วยงานรัฐในรูปแบบ องค์กรกำกับดูแล ซึ่งองค์กรดังกล่าวนี้จำทำหน้าที่จำกัดเสรีภาพในการค้าและอุตสาหกรรมมิให้ผู้ประกอบการใช้เสรีภาพไปในทางที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้บริโภค การกำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงานของผู้ประกอบการนั้น จะให้เกิดความเป็นธรรมทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการ
การกำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงาน กฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดกลไกในการกำกับดูแลกิจการพลังงานไว้ ไม่ว่าจะเป็นการขออนุญาตประกอบกิจการ การวางหลักเกณฑ์ในการกำหนดอัตราค่าบริการ การกำหนดมาตรฐานและความปลอดภัยในการประกอบกิจการพลังงาน การกำหนดเงื่อนไขในการประกอบกิจการนี้ได้สะท้อนการจำกัดเสรีภาพในการประกอบกิจการที่รัฐจะต้องเข้ากำกับดูแลกิจการที่มีผลกระทบต่อสังคม ซึ่งสามารถพิจารณาได้ ดังนี
- การอนุญาตการประกอบกิจการพลังงาน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานมีหน้าที่มีอำนาจพิจารณาออกใบอนุญาตแก่ผู้ประกอบกิจการพลังงาน ยกเว้นในบางกิจการที่เพียงแจ้งให้ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงานทราบก็พอ[26] พิจารณาอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารหรือตั้งโรงงานตามกฎหมายเฉพาะต่างๆ[27] กำหนดคุณสมบัติผู้ขอรับใบอนุญาต กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการออกใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน และการเลิกกิจการพลังงาน[28] นอกจากนี้ คณะกรรมการยังมีอำนาจในการออกระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อมิให้มีการกระทำการใด อันเป็นการผูกขาด ลดการแข่งขัน หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการพลังงาน[29] หากผู้รับใบอนุญาตไม่ปฏิบัติตามหลักกณฑ์ดังกล่าว คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตหยุดหรือปรับปรุงการกระทำอันเป็นการผูกขาดลดการแข่งขันหรือจำกัดการแข่งขัน[30]
- อัตราค่าบริการในการประกอบกิจการพลังงาน ให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานกำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าบริการของผู้รับใบอนุญาตแต่ละประเภท[31] ให้คณะกรรมการกำกับดูแลอัตราค่าบริการที่ผู้รับใบอนุญาตกำหนด[32]โดยผู้รับใบอนุญาตเสนออัตราค่าบริการเพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาให้ความเห็นชอบ[33] ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่าอัตราค่าบริการไม่เหมาะสม อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพเศรษฐกิจ สังคม การลงทุนหรือเทคโนโลยี คณะกรรมการมีอำนาจปรับอัตราค่าบริการ หรือ สั่งให้ผู้รับใบอนุญาตปรับอัตราค่าบริการเพื่อเสนอให้คณะกรรมการให้ความเห็นชอบ[34] ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตเห็นว่าอัตราค่าบริการที่คณะกรรมการปรับหรือให้ความเห็นชอบไปแล้วนั้นไม่เหมาะสมอันเนื่องมาจากมีการเปลี่ยนแปลงสภาพเศรษฐกิจ สังคม การลงทุน เทคโนโลยี หรือเหตุอื่น ผู้รับใบอนุญาตอาจยื่นคำร้องขอปรับอัตราค่าบริการต่อคณะกรรมการเพื่อให้ความเห็นชอบได้[35] นอกจากนี้ ห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาตเรียกเก็บค่าบริการเกินกว่าอัตราค่าบริการที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบ[36] ถ้าหากมีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตกระทำการ หรืองดเว้นกระทำการหรือแก้ไขปรับปรุง หรือปฏิบัติให้ถูกต้องหรือเหมาะสมภายในระยะเวลาที่กำหนดได้[37]
- การกำหนดมาตรฐานและความปลอดภัยในการประกอบกิจการพลังงาน พ.ร.บ. ฉบับนี้กำหนดให้การประกอบกิจการพลังงาน ต้องเป็นไปตามมาตรฐานทางวิศวกรรมและมีความปลอดภัยตามระเบียบที่คณะกรรมการประกาศกำหนด[38] อีกทั้งมาตรฐานของอุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายพลังงานของผู้รับใบอนุญาตที่มีระบบโครงข่ายพลังงาน รวมถึงวิธีการตรวจสอบและการรับรองผลการตรวจสอบยังต้องเป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการประกาศกำหนดอีกด้วย[39]
- ระบบโครงข่ายพลังงานและศูนย์ควบคุมระบบโครงข่ายพลังงาน ผู้รับใบอนุญาตที่มีระบบโครงข่ายพลังงานต้องดำเนินการตามที่กำหนดในแผนการขยายระบบโครงข่ายพลังงาน[40] ผู้รับใบอนุญาตที่มีระบบโครงข่ายพลังงานต้องประกอบกิจการพลังงานอย่างเป็นธรรมและจะเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมมิได้[41] ผู้รับใบอนุญาตที่มีระบบโครงข่ายพลังงานต้องยินยอมให้ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้ประกอบกิจการพลังงานรายอื่นใช้หรือเชื่อมต่อระบบโครงข่ายพลังงานของตน[42] ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตที่มีระบบโครงข่ายพลังงานปฏิเสธไม่ให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบโครงข่ายพลังงาน ผู้ที่ได้รับการปฏิเสธมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้คณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยได้[43]
การคุ้มครองผู้ใช้พลังงาน พ.ร.บ. ฉบับนี้ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่เป็นการคุ้มครองผู้ใช้พลังงาน มาตรฐานดังกล่าวเป็นลักษณะการที่รัฐแทรกแซงในกิจการพลังงาน เพื่อให้เกิดเพื่อให้มาตรฐานการให้บริการที่ได้มีคุณภาพต่อเนื่อง และเป็นการทั่วถึง ส่วนกรณีกองทุนพัฒนาไฟฟ้า มีขึ้นเพื่อเป็นทุนสนับสนุนการกระจายการพัฒนากิจการไฟฟ้าไปทั่วประเทศ ให้ประชาชนทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการใช้ไฟฟ้าได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้หากมีปัญหาเกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้า ผู้ใช้บริการสามารถร้องเรียนได้ที่คณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขตได้ จะเห็นได้ว่ามาตรการต่างๆ ที่กำหนดขึ้นนี้มีขึ้นเพื่อสร้างความเสมอภาคในการเข้าใช้พลังงาน พร้อมเป็นการควบคุมมิให้ผู้ประกอบกิจการให้บริการต่ำกว่ามาตรฐานที่เหมาะส
- มาตรฐานการให้บริการและการให้บริการที่ทั่วถึง ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีการให้บริการพลังงานตามมาตรฐานที่คณะกรรมการกำหนด โดยให้รวมถึงมาตรฐานทางวิชาการและวิศวกรรม และมาตรฐานคุณภาพการให้บริการ ให้ผู้รับใบอนุญาตรายงานคุณภาพการให้บริการต่อคณะกรรมการ หากผู้รับใบอนุญาตไม่สามารถให้บริการได้ตามมาตรฐานที่กำหนดต้องจ่ายเงินชดเชยแก่ผู้ใช้พลังงาน ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด[44] คณะกรรมการอาจกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีบริการด้านพลังงานในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่ยังไม่มีผู้ให้บริการ หรือมีแต่ไม่ทั่วถึง หรือไม่เพียงพอแก่ความต้องการของผู้ใช้พลังงานในท้องที่นั้น[45] คณะกรรมการยังมีอำนาจออกประกาศกำหนดแบบมาตรฐานของสัญญาเกี่ยวกับการให้บริการพลังงานได้ และจะกำหนดยกเว้นให้สัญญาใดไม่ต้องเป็นไปตามแบบมาตรฐานของสัญญาก็ได้[46] ผู้รับใบอนุญาตมีหน้าที่ต้องจัดให้มีการเผยแพร่แบบสัญญาการให้บริการพลังงานของตนแก่ผู้ใช้พลังงานตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด และต้องแสดงไว้ในที่เปิดเผยเห็นได้ง่าย ณ ที่ทำการของผู้รับใบอนุญาตเพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถตรวจสอบได้[47]
- กองทุนพัฒนาไฟฟ้า กองทุนพัฒนาไฟฟ้าจัดตั้งโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนสนับสนุนให้มีการให้บริการไฟฟ้าไปยังท้องที่ต่าง ๆ อย่างทั่วถึง เพื่อกระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่น พัฒนาชุมชนในท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย โดยคำนึงถึงความสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติและสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า[48] เงินกองทุนให้ใช้จ่ายเพื่อ เพื่อการชดเชยและอุดหนุนผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าซึ่งได้ให้บริการแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาส หรือเพื่อให้มีการให้บริการไฟฟ้าอย่างทั่วถึง หรือเพื่อส่งเสริมนโยบายในการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค อีกทั้งเป็นเพื่อการพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า เพื่อการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีที่ใช้ในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย นอกจากนี้ยังเพื่อการส่งเสริมสังคมและประชาชนให้มีความรู้ ความตระหนัก และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้าอีกด้วย[49]
- คณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต กฎหมายนี้กำหนดให้คณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขตมีอำนาจหน้าที่ ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้พลังงานและให้คำแนะนำแก่ผู้ใช้พลังงานตามที่คณะกรรมการกำหนด[50] กรณีที่ผู้ใช้พลังงานได้รับความเดือดร้อนเสียหายอันเนื่องมาจากการให้บริการของผู้รับใบอนุญาต ผู้ใช้พลังงานมีสิทธิยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขตได้[51] ในกรณีที่ผู้ใช้พลังงานเห็นว่าผู้รับใบอนุญาตเรียกเก็บค่าบริการในอัตราที่สูงกว่าอัตราที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบ หรือเห็นว่าผู้รับใบอนุญาตให้บริการอย่างไม่เป็นธรรม ผู้ใช้พลังงานมีสิทธิร้องขอข้อมูลเกี่ยวกับการใช้บริการของตนจากผู้รับใบอนุญาตได้[52] กรณีมีเหตุอันควรสงสัยในกรณีดังกล่าวผู้ใช้พลังงานมีสิทธิยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขตได้[53]
การใช้อสังหาริมทรัพย์ เมื่อมีความจำเป็นที่ผู้รับใบอนุญาตซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐจะต้องใช้อสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างระบบโครงข่ายพลังงาน หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นอันจำเป็นและเกี่ยวเนื่องกับกิจการดังกล่าว ถ้ามิได้ตกลงเรื่องการโอนไว้เป็นอย่างอื่น ให้ดำเนินการเวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ให้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาจากการเวนคืนตกเป็นของแผ่นดิน[54] นอกจากนี้มีการจำกัดสิทธิ์ในการใช้ทรัพย์สินบางประการคือ ภายในเขตระบบโครงข่ายพลังงานที่ประกาศ ห้ามมิให้ผู้ใดปลูกสร้างอาคาร โรงเรือน ต้นไม้หรือสิ่งอื่นใด ติดตั้งสิ่งใด เจาะหรือขุดพื้นดิน ถมดิน ทิ้งสิ่งของหรือกระทำด้วยประการใด ๆ ที่อาจทำให้เกิดอันตรายหรือเป็นอุปสรรคแก่ระบบโครงข่ายพลังงานเว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด[55] เช่น ที่ดินใต้แนวสายไฟฟ้าจะมีการห้ามปลูกอาคารบ้านพักอาศัย ส่วนต้นไม้จะต้องมีความสูงไม่เกินสามเมตร[56] สำหรับแนวท่อส่งก๊าซไม่ให้มีการขุด ตอก ปลูก เจาะอะไร ลงไปในบริเวณแนวท่อส่งก๊าซ[57]
นอกจากนี้ กฎหมายฉบับนี้ยังมีมาตรการลงโทษถ้าไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ขั้นตอนที่กฎหมายได้กำหนดไว้ ไม่ว่าจะเป็นการบังคับทางปกครอง และโทษทางอาญา ซึ่งมีอัตราโทษจำคุก โทษปรับ ที่แตกต่างกันไปประเภทและลักษณะความผิด[58]
โดยสรุป จะเห็นได้ว่า เมื่อพิจารณาบทบัญญัติที่ปรากฏในพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 พบว่ามีบทบัญญัติเหล่านั้นได้สะท้อนหลักการพื้นฐานของกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นหลักกรรมสิทธิ์ หลักเสรีภาพในทางการค้าและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลักการแทรกแซงทางเศรษฐกิจ ในลักษณะการสร้างองค์กรกำกับดูแล และการสร้างหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อเป็นข้อจำกัดในการประกอบกิจการพลังงาน เพื่อมุ่งให้กิจการพลังงานเกิดประโยชน์แก่ประชาชนมากที่สุด สมกับลักษณะของกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจที่กำหนดให้รัฐเข้ามาแทรกแซงทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในระบบเศรษฐกิจอย่างแท้จริง
* พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่กรณี ดังต่อไปนี้
(1) กิจการปิโตรเลียมตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมเฉพาะที่อยู่ในแปลงสำรวจหรือระหว่างแปลงสำรวจที่เกี่ยวเนื่องกัน
(2) กิจการปิโตรเลียมตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรร่วมไทย - มาเลเซีย และกฎหมายว่าด้วยองค์กรร่วมอื่นที่มีลักษณะเดียวกันเฉพาะในพื้นที่พัฒนาร่วม หรือพื้นที่ที่มีความหมายอย่างเดียวกัน
(3) มาตรฐานความปลอดภัยของการขนส่งและการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง
(4) การขออนุญาตเป็นผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิง การแจ้งปริมาณการค้า การสำรอง และคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายว่าด้วยการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง
(พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 , มาตรา 3)
** ระบบโครงข่ายพลังงาน หมายความว่า ระบบโครงข่ายไฟฟ้า หรือระบบโครงข่ายก๊าซธรรมชาติ (พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 , มาตรา 5)
[1] พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550, มาตรา 7
[2] กฤษณ์ วสีนนท์, กฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจ เอกสารประกอบการเรียนการสอน วิชากฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจ หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2551. หน้า 2. (เอกสารไม่ตีพิมพ์เผยแพร่)
[3] เรื่องเดียวกัน, หน้า 1.
[4] สุรพล นิติไกรพจน์, หลักการพื้นฐานของกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจฝรั่งเศส ตอนที่ 1, วารสารนิติศาสตร์, ปีที่ 24 ฉบับที่ 3, หน้า 585.
[5] ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, ลัทธิเศรษฐกิจการเมือง, พิมพ์ครั้งที่ 8 (กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2551), หน้า 21-57.
[6] เรื่องเดียวกัน, หน้า 25.
[7] สุรพล นิติไกรพจน์, หลักการพื้นฐานของกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจฝรั่งเศส ตอนที่ 2, วารสารนิติศาสตร์, ปีที่ 24 ฉบับที่ 4, หน้า 812-822.
[8] บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, กฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจเยอรมัน (กรุงเทพฯ : นิติธรรม, 2538), หน้า 81.
[9] สุรพล นิติไกรพจน์, หลักการพื้นฐานของกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจฝรั่งเศส ตอนที่ 1, , หน้า 586.
[10] เรื่องเดียวกัน, หน้า 595-608
[11] เรื่องเดียวกัน, หน้า 608-620
[12] สุรพล นิติไกรพจน์, หลักการพื้นฐานของกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจฝรั่งเศส ตอนที่ 2, , หน้า 812-822.
[13] กฤษณ์ วสีนนท์, กฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจ, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2551.
[14] ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, ลัทธิเศรษฐกิจการเมือง, พิมพ์ครั้งที่ 8, หน้า 90-93.
[15] สุรพล นิติไกรพจน์, ข้อความคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจ วารสารนิติศาสตร์, ปีที่ 21 ฉบับที่ 3. หน้า 380-381.
† ในการวิเคราะห์นั้น ผู้เขียนจะทำการวิเคราะห์เฉพาะหลักการพื้นฐานของกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจโดยแท้ เนื่องจากเป็นลักษณะที่เด่นชัดของกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจ
[16] พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550, มาตรา 104
[17] พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550, มาตรา 105-106
[18] พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550, มาตรา 107-108
[19] พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550, มาตรา 109
[20] พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550, มาตรา 110
[21] พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550, มาตรา 7
[22] พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550, มาตรา 47
[23] พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550, มาตรา 8
[24] พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550, มาตรา 9
[25] พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550, มาตรา 10-11
[26] พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550, มาตรา 47
[27] พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550, มาตรา 48
[28] พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550, มาตรา 50-51, มาตรา57-58
[29] พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550, มาตรา 60
[30] พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550, มาตรา 61
[31] พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550, มาตรา 65
[32] พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550, มาตรา 66
[33] พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550, มาตรา 67
[34] พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550, มาตรา 68
[35] พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550, มาตรา 69
[36] พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550, มาตรา 71
[37] พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550, มาตรา 127
[38] พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550, มาตรา 72
[39] พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550, มาตรา 73
[40] พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550, มาตรา 79
[41] พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550, มาตรา 80
[42] พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550, มาตรา 81
[43] พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550, มาตรา 84
[44] พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550, มาตรา 89
[45] พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550, มาตรา 90
[46] พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550, มาตรา 91
[47] พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550, มาตรา 92
[48] พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550, มาตรา 93
[49] พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550, มาตรา 97
[50] พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550, มาตรา 99
[51] พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550, มาตรา 100
[52] พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550, มาตรา 102
[53] พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550, มาตรา 103
[54] พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550, มาตรา 104
[55] พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550, มาตรา 112
[56] ประกาศ กกพ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการปลูกสร้างอาคาร โรงเรียน ต้นไม้หรือสิ่งใดติดตั้งสิ่งใด เจาะหรือขุดพื้นดิน ถมดิน ทิ้งสิ่งของ หรือกระทำด้วยประการใดๆ ที่อาจทำให้เกิดอันตรายหรือเป็นอุปสรรคในเขตระบบโครงข่ายไฟฟ้า พ.ศ. 2553 ข้อ 3
[57] ประกาศ กกพ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการปลูกสร้างอาคาร โรงเรียน ต้นไม้หรือสิ่งใดติดตั้งสิ่งใด เจาะหรือขุดพื้นดิน ถมดิน ทิ้งสิ่งของ หรือกระทำด้วยประการใดๆ ที่อาจทำให้เกิดอันตรายหรือเป็นอุปสรรคในเขตระบบโครงข่ายก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2553 ข้อ 3
[58] พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550, มาตรา127 -128, มาตรา 129 -141
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1923
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 19:32 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|