|
|
รู้ทันนักปลุกระดม 12 มกราคม 2557 18:48 น.
|
ในขณะที่การต่อสู้แย่งชิงประชาชนระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับ กปปส.กำลังเข้มข้นอย่างถึงพริกถึงขิง ทำให้ผมนึกถึงศัพท์ทางการเมืองคำหนึ่ง ที่สามารถนำมาอธิบายเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ได้อย่างเห็นภาพค่อนข้างชัดเจน คือ คำว่า เดมะกอก (demagogue)
คำว่า demagogue นี้ ในสมัยกรีกโบราณเป็นคำกลางๆ มาจากการประสมกันของคำว่า demos ที่แปลว่า มวลชน กลุ่มชน กับคำว่า agogos ที่แปลว่า การนำ หรือผู้นำ ใช้เรียกพวกที่พยายามนำเสนอนโยบายที่สร้างความพอใจเฉพาะหน้าให้กับประชาชน เพราะเข้าใจหลักจิตวิทยาที่จะเสนออะไรก็ได้ เพียงเพื่อให้ได้เสียงสนับสนุนจากมวลชนส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันมักใช้ในความหมายในทางลบ
หากใช้เป็นคำนามจะแปลว่า "ผู้นำหรือผู้มีอำนาจจากการยุยงปลุกปั่นมวลชน" หากเป็นคำกริยาจะแปลว่า "การฉ้อฉล ข่มขู่ ฉกฉวยเอาประโยชน์ ปลุกปั่นมวลชนด้วยสัญญาที่พกลม"
demagogue หรืออีกนัยหนึ่งอาจเรียกได้ว่านักปลุกระดมเจ้าเล่ห์ หรือนักปลุกปั่นฝูงชน ที่พยายามเอาชนะใจประชาชน ด้วยการเล่นกับอารมณ์และความรู้สึกของประชาชน มากกว่าจะใช้เหตุผล (Try to win people's support by appealing to their emotions rather than using reasonable arguments)
H.L.Mencken นักเขียนชาวอเมริกันยุคต้นศตวรรษที่ 20 ได้ให้คำนิยาม demagogue ว่า เป็น "one who will preach doctrines he knows to be untrue to men he knows to be idiot" (คนที่ชอบพร่ำสั่งสอนความเชื่อที่เขารู้ว่าเป็นเท็จให้แก่คนที่เขารู้ว่าเป็นคนปัญญาอ่อน)
demagogue ที่เก่งไม่จำเป็นต้องพูดความเท็จอย่างโจ่งแจ้ง เพียงแต่เน้นบางจุดหรือบิดเบือนบางประเด็น ให้ผู้ฟังสรุปไปเองก็พอแล้ว ในประวัติศาสตร์มี demagogue หลายคนที่เปลี่ยนโฉมโลกไปในทางที่เลวร้าย เช่น ฮิตเลอร์ มุสโสลินี เป็นต้น
คนที่เป็นเป้าหมายของพวก demagogue มักจะไม่รู้ตัวว่าตนกำลังตกเป็นเหยื่อ เช่น ชาวเยอรมันยุคนาซี ก็รู้แต่เพียงว่าสิ่งที่ฮิตเลอร์พูดนั้นเป็นความจริงที่ตนรู้สึกมานานแล้วแต่ไม่กล้าคิด ไม่กล้าพูด และฮิตเลอร์เองก็เชื่อในสิ่งที่ตัวเองพูดเสียด้วย จึงยิ่งทำให้ดูเหมือนว่าจริงใจ และน่าเชื่อถือมากกว่าปกติ
วิธีสังเกตว่าใครเป็น demagogue หรือไม่นั้น สังเกตได้ไม่ยากว่าเขาพูดโดยมีลักษณะเหล่านี้หรือไม่ เช่น เปรียบเทียบสิ่งที่แตกต่างกัน (apples and oranges) ความจริงครึ่งเดียว (half-truths) ความน่าเชื่อถือปลอมๆ (false authority) เสนอทางเลือกที่น่าลำบากใจสองทางปลอมๆ (false dilemma) การทำให้ฝ่ายตรงข้ามเป็นปีศาจหรือสิ่งที่ชั่วร้าย (demonization) ยกประเด็นด้วยคำถามที่แฝงเร้นบางอย่าง (loaded question) ยกข้อเท็จจริงที่ไม่เกี่ยวมาพูด (unrelated facts) และสุดท้ายนิยมใช้กันมาก คือ การโจมตีในเรื่องส่วนตัว (personal attack)
ยิ่งหาก demagogue ไปประสมเข้ากับการปลุกระดมจนความรักชาติ (nationalism) กลายเป็นความคลั่งชาติ (chauvinism) เข้าอีก เหตุการณ์ก็อาจบานปลายสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศชาตินานัปการ
จากที่กล่าวมาถึงที่มาที่ไปและความหมายของ demagogue ข้างต้น คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าการต่อสู้ของทั้งสองฝ่าย คือ ฝ่าย กปปส.และฝ่ายรัฐบาล ซึ่งเป็นฝ่ายขวาจัดด้วยกันทั้งคู่ แต่เป็นขวาจัดแบบอนุรักษนิยมสุดกู่กับขวาจัดแบบทุนนิยมสุดขั้ว โดยเป็นการต่อสู้ระหว่างพวก demagogue ด้วยกันเอง
แน่นอนว่า การต่อสู้ของ กปปส.ที่ปักหลักปิดถนนอยู่เป็นเดือนๆ พร้อมกับใช้ยุทธวิธีทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นการออกโทรทัศน์ วิทยุ ยุทธการดาวกระจาย ฯลฯ มีการขุดคุ้ยการทุจริต และเรื่องส่วนตัวของฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายที่หนุนหลังรัฐบาล ออกมาโจมตีอย่างดุเดือด จนมีแนวร่วมมากมายทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ส่วนฝ่ายรัฐบาลนั้นก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันสักเท่าใด เพราะมีการระดมใช้บุคลากรทั้งของ นปช., วิทยุชุมชน ฯลฯ ตลอดจนทรัพยากรของรัฐทุกชนิดในการโฆษณาชวนเชื่อและต่อต้านอย่างเต็มกำลัง
วิธีการป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อหรือหลวมตัวตกเป็นเหยื่อของ demagogue ทั้งสองฝ่ายนี้ไปแล้วควรทำก็คือ สิ่งที่เราเรียกว่าการคิดใคร่ครวญพิจารณาว่าสมเหตุสมผลแค่ไหน เช่น พิจารณาว่าข้อความหรือถ้อยคำที่ใช้ในการสรรเสริญเยินยอตนเอง โดยพิเคราะห์ว่าคนอะไรจะดีไปหมดทุกอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ปากพร่ำบอกว่า ตนเองนั้นพร้อมเสียสละทั้งชีวิตจิตใจ แม้เลือดเนื้อหรือชีวิตก็สละให้ได้ทันที หรือในทำนองกลับกันก็ใช้ข้อมูลเท็จโจมตีฝ่ายตรงข้ามเสียจนรู้สึกว่าคนอะไรจะชั่วช้าเลวทรามเสียจนไม่มีที่ติ จนอาจกล่าวได้ว่าเวลาเดินไปไหนธรณีแทบจะสูบไปลงนรกโลกันตร์เสียอย่างนั้น ฯลฯ
หรือเราจะยึดหลักที่ว่าด้วยการฟังความหลายฝ่ายก็ได้ โดยเราต้องชั่งน้ำหนักให้ดีเพราะต่างฝ่ายต่างก็สาดโคลนใส่กันไปมา หากผลีผลามเราอาจตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาชวนเชื่อของทั้งสองฝ่ายได้
บ้านเมืองเราเสียหายมามากแล้ว เราไม่ควรปล่อยให้นักปลุกระดมเจ้าเล่ห์ หรือนักปลุกปั่นฝูงชน (demagogue)ทั้งสองฝ่ายหันปากกระบอกปืนใหญ่ยิงเข้าใส่กัน แต่ใช้งบประมาณจากภาษีอากรของเราไปในการรักษาความสงบเรียบร้อย และใช้จ่ายเพื่อการโฆษณาชวนเชื่อ ตลอดจนการปิดกั้นพื้นที่สาธารณะที่เราใช้สัญจรไปมา
เราจึงต้องใคร่ครวญให้รอบคอบว่าทั้งสองฝ่ายนั้นหวังดีต่อประเทศชาติและประชาชนจริงหรือ ฤาว่าเป็นแต่เพียงเกมการเมืองของสงครามตัวแทนที่เข้าห้ำหั่นกัน โดยมีชีวิตของคนตัวเล็กตัวน้อยเป็นเครื่องเซ่นสังเวย แต่พวกนักปลุกระดมทั้งหลายไม่ใครเสียชีวิตหรืออยู่ในคุกแม้แต่รายเดียว
---------------
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1921
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 06:45 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|