ครั้งที่ 333

30 ธันวาคม 2556 02:16 น.

       สำหรับวันจันทร์ที่ 30 ธันวาคม 2556 ถึงวันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม 2557
       
       “ปีแห่งการทำลายกฎหมาย”
       
                 บทบรรณาธิการครั้งนี้เป็นบทบรรณาธิการครั้งสุดท้ายของปี พ.ศ. 2556 และถือได้ว่าเป็นบทบรรณาธิการแรกของ ปี พ.ศ. 2557
                 ปี พ.ศ. 2556 เป็นปีที่เกิดความวุ่นวายมากที่สุดปีหนึ่งที่ไม่ว่าจะเป็นใครหรือประกอบอาชีพใดคงไม่มีใครปฏิเสธได้เพราะความวุ่นวายที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อผู้คนทั้งประเทศ
                 ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นมีที่มาจาก “การเมือง” แล้วลามเข้าไปถึงการใช้ชีวิตตามปกติของคนไทยและทุกสิ่งทุกอย่างที่ประกอบกันเข้าเป็นประเทศไทย  ส่งผลทำให้เกิดความแตกแยกในหมู่คนไทยอย่างที่ว่ากันว่า “ไม่เคยมีมาก่อน”
                 คงไม่มีใครปฏิเสธได้เช่นกันว่า  ความวุ่นวายที่เกิดจากปัญหาทางการเมืองนั้น  ส่วนหนึ่งมาจากคนและอีกส่วนหนึ่งมาจากกฎหมาย
                 มองย้อนหลังไปเมื่อครั้งเกิดการรัฐประหารขึ้นใน ปี พ.ศ. 2549 การรัฐประหารในครั้งนั้นสร้างความขัดแย้งให้กับสังคมไทยเป็นอย่างมาก เกิดสิ่งที่เรียกว่า “สองมาตรฐาน” ขึ้นจากการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ การบังคับใช้กฎหมาย คำพิพากษา คำวินิจฉัยหรือคำสั่งที่ทำให้ผลที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการขององค์กรของรัฐมีความแตกต่างกัน ทำให้ประชาชนบางกลุ่มบางพวกรู้สึกว่า สองมาตรฐานคือการเลือกปฏิบัติ คือความเหลื่อมล้ำ คือความไม่เสมอภาค นอกจากนี้แล้วอาการ“สองมาตรฐาน” ยังทำให้“นักกฎหมาย” เกิดความแตกแยกกันเนื่องมาจากการ “คิดคนละแบบ” เมื่อนักกฎหมายนำกฎหมายมาใช้หรือต้องการให้ความเห็นสนับสนุนการดำเนินการขององค์กรบางองค์กรก็จะใช้และตีความกฎหมาย “คนละอย่าง”  จึงไม่น่าแปลกใจที่นักกฎหมายที่อยู่ในองค์กรส่วนหนึ่งจะมีความเห็นที่ขัดแย้งกับนักกฎหมายที่เป็นนักวิชาการจำนวนหนึ่งที่อยู่นอกองค์กร
                 การนำกฎหมายมาปรับใช้อย่างแตกต่างกันของนักกฎหมายสร้างความกังขาให้กับผู้คนในสังคมเป็นอันมากว่าความเห็นใดเป็นความเห็นที่ถูกต้อง นักกฎหมายจำนวนหนึ่งที่มีโอกาส เข้าไปจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันและต่อมาก็มีโอกาส เข้าไปดำรงตำแหน่งในองค์กรที่เกิดจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็มักจะให้ความเห็นทางกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับนักกฎหมายที่อยู่นอกองค์กร  มีการแปลความกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรไปคนละทิศละทางกันทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งเกิด “ความสับสน” ในตัวบทกฎหมายและในคำอธิบายกฎหมาย ปัญหาที่เกิดจากการใช้และการแปลความตัวบทกฎหมายของนักกฎหมายที่กล่าวไปนับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นเพราะเมื่อมีเหตุการณ์ทางการเมืองเกิดขึ้นก็จะมีการนำกฎหมายมาใช้เป็นข้อสนับสนุนหรือข้อโต้แย้ง จากนั้นก็จะมีนักกฎหมายดาหน้ากันออกมาสนับสนุนหรือคัดค้านจนกลายเป็นประเด็นวิวาทะทางกฎหมายอยู่บ่อยๆ หากนึกย้อนหลังไปก็จะพบว่ามีหลายกรณีด้วยกันไม่ว่าจะเป็นกรณีปราสาทพระวิหารที่นักวิชาการหลายคนต่างก็ออกมาโต้กันในทางวิชาการ มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาลปกครองสูงสุดหรือแม้กระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ กรณีมาตรา 68 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันหรือกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 ก็นับได้ว่าสร้างความขัดแย้งอย่างรุนแรงให้เกิดขึ้นในบรรดานักกฎหมาย ทำให้นักกฎหมายแบ่งข้างแบ่งฝ่ายกันอย่างชัดเจนอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
                 ล่าสุด ปัญหาระหว่างนักกฎหมายที่มองหรืออ่านหรือใช้กฎหมายไม่ตรงกันได้ขยายออกไปอีก   จากเดิมที่เป็นปัญหาระหว่างองค์กรกับนักกฎหมาย แต่ในปัจจุบันได้กลายเป็นปัญหาระหว่างองค์กรกับองค์กรไปแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ผมอยากจะขอนำมาบันทึกไว้ในบทบรรณาธิการครั้งนี้เพื่อไม่ให้ข้อมูลที่เกิดขึ้นสูญหายไปตามกาลเวลา
                 เมื่อวันพุธที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาเรื่องที่ผู้ร้องคือนายกิตติ  อธินันท์ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ว่า นายสุเทพ  เทือกสุบรรณ ที่ 1 นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ ที่ 2 และพรรคประชาธิปัตย์ ที่ 3 (ผู้ถูกร้อง) กระทำการเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศไทยโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ หรือไม่ (เรื่องพิจารณาที่ 73/2556)
                   คำร้องนี้ผู้ร้องอ้างว่า ผู้ถูกร้องทั้งสามได้จัดให้มีการชุมนุมบริเวณถนนราชดำเนินโดยมีการปิดเส้นทางการจราจรบนถนนราชดำเนินจากแยกสะพานผ่านฟ้าลีลาศไปจนถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หลังจากนั้นตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2556 ถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2556 ผู้ถูกร้องที่ 1 กับพวก ได้ดำเนินการเคลื่อนขบวนผู้ชุมนุมไปปิดล้อมและบุกยึดสถานที่ราชการ สถานที่เอกชน และรัฐวิสาหกิจต่างๆ อันส่งผลให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐไม่อาจเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ได้ โดยเฉพาะวันที่ 25 ธันวาคม 2556 ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้ประกาศผ่านสื่อมวลชนซึ่งมีการถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศว่าจะดำเนินการยึดอำนาจการปกครองให้กลับมาเป็นของประชาชน เพื่อจะได้เปลี่ยนแปลงประเทศ ต่อมาวันที่ 9 ธันวาคม 2556 ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้จัดให้มีการชุมนุมใหญ่และเคลื่อนขบวนผู้ชุมนุมไปปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลจนนำไปสู่การประกาศยุบสภาของนายกรัฐมนตรี แต่ผู้ถูกร้องที่ 1 กับพวก ก็มิได้ยุติการชุมนุมแต่ประการใดกลับแถลงการณ์จัดตั้งคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) และประกาศว่าได้ดำเนินการยึดอำนาจอธิปไตยกลับคืนมาให้กับประชาชนแล้ว และจะจัดตั้งสภาประชาชนเพื่อใช้อำนาจอธิปไตยสร้างกฎเกณฑ์และกติกาในการปกครองประเทศใหม่ ผู้ร้องเห็นว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 กับพวก โดยได้รับการสนับสนุนจากผู้ถูกร้องที่ 2 และผู้ถูกร้องที่ 3 เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 และเข้าค่ายการกระทำตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง
                   ผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเสียงข้างมาก (6 ต่อ 3) เห็นว่า การชุมนุมของประชาชนตามคำร้องเป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเพื่อแสดงเจตนารมณ์ทางการเมือง โดยมีเหตุผลมาจากความไม่ไว้วางใจในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล อันถือเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และเป็นเพียงการเรียกร้องและแสดงพลังด้วยการสนับสนุนของประชาชนเป็นจำนวนมากประกอบกับสถานการณ์ตามคำร้องได้พัฒนาไปสู่การยุบสภาและเข้าสู่กระบวนการของการเลือกตั้งแล้ว จึงยังไม่มีมูลกรณีที่จะเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้
                   ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย
       ต่อมาในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 19 ธันวาคม 2556 เลขานุการศาลอาญา ได้ออกหนังสือชี้แจงกรณียกคำร้องเพิกถอนหมายจับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ในข้อหาก่อกบฏว่า
       จากข้อเท็จจริงตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัย ที่ 56/2556 ว่าการชุมนุมไม่ได้เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ประกอบกับคำวินิจฉัยที่ 66/2556 ระบุว่าการบุกรุกยึดสถานที่ราชการไม่เกิดขึ้นแล้ว และสถานการณ์ได้พัฒนาไปสู่การยุบสภาผู้แทนราษฎรและเข้าสู่การเลือกตั้ง จึงไม่มีมูลเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 68 วรรค 1 แห่งรัฐธรรมนูญนั้น แตกต่างจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการไต่สวนของพนักงานสอบสวน เพราะนาย สุเทพกับพวกได้ร่วมกันขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายให้ฝ่ายบริหารไม่อาจใช้อำนาจในการบริหารประเทศไทย บุกรุกเข้ายึดสถานที่ราชการ คือ กระทรวงการคลังและศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ทั้งขู่เข็ญ ตัดน้ำ ตัดไฟฟ้า เป็นเหตุให้ข้าราชการไม่กล้าเข้าไปทำงาน หรือเข้าที่ทำงานไม่ได้ อันเป็นการยุยงให้ประชาชนละเมิดกฎหมาย เป็นการมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ดังนั้น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันศาลอาญาให้ต้องฟังข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญ
       ส่วนการที่ผู้ต้องหาอ้างเป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ และเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 ศาลอาญาเห็นว่า แม้รัฐธรรมนูญบัญญัติ แต่ไม่ได้หมายความว่า ประชาชนจะสามารถใช้เสรีภาพจนปราศจากขอบเขต หรือไปละเมิดสิทธิของประชาชนผู้อื่นด้วย โดยเฉพาะต้องไม่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายบ้านเมือง เพราะเป็นกฎหมายที่ตราออกมาบังคับประชาชนทุกคน การอ้างเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ แต่มีการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย โดยเฉพาะประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่มีอัตราโทษสูง จึงไม่อาจถือได้ว่าการกระทำดังกล่าวของผู้ต้องหา เป็นการชุมนุมที่สงบตามที่กล่าวอ้างเทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4946/2555
       ขณะที่คำกล่าวอ้างเกี่ยวกับพนักงานสอบสวนขอหมายจับมิชอบ โดยไม่มีการรับฟังพยาน ผู้ต้องหา และออกหมายเรียก ศาลเห็นว่าการออกหมายจับเป็นอำนาจศาลโดยตรง เมื่อศาลเห็นว่ามีพยานหลักฐานตามสมควรว่าผู้ต้องหาน่าจะทำผิดกฎหมายอาญา ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกสูงเกิน 3 ปี ศาลย่อมใช้ดุลพินิจออกหมายจับได้ทันที ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 66 (1) ไม่จำเป็นต้องออกหมายเรียกก่อน เพราะการออกหมายจับเป็นเพียงขั้นตอน เพื่อให้ผู้ต้องหาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ดังนั้น การออกหมายจับผู้ต้องหา จึงเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีเหตุต้องเพิกถอนหมายจับ
       เรื่องที่เกิดขึ้นจากการพิจารณาทั้งของศาลรัฐธรรมนูญและของศาลอาญาตามที่ได้นำเสนอข้างต้นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ข้อโต้แย้งที่เคยเกิดขึ้นเฉพาะระหว่างองค์กรกับนักวิชาการได้กลายมาเป็นข้อโต้แย้งระหว่างองค์กรกับองค์กรไปแล้วครับ
       ความสับสนที่เกิดขึ้นจากการแปลกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายไม่ได้มีเฉพาะแค่ที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ปัญหาความแตกแยกในประเทศไทยเป็นปัญหาใหญ่ที่ฝังรากลึกแล้วก็ไม่มีใครพยายามที่จะแก้อย่างจริงจัง นักกฎหมายจึงตกอยู่ในสถานะที่ลำบากด้วย เพราะในเมื่อมีนักกฎหมายจำนวนหนึ่งที่ “เลือกข้าง” ไปแล้วอย่างชัดเจน นักกฎหมายอีกจำนวนหนึ่งที่ “ไม่เลือกข้าง” จึงถูกบีบบังคับให้ต้องเลือกข้าง ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยปริยาย ส่วนนักกฎหมายอีกจำนวนหนึ่งที่พยายามทำตัว “เป็นกลาง” และไม่ยอมเลือกข้างก็ต้องตกอยู่ในสถานะที่ลำบากพอสมควรเพราะทุกข้างต่างก็มองว่า         “อยู่อีกข้างหนึ่ง”
       เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าความแตกแยกด้านความคิดของนักกฎหมายรุนแรงมากขึ้นขึ้นเมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ  นักวิชาการจำนวนหนึ่งรวมทั้งตัวผมเองด้วยเห็นว่า  คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นกรณีมาตรา 68 หรือมาตรา 291 แห่งรัฐธรรมนูญนั้นเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะศาลรัฐธรรมนูญแปลรัฐธรรมนูญให้มีผลเป็นการขยายอำนาจของตัวเองจนทำให้ตัวเองกลายเป็นองค์กรเหนือรัฐธรรมนูญ ผมมองว่าในเมื่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ “พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” การใช้และการตีความรัฐธรรมนูญจึงต้องเป็นไปอย่างเคร่งครัดตามตัวบท ต้องระมัดระวังที่จะไม่ใช้อำนาจมากไปกว่าที่รัฐธรรมนูญให้เพราะตัวเองเป็นองค์กร “สูงสุด” ทางด้านรัฐธรรมนูญที่ไม่มีใครตรวจสอบได้ ดังนั้น การที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจเกินไปกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดจึงเป็นการ “ทำลาย” ตัวของตัวเอง ทำลายสถาบันการเมือง ทำลายการแบ่งแยกอำนาจ ทำลายการถ่วงดุลการใช้อำนาจทั้งหมด ดังนั้น    คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวจึงไม่มีผลตามรัฐธรรมนูญ เพราะไม่มีสถานะทางกฎหมายรองรับ  แต่ในเรื่องเดียวกันนี้เองนักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่งกลับมองเห็นไปอีกแบบหนึ่งและนำไปใช้เป็นประเด็นทางการเมืองว่า การไม่ยอมรับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ผิด ทำลายความชอบธรรมของรัฐบาล เรื่องดังกล่าวจึงถูกฝ่ายการเมืองนำไปขยายความจนกลายเป็นการ “ต่อต้านรัฐบาล” และ “ระบอบทักษิณ” ไปในที่สุด
       ผมไม่เข้าใจว่า “ระบอบทักษิณ” เข้ามาเกี่ยวข้องกับปัญหาที่เกิดจากการไม่ยอมรับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญได้อย่างไร เพราะเท่าที่ฟังมานั้น ปัญหาที่เกิดจากการกระทำของ พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตรส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีตและเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นรัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรี ปัญหาเหล่านี้ ได้แก่ การทุจริตคอร์รัปชันหรือระบบอุปถัมภ์ ซึ่งเราก็เห็นกันอยู่และรับรู้กันไปทั่วว่าเป็นปัญหาที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาเป็นเวลาช้านานและเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกประเทศทั่วโลก ข้อสำคัญก็คือเป็นปัญหาที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ปี พ.ศ. 2540 และ 2550 ต่างก็พยายามวางกลไกและมาตรการต่างๆ เอาไว้มากมายเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าว และนอกจากนี้ ปัญหาเหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นปัญหาที่เกิดจากนักการเมืองแต่เพียงฝ่ายเดียวเพราะทั้งข้าราชการประจำและภาคเอกชนต่างก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาและทำให้เกิดปัญหาไม่มากก็น้อยครับ
       แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม  ความพยายามที่จะ “ล้ม” ระบอบทักษิณได้พัฒนามาเป็นประเด็นสำคัญของประเทศไทยที่ทุกคนพูดกันก็คือ “การปฏิรูปการเมือง” เพื่อแก้ปัญหาของประเทศ !!!
       แม้ว่าผมจะเข้าใจดีถึงคำว่า “ปฏิรูปการเมือง” ว่าคืออะไรก็ตาม แต่ก็ยังไม่เข้าใจว่าได้เวลา “ปฏิรูปการเมือง” ครั้งใหม่ แล้วหรือยัง เพราะช่วงเวลาไม่ถึง 20 ปี ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ทำการปฏิรูปการเมืองด้วยรัฐธรรมนูญไปแล้วถึง 2 ครั้ง คือ รัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2540 และ ฉบับปี พ.ศ. 2550 รวมทั้งการปฏิรูปการเมืองด้วยการรัฐประหารไปอีกหนึ่งครั้งในปี พ.ศ. 2549 ครับ
       ข้อถกเถียงในสังคมวันนี้ที่ว่าควรจะจัดให้มีการ เลือกตั้งก่อนหรือปฏิรูปการเมืองก่อน         ได้กลายมาเป็นประเด็นข้อกฎหมายที่ถกเถียงกันไปทั่วว่า หากจะปฏิรูปการเมืองก่อนก็ต้องเลื่อนหรือยกเลิกการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 ซึ่งนักกฎหมายก็ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่ว่าทำได้หรือไม่ อย่างไร
       ไม่ว่ารัฐบาลหรือฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลจะหันหน้าไปทางไหน นักกฎหมายของแต่ละฝ่ายต่างก็ออกมาให้เหตุผลกันมากมายเพื่อสนับสนุนหรือคัดค้านเรื่องนั้นๆ ทำให้เรื่องที่เกิดขึ้นทุกเรื่องไม่มีทางออก !!!  
       รวมความแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2556 ส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากความพยายามที่จะนำเอารัฐธรรมนูญหรือกฎหมายมาใช้กับการต่อสู้ทางการเมืองไม่ว่าจะเป็น มาตรา 3 มาตรา 7 มาตรา 68 มาตรา 291 การให้รักษาการนายกรัฐมนตรีลาออก การตั้งนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การเลื่อนการเลือกตั้ง  ความพยายามนี้เองที่ทำให้นักการเมือง นักกฎหมายและนักวิชาการ กระโดดลงมาเล่นกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างสุดตัว ทำให้คนจำนวนมากในสังคมมองว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมาจาก “กฎหมาย” และ “นักกฎหมาย”
       ปี พ.ศ. 2556 จึงเป็นปีที่เกิด “จุดเสื่อม” ขึ้นในวงการนักกฎหมายมากที่สุดปีหนึ่ง นอกเหนือไปจากปีที่เกิดเรื่องของ “เนติบริกร” หรือปีที่เกิด “นักกฎหมายประเภทศรีธนญชัย” ตามที่เรียกกัน
       ในฐานะ “ผู้สอนกฎหมาย” จึงต้องขอแสดงจุดยืนคัดค้านการนำเอากฎหมายมา “ปู้ยี่ปู้ยำ” ไม่ว่าจะเป็นการจงใจใช้และตีความรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ การจงใจหลีกเลี่ยงการใช้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้การดำเนินการต่างๆ ต้องหยุดชะงักลงและนำไปสู่การนำเอาข้อยกเว้นมาใช้ เช่น ทำให้ไม่มีการเลือกตั้ง เป็นต้น
       “นักกฎหมาย” ควรทำตัวให้เป็นหลักสำคัญของบ้านเมือง ควรเป็นผู้ “หาทางออก” ให้กับปัญหาที่เกิดขึ้น ควรเป็น “แสงสว่าง” หรือ “ปัญญา” ให้กับสังคมมากกว่าเป็น “ตัวยุ่ง” ที่มีส่วนสนับสนุนโดยตรงหรือโดยอ้อมทำให้เกิดปัญหาในบ้านเมือง
       การนำเอากฎหมายมาใช้ในทางที่เป็นประโยชน์กับตนและพวกพ้องแต่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติและประชาชนเป็นสิ่งที่พึงหลีกเลี่ยง จึงอยากขอให้บรรดานักกฎหมายและผู้ใช้กฎหมาย หยุดและนึกถึงความถูกต้องและสิ่งที่ควรจะเป็นตามที่ได้เรียนมาหรือได้ใช้สอนนิสิตนักศึกษา  หากนักกฎหมายละผู้ใช้กฎหมายยังไม่หยุดที่จะนำกฎหมายมาใช้เพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง  วันข้างหน้าก็จะมีคนเดินตามและอีกไม่นานประเทศไทยของเราก็จะกลายเป็น ประเทศที่มีรัฐธรรมนูญแต่ไม่มีรัฐธรรมนูญ หรือไม่ก็เป็นประเทศที่มีกฎหมายแต่ไม่มีกฎหมาย
       ยังไม่ทราบว่า ปี พ.ศ. 2557 จะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมาอีก แต่อย่างไรก็ดี  ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม ขอให้นักกฎหมายทุกคนช่วยกันใช้ความรู้ความสามารถของตนเพื่อหาทางออกโดยทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญเพื่อให้ผ่านพ้นปัญหาและอุปสรรคทุกอย่างไปได้อย่างดี มีสติและตั้งมั่นเพื่อที่จะให้ประเทศชาติรอดพ้นจากความวุ่นวายที่มีขึ้นมานานเกือบ 10 ปี เสียทีครับ
       สวัสดีปีใหม่ 2557 ครับ.                           
                            
                       ในสัปดาห์นี้เรามีบทความมานำเสนอ  4 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความเรื่อง “Roles of Caretaker Government: Australian Style” เขียนโดยคุณปกรณ์ นิลประพันธ์ แห่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา บทความที่สองเป็นบทความเรื่อง “ข้อจำกัดอำนาจของคณะรัฐมนตรีรักษาการตามมาตรา 181 แห่งรัฐธรรมนูญฯ” ที่เขียนโดยคุณอำนาจ คงศักดิ์ดา  บทความที่สามเป็นบทความเรื่อง “ระยะเวลาบังคับ (délai imperatif) และระยะเวลาเร่งรัด (délai indicatif) กับเงื่อนไขความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง” ที่เขียนโดย คุณณรงค์ฤทธิ์ เพชรฤทธิ์   และบทความที่สี่เป็นบทความเรื่อง “การเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยเป็นอย่างไร” ที่เขียนโดยคุณชำนาญ จันทร์เรือง   ผมขอขอบคุณผู้เขียนทั้งสี่บทความไว้ ณ ที่นี้ครับ
       
                 พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 13 มกราคม 2557 ครับ
       
                 ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์  บรมานันท์
        


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1920
เวลา 29 มีนาคม 2567 05:14 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)