ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินหรือไม่

1 ธันวาคม 2556 21:05 น.

       Abstract
                       กฎหมายเกี่ยวด้วยการเงิน หรือตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 อันใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันใช้คำว่า “ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน”นั้น  การเสนอร่างพระราชบัญญัติประเภทนี้ให้รัฐสภาพิจารณาจะกระทำได้ต่อเมื่อมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรีประกอบด้วยเท่านั้น ซึ่งมาตรา 143 แห่งรัฐธรรมนูญได้ให้คำนิยามของ “ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน” ไว้ 4 อนุมาตรา และการพิจารณาว่าร่างพระราชบัญญัติใดเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินหรือไม่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อกระบวนการนิติบัญญัติ เพราะจะมีผลต่อความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพระราชบัญญัติในกรณีที่ร่างพระราชบัญญัตินั้นผ่านการพิจารณาและถูกประกาศใช้
       ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. .... เป็นร่างพระราชบัญญัติที่กำลังเป็นประเด็นถกเถียงอยู่ในปัจจุบันว่าเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินหรือไม่ โดยการเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ให้รัฐสภาพิจารณานั้นมิได้มีคำรับรองของคณะรัฐมนตรี และมีสมาชิกรัฐสภาตลอดจนประชาชนบางส่วนตั้งข้อสังเกตว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินซึ่งต้องมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรีประกอบในการเสนอให้รัฐสภาพิจารณาหรือไม่ หากใช่แล้วก็เท่ากับว่าการเสนอร่างพระราชบัญญัตินี้ต่อรัฐสภากระทำไปโดยมิชอบด้วยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
       1. ความทั่วไปว่าด้วยร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน
       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งบังคับใช้อยู่ในปัจจุบันนั้น กล่าวถึงกระบวนการเสนอร่างพระราชบัญญัติให้รัฐสภาพิจารณาไว้ 2 กรณี คือ กรณีร่างพระราชบัญญัติทั่วๆ ไป และร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน ซึ่งหากเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินแล้วในการเสนอร่างให้รัฐสภาพิจารณาจะมีขั้นตอนเป็นพิเศษแตกต่างไปจากร่างพระราชบัญญัติทั่วไป กล่าวคือ ร่างพระราชบัญัติเกี่ยวด้วยการเงินนั้นจะเสนอให้รัฐสภาพิจารณาได้ต่อเมื่อมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรี[1] เว้นแต่เป็นการเสนอโดยคณะรัฐมนตรี[2]
                       สำหรับการพิจารณาว่าร่างพระราชบัญญัติใดเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินหรือไม่นั้น หากพิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแล้วก็จะเห็นว่ารัฐธรรมนูญได้ให้นิยามของ “ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน” ไว้แล้วชัดเจนพอสมควร คือ มาตรา 143[3] ให้นิยามไว้ว่า ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติอันเกี่ยวด้วยเรื่องใดเรื่องหนึ่งต่อไปนี้ คือ  1. การตั้งขึ้น ยกเลิก ลด เปลี่ยนแปลง แก้ไข ผ่อน หรือวางระเบียบการบังคับอันเกี่ยวกับภาษีหรืออากร
       2. การจัดสรร รับ รักษา หรือจ่ายเงินแผ่นดิน หรือการโอนงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดิน
       3. การกู้เงิน การค้ำประกัน การใช้เงินกู้ หรือการดำเนินการที่ผูกพันทรัพย์สินของรัฐ
       4. เงินตรา
       สำหรับในกรณีที่มีปัญหาว่าร่างพระราชบัญญัติใดเป็นพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินหรือไม่นั้น รัฐธรรมนูญได้กำหนดวิธีการวินิจฉัยไว้ว่า ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานคณะกรรมการธิการสามัญของสภาผู้แทนราษฎรทุกคณะประชุมร่วมกันเพื่อวินิจฉัย[4]
       2. บทวิเคราะห์และความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม(ว่าเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินหรือไม่)
       ในกรณีร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ที่เป็นประเด็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ว่าเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินหรือไม่นั้น ผู้เขียนในฐานะนักกฎหมายที่ศึกษากฎหมายการคลังขอเสนอความเห็นเชิงวิเคราะห์ดังต่อไปนี้
       การจะวินิจฉัยได้ว่าร่างพระราชบัญญัติใดถือพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินหรือไม่นั้น ลำพังเพียงพิจารณาจากชื่อของกฎหมายนั้นคงไม่เป็นการเพียงพอที่จะวินิจฉัยปัญหานี้ได้ หากแต่ต้องพิเคราะห์ไปถึงเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัตินั้นๆ ว่าเข้านิยามตามมาตรา 143 แห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะจะมีผลต่อความชอบด้วยกฎหมายของพระราชบัญญัตินั้นว่าอาจตราโดยกระบวนการอันมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้วถึงผลของการเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินว่าจะเสนอให้รัฐสภาพิจารณาได้ก็ต่อเมื่อมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรี ดังนั้น หากร่างพระราชบัญญัติใดเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินแต่ในการเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นให้รัฐสภาพิจารณากระทำไปโดยไม่มีคำรับรองนายกรัฐมนตรีแล้ว ขั้นตอนการเสนอร่างพระราชบัญญัติก็ถือว่ามิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ)
       ก่อนที่จะวินิจฉัยปัญหาที่ว่าร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินหรือไม่นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำความเข้าใจลักษณะทางกฎหมายของกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมก่อน ซึ่งกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมนั้นคือกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อขจัดความผิดตามกฎหมายที่มีอยู่เดิม กล่าวคือ เป็นกฎหมายที่มักมีบทบัญญัติไปในทางว่าหากผู้กระทำความผิดได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรม ก็จะได้รับยกเว้นความผิดและไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้นๆ[5] ตัวอย่างเช่น พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2529[6] ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อจูงใจให้ผู้ที่ไม่เคยเสียภาษีหรือเสียภาษีไม่ครบถ้วน ให้มาดำเนินการเสียภาษีให้ถูกต้อง โดยจะไม่ถือว่ามีความผิดทั้งทางแพ่ง (เงินเพิ่ม) และทางอาญา (โทษจำคุกและค่าปรับ), พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2530 ที่ให้ประชาชนผู้ครอบครองอาวุธปืนและอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาจดทะเบียนขอรับใบอนุญาตจากนายทะเบียนอาวุธปืนให้ถูกต้อง ก็จะไม่ถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ฉบับก่อนๆ[7]
       ซึ่งเมื่อพิจารณาตัวอย่างกฎหมายนิรโทษกรรมทั้งสองฉบับที่ได้ยกมาข้างต้น ก็ทำให้พออนุมานได้ว่า กฎหมายนิรโทษกรรมนั้นอาจเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงิน (ตามนิยามของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน) หรือไม่ก็ได้ โดยตัวอย่างแรก คือ พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2529 หากกระทำในรูปพระราชบัญญัติและนำเสนอต่อรัฐสภาภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ก็ต้องถือว่าเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินตามมาตรา 143 (1) คือ เป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติเป็นการแก้ไข ผ่อนคลาย ระเบียบอันเกี่ยวด้วยภาษีอากร[8] ส่วนตัวอย่างหลังคือ พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2530 นั้น ไม่เข้าลักษณะกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงินตามนิยามของมาตรา 143 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ดังนั้น กฎหมายนิรโทษกรรมใดจะเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงินหรือไม่นั้น ก็สุดแล้วแต่ว่าบทบัญญัติของกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนั้นๆ ว่าจะมีเนื้อหาอยู่ในขอบข่ายนิยามของมาตรา 143 หรือไม่ โดยต่อไปผู้เขียนจะวิเคราะห์บทบัญญัติของร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ว่าเข้าข่ายเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินตามนิยามในมาตรา 143 แห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยจะวิเคราะห์นิยามตามมาตรา 143 เป็นรายอนุมาตรา
       (1) การตั้งขึ้น ยกเลิก ลด เปลี่ยนแปลง แก้ไข ผ่อน หรือวางระเบียบการบังคับอันเกี่ยวกับภาษีหรืออากร
       อนุมาตรานี้หมายถึงร่างพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติเกี่ยวข้องกับการภาษีอากร ทั้งการตั้งขึ้นซึ่งภาษีหรืออากรประเภทใหม่ การยุบ/ยกเลิกภาษีหรืออากรประเภทที่มีอยู่เดิม การเปลี่ยนแปลง แก้ไขใดๆ และการผ่อนปรน ตลอดจนการวางระเบียบกฎเกณฑ์ใหม่ในทางภาษีอากรซึ่งกฎหมายกำหนดให้ต้องทำในรูปของพระราชบัญญัติ เห็นได้ชัดเจนว่า อนุมาตรานี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการภาษีอากรโดยเฉพาะ
       (2) การจัดสรร รับ รักษา หรือจ่ายเงินแผ่นดิน หรือการโอนงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดิน
       อนุมาตรานี้เป็นเรื่องว่าด้วยการเงิน การคลัง ของแผ่นดิน ได้แก่ การจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน การจัดการเกี่ยวกับงบประมาณรายรับ-รายจ่ายของแผ่นดิน การเก็บรักษาเงินของแผ่นดิน
       (3) การกู้เงิน การค้ำประกัน การใช้เงินกู้ หรือการดำเนินการที่ผูกพันทรัพย์สินของรัฐ
       ตามอนุมาตรานี้เป็นเรื่องการดำเนินการที่เป็นการก่อหนี้ที่มีผลเป็นการผูกพันทรัพย์สินของรัฐ
       (4) เงินตรา
       อนุมาตรานี้เป็นเรื่องเกี่ยวการบริหารจัดการเงินตราและเสถียรภาพของค่าเงิน ทุนสำรองเงินตรา
       จากที่ได้พิจารณามาข้างต้นจะเห็นได้ว่า 142 และ 143 ของรัฐธรรมนูญเป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์เพื่อจะให้การพิจารณาตราพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินมีกระบวนการเป็นพิเศษแตกต่างจากพระราชบัญญัติทั่วๆ ไป ทั้งนี้ ก็เพราะกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงินเป็นกฎหมายที่มีลักษณะเฉพาะ การเสนอให้รัฐสภาพิจารณาก็ควรกระทำด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ กล่าวคือ ต้องให้นายกรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารตามหลักการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยให้คำรับรองร่างพระราชบัญญัติมาก่อนที่จะเสนอให้รัฐสภาพิจารณา เหตุผลก็เนื่องจากรัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายบริหารจะเป็นผู้นำเงินของแผ่นดินไปใช้ จึงควรให้มีการกลั่นกรองร่างพระราชบัญญัตินั้นโดยรัฐบาลก่อนที่จะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา
       เมื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมทางการเมืองแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. .... ที่กำลังเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ในปัจจุบัน[9] ผู้เขียนมีความเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติมาตราใดเข้าข่ายจะเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินตามนิยามของมาตรา 143 แห่งรัฐธรรมนูญ ไปได้ กล่าวคือ ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ไม่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องภาษีอากร การเงินการคลัง การก่อหนี้ผูกพันทรัพย์สินของรัฐ หรือเงินตรา ไม่ว่าจะตีความในลักษณะใดก็ไม่อาจให้ผลไปในทางที่ว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงินไปได้ อย่างไรก็ตามอาจมีผู้โต้แย้งว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ หากได้ใช้บังคับก็อาจมีผลทำให้ต้องมีการจ่ายเงินของแผ่นดินให้แก่บุคคลผู้ได้รับการนิรโทษกรรม เช่น เมื่อได้รับการนิรโทษกรรมแล้ว รัฐก็จะต้องคืนทรัพย์สินที่เคยยึดมาในคดีทุจริตต่างๆ ให้แก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรม ดังนั้น ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมจึงเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงินตามมาตรา 143 (2) ของรัฐธรรมนูญนั้น ผู้เขียนไม่เห็นพ้อง เพราะการพิจารณาว่าร่างพระราชบัญญัติใดเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินหรือไม่ จะต้องพิจารณาที่เนื้อหาสาระของบทบัญญัติในร่างพระราชบัญญัตินั้นๆ ซึ่งเมื่อพิเคราะห์บทบัญญัติต่างๆ ตลอดทั้งฉบับแล้ว ผู้เขียนเห็นว่าไม่มีบทบัญญัติใดที่กำหนดให้รัฐต้องจ่ายเงินของแผ่นดินให้แก่ผู้ได้รับการนิรโทษกรรม แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่า หากร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ฉบับนี้ได้มีโอกาสใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัติจริงแล้ว โดยผลของกฎหมายฉบับนี้ก็ทำให้การกระทำต่างๆ ในอดีตของผู้ได้รับการนิรโทษกรรมไม่เป็นความผิดตามกฎหมายอีกต่อไป กล่าวคือ ในทางกฎหมายจะต้องถือเสมือนว่าไม่เคยมีการกระทำดังกล่าวมาตั้งแต่เริ่มแรก ดังนั้น บรรดาทรัพย์สินที่รัฐได้ยึดมาจากผู้ได้รับการนิรโทษกรรมก็ย่อมจะต้องถูกคืนให้แก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรม เมื่อต้องถือว่าไม่เคยมีการกระทำความผิดแล้ว รัฐก็ไม่สิทธิในอันที่จะยึดถือทรัพย์สินที่ยึดมาจากผู้ได้รับการนิรโทษกรรมเอาไว้อีกต่อไป เพราะเมื่อไม่มีความผิด ก็จะมีการลงโทษไม่ได้ ดังนั้น กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้จึงเป็นหนทางให้แก่ผู้ได้รับการนิรโทษกรรมที่จะฟ้องร้องเรียกเอาทรัพย์สินที่ถูกยึดไปคืนจากรัฐได้
        แม้ผู้เขียนจะเห็นพ้องด้วยว่า ทรัพย์สินต่างๆ ที่รัฐยึดมาจากบุคคลนั้น ได้ตกเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินแล้ว แต่กระนั้นก็เห็นว่าการตีความในเชิงที่ว่า “โดยผลของกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้จะเป็นฐานทางกฎหมายให้ผู้ได้รับนิรโทษกรรมมาฟ้องเรียกเอาทรัพย์สินที่ถูกยึดไปคืนจากรัฐ เท่ากับว่ากฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้เป็นกฎหมายที่มีผลทำให้ต้องมีการจ่ายเงินของแผ่นดิน จึงต้องถือเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงิน” นั้น เป็นการตีความในลักษณะที่ไปไกลเกินไป ผู้เขียนขอยืนยันความเห็นอีกครั้งหนึ่งว่า การจะพิจารณาว่าร่างพระราชบัญญัติใดเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินตามรัฐธรรมนูญนั้น จะต้องพิเคราะห์เนื้อหาของบทบัญญัติในร่างพระราชบัญญัตินั้นๆ ว่าอยู่ในขอบข่ายของบทนิยามตามมาตรา 143 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ แม้ว่าโดยผลของร่างกฎหมายฉบับนี้ หากได้มีโอกาสบังคับใช้ ก็อาจเป็นเหตุผลในทางกฎหมายให้ผู้ได้รับนิรโทษกรรมนำมาฟ้องเรียกทรัพย์สินคืนจากรัฐได้จริง แต่โดยลำพังบทบัญญัติต่างๆ จำนวน 7 มาตราที่ปรากฎอยู่ในร่างพระราชบัญญัตินั้น ไม่มีบทมาตราใดที่บัญญัติถึงการดำเนินการรับ จ่าย โอน เงินของแผ่นดินแต่อย่างใด ส่วนการที่จะมีผู้นำกฎหมายฉบับนี้ไปฟ้องเรียกเอาทรัพย์สินที่ถูกยึดไปคืนจากรัฐนั้น จนต้องมีการจ่ายเงินของแผ่นดินนั้น เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือบทบัญญัติของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ จึงจะถือว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินหาได้ไม่
        
       สรุปและบทส่งท้าย
                       จากการศึกษาและวิเคราะห์เนื้อหาของร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. .... ผู้เขียนเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ไม่มีบทมาตราใดเข้านิยามของ “ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน” ตามมาตรา 143 แห่งรัฐธรรมนูญ แม้ว่าถ้าร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้มีโอกาสถูกใช้บังคับ ก็อาจส่งผลให้ผู้ได้รับการนิรโทษกรรมสามารถฟ้องเรียกทรัพย์สินที่เคยถูกยึดไปคืนจากรัฐได้ก็ตาม ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จึงมิใช่ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินที่จะต้องมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรีประกอบในการเสนอให้รัฐสภาพิจารณา  แต่ก็ถือเป็นช่องทางต่อสู้ทางกฎหมายที่ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกและมโนธรรมของผู้ได้รับการนิรโทษกรรมว่าหยิบยกช่องทางนี้มาใช้เพื่อประโยชน์ของตนหรือไม่ต่อไป
       
       
       
       
       [1] มาตรา 142 วรรคสองแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ  บัญญัติว่า “ในกรณีที่ร่างพระราชบัญญัติซึ่งมีผู้เสนอตาม (2) (3) หรือ (4) เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินจะเสนอได้ก็ต่อเมื่อมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรี”
       
       
       [2] มาตรา 142 วรรคแรกแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ  ภายใต้บังคับมาตรา 139 ร่างพระราชบัญญัติจะเสนอได้ก็แต่โดย
       (1) คณะรัฐมนตรี
       (2) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่ายี่สิบคน
       (3) ศาลหรือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดองค์กรและกฎหมายที่ประธานศาลและประธานองค์กรนั้นเป็นผู้รักษาการ หรือ
       (4) ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนเข้าชื่อเสนอกฎหมายตามมาตรา 163
       
       
       [3] มาตรา 143 ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน หมายความถึง ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ดังต่อไปนี้
       (1) การตั้งขึ้น ยกเลิก ลด เปลี่ยนแปลง แก้ไข ผ่อน หรือวางระเบียบการบังคับอันเกี่ยวกับภาษีหรืออากร
       (2) การจัดสรร รับ รักษา หรือจ่ายเงินแผ่นดิน หรือการโอนงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดิน
       (3) การกู้เงิน การค้ำประกัน การใช้เงินกู้ หรือการดำเนินการที่ผูกพันทรัพย์สินของรัฐ
       (4) เงินตรา
       
       
       [4] มาตรา 143 วรรคสอง ในกรณีที่เป็นที่สงสัยว่าร่างพระราชบัญญัติใดเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินที่จะต้องมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ให้เป็นอำนาจของที่ประชุมร่วมกันของประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานคณะกรรมาธิการสามัญของสภาผู้แทนราษฎรทุกคณะ เป็นผู้วินิจฉัย
       
       
       [5] “การนิรโทษกรรม” แตกต่างจาก “การอภัยโทษ” คือ การนิรโทษกรรมนั้นคือการทำให้การกระทำผิดนั้นไม่เป็นความผิด โดยจะไม่พิจารณาถึงตัวบุคคลเป็นการเฉพาะตัวและเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ แต่การอภัยโทษเป็นการให้ความกรุณาแก่ผู้ต้องโทษที่กลับตัวเป็นพลเมืองดีก่อนจะรับโทษเสร็จสิ้น ถือเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารคือ คณะรัฐมนตรี ที่จะนำเรื่องราวขึ้นกราบบังคมทูลให้ทรงพระกรุณาพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งมีได้ทั้งการอภัยโทษแก่บุคคลเป็นการเฉพาะรายและการอภัยโทษเป็นการทั่วไป-ผู้สนใจอาจศึกษาได้จากวิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ “การนิรโทษกรรม: ศึกษาเกี่ยวกับเงื่อนไขและผลทางกฎหมาย” โดย สุรพล คงลาภ
       
       
       [6] มาตรา   30 ในกรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรผู้ใดซึ่งยังไม่ได้เสียภาษีอากร  หรือเสียไว้ไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์  ได้ยื่นคำขอเสียภาษีอากรตามแบบที่อธิบดีกำหนดภายในเดือนกรกฎาคม  พ.ศ. 2529  และได้ชำระภาษีอากรตามจำนวนที่ต้องเสียตามมาตรานี้  ภายใน
       ระยะเวลาและหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกำหนด  ซึ่งต้องไม่เกินสองปีนับแต่วันยื่นคำขอให้ผู้นั้นได้รับยกเว้นจากการเรียกตรวจสอบไต่สวน  ประเมินหรือส่งให้เสียภาษีอากรและความผิดทางอาญา  ตามประมวลรัษฎากรสำหรับเงินได้หรือรายรับที่มีอยู่ก่อนหรือในปีภาษี  พ.ศ.  ๒๕๒๗  หรือรอบระยะเวลาบัญชีที่สิ้นสุดลงก่อนหรือในวันที่  ๓๑  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๒๗
       
       
       [7] มาตรา 4 ผู้ใดมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดนอกจากที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงที่ออกตาม มาตรา 55 ถ้าได้นำอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนหรือวัตถุระเบิดดังกล่าวมา มอบให้นายทะเบียนท้องที่ภายในกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ
       
       
       [8] แต่ในความเป็นจริงที่เกิดขึ้นนั้น การนิรโทษกรรมทางภาษีอากรในประเทศไทยมักกระทำลงในรูปของแถลงการณ์กระทรวงการคลัง หรือกฎหมายลำดับรองประเภทประกาศกระทรวงการคลัง โดยอาศัยอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามความในมาตรา 3 อัฎฐ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร-วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ “การนิรโทษกรรมทางภาษีอากร” โดยศรายุทธ ทอนโพธิ์
       
       
       [9] มาตรา 3 ให้บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง ความขัดแย้งทางการเมือง หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมาที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ.2547 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2556 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง
       การกระทำตามวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112         
       มาตรา 4 เมื่อพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับแล้ว ถ้าผู้ที่กระทำการตามมาตรา 3 ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาลหรืออยู่ในระหว่างการสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนผู้ซึ่งมีอำนาจสอบสวนหรือพนักงานอัยการระงับการสอบสวนหรือการฟ้องร้อง หากถูกฟ้องต่อศาลแล้วให้พนักงานอัยการหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องระงับการฟ้อง ถ้าผู้นั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีไม่ว่าจำเลยร้องขอหรือศาลเห็นเอง ให้ศาลพิพากษายกฟ้องหรือมีคำสั่งจำหน่ายคดี ในกรณีที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษบุคคลใดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ให้ถือว่าบุคคลนั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด ในกรณีที่บุคคลใดอยู่ระหว่างการรับโทษ ให้ลงโทษนั้นสิ้นสุดลงและปล่อยตัวให้ผู้นั้น ทั้งนี้ ให้ทุกองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติต่อกระทำการตามมาตรา 3 ให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญโดยเคร่งครัดต่อไป
        
        
       
       


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1906
เวลา 29 มีนาคม 2567 17:05 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)