ครั้งที่ 330

17 พฤศจิกายน 2556 18:32 น.

       สำหรับวันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายนถึงวันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม 2556
        
       “สิทธิของประชาชนที่จะหายไปจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 190”
        
       
                   ในขณะที่สังคมไทยให้ความสนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากร่างกฎหมายนิรโทษกรรมและการตีความคดีปราสาทพระวิหาร  รัฐสภาก็ได้ผ่านการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 190) ไปอย่างเงียบๆ แล้วก็ไม่ค่อยมีใครพูดถึงหรือให้ความสำคัญกันมากนัก
                 ผมมีการติดตามการแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 190 อยู่บ้างในฐานะที่เป็นมาตราเดียวในรัฐธรรมนูญที่ถูกแก้ไขมากที่สุด แม้ผมจะไม่มีความรู้ที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศหรือที่เกี่ยวกับสนธิสัญญาอันเป็นสาระสำคัญของมาตรา 190 แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวก็เป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจติดตามเพราะเป็นการแก้รัฐธรรมนูญมาตราที่มีปัญหาเกิดขึ้นและมีการพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง รวมทั้งยังมีการให้ความเห็นที่เกี่ยวข้องโดยบรรดานักวิชาการ  คำวินิจฉัย คำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองอยู่มากพอสมควร ดังนั้น ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ผมจะขอนำเอาความเป็นมาของมาตรา 190 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมานำเสนอ ส่วนผลของการแก้ไขมาตรา 190 จะเป็นอย่างไรนั้นผมคงไม่มีความสามารถที่จะให้ความเห็นได้ดีเท่านักกฎหมายระหว่างประเทศครับ
                 เริ่มต้นจากรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ก่อน  ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทำสนธิสัญญากับต่างประเทศนั้น มาตรา 224 ของรัฐธรรมนูญ ได้บัญญัติเอาไว้ว่า
       พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่น กับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ
       หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตอำนาจแห่งรัฐ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญา ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา
       จะเห็นได้ว่า บทบัญญัติในมาตรา 224 วรรคสอง กำหนดไว้แต่เพียงหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตอำนาจแห่งรัฐหรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญาต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา  ในเวลาต่อมาเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ว่าประเทศไทยไปทำการเจรจาข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ เช่น การเจรจา FTA กับหลายๆ ประเทศที่ทำให้ประเทศไทยต้องเสียเปรียบหลายอย่าง  จึงมีแนวความคิดว่าสมควรที่จะนำเรื่องการตกลงดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเพื่อขอรับความเห็นชอบเช่นเดียวกับหนังสือสัญญาต่างๆ ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 224 วรรคสอง แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ด้วย ทำให้ในเวลาต่อมา เมื่อมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ได้มีการกำหนดให้บรรดาข้อตกลงต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคม  มีผลผูกพันด้านการค้า  การลงทุน  หรืองบประมาณของประเทศต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาก่อน โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญก็คือเพื่อให้สมาชิกรัฐสภาได้ให้ความเห็นและอภิปรายถึงผลดีผลเสียของบรรดาข้อตกลงต่างๆ ก่อนที่ประเทศไทยจะไปลงนามผูกพัน มาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 บัญญัติไว้ว่า
       พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่นกับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ
       หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย หรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศหรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศ อย่างมีนัยสำคัญ ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา  ในการนี้ รัฐสภาจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องดังกล่าว
       ก่อนการดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศตามวรรคสอง คณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและต้องชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับหนังสือสัญญานั้น ในการนี้ ให้คณะรัฐมนตรีเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบด้วย
       เมื่อลงนามในหนังสือสัญญาตามวรรคสองแล้ว ก่อนที่จะแสดงเจตนาให้มีผลผูกพัน คณะรัฐมนตรีต้องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญานั้น และในกรณีที่การปฏิบัติ ตามหนังสือสัญญาดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนหรือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบนั้นอย่างรวดเร็ว เหมาะสมและเป็นธรรม
       ให้มีกฎหมายว่าด้วยการกำหนดขั้นตอนและวิธีการจัดทำหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า หรือการลงทุน อย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญาดังกล่าวโดยคำนึงถึงความเป็นธรรมระหว่างผู้ที่ได้ประโยชน์กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญานั้นและประชาชนทั่วไป
       ในกรณีที่มีปัญหาตามวรรคสอง ให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยชี้ขาด โดยให้นำบทบัญญัติตามมาตรา ๑๕๔ (๑) มาใช้บังคับกับการเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยอนุโลม
       ในทางปฏิบัติ การบังคับใช้มาตรา 190 เกิดปัญหาขึ้นในหลายกรณีโดยเฉพาะปัญหาว่า หนังสือสัญญาใดเป็นหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2554 จึงได้มีการแก้ไขมาตรา 190 แห่งรัฐธรรมนูญเสียใหม่โดยกำหนดให้หนังสือสัญญาใดที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตหรือเป็นเรื่องที่ต้องมีการตราพระราชบัญญัติเพื่อให้เป็นไปตามหนังสือสัญญาต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา  ส่วนหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจสังคมของประเทศอย่างกว้างขวางและเรื่องที่มีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุนหรืองบประมาณของประเทศ ต้องมีลักษณะตามที่กฎหมายบัญญัติ มาตรา 190 ที่ได้รับการแก้ไขในปี พ.ศ. 2554 มีรายละเอียดดังนี้คือ
       พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่น กับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ
       หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศ อย่างมีนัยสำคัญ ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา  ในการนี้ รัฐสภาจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องดังกล่าว
       ก่อนการดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศตามวรรคสอง คณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและต้องชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับหนังสือสัญญานั้น ในการนี้ ให้คณะรัฐมนตรีเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภา เพื่อขอความเห็นชอบด้วย
       เมื่อลงนามในหนังสือสัญญาตามวรรคสองแล้ว ก่อนที่จะแสดงเจตนาให้มีผลผูกพัน คณะรัฐมนตรีต้องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญานั้น และในกรณีที่การปฏิบัติ ตามหนังสือสัญญาดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนหรือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบนั้นอย่างรวดเร็ว เหมาะสม และเป็นธรรม
       ให้มีกฎหมายว่าด้วยการกำหนดประเภท กรอบการเจรจา ขั้นตอนและวิธีการจัดทำหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตาม หนังสือสัญญาดังกล่าวโดยคำนึงถึงความเป็นธรรมระหว่างผู้ที่ได้ประโยชน์กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญานั้นและประชาชนทั่วไป
       ในกรณีที่มีปัญหาตามวรรคสอง ให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยชี้ขาดโดยให้นำบทบัญญัติตามมาตรา ๑๕๔ (๑) มาใช้บังคับกับการเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยอนุโลม
       ภายหลังจากการแก้ไขมาตรา 190 ข้างต้นในปี พ.ศ. 2554 มีความพยายามที่จะจัดทำ “ร่างพระราชบัญญัติการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ พ.ศ. ....” เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 190 วรรคห้า โดยร่างกฎหมายดังกล่าวเท่าที่ตรวจสอบพบมีอยู่ด้วยกัน 36 มาตรา ประกอบด้วย หมวดต่างๆ รวม 5 หมวดคือ คณะกรรมการประสานการเจรจาหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ การเจรจาหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ การศึกษาวิจัยข้อมูลและผลกระทบในการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และการติดตามและตรวจสอบการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ
       อย่างไรก็ตาม ก่อนที่กฎหมายว่าด้วยการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศจะเกิดขึ้น เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา มาตรา 190 แห่งรัฐธรรมนูญก็ถูกแก้ไขอีกครั้งหนึ่ง โดยในการแก้ไขครั้งนี้มีการเปลี่ยนแปลงหลักการที่สำคัญของมาตรา 190 ไปหลายประการ เช่น มีการตัดเรื่องความตกลงที่มีผลกระทบต่อความมั่งคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศ หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุนหรืองบประมาณของประเทศออกไปไม่ต้องให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ รวมไปถึงมีการตัดเรื่องที่บัญญัติไว้ในวรรค 3 เดิม ออกคือ เรื่องนี้ต้องมีการให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เรื่องที่ต้องมีการชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับหนังสือสัญญาและเรื่องที่ต้องมีการนำเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ
       มาตรา 190 ที่ได้รับการแก้ไขครั้งล่าสุดมีรายละเอียด ดังนี้
       พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่น กับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ
       หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศโดยชัดแจ้งหรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือมีบทให้เปิดเสรีด้านการค้าหรือการลงทุนต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา
       ให้มีกฎหมายว่าด้วยการให้ประชาชนเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญาและการแก้ไขเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญาโดยคำนึงถึงความเป็นธรรมระหว่างผู้ที่ได้ประโยชน์กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ จากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญานั้นและประชาชนทั่วไป
       ในกรณีที่มีปัญหาว่าหนังสือสัญญาใดเป็นหนังสือสัญญาที่จะต้องเสนอรัฐสภาให้ความเห็นชอบตามวรรคสอง ให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยชี้ขาดโดยให้นำบทบัญญัติตามมาตรา ๑๕๔ (๑) และ (๒) มาใช้บังคับกับการเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยอนุโลม ทั้งนี้ ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดให้แล้วเสร็จภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่รับเรื่อง
       มาตรา 190 ของใหม่นี้แตกต่างไปจากมาตรา 190 เดิมหลายประการซึ่งผมคงไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะวิจารณ์ได้ว่า การแก้ไขมาตรา 190 ครั้งล่าสุดที่จะทำให้บทบัญญัติมาตรา 190 ใหม่นั้นดีขึ้นกว่าเดิมหรือแย่ไปกว่าเดิมในประเด็นใดบ้าง ในบทบรรณาธิการนี้ ผมเพียงอยากเขียนถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 และเขียนถึงเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ถูกตัดออกไป ผมเสียดายบทบัญญัติในมาตรา 190 วรรคสาม ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับหนังสือสัญญาระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก  โดยเฉพาะเมื่ออ่านดูในหมวด 4  ของร่างกฎหมายว่าด้วยการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่เล่าให้ฟังไปข้างต้นแล้วก็ยิ่งเสียดายเข้าไปใหญ่ เพราะร่างกฎหมายมีบทบัญญัติเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้ถึง 4 มาตรา ด้วยกัน  เช่น ในร่างมาตรา 29 วรรคแรกกำหนดถึงวัตถุประสงค์ของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเอาไว้ว่า เพื่อรวบรวมและสอบถามความคิดเห็นจากสาธารณชนเพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาในการเจรจา การลงนาม แก้ไขให้สัตยาบันหรือยกเลิกหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ  โดยร่างมาตราดังกล่าวกำหนดให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นผู้รับผิดชอบการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จากนั้นก็ให้รายงานผลต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา การแก้ไขมาตรา 190 ครั้งใหม่นี้ แม้จะมีการกล่าวถึงสิทธิของประชาชนเกี่ยวกับสัญญาระหว่างประเทศไว้ในวรรคสามก็ตามแต่ก็เป็นคนละแบบกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา 190 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่งขั้นตอนในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ต้องมีก่อนทำหนังสือสัญญา ในขณะที่ร่างมาตรา 190 ใหม่กำหนดให้ประชาชนเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญา ซึ่งเป็นกรณีที่หนังสือสัญญาได้จัดทำไปแล้ว
       กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนจึงถูกกระทบอย่างรุนแรงจากการแก้ไขมาตรา 190 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เพราะไม่สามารถช่วยกันให้ความเห็นและตรวจสอบรายละเอียดของร่างสัญญาได้ก่อนที่จะมีผลใช้บังคับครับ !!!
       จริงๆ แล้วผมมองว่า  การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ครั้งล่าสุดนี้ยังไม่ “ถึงเวลา” ที่จะแก้ไข เพราะมาตรา 190 เองก็ไม่ได้มีปัญหามากมายอะไรนัก ปัญหาหลักคงอยู่ที่ว่า ความไม่ชัดเจนของคำว่า หนังสือสัญญา ซึ่งเรื่องนี้ก็แก้ไขได้ไม่ยากนักเพราะนอกจากมาตรา 190 วรรคสองจะบัญญัติเอาไว้ถึงหนังสือสัญญา 5 ประเภท ที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนที่จะไปลงนามผูกพันแล้ว  หากร่างกฎหมายว่าด้วยการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศออกมาใช้บังคับ  ปัญหาก็คงลดน้อยลงไปอีกเพราะร่างกฎหมายดังกล่าวก็ได้กำหนดคำนิยามของ “หนังสือสัญญาระหว่างประเทศ” และ “หนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวางหรือมีผลผูกพันในด้านการค้า การลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ” เอาไว้อย่างละเอียดโดยเฉพาะหนังสือสัญญาประเภทหลัง คำนิยามในร่างมาตรา 3 ได้กำหนดรายละเอียดเอาไว้ถึง 8 ประเภทด้วยกันครับ
       จริงๆ แล้ว หากเรายังไม่ลืมกัน มีปัญหาเกิดขึ้นจากความเข้าใจคำว่า “หนังสือสัญญาระหว่างประเทศ” ที่ไม่ตรงกันอยู่หลายกรณี แต่กรณีที่ร้ายแรงที่สุด ก็คือกรณีคำแถลงการณ์ร่วมไทย - กัมพูชาที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้ในปี พ.ศ. 2551 ขยายความบทบัญญัติในมาตรา 190 แห่งรัฐธรรมนูญออกไปจนทำให้เกิดข้อถกเถียงอย่างมากในทางวิชาการ ซึ่งในเรื่องดังกล่าวผมได้เขียนเอาไว้ใน บทบรรณาธิการครั้งที่ 190 วันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 และ ครั้งที่ 191 วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 ไปแล้วครับ
       นอกจากจะไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนที่จะไปทำการ          ลงนามในสัญญาแล้ว ร่างมาตรา 190 ฉบับใหม่นี้ยังมีปัญหาอยู่อีกหลายอย่าง เช่น การตัดบทบัญญัติเกี่ยวกับการเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาออกไปซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อเนื้อหาของหนังสือสัญญาที่ฝ่ายบริหารจะไปทำในอนาคตได้  แต่เนื่องจากผมไม่มีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะวิจารณ์เรื่องดังกล่าวได้ จึงไม่ขอเข้าไปแตะเนื้อหาในส่วนดังกล่าวครับ
       แม้ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 190) จะผ่านการพิจารณาของรัฐสภาไปแล้วอย่างเงียบๆ แต่เข้าใจว่าคงไม่เร็วนักที่จะมีผลใช้บังคับเพราะเท่าที่ทราบจากข่าว  มีผู้ไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญไว้แล้วว่าร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ ไปจำกัดอำนาจรัฐสภาในการพิจารณาให้ความเห็นชอบการทำสนธิสัญญาของฝ่ายบริหารครับ !!!
                 นอกจากนี้แล้วยังมีเสียงพูดกันมากว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ครั้งนี้ไปผูกโยงกับเรื่องปราสาทพระวิหารและการทำธุรกิจในประเทศกัมพูชาของนักธุรกิจการเมืองบางคน คงต้องดูกันต่อไปนะครับว่า เป็นเรื่องจริงหรือไม่ !!!
       
       
                 ด้วยเหตุผลข้างต้น ผมเข้าใจว่าร่างมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญคงผ่านด่านศาลรัฐธรรมนูญไปได้ไม่ง่ายนักครับ !!!
       
       ในสัปดาหนี้  เรามีบทความมานำเสนอ 4  บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความของคุณปกรณ์ นิลประพันธ์ กรรมการร่างกฎหมายประจำ (นักกฎหมายกฤษฎีกาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่เขียนเรื่อง “การพัฒนากฎหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” บทความที่สองเป็นบทความเรื่อง “ขอบเขตของคำว่า “พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” ในประมวลกฎหมายอาญา” ที่เขียนโดย อาจารย์ ดร.ชัชพล ไชยพร แห่งคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บทความที่สามเป็นบทความเรื่อง   “มองปัญหาชายแดนเขาพระวิหารอย่างสร้างสรรค์ภายใต้กรอบอาเซียน” ที่เขียนโดย อาจารย์ พัชร์ นิยมศิลป แห่งคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบทความสุดท้ายเป็นบทความเรื่อง   “การรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่นตามหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดี (Issue Estoppel) (ตอนที่ 2)”  ที่เขียนโดยอาจารย์ไกรพล อรัญรัตน์ แห่งคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เช่นเดียวกัน  ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกบทความไว้ ณ ที่นี้ครับ
       
                 พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2556
       
                 ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์  บรมานันท์


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1904
เวลา 29 มีนาคม 2567 16:49 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)