|
|
การรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่นตามหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดี (Issue Estoppel) (ตอนที่ 1) 4 พฤศจิกายน 2556 09:15 น.
|
บทคัดย่อ
ตามหลักกฎหมายลักษณะพยานหลักฐาน ศาลจะต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงแห่งคดีอยู่บนพื้นฐานของพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบเข้ามาในสำนวนคดี อย่างไรก็ตาม ถ้าหากข้อเท็จจริงที่ศาลกำลังจะวินิจฉัยนั้น ได้เคยมีคำพิพากษาของศาลในคดีอื่นวินิจฉัยข้อเท็จจริงเดียวกันนี้ถึงที่สุดเอาไว้ก่อนแล้ว ย่อมเกิดปัญหาว่าศาลที่กำลังจะวินิจฉัยข้อเท็จจริงจะต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงเป็นยุติตามที่ศาลคดีอื่นได้เคยวินิจฉัยเอาไว้แล้ว หรือศาลจะสามารถใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นโดยถือเอาคำพิพากษาคดีอื่นเป็นเพียงพยานหลักฐานชิ้นหนึ่งในคดีเท่านั้น จากการศึกษาพบว่าศาลในประเทศไทยมีแนวโน้มในการนำเอาหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดีมาใช้ในการพิจารณาคดี กล่าวคือถ้าหากศาลพบว่าข้อเท็จจริงที่กำลังจะวินิจฉัยได้เคยมีคำพิพากษาของศาลคดีอื่นวินิจฉัยข้อเท็จจริงเดียวกันนั้นเอาไว้จนถึงที่สุดแล้วและคดีทั้งสองมีคู่ความชุดเดียวกัน ศาลจะต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามคดีที่มีคำพิพากษาเอาไว้ก่อนอย่างเคร่งครัด ซึ่งหลักการดังกล่าวนี้มีการนำมาใช้ในลักษณะที่แตกต่างกันไปในประเทศไทยและในต่างประเทศ บทความนี้มุ่งศึกษาถึงการรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่นว่ามีลักษณะใดบ้าง รวมถึงวิเคราะห์ถึงความเหมาะสมในการนำเอาหลักการดังกล่าวมาใช้ในการพิจารณาพิพากษาคดีด้วย โดยจะจำกัดขอบเขตการศึกษาเฉพาะคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมเท่านั้น
ABSTRACT
The general rule of evidence law is that all the facts-in-issue or relevant to the issue in a given case must be proved by the evidence. However, the court may find that the facts-in-issue in a given case is formerly determined by the court of competent jurisdiction. In this regard, the rule pursuant to the Thai Civil Procedural Code provides that once an issue has been raised and distinctly determined between the parties, then neither the parties nor the court could be allowed to revisit such identical issue based on the evidence introduced in a given case as a result of Issue Estoppel, which is an exception from the aforementioned rule. This article aims to find out the problems concerning the application of Issue Estoppel in every aspect and provide recommendations to improve the use of Issue Estoppel in Thai legal system.
บทนำ
ตามหลักกฎหมายพยานหลักฐานที่เป็นสากล ศาลจะต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงแห่งคดีโดยพิจารณาจากพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบเข้ามาในสำนวนคดีเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติมักมีปัญหาเกิดขึ้นในกรณีที่ข้อเท็จจริงซึ่งศาลกำลังจะวินิจฉัย ได้เคยมีการวินิจฉัยจนถึงที่สุดเอาไว้ครั้งหนึ่งแล้วโดยคำพิพากษาของศาลคดีอื่น เพราะปัญหาย่อมเกิดขึ้นแก่ศาลว่า ศาลที่กำลังพิจารณาคดีอยู่จะต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงแห่งคดีไปในลักษณะใด? ศาลจำเป็นจะต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีก่อนหน้าโดยเคร่งครัดหรือไม่? หรือศาลสามารถวินิจฉัยข้อเท็จจริงใหม่ตามพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบเข้ามาในสำนวนคดีตามหลักทั่วไป? และหลักการดังกล่าวมีความแตกต่างกันมากน้อยเพียงไรในการพิจารณาคดีแพ่งและคดีอาญา? ปัญหาเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาที่ยังไม่มีการวิเคราะห์หาคำตอบที่ชัดเจน (Knowledge Gap) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อในทางปฏิบัติพบว่าศาลยุติธรรมจะต้องประสบกับปัญหาเหล่านี้อยู่บ่อยครั้ง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องวิเคราะห์หาแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสมในประเด็นดังกล่าวให้เร็วที่สุด บทความฉบับนี้จึงมุ่งศึกษาในประเด็นปัญหาเรื่องการรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่น โดยมุ่งเน้นศึกษาเฉพาะในการพิจารณาคดีแพ่งและคดีอาญา ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรมเท่านั้น เพื่อสร้างความชัดเจนทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติให้แก่ประเด็นปัญหาดังกล่าว
อนึ่ง ในการนำเสนอบทความเรื่อง การรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่น ผู้เขียนขอทำการเรียงลำดับโครงสร้างการนำเสนอ ดังนี้
1. วิวัฒนาการและการนำเอาหลักการรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่นมาใช้ในทางปฏิบัติ โดยในหัวข้อนี้จะอธิบายถึงแนวคิดรากฐานของหลักการรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่น เพื่อให้ทราบถึงเหตุผลเบื้องหลังอันเป็นที่มาของหลักการดังกล่าว
2. ลักษณะของการรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่นในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรม ในหัวข้อนี้จะกล่าวถึงลักษณะของการรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่นเมื่อถูกนำเอามาใช้ในทางปฏิบัติด้วย
3. หลักการรับฟังข้อเท็จจริงในคดีแพ่งตามคำพิพากษาคดีอื่น ในหัวข้อนี้จะประกอบไปด้วยการอธิบายถึงหลักการรับฟังข้อเท็จจริงในคดีแพ่งตามคำพิพากษาคดีแพ่งอื่น และหลักการรับฟังข้อเท็จจริงในคดีแพ่งตามคำพิพากษาคดีอาญาของประเทศไทยและต่างประเทศ รวมถึงวิเคราะห์ให้เห็นถึงความเหมาะสมในการมีอยู่ของหลักการดังกล่าว
4. หลักการรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาตามคำพิพากษาคดีอื่น ในหัวข้อนี้จะประกอบไปด้วยการอธิบายถึงหลักการรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาตามคำพิพากษาคดีอาญาอื่น และหลักการรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาตามคำพิพากษาคดีแพ่งของประเทศไทยและต่างประเทศ รวมถึงวิเคราะห์ให้เห็นถึงความเหมาะสมในการมีอยู่ของหลักการดังกล่าวด้วย
5. บทสรุปและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับหลักการรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่น ในหัวข้อนี้จะสรุปให้เห็นภาพรวมของหลักการรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่น รวมถึงความเหมาะสมในการนำเอาหลักการรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่นมาใช้ในคดีแพ่งและคดีอาญา และข้อเสนอแนะในการรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่นของศาลยุติธรรมด้วย
1. วิวัฒนาการของหลักการรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่น
การรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่นเป็นหลักกฎหมายที่ประเทศไทยได้รับอิทธิพลมาจากระบบกฎหมายพยานหลักฐานของประเทศตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายแบบคอมมอนลอว์ (Common Law Countries) ซึ่งเรียกหลักการรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่นกันว่า หลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดี (Issue Estoppel) ที่ถูกจัดเป็นสาขาหนึ่งของ หลักกฎหมายปิดปากโดยคำพิพากษา (Estoppel by Judgment) นั่นเอง ทั้งนี้ จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่าหลักกฎหมายปิดปากโดยคำพิพากษามีพัฒนาการมาจากหลักความศักดิ์สิทธิ์เด็ดขาดของคำพิพากษาที่มีการยึดถือกันอย่างเคร่งครัดในอดีต จนกระทั่งพัฒนาขึ้นมาเป็นหลักกฎหมายปิดปากโดยคำพิพากษาที่ยึดถือปฏิบัติกันอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น ในเบื้องต้นจึงควรจะได้ทราบถึงวิวัฒนาการและที่มาของหลักกฎหมายปิดปากโดยคำพิพากษาทั้งในกลุ่มประเทศคอมมอนลอว์ กลุ่มประเทศซีวิลลอว์ และประเทศไทยเสียก่อน เพื่อเป็นพื้นฐานในการทำความเข้าใจประเด็นเรื่องการรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่นต่อไป ดังรายละเอียดต่อไปนี้
เดิมทีเดียวราวคริสต์ศตวรรษที่ 12 ในประเทศอังกฤษซึ่งถือเป็นประเทศต้นแบบของระบบกฎหมายแบบคอมมอนลอว์ มีการยึดถือกันทั่วไปว่าถ้อยคำและข้อความในคำพิพากษาของศาลกษัตริย์ (King’s Court) มีความศักดิ์สิทธิ์และทุกคนจะต้องให้การยอมรับเป็นที่ยุติตามข้อความที่ปรากฏในคำพิพากษานั้น บุคคลใดจะกล่าวอ้างว่าคำพิพากษานั้นไม่ถูกต้องหรือจะขอพิสูจน์เพื่อเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลกษัตริย์ (King’s Court) เป็นอย่างอื่นย่อมไม่สามารถทำได้โดยเด็ดขาด โดยลักษณะของความผูกพันที่ไม่สามารถปฏิเสธได้นั้น หาใช่หมายความถึงเฉพาะผลของคำพิพากษาเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงข้อความทุกตัวอักษรที่มีการกล่าวอ้างในคำพิพากษาด้วยที่ทุกคนจะต้องให้การยอมรับและห้ามปฏิเสธเป็นอย่างอื่น อนึ่ง ในช่วงแรก หลักความศักดิ์สิทธิของคำพิพากษาจะมีผลใช้บังคับเฉพาะในศาลกษัตริย์เท่านั้น จนกระทั่งในเวลาต่อมา หลักการดังกล่าวก็ได้รับการยอมรับขยายไปถึงคำพิพากษาของศาลศาสนา และศาลอื่นๆด้วยในที่สุด[1]
ในระยะเวลาต่อมาราวศตวรรษที่ 15 ศาลในคดี Hynde’s Case ซึ่งตัดสินในปี คริสต์ศักราชที่ 1591 ได้ให้เหตุผลต่อหลักความเป็นเด็ดขาดของคำพิพากษาว่า หลักความเป็นเด็ดขาดของคำพิพากษามีขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการไม่มีที่สิ้นสุดของข้อโต้แย้ง ซึ่งนักกฎหมายในระยะต่อมาก็เห็นสอดคล้องกันว่า คำพิพากษาน่าจะเป็นคำตัดสินข้อโต้แย้งที่ดีที่สุดและเป็นที่ยุติได้ ดังนั้น จะเห็นได้ชัดเจนว่าในประเทศอังกฤษมีการยึดถือหลักความศักดิ์สิทธิ์และความเป็นเด็ดขาดของคำพิพากษาอย่างมากเลยทีเดียว[2] ซึ่งถือเป็นพื้นฐานของหลักกฎหมายปิดปากโดยคำพิพากษาที่ได้รับการยอมรับในเวลาต่อมา โดยเหตุผลสำคัญที่ถือเป็นแนวคิดเบื้องหลังของหลักกฎหมายปิดปากโดยคำพิพากษา (Estoppel by Judgment) นั้น มีลักษณะเดียวกันกับแนวคิดเบื้องหลังของหลักความเด็ดขาดของคำพิพากษา กล่าวคือ การดำเนินคดีที่มีจุดสิ้นสุดถือเป็นประโยชน์สาธารณะ (Interest rei publicae ut sit finis litium) และในขณะเดียวกัน การพิจารณาคดีต่อบุคคลก็ไม่ควรกระทำถึงสองครั้งในเหตุการณ์เดียวกัน (Nemo debet bis vexari pro eadem causa) ซึ่งเหตุผลเบื้องหลังเหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อหลักกฎหมายปิดปากโดยคำพิพากษาในแง่ที่ว่า เมื่อศาลมีคำพิพากษาออกมาโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว คำพิพากษาดังกล่าวย่อมเป็นที่สุด การนำเอาพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อโต้แย้งความถูกต้องของคำพิพากษาไม่สามารถกระทำได้[3]
สำหรับคดีแรกที่แสดงให้เห็นว่าศาลมีการใช้หลักการรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่น หรือหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดี (Issue Estoppel) นั้น ปรากฏอยู่ในคำพิพากษาของประเทศอังกฤษในคดี The Duchess of Kingston’s Case ที่ตัดสินเอาไว้ในปี คริสต์ศักราช 1776 โดยในคดีดังกล่าวมีการกล่าวอ้างถึงการนำเอาคำพิพากษาของศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีโดยชอบด้วยกฎหมายในคดีก่อนมาใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีภายหลังที่มีข้อเท็จจริงเกี่ยวพันกันอย่างชัดเจน นอกจากนี้ ต่อมาในปีคริสต์ศักราชที่ 1855 ได้ปรากฏว่ามีการอ้างอิงถึงหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดี (Issue Estoppel) อย่างชัดเจนอีกครั้งในคดี R. v. Hartington Middle Quarter Inhabitants โดยในคดีนี้ศาลได้กล่าวเอาไว้ว่า คำพิพากษาของศาลในคดีก่อนหน้า นอกจากจะให้ผลผูกพันในผลของคำพิพากษาแล้ว ในส่วนของข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องและจำเป็นในการพิพากษาคดีซึ่งศาลได้วินิจฉัยเอาไว้แล้ว ก็จะต้องรับฟังเป็นยุติด้วยเช่นกัน…[4] คำพิพากษาของศาลในประเทศอังกฤษทั้งในคดี The Duchess of Kingston’s Case และในคดี R. v. Hartington Middle Quarter Inhabitants ถือเป็นคำพิพากษาแรกเริ่มในระบบกฎหมายของอังกฤษที่ได้สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการและการมีอยู่ของหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดี (Issue Estoppel) อย่างชัดเจน และหลักการดังกล่าวก็มีพัฒนาการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้
ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นวิวัฒนาการของหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดีในประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายแบบคอมมอนลอว์ ซึ่งสรุปได้ว่ามีพื้นฐานสำคัญมาจากหลักความศักดิ์สิทธิ์ของคำพิพากษาศาลกษัตริย์นั่นเอง
สำหรับในกลุ่มประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายแบบซีวิลลอว์ (Civil Law Countries) แม้จะไม่ปรากฏว่ามีพัฒนาการเกี่ยวกับหลักการรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่น หรือหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดีอย่างชัดเจนเหมือนในประเทศคอมมอนลอว์ แต่หลักการดังกล่าวก็ยังมีบทบาทอยู่บ้างในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงของศาลในประเทศซีวิลลอว์ โดยหลักการรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่นของประเทศซีวิลลอว์เริ่มมีพัฒนาการในระยะแรกเมื่อครั้งที่มีการแบ่งแยกคดีแพ่งและคดีอาญาออกจากกัน ซึ่งผลจากการแบ่งแยกการดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญาออกจากกัน ทำให้เมื่อมีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทำละเมิดเกิดขึ้น ข้อเท็จจริงดังกล่าวย่อมอาจเป็นได้ทั้งความรับผิดทางอาญาและการละเมิดในทางแพ่งพร้อมๆกันได้ หากกรณีดังกล่าวมีกฎหมายอาญาบัญญัติถึงความผิดและโทษเอาไว้ ยกตัวอย่างเช่น การทำร้ายร่างกาย หรือทำอันตรายแก่ชีวิต ย่อมเป็นความผิดอาญาอันถือว่าเป็นการกระทบกระเทือนต่อความสงบสุขของสังคม และถือว่าผู้เสียหายถูกทำละเมิด จึงมีสิทธิเรียกให้ชดใช้เยียวยาความเสียหายนั้นได้[5]
อนึ่ง ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นตามมาภายหลังแยกการดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญาออกจากกันก็คือปัญหาเรื่องการรับฟังข้อเท็จจริงในการดำเนินคดีทั้งสอง ทั้งนี้เพราะการกระทำบางอย่างเป็นมูลที่จะก่อให้เกิดการฟ้องร้องทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญาโดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระทำความผิดอาญาแทบทั้งหมดที่ก่อให้เกิดผลเสียหายต่อบุคคลอื่นเป็นมูลเหตุที่จะทำให้ผู้ได้รับความเสียหายฟ้องผู้กระทำผิดในทางแพ่งฐานละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420[6] และในกรณีที่การกระทำอันเดียวกันก่อให้เกิดความรับผิดทั้งในทางแพ่งและทางอาญาด้วย หากมีการดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญาแยกต่างหากออกจากกัน ศาลที่พิจารณาคดีทั้งสองก็อาจใช้ดุลพินิจรับฟังและวินิจฉัยข้อเท็จจริงแตกต่างกันออกไปได้[7] เพราะกระบวนพิจารณาทางแพ่งและทางอาญาไม่เหมือนกัน และสำนวน 2 สำนวนอาจมีพยานหลักฐานที่แตกต่างกันได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติที่แปลกประหลาดและอาจก่อให้เกิดความสงสัยในมาตรฐานการอำนวยความยุติธรรมของศาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ จึงเริ่มมีการคิดหาทางแก้ปัญหาการขัดแย้งกันของคำพิพากษาขึ้น จนกระทั่งในที่สุด ความพยายามในการแก้ปัญหาเรื่องการรับฟังข้อเท็จจริงขัดแย้งกันในคดีแพ่งและคดีอาญาที่มีมูลกรณีเดียวกันนั้น ก็ได้เกิดขึ้นให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมครั้งแรกในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเกิดขึ้นจากคำพิพากษาศาลฎีกาของประเทศฝรั่งเศส ในปี ค.ศ.1855[8] โดยคำพิพากษาฎีกาฉบับดังกล่าวมองว่าศาลในคดีแพ่งต้องยึดถือข้อเท็จจริงที่ศาลในคดีอาญาได้วินิจฉัยไว้แล้ว โดยมีเจตนารมณ์คือความต้องการที่จะเห็นศาลชั้นต้นสองศาลวินิจฉัยข้อเท็จจริงให้เหมือนกัน เนื่องจากนักกฎหมายฝรั่งเศสเห็นว่า การที่คำพิพากษาส่วนอาญาและส่วนแพ่งมีเนื้อหาที่ขัดแย้งหรือตรงกันข้ามกันจะเป็นสิ่งที่แปลกประหลาด โดยหลักดังกล่าวถือเป็นหลักที่ศาลและนักนิติศาสตร์เห็นพ้องกันว่าเป็นหลักทั่วไปที่ใช้บังคับได้ แม้ว่าในประมวลกฎหมายฝรั่งเศสจะไม่มีบทบัญญัติที่ชัดเจนในเรื่องนี้ก็ตาม[9] ณ จุดนี้จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของหลักการรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่นในระบบกฎหมายซีวิลลอว์ ซึ่งมีการยึดถือกันต่อมาจนถึงปัจจุบัน
กล่าวโดยสังเขป หลักการรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่นในประเทศซีวิลลอว์มีวิวัฒนาการเริ่มต้นในประเทศฝรั่งเศส เพื่อแก้ไขปัญหาการวินิจฉัยข้อเท็จจริงขัดแย้งกันของศาลในคดีแพ่งและศาลในคดีอาญาในกรณีที่คดีทั้งสองมีข้อเท็จจริงเกี่ยวพันกันนั่นเอง
ในส่วนของประเทศไทย มีการปรากฏขึ้นของหลักความศักดิ์สิทธิ์แห่งคำพิพากษาตั้งแต่ในสมัยของพระเจ้ามังราย กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนา ซึ่งในสมัยดังกล่าวมีการบัญญัติหลักกฎหมายเอาไว้ว่า ถ้อยคำทั้งหลายอันได้พร้อมเพรียงกันตัดสินตามธรรมโบราณแล้ว ไม่ควรให้ผู้ใดเพิกถอน อย่างไรก็ตาม มีการกำหนดถึงคดีที่พิพากษาไม่ถูกต้องและสมควรถูกเพิกถอนเสียซึ่งมี 8 ประเภทคือ (1) ตัดสินโดยใช้อำนาจอาชญาข่มเหง (2) ตัดสินเพื่อเบียดเบียนเอาตัวลูกเมียท่าน (3) ตัดสินโดยผู้หญิง (4) ตัดสินในเวลากลางคืน (5) ตัดสินที่บ้านของผู้ตัดสินคดีความ (6) ตัดสินในที่รโหฐาน (7) ตัดสินโดยผู้ที่เป็นศัตรูกับคู่ความ (8) ตัดสินโดยนายของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง[10] นอกจากนี้ ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา กฎหมายตราสามดวงก็มีบทบัญญัติที่แสดงให้เห็นความมีอยู่ของหลักความศักดิ์สิทธิ์ของคำพิพากษาเช่นกัน กล่าวคือในกฎหมายอาญาหลวงบทที่ 127 ห้ามมิให้มีการกล่าวอ้างคำพิพากษาที่ได้ตัดสินโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วว่าเป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบ มิเช่นนั้นจะต้องได้รับโทษ รวมถึงในกฎหมายลักษณะรับฟ้องบทที่ 7 ก็ได้บัญญัติห้ามไม่ให้มีการฟ้องร้องในเรื่องที่ได้มีการพิจารณาพิพากษาคดีไปแล้ว โดยให้ถือว่าตามการพิจารณาพิพากษาที่ได้ทำเฉพาะในคดีแรกเท่านั้น หากใครฝ่าฝืนย่อมถูกลงโทษปรับ[11] หลังจากนั้น ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีบทบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับหลักความศักดิ์สิทธิ์ของคำพิพากษาเอาไว้โดยตรงในพระราชบัญญัติกระบวนพิจารณาความแห่ง ร.ศ.115 โดยมีใจความห้ามไม่ให้มีการรื้อร้องฟ้องคดีกันอีกหากคดีนั้นได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว หรือมีการยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว[12] หลักเกณฑ์ในอดีตเหล่านี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าหลักความศักดิ์สิทธิ์ของคำพิพากษาในประเทศไทย ซึ่งเป็นรากฐานของหลักการรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่น มีพัฒนาการมาตั้งแต่ในยุคโบราณเลยทีเดียว
สำหรับแนวคิดเกี่ยวกับการรับฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอื่นนั้น มาปรากฏชัดเจนในสมัยที่ประเทศไทยรับเอาแนวคิดในการแบ่งแยกคดีแพ่งกับคดีอาญาออกจากกัน รวมถึงแนวคิดในการจัดทำประมวลกฎหมาย (Codification) มาจากประเทศตะวันตก กล่าวคือเมื่อครั้งที่มีการจัดทำกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 นายยอร์ช ปาดูซ์ (Georges Padoux) ซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศสและมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการยกร่างประมวลกฎหมายอาญาฉบับแรกของประเทศไทย[13] ได้พยายามยกร่างกฎหมายลักษณะอาญาให้มีความคล้ายคลึงกับในประเทศภาคพื้นทวีปยุโรปมากที่สุด โดยอาศัยเอาประมวลกฎหมายของประเทศฝรั่งเศส อิตาลี และฮอลันดา เป็นต้นแบบในการยกร่าง[14]และมีการนำเอาหลักการรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่นมาใช้ในประเทศไทยด้วย ตามที่ปรากฏอยู่ในกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 มาตรา 90 ซึ่งมีใจความว่า ในการที่จะพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ซึ่งว่ากล่าวเป็นทางอาญาอยู่อีกส่วนหนึ่งนั้น ท่านว่าผู้พิพากษาส่วนแพ่งต้องถือเอาความเท็จความจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาส่วนอาญาเป็นหลักแก่การพิพากษาส่วนแพ่ง อนึ่ง หลักการที่กล่าวมานี้ ประเทศไทยรับเอาแนวคิดมาจากประเทศฝรั่งเศสโดยตรง เพื่อป้องกันไม่ให้คำพิพากษาในคดีแพ่งและคดีอาญาที่มีข้อเท็จจริงเกี่ยวพันกัน มีการวินิจฉัยข้อเท็จจริงขัดแย้งกัน และหลักการดังกล่าวก็ดำรงอยู่และมีอิทธิพลสืบเนื่องมาถึงปัจจุบันนี้ ดังที่ปรากฏในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 นั่นเอง[15]
กล่าวโดยสรุป ในสมัยโบราณของประเทศไทยมีการปรากฏขึ้นของหลักความศักดิ์สิทธิ์แห่งคำพิพากษาเช่นเดียวกับในประเทศอังกฤษ ซึ่งถือเป็นรากฐานของหลักการรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่น อย่างไรก็ตามในช่วงที่มีการปฏิรูปกฎหมายและจัดทำประมวลกฎหมายฉบับแรกของประเทศไทย ได้มีการนำเอาหลักการรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่นมาบัญญัติเอาไว้ในกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 อย่างชัดเจน และหลักการดังกล่าวก็ยังคงมีอิทธิพลและดำรงอยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจนถึงปัจจุบัน
2. ลักษณะของการรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่นในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรม (The Application of Issue Estoppel)
ในหัวข้อนี้จะอธิบายว่าการรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่น ถูกนำมาใช้ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรมอย่างไร แต่เนื่องจากประเด็นเรื่องการรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่นนั้น มีลักษณะที่ค่อนข้างซับซ้อนและยากต่อการทำความเข้าใจ ผู้เขียนจึงจำเป็นต้องกล่าวย้อนกลับไปถึงแนวคิดหรือหลักกฎหมายที่เป็นพื้นฐานของการรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่น ซึ่งก็คือหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดี (Issue Estoppel) โดยอาจกล่าวได้ว่า การรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่นถือเป็นผลของหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดีโดยแท้ เลยทีเดียว
หลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดี ถือเป็นสาขาหนึ่งของหลักกฎหมายปิดปากโดยคำพิพากษา (Estoppel by Judgment) โดยหลักกฎหมายปิดปากโดยคำพิพากษานี้ จะทำหน้าที่ในการรักษาความศักดิ์สิทธิ์และความมั่นคงของคำพิพากษาที่ถูกวินิจฉัยโดยศาลที่มีอำนาจแล้ว ทั้งนี้ ในการทำหน้าที่รักษาความศักดิ์สิทธิ์ของคำพิพากษานั้น หลักกฎหมายปิดปากโดยคำพิพากษาจะทำหน้าที่ใน 2 ลักษณะ กล่าวคือ ในลักษณะแรกจะป้องกันไม่ให้มีการนำเอาคดีที่มีมูลกรณีเดียวกันหรือกรรมเดียวกัน (Same Cause of Action) มาพิจารณาใหม่ และในลักษณะที่สองจะป้องกันไม่ให้ศาลวินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดีสองคดีที่มีข้อเท็จจริงเกี่ยวพันกัน (Same Issue) ออกมาขัดแย้งกัน หากปราศจากซึ่งหลักกฎหมายปิดปากโดยคำพิพากษาเสียแล้ว ก็จะสุ่มเสี่ยงอย่างมากต่อการที่ศาลจะวินิจฉัยข้อเท็จจริงเดียวกันขัดแย้งกันเอง กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า หลักกฎหมายปิดปากโดยคำพิพากษา (Estoppel by Judgment) แบ่งออกเป็น 2 สาขาตามลักษณะของการทำงานคือ[16] หลักกฎหมายปิดปากโดยเหตุแห่งการฟ้องคดี (Estoppel by Cause of Action) และ หลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดี (Issue Estoppel) นั่นเอง
ในระบบกฎหมายพยานหลักฐานสากลจะมีการแบ่งแยกหลักกฎหมายปิดปากโดยคำพิพากษา (Estoppel by Judgment) ออกเป็น 2 ประเภทคือ หลักกฎหมายปิดปากโดยเหตุแห่งฟ้องคดี (Estoppel by Cause of Action) และหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดี (Issue Estoppel) เช่นเดียวกันกับในประเทศไทยก็ปรากฏว่ามีการรับเอาแนวคิดเกี่ยวกับหลักกฎหมายปิดปากโดยคำพิพากษาทั้ง 2 ประเภทมาบัญญัติเอาไว้ทั้งในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพียงแต่ไม่ได้มีการบัญญัติกฎหมายหรืออธิบายให้เห็นกันอย่างชัดเจนว่าหลักกฎหมายปิดปากโดยคำพิพากษาถูกนำไปบัญญัติไว้ในส่วนใดของประมวลกฎหมายบ้างเท่านั้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้ศึกษากฎหมายที่จะต้องสังเกตกันเอาเอง จึงจะพบหลักกฎหมายที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังบทมาตราต่างๆได้ อนึ่ง สำหรับหลักกฎหมายปิดปากโดยคำพิพากษาทั้ง 2 ประเภทนั้น สามารถอธิบายในรายละเอียดได้ดังต่อไปนี้
2.1 หลักกฎหมายปิดปากโดยเหตุแห่งการฟ้องคดี (Estoppel by Cause of Action) เป็นกฎหมายปิดปากในลักษณะที่ห้ามไม่ให้คู่ความแห่งคดีที่ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว นำคดีที่มีมูลกรณีเดียวกันนั้นไปฟ้องร้องเป็นคดีความขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งโดยอาศัยมูลเหตุอย่างเดียวกัน (Same Cause of Action) ซึ่งผลของหลักกฎหมายปิดปากโดยเหตุแห่งการฟ้องร้องคดีนี้ จะทำให้คู่ความเดิมที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดไปแล้ว ไม่มีอำนาจฟ้องร้องคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง กล่าวอีกนัยหนึ่ง หากจำเลยได้ถูกศาลพิพากษามาก่อนหน้าครั้งหนึ่งแล้ว ไม่ว่าจะเป็นคำพิพากษาให้ลงโทษ (Prior Conviction) หรือคำพิพากษาให้ยกฟ้อง (Prior Acquittal) จำเลยก็ชอบที่จะยกข้อต่อสู้ว่าตนถูกศาลพิพากษาลงโทษ (Autrefois Convict) หรือตนถูกศาลพิพากษายกฟ้อง (Autrefois Acquit) มาครั้งหนึ่งแล้ว และหากศาลพบว่าความจริงเป็นไปตามคำกล่าวอ้างของจำเลย ศาลก็ชอบที่จะยกฟ้องคดีหลังนั้นเสีย[17] เมื่อพิจารณาลักษณะของหลักกฎหมายปิดปากโดยเหตุแห่งการฟ้องคดีแล้ว จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าหลักกฎหมายดังกล่าวมีลักษณะตรงกับบทบัญญัติเรื่องการฟ้องซ้ำที่ปรากฏอยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148[18] และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4)[19] ของประเทศไทยนั่นเอง
2.2 หลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดี (Issue Estoppel) ถือเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับหลักการรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่นทั้งนี้ หลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดีนี้ มีลักษณะขยายขอบเขตให้กว้างกว่ากฎหมายปิดปากโดยเหตุแห่งการฟ้องคดี (Cause of Action Estoppel) ตามที่ได้กล่าวมาในหัวข้อก่อนหน้า กล่าวคือ แม้คดีก่อนหน้าและคดีที่กำลังพิจารณาอยู่จะมีมูลแห่งคดีที่แตกต่างกันก็ตาม (Different Claim) แต่ถ้าหากคดีทั้งสองมีประเด็นแห่งคดีที่ต้องพิจารณาแม้เพียงประเด็นใดประเด็นหนึ่งที่เหมือนกันและมีคู่ความเดียวกัน (Same Parties) ศาลที่กำลังพิจารณาคดีอยู่ในภายหลังจำเป็นจะต้องถือข้อเท็จจริงเป็นยุติตามที่ศาลในคดีแรกได้วินิจฉัยเอาไว้เป็นที่สุดแล้วเท่านั้น ตามหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดี (Issue Estoppel) ศาลจะรับฟังหรืออนุญาตให้คู่ความนำพยานหลักฐานอื่นเข้าสืบเพื่อรับฟังข้อเท็จจริงเป็นประการอื่นนอกเหนือจากที่ปรากฏในคดีแรกไม่ได้โดยเด็ดขาดเพราะหากศาลปล่อยให้มีการดำเนินคดีซ้ำสองในข้อเท็จจริงเดียวกัน ทั้งๆที่คู่ความต่างฝ่ายต่างมีโอกาสต่อสู้คดีและนำเสนอพยานหลักฐานกันอย่างเต็มที่ (Full Opportunity to Contest) ในคดีแรกแล้ว ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรมอย่างยิ่ง[20] อีกทั้งยังอาจนำมาซึ่งการวินิจฉัยข้อเท็จจริงของศาลทั้งสองคดีที่ขัดแย้งกันได้ และสำหรับในประเทศไทย ก็มีการนำเอาหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดี (Issue Estoppel) มาบัญญัติเอาไว้เช่นกัน ดังที่ปรากฏอย่างชัดเจนในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145[21] และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46[22]
จะเห็นได้ว่าหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดี (Issue Estoppel) มีลักษณะที่กว้างกว่าหลักกฎหมายปิดปากโดยเหตุแห่งการฟ้องคดี (Estoppel by Cause of Action) อย่างชัดเจน ด้วยเหตุที่หลักกฎหมายปิดปากโดยเหตุแห่งการฟ้องคดีจะห้ามนำคดีมาฟ้องศาลเฉพาะกรณีที่มูลแห่งคดีของทั้งสองคดีเหมือนกัน (Same Claim/Cause of Action) เท่านั้น ในขณะที่หลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดี (Issue Estoppel) มุ่งพิจารณาที่ประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีเป็นหลักสำคัญ แม้เหตุแห่งการฟ้องคดีของทั้งสองคดีจะเป็นคนละเหตุกัน (Different Claim/Cause of Action) อันทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องเพราะหลุดพ้นจากข้อจำกัดเรื่องการฟ้องซ้ำตามหลักกฎหมายปิดปากโดยเหตุแห่งการฟ้องคดีก็ตาม แต่กรณีก็จะต้องด้วยบทตัดสำนวนโดยประเด็นแห่งคดี (Issue Estoppel) อยู่นั่นเอง ทำให้ศาลที่พิจารณาคดีไม่สามารถรับฟังข้อเท็จจริงเป็นประการอื่นได้ เพราะจะต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีก่อนหน้าที่ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงที่เกี่ยวพันกันเอาไว้แล้วเท่านั้น
ที่กล่าวมาในหัวข้อนี้คือ ลักษณะของการรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่นในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรม ซึ่งมีพื้นฐานสำคัญมาจากหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดี และในหัวข้อนี้ ผู้เขียนก็ได้หยิบยกนำเอาหลักกฎหมายปิดปากโดยคำพิพากษา (Estoppel by Judgment) มาอธิบายด้วย ในฐานะที่เป็นหลักกฎหมายอันเป็นพื้นฐานของหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดีอีกต่อหนึ่ง เพื่อให้ผู้ศึกษาสามารถเข้าใจหลักการรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่นได้อย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น ในหัวข้อถัดไปจะนำศึกษาถึงการนำเอาหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดีไปใช้ในคดีแพ่ง เพื่อพิจารณาว่าศาลในคดีแพ่งจะต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลคดีอื่นหรือไม่? อย่างไร? พร้อมทั้งวิเคราะห์ความเหมาะสมของหลักการดังกล่าวด้วย
3. หลักการรับฟังข้อเท็จจริงในคดีแพ่งตามคำพิพากษาคดีอื่น (The Application of Issue Estoppel in a Civil Litigation)
เราได้ทราบถึงวิวัฒนาการและลักษณะของการนำเอาหลักการรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่น หรือหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดี (Issue Estoppel) มาใช้ในการพิจารณาคดีของศาลไปแล้วในหัวข้อก่อนหน้า ในหัวข้อนี้จะขอนำเสนอเรื่องการนำเอาหลักการรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่นมาใช้ในคดีแพ่ง เพื่อพิจารณาว่าศาลที่พิจารณาคดีแพ่งจำเป็นจะต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลคดีอื่นที่มีข้อเท็จจริงเกี่ยวพันกันหรือไม่ ซึ่งจากการศึกษาในเบื้องต้นพบว่า โดยทั่วไปแล้ว หากปรากฏว่าคดีแพ่งที่ศาลกำลังพิจารณาอยู่มีคู่ความและประเด็นแห่งคดีเดียวกัน (Same Parties and Same Issue) กับคดีอื่นที่ศาลได้มีวินิจฉัยข้อเท็จจริงเอาไว้แล้ว ไม่ว่าคดีอื่นจะเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญาก็ตามที ศาลในคดีแพ่งก็จะต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอื่นทันที อนึ่ง ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงการรับฟังข้อเท็จจริงในคดีแพ่งตามคำพิพากษาของคดีแพ่งอื่น และการรับฟังข้อเท็จจริงในคดีแพ่งตามคำพิพากษาของคดีอาญาในประเทศไทยเสียก่อน จากนั้นจะนำเสนอถึงการรับฟังข้อเท็จจริงในคดีแพ่งตามคำพิพากษาคดีอื่นในต่างประเทศ และวิเคราะห์ถึงความเหมาะสมของการรับฟังข้อเท็จจริงในคดีแพ่งตามคำพิพากษาคดีอื่นต่อไป ดังรายละเอียดต่อไปนี้
3.1 การรับฟังข้อเท็จจริงในคดีแพ่งตามคำพิพากษาคดีอื่นในประเทศไทย
ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลแพ่งนั้น ศาลจะต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงอยู่บนพื้นฐานของพยานหลักฐานที่คู่ความได้นำสืบเข้ามาในคดีเป็นสำคัญ ดังที่บัญญัติเอาไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84[23] อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่คดีแพ่งดังกล่าวมีข้อเท็จจริงเกี่ยวพันกันกับข้อเท็จจริงในคดีแพ่งอื่นและมีคู่ความเดียวกัน (Same Parties and Same Issue) ถ้าหากศาลในคดีก่อนได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงเอาไว้อย่างไรแล้ว ศาลแพ่งที่คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาย่อมจะต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีแพ่งก่อนหน้าอย่างเคร่งครัดในลักษณะของข้อเท็จจริงที่ไม่อาจโต้แย้งได้ (Undisputable Facts) เลยทีเดียว โดยบทบัญญัติที่ใช้ในการอ้างอิงหลักการนี้ก็คือบทบัญญัติเรื่องคำพิพากษาผูกพันคู่ความ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 นั่นเอง ซึ่งบัญญัติเอาไว้ว่า
มาตรา 145 ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการอุทธรณ์ฎีกาและการพิจารณาใหม่ คำพิพากษาหรือคำสั่งใดๆให้ถือว่าผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษาหรือมีคำสั่งนับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษาหรือมีคำสั่งจนถึงวันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสีย ถ้าหากมี…..
แม้บทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 จะไม่ได้บัญญัติให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าศาลในคดีแพ่งจะต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีแพ่งอื่น แต่จากประโยคที่ว่า "…..คำพิพากษาหรือคำสั่งใดๆให้ถือว่าผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาล….." ย่อมทำให้เข้าใจได้ว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งที่ให้ถือว่าผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลนั้น ย่อมหมายถึงกรณีที่คำพิพากษาคดีแพ่งก่อนหน้าผูกพันห้ามไม่ให้คู่ความในคดีแพ่งที่กำลังพิจารณาอยู่นำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงแห่งคดีเป็นอย่างอื่นด้วย ซึ่งเป็นประโยชน์ในแง่ที่ศาลสามารถมีคำสั่งงดสืบพยาน โดยไม่ต้องมีการนำพยานหลักฐานเข้าสืบให้เสียเวลาอีกต่อไป[24] ยกตัวอย่างดังที่ปรากฏในคำพิพากษาฎีกาที่ 6455/2551 และคำพิพากษาฎีกาที่ 3015/2526 ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 6455/2551 คดีก่อนจำเลยฟ้องโจทก์ขอใช้ทางโดยระบุว่าเป็นทางจำเป็น คดีถึงที่สุดแล้วโดยศาลฟังว่าเป็นทางจำเป็น คำพิพากษาดังกล่าวจึงผูกพันโจทก์และจำเลยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงไม่อาจกล่าวอ้างในภายหลังว่าเป็นทางภาระจำยอม คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยให้ชำระค่าทดแทนการใช้ทางจำเป็นแก่โจทก์ การที่จำเลยฟ้องแย้งว่าเป็นทางภาระจำยอม โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลย ขอให้ยกฟ้องและพิพากษาว่าเป็นทางภาระจำยอม จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ทั้งต้องฟังว่าที่ดินของโจทก์เป็นทางจำเป็น โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเงินค่าทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 คำพิพากษาฎีกาฉบับนี้ได้วินิจฉัยเอาไว้อย่างชัดเจนว่า ศาลแพ่งในคดีก่อนได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงเอาไว้อย่างชัดเจนแล้วว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็น จำเลยจึงไม่อาจกล่าวอ้างในคดีแพ่งภายหลังได้อีกว่าทางพิพาทดังกล่าวเป็นทางภาระจำยอม ศาลต้องฟังว่าทางพิพาทดังกล่าวเป็นทางจำเป็นเท่านั้น
คำพิพากษาฎีกาที่ 3015/2526 ในคดีก่อนศาลมีคำพิพากษาคดีถึงที่สุดว่าโจทก์เป็นเจ้าของตึกแถวพิพาทซึ่งจำเลยเป็นผู้เช่า คำพิพากษาในคดีดังกล่าวจึงผูกพันโจทก์จำเลยในคดีนี้เพราะเป็นคู่ความรายเดียวกันดังนั้นข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นเจ้าของตึกแถวพิพาทซึ่งจำเลยเป็นผู้เช่า ศาลจึงชอบที่จะมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยในประเด็นข้อนี้ คำพิพากษาฎีกาฉบับนี้ได้วินิจฉัยเอาไว้ชัดเจนเช่นกันว่า เมื่อศาลในคดีก่อนได้วินิจฉัยเอาไว้แล้วว่าโจทก์เป็นเจ้าของตึกพิพาท และจำเลยเป็นผู้เช่า แม้จำเลยจะนำคดีไปฟ้องเป็นคดีแพ่งอื่นอีกก็ตาม ศาลคดีแพ่งอื่นก็ต้องรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่าโจทก์เป็นเจ้าของตึกพิพาท และจำเลยเป็นผู้เช่า ศาลคดีแพ่งอื่นจะวินิจฉัยข้อเท็จจริงแตกต่างออกไปไม่ได้
จากตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาทั้งสองฉบับข้างต้นนั้น ทำให้ทราบว่าศาลในคดีแพ่งถูกผูกพันให้ต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงเป็นยุติตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีแพ่งก่อนหน้า หากปรากฏว่าคดีแพ่งทั้งสองคดีมีข้อเท็จจริงที่ต้องวินิจฉัยเกี่ยวพันกัน มีคู่ความเดียวกัน และศาลในคดีแพ่งก่อนหน้าได้มีคำวินิจฉัยเอาไว้ถึงที่สุดแล้วครั้งหนึ่ง อนึ่ง มีข้อพิจารณาว่า การที่ศาลในคดีแพ่งจะต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีแพ่งก่อนหน้านั้น คดีแพ่งดังกล่าวจะต้องหลุดพ้นจากข้อจำกัดเรื่องการฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 เสียก่อน มิฉะนั้นศาลย่อมพิพากษายกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องตั้งแต่แรกไปแล้ว
ที่กล่าวมาข้างต้นทำให้ได้ข้อสรุปประการหนึ่งว่าศาลในคดีแพ่งจะต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีแพ่งก่อนหน้า ถ้าหากปรากฏว่าคดีแพ่งทั้งสองคดีมีข้อเท็จจริงที่ต้องวินิจฉัยเกี่ยวพันกันและมีคู่ความเดียวกัน (Same Parties and Same Issue) ในประเด็นต่อมาจะมุ่งพิจารณาว่า ถ้าหากคำพิพากษาที่ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงเดียวกันและมีคู่ความเดียวกันกับคดีแพ่งที่กำลังพิจารณาคดีอยู่เป็นคำพิพากษาของศาลในคดีอาญา ศาลที่กำลังพิจารณาคดีแพ่งจะต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาหรือไม่
ต่อประเด็นปัญหานี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ได้บัญญัติเอาไว้ว่า
ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดี
ส่วนอาญา ซึ่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 นี้จะใช้บังคับแก่กรณีที่คดีแพ่งที่กำลังพิจารณาคดีอยู่ มีลักษณะเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาและศาลได้มีคำพิพากษาวินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดีอาญาเอาไว้จนถึงที่สุดก่อนคดีแพ่งเท่านั้น หากปรากฏว่าเงื่อนไขในการใช้บังคับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ครบถ้วน ศาลในคดีแพ่งก็จะต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาทันที ตามหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดี (Issue Estoppel) นั่นเอง
สำหรับหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาว่าศาลในคดีแพ่งจะต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาหรือไม่นั้น มีข้อพิจารณาดังต่อไปนี้คือ[25]
1. ต้องเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา หมายถึง ต้องเป็นคดีแพ่งที่มีมูลมาจากการกระทำความผิดอาญา เช่น จำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ย่อมก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้เสียหายที่จะฟ้องคดีแพ่งให้จำเลยคืนทรัพย์สินหรือใช้ราคาทรัพย์ที่สูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิด หรือโจทก์เคยฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาข้อหาหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 ศาลพิพากษาลงโทษจำเลย ข้อเท็จจริงในคดีอาญารับฟังว่าจำเลยใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามอันเป็นหมิ่นประมาทโจทก์โดยการโฆษณาด้วยเอกสาร โจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้เป็นคดีแพ่งเรียกค่าเสียหาย จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา คำพิพากษาส่วนอาญาย่อมผูกพันจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 46 จำเลยไม่อาจโต้เถียงข้อเท็จจริงให้รับฟังเป็นอย่างอื่นได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 423 (คำพิพากษาฎีกาที่ 4595/2543 และ 905/2542)
2. คำพิพากษาคดีอาญาต้องถึงที่สุด ทั้งนี้จะเป็นคำพิพากษาถึงที่สุดในชั้นไต่สวนมูลฟ้องก็ได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 1948/2520) แต่ถ้าคำพิพากษาคดีอาญายังไม่ถึงที่สุดหรือในระหว่างพิจารณา คดีอาญาระงับไปเพราะเหตุจำเลยตาย ก็จะนำข้อเท็จจริงในคดีอาญามาใช้ในคดีแพ่งไม่ได้ เช่น คดีอาญาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยกระทำผิด จำเลยฎีกาและตายระหว่างฎีกาซึ่งทำให้คดีอาญาระงับ จะฟังข้อเท็จจริงที่ศาลพิพากษาไว้มาผูกมัดในคดีแพ่งไม่ได้ ต้องสืบพยานในคดีแพ่งใหม่ (คำพิพากษาฎีกาที่ 1104-1105/2501 และ 623/2529)
3. คู่ความในคดีแพ่งต้องเป็นคู่ความหรือเสมือนเป็นคู่ความในคดีอาญามาก่อน หลักเกณฑ์ข้อนี้เกิดจากคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งคงถือตามหลักทั่วไปที่ว่าคำพิพากษาไม่ผูกพันบุคคลภายนอก เพราะการที่จะฟังข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาให้ผูกพันคู่ความในคดีแพ่ง คู่ความในคดีแพ่งต้องเคยมีโอกาสต่อสู้ในคดีอาญามาก่อน หากไม่เคยมีโอกาสต่อสู้ในคดีอาญามาก่อนเลย ก็ย่อมมีโอกาสที่จะต่อสู้ในคดีแพ่งได้ โดยคำพิพากษาในคดีส่วนอาญาจะไม่ผูกพันคู่ความในคดีแพ่งที่ไม่เคยเป็นคู่ความหรือเสมือนเป็นคู่ความในคดีอาญามาก่อน
4. ข้อเท็จจริงนั้นต้องเป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญา จึงจะมีผลผูกพันในคดีส่วนแพ่งให้ต้องถือเป็นยุติตามนั้นโดยเด็ดขาด หากข้อเท็จจริงอื่นที่ไม่ได้เป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญา แม้คำพิพากษาในคดีส่วนอาญาจะวินิจฉัยไว้ ก็ไม่อาจนำมาผูกพันในคดีส่วนแพ่งให้ต้องถือเป็นยุติตามนั้นโดยเด็ดขาด
เมื่อกรณีเข้าเงื่อนไขตามหลักเกณฑ์ทั้ง 4 ประการตามที่กล่าวมานี้ ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาในคดีอาญาย่อมผูกพันศาลและคู่ความในคดีแพ่งเป็นการเด็ดขาด ศาลไม่จำเป็นต้องนำสืบพยานหลักฐานอีกต่อไป และถึงแม้ศาลจะอนุญาตให้มีการสืบพยานหลักฐาน ศาลก็ไม่มีอำนาจวินิจฉัยข้อเท็จจริงเป็นประการอื่นได้ เพราะถือว่าคำพิพากษาคดีก่อนเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่อาจโต้แย้งได้ (Undisputable Fact as a Result of Estoppel) อนึ่ง แม้จะไม่มีกฎหมายบังคับเอาไว้ให้ศาลในคดีแพ่งจะต้องรอคดีเอาไว้จนกว่าคดีอาญาจะได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติของศาลนั้น ศาลจะรอการพิจารณาคดีแพ่งเอาไว้ก่อนจนกว่าศาลในคดีอาญาจะมีคำพิพากษาแล้ว จึงจะวินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดีแพ่งให้เสร็จตามคดีอาญาไป เพื่อจะไม่ต้องเสียเวลาในการพิจารณาสืบพยานในคดีแพ่งอีกต่อไป
กล่าวโดยสรุป สำหรับหลักการรับฟังข้อเท็จจริงในคดีแพ่งตามคำพิพากษาคดีอื่นของประเทศไทยนั้น หากคำพิพากษาคดีก่อนหน้าเป็นคำพิพากษาคดีแพ่ง ศาลในคดีแพ่งที่กำลังจะวินิจฉัยข้อเท็จจริงจะต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีแพ่งก่อนหน้าเสมอ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 และในกรณีที่คำพิพากษาคดีก่อนหน้าเป็นคดีอาญา ศาลในคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาจะต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดีตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาเสมอ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 นั่นเอง
3.2 การรับฟังข้อเท็จจริงในคดีแพ่งตามคำพิพากษาคดีอื่นในต่างประเทศ
สำหรับในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายแบบคอมมอนลอว์ (Common Law Countries) ล้วนปรากฏว่ามีการนำเอาหลักการรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่น หรือหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดี (Issue Estoppel) มาใช้กับการพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งอย่างชัดเจน โดยในหัวข้อนี้จะขอนำเสนอถึงหลักการรับฟังข้อเท็จจริงในคดีแพ่งตามคำพิพากษาคดีอื่นของประเทศอังกฤษ และประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก เพราะทั้งสองประเทศถือว่ามีพัฒนาการของหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดีมาอย่างยาวนาน ดังรายละเอียดต่อไปนี้
สำหรับประเทศอังกฤษ ในการพิจารณาข้อเท็จจริงของศาลคดีแพ่ง หากปรากฏว่าข้อเท็จจริงเดียวกันนั้นได้เคยมีการวินิจฉัยเอาไว้แล้วโดยคำพิพากษาของศาลในคดีแพ่งก่อนหน้า ศาลจะต้องถือข้อเท็จจริงในคดีที่กำลังพิจารณาอยู่ตามที่ปรากฏในคำพิพากษาของคดีแพ่งก่อนหน้าทันทีตามหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดี (Issue Estoppel) หลักกฎหมายนี้ได้ปรากฏอยู่ในคำพิพากษาของศาลในคดี Marginson v. Blackburn Borough Council โดยศาลในคดีดังกล่าวได้ตัดสินว่า[26] โจทก์ไม่มีสิทธิโต้แย้งข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นได้ เมื่อศาลในคดีแพ่งก่อนหน้าได้ตัดสินเอาไว้แล้วว่าโจทก์มีส่วนประมาทในอุบัติเหตุทางถนน (Contributory Negligence) ข้อเท็จจริงในคดีนี้ย่อมรับฟังเป็นยุติตามนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้ จากคำพิพากษาในคดี Marginson v. Blackburn Borough Council แสดงให้เห็นว่าศาลในประเทศอังกฤษนำเอาหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดีมาใช้ในการพิจารณาคดีแพ่งอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาต่อไปกลับพบว่า ศาลในประเทศอังกฤษจะนำเอาหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดีมาปรับใช้เฉพาะกรณีที่คดีทั้งสองเป็นคดีแพ่งเท่านั้น ถ้าหากคดีที่กำลังพิจารณาอยู่เป็นคดีแพ่ง แต่คดีที่ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงที่เกี่ยวพันกันเอาไว้ก่อนแล้วนั้นเป็นคดีอาญา ศาลในประเทศอังกฤษกลับไม่นำเอาหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดีมาปรับใช้ กล่าวคือ ศาลในคดีแพ่งก็ไม่จำเป็นต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญานั่นเอง[27] ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามีการแบ่งแยกการดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญาออกจากกันโดยเด็ดขาด ไม่มีการนำเอาข้อเท็จจริงในคำพิพากษาไปใช้ปะปนกันแต่อย่างใด
สำหรับสาเหตุที่ทำให้ศาลคดีแพ่งในประเทศอังกฤษไม่ต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลคดีอาญานั้น ก็ด้วยเหตุที่นักนิติศาสตร์ในประเทศอังกฤษเห็นว่า มาตรฐานการพิสูจน์ของคดีแพ่งและคดีอาญามีความแตกต่างกันอย่างมาก แม้ในคดีอาญาจะมีมาตรฐานการพิสูจน์ในระดับที่ต้องปราศจากข้อสงสัยตามสมควร (Proof Beyond Reasonable Doubt) ซึ่งมากกว่าในคดีแพ่งที่ถือเอาน้ำหนักคำพยานว่าฝ่ายใดสามารถนำสืบได้มีน้ำหนักมากกว่ากัน (Preponderance of Evidence) ก็ตาม แต่ในประเทศอังกฤษเห็นตรงกันว่า คำพิพากษาในคดีอาญาไม่สามารถนำมาใช้รับฟังผูกมัดคดีแพ่ง ทั้งนี้ ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีที่ศาลในคดีอาญายกฟ้อง ไม่ได้หมายความว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องเสมอไป เพราะการที่ไม่สามารถพิสูจน์ความผิดของจำเลยอาจเป็นเพราะมีปัญหาด้านพยานหลักฐานในคดีอาญา ที่เรียกร้องมาตรฐานการพิสูจน์ในระดับสูงสุดจนโจทก์ไม่สามารถนำสืบให้ศาลเห็นจนปราศจากข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยกระทำความผิดจริงได้ แม้จำเลยจะกระทำผิดจริงก็ตามที ด้วยความแตกต่างระหว่างคดีแพ่งและคดีอาญาตามที่กล่าวมาแล้ว ทำให้ศาลในประเทศอังกฤษไม่ยอมรับฟังข้อเท็จจริงในคดีแพ่งตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ยกตัวอย่างเช่นในคดี Hollington v. Hewthorn ซึ่ง Lord Goddard ผู้ตัดสินให้เหตุผลในการไม่รับฟังคำพิพากษาในคดีอาญาในฐานะที่เป็นบทตัดสำนวนในคดีแพ่งว่า[28] คำพิพากษาของคดีอาญาก่อนหน้าที่ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงเอาไว้นั้น มีลักษณะเป็นพยานความเห็นและเป็นพยานบอกเล่าที่ไม่น่าเชื่อถือ จึงไม่อาจรับฟังผูกพันคดีแพ่งได้
สรุปเบื้องต้นสำหรับประเทศอังกฤษได้ว่า ศาลในประเทศอังกฤษจะนำเอาหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดี (Issue Estoppel) มาใช้ในการตัดสำนวนไม่ให้มีการวินิจฉัยข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นนอกเหนือจากที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีก่อนหน้า ก็ต่อเมื่อคำพิพากษาในคดีก่อนหน้าเป็นคำพิพากษาในคดีแพ่งเท่านั้น หากปรากฏว่าคำพิพากษาคดีก่อนหน้าที่ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงเกี่ยวพันกันเอาไว้เป็นคำพิพากษาในคดีอาญา ศาลในคดีแพ่งหามีความจำเป็นต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาไม่
ในส่วนของประเทศสหรัฐอเมริกา มีการนำเอาหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดีมาใช้ในการพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งเช่นกัน โดยจะเรียกชื่อหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดีนี้ว่าหลัก Collateral Estoppel ซึ่งต่างจากในประเทศอังกฤษที่เรียกหลักเดียวกันนี้ว่าหลัก Issue Estoppel โดยในการพิจารณาคดีแพ่งของศาลประเทศสหรัฐอเมริกา หากได้มีคำพิพากษาของศาลที่พิจารณาคดีแพ่งอื่นวินิจฉัยข้อเท็จจริงเดียวกันเอาไว้ก่อนหน้าแล้ว ศาลที่พิจารณาคดีแพ่งในภายหลังก็มีความจำเป็นที่จะต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีแพ่งก่อนหน้าเสมอ ไม่ใช่เพียงรับฟังคำพิพากษาคดีแพ่งก่อนหน้าในฐานะเป็นพยานหลักฐานชิ้นหนึ่งในคดีหลังเท่านั้น ดังที่ปรากฏในคำพิพากษาของ Supreme Court of Missouri ในคดี Oates v. Safeco Insurance Co. of America[29] ซึ่งศาลได้วางหลักเอาไว้ว่าถ้าหากมีองค์ประกอบในการเกิด Collateral Estoppel ครบถ้วนและคู่ความมีสิทธิได้ต่อสู้ในคดีแรกอย่างเต็มที่และยุติธรรมแล้ว ศาลแพ่งในคดีหลังก็จะต้องยึดข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีก่อนหน้าทันที เพื่อป้องกันไม่ให้มีการดำเนินคดีซ้ำซ้อน และไม่ให้การดำเนินคดีอาญาเกิดความสิ้นเปลืองทางเศรษฐกิจขึ้น (Judicial Economy)
ส่วนกรณีที่คำพิพากษาในคดีก่อนเป็นคำพิพากษาในคดีอาญา ในขณะที่คดีที่กำลังพิจารณากันอยู่เป็นคดีแพ่งซึ่งมีประเด็นอย่างเดียวกันนั้น ในอดีต Arkansas Supreme Court ได้เคยวินิจฉัยเอาไว้ในคดี Smith v. Dean (1956)[30] ว่า ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอาญาไม่สามารถนำมาผูกพันข้อเท็จจริงในคดีแพ่งที่พิจารณาในภายหลังได้ รวมถึงไม่สามารถนำมารับฟังในฐานะที่เป็นพยานหลักฐานชิ้นหนึ่งด้วย เพราะถือว่าคำพิพากษาในคดีอาญาเป็นเพียงพยานบอกเล่า (Hearsay) เท่านั้น อีกทั้งมาตรฐานการพิสูจน์ในคดีอาญาและในคดีแพ่งก็มีความแตกต่างกันมาก อย่างไรก็ตาม ในภายหลัง Arkansas Supreme Court ได้มีคำวินิจฉัยที่สำคัญต่อประเด็นนี้ในคดี Zinger v. Terrel (1999)[31] โดยศาลได้วินิจฉัยว่า เมื่อในคดีอาญาได้มีคำพิพากษาว่า Nikki Zinger ได้ฆ่ามารดาของตนเพื่อหวังจะได้รับเงินจากประกันชีวิตของมารดาที่ระบุให้ตนเป็นผู้รับประโยชน์ ดังนั้น ในคดีที่ Nikki Zinger ฟ้องบริษัทประกันเพื่อขอรับเงินนั้น ศาลในคดีแพ่งที่พิจารณาคดีจึงต้องรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามคำพิพากษาในคดีอาญาว่า Nikki Zinger เป็นผู้ฆ่ามารดาของตนจริง จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินตามสัญญาประกันชีวิตในฐานะผู้รับประโยชน์ เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงถือได้ว่าคำพิพากษาของ Arkansas Supreme Court ในคดี Zinger v. Terrel (1999) ได้กลับหลักที่เคยวินิจฉัยเอาไว้ในคดี Smith v. Dean (1956) ดังนั้นหลักในเรื่องนี้จึงมีอยู่ว่า ศาลที่พิจารณาคดีแพ่งจะต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาที่ตัดสินลงโทษจำเลย (Conviction) เพื่อให้การดำเนินคดีระหว่างคู่ความทั้งสองฝ่ายมีจุดสิ้นสุด (Finality of Litigation) และไม่เกิดความสิ้นเปลืองทางเศรษฐกิจ (Judicial Economy)
อนึ่ง มีข้อสังเกตว่าสำหรับประเทศสหรัฐอเมริกา ศาลที่พิจารณาคดีแพ่งจะต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาเฉพาะกรณีที่ศาลในคดีอาญามีคำพิพากษาลงโทษจำเลย (Conviction) เท่านั้น ถ้าหากเป็นกรณีที่ศาลในคดีอาญามีคำพิพากษาว่าจำเลยไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด (Acquittal) ศาลในคดีแพ่งไม่จำเป็นต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาแต่อย่างใด[32] ยกตัวอย่างเช่นในคดี Goldman v. Simpson (2008)[33] ซึ่งตัดสินโดย California Court of Appeal นั้น ถึงแม้ลูกขุนในคดีอาญาก่อนหน้าจะตัดสินว่า O.J.Simpson ไม่มีความผิดฐานฆ่า Nicole Brown Simpson อดีตภรรยาของตนก็ตาม แต่ลูกขุนในคดีแพ่งที่ทายาทตามกฎหมายของผู้ตายเป็นผู้ฟ้อง O.J.Simpson กลับมีความเห็นว่าทายาทตามกฎหมายของผู้ตายได้พิสูจน์ข้อเท็จจริงให้ศาลแพ่งเชื่อว่า O.J.Simpson ได้ฆ่าผู้ตายจริง จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ทายาทตามกฎหมายของผู้ตายด้วย โดย California Court of Appeal ได้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า หากศาลที่พิจารณาคดีอาญาได้ตัดสินว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด (Acquittal) ศาลที่พิจารณาคดีแพ่งก็หาจำเป็นต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาไม่ เนื่องจากมาตรฐานการพิสูจน์ในคดีแพ่งและคดีอาญามีความแตกต่างกัน การที่โจทก์ไม่สามารถพิสูจน์จนปราศจากข้อสงสัย (Beyond Reasonable Doubt) ว่าจำเลยได้กระทำความผิดอาญา ไม่ได้หมายความว่าจำเลยไม่ได้กระทำการอันก่อให้เกิดความรับผิดทางแพ่งแต่อย่างใด ศาลในคดีแพ่งในกรณีนี้จึงไม่ต้องรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามที่ศาลอาญาตัดสินว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด
กล่าวโดยสรุป สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ในการพิจารณาคดีแพ่ง ศาลที่พิจารณาคดีแพ่งจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีแพ่งก่อนหน้า แต่ในกรณีที่คำพิพากษาในคดีก่อนหน้าเป็นคำพิพากษาคดีอาญา ศาลแพ่งจะต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาเฉพาะกรณีที่ศาลในคดีอาญาพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด (Conviction) เท่านั้น ถ้าหากศาลในคดีอาญาตัดสินว่าจำเลยไม่มีความผิด (Acquittal) ย่อมไม่ผูกพันที่ศาลในคดีแพ่งต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามนั้น กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ศาลในคดีแพ่งของประเทศสหรัฐอเมริกาจะนำเอาหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดี (Collateral Estoppel) มาปรับใช้เฉพาะในกรณีที่คำพิพากษาในคดีก่อนหน้าเป็นคำพิพากษาของศาลแพ่ง หากคำพิพากษาของศาลก่อนหน้าเป็นคำพิพากษาของศาลอาญาจะต้องพิจารณาก่อนว่าคำพิพากษาในคดีอาญานั้นมีลักษณะที่เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่จำเลย ถ้าหากศาลในคดีอาญาได้พิพากษาในลักษณะที่เป็นโทษแก่จำเลย ศาลในคดีแพ่งจะนำเอาหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดีมาปรับใช้ทันที แต่ถ้าหากศาลในคดีอาญาได้พิพากษาในลักษณะที่เป็นคุณแก่จำเลย ศาลในคดีแพ่งจะไม่นำเอาหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดีมาปรับใช้อย่างเด็ดขาด ซึ่งในจุดนี้มีความแตกต่างกับศาลแพ่งในประเทศอังกฤษที่จะไม่มีการนำเอาหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดีมาปรับใช้เลย ถ้าหากคำพิพากษาคดีก่อนหน้าเป็นคำพิพากษาในคดีอาญา
จะเห็นได้ว่าในประเทศอังกฤษและประเทศสหรัฐอเมริกาต่างก็มีการนำเอาหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดีมาใช้ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลแพ่งเหมือนกับในประเทศไทย แต่ในกรณีที่คำพิพากษาคดีก่อนหน้าเป็นคำพิพากษาของศาลในคดีอาญา ศาลคดีแพ่งในประเทศอังกฤษและประเทศสหรัฐอเมริกาค่อนข้างจะจำกัดการนำเอาหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดีมาใช้ โดยเฉพาะในประเทศอังกฤษที่ไม่นำเอาข้อเท็จจริงในคดีอาญามาผูกพันคดีแพ่งเลย แตกต่างจากในประเทศไทยที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 บัญญัติอย่างชัดแจ้งให้ศาลในคดีแพ่งต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลในคดีส่วนอาญา ในหัวข้อถัดไปจะวิเคราะห์ถึงความเหมาะสมในการนำเอาหลักการรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่นมาใช้ในคดีแพ่ง
3.3 วิเคราะห์ความเหมาะสมของการรับฟังข้อเท็จจริงในคดีแพ่งตามคำพิพากษาคดีอื่น
หลักการรับฟังข้อเท็จจริงในคดีแพ่งตามคำพิพากษาคดีอื่นนั้น สำหรับประเทศไทยปรากฏอยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ซึ่งจากการวิเคราะห์ถึงความเหมาะสมของการรับฟังข้อเท็จจริงในคดีแพ่งตามคำพิพากษาคดีอื่นแล้วเห็นว่า หลักการดังกล่าวมีความเหมาะสมและสอดคล้องอย่างยิ่งต่อสภาพพื้นฐานของคดีแพ่ง เพราะหากปล่อยให้ศาลสองศาลที่พิจารณาวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่เกี่ยวพันกันต่างตัดสินข้อเท็จจริงไปโดยอิสระ อาจก่อให้เกิดกรณีที่ศาลทั้งสองคดีรับฟังข้อเท็จจริงขัดแย้งกันเองได้ อันนำมาซึ่งความคลางแคลงสงสัยในมาตรฐานการอำนวยความยุติธรรมของศาลในที่สุด แต่การนำเอาหลักกฎหมายปิดปากโดยประเด็นแห่งคดี (Issue Estoppel) มาใช้บังคับดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันย่อมเป็นการป้องกันการรับฟังข้อเท็จจริงขัดแย้งกันของศาลทั้งสองคดีได้ นับเป็นการส่งเสริมให้เกิดการรับฟังข้อเท็จจริงที่เป็นเอกภาพของศาลยุติธรรมประการหนึ่ง นอกจากนี้ การนำเอาหลักการรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่นมาใช้กับคดีแพ่งยังช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการดำเนินคดีซ้ำซ้อนกัน (Re-Litigation) ตามหลักที่ว่าการดำเนินคดีต้องมีที่สิ้นสุด (Finality of Litigation) อีกทั้งยังเป็นการช่วยประหยัดต้นทุนในด้านเวลาและค่าใช้จ่าย (Judicial Economy) ที่ต้องเสียไปจากการดำเนินคดีซ้ำกันสองครั้งในข้อเท็จจริงอย่างเดียวกันด้วย
อย่างไรก็ตาม มีข้อพิจารณาสำหรับการรับฟังข้อเท็จจริงในคดีแพ่งตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาอยู่บ้าง กล่าวคือ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ได้วางหลักให้ศาลที่พิจารณาคดีส่วนแพ่งจะต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ในกรณีเช่นนี้ ไม่ว่าศาลในคดีอาญาจะวินิจฉัยข้อเท็จจริงไปในทางที่เป็นคุณแก่จำเลย (Acquittal) หรือเป็นโทษแก่จำเลย (Conviction) ศาลในคดีแพ่งก็จำเป็นจะต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามนั้น ไม่สามารถรับฟังพยานหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อวินิจฉัยข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นได้เลย ในกรณีที่ศาลในคดีอาญาพิพากษาลงโทษจำเลย ศาลในคดีแพ่งก็ย่อมจะต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามคดีอาญาในลักษณะที่เป็นโทษแก่จำเลย ซึ่งในกรณีอย่างนี้ไม่มีปัญหาอะไร เพราะการที่โจทก์สามารถพิสูจน์จนปราศจากข้อสงสัยตามสมควรในทางอาญาได้ (Prove Beyond Reasonable Doubt) ข้อเท็จจริงดังกล่าวก็น่าจะมีความถูกต้องแน่นอนมากเพียงพอที่จะนำไปใช้กับคดีแพ่งได้แล้ว เพราะมาตรฐานการพิสูจน์ในคดีแพ่งใช้หลักเพียงว่าฝ่ายใดนำสืบพยานหลักฐานได้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากกว่ากันเท่านั้น (Preponderance of Evidence) อย่างไรก็ตาม ปัญหาจะเกิดขึ้นในกรณีที่ศาลในคดีส่วนอาญาได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงในลักษณะที่เป็นคุณแก่จำเลยและพิพากษายกฟ้องปล่อยตัวจำเลยไป (Acquittal) ในกรณีเช่นนี้หากการพิพากษายกฟ้องเกิดขึ้นเพราะโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์จนปราศจากเหตุอันควรสงสัยซึ่งถือเป็นมาตรฐานการพิสูจน์ที่สูงที่สุด ก็ควรจะต้องพิจารณาด้วยว่าบางครั้ง พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบในคดีอาญาอาจเพียงพอต่อการรับฟังว่าจำเลยมีความรับผิดในคดีแพ่งแล้วก็ได้ เพราะมาตรฐานการพิสูจน์ในคดีแพ่งมีน้อยกว่าในคดีอาญาดังที่ได้กล่าวมาแล้ว การที่โจทก์ไม่สามารถพิสูจน์จนปราศจากข้อสงสัย (Beyond Reasonable Doubt) ว่าจำเลยได้กระทำความผิดอาญา ไม่ได้หมายความว่าจำเลยไม่ได้กระทำการอันก่อให้เกิดความรับผิดทางแพ่งแต่อย่างใด ศาลในคดีแพ่งในกรณีนี้จึงไม่ควรต้องถูกผูกพันให้รับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามที่ศาลอาญาตัดสินว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด ศาลในคดีแพ่งควรจะมีดุลพินิจในการวินิจฉัยข้อเท็จจริงแห่งคดีโดยอาศัยจากพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบเข้ามาในสำนวนคดีด้วยตัวเองได้
สรุปก็คือ ในปัจจุบันนี้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ได้นำเอาหลักการรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอื่นมาบัญญัติไว้ เพื่อให้การวินิจฉัยข้อเท็จจริงของศาลยุติธรรมมีความเป็นเอกภาพ อีกทั้งยังป้องกันการดำเนินคดีซ้ำซ้อนกัน (Re-Litigation) อันนำมาซึ่งความสิ้นเปลืองต้นทุนด้านเวลาและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี (Judicial Economy) อีกด้วย ซึ่งนับเป็นเรื่องที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่คำพิพากษาของศาลในคดีอื่นเป็นคำพิพากษาของศาลในคดีอาญา และศาลอาญาได้พิพากษายกฟ้องปล่อยตัวจำเลยไปนั้น (Prior Acquittal) ควรจะให้โอกาสแก่ศาลที่พิจารณาคดีแพ่งในการวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่เกี่ยวพันกันนั้นใหม่ เพราะการที่โจทก์ไม่สามารถพิสูจน์จนปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยได้กระทำความผิดอาญา ไม่ได้หมายความว่าจำเลยไม่ได้กระทำการอันก่อให้เกิดความรับผิดทางแพ่ง ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น และเมื่อเราได้ทราบถึงภาพรวมของหลักการรับฟังข้อเท็จจริงในคดีแพ่งตามคำพิพากษาคดีอื่นแล้ว ในหัวข้อถัดไปจะนำศึกษาถึงการรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาตามคำพิพากษาคดีอื่นบ้างว่ามีลักษณะอย่างไร และมีความเหมาะในการนำมาบังคับใช้หรือไม่
[1] กิตติพงษ์ จิตสว่างโศภิต, ผลผูกพันของคำพิพากษาในคดีแพ่ง : กรณีศึกษาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145, (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชานิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2538), หน้า 11.
[2] เรื่องเดียวกัน
[3] Rupert Cross and Colin Tapper, Cross on Evidence, 7th ed. (London: Butterworths, 1990), p.74.
[4] Peter Barnett, Res Judicata, Estoppel, and Foreign Judgments, (Oxford: Oxford University Press, 2001), pp.135-136.
[5] สุษม ศุภนิตย์, คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด, พิมพ์ครั้งที่ 7, หน้า 3.
[6] พรเพชร วิชิตชลชัย, คำอธิบายกฎหมายลักษณะพยานหลักฐาน, พิมพ์ครั้งที่ 4, หน้า 46.
[7] โสภณ รัตนากร, คำอธิบายพยาน, พิมพ์ครั้งที่ 10, หน้า 237.
[8] Case. Civ., 7 mars 1855, affaire Quertier, D., 1855.l.81, อ้างถึงใน ปกป้อง ศรีสนิท, ศาลที่พิจารณาคดีแพ่งจำต้องถือตามคำพิพากษาคดีอาญาเพียงใด, วารสารนิติศาสตร์ 37, ฉบับที่ 2 (มิถุนายน 2551): 374.
[9] ธีรพันธุ์ รัศมิทัต, กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาฝรั่งเศส ฉบับปี ค.ศ.1958 (2505), หน้า 38-41
[10] ชาคริต ขันนาโพธ์, ผลผูกพันทางกฎหมายของเหตุผลในคำพิพากษาคดีแพ่ง, (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชานิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2555), หน้า 37.
[11] เรื่องเดียวกัน
[12] พระราชบัญญัติกระบวนพิจารณาความแพ่ง ร.ศ.115 มาตรา 6 คดีอันใดซึ่งศาลหนึ่งศาลใดมีอำนาจอันสมควรได้พิจารณา แลพิพากษาเสร็จเด็ดขาดแล้วก็ดี ฤาคู่ความได้ยินยอมกันในระหว่างเปรียบเทียบแล้วก็ดี ผู้หนึ่งผู้ใดจะเอาคดีนั้นมารื้อร้องฟ้องขึ้นอีก ห้ามมิให้ศาลรับไว้พิจารณา เว้นแต่เป็นการอุทธรณ์ตามกฎหมาย
[13] ชาญชัย แสวงศักดิ์ และวรรณชัย บุญบำรุง, สาระน่ารู้เกี่ยวกับการจัดทำประมวลกฎหมายของต่างประเทศและชาวไทย (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์นิติธรรม, 2543), หน้า 129-132.
[14] หยุด แสงอุทัย, การร่างกฎหมายในไทย, ใน หนังสืองานฉลองครบรอบ 50 ปี ของเนติบัณฑิตยสภา, (กรุงเทพมหานคร: สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา, 2507), หน้า 94.
[15] นาย ยอร์ช ปาดูซ์ ผู้ยกร่างกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 ได้กล่าวถึงเหตุผลในการนำเอาหลักการดังกล่าวมาบัญญัติเอาไว้ในกฎหมายของประเทศไทย ตามที่ปรากฏในบันทึกดังนี้[15] …กฎหมายสยามมักมีความเข้าใจสับสนในเรื่องการฟ้องร้องเพื่อเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง (Action Civile) กับการฟ้องร้องคดีอาญา (Action Publique) และในเรื่องโทษปรับกับค่าสินไหมทดแทน เราได้เคยกล่าวถึงกฎหมายลักษณะวิวาทมาแล้วในช่วงต้นๆ ตามกฎหมายดังกล่าว โทษปรับนั้นครึ่งหนึ่งจะตกอยู่แก่พระคลังข้างที่ และอีกครึ่งหนึ่งจะตกได้แก่ผู้เสียหาย การดำเนินคดีเช่นนี้จึงมีลักษณะเป็นการดำเนินคดีที่มีลักษณะผสม (Action Mixte) เพราะการดำเนินคดีเช่นนี้เป็นสิทธิของฝ่ายผู้เสียหายฝ่ายเดียว โดยไม่เกี่ยวข้องกับพนักงานอัยการ แต่การดำเนินคดีศาลอาจกำหนดโทษปรับได้ ซึ่งส่วนหนึ่งจะตกอยู่แก่พระคลังข้างที่ นอกจากนั้นยังมีบทบัญญัติต่างๆที่มีลักษณะสับสนทำนองเดียวกันนี้อีกมากมาย ซึ่งรัฐบาลก็มีความประสงค์ที่จะให้มีการยกเลิกบทบัญญัติเหล่านี้เสีย โดยบัญญัติไว้ในมาตรา 3 แห่งประมวลกฎหมายนี้ แต่ในบทบัญญัติภาคความผิดของประมวลกฎหมายนี้ก็บัญญัติไว้เฉพาะเรื่องโทษต่างๆเท่านั้น เนื่องจากการดำเนินคดีอาญามีแต่การกำหนดเฉพาะโทษปรับไว้ ยังเป็นที่เกรงกันว่าการที่ไม่มีบทบัญญัติในเรื่องการดำเนินคดีเพื่อเรียกค่าเสียหายทางแพ่งและค่าสินไหมทดแทนแล้ว ศาลสยามอาจจะมีแนวโน้มที่จะปฏิเสธการให้ค่าสินไหมทดแทน หรือแม้กระทั่งปฏิเสธที่จะพิจารณาคดีของผู้เสียหายด้วย หรือศาลอาจกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้อย่างไม่มีหลักเกณฑ์ หรือศาลอาจสั่งให้แบ่งเอาจากเงินค่าปรับก็ได้ ดังนั้น จึงได้ร่างบทบัญญัติบางประการที่ไม่ยุ่งยากมากนักเกี่ยวกับการดำเนินคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา บทบัญญัติในส่วนนี้จะได้รับการบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไปในภายหลัง ในการจะพิพากษาคดีส่วนแพ่งจะต้องถือเอาข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญา แต่ในการพิพากษาส่วนแพ่งจะต้องเป็นไปตามหลักในเรื่องความรับผิดทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงว่าในคดีอาญาผู้ต้องหาจะถูกพิพากษาลงโทษหรือพิพากษาให้ปล่อยตัวไปแต่งอย่างใดหรือไม่ ในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนนั้นจะต้องพิจารณาความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง แต่จะต้องไม่เกินกว่าคำขอของโจทก์ด้วย (มาตรา 90 และ 91)…
[16] พงษ์อาจ ตรีกิจวัฒนากุล, กฎหมายปิดปาก, (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชานิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2525), หน้า 39-40.
[17] บัญญัติ สุชีวะ, การรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอื่น, ดุลพาห 13 (เมษายน 2509): 27.
[18] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 คดีที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้วห้ามมิให้ คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน…..
[19] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปดั่งต่อไปนี้…..(4) เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง…..
[20] Rupert Cross and Colin Tapper, Cross on Evidence, 7th Edition (London: Butterworths, 1990), p.78.
[21] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการอุทธรณ์ฎีกาและการพิจารณาใหม่ คำพิพากษาหรือคำสั่งใดๆให้ถือว่าผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษาหรือมีคำสั่งนับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษาหรือมีคำสั่งจนถึงวันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสียถ้าหากมี…..
[22] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา
[23] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84 การวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงในคดีใดจะต้องกระทำโดยอาศัยพยานหลักฐานในสำนวนคดีนั้น เว้นแต่ (1) ข้อเท็จจริงซึ่งรู้กันอยู่ทั่วไป (2) ข้อเท็จจริงซึ่งไม่อาจโต้แย้งได้ หรือ (3) ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับหรือถือว่ารับกันแล้วในศาล
[24] ไพโรจน์ วายุภาพ, คำอธิบายกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 1 บททั่วไป, พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพฯ: พลสยามพริ้นติ้ง, 2555), น.521.
[25] ธานี สิงหนาท, คำอธิบายกฎหมายพยานหลักฐานคดีแพ่งและคดีอาญา, พิมพ์ครั้งที่ 9 (กรุงเทพมหานคร: กรุงสยามพับลิชชิ่ง, 2554), หน้า 12-17.
[26] Marginson v. Blackburn Borough Council (1939) 2KB 426. Cited in Rupert Cross and Colin Tapper, Cross on Evidence, 7th Edition (London: Butterworths, 1990), p.81.
[27] โอสถ โกสิน, คำอธิบายกฎหมายลักษณะพยานหลักฐาน, พิมพ์ครั้งที่ 3, หน้า 299.
[28] บัญญัติ สุชีวะ, การรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอื่น, ดุลพาห 13 (เมษายน 2509): 31-32.
[29]Donald L.Catlett, Charles D.Moreland, Janet M.Thompson, Collateral Estoppel in Criminal Cases: How and Where Does It Apply?, Journal of Missouri Bar (November-December 2006): 3.
[30]Ray B.Schlegel, Zinger v. Terrel: The Collateral Effect of Criminal Judgment in Subsequent Civil Litigation: New Law in Arkansas and the Question Unanswered, Arkansas Law Review (2001): 4-5.
[31] Zinger v. Terrel (1999) cited in Ray B.Schlegel, Zinger v. Terrel: The Collateral Effect of Criminal Judgment in Subsequent Civil Litigation: New Law in Arkansas and the Question Unanswered, Arkansas Law Review (2001).
[32] Ray B.Schlegel, Zinger v. Terrel: The Collateral Effect of Criminal Judgment in Subsequent Civil Litigation: New Law in Arkansas and the Question Unanswered, Arkansas Law Review (2001): 5.
[33] Goldman v. Simpson (2008) cited in Ray B.Schlegel, Zinger v. Terrel: The Collateral Effect of Criminal Judgment in Subsequent Civil Litigation: New Law in Arkansas and the Question Unanswered, Arkansas Law Review (2001).
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1895
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 08:31 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|