ครั้งที่ 328

20 ตุลาคม 2556 20:09 น.

       สำหรับวันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 3 พฤศจิกายน 2556
       
       “ผู้ว่า กทม. อยู่ไหนครับ?”
       
       ช่วงเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่ค่อนข้างหนักหนาสาหัสสำหรับคนกรุงเทพ มหานคร เพราะนอกจากจะมีการชุมนุมทางการเมืองในบางพื้นที่ซึ่งกระทบต่อการสัญจรไปมาอย่างมาก ฝนก็ยังตกลงมาอย่างหนักและต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวัน จนทำให้ถนนบางเส้นไม่สามารถใช้งานได้ การจราจรซึ่งแย่เป็นปกติอยู่แล้ว ก็เลยแย่มากกว่าเดิมเข้าไปอีก
       พูดถึงเรื่องการจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร เข้าใจว่าเราคงได้ยินข่าวมาเหมือนๆ กันเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาว่า สำนักข่าวต่างประเทศแห่งหนึ่งได้ทำการสำรวจเมืองที่มีปัญหาการจราจร ผลการสำรวจออกมาว่า กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่รถติดที่สุดในโลก ซึ่งในเรื่องนี้ หากเรามองอย่างเป็นกลางที่สุดก็คงจะเข้าใจได้ไม่ยากนักว่า เหตุสำคัญที่ทำให้กรุงเทพมหานครมีปัญหาจราจรมีอยู่ 2 เรื่องหลักๆ ด้วยกัน เหตุแรกได้แก่กรณ๊ผู้ใช้รถใช้ถนนไม่เคารพกฎจราจรและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ส่วนเหตุที่สองก็คือเจ้าหน้าที่หย่อนยานไม่บังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่กล่าวนี้ รวมถึงตำรวจและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดครับ
       ภายหลังจากที่มีข่าวออกมาว่ากรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่รถติดที่สุดในโลก ก็เป็นไปตามคาดที่บรรดาเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องต่างออกมาเสนอความเห็นและแนวทางต่างๆ กันมากมาย เริ่มตั้งแต่ข้อเสนอของตำรวจที่จะให้รัฐบาลแก้ปัญหาจราจรในกรุงเทพมหานครด้วยการห้ามนำรถเก่าอายุ 7-10 ปี เข้ามาวิ่งในเขตกรุงเทพมหานคร กระทรวงคมนาคมขอให้ตำรวจช่วยเหลือเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายในส่วนที่ตำรวจมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการจราจร ด้วยการกวดขวนจับกุมผู้ที่ขับรถผิดกฎจราจร จัดระเบียบรถเมล์ รถตู้ต่างๆ ให้ขับขี่ไม่กีดขวางทางจราจร ส่วนใกรณีของการจอดรถในที่ห้ามจอดก็ให้ใช้มาตราการรุนแรง คือการยกรถออกจากพื้นผิวจราจร สำหรับหาบเร่แผงลอยที่กีดขวางการจราจรก็ต้องจัดการให้หมดไป รวมไปถึงความคิดของการตั้งศาลจราจรเพื่อเป็นการตัดสินคดีจราจรเป็นการเฉพาะ
       ข้อเสนอบางข้อเสนอก็มีคนขานรับ บางข้อเสนอก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจนผู้เสนอต้องเงียบไปในที่สุด
       แต่ที่เงียบที่สุดก็คือ กรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ที่รถติดที่สุดในโลกครับ
       ไม่ใช่แค่เรื่องเมืองที่รถติดที่สุดในโลกเพียงเรื่องเดียวที่เกิดขึ้นในช่วงเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ยังมีอีก 2 เรื่่องที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครและส่งผลทำให้รถที่ติดที่สุดในโลกไปแล้ว ติดมากขึ้นกว่าเดิมอีก สาเหตุประการแรกเกิดจากการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มอะไรบ้างก็ไม่ทราบที่มาปักหลักชุมนุมกันอยู่ไม่ไกลจากที่ทำเนียบรัฐบาลเท่าไรนัก ทำให้รัฐบาลต้องประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ปิดถนนไปหลายเส้น อีกสาเหตุหนึ่งก็คือ ฝนตกหนักต่อเนื่องกันหลายวันทำให้น้ำท่วมถนนไปอีกหลายเส้น เรียกได้ว่าเป็นฝันร้ายของคนกรุงเทพกันทีเดียวครับ
       ผมเคยเขียนเรื่องของการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครไปบ้างแล้วในบทบรรณาธิการหลายครั้ง เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ผมได้เล่าให้ฟังข้างต้น จะเห็นได้ว่า ความพยายามที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้นมีที่มาจาก “ส่วนกลาง” ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือกระทรวงคมนาคม ทั้งๆ ที่เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจและหน้าที่ของกรุงเทพมหานครโดยแท้ครับ
       ลองไปดูกฎหมายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับกรุงเทพมหานครกันดีกว่า เริ่มจากรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ได้บัญญัติรับรองความเป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเอาไว้ในมาตรา 281 ว่า รัฐต้องให้ความเป็นอิสระแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำบริการสาธารณะและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและแก้ปัญหาในพื้นที่ ส่วนมาตรา 283 ก็บัญญัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจโดยทั่วไปในการดูแลและจัดทำบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 เองก็บัญญัติอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการขนส่งและวิศวกรรมจราจรไว้ในมาตรา 89 ส่วนพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 มาตรา 18 ประกอบกับมาตรา 16 และมาตรา 17 ก็ให้อำนาจกรุงเทพมหานครในการจัดทำบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น คือการขนส่งมวลชนและวิศวกรรมจราจร
       จากรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรุงเทพมหานครทำให้กรุงเทพมหานครมีอำนาจและหน้าที่ดูแลเรื่องการขนส่งมวลชน ส่วนในเรื่องอื่นๆ เช่นเรื่องการรักษาความปลอดภัย การรักษาความสงบเรียบร้อย ก็เป็นอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานครที่จะดำเนินการจัดทำภายในเขตพื้นที่ของตนเองเช่นเดียวกันครับ
       นอกจากนี้แล้ว เราจะเห็นได้ว่า กรุงเทพมหานครมีสถานะเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่นแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งแตกต่างจาก “จังหวัด” อื่นๆ ที่มีสถานะเป็น “ส่วนภูมิภาค” และ “ส่วนท้องถิ่น” ทับซ้อนกันอยู่ การที่ “ส่วนกลาง” คือ รัฐบาล กระทรวง กรม ต่างๆ ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ไม่ทำให้ “ส่วนกลาง” มีสถานะเป็น “ผู้กำกับดูแล” กรุงเทพมหานคร เพราะในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 หมวด 8 ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกรุงเทพมหานคร ก็ได้กำหนดไว้ในมาตรา 123 แต่เพียงประการเดียวให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจและหน้าที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติราชการของกรุงเทพมหานคร ส่วนความสัมพันธ์อื่นระหว่างรัฐบาลกับกรุงเทพมหานครก็คือ การส่งงบประมาณเป็นเงินอุดหนุนให้กรุงเทพมหานครที่รัฐบาลต้องส่งให้กรุงเทพมหานครโดยตรงตามมาตรา 122
       พูดกันให้ตรงประเด็นก็คือ กรุงเทพมหานครเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่นที่รัฐธรรมนูญรับรองความเป็นอิสระเอาไว้ ทำให้กรุงเทพมหานครมีอำนาจและหน้าที่ในการดำเนินกิจการต่างๆตามที่กฎหมายกำหนดได้ด้วยตัวเอง
       แต่ในความเป็นจริง เราคงเห็นตรงกันว่า การที่ส่วนกลางมาตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร ทำให้กรุงเทพมหานครขาดความเป็นอิสระในการดำเนินกิจการต่างๆ ของตัวเอง
       ปัญหาเรื่องการขนส่งมวลชนอันเป็นหน้าที่สำคัญที่สุดของกรุงเทพมหานคร ดำเนินการโดย “หน่วยงาน” ต่างๆ ของ “ส่วนกลาง” ที่ไม่ใช่กรุงเทพมหานครเป็นผู้ดำเนินการเอง ด้วยเหตุผลความเป็นมาทางประวัติศาสตร์หรืออะไรก็ตาม ก่อนที่รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 จะให้อิสระแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดำเนินกิจการต่างๆด้วยตัวเอง และแม้ภายหลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ใช้บังคับไปแล้วก็ตาม “ส่วนกลาง” ก็ยังคงดำเนินกิจการต่างๆ อันเป็นอำนาจและหน้าที่ของกรุงเทพมหานครอยู่อย่างต่อเนื่องและตลอดมา โดยที่กรุงเทพมหานครไม่เคยลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของตนเองที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายรองรับ เอาง่ายๆ แค่เรื่องเดียวก็คือ รถเมล์ที่วิ่งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครดำเนินการโดยองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ซึ่งเป็นหน่วยงานประเภทรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงคมนาคม ตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 โดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ พ.ศ. 2519 ขสมก.ให้สัมปทานรถประเภทต่างๆจำนวนมาก ทั้งรถเมล์โดยสาร อันเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหารถติดในกรุงเทพมหานครจนกลายเป็นเมืองที่รถติดอันดับ 1 ของโลกไปแล้วในวันนี้ก็เพราะรถเหล่านี้ขับกันอย่างไม่มีวินัยและจอดกีดขวางทางจราจรตลอดเวลาครับ
       เนื่องจากกรุงเทพมหานครถูก “แย่ง” อำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบการจราจรและการขนส่งมวลชนไปเสียหมด จึงทำให้ผู้ว่าราชการไร้ซึ่งอำนาจในการแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพมหานคร คนชุมนุมกีดขวางการจราจรก็ไม่เข้าไปดำเนินการทั้งๆ ที่ตนเองมีอำนาจและหน้าที่ต้องดูแล ต่อมารัฐบาลก็ได้ออกประกาศปิดถนนบางสายในกรุงเทพมหานครตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ส่วนตำรวจพอได้ข่าวกรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่รถติดมากที่สุดในโลกก็ออกมาให้ข่าวว่าจะห้ามรถเก่าเข้ามาวิ่งในกรุงเทพมหานคร รวมความแล้วทุกอย่างที่ทุกคนทำ “ข้ามหัว” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ไปอย่างง่ายดาย โดยที่ไม่มีเสียงใดๆ ออกมาจากปากของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
       ที่ถูกที่ควร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครซึ่งประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครเลือกตั้งเข้ามาทำหน้าที่ ควรที่จะลุกขึ้นมามีปากมีเสียงกับรัฐบาลบ้าง เป็นโอกาสอันดีที่ในเมื่อกรุงเทพมหานครถูกประจานว่าเป็นเมืองที่รถติดมากที่สุดในโลก ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะต้องลุกขึ้นมาทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องให้กลายเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เรียกเอาระบบการจัดการขนส่งมวลชนกลับคืนมาอยู่กับกรุงเทพมหานครทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นรถโดยสาร รถสาธารณะต่างๆ งานทะเบียนรถทุุกประเภท ให้ส่วนกลางสั่งการให้ตำรวจและหน่วยงานของส่วนกลางปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ต้องไม่ลืมว่าผู้อาศัยไม่มีสิทธิดีไปกว่าเจ้าของครับ ส่วนกลางจะต้องให้ความช่วยเหลือและร่วมมือกับกรุงเทพมหานครในการแก้ปัญหาจราจร ไม่ใช่สร้างอุุปสรรคในการแก้ปัญหาการจราจรของกรุงเทพมหานครครับ
       ที่ผ่านมา ไม่ว่าใครจะประจานกรุงเทพมหานครว่าเป็นเมืองที่รถติดมากที่สุดในโลก ไม่ว่ารัฐบาลจะสั่งปิดถนนหลายสายในกรุงเทพมหานคร ไม่ว่าน้ำจะท่วมถนนอีกหลายต่อหลายสาย ไม่ว่าใครต่อใครพากันออกมา “แย่ง” งานจัดการจราจรและการขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานคร เราก็ยังคงไม่ได้ยินเสียงโต้แย้งหรือคำอธิบายจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่พวกเราชาวกรุงเทพมหานครเลือกเข้ามาทำหน้าที่
       
       ชักสงสัยและนะครับว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอยู่ไหน ???
       
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอ 4 บทความด้วยกับ บทความแรกเป็นบทความของ อาจารย์ ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เขียนเรื่อง "การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญในร่างรัฐธรรมนูญผ่านมาตรา 154" บทความที่สองเป็นบทความของอาจารย์ ปีดิเทพ อยู่ยืนยง นักวิจัยประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเดอมงฟอร์ต สหราชอาณาจักร ที่เขียนเรื่อง "ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับมาตรา 78 ร่างพระราชบัญญัติระเบียบการบริหารงานบุคคลในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. .... บทความที่สามเป็นบทความเรื่อง “การขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศ: พิจารณาในมิติของความร่วมมือระหว่างประเทศ (Sex offender register in the context of international cooperation)" เขียนโดย คุณวารีรัตน์ รัตนวิบูลย์สม นักกฎหมายกฤษฎีกาปฏิบัติการ ฝ่ายพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และบทความที่สี่เป็นบทความของคุณชำนาญ จันทร์เรือง เรื่อง "อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่แท้จริง" ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกบทความครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน 2556
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1889
เวลา 28 มีนาคม 2567 20:05 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)