ครั้งที่ 327

6 ตุลาคม 2556 20:08 น.

         สำหรับวันจันทร์ที่ 7 ถึงวันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม 2556
                    
              “เบื่อมาตรา 68”
       
                 เมื่อวันที่ 28 กันยายน ที่ผ่านมา รัฐสภาได้ประชุมร่วมกันเพื่อลงมติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม วาระ 3 ในประเด็นเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภา
                 ก่อนหน้านั้น  มีผู้ไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญและศาลรัฐธรรมนูญก็รับคำร้องขอให้มีการวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวขัดต่อมาตรา 68 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันหรือไม่
                 ภายหลังการลงมติ สมาชิกวุฒิสภาส่วนหนึ่งเห็นว่า นายกรัฐมนตรีควรชะลอการนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่า ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
                 การนำมาตรา 68 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาใช้ “ระงับ” การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาหลายครั้งและก็เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันในวงกว้างทั้งในแวดวงการเมืองและวิชาการ ตัวผมเองก็มีโอกาสให้สัมภาษณ์สื่อต่างๆ ไปไม่น้อยตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้ความสะดวกกับตัวเองที่จะไม่ต้องพูดซ้ำเรื่องเดียวกันอีก จึงขอนำมาเขียนเอาไว้ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ถึงอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมครับ
                เรื่องแรกที่จะนำมากล่าวถึงไว้ ณ ที่นี้ก็คือ กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
       มาตรา 291 แห่งรัฐธรรมนูญได้บัญญัติถึงกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเอาไว้อย่างละเอียด เริ่มตั้งแต่ที่มาของญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ การออกเสียงลงคะแนนในวาระต่างๆ และการลงมติในวาระที่สามขั้นสุดท้าย โดยใน (7) ของมาตรา 291 บัญญัติเอาไว้ “ปิดท้าย” กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่า เมื่อการลงมติเป็นไปตามมาตรา 291 ให้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และให้นำบทบัญญัติมาตรา 150 และมาตรา 151 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งเมื่อพิจารณารายละเอียดที่บัญญัติไว้ในมาตรา 150 ก็จะพบว่าเป็นเรื่องของการที่นายกรัฐมนตรีจะต้องนำร่างพระราชบัญญัติที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายใน 20 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญจากรัฐสภา ส่วนมาตรา 151 ก็เป็นเรื่องพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการยับยั้งร่างพระราชบัญญัติ  ดังนั้น การที่มาตรา 291(7) บัญญัติให้นำเอามาตรา 150 และมาตรา 151 มาใช้บังคับโดยอนุโลมก็หมายความว่า ต้องนำเอากระบวนการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายร่างพระราชบัญญัติมาใช้กับกระบวนการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายร่างรัฐธรรมนูญ และนำเอากระบวนการยับยั้งร่างพระราชบัญญัติโดยพระมหากษัตริย์มาใช้กับกระบวนการยับยั้งร่างรัฐธรรมนูญโดยพระมหากษัตริย์
                  เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมผ่านการลงมติในวาระ 3 ไปแล้วบทบัญญัติในมาตรา 150 ดังกล่าวข้างต้นได้กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายร่างรัฐธรรมนูญที่รัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบแล้วภายใน 20 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญนั้น
       นายกรัฐมนตรีไม่สามารถทำอย่างอื่นได้นอกจากนี้ครับ !!!
       ส่วนประเด็นที่มีผู้อ้างมาตรา 154 แห่งรัฐธรรมนูญมาเป็นฐานเพื่อให้นายกรัฐมนตรีระงับการดำเนินการนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยก่อนนั้น เนื่องจากหมวด 15 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอันเป็นหมวดที่กล่าวถึงกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมิได้กำหนดเรื่องการระงับการดำเนินการนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยเอาไว้แล้วก็ไม่มีบทบัญญัติใดที่ให้นำเอามาตรา 154 มาใช้กับกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ  ดังนั้น จึงไม่สามารถนำเอาบทบัญญัติมาตรา 154   มาปรับใช้หรือนำมาใช้บังคับโดยอนุโลมได้
       เรื่องดังกล่าวคงเป็นข้อกล่าวอ้างของคนบางคนที่ไม่มีความจำเป็นต้องรับฟังหรือปฏิบัติตามใดๆ ทั้งสิ้น
                  ส่วนเรื่องต่อมาที่จะต้องทำความเข้าใจคือ ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจในการตรวจสอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม
                  ทั้งรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ตั้งศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมาเป็นครั้งแรกและรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ที่ยังคงศาลรัฐธรรมนูญในรูปแบบที่รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ได้ตั้งขึ้นเอาไว้ ต่างก็กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลที่มีเขตอำนาจเฉพาะ คือมีอำนาจเฉพาะเท่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ ซึ่งเมื่อพิจารณาอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญตามที่บัญญัติไว้ในมาตราต่างๆ ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ก็จะไม่พบเลยว่ามีมาตราใดที่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปตรวจสอบกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันในหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ก็ไม่ได้กำหนดไว้เช่นกันว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีบทบาทในกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จึงเป็นที่ชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ไม่ได้ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการเข้ามาตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของกระบวนการหรือในส่วนของเนื้อหา แต่อย่างไรก็ตาม   แม้รัฐธรรมนูญจะมิได้ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่จะตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ  แต่เมื่อกลางปี พ.ศ. 2555 ศาลรัฐธรรมนูญได้รับเรื่องที่มีผู้ร้องเรียนว่ากรณีแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เป็นการล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ไว้พิจารณา  การดำเนินการดังกล่าวของศาลรัฐธรรมนูญจึ่งเป็นการสร้างแนวทางปฏิบัติขึ้นมาว่า ประชาชนสามารถใช้สิทธิเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยได้ตามบทบัญญัติมาตรา 68 แห่งรัฐธรรมนูญ คนส่วนหนึ่งก็ไปเข้าใจว่า  มาตรา 68 เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของประชาชนในการเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ  จึงทำให้ในเวลาต่อมามีผู้มายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยอาศัยฐานตามมาตรา 68 แห่งรัฐธรรมนูญกันเป็นจำนวนมาก
                  ในเรื่องข้างต้น ผมได้เคยเขียนเอาไว้แล้วในบทบรรณาธิการครั้งที่ 296 เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2555 สรุปความได้ว่า ปัญหาของการนำมาตรา 68 แห่งรัฐธรรมนูญมาใช้กับทุกกรณีที่อยากใช้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง  ปัญหาของการนำมาตรา 68 มาใช้อยู่ตรงที่นักการเมืองจำนวนหนึ่งเล่นการเมืองอย่างเอาเป็นเอาตายจนลืมนึกถึงระบบและความถูกต้องตามกฎหมาย ประชาชนส่วนหนึ่งเอาความไม่ชอบส่วนตัว เอาความอยากเอาชนะมาปิดหูปิดตาตนเองจนทำให้มองไม่เห็นระบบและความถูกต้องตามกฎหมาย แม้รัฐสภาซึ่งเป็นฝ่ายที่เสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเองก็มีสมาชิกส่วนหนึ่งทิ้งหลักว่าด้วยความเป็นอิสระของฝ่ายนิติบัญญัติโดยไปยอมรับการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ยอมทั้งๆ ที่มาตรา 291 แห่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐสภาในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และเมื่อเริ่มกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 แล้ว รัฐสภาก็จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ใน (1) ถึง (7) ของมาตรา 291 อย่างเคร่งครัด ในเมื่อมาตรา 291 แห่งรัฐธรรมนูญและมาตราอื่นๆในรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ในที่ใดเลยว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเหนือรัฐสภาที่จะเข้าไป “ขัดขวาง” ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมเพื่อให้รัฐสภาหยุดดำเนินการตามมาตรา 291 (1) ถึง (7) แห่งรัฐธรรมนูญได้ หน้าที่ของรัฐสภาจึงมีเพียงประการเดียวคือ ดำเนินการตามมาตรา 291 แห่งรัฐธรรมนูญจนครบถ้วนกระบวนความ ส่วนร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาไปแล้ว ก็เป็นหน้าที่ที่นายกรัฐมนตรีต้องทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายร่างรัฐธรรมนูญภายใน 20 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญนั้น การที่มีผู้ออกมาบอกว่าให้รอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขัดต่อมาตรา 68 แห่งรัฐธรรมนูญ ก่อนค่อยทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย จึงเป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องเพราะว่าหากองค์กรซึ่งไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายไปใช้อำนาจหน้าที่ที่ตนไม่มีหรือที่ไม่ใช่ของตน ผลที่เกิดขึ้นก็ย่อมสูญเปล่าและไม่ผูกพันใครเลย เทียบเคียงได้กับกรณีนี้คือ ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญและไปสั่งการหรือวินิจฉัยในสิ่งที่ตนเองไม่มีอำนาจ การสั่งการหรือการวินิจฉัยก็จะถือเป็นการสั่งการหรือการวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นก็จะไม่มีผลผูกพันตามมาตรา 216 วรรค 5 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลและองค์กรอื่นของรัฐ”
                  ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการนำมาตรา 68 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาใช้จึงอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้เริ่มต้น “รับ” เรื่องที่มีผู้มายื่นโดยตรงโดยไม่ผ่านอัยการสูงสุด
       เมื่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้เริ่มต้น นักการเมืองจำนวนหนึ่งซึ่งไม่สามารถต่อสู้ทางการเมืองได้โดยผ่านกลไกรัฐสภา ผู้คนจำนวนหนึ่งซึ่งไม่สามารถต่อสู้ทางการเมืองได้โดยผ่านกระบวนการชุมนุมซึ่งวันนี้ก็อยู่ในสภาพ “จุดไม่ติด” ผู้คนจำนวนหนึ่งซึ่งพยายามยุให้ทหารทำการรัฐประหารแต่ก็ไม่สำเร็จ ช่องทางเดียวที่จะนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมืองก็คือต้องหันมาใช้กลไกของศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขัดขวางการทำงานของรัฐบาลและรัฐสภา  จึงไม่น่าแปลกที่มีผู้หันมาใช้บริการมาตรา 68 เพื่อล้มรัฐบาลกันมากมาย แต่จะล้มรัฐบาลได้หรือไม่ ก็ต้องคอยติดตามกันต่อไป ส่วนตัวผมเองนั้น อยากจะตะโกนออกมาดังๆ ว่าเบื่อมาตรา 68 เต็มทนแล้ว เมื่อไหร่จะเลิกนำมาใช้แบบผิดๆ กันเสียทีครับ !!!    
            
                 ในสัปดาห์นี้เรามีบทความมานำเสนอ 2 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความของคุณเลิศศักดิ์ ต้นโต ผู้ช่วยนักวิชาการปฏิรูปกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ที่เขียนเรื่อง “สิทธิในการปกครองตนเอง (Self-Determination) ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” บทความที่สอง เป็นบทความเรื่อง “การกด Like เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ” ที่เขียนโดย คุณชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ ผมขอขอบคุณผู้เขียนทั้งสองไว้ ณ ที่นี้ครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม 2556 ครับ
       
                ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์  บรมานันท์
        


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1888
เวลา 20 เมษายน 2567 14:34 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)