|
|
ครั้งที่ 326 22 กันยายน 2556 21:53 น.
|
เสรีภาพทางวิชาการ
เมื่อวันที่ 12 กันยายน ที่ผ่านมา ศูนย์เศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดเสวนาเรื่อง คดีฟ้องร้องนักวิชาการกับบทบาทหน้าที่สาธารณะ โดยการเสวนาดังกล่าวมีเหตุที่มาจากการที่ สำนักงาน กสทช. พร้อมกับกรรมการกิจการโทรคมนาคมจำนวน 4 ราย ได้ฟ้องหมิ่นประมาทนักวิชาการของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) ซึ่งออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับปัญหาการประมูลคลื่น 4 G
ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้เข้าไปร่วมในงานเสวนาดังกล่าว โดยผมเน้นการเป็นการอภิปรายไปในเรื่องของเสรีภาพทางวิชาการของนักวิชาการ ในบทบรรณาธิการครั้งนี้จึงขอนำสิ่งที่ผมได้พูดไปบางส่วนมาเรียบเรียงเอาไว้ครับ
คงต้องเริ่มจากบทบัญญัติเกี่ยวกับเสรีภาพทางวิชาการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญก่อน หากย้อนไปดูในอดีตจะพบว่ามีการบัญญัติรับรอง เสรีภาพทางวิชาการ เอาไว้ในรัฐธรรมนูญหลายฉบับ เช่น มาตรา 42 ของรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2517 บัญญัติว่า เสรีภาพในวิชาการย่อมได้รับการคุ้มครอง ทั้งนี้ ต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของพลเมือง มาตรา 42 ของรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2540 บัญญัติไว้ว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในทางวิชาการ การศึกษาอบรม การเรียนการสอน การวิจัย และการเผยแพร่งานวิจัยตามหลักวิชาการ ย่อมได้รับความคุ้มครอง ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดต่อหน้าที่ของพลเมืองและศีลธรรมอันดีของประชาชน ส่วนมาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็ได้บัญญัติถึงเรื่องเสรีภาพทางวิชาการเอาไว้ด้วยข้อความเดียวกันกับที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540
เสรีภาพทางวิชาการเป็นสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญไทยรับรองมาเป็นเวลานานแล้วครับ !!!
แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากรัฐธรรมนูญมิได้กล่าวถึงความหมายหรือทำให้เข้าใจได้ว่า เสรีภาพทางวิชาการคืออะไร จึงควรต้องทำความเข้าใจในเบื้องต้นก่อนว่า อะไรคือเสรีภาพทางวิชาการ ?
ผมพยายามนึกดูว่า หากจะต้องให้ความหมายของคำว่าเสรีภาพทางวิชาการ(academic freedom)แล้ว จะต้องให้ความหมายลักษณะใด เพราะแม้กระทั่งคำว่า วิชาการ ในปัจจุบันก็ยังเป็นคำที่กว้างเหลือเกินโดยนอกจากจะหมายความถึงการเรียนการสอน การวิจัย การพูดการเขียนและการคิดแล้ว ยังหมายความรวมถึง การให้ความเห็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ ศาสตร์ ที่ผู้ให้ความเห็นมีความรู้มีความเชี่ยวชาญด้วย
นอกจากนี้แล้วการให้ความหมายของคำว่า เสรีภาพทางวิชาการ คงไม่มีความสมบูรณ์หากเราข้ามที่จะไม่กล่าวถึงคำว่า นักวิชาการ
ในปัจจุบัน คำว่า นักวิชาการ นั้นมีความหมายกว้างมาก จากเดิม คำว่านักวิชาการถูกนำมาใช้เรียกบรรดาครูบาอาจารย์ในมหาวิทยาลัยหรือนักวิจัยในสถาบันวิจัยต่างๆ กลายมาเป็นถูกนำมาใช้เรียกบรรดาบุคลาการในภาครัฐจำนวนหนึ่งที่ทำหน้าที่ค้นคว้าหาคำตอบสำหรับงานในหน่วยงาน นอกจากนี้ ก็ยังมีการนำคำว่า นักวิชาการ ไปใช้เรียกกันเองในบรรดาบุคลากรภาคเอกชนหรือหน่วยงานของภาคเอกชนที่ตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ ให้ความเห็น แก่ ลูกค้า ที่ต้องการความเห็นไปประกอบการทำงานของตนอีกด้วย
ในเมื่อมองไปทางไหนก็เจอแต่ นักวิชาการ เต็มเมืองไปหมด การให้ความเห็นของคนที่เรียกตัวเองว่านักวิชาการเหล่านี้จึงถูกโยงไปเข้ากับบทบัญญัติเรื่องเสรีภาพทางวิชาการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ไม่ยากนัก
แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเราจะมี นักวิชาการ เป็นจำนวนมากและมีการใช้เสรีภาพทางวิชาการกันอยู่ตลอด แต่การใช้เสรีภาพทางวิชาการก็มีข้อจำกัดอยู่ในหลายๆ ด้านด้วยกัน
ในมาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่เป็น ฐาน ของการใช้เสรีภาพทางวิชาการก็ได้บัญญัติข้อจำกัดของการใช้เสรีภาพทางวิชาการเอาไว้ว่า ทำได้เท่าที่ไม่ขัดต่อหน้าที่ของพลเมืองและศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งข้อจำกัดดังกล่าวก็ถูกกำหนดไว้ในลักษณะ หลวมๆ ทำให้ยากที่จะชี้ชัดลงไปได้ว่าอะไรคือการให้ความเห็นทางวิชาการที่ขัดต่อหน้าที่ของพลเมืองและศีลธรรมอันดีของประชาชน นอกจากรัฐธรรมนูญแล้วก็ยังมีกฎหมายบางฉบับที่กำหนดกรอบของการใช้เสรีภาพทางวิชาการเอาไว้ เช่น มาตรา 65 ของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดวิจารณ์การพิจารณาหรือการพิพากษาคดีของศาลปกครองโดยสุจริตด้วยวิธีทางวิชาการ ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลหรือดูหมิ่นศาลหรือตุลาการ เป็นต้น
นอกจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่วางกรอบของการใช้เสรีภาพทางวิชาการเอาไว้ ยังมีเรื่องบางเรื่องที่ถูกทำให้กลายเป็นกรอบของการใช้เสรีภาพทางวิชาการไปโดยผลของอะไรก็ไม่ทรบ แต่ก็ทำให้เรื่องเหล่านั้นกลายเป็นเรื่องที่นักวิชาการ พูดไม่ได้ แม้ว่าจะเป็นการใช้เสรีภาพทางวิชาการก็ตาม เช่น กรณีการนำมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้ในลักษณะที่กว้างและไม่มีขอบเขตที่ชัดเจน ทำให้การแสดงความคิดเห็นทางวิชาการในบางเรื่องบางครั้งกลายเป็นการกระทำความผิดตามมาตราดังกล่าวไปด้วย ระบบการเมืองการปกครองเองก็มีส่วน ทำลาย เสรีภาพทางวิชาการในหลายๆ ด้านด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่รัฐบาลต้องการ ปิดหูปิดตา ประชาชน การห้ามเผยแพร่ จำหน่ายหนังสือหรือสิ่งตีพิมพ์ต่างๆ การปิด website การไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่ในการจัดเสวนา รวมไปถึงในช่วงเวลาที่เกิดการรัฐประหาร การกระทำเหล่านั้นล้วนแต่เป็นข้อจำกัดของการใช้เสรีภาพทางวิชาการทั้งสิ้น
หากผมจะต้องตอบคำถามที่ว่า อะไรคือเสรีภาพทางวิชาการ แล้ว ผมคงตอบได้ไม่ละเอียดครบถ้วนนักเพราะตามความเข้าใจของผมว่า เสรีภาพทางวิชาการนอกจากจะหมายความถึงความมีอิสระในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องการเรียนการสอน การแสวงหาความรู้ การวิจัยแล้ว ยังหมายความรวมถึงความมีอิสระในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์ที่ตนมีความรอบรู้ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกในการพูด การอภิปรายหรือการพิมพ์เผยแพร่ความคิดเห็นต่างๆ ผมมองว่าการใช้เสรีภาพทางวิชาการทีดีควรจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขอย่างน้อย 3 ประการด้วยกันคือ ข้อมูลที่นำมาใช้ประกอบการให้ความเห็นต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจน ตรงตามความเป็นจริงและเป็นปัจจุบันที่สุดการให้ความเห็นต้องเป็นไปโดยสุจริต ปราศจากอคติและความลำเอียง การให้ความเห็นต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม ต่อประเทศชาติ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของตัวเองหรือเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของอีกฝ่ายหนึ่ง
หากการใช้เสรีภาพทางวิชาการเป็นไปตามเงื่อนไขดังที่ผมได้กล่าวไปแล้วข้างต้นผมคิดว่าน่าจะอนุโลมได้ว่าเป็นการให้ความเห็นทางวิชาการตามที่รัฐธรรมนูญได้รับรองเอาไว้ครับ
มาสู่ประเด็นสำคัญที่กำลังเป็นที่กล่าวขวัญกันอยู่ในปัจจุบันก็คือ เมื่อมีการให้ความเห็นทางวิชาการออกไปแล้วปรากฏว่าความเห็นทางวิชาการดังกล่าวไปกระทบหรือพาดพิงเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐที่ดำเนินงานเพื่อประโยชน์ของรัฐ ในกรณีนี้เองที่เกิดการฟ้องร้องกันขึ้นซึ่งก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐสมควรทำอย่างนั้นหรือไม่ ในเรื่องนี้ ผมมีความเห็นว่า คงต้องดูเจตนาของผู้ให้ความเห็นเป็นสำคัญ ที่ควรทำก่อนที่จะไปถึงการฟ้องร้องก็คือ เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐที่ถูกนักวิชาการกล่าวถึงควรรับฟังความเห็นเหล่านั้นอย่างใจกว้างและควรต้องระลึกไว้เสมอว่า ผู้วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้เป็นศัตรู หากพบว่าผู้ให้ความเห็นทางวิชาการเข้าใจผิดข้อมูลไม่ถูกต้อง ก็ควรใจกว้างชี้แจงหรือให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับผู้ให้ความเห็น หรือไม่ก็จัดเสวนาโดยเชิญฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดร่วมให้ข้อคิดเห็นซึ่งก็จะทำให้เกิดบรรยากาศของการใช้เสรีภาพทางวิชาการร่วมกันได้
การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐเลือกที่จะฟ้องร้อง ผู้ที่ออกมาให้ความเห็นทางวิชาการนอกจากจะเป็นการกระทำที่อาจกระทบต่อการใช้เสรีภาพทางวิชาการที่รัฐธรรมนูญรับรองเอาไว้แล้ว ในอีกด้านหนึ่งยังดูเหมือนกับว่าเป็นการ ข่มขู่ นักวิชาการให้ไม่กล้าที่จะพูดหรือแสดงความคิดเห็น ซึ่งหากเกิดขึ้นบ่อยๆ ก็จะทำให้นักวิชาการไม่กล้าที่จะวิจารณ์การดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐ ผลที่จะเกิดขึ้นต่อไปก็คือเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐก็จะดำเนินการต่างๆ ที่ต้องทำได้ตามความพึงพอใจของตัวเองโดยไม่มีใครกล้าที่จะออกมาให้ความเห็น
วิธีการที่ทำกันอยู่คงไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้องนักสำหรับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนะครับ !!!
ในสัปดาห์นี้เรามีบทความมานำเสนอสี่บทความด้วยกัน บทความแรก เป็นบทความของ ดร. โภคิน พลกุล ที่เขียนเรื่อง ร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ.
. ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ บทความที่สองเป็นบทความของคุณวรรธน์มน สุกใสและคุณปิยวรรณ ซอน นักกฎหมายกฤษฎีกาปฏิบัติการ สำนักกฎหมายต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่เขียนเรื่อง การบริหารจัดการขยะและของเสียและการรักษาความสะอาดที่สาธารณะของประเทศญี่ปุ่น บทความที่สามเป็นบทความเรื่อง โทษประหารชีวิตไม่ทำให้อาชญากรรมลดลง ที่เขียนโดย คุณชำนาญ จันทร์เรือง และบทความสุดท้ายเป็นบทความของเพื่อนนักวิชาการชาวฝรั่งเศส คุณ Jacques SERBA ที่เขียนเรื่องAu regard du contrôle fiscal, les associations, notamment humanitaires, sont des contribuables comme les autres ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกบทความไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม 2556 ครับ
ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1884
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 06:25 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|