ข้อสังเกตบางประการต่อมติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรณีสั่งยกคำกล่าวหาคดีท่านบุญส่ง กุลบุปผา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

8 กันยายน 2556 20:05 น.

       ตามที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้มีมติเป็นเอกฉันท์ “ยกข้อกล่าวหา” ที่ว่า นายบุญส่ง กุลบุปผา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กระทำความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเห็นว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่มีมูล อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงการวินิจฉัยข้อกฎหมายในคดีดังกล่าวอย่างถี่ถ้วนแล้วจะพบว่ามีข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับการวินิจฉัยความรับผิดทางอาญาของท่านบุญส่ง กุลบุปผา อยู่หลายประการ ดังที่ผู้เขียนจะได้กล่าวในบทความ ดังต่อไปนี้
                                    สำหรับข้อเท็จจริงเบื้องต้นในคดีดังกล่าวสามารถสรุปใจความได้ดังนี้[1] “นายพิชา  วิจิตรศิลป์ ประธานชมรมกฎหมายภิวัฒน์แห่งประเทศไทยและเครือข่ายฯ ได้มีหนังสือกล่าวหา นายบุญส่ง กุลบุปผา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ว่าปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 โดยแต่งตั้งบุตรของตนเป็นเลขานุการ แล้วอนุญาตให้ไปศึกษาต่อต่างประเทศ ไม่ได้มาปฏิบัติงานประจำที่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ยังคงได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนตามปกติ” ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้พิจารณาแล้ว มีมติให้รับเรื่องไว้พิจารณา และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน เพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง โดยมีนายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเป็นประธานอนุกรรมการ
                                    คณะอนุกรรมการไต่สวนได้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วปรากฏข้อเท็จจริงว่า“นายบุญส่ง กุลบุปผา ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2551 ซึ่งหลังจากเข้ารับตำแหน่งแล้วเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2551 นายบุญส่ง กุลบุปผา ได้เสนอให้บุตรชายของตนดำรงตำแหน่งเลขานุการตุลาการศาลรัฐธรรมนูญประจำตัวนายบุญส่ง กุลบุปผา  ศาลรัฐธรรมนูญจึงได้มีคำสั่งที่ 5/2551 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2551 แต่งตั้งให้บุตรชายของ นายบุญส่ง กุลบุปผา ดำรงตำแหน่งเลขานุการตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2551 จากนั้นประมาณ 7 เดือน นายบุญส่ง กุลบุปผา ได้อนุญาตให้บุตรชายลาไปศึกษาต่อต่างประเทศในระดับปริญญาโททางกฎหมาย โดยมีการเดินทางเข้า - ออก ราชอาณาจักรรวม 3 ครั้ง คือ ระหว่างวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 ถึงวันที่ 4 สิงหาคม 2552, ระหว่างวันที่ 27 กันยายน 2552 ถึงวันที่ 22 มีนาคม 2553 และระหว่างวันที่ 2 เมษายน 2553 ถึงวันที่ 21 กันยายน 2553 รวมระยะเวลาประมาณ 1 ปี 6 เดือน โดยในระหว่างนี้ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ยังคงเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนรายเดือนจำนวน 42,200 บาท และเงินประจำตำแหน่ง จำนวน 4,900 บาท ให้แก่บุตรชายของนายบุญส่ง  กุลบุปผา เป็นประจำทุกเดือนตามปกติ”
                                   นายบุญส่ง กุลบุปผา ได้ชี้แจ้งแก้ข้อกล่าวหาดังกล่าวว่า “ตามระเบียบศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยลูกจ้างสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2542 หมวด 4 วัน เวลาทำงาน และการลาหยุดราชการ ข้อ 16 กำหนดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้มีอำนาจอนุญาตสำหรับการลาของลูกจ้างตามสัญญาจ้างซึ่งประจำตำแหน่งผู้นั้น ดังนั้น เมื่อบุตรชายของตนขอลาไปศึกษาต่อต่างประเทศ ตนจึงเป็นผู้มีอำนาจอนุญาตในการลา” ส่วนในประเด็นว่าในระหว่างลาได้รับค่าตอบแทนทุกเดือนหรือไม่นั้น นายบุญส่ง กุลบุปผาได้ชี้แจ้งเพิ่มเติมว่า “ตามระเบียบว่าด้วยการจ่ายค่าจ้างลูกจ้างของส่วนราชการ พ.ศ. 2526 ข้อ 24 กำหนดว่า ส่วนราชการใดมีความจำเป็นที่ต้องสั่งให้ลูกจ้างประจำไปศึกษาในต่างประเทศเกี่ยวกับหน้าที่ราชการที่ลูกจ้างประจำผู้นั้นปฏิบัติอยู่ โดยให้ได้รับค่าจ้างอัตราปกติตลอดระยะเวลาที่ไป ให้อยู่ในดุลพินิจของเจ้ากระทรวงที่ผู้นั้นสังกัดอยู่จะพิจารณาอนุญาต ดังนั้น เมื่อนำมาเทียบเคียงกับเลขานุการประจำตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่แต่งตั้งขึ้นตามระเบียบของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ที่ได้รับอนุมัติให้ลาไปศึกษาต่อต่างประเทศ ก็ย่อมมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเช่นเดียวกัน”
                                   คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติพิจารณาแล้วเห็นว่า “ตามระเบียบศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยการแต่งตั้งเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นระเบียบที่นำมาใช้ในการแต่งตั้งบุตรชายนายบุญส่ง  กุลบุปผา ให้ดำรงตำแหน่งเลขานุการตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนี้ ปรากฏว่ามิได้มีบัญญัติไว้ในข้อใดให้สิทธิเลขานุการตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่จะขออนุญาตลาไปศึกษาในต่างประเทศได้ และก็มิได้มีบัญญัติไว้ในข้อใดให้อำนาจตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่จะอนุญาตให้เลขานุการตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ลาไปศึกษาในต่างประเทศได้เช่นเดียวกัน ส่วนที่นายบุญส่ง กุลบุปผา อ้างว่ามีอำนาจอนุญาตการลาของลูกจ้างตามสัญญาจ้างประจำตำแหน่งของตน ตามระเบียบศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยลูกจ้างสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2542 หมวด 4 ข้อ 16 นั้น ก็ปรากฏว่า ลูกจ้างตามสัญญาจ้างตามระเบียบฯดังกล่าว หมายถึง บุคลากรประเภทที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเป็นพนักงานขับรถยนต์ประจำตำแหน่งเท่านั้น มิได้หมายถึงผู้ดำรงตำแหน่งเลขานุการตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วยแต่อย่างใด และที่อ้างว่าในระหว่างลาไปศึกษาในต่างประเทศ เลขานุการตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีสิทธิได้รับค่าตอบแทน โดยอาศัยระเบียบว่าด้วยการจ่ายค่าจ้างลูกจ้างของส่วนราชการ พ.ศ. 2526 มาเทียบเคียงก็ปรากฏว่า ระเบียบว่าด้วยการจ่ายค่าจ้างลูกจ้างของส่วนราชการ พ.ศ. 2526 ข้อ 24 ดังกล่าว เป็นเรื่องการอนุญาตให้ลูกจ้างประจำของส่วนราชการไปศึกษาในต่างประเทศ แต่เลขานุการตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มิใช่ลูกจ้างประจำของส่วนราชการ จึงไม่สามารถนำระเบียบนี้มาเทียบเคียงใช้บังคับได้ คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของนายบุญส่ง  กุลบุปผา ทั้งหมด  จึงฟังไม่ขึ้น”
                                    “ดังนั้น การที่บุตรชายของนายบุญส่ง กุลบุปผา  ขออนุญาตลาไปศึกษาในต่างประเทศโดยไม่มีระเบียบกำหนดให้สิทธิในการลา และการที่นายบุญส่ง กุลบุปผา ได้อนุญาตให้บุตรชายไปศึกษาในต่างประเทศ โดยไม่มีระเบียบกำหนดให้มีอำนาจอนุญาตได้ จึงเป็นการกระทำโดยพลการ โดยปราศจากอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ่งแม้จะมีผลให้การกระทำของนายบุญส่ง กุลบุปผา  มิใช่การกระทำในฐานะเจ้าพนักงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่เป็นความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการก็ตาม แต่พฤติการณ์ของนายบุญส่ง กุลบุปผา ที่อนุญาตให้บุตรชายลาไปศึกษาในต่างประเทศโดยพลการ โดยมิได้รายงานให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญทราบหรือแจ้งให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญทราบ เป็นเหตุให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญยังคงเบิกค่าตอบแทนรายเดือนและเงินประจำตำแหน่งให้ตามปกติ  จึงเป็นเรื่องความรับผิดในทางแพ่งที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ จะเรียกให้นายบุญส่ง กุลบุปผา ชดใช้เงินคืนต่อไป” คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติจึงมีมติว่า ข้อกล่าวหานายบุญส่ง  กุลบุปผา ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป แต่ให้แจ้งความเห็นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติในเรื่องความรับผิดในทางแพ่งให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญทราบ และพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
                                    เมื่อได้พิจารณามติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติแล้ว ผู้เขียนขออนุญาตวิเคราะห์ถึงการวินิจฉัยความรับผิดทางอาญาและตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการปรับใช้ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าวบางประการ ดังนี้
                                    1. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติพิจารณาข้อเท็จจริงประกอบกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157[2] แล้วเห็นว่า “การกระทำของนายบุญส่ง กุลบุปผา  มิใช่การกระทำในฐานะเจ้าพนักงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่เป็นความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ”
                                    ในเรื่องนี้สามารถอธิบายได้ว่า ผลประโยชน์ที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มุ่งคุ้มครอง (Legal Interests) อยู่ที่ “ความบริสุทธิ์สะอาดแห่งอำนาจรัฐหรือความบริสุทธิ์สะอาดแห่งตำแหน่ง”[3] ดังนั้นการที่บุคคลใดจะต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จะต้องปรากฏว่าบุคคลนั้นเป็นเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติงานซึ่ง “อยู่ในอำนาจหน้าที่” ของตนเท่านั้น กล่าวคือได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติงานที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานคนดังกล่าวเอาไว้ หากเจ้าพนักงานคนใดกระทำการ “นอกอำนาจหน้าที่” ย่อมไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 แต่อย่างใด ซึ่งหลักกฎหมายในข้อนี้ได้มีแนววินิจฉัยของศาลฎีกายืนยันเป็นบรรทัดฐานต่อเนื่องกันมาอย่างยาวนานแล้ว[4] ดังนั้น เมื่อระเบียบศาลรัฐธรรมนูญฯ ไม่ได้ให้อำนาจ นายบุญส่ง กุลบุปผา ในการอนุญาตเลขานุการของตนให้ไปเรียนต่อต่างประเทศได้ อันทำให้การกระทำของนายบุญส่ง กุลบุปผา ดังกล่าวเป็นการกระทำโดยพลการ ปราศจากอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมาย นายบุญส่งจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เพราะไม่ใช่การกระทำที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตน ข้อกฎหมายที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้วินิจฉัยเอาไว้นี้ ข้าพเจ้าเห็นว่ามีความถูกต้องแล้ว
        
                                    2. มีข้อสังเกตว่า พฤติกรรมที่นายบุญส่ง กุลบุปผา ได้อนุญาตให้บุตรชายไปศึกษาในต่างประเทศ โดยไม่มีระเบียบกำหนดให้มีอำนาจอนุญาตได้จะถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152[5] หรือไม่[6] เพราะการที่บิดา (ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ) อนุญาตให้บุตรชาย (เลขานุการตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ) ไปศึกษาต่อในต่างประเทศโดยให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจ่ายค่าตอบแทนตลอดระยะเวลาที่ไปศึกษาต่อนั้น ย่อมแสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่าบิดา คือนายบุญส่ง ได้เข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือของบุตรชายของตนเนื่องด้วยกิจการนั้น อันมีลักษณะของการขัดกันแห่งผลประโยชน์สาธารณะและประโยชน์ส่วนตน (Conflict of Interests) อย่างชัดเจน
                                    ในประเด็นนี้เห็นว่าผลประโยชน์ที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 มุ่งคุ้มครอง (Legal Interests) คือ “ความบริสุทธิ์สะอาดแห่งอำนาจรัฐหรือความบริสุทธิ์สะอาดแห่งตำแหน่ง”[7] ดังนั้น การที่บุคคลได้จะต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 ก็มีลักษณะเดียวกันกับบุคคลที่จะต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 นั่นเอง คือจะต้องเป็นเจ้าพนักงานซึ่งมีกฎหมายให้อำนาจกระทำการดังกล่าวได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏอย่างชัดเจนว่าระเบียบศาลรัฐธรรมนูญฯ ไม่ได้ให้อำนาจนายบุญส่ง กุลบุปผา ในการอนุญาตเลขานุการของตนให้ไปเรียนต่อต่างประเทศได้ นายบุญส่งเพียงแต่มีคำสั่งอนุญาตไปโดยพลการ ปราศจากอำนาจตามกฎหมายใดๆมารองรับ นายบุญส่งจึงไม่ใช่เจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติงานในหน้าที่ดังกล่าว และไม่อยู่ในฐานะที่จะเป็นประธานแห่งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 ได้เลย
                                    ในประเด็นเกี่ยวกับมาตรา 152 มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ถ้าหากข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีกฎหมายให้อำนาจนายบุญส่ง กุลบุปผา ในการอนุญาตให้เลขานุการของตนไปศึกษาต่อต่างประเทศโดยได้รับค่าตอบแทนตลอดระยะเวลาที่ไปศึกษาต่อได้ ตามที่นายบุญส่งได้กล่าวอ้างมานั้น นายบุญส่งย่อมมีโอกาสต้องโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 สูงมาก ทั้งนี้ด้วยสาเหตุที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 นั้น เพียงแค่เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่นเนื่องจากกิจการนั้นก็ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีการทุจริตและไม่ต้องมีความเสียหายเกิดขึ้นเลย หากนายบุญส่งมีอำนาจตามที่กล่าวอ้างจริงและได้อนุญาตให้บุตรชายของตนไปศึกษาต่อโดยได้รับค่าตอบแทนย่อมมีลักษณะเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์และมีส่วนได้เสียในการอนุญาตให้บุตรชายตนได้รับประโยชน์อันเป็นความผิดสำเร็จตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 152 อย่างชัดแจ้ง
                                    3. อนึ่ง ถึงแม้การที่นายบุญส่ง กุลบุปผา อนุญาตให้บุตรชายของตนไปศึกษาต่อต่างประเทศ จะไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 และ 157 เพราะนายบุญส่งไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการปฏิบัติงานดังกล่าวตามที่กล่าวมาแล้ว แต่ในการวินิจฉัยความรับผิดทางอาญาของผู้ถูกกล่าวหา จะต้องพิจารณาถึงพระราชบัญญัติที่มีโทษทางอาญาอื่นนอกเหนือจากประมวลกฎหมายอาญาด้วย ในที่นี้ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตและหยิบยกเอาความผิดที่บัญญัติเอาไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123 มาพิจารณา โดยกฎหมายมาตราดังกล่าวได้บัญญัติเอาไว้ว่า
                                 “มาตรา 123 เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในพฤติการณ์ที่อาจทำให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีตำแหน่งหรือหน้าที่ ทั้งที่ตนมิได้มีตำแหน่งหรือหน้าที่นั้น เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
                                 หากพิจารณาบทบัญญัติมาตรา 123 อย่างถี่ถ้วน จะพบว่ากฎหมายมาตรานี้มุ่งเอาผิดต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ “ไม่มีตำแหน่งและอำนาจหน้าที่” แต่กระทำการในลักษณะที่ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่ามีอำนาจหน้าที่ เพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นความผิดที่แตกต่างจากประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 และมาตรา 157 หากนำเอาข้อกฎหมายนี้มาพิจารณาปรับเข้ากับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในคดีของนายบุญส่ง กุลบุปผา แล้วจะพบว่า การที่นายบุญส่ง (ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ) ไม่มีอำนาจในการอนุญาตให้บุตรชายของตน (เลขานุการตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ) ไปศึกษาต่อต่างประเทศโดยได้รับเงินค่าตอบแทนตลอดระยะเวลาที่ไปศึกษาต่อ แต่ได้กระทำการออกคำสั่งอนุญาตให้บุตรชายซึ่งเป็นเลขาฯของตนไปศึกษาต่อต่างประเทศโดยได้รับค่าตอบแทนตลอดระยะเวลาที่ไปศึกษาต่อ ถือเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งไม่มีอำนาจหน้าที่ในการออกคำสั่งอนุญาต ได้ปฏิบัติการออกคำสั่งอนุญาตอันเป็นการแสดงให้ผู้อื่นเชื่อว่าตนมีอำนาจหน้าที่ในการออกคำสั่งอนุญาตนั้น เพื่อให้บุตรชายของตนได้มีโอกาสลาไปศึกษาต่อต่างประเทศและได้รับเงินค่าตอบแทนตลอดระยะเวลาที่ไปศึกษาต่อ ทั้งที่บุตรชายของตนหามีสิทธิเช่นนั้นไม่ ซึ่งถือเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123 อย่างชัดเจน เว้นเสียแต่ว่านายบุญส่งจะแสดงให้เห็นว่าตนไม่รู้ว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจหน้าที่ในการอนุญาตให้เลขาฯไปศึกษาต่อต่างประเทศและได้รับค่าตอบแทน ซึ่งกรณีเช่นนี้ย่อมถือว่านายบุญส่งไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอกของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรค 3[8] อันแสดงให้เห็นว่านายบุญส่งไม่มีเจตนากระทำความผิดดังกล่าว ทั้งนี้ต้องนำเอาประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรค 3 มาใช้กับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ซึ่งมีโทษทางอาญาด้วย โดยผลของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 17[9] นั่นเอง
                                    4. นอกจากความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123 แล้ว ผู้เขียนเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาอาจอยู่ในขอบเขตของความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341[10] ได้ด้วย ทั้งนี้ เพราะการที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีอำนาจหน้าที่ในการอนุญาตให้เลขาฯไปศึกษาต่อโดยได้รับค่าตอบแทน ย่อมถือเสมือนหนึ่งว่าในการกระทำดังกล่าว ผู้ถูกกล่าวหาก็มีสถานะเสมือนหนึ่งเป็นเอกชนธรรมดานั่นเอง การที่นายบุญส่ง (ในฐานะบุคคลธรรมดา) ไม่มีอำนาจอนุญาตให้บุตรชายซึ่งเป็นเลขาฯของตนไปศึกษาต่อโดยได้รับค่าตอบแทน แต่ได้หลอกลวงสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าตนมีอำนาจอนุญาต เป็นเหตุให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญต้องจ่ายเงินค่าตอบแทนดังกล่าวให้แก่ลูกชายของตน[11] อันเป็นการได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้อื่น (สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ) ซึ่งเข้าลักษณะของความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 แล้ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องปรากฏด้วยว่าผู้ถูกกล่าวหามีเจตนาหลอกลวงสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของพนักงานอัยการในการนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อแสดงให้เห็นเจตนาดังกล่าวให้ได้ มิฉะนั้นย่อมต้องสันนิษฐานเอาไว้ก่อนว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธิ์และไม่มีเจตนาหลอกลวงตามหลัก Presumption of Innocence
                                    5. จากที่กล่าวมาข้างต้นตามความคิดเห็นของผู้เขียนสามารถสรุปได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาคือ นายบุญส่ง กุลบุปผา ไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 และ 157 เพราะไม่ใช่เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่กระทำการนั้น แต่มีความเป็นไปได้ที่จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123 และความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ซึ่งได้กล่าวถึงเหตุผลมาแล้ว ถึงแม้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติจะวินิจฉัยความรับผิดทางอาญาเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ก็ตาม ซึ่งอาจเป็นเพราะผู้ยื่นคำกล่าวหาได้กล่าวหาเฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เท่านั้น แต่ผู้เขียนมีความเห็นว่า ถ้าหากในระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าว คณะอนุกรรมการไต่สวนฯ พบว่าข้อเท็จจริงตามที่ผู้กล่าวหาได้ยื่นมานั้นยังมีลักษณะที่เข้าองค์ประกอบความผิดอาญาฐานอื่นอีก ก็ควรให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีอำนาจดำเนินคดีในความผิดที่ปรากฏขึ้นมาระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงได้ด้วย แม้ผู้ยื่นคำกล่าวหาจะไม่ได้ระบุความผิดฐานนั้นมาก็ตาม ทั้งนี้ด้วยเหตุผลที่ว่าคดีดังกล่าวเป็นคดีอาญา ซึ่งหลักการดำเนินคดีอาญาเป็นไปตามหลักการตรวจสอบ (Examination Principle)[12] กล่าวคือ เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ดำเนินคดีอาญาทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีความจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ถึงที่สุดโดยปราศจากข้อผูกมัดใดๆ ทั้งนี้ องค์กรต่างๆในคดีอาญาไม่ว่าจะเป็นองค์กรที่อยู่ภายใต้การดำเนินงานของรัฐ (รวมถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) หรือเอกชน ต่างก็มีพันธะในการร่วมมือกันค้นหาความจริงและตรวจสอบเรื่องที่มีการกล่าวหา เพื่อพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหาด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งหลักการดำเนินคดีอาญาแบบตรวจสอบนี้ ถือเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของการดำเนินคดีอาญาในประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายแบบซีวิลลอว์ (Civil Law System) เลยทีเดียว
        
                                    ด้วยเหตุตามที่กล่าวมานี้ ผู้เขียนจึงเห็นว่า หากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำความผิดอื่นด้วย[13] โดยเฉพาะอย่างยิ่งความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123 ซึ่งถือเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ก็ควรที่จะมีการดำเนินคดีอาญาต่อผู้ถูกกล่าวหาในความผิดฐานดังกล่าวต่อไป แม้จะไม่มีการกล่าวหาในความผิดดังกล่าวก็ตาม ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม
       
       
       
       
       [1] คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ, ข่าวการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ [ออนไลน์], 27 สิงหาคม 2556, แหล่งที่มา http://www.nacc.go.th.
       
       
       [2] ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ หน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาทหรือ ทั้งจำทั้งปรับ”
       
       
       [3] คณิต ณ นคร, กฎหมายอาญาภาคความผิด, พิมพ์ครั้งที่ 10  (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2555), หน้า 787.
       
       
       [4] คำพิพากษาฎีกาที่ 1005/2549 “ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 จะต้องเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่ซึ่งอยู่ในหน้าที่ของเจ้าพนักงานนั้นเองโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหาย แก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือโดยทุจริต ถ้าไม่เกี่ยวกับหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้นั้นโดยตรงแล้วย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้ เมื่อขณะที่จำเลยทั้งสองมาเอารถยนต์แท็กซี่จากโจทก์ไป จำเลยที่ 2 แต่งเครื่องแบบตำรวจเท่านั้น ทั้งตามฎีกาโจกท์ยังยอมรับด้วยว่าจำเลยที่ 2 กระทำไปโดยไม่มีกฎหมายรองรับ ไม่มีอำนาจหน้าที่จะต้องทำแสดงว่าการไปเอารถยนต์แท็กซี่จากโจทก์นั้น มิใช่การกระทำที่เกี่ยวกับหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 จึงไม่มีมูลเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ”
       
       
       [5] ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท”
       
       
       [6] ประเด็นเกี่ยวกับความรับผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 นี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไม่ได้วินิจฉัยเอาไว้ในคดีดังกล่าว
       
       
       [7] คณิต ณ นคร, กฎหมายอาญาภาคความผิด, พิมพ์ครั้งที่ 10, หน้า 777
       
       
       [8] ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรค 3 “ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริง อันเป็นองค์ประกอบของความผิดจะ ถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำ นั้นมิได้”
       
       
       [9] ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 17 “บทบัญญัติในภาค 1 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ให้ใช้ ในกรณีแห่งความผิดตามกฎหมายอื่นด้วย เว้นแต่กฎหมายนั้นๆ จะได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”
       
       
       [10] ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 “ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความ อันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งและโดยการหลอก ลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง หรือบุคคลที่สามหรือ ทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามทำ ถอนหรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือ ปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
       
       
       [11] อาจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ได้อธิบายเอาไว้ในหนังสือกฎหมายอาญา ภาค 2 ตอน 2 และภาค 3 หน้า 870-871 ในทำนองที่ว่า “โดยหลักแล้ว ผู้ที่จะได้ทรัพย์สินไปก็คงจะเป็นผู้หลอกลวงนั่นเอง อย่างไรก็ตาม มาตรา 341 ก็ไม่ได้บัญญัติเอาไว้เช่นนั้นตรงๆ ดังนั้น ผู้ที่ได้ทรัพย์สินไปจึงอาจจะเป็นบุคคลภายนอกซึ่งมิใช่ผู้ถูกหลอกก็ได้ ซึ่งการตีความเช่นนี้สอดคล้องกับกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 มาตรา 304 ซึ่งบัญญัติไว้ชัดเจนว่า “หลอกลวงให้ผู้หนึ่งผู้ใดส่งทรัพย์อย่างหนึ่งอย่างใดให้แก่ตัวมันเองหรือแก่ผู้อื่นก็ดี…” “ ดังนั้น แม้ผู้ถูกกล่าวหาจะไม่ใช่ผู้ที่ได้รับค่าตอบแทนจากการหลอกลวง แต่บุตรชายเป็นคนได้รับ ก็อาจถือเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ได้
       
       
       [12] คณิต ณ นคร, กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา, พิมพ์ครั้งที่ 7 (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2549), หน้า 50
       
       
       [13] มีข้อสังเกตว่าในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2543 มาตรา 88 ได้ให้อำนาจแก่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติในการริเริ่มไต่สวนข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ได้เอง ซึ่งแสดงให้เห็นแนวคิดเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาแบบตรวจสอบ (Examination Principle) ในการทำงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติอย่างชัดเจน
       
       


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1876
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 19:10 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)