คำตอบและคำถามเรื่องเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญไทยกับการตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

11 สิงหาคม 2556 21:07 น.

       คำตอบและคำถามเรื่องเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญไทยกับการตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสืบเนื่องจากคำอภิปรายในงานวิชาการรำลึกศาสตราจารย์ ไพโรจน์ ชัยนาม ครั้งที่ ๓  เรื่อง “บทบาทศาลรัฐธรรมนูญในการปกป้องรัฐธรรมนูญ : ศึกษาบทเรียนจากกฎหมายต่างประเทศ”[1]  
        
                       สืบเนื่องจากในงานวิชาการรำลึกศ.ไพโรจน์ ชัยนาม ปรากฏคำอภิปรายของวิทยากรท่านหนึ่งคือ ศ.ดร.บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ ได้หยิบยกบทความของผู้เขียนเรื่อง “การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญกับการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญโดยองค์กรตุลาการ” ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารนิติศาสตร์ ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๒ (มิถุนายน ๒๕๕๖) หน้า ๓๑๔-๓๔๒ ขึ้นมากล่าวถึงพร้อมกับตั้งคำถามและวิพากษ์ในถ้อยคำ เนื้อหา การตีความ ตลอดจนข้อสรุปของผู้เขียนจากบทความวิชาการชิ้นดังกล่าว โดยเนื้อหาที่ท่านผู้อภิปรายได้ยกขึ้นมาปรากฏอยู่ในหน้าที่ ๓๓๒ ดังต่อไปนี้
                       “ในระบบรัฐธรรมนูญเยอรมัน การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญให้ รัฐธรรมนูญแก้ไขโดย “กฎหมาย” ที่แสดงอย่างชัดเจนว่าเป็นการแก้ไขหรือเพิ่มเติมบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ โดยเมื่อผ่านการพิจารณาและประกาศใช้แล้ว จะมีชื่อเรียกว่า “กฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ” แต่ในระบบรัฐธรรมนูญไทยนั้น บทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไม่อาจทำขึ้นในรูปของ “กฎหมาย” ตามความหมายของรัฐธรรมนูญได้ แต่ต้องดำเนินการไปตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดลักษณะไว้เป็นการเฉพาะ ในหมวดที่ ๑๕ ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่ต้องดำเนินการจัดทำขึ้นเป็นรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม โดยเมื่อผ่านการพิจารณาและประกาศใช้แล้ว จะมีชื่อเรียกว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ....” จึงมิได้มีลักษณะเป็นกฎหมายตามความหมายของรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด”
                       ซึ่งหลังจากได้ยกเนื้อหาในย่อหน้านี้ขึ้นมาแล้ว ท่านผู้อภิปรายได้สรุปความคิดเห็นของผู้เขียนว่าเป็นการสรุปง่าย ๆ ไม่ให้เหตุผล และเป็นเพียงการตีความตามลายลักษณ์อักษร (สามารถฟังบันทึกการเสวนาได้จากเว็บไซต์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยช่วงที่ผู้อภิปรายพูดในประเด็นนี้ ตั้งแต่ชั่วโมงที่ ๒ นาทีที่ ๒๕ ถึงนาทีที่ ๓๑)
                       ในฐานะผู้เขียนบทความชิ้นดังกล่าวเห็นว่าการที่ท่านผู้อภิปรายได้หยิบยกบทความเพียงย่อหน้าเดียวขึ้นมาแล้วสรุปว่าเป็นการสรุปง่าย ๆ นั้น ไม่เป็นธรรมต่อบทความชิ้นดังกล่าวอย่างยิ่ง จึงจำเป็นที่ต้องมีการอธิบายเพิ่มเติมถึงเนื้อหาดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่ท่านผู้อภิปรายได้กล่าวต่อไปถึงเรื่องความสำคัญที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องเข้ามาตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งหลังจากได้ฟังคำอภิปรายของท่านผู้อภิปรายแล้ว ผู้เขียนเกิดคำถามตามมาเกี่ยวกับปัญหาพื้นฐานทางทฤษฎีเรื่องเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุนี้จึงนำมาสู่การเขียนเอกสารชิ้นนี้
       ประเด็นที่ ๑ : ข้อสรุปของผู้เขียนที่ว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไม่ใช่กฎหมายเป็นข้อสรุปง่าย ๆ ตีความตามลายลักษณ์อักษร?
       ในเบื้องต้น ผู้เขียนได้พิจารณาสถานะของอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้ว่ามีสถานะที่แตกต่างไปจากอำนาจตามรัฐธรรมนูญต่าง ๆ รวมถึงอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญด้วย ดังนั้นจึงมีปัญหาในทางทฤษฎีกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญจะเข้าไปตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัตินั้นปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญในหลาย ๆ ประเทศสามารถเข้าไปตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ หากระบบกฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศนั้น ๆ หรือกล่าวโดยเฉพาะคือ บทบัญญัติในกฎหมายรัฐธรรมนูญอนุญาตโดยชัดแจ้งหรือเปิดช่องให้ตีความเพื่อสถาปนาเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีนี้ได้
                       ประเด็นนี้เป็นเนื้อหาหลักของบทความดังกล่าว ที่ผู้เขียนได้อธิบายถึงหลักการและทฤษฎีเกี่ยวกับการที่องค์กรตุลาการจะมีอำนาจเข้ามาตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในนานาประเทศ ซึ่งในส่วนแรกของบทความนั้นจะเห็นได้ว่าเราอาจจัดกลุ่มคำตอบเรื่ององค์กรตุลาการกับการตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้สี่กลุ่มประเทศด้วยกัน กล่าวคือ
       ๑. ในระบบศาลเดี่ยวซึ่งไม่มีศาลรัฐธรรมนูญแยกออกมาเฉพาะ โดยองค์กรตุลาการเข้ามาตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ เช่นในประเทศ สหรัฐอเมริกา หรืออินเดีย     
       ๒. ในประเทศที่มีศาลรัฐธรรมนูญ และมีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญกำหนดไว้โดยชัดเจนให้ศาลรัฐธรรมนูญมีเขตอำนาจในการตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เช่นประเทศตุรกี หรือโรมาเนีย
       ๓. ในประเทศที่มีศาลรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีบทบัญญัติกำหนดไว้ชัดเจนให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แต่ศาลรัฐธรรมนูญได้เข้ามาตรวจสอบโดยอาศัยฐานอำนาจการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายธรรมดา ได้แก่ ประเทศเยอรมนี หรือออสเตรีย
       ๔. ประเทศที่มีศาลรัฐธรรมนูญหรือตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่มีเขตอำนาจในการตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ได้แก่ ประเทศฝรั่งเศส
       ซึ่งหลังจากได้กล่าวถึงกรณีในระบบรัฐธรรมนูญต่างประเทศแล้ว จึงมาสู่การวิเคราะห์ในมุมมองของผู้เขียนว่าแล้วเช่นนี้ ศาลรัฐธรรมนูญไทยมีอำนาจตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหรือไม่
       ซึ่งหากอ่านบทความทั้งหมดนั้นจะพบว่าผู้เขียนได้ตรวจสอบบรรดาเขตอำนาจทั้งหมดของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบร่างกฎหมาย การตรวจสอบกฎหมายที่ประกาศใช้แล้ว ตลอดจนกรณีตามมาตรา ๖๘ ว่าไม่มีมาตราใดที่เป็นการสถาปนาเขตอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ ดังนั้นจึงนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า ศาลรัฐธรรมนูญไทยในระบอบรัฐธรรมนูญไทยปัจจุบัน ไม่มีเขตอำนาจในการตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
       ทั้งนี้ ในการพิจารณาแต่ละประเด็นนั้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีตามมาตรา ๖๘ หรือกรณีการตรวจสอบร่างกฎหมายก่อนการประกาศใช้นั้นเป็นที่ชัดเจนตามถ้อยคำแห่งรัฐธรรมนูญอยู่แล้วว่าไม่หมายความรวมถึงการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งผู้สนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากในบทความชิ้นดังกล่าว
       จะมีก็แต่เพียงกรณีการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายที่ประกาศใช้แล้วเท่านั้น ที่เป็นประเด็นปัญหาการตีความในทางนิติศาสตร์ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะอาศัยเขตอำนาจนี้ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันคือ มาตรา ๒๑๑, ๒๑๒, ๒๔๕ และ ๒๕๗ เข้ามาตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ เพราะถ้อยคำในบทบัญญัติต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้บัญญัติไว้แต่เพียงว่าให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของ “กฎหมาย” ได้ ดังนั้นจะถือได้หรือไม่ว่ารัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นกฎหมายที่อยู่ในความหมายของบทบัญญัติต่าง ๆ นี้และถือเป็นการสถาปนาเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ
       ซึ่งจากคำถามนี้เอง ได้นำไปสู่บทวิเคราะห์ของผู้เขียนต่อไป โดยพิจารณาเริ่มต้นจากการเปรียบเทียบกับประเทศเยอรมนีที่ศาลรัฐธรรมนูญอาศัยเขตอำนาจในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย (ปกติ) เข้ามาสถาปนาเขตอำนาจในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และมีนักวิชาการหลายท่านในประเทศไทยยกกรณีเยอรมนีขึ้นมาเพื่อสนับสนุนเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญไทย ซึ่งผู้เขียนได้สรุปโดยพิเคราะห์จากระบบรัฐธรรมนูญไทยและเยอรมนีแล้วว่าระบบรัฐธรรมนูญทั้งสองมีความแตกต่างกันและเทียบกันไม่ได้ กล่าวคือ นอกจากเพียงชื่อเรียกที่แตกต่างกันที่ทำให้ท่านผู้อภิปรายเข้าใจว่าผู้เขียนตีความแต่เพียงลายลักษณ์อักษรอย่างเดียวนั้น ซึ่งชื่อเรียกนี้ก็สืบเนื่องมาจากระบบเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของไทยและเยอรมนีก็แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงที่ผู้เขียนได้เปรียบเทียบไว้ในย่อหน้าดังกล่าวเช่นกัน กล่าวคือระบบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของประเทศไทยนั้นแยกออกมาโดยเฉพาะจากกระบวนการตรากฎหมายธรรมดา โดยแยกออกมาเป็นอีกหมวดหนึ่งคือหมวด ๑๕ ในขณะที่เยอรมนีแม้จะกำหนดวิธีการไว้เป็นพิเศษ แต่ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญแยกออกมาเป็นอีกหมวดหนึ่งต่างหาก ซึ่งหากเปรียบเทียบกับต่างประเทศแล้ว โครงสร้างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญของประเทศไทยเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้นอ้างอิงมาจากโครงสร้างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญของประเทศฝรั่งเศสที่แยกออกมาเป็นอีกหมวดหนึ่งโดยเฉพาะ และตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสก็เคยได้วินิจฉัยว่าตนไม่มีเขตอำนาจที่จะพิจารณาตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
       อย่างไรก็ตาม หลังจากปฏิเสธการใช้ทฤษฎีของเยอรมนีเข้ามาตีความเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญไทย ผู้เขียนก็ไม่ได้สรุปโดยทันทีว่าศาลรัฐธรรมนูญไทยไม่มีเขตอำนาจ ทั้งนี้ ผู้เขียนได้วิเคราะห์ต่อไปถึงระบบรัฐธรรมนูญไทยว่าภายใต้โครงสร้างรัฐธรรมนูญของไทยเองนั้น จะถือว่ารัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นกฎหมายชนิดหนึ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญจะเข้ามาตรวจสอบได้หรือไม่ ซึ่งผู้เขียนได้วิเคราะห์และสรุปโดยอ้างอิงทั้งจากความคิดเห็นและการอธิบายเจตนารมณ์ของคำว่า “กฎหมาย” ในถ้อยคำบทบัญญัติรัฐธรรมนูญจากนักวิชาการกฎหมายรัฐธรรมนูญจำนวนหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐ ที่เริ่มต้นจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญขึ้นว่ากระบวนการตรวจสอบนี้เป็นไปเพื่อควบคุมการใช้อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติไม่ให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และยังมีตัวอย่างการตีความคำว่า “กฎหมาย” ของศาลรัฐธรรมนูญเองที่เคยให้นิยามคำว่ากฎหมายไว้ว่าหมายถึงเฉพาะแต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติหรือกฎหมายอื่นที่เทียบเท่า ดังนั้นย่อมหมายความต่อไปได้ว่าคำว่ากฎหมายไม่ได้หมายความรวมถึงรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมด้วย จึงนำไปสู่ข้อสรุปของผู้เขียนว่าระบบการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายภายหลังประกาศใช้แล้วนั้น ไม่อาจนำมาสถาปนาเขตอำนาจในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้
       และที่กล่าวมานี่ก็คือเหตุผลในการสรุปว่ารัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในระบบรัฐธรรมนูญไทย ไม่ใช่ “กฎหมาย” ในความหมายของรัฐธรรมนูญเรื่องการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายภายหลังประกาศใช้ (รายละเอียดสามารถอ่านได้จากเนื้อหาในบทความดังกล่าว) โดยเหตุผลนั้นก็ปรากฏอยู่ในบทความนั้นเองแล้ว หวังว่าท่านผู้อภิปรายจะได้อ่านต่อไปอีกสักนิดแล้วประเมินงานชิ้นนี้เสียใหม่ว่าเป็นการตีความง่าย ๆ ตามแต่เพียงลายลักษณ์อักษรเท่านั้นอีกหรือไม่ อย่าเพิ่งด่วนประเมินง่าย ๆ เพียงแค่การอ่านย่อหน้าหนึ่งย่อหน้าใดแต่เพียงอย่างเดียวเลย
                       ประเด็นที่ ๒ : หากจะให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ในความเห็นของท่านผู้อภิปรายนั้นจะอาศัยเขตอำนาจตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตราใด?
                       ท่านผู้อภิปรายได้กล่าวต่อไปว่าในระบบของไทยนั้น พระราชบัญญัติ หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมีการกำหนดการตรวจสอบโดยศาลรัฐธรรมนูญไว้แล้ว แต่กรณีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้นแม้ไม่ได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการตรวจสอบไว้ แต่เมื่อมีข้อห้ามในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๙๑ เป็นกรอบในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จึงต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาพิจารณา มิฉะนั้นจะเป็นช่องทางให้หลักการทั้งหลายถูกมองข้ามได้
                       โดยอาจสรุปความเห็นของท่านผู้อภิปรายได้ว่าเนื่องจากท่านเห็นว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญ (ยิ่งกว่าการตราพระราชบัญญัติ หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ) ประกอบกับการมีข้อจำกัดการแก้ไข ดังนั้นต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาตรวจสอบ คำถามคือจะให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาโดยอาศัยเขตอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตราใด? และหากจะกล่าวว่ารัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมก็เป็นกฎหมายชนิดหนึ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญย่อมตรวจสอบได้นั้น ท่านผู้อภิปรายมีเหตุผลว่าอย่างไร? (ซึ่งผู้เขียนได้แสดงความคิดเห็นและเหตุผลของผู้เขียนไปแล้วว่าทำไมในระบอบรัฐธรรมนูญไทยปัจจุบัน ไม่อาจถือว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายชนิดหนึ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญจะอาศัยระบบการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายเข้ามาตรวจสอบได้)
                       ที่ท่านผู้อภิปรายกล่าวว่าเมื่อรัฐธรรมนูญมีข้อจำกัดการแก้ไขเพิ่มเติม จึงจำเป็นที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องเข้ามาตรวจสอบนั้น ต่อกรณีนี้ผู้เขียนมีความคิดเห็นว่าเราจำเป็นต้องแยกประเด็นทั้งสองออกจากกัน การที่รัฐธรรมนูญมีข้อจำกัดการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ไม่ได้หมายความโดยปริยายว่าต้องมีองค์กรตุลาการเข้ามาตรวจสอบควบคุม แม้จะมีข้อจำกัดการแก้ไขเพิ่มเติม แต่หากศาลรัฐธรรมนูญจะเข้ามาตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ ก็ต้องมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้เขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ไว้โดยชัดแจ้ง ตามลักษณะธรรมชาติของศาลรัฐธรรมนูญที่จำกัดและเฉพาะ แม้จะเป็นเรื่องสำคัญ แม้จะควรต้องมีการควบคุมตรวจสอบ แต่หากไม่มีเขตอำนาจก็ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ ลำพังคำว่า “ควรจะ” ไม่อาจสถาปนาเขตอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญได้ และ “ควรทำหรือไม่ควรทำ” เป็นคนละเรื่องกับการ “ทำได้หรือทำไม่ได้”
                       การที่รัฐธรรมนูญมีข้อจำกัดห้ามแก้ไข ไม่ได้หมายความโดยปริยายว่าต้องเป็นอำนาจขององค์กรตุลาการเข้ามาควบคุม เพราะองค์กรตุลาการโดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลรัฐธรรมนูญก็มีฐานะเป็นองค์กรของรัฐภายใต้หลักนิติรัฐที่ต้องกระทำการโดยผูกพันตามกฎหมาย หากไม่มีกฎหมายคือรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้อำนาจ ก็หมายความว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ประสงค์ให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาตรวจสอบในเรื่องดังกล่าว
                       ในระบบกฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศไทยเองก็ปรากฏบทบัญญัติหลายกรณีที่รัฐธรรมนูญกำหนดข้อจำกัดเอาไว้ แต่แม้ปรากฏว่ามีการดำเนินการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญได้กำหนดกระบวนการตราพระราชบัญญัติไว้ที่จะต้องดำเนินการโดยชอบทั้งกรณีองค์ประชุม หรือองค์มติ แต่หากร่างพระราชบัญญัติได้ประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้ว แม้กระบวนการพิจารณาจะไม่ชอบ ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่สามารถที่จะไปพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกระบวนการพิจารณาได้อีก จะได้ก็แต่เพียงพิจารณาว่าเนื้อหาของกฎหมายนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้หรือไม่เท่านั้น
                       หากมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นว่า ถ้าองค์กรตุลาการไม่เข้ามาควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแล้ว สถานะของบทบัญญัติหรือหลักการชั่วนิรันดร์จะมีค่าบังคับได้เช่นไร หลักการดังกล่าวย่อมถูกทำลายได้ตามอำเภอใจเสียงข้างมากโดยไม่เคารพต่อกฎเกณฑ์รัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ อาจพิจารณาได้ว่าการตีความรัฐธรรมนูญนั้นมิได้ผูกขาดอยู่ที่องค์กรตุลาการแต่ผู้เดียว การวินิจฉัยว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงหลักการหรือบทบัญญัติชั่วนิรันดร์นั้น อาจเป็นอำนาจขององค์กรที่มีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเองหากรัฐธรรมนูญประสงค์เช่นนั้น ข้อจำกัดในการแก้ไขเพิ่มเติมที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้จึงเป็นแนวทางในการใช้อำนาจของผู้มีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแต่ไม่ได้เป็นฐานแห่งเขตอำนาจขององค์กรตุลาการแต่อย่างใด ตัวอย่างเช่น ในระบบรัฐธรรมนูญประเทศนอร์เวย์ แม้รัฐธรรมนูญจะกำหนดว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะต้องไม่เป็นการขัดต่อหลักการพื้นฐานหรือเป็นการเปลี่ยนแปลงจิตวิญญาณของรัฐธรรมนูญ แต่การบัญญัติดังกล่าวนั้นเคารพการตัดสินขององค์กรผู้มีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่จะเป็นผู้วินิจฉัยว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด นอกจากนี้ การที่องค์กรตุลาการไม่มีอำนาจตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ก็มิได้ทำให้อำนาจดังกล่าวเป็นอำนาจตามอำเภอใจ เพราะอย่างไรก็ตาม การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญย่อมเป็นประเด็นที่สำคัญทางการเมือง ซึ่งนำมาสู่การถกเถียงและตรวจสอบทางการเมืองโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
                       ดังเช่นกรณีข้อจำกัดตามมาตรา ๒๙๑ เรื่องรูปของรัฐนั้น อาจพิจารณาได้ว่า หากรัฐสภาผ่านร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยการปกครองรูปแบบเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ย่อมเท่ากับรัฐสภาได้วินิจฉัยแล้วว่าการแก้ไขนั้นไม่ขัดต่อความเป็นรัฐเดี่ยวซึ่งเป็นข้อจำกัดในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จึงถือว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว
                       นี่คือการพิจารณาบทสภาพระบอบรัฐธรรมนูญที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ปัญหาว่าระบบเช่นนี้ดีหรือไม่ เหมาะสมหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญควรเข้ามาตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ เป็นปัญหาที่ยังคงถกเถียงแลกเปลี่ยนกันได้ต่อไป และอาจจำเป็นต้องถกเถียงให้ชัดเจนหากจะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อย่างไรก็ตามหากยังไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผู้เขียนก็ยังคงยืนยันว่าในระบบปัจจุบันศาลรัฐธรรมนูญไทย ไม่มีเขตอำนาจตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ มิฉะนั้นเราก็คงต้องเลิกกล่าวถึงหลักเรื่องเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่ว่าเป็นศาลพิเศษที่มีเขตอำนาจจำกัดและเฉพาะอีกตลอดไปในการศึกษาวิชาว่าด้วยเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ
       
       
       
       


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1873
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 09:29 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)