|
|
หากกระบวนการยุติธรรมดี ไม่ต้องมีนิรโทษกรรม 11 สิงหาคม 2556 21:07 น.
|
สถานการณ์การเมืองในปัจจุบันสมัยกลับมาสู่ความตึงเครียดอีกครั้งหนึ่งเมื่อสภาได้มีการพิจารณาร่างกฎหมายเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมซึ่งมีหลายเวอร์ชัน บ้างเห็นด้วยบางฉบับ บ้างไม่เห็นด้วยบางฉบับ บ้างเห็นด้วยบางประเด็นไม่เห็นด้วยบางประเด็น บ้างไม่เห็นด้วยสักฉบับบอกว่าบ้านเมืองเราก็สงบดีอยู่แล้วทำไมต้องทำเรื่องให้มันยุ่งอีก บ้างก็บอกว่าลองเอ็งเป็นญาติโกโหติกาของพวกที่ติดคุกอยู่สิจะออกมาตะแบงคัดค้านกันไหม
แต่ละฝ่ายแต่ละคนออกมาให้เหตุผลก็ล้วนแล้วแต่น่าฟังไปหมด ขึ้นอยู่กับเขาหรือเธอผู้นั้นมีทัศนคติหรือความชอบทางการเมืองไปทางใด ซึ่งก็ล้วนแล้วแต่หาเหตุผลมารองรับหรืออธิบายความชอบธรรมแก่ความเห็นของตนเองโดยลืมไปว่าทุกสิ่งเกิดแต่เหตุ ถ้าดับเหตุได้แล้ว ผลก็จะไม่มี
เราลองมาดูเหตุปัจจัยต่างๆดังต่อไปนี้
1) ศาลฎีกาไทยได้มีคำพิพากษาฎีกาที่ 1662/2505 ที่ว่า... หัวหน้าคณะปฏิวัติย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบ้านเมือง ข้อความใดที่หัวหน้าคณะปฏิวัติสั่งบังคับประชาชน ก็ต้องถือว่าเป็นกฎหมาย
และ คำพิพากษาดังกล่าวถูกนำมาใช้เป็นฐานในการใช้อำนาจของคณะรัฐประหารในฐานะ รัฏฐาธิปัตย์เรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน ซึ่งในโลกนี้อาจจะนับได้ว่านอกจากศาลอียิปต์แล้วคงมีแต่เพียงศาลไทยเรานี่เองกระมัง
2)ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัย ปี 2547 ยกคำร้องด้วยมติ 8 ต่อ 7 ในคดี "ซุกหุ้น"ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 คนที่เคยลงมติว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ลงไปวินิจฉัยชี้ขาดในเนื้อหาของคดี แต่กลับมีการนำเอาคะแนนเสียง 2 เสียงนี้ไปรวมกับคะแนนเสียงอีก 6 เสียงที่วินิจฉัยยกคำร้อง ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ผิดหลักกฎหมายโดยแท้ และ มิหนำซ้ำยังมีข่าวรั่วว่าตุลาการนายหนึ่งที่วินิจฉัยให้พ้นผิดนั้นด้วยเหตุเพราะประชาชนเลือกเข้ามาด้วยคะแนนเสียงเป็นล้านจะไปวินิจฉัยให้ออกจากตำแหน่งได้อย่างไรแทนการวินิจตามหลักกฎหมายเสียอีกแน่ะ
3)คณะตุลาการรัฐธรรมนูญและศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักไทยด้วยการออกกฎหมายย้อนหลังไปเอาผิด และไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์หลังจากสู้กันมาถึงการแถลงปิดคดีที่ผู้คนทั้งประเทศฟังแล้วว่าอย่างไรก็คงไม่รอดแต่การณ์กลับต้องมายกคำร้องด้วยเหตุว่า นักมวยน้ำหนักเกินหรือ กกต.ส่งฟ้องเกินระยะเวลาเล่นเอาคณะตลกหากินไม่ได้ไประยะหนึ่ง
4)ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้อดีตนายกสมัคร สุนทรเวช ตกจากเก้าอี้ด้วยการเอาพจนานุกรรมมาตัดสินคดีและมิหนำซ้ำยังตัดสินคดีเกี่ยวข้อตกลงระหว่างไทยกัมพูชาว่า อาจจะเป็นเหตุให้เสียดินแดนได้
5)ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวมิให้นำมติ ครม.เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.51 ซึ่งสนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ทั้งที่องค์คณะเดิมมีมติเสียงข้างมากไม่รับไว้พิจารณาแล้วเพราะเห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ทำให้เป็นเรื่องเป็นราวจน ปปช.มีมติรับเรื่องร้องเรียนไปตั้งแต่ 23 พ.ย.53 ว่ามีการสั่งเปลี่ยนองค์คณะในศาลปกครองสูงสุดโดยมิชอบ แต่ด้วยการไม่ได้รับความร่วมมือและอ้างว่าเป็นอำนาจตุลาการ ปปช.จึงเพิ่งมีมติเมื่อ 28พ.ค.56 นี้เองให้ตั้งอนุ กก.ไต่สวนอดีตประธานศาลปกครองสูงสุดในการกระทำดังกล่าว และต่อด้วยการรับฟ้องคดีจัดการน้ำของสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและพวกโดยตีความว่าเป็นผู้เสียหายอย่างกว้างมากๆจนมากที่สุด เล่นเอานักกฎหมายมหาชนพากันส่ายหน้ากันโดยถ้วนทั่ว
6)พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการส่งฟ้องผู้ต้องหาคดีเผาศาลากลางด้วยหลักฐานจากภาพถ่ายว่าไปยืนมุงดูจนศาลตัดสินจำคุกคนละเป็นหลายสิบปี
7)ศาลไม่ยอมให้ อากงประกันตัวจนต้องตายในคุก ทั้งๆที่โดยรัฐธรรมนูญมาตรา39 วรรคสองและวรรคสามบัญญัติไว้ว่า ในคดีอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิดจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ และสิทธิการประกันตัวนี้เป็นสิทธิพื้นฐานของทุกคน จนหลายๆประเทศออกข้อความเตือนพลเมืองของตนเองเมื่อต้องเดินทางมาประเทศไทยว่านอกจากให้ระวังโจรผู้ร้ายโดยทั่วไปแล้วต้องระวังประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นี้ด้วยเช่นกัน
8)ศาลรัฐธรรมนูญห้ามไม่ให้รัฐสภาซึ่งเป็นฝ่ายทำหน้าที่นิติบัญญัติแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ อ้างว่าขัดต่อมาตรา 68 แต่พอจะมาแก้รายมาตราก็จะทำไม่ได้อีก จนเกิดการประกาศไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญด้วยเหตุทำเกินหน้าที่
ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ
มีอีกจนจาระไนไม่หมดถึงความบิดเบี้ยวของกระบวนการยุติธรรมไทย
ควรจะมีการนิรโทษกรรมหรือไม่
ซึ่งเมื่อเรากลับไปพิจารณาถึงต้นเหตุของปัญหาที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นจะเห็นได้ว่า หากบุคคลได้รับการปฏิบัติด้วยความยุติธรรมในเบื้องหน้าของกฎหมาย(equal before the law) ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย(no one above the law) ไม่มีการรับรองว่าการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว เหตุการณ์ความไม่สงบไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ปี 2552 หรือ 2553 ก็จะไม่เกิดขึ้น
ฉะนั้น ตราบใดที่กระบวนการยุติธรรมของเรายังบิดเบี้ยวอยู่เช่นนี้ผมจึงเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการเมืองอันเป็นความผิดที่กฎหมายบัญญัติขึ้น(mala prohibita) แต่ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมการยึดทำเนียบปิดสนามบินหรือเผาอาคารสถานที่ไม่ว่าจะเป็นของราชการหรือเอกชนก็ตาม เพราะความผิดนี้เป็นความผิดในตัวเอง(mala inse)ไม่ว่าจะเกิดในรัฐไหนในโลก จะมาอ้างว่าเกิดจากเหตุจูงใจทางการเมืองให้พ้นจากความรับผิดไม่ได้ และความผิดจากการยึดทำเนียบปิดสนามบินหรือเผาอาคารสถานที่นั้นก็ไม่มีเหตุอันใดที่จะไปงดเว้นโทษหรือนิรโทษกรรม แต่ต้องพิจารณาด้วยความรัดกุมและต้องเป็นผู้ที่กระทำความผิดอย่างแท้จริง มิใช่แค่เป็นเพียงไทยมุงก็โดนติดคุกคนละเป็นหลายสิบปีและตราบใดที่คดียังไม่ถึงที่สุดต้องได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวหรือได้รับการประกันตัว
แน่นอนว่าประเทศเราเคยตัวกับการนิรโทษกรรมมาโดยตลอดและโดยเฉพาะอย่างเป็นการนิรโทษกรรมแก่ชนชั้นนำเสียเกือบทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นคณะปฏิวัติรัฐประหารหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปราบปรามประชาชน และกรณี 19 พฤษภา 53 นี้ผมจึงเห็นว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ใช้อาวุธปราบปรามประชาชนจนเสียชีวิตและผู้สั่งการย่อมไม่อยู่ในข่ายที่จะได้รับการนิรโทษกรรมแต่อย่างใดเช่นกัน
ถึงเวลาต้องสะสางกระบวนการยุติธรรมไทยกันแล้วล่ะครับ ไม่เช่นนั้นเหตุการณ์การเผชิญหน้าจนถึงกับฆ่ากันตายแล้วมานั่งเถียงกันว่าจะนิรโทษกรรมหรือไม่นิรโทษกรรมดังเช่นปัจจุบันนี้ก็จะต้องเกิดขึ้นอีกไมรู้จักจบจักสิ้น
--------------
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1871
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 08:43 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|