การเพิกถอนใบอนุญาตสนับสนุนการออกวีซ่าให้นักศึกษาต่างชาติของมหาวิทยาลัยลอนดอนเมโทรโพลิแทน

28 กรกฎาคม 2556 20:49 น.

       [1] เกริ่นนำ
        
       ในปี ค.ศ. 2012 ได้มีการพาดหัวข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์และสื่อออนไลน์ในประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการศึกษาและนโยบายว่าด้วยคนเข้าเมืองของประเทศอังกฤษ ได้แก่ ปัญหาทางกฎหมายในกรณีเพิกถอนใบอนุญาตสนับสนุนการออกวีซ่าให้นักศึกษาต่างชาติของ มหาวิทยาลัยลอนดอนเมโทรโพลิแทน (revocation of the London Metropolitan University visa licence) โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแห่งสหราชอาณาจักร (UK Border Agency) ได้ใช้ดุลพินิจและอำนาจตามกฎหมายในการออกคำวินิจฉัยเพิกถอนใบอนุญาตสนับสนุนการออกวีซ่าให้นักศึกษาต่างชาติ ซึ่งผลของการวินิจฉัยนี้เองได้ก่อให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อนักศึกษาต่างชาติที่กำลังศึกษาอยู่ในหลักสูตรต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยลอนดอนเมโทรโพลิแทน เพราะการที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแห่งสหราชอาณาจักรได้ใช้อำนาจดังกล่าวย่อมทำให้มหาวิทยาลัยดังกล่าวเสียสิทธิในการสนับสนุนการออกวีซ่าให้นักศึกษาต่างชาติได้เข้าศึกษาในหลักสูตรต่างๆและเสียสิทธิในการรับรองวีซ่าสถานะนักศึกษาต่างชาติให้กับนักศึกษาที่กำลังเข้ารับการศึกษาอยู่ในปัจจุบันกับส่งผลกระทบต่อสถานภาพของนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ ทำให้นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ ณ ขณะนั้นหรือกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการเพื่อขออนุมัติสำเร็จการศึกษา ไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ในประเทศอังกฤษได้ โดยผลของคำวินิจฉัยดังกล่าวให้ถือว่าวีซ่าของนักศึกษาต่างชาติจะหมดอายุภายใน 60 วันโดยอัตโนมัติ นับตั้งแต่มีคำวินิจฉัยจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแห่งสหราชอาณาจักรดังกล่าว
       สำหรับปัญหาการวินิจฉัยเพิกถอนใบอนุญาตสนับสนุนการออกวีซ่าให้นักศึกษาต่างชาติของมหาวิทยาลัยลอนดอนเมโทรโพลิแทนสืบเนื่องมาจากการที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแห่งสหราชอาณาจักรได้ใช้อำนาจวินิจฉัยเพิกถอนสถานะความน่าเชื่อถือของมหาวิทยาลัยลอนดอนเมโทรโพลิแทน (University's highly-trusted status)[1] โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแห่งสหราชอาณาจักรได้อ้างเหตุแห่งการเพิกถอนว่า[2]เกิดจากความล้มเหลวของมหาวิทยาลัยลอนดอนเมโทรโพลิแทนในการควบคุมกระบวนการรับนักศึกษาต่างชาติและตรวจสอบคุณสมบัติของนักศึกษาต่างชาติให้ได้เกณฑ์และเป็นไปตามมาตรฐานที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแห่งสหราชอาณาจักรได้กำหนดเอาไว้ (systemic failure)[3] เช่น เกณฑ์มาตรฐานการทดสอบความรู้ทางภาษาอังกฤษของนักศึกษาต่างชาติและเกณฑ์ทางคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาของนักศึกษาต่างชาติ เป็นต้น[4]
       อนึ่ง นอกจากการใช้อำนาจวินิจฉัยเพิกถอนใบอนุญาตสนับสนุนการออกวีซ่าให้นักศึกษาต่างชาติจะส่งผลกระทบต่อสถานะของนักศึกษาต่างชาติที่กำลังจะเข้าศึกษา นักศึกษาต่างชาติที่กำลังศึกษาและนักศึกษาต่างชาติที่กำลังจะเสนอเรื่องขออนุมัติปริญญาเพื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว การใช้อำนาจวินิจฉัยเพิกถอนใบอนุญาตสนับสนุนการออกวีซ่ายังอาจก่อให้เกิดปัญหาทางกฎหมายในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม (unfair discrimination) ในวงการศึกษาของอังกฤษ อันอาจก่อให้เกิดความไม่ยุติธรรม (unfairness) จากการดำเนินกิจกรรมทางปกครองของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแห่งสหราชอาณาจักร
       แม้ว่ามหาวิทยาลัยลอนดอนเมโทรโพลิแทนในฐานะที่เป็นผู้ถูกเพิกถอนใบอนุญาตได้อาศัยมาตรการเยียวยาทางปกครองผ่านกลไกการใช้สิทธิอุทธรณ์โต้แย้งคำวินิจฉัยทางปกครองของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแห่งสหราชอาณาจักรอันถือเป็นหน่วยงานทางปกครองดังกล่าวและมหาวิทยาลัยลอนดอนเมโทรโพลิแทนในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากคำวินิจฉัยของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแห่งสหราชอาณาจักรได้นำคดี[5]มาฟ้องต่อศาลปกครองอังกฤษ (Administrative Court)[6] และในเวลาต่อมาศาลได้สั่งคุ้มครองชั่วคราว (temporary injunction) แก่มหาวิทยาลัยลอนดอนเมโทรโพลิแทนเพื่อคุ้มครองนักศึกษาต่างชาติให้นักศึกษาต่างชาติไม่ต้องถูกเพิกถอนวีซ่านักเรียนและสามารถกลับเข้ามาเรียนในหลักสูตรต่างๆหรือดำเนินการต่างๆ เพื่อยื่นเรื่องขอสำเร็จการศึกษาได้ภายในระยะเวลาที่ระบุเอาไว้ในวีซ่าของนักศึกษาแต่ละคน แต่อย่างไรก็ดี อาจมีปัญหาในทางกฎหมายตามมาว่ากรณีวินิจฉัยเพิกถอนใบอนุญาตสนับสนุนการออกวีซ่าให้นักศึกษาต่างชาติถือเป็นการเลือกปฏิบัติต่อนักศึกษาต่างชาติโดยไม่เป็นธรรมหรือไม่ เพราะการวินิจฉัยเพิกถอนใบอนุญาตสนับสนุนการออกวีซ่าให้นักศึกษาต่างชาติของมหาวิทยาลัยลอนดอนเมโทรโพลิแทนดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อสิทธิในการศึกษาของนักศึกษาต่างชาติที่กำลังศึกษาอยู่ ณ ขณะนั้นโดยตรง เช่น นักศึกษาต่างชาติที่กำลังทำสารนิพนธ์เพื่อสำเร็จการศึกษาในภาคสุดท้ายของปีการศึกษา นักศึกษาต่างชาติที่ได้จ่ายค่าเล่าเรียนในปีการศึกษาต่อไปเป็นการล่วงหน้าไปแล้ว และนักศึกษาที่ได้เดินทางมายังประเทศอังกฤษแล้ว โดยเสียค่าโดยสารเครื่องบินมาจากประเทศของตนเป็นจำนวนมาก เป็นต้น
       บทความฉบับนี้ ประสงค์ที่จะอภิปรายว่านโยบายการเข้าเมือง (Immigration Policy) และนโยบายการศึกษา (Education Policy) ของประเทศอังกฤษ ขัดหรือแย้งกับหลักการส่งเสริมความเท่าเทียม (Equality Aspects) หรือก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติ (discrimination) ต่อนักศึกษาต่างชาติ ที่ไม่ใช่นักศึกษาผู้ถือสัญชาติอังกฤษหรือสัญชาติอื่นๆ ในสหภาพยุโรป นอกจากนี้ บทความฉบับนี้ประสงค์ที่จะวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อนักศึกษาไทยที่ตัดสินใจจะมาศึกษาต่อยังสหราชอาณาจักรในอนาคต
       
       [2] การสนับสนุนการออกวีซ่าให้นักศึกษาต่างชาติของมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษ
       การสนับสนุนการออกวีซ่าให้นักศึกษาต่างชาติของมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษ ถือเป็นกลไกที่สำคัญประการหนึ่งในการรับนักศึกษาต่างชาติ โดยการที่มหาวิทยาลัยต่างๆ จะรับนักศึกษาต่างชาติเข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยของตนได้นั้น ต้องกำหนดขั้นตอนและกระบวนการในการรับสมัครนักศึกษาต่างชาติ (recruitment)  เช่น ขั้นตอนการยื่นใบสมัครเข้าศึกษาของนักศึกษาต่างชาติ กระบวนการคัดเลือกนักศึกษาต่างชาติ กระบวนการพิจารณารับนักศึกษาต่างชาติเข้าเรียนโดยผู้ดูแลหลักสูตรระดับต่างๆ และขั้นตอนการออกใบตอบรับเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยสำหรับนักศึกษาต่างชาติ เป็นต้น
       อนึ่ง การรับนักศึกษาต่างชาติถือเป็นกลไกหรือกระบวนการที่มีจุดคาบเกี่ยวระหว่างนโยบายการศึกษาและนโยบายการเข้าเมืองของประเทศอังกฤษ เพราะกลไกหรือกระบวนการดังกล่าวย่อมเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาต่างชาติเข้ามาแสวงหาประโยชน์ทางการศึกษาและประโยชน์ทางด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมด้านการศึกษา เช่น การใช้ชีวิตในประเทศอังกฤษตามเวลาที่กำหนดไว้ในวีซ่าอนุญาตให้เข้าเมือง การทำธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและการประกอบกิจกรรมท่องเที่ยวหรือนันทนาการระหว่างที่พำนักอยู่ในประเทศอังกฤษ เป็นต้น ดังนั้น รัฐหรือฝ่ายปกครองที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับกิจการการศึกษาและกิจการการตรวจคนเข้าเมืองของประเทศอังกฤษจึงจำเป็นต้องกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการควบคุมและกำกับดูแลกระบวนการรับนักศึกษาต่างชาติให้เข้าเรียนในหลักสูตรต่างๆของมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษ
       ฝ่ายปกครองของอังกฤษที่มีหน้าที่กำกับดูแลการเข้าเมืองและการอาศัยของคนต่างชาติ จึงได้อำนาจตามกฎหมาย[7]กำหนดวิธีการควบคุมตรวจสอบการรับนักศึกษาต่างชาติของมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษให้มีมาตรฐานและมีแนวทางที่สอดคล้องกันในการปฏิบัติโดยผ่านการใช้อำนาจหน่วยงานของรัฐในการออกใบอนุญาตรับนักศึกษาต่างชาติของมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษ (university's licence to recruit international students)[8] มหาวิทยาลัยที่ได้รับใบอนุญาตดังกล่าวจึงจะมีสิทธิในการรับนักศึกษาต่างชาติและมีอำนาจตามกฎหมายในการออกใบตอบรับนักศึกษาต่างชาติเข้ามาศึกษาในสถาบันการศึกษาของตนได้ (Universities and Colleges Admissions) อนึ่ง ใบอนุญาตรับนักศึกษาต่างชาติของมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการเข้าเมือง อาจกำหนดสถานะความน่าเชื่อถือของมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษ (Highly Trusted Sponsor Status)[9] ไว้ในใบอนุญาต อันถือเป็นการกำหนดความน่าเชื่อถือสำหรับกระบวนการรับนักศึกษาต่างชาติของมหาวิทยาลัยในอังกฤษโดยตรงประการหนึ่ง
       ทั้งนี้ เมื่อมหาวิทยาลัยที่ได้รับสิทธิในการรับนักศึกษาต่างชาติและมีอำนาจตามกฎหมายในการออกใบตอบรับนักศึกษาต่างชาติเข้ามาศึกษาในสถาบันการศึกษาของตนได้แล้ว มหาวิทยาลัยก็จะออกใบตอบรับเข้าศึกษา (Universities and Colleges Admissions Service (UCAS) Offer Letter) ให้แก่นักศึกษาต่างชาติที่ผ่านเกณฑ์คัดเลือกให้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษ (entrance requirements) เช่น ความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษ หลักฐานเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงิน ผลการเรียนในอดีตที่ผ่านมาและประสบการณ์ในการทำงาน เป็นต้น โดยในใบตอบรับเข้าศึกษาจะระบุถึงระยะเวลาที่เริ่มต้นเข้าศึกษาหลักสูตรและระยะเวลาสิ้นสุดการศึกษาหลักสูตรเอาไว้ เพื่อให้นักศึกษาต่างชาติได้ยื่นขอพิจารณาวีซ่านักเรียนตามระยะเวลาหรือกำหนดเวลาที่ถูกระบุเอาไว้ในใบตอบรับเข้าศึกษา
       
       [3] เหตุและผลแห่งการเพิกถอนใบอนุญาตสนับสนุนการออกวีซ่าให้นักศึกษาต่างชาติ
       สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแห่งสหราชอาณาจักรได้กล่าวอ้างมาในคำวินิจฉัยเพิกถอนใบอนุญาตสนับสนุนการออกวีซ่าให้นักศึกษาต่างชาติของมหาวิทยาลัยลอนดอนเมโทรโพลิแทนว่า มหาวิทยาลัยลอนดอนเมโทรโพลิแทนไม่ได้ปฏิบัติตามกลไกการควบคุมการเข้าเมือง (system of immigration control) ตามที่กำหนดไว้เกี่ยวกับการตรวจสอบคุณสมบัตินักศึกษาต่างชาติและไม่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในการออกใบตอบรับเข้าศึกษาสำหรับนักศึกษาต่างชาติอย่างเคร่งครัด ซึ่งย่อมก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ชาวต่างชาติจะอาศัยประโยชน์จากนโยบายการรับนักศึกษาต่างชาติของประเทศอังกฤษมาเป็นช่องทางในการหลบหนีเข้าเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
       อย่างไรก็ดี ผลของคำวินิจฉัยดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อนักศึกษาต่างชาติที่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยลอนดอนเมโทรโพลิแทน ณ เวลานั้นทั้งหมดทุกคน เพราะนักศึกษาต่างชาติที่กำลังศึกษา นักศึกษาต่างชาติที่กำลังอยู่ในระหว่างทำภาคนิพนธ์หรือวิทยานิพนธ์เพื่อยื่นขออนุมัตรใบปริญญา และนักศึกษาต่างชาติที่กำลังอยู่ในช่วงระหว่างรออนุมัติผลสำเร็จหลักสูตรการศึกษาจากทางมหาวิทยาลัย ต่างก็ได้รับผลกระทบจากคำวินิจฉัยดังกล่าว เพราะคำวินิจฉัยเพิกถอนใบอนุญาตสนับสนุนการออกวีซ่าให้นักศึกษาต่างชาติของมหาวิทยาลัยลอนดอนเมโทรโพลิแทน มีผลผูกพันนักศึกษาต่างชาติ ทำให้นักศึกษาต่างชาติต้องออกจากประเทศอังกฤษภายใน 60 วัน นับตั้งแต่มหาวิทยาลัยได้รับคำวินิจฉัยดังกล่าว
       อนึ่ง ผลของคำวินิจฉัยดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อวงการศึกษาของอังกฤษและนโยบายการเปิดสู่สากลของมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษ โดยอาจมีประเด็นที่น่าสนใจอยู่หลายประเด็น กล่าวคือ ประเด็นแรก คำวินิจฉัยของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแห่งสหราชอาณาจักรย่อมไม่เพียงส่งผลต่อนักศึกษาต่างชาติที่มีคุณสมบัติที่ไม่ตรงตามมาตรฐานการรับนักศึกษาต่างชาติเข้าเมืองมาศึกษาในประเทศอังกฤษเท่านั้น หากแต่คำวินิจฉัยดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อนักศึกษาที่มีคุณสมบัติตรงตามมาตรฐานการรับนักศึกษาต่างชาติเข้าเมืองมาศึกษาในประเทศอังกฤษอีกด้วย เท่ากับว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวส่งผลอย่างกว้างขวางทำให้นักศึกษาต่างชาติที่มีความตั้งใจจะเข้ามาศึกษาหาความรู้และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยและสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแห่งสหราชอาณาจักรก็ได้รับผลกระทบโดยรวมไปพร้อมๆ กับนักศึกษาต่างชาติที่ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การเข้าเมืองและมีความตั้งใจจะใช้ช่องทางจากนโยบายการรับนักศึกษาต่างชาติ เพื่อการหลบหนีเข้าเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ด้วยเหตุนี้ ผลของคำวินิจฉัยดังกล่าวจึงสร้างความไม่เป็นธรรม (injustice) ต่อนักศึกษาต่างชาติที่ปฏิบัติตามกรอบนโยบายการรับเข้าศึกษาของมหาวิทยาลัย โดยมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแห่งสหราชอาณาจักรกำหนดเอาไว้ตั้งแต่แรกและไม่ได้มีเจตนาที่จะอาศัยช่องว่างของกฎหมายเพื่อหลบหนีเข้าเมืองแต่อย่างใด
       ประการที่สอง คำวินิจฉัยของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแห่งสหราชอาณาจักรดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อนโยบายการเปิดสู่สากลของมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษ (internationalisation)[10] เพราะผลของคำวินิจฉัยดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อนักศึกษาต่างชาติ ที่กำลังจะเข้ามาศึกษาหรือกำลังศึกษาอยู่ แม้ว่าการปฏิบัติตามมาตรการการเข้าเมืองอย่างเคร่งครัดจะส่งผลดีต่อกลไกการตรวจคนเข้าเมืองและการคัดกรองนักศึกษาต่างชาติเข้าเมือง อย่างไรก็ดี การปฏิบัติอย่างเคร่งครัดอาจสวนทางการกับการเปิดเสรีภาพในการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานเพื่อการศึกษา (freedom of movement) ที่มุ่งเน้นให้นักศึกษาสามารถเดินทางหรือโยกย้ายถิ่นฐานระหว่างประเทศเพื่อประโยชน์ในการศึกษาหาความรู้ได้
       ประการที่สาม คำวินิจฉัยของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแห่งสหราชอาณาจักรดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อการจัดการหลักสูตร (international curriculum management) เพราะการจัดการหลักสูตรที่เปิดรับนักศึกษานานาชาติต่างๆ จำต้องมีการวางแผนเกี่ยวกับการรับนักศึกษานานาชาติ การจัดกิจกรรมอื่นๆ เพื่อสนับสนุนการศึกษาในหลักสูตรนานาชาติและการวางแผนจัดหารายได้จากนักศึกษาต่างชาติ หากแต่คำวินิจฉัยดังกล่าวอาจกระทบต่อการวางแผนการรับนักศึกษาต่างชาติในระยะยาวและมหาวิทยาลัยอาจต้องพัฒนากลไกหรือระบบใหม่ๆ เพื่อป้องกันมิให้มหาวิทยาลัยถูกถอนใบอนุญาตรับนักศึกษาต่างชาติของมหาวิทยาลัย
       
       [4] การออกคำวินิจฉัยของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแห่งสหราชอาณาจักรถือเป็นการเลือกปฏิบัติต่อนักศึกษาต่างชาติหรือไม่?
       ในปัจจุบันประเทศอังกฤษได้กำหนดมาตรการต่อต้านการเลือกปฏิบัติและส่งเสริมความเท่าเทียมเอาไว้เป็นการเฉพาะ ได้แก่ กฎหมาย Equality Act 2010 อันเป็นบทบัญญัติที่สร้างความเท่าเทียมระหว่างประชาชนชาวอังกฤษและชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศอังกฟษ โดยยืนอยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมและการขจัดการเลือกปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนบทพื้นฐานของความหลายหลายความหลากหลายตามลักษณะของบุคคลที่มีความแตกต่างกันในด้านเชื้อชาติ สัญชาติ และสีผิว โดยที่ภาครัฐหรือภาคเอกชนไม่อาจอ้างเหตุใดๆ อันเป็นการกีดกันหรือเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อประชาชนหรือชาวต่างชาติ
       ทั้งนี้ การออกคำวินิจฉัยของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแห่งสหราชอาณาจักรจึงอาจถือเป็นการเลือกปฏิบัติต่อนักศึกษาต่างชาติที่กำลังศึกษาของมหาวิทยาลัยลอนดอนเมโทรโพลิแทนได้ เพราะในการออกคำวินิจฉัยดังกล่าวสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแห่งสหราชอาณาจักรอันเป็นหน่วยงานทางปกครองได้ใช้อำนาจในการทำคำวินิจฉัยโดยคำนึงถึง การใช้เขตอำนาจของรัฐโดยอาศัยหลักสัญชาติ (Nationality Principle) ที่เหนือกว่าหลักความเป็นมนุษย์ (principle of humanity)[11] กล่าวคือ รัฐบาลอังกฤษได้มองเห็นถึงความสำคัญในเรื่องของการต่อต้านการเข้าเมืองที่ไม่เป็นเหมาะสมหรือไม่ตรงตามหลักเกณฑ์ที่รัฐวางไว้มากไปกว่าหลักของความเท่าเทียม (principle of equality)[12] ซึ่งรัฐอังกฤษไม่ได้ให้ความสนใจในประเด็นของความเท่าเทียมของผู้ที่มีสัญชาติต่างๆ ทั้งสัญชาติอังกฤษและสัญชาติอื่นๆ ว่าผู้มีสัญชาติต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในประเทศอังกฤษควรมีสิทธิในการศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือมีสิทธิจะเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน หากแต่รัฐบาลอังกฤษมองแต่เพียงมุมของการพยายามผลักดันให้เกิดมาตรฐานตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าเมือง[13]หรือมาตรฐานในการสนับสนุนวีซ่าให้ถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการเข้าเมืองของอังกฤษเท่านั้น
       อนึ่ง การออกคำวินิจฉัยของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแห่งสหราชอาณาจักรจึงอาจถือเป็นการกีดกันโดยตรง (discrimination) ต่อนักศึกษาต่างชาติ เพราะไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาต่างชาติที่มีความตั้งใจจะเข้ามาศึกษาหาความรู้และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยและสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแห่งสหราชอาณาจักรก็ได้รับผลกระทบโดยรวมไปพร้อมๆ กับนักศึกษาต่างชาติที่ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การเข้าเมืองและมีความตั้งใจจะใช้ช่องทางจากนโยบายการรับนักศึกษาต่างชาติ เพื่อการหลบหนีเข้าเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ด้วยเหตุนี้ จึงอาจถือได้ว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นการสร้างบรรทัดฐานหรือวางหลักเกณฑ์เพื่อกีดกันไม่ให้นักศึกษาต่างชาติในทุกกรณีหรือทุกรูปแบบสามารถเข้ารับการศึกษาได้ตามปกติ จากผลของการเพิกถอนใบอนุญาตสนับสนุนการออกวีซ่าให้นักศึกษาต่างชาติ
       อนึ่ง ในการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการเข้าเมือง (immigration control compliance) กับการคำนึงถึงหลักเกณฑ์ว่าด้วยความหลากหลายและความเท่าเทียม (equality and diversity implications) ของฝ่ายปกครองอังกฤษที่มีหน้าที่ในการตรวจคนเข้าเมืองและฝ่ายปกครองที่มีหน้าที่ดำเนินกิจกรรมทางการศึกษาอาจมีข้อพิจารณา กล่าวคือ หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการตรวจคนเข้าเมืองและการพิจารณาสัญชาติของบุคคล ได้รับการยกเว้นไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามหน้าที่ส่งเสริมความเท่าเทียมของหน่วยงานรัฐตามกฎหมายส่งเสริมความเท่าเทียมของอังกฤษหรือพระราชบัญญัติส่งเสริมความเท่าเทียม ค.ศ. 2010 (immigration and nationality functions are exempt from the public sector equality duty of the Equality Act 2010) ในทางตรงกันข้าม มหาวิทยาลัยในฐานะที่เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ดำเนินบริการสาธารณะด้านการศึกษา กลับไม่ได้รับการยกเว้นเหมือนกับหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการตรวจคนเข้าเมืองและการพิจารณาสัญชาติของบุคคล โดยมหาวิทยาลัยจำต้องปฏิบัติตามหน้าที่ส่งเสริมความเท่าเทียมของหน่วยงานรัฐ ตามกฎหมายส่งเสริมความเท่าเทียมของอังกฤษหรือพระราชบัญญัติส่งเสริมความเท่าเทียม ค.ศ. 2010[14]
       ดังนี้เองจึงอาจเป็นการยากสำหรับการปฏิบัติตามบทบาทและอำนาจหน้าที่ของมหาวิทยาลัยของประเทศอังกฤษในปัจจุบันเพราะมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษไม่เพียงแต่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ในการส่งเสริมความเป็นสากลของมหาวิทยาลัยในการรับนักศึกษาต่างชาติเข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยและปฏิบัติหน้าที่ในการส่งเสริมความเท่าเทียมต่อการปฏิบัติต่อนักศึกษาต่างชาติในกรณีต่างๆ แต่ในขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยก็มีบทบาทและอำนาจหน้าที่ที่ได้รับตามที่ใบอนุญาตสนับสนุนการออกวีซ่าให้นักเรียนต่างชาติได้สถาปนาสิทธิและกำหนดหน้าที่ในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าเมืองเอาไว้
       
       [5] บทเรียนจากกรณีการเพิกถอนใบอนุญาตสนับสนุนการออกวีซ่าให้นักศึกษาต่างชาติของมหาวิทยาลัยลอนดอนเมโทรโพลิแทนต่อนักศึกษาไทย
       การออกคำวินิจฉัยของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแห่งสหราชอาณาจักรได้ส่งผลกระทบต่อนักศึกษาไทยที่กำลังศึกษาอยู่ ณ มหาวิทยาลัยลอนดอนเมโทรโพลิแทนในขณะนั้น ทำให้นักศึกษาไทยที่กำลังศึกษาอยู่ในหลักสูตรต่างๆ และนักศึกษาไทยที่กำลังทำสารนิพนธ์เพื่อสำเร็จการศึกษาในภาคสุดท้ายของปีการศึกษาไม่สามารถศึกษาอยู่ในประเทศอังกฤษจนครบระยะเวลาที่กำหนดไว้ในวีซ่าหรือกำหนดเวลาที่ได้รับอนุญาตตั้งแต่แรกเข้าศึกษา หากแต่โดยผลของคำวินิจฉัยดังกล่าวให้ถือว่าวีซ่าของนักศึกษาต่างชาติจะหมดอายุภายใน 60 วันโดยอัตโนมัติ นับตั้งแต่มีคำวินิจฉัยจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแห่งสหราชอาณาจักรดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ นักศึกษาไทยที่กำลังศึกษาอยู่ ณ ขณะนั้น จึงได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากจากปัญหาและอุปสรรคดังกล่าว
       ดังนั้น ผู้เขียนบทความฉบับนี้จึงให้คำแนะนำว่า หากนักศึกษาไทยประสงค์ที่จะสมัครเรียนในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาในประเทศอังกฤษนั้น นักศึกษาไทยจำต้องตรวจสอบรายละเอียดในเรื่องของสถานะความน่าเชื่อถือของมหาวิทยาลัย (Trusted Status) ว่ามหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาดังกล่าวได้รับสถานะความน่าเชื่อถือจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแห่งสหราชอาณาจักรและจากหน่วยงานของรัฐอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเข้าเมืองของนักศึกษาต่างชาติมากน้อยเพียงใด โดยนักศึกษาไทยที่ต้องการมาศึกษายังสหราชอาณาจักร ควรพิจารณาว่าสถาบันการศึกษาที่ต้องการเข้ารับการศึกษาเคยมีประวัติในการถูกเพิกถอนใบอนุญาตหรือสถานะเช่นว่านั้นหรือไม่ นอกจากนี้ นักศึกษาไทยจำต้องประเมินความเสียงในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการศึกษาในประเทศอังกฤษ เพราะด้วยผลแห่งคำวินิจฉัยดังกล่าว เท่ากับว่ามหาวิทยาลัยทุกมหาวิทยาลัยในอังกฤษที่มีการเปิดการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาต่างชาติ ก็อาจได้รับความเสียงจากการถูกเพิกถอนสถานะหรือใบอนุญาตเช่นว่านี้ได้ 
       
       [6] บทสรุป
       ด้วยผลของคำวินิจฉัยเพิกถอนใบอนุญาตสนับสนุนการออกวีซ่าให้นักศึกษาต่างชาติของมหาวิทยาลัยลอนดอนเมโทรโพลิแทนจึงย่อมก่อให้ความระมัดระวังและความยุ่งยากในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมความเท่าเทียมและการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าเมืองสำหรับนักศึกษาต่างชาติ เพราะมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษไม่เพียงแต่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ในการส่งเสริมความเป็นสากลของมหาวิทยาลัยในการรับนักศึกษาต่างชาติเข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยและปฏิบัติหน้าที่ในการส่งเสริมความเท่าเทียมต่อการปฏิบัติต่อนักศึกษาต่างชาติในกรณีต่างๆ แต่ในขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยก็มีบทบาทและอำนาจหน้าที่ที่ได้รับตามที่ใบอนุญาตสนับสนุนการออกวีซ่าให้นักเรียนต่างชาติได้สถาปนาสิทธิและกำหนดหน้าที่ในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าเมืองเอาไว้ โดยมหาวิทยาลัยในอังกฤษจำต้องรักษาสถานะความน่าเชื่อถือของมหาวิทยาลัย ที่ได้รับจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแห่งสหราชอาณาจักรเอาไว้ เพื่อเป็นเครื่องประกันว่าธุรกิจการรับนักศึกษาต่างชาติของตนจะไม่หยุดชะงักหรือสะดุดหยุดลงด้วยอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นจากการออกคำวินิจฉัยของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในฐานะที่เป็นฝ่ายปกครองที่มีหน้าที่ในการกำกับดูแลการเข้าเมืองของนักศึกษาต่างชาติในอนาคต
       นอกจากนี้ นักศึกษาต่างชาติและนักศึกษาไทยในฐานะที่เป็นนักศึกษาต่างชาติ จึงจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบรายละเอียดและประเมินความเสี่ยงที่อาจะเกิดขึ้นจากการเพิกถอนใบอนุญาตสนับสนุนการออกวีซ่าให้นักศึกษาต่างชาติของมหาวิทยาลัยที่อาจมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต เพราะการเพิกถอนใบอนุญาตดังกล่าวไม่เพียงส่งผลต่อการศึกษาของนักศึกษาต่างชาติเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อการจัดการชีวิตส่วนตัว เวลาที่อาจสูญเสียไปโดยใช่เหตุและค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากผลกระทบจากนโยบายและมาตรการการเข้าเมืองและการศึกษาของประเทศอังกฤษในอนาคต
       
       
       
       
       
       [1] Home Office UK Border Agency. (2012). London Metropolitan University’s licence to sponsor students is withdrawn. Retrieved July 14, 2013, from http://www.ukba.homeoffice.gov.uk/sitecontent/newsarticles/2012/august/28-LMU-revoked1
       
       
       [2] Clayton, G. & Wray, H. (2012). ‘Editorial’. Journal of Immigration Asylum and Nationality Law, 26 (4), 310-311.
       
       
       [3] Guardian. (2012). London Metropolitan University visa licence revoked: Q&A. Retrieved July 14, 2013, from http://www.guardian.co.uk/education/2012/aug/30/london-metropolitan-university-visa-revoked   
       
       
       [4] Taylor, K. (2012). The Vandals at the Gate: Defending the profession in an age of austerity—the view from the UCU (UK). London: University and College Union, pp 1-5.
       
       
       [5] คดี R (on the application of Minir and another) v Secretary of State for the Home Department [2012] UKSC32  และคดี R (on the application of Alvi) v Secretary of State for the Home Department [2012] UKSC33
       
       
       [6] โปรดดูเขตอำนาจ (jurisdiction) ของศาลปกครองอังกฤษและกระบวนการทบทวนการกระทำทางปกครองโดยศาล (procedure of Judicial Review) ใน HM Courts & Tribunals Service. (2013).  Administrative Court. Retrieved July 14, 2013, from http://www.justice.gov.uk/courts/rcj-rolls-building/administrative-court
       
       
       [7] โปรดดูเพิ่มเติมในพระราชบัญญัติเข้าเมืองของอังกฤษ ค.ศ. 1971 (Immigration Act 1971) ใน National Achieves. (2013). Immigration Act 1971. Retrieved July 14, 2013, from http://www.legislation.gov.uk/ukpga/1971/77/contents
       
       
       [8] Home Office. (2013). Tier 4 of the Points Based System - Policy Guidance. London: Home Office, pp 1-77.
       
       
       [9] โปรดดูสถานะของมหาวิทยาลัยต่างๆในประเทศอังกฤษที่ได้รับสถานะความน่าเชื่อถือในการรับนักศึกษาต่างชาติเข้ามาศึกษาในหลักสูตรต่างๆ (Trusted Sponsor Status) ใน Home Office. (2013). REGISTER OF SPONSORS (Tier 4): Register of Sponsors Licensed Under the Points-based System. London: Home Office, pp 1-116.
       
       
       [10] Sweeney, S. (2013).Going Mobile: Internationalisation, mobility and the European Higher Education Area. York: Higher Education Academy, p 37.
       
       
       [11] Cole, P. (2000). Philosophies of Exclusion: Liberal Political Theory and Immigration. Edinburgh: Edinburgh University Press, p 87.
       
       
       [12] Bauder, H. (2003). ‘Equality, Justice and the Problem of International Borders: The Case of Canadian Immigration Regulation’. ACME: An International E-Journal for Critical Geographies, 2 (2), pp 167-182.
       
       
       [13] ฝ่ายปกครองที่ทำหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองและฝ่ายปกครองที่ทำหน้าที่พิจารณาในเรื่องของสัญชาติในประเทศอังกฤษ ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ในการส่งเสริมความเท่าเทียมของภาครัฐ (public sector equality duty) ที่ระบุเอาไว้ในพระราชบัญญัติส่งเสริมความเท่าเทียมของอังกฤษ ค.ศ. 2010 โปรดดู Equality and Human Rights Commission. (2012). FAQs on the equality duty. Retrieved July 14, 2013, from http://www.equalityhumanrights.com/advice-and-guidance/public-sector-equality-duty/faqs-on-the-equality-duty/
       
       
       [14] Equality Challenge Unit. (2013). How should we consider equality and diversity as a Tier 4 student sponsor?. Retrieved July 14, 2013, from http://www.ecu.ac.uk/your-questions/how-should-we-consider-equality-and-diversity-as-a-tier-4-student-sponsor
       


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1869
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 19:34 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)