ครั้งที่ 322

28 กรกฎาคม 2556 20:51 น.

       สำหรับวันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม 2556
               
              “วันพิพากษาคดีรถดับเพลิง”
       
       ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ ผมจะขอเขียนเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งซึ่งจริง ๆ แล้วควรจะจบไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 นั่นก็คือเรื่องการพิจารณาคดีรถและเรือดับเพลิงโดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งเรื่องนี้ผมมองว่าหากเป็นไปตาม “ข้อคิดเห็น” ที่ผมได้เคยเสนอไปแล้วหลายครั้ง โอกาสที่จะเกิดการปฏิวัติรัฐประหาร “ในวันข้างหน้า” ก็จะหมดไปโดยไม่ต้องไปเขียนหรือไปทำอะไรเลย เพราะนี่คือโอกาสที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย หาก “ศาล” ยินยอมพร้อมใจที่จะ “ปฏิเสธ” การรัฐประหารครับ         
        คงต้องมาเรียงลำดับความเป็นมาของคดีรถและเรือดับเพลิงกันอย่างสั้น ๆ ก่อน เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่กรุงเทพมหานครซื้อยานพาหนะดับเพลิงและอุปกรณ์ในการบรรเทาสาธารณภัยจากบริษัทเอกชนที่มาจากประเทศออสเตรียในปี พ.ศ. 2546 และต่อมาได้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรร้องเรียนไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษและคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ส่งสำนวนให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2549  จากนั้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศและได้มีการออกประกาศและคำสั่งจำนวนมากเพื่อนำมาเป็นเครื่องมือในการ “บริหารจัดการ” ประเทศในช่วงเวลาดังกล่าว คปค. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. จำนวน 9 คน และได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) จำนวน 12 คนโดยให้มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการดำเนินงานหรือโครงการที่ได้รับอนุมัติหรือเห็นชอบโดยบุคคลในคณะรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีซึ่งพ้นจากตำแหน่งโดยผลของการรัฐประหารที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นไปโดยทุจริตหรือประพฤติมิชอบ ซึ่ง คตส. ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ คปค. ได้มีประกาศแต่งตั้ง ดังนั้น คตส. จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีรถและเรือดับเพลิงดังกล่าว แต่ คตส. ก็ไม่สามารถสรุปสำนวนการสอบสวนคดีรถและเรือดับเพลิงให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนดได้แม้ว่าจะได้รับการต่ออายุแล้วก็ตาม คตส. จึงได้ส่งมอบงานต่อให้กับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งก็เป็นชุดเดิมที่แต่งตั้งโดย คปค. นั่นเอง
                 ภายหลังจากที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับโอนสำนวนคดีรถและเรือดับเพลิงจาก คตส. มาแล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินการไต่สวนข้อ เท็จจริง ซึ่งต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ได้ส่งรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงถึงอัยการสูงสุดกล่าวหาบุคคลจำนวนหนึ่ง อัยการสูงสุดได้พิจารณารายงานดังกล่าวแล้วเห็นว่าไม่สมบูรณ์ จึงได้แจ้งข้อไม่สมบูรณ์ดังกล่าวไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายหลังจากที่อัยการสูงสุดและคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาพยานหลักฐานที่ไม่สมบูรณ์และรวบรวมพยานหลักฐานให้สมบูรณ์ก็ปรากฏว่า คณะทำงานฝ่าย ป.ป.ช. กับคณะทำงานฝ่ายอัยการต่างก็ยังคงมีความเห็นไม่ตรงกันในการฟ้องหรือไม่ฟ้องผู้ต้องหาบางคน  ในที่สุด คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติให้สภาทนายความเป็นผู้ทำหน้าที่ในการยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา 
                 นี่คือลำดับเหตุการณ์อย่างย่อ ๆ ของคดีรถและเรือดับเพลิงที่กำลังเข้าสู่การพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในวันอังคารที่ 6 สิงหาคม 2556 ที่จะถึงนี้ครับ                                                                               
                 จากข้อเท็จจริงที่กล่าวไปแล้วข้างต้น จะเห็นได้ว่า คณะรัฐประหารได้ใช้อำนาจของตนเข้าไปเกี่ยวข้องกับคดีรถและเรือดับเพลิงในหลายส่วนด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. และการแต่งตั้งคณะกรรมการ คตส. ซึ่งหากพิจารณาถึงการยอมรับการใช้อำนาจของคณะรัฐประหารซึ่งได้วางหลักไว้โดยศาลฎีกาในคำพิพากษาฎีกาที่ 1662/2505 ที่ว่า“ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อใน พ.ศ. 2501 คณะปฏิวัติได้ทำการยึดอำนาจปกครองประเทศไทยได้เป็นผลสำเร็จ หัวหน้าคณะปฏิวัติย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบ้านเมือง ข้อความใดที่หัวหน้าคณะปฏิวัติสั่งบังคับประชาชน ก็ต้องถือว่าเป็นกฎหมาย แม้พระมหากษัตริย์จะมิได้ทรงตราออกมาด้วยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎรหรือสภานิติบัญญัติของประเทศก็ตาม ฉะนั้น ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 21 ซึ่งประกาศคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติบังคับแก่ประชาชนดังกล่าวจึงเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในการปกครองในลักษณะเช่นนั้นได้ จำเลยจึงอาศัยอำนาจตามประกาศฉบับนี้ทำการจับกุมควบคุมโจทก์ได้โดยชอบ” ก็จะพบว่า คำพิพากษาดังกล่าวถูกนำมาใช้เป็นฐานในการใช้อำนาจของคณะรัฐประหารเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน แม้กระทั่งศาลฎีกาแผนกอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเองก็ได้ยืนยันหลักดังกล่าวไว้ในคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อม.1/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม.10/2552 ว่า คปค. มีฐานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์มีอำนาจเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียว
                อาจกล่าวได้ว่า การรัฐประหารถูกทำให้ “ชอบธรรม” โดยศาลฎีกาเป็นผู้ออกมาประทับตรารับรองก็ว่าได้ครับ !!!
                แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่า “ศาลไทย” จะรับรองผลการรัฐประหารดังที่ได้กล่าวไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้พิพากษาทุกคนจะมีความเห็นสอดคล้องกับแนวคิดดังกล่าว ตัวอย่างที่สำคัญที่ผมได้เคยนำมาเขียนไว้ในบทบรรณาธิการครั้งที่ 226 “อย่างนี้ถึงจะเรียกตุลาการภิวัตน์ !!!” ก็คือ เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2552 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มีคำพิพากษาคดี อม.9/2552 ในคดีที่นายยงยุทธ ติยะไพรัช จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ โดยศาลได้มีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกนายยงยุทธ ติยะไพรัช เป็นเวลา 2 เดือน และปรับ 4 พันบาท แต่เนื่องจากไม่ปรากฏว่านายยงยุทธ ติยะไพรัช เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี
                เรื่องคงไม่มีอะไรมาก หากไม่มีผู้พิพากษาคนหนึ่งได้แสดงความเห็นของตนไว้ในคำวินิจฉัยส่วนตัว โดย 1 ใน 9 ผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คือ นายกีรติ กาญจนรินทร์ ได้กล่าวไว้ในคำวินิจฉัยส่วนตัวซึ่งผมขอคัดลอกมากล่าวซ้ำไว้ในที่นี้อีกครั้งหนึ่ง ดังนี้
                 “ปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ผู้ร้องมีอำนาจฟ้อง (ยื่นคำร้อง) คดีนี้หรือไม่ เห็นว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ศาลเป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของประชาชน ศาลจึงต้องใช้อำนาจดังกล่าวเพื่อประชาชนอย่างสร้างสรรค์ในการวินิจฉัยคดี เพื่อให้เกิดผลในทางที่ขยายขอบเขตการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และหากศาลไม่รับใช้ประชาชน ย่อมทำให้ระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมถูกท้าทายและสั่นคลอน
               นอกจากนี้ศาลควรมีบทบาทในการพิทักษ์ความชอบด้วยกฎหมายรวมถึงพันธกรณีในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจากการใช้อำนาจโดยมิชอบและพันธกรณีในการปกปักรักษาประชาธิปไตยด้วย       
               การได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือการได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยความไม่ยินยอมพร้อมใจจากประชาชนส่วนใหญ่เท่ากับเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย การปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ย่อมเป็นการได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย
               หากศาลรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้ว เท่ากับศาลไม่ได้รับใช้ประชาชนจากการใช้อำนาจโดยมิชอบและเพิกเฉยต่อการปกปักรักษาประชาธิปไตยดังกล่าวมาข้างต้น ทั้งเป็นการละเลยหลักยุติธรรมตามธรรมชาติที่ว่าบุคคลใดจะรับประโยชน์จากความฉ้อฉลหรือความผิดของตนเองหาได้ไม่ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นวงจรอุบาทว์อยู่ร่ำไป ยิ่งกว่านั้นยังเป็นช่องทางให้บุคคลหรือคณะบุคคลดังกล่าวยืมมือกฎหมายเข้ามาจัดการสิ่งต่างๆ     
               ข้อเท็จจริงเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ปัจจุบันอยู่ในกระแสโลกาภิวัตน์ นานาอารยะประเทศส่วนใหญ่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยซึ่งไม่ยอมรับอำนาจที่ได้มาจากการปฏิวัติหรือรัฐประหาร ฉะนั้น เมื่อกาละและเทศะในปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้วจากอดีต ศาลจึงไม่อาจที่จะรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารว่าเป็นรัฎฐาธิปัตย์
               ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น เมื่อข้อเท็จจริงเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปเช่นกันว่า ผู้ร้องประกอบด้วยคณะกรรมการที่เป็นผลพวงของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.)  แต่ คปค. เป็นคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหาร เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 จึงเป็นการได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตยดังเหตุผลข้างต้น ย่อมไม่อาจถือได้ว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ แม้จะได้รับการนิรโทษกรรมภายหลังก็ตาม หาก่อให้เกิดอำนาจที่จะสั่งการหรือกระทำการใดอย่างรัฏฐาธิปัตย์  
               ผู้ร้องประกอบด้วยคณะบุคคลที่เป็นผลพวงของ คปค. ย่อมไม่มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันปราบปรามการทุจริต พุทธศักราช 2542 ด้วยเช่นกัน ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจฟ้อง (ยื่นคำร้อง) คดีนี้อำนาจฟ้อง (ยื่นคำร้อง) เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัย เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว ปัญหาว่าผู้คัดค้านจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบหรือไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัย”     
                 แม้ความเห็นดังกล่าวจะเป็นเพียงความเห็นของผู้พิพากษาเพียงคนเดียวที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงหลักที่ศาลฎีกาได้เคยวางเอาไว้ได้ แต่ความเห็นดังกล่าวก็เป็นความเห็นที่ “ถูกต้อง” ทางวิชาการซึ่งก็คงไม่มีใครปฏิเสธได้ ด้วยเหตุนี้เองที่ในช่วงเวลา 2 ปีเศษที่ผ่านมาจึงมีผู้นำเอาความเห็นของคุณกีรติฯ ไปใช้ในที่ต่าง ๆ มากมาย รวมถึงในการเรียนการสอนวิชากฎหมายมหาชนในมหาวิทยาลัยหลาย ๆ แห่งด้วยเพราะความเห็นดังกล่าวเปรียบเสมือนแสงเทียนในความมืดที่อย่างน้อยก็ทำให้เกิดความสว่างขึ้นในความคิดของคนกลุ่มหนึ่งได้ ซึ่งผมก็ค่อนข้างมั่นใจว่า คุณกีรติฯ คงไม่ใช่ผู้พิพากษาคนเดียวที่เห็นเช่นนั้น แต่คุณกีรติฯ เป็น “ผู้กล้า” ที่นำเสนอความคิดเห็นของตนเองออกมาในคำพิพากษาของตนครับ        
                 ในช่วงเวลาอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้คงเป็นช่วงเวลาที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะตัดสินคดีรถและเรือดับเพลิงซึ่งส่วนหนึ่งของคดีดังกล่าวก็มีที่มาจากการใช้อำนาจของคณะรัฐประหาร จริงอยู่ที่แม้ศาลฎีกาและศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะได้เคยรับรองความถูกต้องของสิ่งที่เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจของคณะรัฐประหารเอาไว้ แต่นี่ก็เป็นโอกาสที่ดีที่สุดโอกาสหนึ่งที่กำลังมาถึงในระยะเวลาอันใกล้ เป็นโอกาสที่เกิดขึ้นได้โดยไม่มีใคร “กล้า” โต้แย้ง เป็นโอกาสที่จะทำให้ผู้ที่จะทำรัฐประหาร “ไม่กล้า” ทำรัฐประหารอีกโดยไม่จำเป็นต้องไปนั่งเขียนอะไรมาควบคุมให้เสียเวลาเลย โอกาสที่ว่าจะมาถึงได้ก็ต้องอาศัยการที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง “พร้อมใจกัน” ปฏิเสธการรัฐประหารดังเช่นที่คุณกีรติฯ เคยทำมาแล้วครับ        
                 อย่างที่ผมเคยกล่าวไปแล้วในตอนต้นของบทบรรณาธิการครั้งนี้ว่า ข้อคิดเห็นของผมเป็นสิ่งที่ผมอยากให้เกิดขึ้นและผมก็คิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่ยากที่จะเกิดขึ้นด้วยเพราะหากอ่านคำวินิจฉัยของคุณกีรติฯ อย่างละเอียดก็จะพบว่า บรรดาเหตุผลทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในคำวินิจฉัยของคุณกีรติฯ เป็นเหตุผลที่ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนซ่อนเงื่อนเลย รวมทั้งยังไม่ได้เป็นเหตุผลที่มีขึ้นเพื่อช่วยคนหรือกลุ่มคนให้หลุดพ้นจากความผิด แต่เป็นเหตุผลที่มีฐานทางกฎหมายสนับสนุนอย่างชัดแจ้ง นั่นก็คือ มาตรา 113 แห่งประมวลกฎหมายอาญาที่บัญญัติไว้ว่า  
                 “ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อ      
                             (1) ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ        
                             (2) ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ หรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ หรือ
                             (3) แบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร      
                    ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต”
                  เพียงแต่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองปฏิเสธการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 และปฏิเสธการกระทำต่างๆ ที่เกิดจากหรือมีที่มาจากหรือเกี่ยวเนื่องกับการรัฐประหาร รวมทั้งนำเอาบทบัญญัติมาตรา 113 ข้างต้นมาใช้กับ คปค. ซึ่งเป็นผู้ทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ทุกอย่างก็จะกลับเข้าสู่ทิศทางที่ถูกต้อง และต่อไปก็จะทำให้ผู้ที่จะทำรัฐประหารคิดหนักเพราะโทษของการรัฐประหารก็คือประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตครับ
                       
                นี่คือโอกาสดีที่ประเทศไทยจะปฏิเสธการรัฐประหาร เป็นโอกาสดีที่กำลังจะมาถึงในเวลาอีกไม่กี่วันข้างหน้าครับ       
       บทบรรณาธิการครั้งนี้ปรับปรุงมาจากบทบรรณาธิการครั้งที่ 281 ซึ่งเผยแพร่ไปในเดือนมกราคม 2555 อันเป็นช่วงเวลาที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเริ่มต้นการพิจารณาคดีรถดับเพลิงครับ
        
       
       ขณะนี้ หนังสือ ”รวมบทบรรณาธิการจากเว็บไซต์ www.pub-law.net พ.ศ. 2544 - 2554” แจกไปหมดแล้ว ส่วนหนังสือ “รวมบทความกฎหมายมหาชนจากเว็บไซต์ www.pub-law.net เล่ม 11” ยังมีอยู่ผู้สนใจขอรับหนังสือดังกล่าว กรุณาส่งซองเปล่าขนาด A4 ติดแสตมป์จำนวน 25 บาทจ่าหน้าซองถึงตนเอง พร้อมแนบสำเนาบัตรแสดงตน (บัตรข้าราชการ บัตรนิสิตนักศึกษา) เพื่อแสดงตัวตนของผู้ขอและจดหมายขอบคุณเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญที่ได้จัดพิมพ์หนังสือรวมบทความฯ เล่ม 11 เพื่อแจกจ่ายผู้สนใจส่งมาที่ ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนพญาไท เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 หรือมารับด้วยตนเองที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันและเวลาราชการ
       
       ในสัปดาห์นี้เรามีบทความมานำเสนอเพียงบทความเดียวคือ บทความเรื่อง "การเพิกถอนใบอนุญาตสนับสนุนการออกวีซ่าให้นักศึกษาต่างชาติของมหาวิทยาลัยลอนดอนเมโทรโพลิแทน" โดยอาจารย์ ปีดิเทพ อยู่ยืนยง นักวิจัยประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเดอมงฟอร์ต สหราชอาณาจักร ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       
                พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม 256         
               
                 ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1868
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 13:16 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)