ครั้งที่ 320

30 มิถุนายน 2556 20:41 น.

       สำหรับวันจันทร์ที่ 1 ถึงวันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม 2556
       
       “ข้อพิพาทกรณีที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับอุเทนถวาย”
       
       ช่วงเวลา 2-3 เดือนที่ผ่านมา มีการ “แสดงพลัง” ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย เพื่อเรียกร้องขอให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “โอนกรรมสิทธิ์” ในที่ดินที่เป็นที่ตั้งของอุเทนถวายแต่เป็นของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “คืน” ให้แก่อุเทนถวาย “การแสดงพลัง” หลายๆ ครั้ง สร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้คนจำนวนมากรวมถึงบรรดาผู้ปกครองของเด็กๆ ที่เรียนอยู่ในโรงเรียนละแวกนั้น แม้ฝ่ายผู้แสดงพลังจะพยายาม “เดินบนพื้นผิวจราจร” อย่างสงบ แต่ด้วยชื่อเสียงและผลงานที่เคยมีมาในอดีต ก็ทำให้คนทั่วไปอดวิตกกังวลไม่ได้ !!!
       
       ผมมีส่วนเกี่ยวข้อง “โดยตรง” ในเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้นคือเมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมา แต่ด้วยสังคมของเราเป็นสังคมของ “คนทำไม่ได้พูด คนพูดไม่ได้ทำ” ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ จึงขอนำเรื่อง ข้อพิพาทกรณีที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับอุเทนถวายมาเล่าให้ฟัง
       
       ประวัติความเป็นมาอย่างสั้นๆ ของที่ดินอันเป็นที่ตั้งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้นมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 โดยท่านได้พระราชทานเงินที่ราษฎรบริจาคเพื่อสร้างพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งมีเหลืออยู่จำนวน 982,672.47 บาท เป็นทุนปลูกสร้าง “สถานอุดมศึกษา” เพื่อให้การศึกษาของชาติเจริญทัดเทียมนานาอารยประเทศ พร้อมทรงพระราชานุญาตให้ใช้ที่ดินผืนใหญ่ของพระคลังข้างที่ที่ตำบลปทุมวันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนมหาดเล็กซึ่งทรงพระกรุณาสถาปนาเป็นสถานอุดมศึกษา พระราชทานนามว่า “โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ซึ่งต่อมากลายเป็น “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” โดยในตอนแรก รัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเช่าที่ดินแปลงดังกล่าวเนื้อที่ 1,309 ไร่ ในราคา 1,200 บาท ต่อเดือน และให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสามารถหาประโยชน์จากการเก็บเงินค่าเช่าจากผู้เช่ารายอื่นในที่ดินแปลงนี้ รวมทั้งเมื่อกำหนดสัญญาเช่าระหว่างพระคลังข้างที่กับผู้เช่ารายอื่นสิ้นสุดลง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีอำนาจในการพิจารณาว่าจะให้เช่าต่อไปหรือไม่ด้วย ซึ่งโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย ก็เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ทำการเช่าช่วงที่ดินจำนวน 20 ไร่ 3 งาน 2 ตารางวา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2478 เป็นต้นมา
       
       ในปี พ.ศ. 2478 มีการตรา “พระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตำบลปทุมวัน อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พุทธศักราช 2482” ทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีสิทธิโดยชอบธรรมในการถือกรรมสิทธิ์และมีอำนาจจัดการที่ดินผืนดังกล่าวตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
       
       ในส่วนที่เกี่ยวกับโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย ซึ่งในปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย นั้น อุเทนถวายได้เช่าที่ดินอันเป็นที่ตั้งในปัจจุบันจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2478 มีหลักฐานปรากฏตามสัญญาเช่าหลายฉบับต่อเนื่องมา
       
       เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2518 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีหนังสือขอให้อุเทนถวายคืนพื้นที่เช่าเพราะมหาวิทยาลัยมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ที่ดินเพื่อขยายเขตการศึกษา อุเทนถวายได้ของบประมาณจากทางราชการมาปรับปรุงอาคารเรียนที่ชำรุดทรุดโทรม แต่ถูกคณะกรรมาธิการงบประมาณของสภาผู้แทนราษฎรตัดออกโดยอ้างว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกำลังขอที่ดินคืนจากอุเทนถวาย อุเทนถวายได้ขอให้กระทรวงศึกษาธิการนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2530 มีมติเห็นควรให้อุเทนถวายใช้ที่ดินเดิมต่อไปได้และให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณในการปรับปรุงอาคารสถานที่ให้กับอุเทนถวาย ต่อมาในปี พ.ศ. 2522 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพยายามที่จะขอให้มีการทบทวนมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวแต่เมื่อถึงวันประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ขอถอนเรื่องออกไป
       
       ในวันที่ 10 สิงหาคม 2544 มีการประชุมร่วมกันระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับอุเทนถวายเพื่อย้ายอุเทนถวายออกไป มีการเจรจากันหลายครั้งจนกระทั่งในวันที่ 11 มีนาคม 2547 ได้มีการทำเป็นบันทึกข้อตกลงระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับอุเทนถวายว่า อุเทนถวายตกลงขนย้ายและส่งมอบพื้นที่เช่าคืนให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภายในวันที่ 30 กันยายน 2548 หากมีความจำเป็นไม่สามารถขนย้ายและส่งมอบพื้นที่เช่าได้ทันกำหนดเวลาดังกล่าว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะพิจารณาผ่อนผันระยะเวลาการใช้สถานที่ให้ตามความจำเป็นแต่ไม่เกินระยะเวลา 1 ปี และอุเทนถวายจะต้องชำระค่าใช้ประโยชน์ที่ดินให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในอัตราปีละ 1,140,900 บาท ตามระยะเวลาที่ผ่อนผัน ต่อมาเมื่อครบกำหนดการผ่อนผันคือวันที่ 30 กันยายน 2548 อุเทนถวายถวายได้ขอต่อสัญญาเช่ากับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต่อไปอีก 1 ปี จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2549 เมื่อครบกำหนด อุเทนถวายก็เพิกเฉยมิได้ดำเนินการขนย้ายและส่งมอบพื้นที่คืน รวมทั้งไม่ทำการชำระเงินให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงส่งเรื่องดังกล่าวไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กยพ.) ซึ่งประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา อัยการสูงสุด อธิบดีอัยการฝ่ายคดีอัยการสูงสุด และอัยการพิเศษฝ่ายการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นกรรมการ ทำหน้าที่ในการพิจารณาชี้ขาดกรณีการขอคืนพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
       
       กยพ. ใช้เวลาในการพิจารณาเรื่องนี้ถึงกว่า 2 ปี โดยได้พิจารณาข้อเท็จจริงตรวจสอบพยานหลักฐานทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารจากคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่าย โดยฝ่ายอุเทนถวายก็มีตัวแทนเข้าร่วมในกระบวนการดังกล่าวจำนวน 7 คน ในที่สุด เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2552 กยพ. ก็ได้มีมติชี้ขาดให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ขนย้ายทรัพย์สินและคืนพื้นที่ให้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และชำระค่าเสียหายปีละล้านบาทเศษจนกว่าจะส่งมอบพื้นที่เสร็จ และมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการดำเนินการและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอใช้พื้นที่ราชพัสดุและงบประมาณในการย้ายอุเทนถวายต่อไป
       
       มีรายละเอียดปลีกย่อยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อีกหลายประการ เช่น มีการถวายฎีกา ประธานกรรมการพิสูจน์สิทธิที่ดินอุเทนถวายลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2552 เพื่อขอให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้แก่อุเทนถวาย ซึ่งต่อมาสำนักราชเลขาธิการได้มีหนังสือลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2554 ว่า กรณีดังกล่าวได้ข้อยุติแล้ว โดยให้ยืนยันผลตามมติของ กยพ. หรือแม้กระทั่งเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2556 ที่ผ่านมา อุเทนถวายได้ยื่นหนังสือถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อขอให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โรงเรียนช้างก่อสร้างอุเทนถวาย โดยมีการแนบเอกสารประกอบเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์จำนวน 4 ฉบับ
       
       ปัจจุบัน เรื่องการใช้ประโยชน์ในที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยของอุเทนถวายจึงยังเป็นเรื่องที่ไม่จบ เพราะมีการ “หาเรื่อง” มาเป็นประเด็นเพื่อ “ไม่ให้จบ” อยู่ต่อไป
       
       ผมมีส่วนรับรู้เรื่องดังกล่าวมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เนื่องจากได้เข้าไปช่วยงานของสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงพอจะเข้าใจปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในเรื่องนี้อยู่บ้าง โดยในส่วนของข้อกฎหมายนั้น เป็นที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าที่ดินอันเป็นที่ตั้งของอุเทนถวายนั้นเป็นที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยผลของกฎหมายสองฉบับ คือ พระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตำบลปทุมวัน อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร ให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พุทธศักราช 2482 และพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พุทธศักราช 2551 มาตรา 16 ที่บัญญัติให้ที่ดินที่มหาวิทยาลัยได้มาตามพระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตำบลปทุมวัน อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร ให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พุทธศักราช 2482 ไม่เป็นที่ราชพัสดุและให้เป็นกรรมสิทธิ์ของมหาวิทยาลัย และนอกจากนี้ ในวรรคท้ายของมาตรา 16 ยังได้บัญญัติต่อไปอีกว่า การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของมหาวิทยาลัยที่ได้มาตามพระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตำบลปทุมวัน อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร ให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พุทธศักราช 2482 จะกระทำมิได้ซึ่งก็หมายความว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่สามารถดำเนินการใดๆ กับที่ดินอันเป็นที่ตั้งของอุเทนถวายได้เลย แต่อย่างไรก็ตาม ในเมื่ออุเทนถวายต้องการที่จะ “อยู่” ในพื้นที่ดังกล่าวจึงเกิดการ “ต่อสู้” กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาเป็นเวลากว่า 40 ปี จนกระทั่งในที่สุด ข้อยุติอย่างเป็นทางการ ก็เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ กยพ. มีมติชี้ขาดให้อุเทนถวายขนย้ายทรัพย์สินและคืนพื้นที่พร้อมชำระค่าเสียหายให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
       
       ในส่วนของการดำเนินการ หลังจากที่ กยพ. มีมติชี้ขาดไปเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2553 รับทราบผลการประชุมของคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ ให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ขนย้ายและส่งมอบพื้นที่คืนพร้อมชำระค่าเสียหายให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเงินปีละ 1,140,900 บาท นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2549 เป็นต้นไป จนกว่าจะส่งมอบคืนให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการประสานทำความตกลงกับกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ รวมทั้งหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอใช้ที่ราชพัสดุและงบประมาณเพื่อการนี้ต่อไป ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ เกิดขึ้น แม้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะไม่ได้เป็นหน่วยงานที่คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้ดำเนินการในเรื่องนี้โดยตรง แต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินก็ได้พยายามที่จะเป็น “ตัวกลาง” ในการประสานงานเรื่องดังกล่าวเพื่อให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสามารถเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวได้โดยเร็ว ด้วยเหตุนี้เอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการทุกคนในช่วงเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 จนถึงปัจจุบันเพื่อขอให้กระทรวงศึกษาธิการเร่งดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวข้างต้น แต่ความพยายามดังกล่าวก็ยังไม่บรรลุผลสำเร็จเสียที
       
       ปัญหาจึงอยู่ตรงที่ว่า ทำอย่างไรเรื่องข้อพิพาทกรณีที่ดินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับอุเทนถวายจะจบลงได้
       
       หน่วยงานแรกที่ต้องรับผิดชอบก็คือ กระทรวงศึกษาธิการ ที่จะต้องรีบเร่งดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2553 คือ ย้ายอุเทนถวายไปก่อสร้างยังสถานที่แห่งใหม่ ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีก็ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า ให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการประสานทำความ ตกลงกับกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ รวมทั้งหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอใช้ที่ราชพัสดุและงบประมาณเพื่อการนี้ต่อไป ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการจึงเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบเป็นลำดับแรกที่จะต้องดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี
       
       หน่วยงานต่อมาที่ต้องรับผิดชอบก็คือ คณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่จะต้องออกมาเป็นผู้ชี้แจงเรื่องดังกล่าวต่อสังคมให้ทราบว่า อะไรเป็นอะไร ระยะเวลากว่า 2 ปี ที่พิจารณาข้อพิพาทระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับอุเทนถวายนับเป็นระยะเวลาที่ “พอเพียง” ที่จะมีคำตอบที่ชัดเจนว่าที่ดินอันเป็นที่ตั้งของอุเทนถวายเป็นที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การปล่อยให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกมาชี้แจงในสิ่งที่เป็นผลมาจากการดำเนินการของคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงทำให้ “น้ำหนัก” ของการชี้แจงดังกล่าวลดน้อยลง เพราะส่วนหนึ่งแล้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ใช้พื้นที่ที่เป็นของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปในเชิงพาณิชย์ ซึ่งก็กลายมาเป็นจุดอ่อนที่มีผู้คนหยิบยกมาโจมตีอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น จึงควรเป็นหน้าที่ของเลขานุการของคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งก็คือ “อัยการสูงสุด” ที่จะต้องออกมาเป็นผู้ชี้แจงในทุกกรณีที่มีการกล่าวถึงประเด็นที่คณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ชี้ขาดไปแล้ว
       
       ส่วนหน่วยงานสุดท้ายที่จะต้องรับผิดชอบก็คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ที่จะต้อง “ยอมรับ” ในการดำเนินการที่ถูกต้องตามกฎหมาย การที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต้องใช้วิธีการ “ส่งเรื่อง” ไปให้กับคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็เพราะจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “ไม่สามารถ” ที่จะเจรจากับอุเทนถวายภายใต้กรอบของความถูกต้องที่กฎหมายบัญญัติเอาไว้ได้ การนำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นวิธีการเดียวเท่านั้นที่จะทำให้ปัญหาทั้งหมดยุติลงได้ไม่ว่าจะเป็นปัญหาข้อเท็จจริงหรือปัญหาข้อกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตามแม้มติของคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รับการยืนยันโดยมติคณะรัฐมนตรีจะออกมาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2553 แล้ว แต่อุเทนถวายก็ไม่ให้การยอมรับมติของหน่วยงานของรัฐทั้งสองพร้อมกับหาเหตุอื่นๆ ขึ้นมาใหม่เพื่อที่จะทำให้ได้ครอบครองพื้นที่ที่เป็นที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้เรื่องดังกล่าวยังคงเป็นปัญหาคาราคาซังอยู่เช่นนี้ต่อไป
       
       หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเดินตามกฎกติกาและอำนาจหน้าที่ของตน เรื่องต่างๆ ก็คงจะยุติลงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องนี้มีทั้งในประเด็นข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง การยอมรับและปฏิบัติตามจึงเป็นทางเดียวที่จะทำให้ทุกฝ่ายเดินไปข้างหน้าต่อไปได้ครับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็สามารถนำพื้นที่ดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในด้านการศึกษาต่อไป มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ก็จะย้ายไปอยู่ในพื้นที่ใหม่ อาคารใหม่ สถานที่ใหม่ บรรยากาศใหม่ ทุกอย่างใหม่หมด พร้อมที่จะสร้าง “นักศึกษารุ่นใหม่” ที่เป็นที่ต้องการของสังคมต่อไป
       
       ขณะนี้ได้เวลาที่จะทำการแจกสิ่งพิมพ์ของ www.pub-law.net แล้วครับ สำหรับหนังสือ “รวมบทความกฎหมายมหาชนจากเว็บไซต์ www.pub-law.net เล่ม 11” ที่รวบรวมบทความกว่า 30 บทความที่เผยแพร่ใน www.pub-law.net ในช่วงปี พ.ศ. 2554 และจัดพิมพ์โดยสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญนั้น ผู้สนใจขอรับหนังสือ กรุณาส่งซองเปล่าขนาด A4 ติดแสตมป์จำนวน 25 บาทจ่าหน้าซองถึงตนเอง พร้อมแนบสำเนาบัตรแสดงตน (บัตรข้าราชการ บัตรนิสิตนักศึกษา) เพื่อแสดงตัวตนของผู้ขอ และจดหมายขอบคุณเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญที่ได้จัดพิมพ์หนังสือรวมบท ความฯ เล่ม 11 เพื่อแจกจ่ายผู้สนใจส่งมาที่ ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนพญาไท เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 หรือมารับด้วยตนเองที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันและเวลาราชการ ส่วนหนังสือรวมบทบรรณาธิการจากเว็บไซต์ www.pub-law.net พ.ศ. 2544 - 2554 ที่รวบรวมบทบรรณาธิการที่ผมเขียนในช่วง 10 ปี นั้น ประกอบกอบด้วยหนังสือ 3 เล่ม ใส่กล่องกระดาษแข็งสวยงาม สมาคมกฎหมายมหาชนแห่งประเทศไทยเป็นผู้จัดพิมพ์ให้ ขณะนี้พร้อมแจกแล้วเช่นกัน แต่เนื่องจากหนังสือมีน้ำหนักมากพอสมควรทำให้ใส่ซองไม่ได้ และสร้างความยากลำบากให้กับทั้งผู้ให้และผู้รับที่จะต้องส่งธนาณัติมาให้ผมไปซื้อกล่องใส่วุ่นวายกันทั้งสองฝ่ายก็ขอเป็นว่า ใครสนใจอยากได้เป็นเจ้าของหนังสือชุดนี้ ขอความกรุณาติดต่อมาที่ นายนพรุจ หวันสู เบอร์โทรศัพท์ 02-2182017 ต่อ 213 หรือเบอร์โทรศัพท์ 02-2182017 เพื่อนัดวันเวลาที่จะมารับด้วยตนเองที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันและเวลาราชการครับ เรามีหนังสือชุดนี้อยู่ประมาณ 80 ชุดครับ


       ในสัปดาห์นี้เรามีบทความมานำเสนอ 4 บทความด้วยกัน บทความแรกคือบทความเรื่อง “การเปิดโอกาสให้พรรคฝ่ายค้านดำรงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรของออสเตรเลีย : ประเพณีการปกครองในระบบรัฐสภาที่สังคมไทยควรพิจารณา” ที่เขียนโดยคุณทิพย์ศริน ภัคธนกุล และคุณทศพล เชี่ยวชาญประพันธ์ นักศึกษาปริญญาเอกแห่งมหาวิทยาลัยแคนเบอร์ร่า ประเทศออสเตรเลีย บทความที่สอง เป็นบทความของคุณไกรพล อรัญรัตน์ ที่เขียนเรื่อง "ผลกระทบทางอ้อมของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2556 และ 12/2555 ต่อความชอบธรรมของข้อสันนิษฐานตามสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์ (factual presumption) ในคดีอาญา" บทความที่สามเป็นบทความของคุณธีรพัฒน์ อังศุชวาล บัณฑิตจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เขียนเรื่อง "ปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบราชการสมัยใหม่ (Modern Bureaucracy) กับการจัดทำบริการสาธารณะ"บทความสุดท้าย เป็นบทความเรื่อง "ความไม่เสมอภาคในการขอวีซ่า" ที่เขียนโดยคุณชำนาญ จันทร์เรือง ผมขอขอบคุณผู้เขียนทุกๆบทความไว้ ณ ที่นี้ครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคม 2556 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1865
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 13:21 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)