|
|
ผลกระทบทางอ้อมของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2556 และ 12/2555 ต่อความชอบธรรมของข้อสันนิษฐานตามสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์ (factual presumption) ในคดีอาญา 30 มิถุนายน 2556 20:52 น.
|
บทนำ
ตามที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าศาลรัฐธรรมนูญโดยคำวินิจฉัยที่ 12/2555 ได้ปฏิเสธความชอบธรรมของการกำหนดข้อสันนิษฐานความรับผิดของจำเลยในคดีอาญาเอาไว้ และต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้มีคำวินิจฉัยที่ 5/2556 ออกมายืนยันบรรทัดฐานเดิม โดยกล่าวว่า พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พุทธศักราช 2537 มาตรา 74 เป็นบทบัญญัติที่เป็นการสันนิษฐานความผิดของจำเลย และผลักภาระการพิสูจน์ข้อโต้แย้ง หรือหักล้างข้อสันนิษฐานนั้นไปให้กรรมการหรือผู้จัดการทุกคนของนิติบุคคลนั้น จึงเป็นบทบัญญัติที่ละเมิดหลักประกันแห่งสิทธิและเสรีภาพของผู้ต้องหาหรือจำเลยเกี่ยวกับความรับผิดทางอาญาที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองว่า บุคคลจะไม่ถูกลงโทษทางอาญาจนกว่าจะมีพยานหลักฐานมาพิสูจน์ได้ว่าเป็นผู้กระทำความผิด ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 39 วรรคสอง ดังนั้น จึงเป็นที่ยุติในปัจจุบันนี้ว่า ข้อสันนิษฐานความรับผิดของจำเลยในคดีอาญาในลักษณะดังกล่าว แม้จะเป็นข้อสันนิษฐานตามกฎหมายที่ไม่เด็ดขาด (rebuttable presumption) ก็ตาม ย่อมไม่อาจมีได้ เพราะขัดต่อหลักการสันนิษฐานเอาไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ (presumption of innocence) ซึ่งบัญญัติเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 39 วรรคสอง[1] อย่างไรก็ตาม มีข้อสันนิษฐานความรับผิดของจำเลยอีกประเภทหนึ่งที่ไม่ใช่ข้อสันนิษฐานตามกฎหมาย (presumption of law) แต่เป็นข้อสันนิษฐานตามข้อเท็จจริง (factual presumption) ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญโดยคำวินิจฉัยที่ 12/2555 และ 5/2556 ไม่ได้กล่าวถึงเอาไว้ ทั้งๆที่ให้ผลเป็นการผลักภาระการพิสูจน์ในคดีอาญาไปให้แก่จำเลยเช่นเดียวกับข้อสันนิษฐานตามกฎหมาย ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่น่าสงสัยว่าข้อสันนิษฐานตามข้อเท็จจริง หรือที่ภาษากฎหมายเรียกว่าข้อสันนิษฐานที่ปรากฏตามสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์นั้น จะมีสถานะอย่างไรภายหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีมุมมองในเชิงปฏิเสธต่อข้อสันนิษฐานตามกฎหมายตามที่กล่าวมาแล้ว ดังนั้น บทความนี้จะมุ่งศึกษาและวิเคราะห์ถึงความเหมาะสมที่ศาลยุติธรรมจะนำข้อสันนิษฐานตามข้อเท็จจริง (factual presumption) มาปรับใช้กับคดีอาญาเป็นสำคัญ
ภาระการพิสูจน์และประเภทของข้อสันนิษฐานในคดีอาญา
โดยหลักแล้ว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่ได้บัญญัติเรื่องภาระการพิสูจน์เอาไว้โดยเฉพาะ จึงต้องอาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84/1 มาใช้บังคับเท่าที่จะใช้บังคับได้ กล่าวคือต้องใช้หลัก ผู้ใดกล่าวอ้าง ผู้นั้นต้องมีภาระการพิสูจน์ เมื่อในคดีอาญา โจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดอาญา โจทก์จึงต้องมีภาระการพิสูจน์ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดอาญาตามที่ตนได้กล่าวอ้าง[2]
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84/1 ที่บัญญัติว่า คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคำคู่ความของตนให้คู่ความ ฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็น ซึ่งปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์ จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว จะพบว่าถ้าหากมีข้อสันนิษฐานความรับผิดของจำเลยเกิดขึ้น โจทก์ก็เพียงพิสูจน์ว่าตนได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่จะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานก็จะมีผลเป็นการผลักภาระการพิสูจน์ไปให้แก่จำเลยในคดีอาญาทันที ซึ่งข้อสันนิษฐานตามมาตรา 84/1 สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทดังนี้คือ
1. ข้อสันนิษฐานตามกฎหมาย หมายถึง กรณีที่มีกฎหมายกำหนดว่าเมื่อมีข้อเท็จจริงที่เป็นพื้นฐาน (basic facts) เกิดขึ้นให้สันนิษฐานว่ามีข้อเท็จจริงอีกอย่างหนึ่งเกิดขึ้น (presumed facts) โดยข้อสันนิษฐานตามกฎหมายนั้นอาจแบ่งออกเป็นข้อสันนิษฐานเด็ดขาด (irrebuttable presumption) ซึ่งจำเลยไม่มีสิทธิโต้แย้งข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นนอกจากที่กฎหมายสันนิษฐานเอาไว้ได้เลย และข้อสันนิษฐานไม่เด็ดขาด (rebuttable presumption) ซึ่งมีผลเป็นการผลักภาระการพิสูจน์ไปให้แก่จำเลยในคดีอาญา[3] มีข้อสังเกตว่าข้อสันนิษฐานตามกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อสันนิษฐานที่ไม่เด็ดขาดซึ่งมีผลในการโยนภาระการพิสูจน์ในคดีอาญาไปให้แก่จำเลยนั้น ศาลรัฐธรรมนูญในประเทศไทยได้ปฏิเสธความชอบธรรมและตัดสินให้บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กำหนดข้อสันนิษฐานเป็นโทษแก่จำเลยในลักษณะนี้ สิ้นผลบังคับใช้ไปแล้ว เพราะขัดต่อหลัก Presumption of Innocence ที่บัญญัติเอาไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 39 วรรคสอง ตามที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง
2. ข้อสันนิษฐานตามข้อเท็จจริง (factual presumption) หรือที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84/1 เรียกว่า ข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่งปรากฏจากสภาพปกติธรรมของเหตุการณ์ (presumption by the ordinary course of event) ซึ่งหลักการดังกล่าวนี้ได้รับอิทธิพลมาจากหลักกฎหมายคอมมอนลอว์ที่เรียกว่าหลัก Res Ipsa Loquitor (the thing speaks for itself) โดยถูกนำมาใช้ครั้งแรกในคดี Byrne v. Boadle (1863)[4] ในประเทศอังกฤษ และในเวลาต่อมาก็กลายเป็นที่นิยมในการนำมาใช้พิสูจน์ความประมาทเลินเล่อของจำเลยในคดีละเมิด ซึ่งโดยหลักทั่วไปแล้วในคดีละเมิด โจทก์จะเป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำการโดยประมาทเลินเล่อ ทำให้โจทก์ต้องมีภาระการพิสูจน์ แต่ในบางสถานการณ์ที่สภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์แสดงตัวของมันเองอยู่ว่าจำเลยน่าจะประมาท ถ้าจำเลยไม่ประมาทแล้วเหตุร้าย หรืออุบัติเหตุรายนี้ก็คงไม่เกิดขึ้น ในสถานการณ์เช่นนี้หลัก Res Ipsa Loquitor จะเข้ามาทำหน้าที่เป็นข้อสันนิษฐานตามสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์และเปลี่ยนภาระการพิสูจน์จากฝ่ายโจทก์ที่จะต้องพิสูจน์ว่าจำเลยประมาท ให้ไปอยู่กับฝ่ายจำเลยที่จะต้องพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานว่าตนไม่ได้กระทำการโดยประมาท หรือตนได้ใช้ความระมัดระวังเพียงพอแล้ว ถ้าจำเลยไม่สามารถพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานตามสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์นี้ได้ จำเลยก็จะต้องแพ้ในประเด็นนี้ไป[5] นอกจากนี้ หลัก Res Ipsa Loquitor ยังถูกนำมาใช้ในกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างข้อเท็จจริงซึ่งอยู่ในความรู้เห็นของอีกฝ่ายหนึ่งโดยเฉพาะ[6] (exclusive knowledge) ในกรณีนี้หลัก Res Ipsa Loquitor ก็ทำหน้าที่ในการผลักภาระการพิสูจน์ไปยังคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งทันทีเช่นกัน ดังนั้น เมื่อข้อสันนิษฐานที่ปรากฏตามสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84/1 ได้รับอิทธิพลมาจากหลัก Res Ipsa Loquitor การทำงานของหลักการทั้งสองจึงไม่น่าจะแตกต่างกัน
เมื่อพิจารณาถึงข้อสันนิษฐานตามกฎหมาย โดยเฉพาะข้อสันนิษฐานที่ไม่เด็ดขาด (rebuttable presumption) กับ ข้อสันนิษฐานตามข้อเท็จจริง (factual presumption) แล้วจะพบว่าข้อสันนิษฐานทั้ง 2 ประเภทมีลักษณะที่คล้ายกันอย่างมาก เพราะต่างก่อให้เกิดการรับฟังหรือการอนุมานว่าข้อเท็จจริงบางประการ (presumed facts) ได้เกิดขึ้น และต่างก็เป็นข้อสันนิษฐานที่มีผลเป็นการโยนภาระการพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานไปให้แก่จำเลยในคดีอาญาทั้งสิ้น เพียงแต่ข้อสันนิษฐานที่ไม่เด็ดขาดเกิดขึ้นโดยบทบัญญัติของกฎหมาย ส่วนข้อสันนิษฐานตามข้อเท็จจริงเกิดขึ้นจากการใช้เหตุผลในการอนุมานข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบเข้ามาเท่านั้น
การนำข้อสันนิษฐานตามข้อเท็จจริงมาใช้ในคดีอาญา
บทบัญญัติเรื่องภาระการพิสูจน์นั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ได้นำเอาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84/1 มาใช้ ดังนั้นจึงเท่ากับมีการอนุโลมนำเอาข้อสันนิษฐานตามข้อเท็จจริง (factual presumption) มาใช้กับคดีอาญาด้วย[7] โดยการนำเอาข้อสันนิษฐานตามข้อเท็จจริงมาใช้กับคดีอาญานี้ก็เคยปรากฏในประเทศอังกฤษเช่นเดียวกันคือ ศาลในคดี R. v. Director of Public Prosecution (2003)[8] ได้ตัดสินให้จำเลยรับผิดฐานขับรถบรรทุกโดยประมาท แม้จะไม่สามารถพิสูจน์ได้ชัดเจนว่าจำเลยกระทำโดยประมาท แต่เมื่อโดยพฤติการณ์แล้วไม่ปรากฏว่าเครื่องยนต์ขัดข้องหรือเหตุการณ์ภายนอกอื่นใดเข้ามาแทรกแซง จึงน่าเชื่อว่าจำเลยได้กระทำการโดยประมาทแล้ว ซึ่งการตัดสินในลักษณะนี้ ศาลใช้หลักการอนุมานจากข้อเท็จจริง (permissive inference) ว่าจำเลยน่าจะกระทำการโดยประมาทนั่นเอง ดังนั้น หากข้อเท็จจริงในลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นในประเทศไทย และโจทก์ในคดีอาญาสามารถแสดงให้ศาลเห็นว่ามีข้อเท็จจริงบางอย่างเกิดขึ้นซึ่งโดยสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์ย่อมสันนิษฐานได้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิด เช่นนี้ ก็จะมีผลเป็นการโยนภาระการพิสูจน์ไปให้แก่จำเลยในคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84/1 ประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และหากจำเลยไม่สามารถพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานตามข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ จำเลยก็ต้องแพ้ในประเด็นดังกล่าวไปในทันที
จะเห็นได้ว่าข้อสันนิษฐานตามข้อเท็จจริง (factual presumption) ให้ผลในลักษณะเดียวกันกับข้อสันนิษฐานตามกฎหมายที่สามารถโต้แย้งได้ (rebuttable presumption) อย่างชัดเจนในแง่ของการโยนภาระการพิสูจน์ไปให้กับจำเลยในคดีอาญา ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญโดยคำวินิจฉัยที่ 12/2555 และ 5/2556 ได้วินิจฉัยเอาไว้แล้วว่าข้อสันนิษฐานที่ให้ผลในลักษณะนี้ขัดต่อหลักการสันนิษฐานเอาไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ (Presumption of Innocence) ที่บัญญัติเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 39 วรรคสอง อย่างไรก็ตามมีข้อพิจารณาที่สำคัญก็คือ บรรทัดฐานของศาลรัฐธรรมนูญที่กล่าวมานั้น ศาลรัฐธรรมนูญมุ่งเน้นที่จะกล่าวถึงเฉพาะข้อสันนิษฐานตามกฎหมาย (presumption of law) โดยไม่ได้กล่าวถึงข้อสันนิษฐานตามข้อเท็จจริง (factual presumption) เลยแม้แต่น้อย ดังนั้น ถึงแม้ข้อสันนิษฐานตามข้อเท็จจริงจะให้ผลเป็นการโยนภาระการพิสูจน์ไปให้แก่จำเลยในคดีอาญาเช่นเดียวกับข้อสันนิษฐานตามกฎหมายที่ไม่เด็ดขาดก็ตาม แต่ข้อสันนิษฐานตามข้อเท็จจริงก็ยังคงมีความชอบธรรมโดยนิตินัยที่จะนำมาบังคับใช้ในคดีอาญาได้อย่างถูกต้อง
ปัญหาด้านความชอบธรรมของการนำข้อสันนิษฐานตามข้อเท็จจริงมาใช้ในคดีอาญา
แม้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 12/2555 และ 5/2556 จะไม่ได้กล่าวถึงสถานะของข้อสันนิษฐานตามข้อเท็จจริงเอาไว้ ทำให้ข้อสันนิษฐานตามข้อเท็จจริงยังคงมีความชอบธรรมโดยนิตินัยที่จะนำมาบังคับใช้ในคดีอาญาได้อย่างถูกต้องก็ตาม แต่การนำเอาข้อสันนิษฐานความรับผิดของจำเลยชนิดนี้เข้ามาใช้ในคดีอาญาก็มีข้อที่ควรพิจารณาหลายประการดังจะกล่าวต่อไปนี้
1. ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่าข้อสันนิษฐานตามข้อเท็จจริง หรือที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเรียกว่า ข้อสันนิษฐานที่ปรากฏตามสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์นั้น ทำหน้าที่และให้ผลลัพธ์เช่นเดียวกันกับข้อสันนิษฐานตามกฎหมายที่สามารถโต้แย้งได้ (rebuttable presumption) กล่าวคือโยนภาระการพิสูจน์ไปให้แก่จำเลยในคดีอาญา (reverse burden of proof) ดังนั้นจึงมีปัญหาที่ต้องคิดว่า การนำข้อสันนิษฐานตามข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84/1 ตอนท้าย มาใช้ในคดีอาญาผ่านประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 นั้น จะขัดหรือแย้งต่อหลักการสันนิษฐานเอาไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ (presumption of innocence) ซึ่งกำหนดเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 39 วรรค 2 หรือไม่ เพราะศาลรัฐธรรมนูญก็เคยให้เหตุผลเอาไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า การโยนภาระการพิสูจน์ในคดีอาญาไปให้แก่จำเลยในลักษณะนี้ ย่อมเป็นการละเมิดต่อหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของจำเลยตามที่รัฐธรรมนูญรับรองเอาไว้ อีกทั้งยังเป็นการบังคับให้จำเลยต้องให้การเพื่อปัดป้องไม่ให้ตนเองต้องรับผิด ทั้งๆที่ในคดีอาญา จำเลยมีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ให้การอย่างไรก็ได้ โดยถือเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะนำพยานหลักฐานเข้าสืบพิสูจน์ความผิดของจำเลยเท่านั้น
2. เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยออกมาแล้วว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่นำเอาข้อสันนิษฐานความรับผิด (presumption of law) มาใช้โยนภาระการพิสูจน์ในคดีอาญาไปให้กับจำเลย ถือเป็นบทบัญญัติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่ได้กล่าวถึงการนำเอาข้อสันนิษฐานตามข้อเท็จจริง (factual presumption) มาใช้ในคดีอาญา แต่หากพิจารณาในแง่ของนโยบายที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วางเอาไว้ก็จะพบว่า ศาลรัฐธรรมนูญให้ความสำคัญกับหลักประกันแห่งสิทธิเสรีภาพของจำเลยในคดีอาญา (Due Process Right) ที่จะได้รับการสันนิษฐานเอาไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อย่างมาก ในฐานะที่เป็นหลักนิติธรรม (The Rule of Law) อย่างหนึ่ง ดังนั้น หากปล่อยให้ศาลยุติธรรมใช้ดุลพินิจนำเอาข้อสันนิษฐานตามข้อเท็จจริงมาใช้เป็นโทษแก่จำเลยในคดีอาญา ก็ย่อมมีผลในลักษณะที่แปลกประหลาด และอาจทำให้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 12/2555 และ 5/2556 ไม่สามารถใช้เป็นบรรทัดฐานในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของจำเลยในคดีอาญาได้อีกต่อไป เพราะถึงแม้ศาลยุติธรรมจะไม่สามารถใช้ข้อสันนิษฐานความรับผิดตามกฎหมาย แต่ศาลก็อาจใช้ดุลพินิจในการนำเอาข้อสันนิษฐานตามข้อเท็จจริงมาใช้เมื่อไรก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีที่นิติบุคคลถูกต้องรับโทษ ซึ่งโดยปกติก็จะต้องมีการฟ้องร้องให้กรรมการนิติบุคคลเป็นจำเลยด้วย แม้ศาลยุติธรรมจะไม่สามารถใช้ข้อสันนิษฐานตามกฎหมายในการโยนภาระการพิสูจน์ไปให้แก่กรรมการได้ดังเช่นในอดีต เพราะศาลรัฐธรรมนูญได้ห้ามเอาไว้แล้ว แต่ศาลยุติธรรมที่ทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีก็อาจถือว่า โดยสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์ (ordinary course of event) นิติบุคคลจะกระทำการอย่างใดๆขึ้นอยู่กับดุลพินิจของกรรมการ ดังนั้นเมื่อนิติบุคคลกระทำความผิด ย่อมสันนิษฐานเอาไว้ก่อนได้ว่ากรรมการนิติบุคคลมีส่วนรู้เห็นและเป็นผู้บงการอยู่เบื้องหลัง เว้นแต่กรรมการนิติบุคคลจะพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานตามข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ ซึ่งการนำเอาข้อสันนิษฐานตามข้อเท็จจริงในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84/1 ตอนท้าย มาใช้ในลักษณะตามตัวอย่างนี้ ถือเป็นดุลพินิจของศาลยุติธรรมที่จะนำมาใช้ผ่านประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 หรือไม่ก็ได้ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของจำเลยในคดีอาญา ศาลรัฐธรรมนูญและศาลยุติธรรมจึงควรถือเป็นหลักเดียวกันว่า ข้อสันนิษฐานความรับผิดของจำเลยตามข้อเท็จจริงไม่ควรถูกนำมาใช้ในคดีอาญา เพราะมีแนวคิดที่ขัดต่อลักษณะพื้นฐานของคดีอาญาและสิทธิของจำเลยในคดีอาญาหลายประการ เช่นเดียวกับข้อสันนิษฐานความรับผิดของจำเลยตามกฎหมายที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ปฏิเสธความชอบธรรมเอาไว้แล้วนั่นเอง
3. แม้จะมีผู้พยายามอธิบายถึงการนำข้อสันนิษฐานตามข้อเท็จจริง (factual presumption) มาใช้ในคดีอาญาในลักษณะประนีประนอม ว่าเป็นการอนุโลมเอามาใช้เพื่อบรรเทาภาระการพิสูจน์ของโจทก์ในคดีอาญาเท่านั้น ไม่ได้นำมาใช้เปลี่ยนภาระการพิสูจน์ให้ตกไปอยู่แก่จำเลยทันทีเหมือนกรณีข้อสันนิษฐานตามกฎหมาย กล่าวคือ เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำความผิด โจทก์ก็ยังคงมีภาระการพิสูจน์ในประเด็นดังกล่าวตามหลักทั่วไป ต่อเมื่อโจทก์ได้นำสืบให้เห็นถึงสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์ได้แล้วว่าน่าจะมีข้อเท็จจริงตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ก็ถือว่าโจทก์ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยกระทำความผิดได้แล้ว ส่วนจำเลยก็มีหน้าที่นำสืบในเชิงคดีเพื่อหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ในลักษณะทั่วไปเท่านั้น ไม่ได้มีหน้าที่นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานใดๆ ซึ่งหากจำเลยนำสืบไม่มีน้ำหนักดีพอที่จะทำลายน้ำหนักพยานหลักฐานของโจทก์ ก็ต้องฟังว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่โจทก์กล่าวอ้าง[9] การอธิบายในลักษณะนี้อาจทำให้ข้อสันนิษฐานตามข้อเท็จจริงยังคงมีที่ยืนอยู่ในคดีอาญาได้บ้าง แต่ก็ต้องประสบกับข้อท้าทายที่สำคัญว่า การนำเอาข้อสันนิษฐานตามข้อเท็จจริงมาใช้ในการลดมาตรฐานการพิสูจน์ของโจทก์ในคดีอาญาจะขัดแย้งต่อหลักการพิสูจน์จนปราศจากข้อสงสัยตามสมควร (proof beyond reasonable doubt) ซึ่งบัญญัติเอาไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 หรือไม่ เพราะเพียงแค่โจทก์นำสืบให้เห็นถึงสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์ว่าน่าจะมีข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำความผิด ย่อมแสดงอยู่ในตัวว่าการนำสืบของโจทก์ดังกล่าวยังไม่ถึงขั้นปราศจากข้อสงสัยตามสมควร (beyond reasonable doubt) เช่นนี้แล้วจะให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยได้อย่างไร ดังนั้น แม้จะมีการอธิบายในเชิงประนีประนอมดังกล่าวนี้ก็ยังคงมีปัญหาในการนำข้อสันนิษฐานตามข้อเท็จจริงมาใช้ในคดีอาญาอยู่เช่นเดิม
บทสรุป
แม้ศาลรัฐธรรมนูญโดยคำวินิจฉัยที่ 12/2555 และ 5/2556 จะไม่ได้กล่าวถึงการนำเอาข้อสันนิษฐานตามข้อเท็จจริง (factual presumption) มาใช้ในคดีอาญาเอาไว้โดยตรง แต่คำวินิจฉัยดังกล่าวก็ได้ส่งผลกระทบโดยอ้อมต่อการนำเอาข้อสันนิษฐานตามข้อเท็จจริงมาใช้ในคดีอาญา เพราะข้อสันนิษฐานตามกฎหมาย (presumption of law) ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ กับข้อสันนิษฐานตามข้อเท็จจริงนั้นให้ผลในการโยนภาระการพิสูจน์ไปให้แก่จำเลยเช่นเดียวกัน การนำเอามาใช้หรือไม่เอามาใช้จึงควรเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญเลือกที่จะวินิจฉัยว่าข้อสันนิษฐานความรับผิดของจำเลยตามกฎหมายมีลักษณะที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเสียแล้ว จะปล่อยให้มีการนำเอาข้อสันนิษฐานตามข้อเท็จจริงมาใช้ในคดีอาญาได้อย่างไร และถึงแม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะไม่มีอำนาจในการวินิจฉัยว่าข้อสันนิษฐานตามข้อเท็จจริง (factual presumption) ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะการนำเอาข้อสันนิษฐานตามข้อเท็จจริงมาใช้ เป็นดุลพินิจของศาลยุติธรรมในแต่ละคดีว่าจะถือเอาข้อเท็จจริงใดเป็นข้อเท็จจริงตามสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์ แต่ในการที่ศาลยุติธรรมจะใช้ดุลพินิจนำเอาข้อสันนิษฐานตามข้อเท็จจริงมาใช้ในคดีอาญาคดีใดหรือไม่ ศาลยุติธรรมจะต้องคำนึงถึงหลักการสันนิษฐานเอาไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ (presumption of innocence) ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของหลักนิติธรรม (The Rule of Law) อยู่เสมอ เพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 3 วรรคสอง ได้บัญญัติเอาไว้อย่างชัดเจนว่า …..การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม
[1] มีข้อสังเกตว่า ศาลรัฐธรรมนูญโดยคำวินิจฉัยที่ 2/2556 ได้วินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 158 ที่บัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้นเกิดจากการสั่งการ หรือการกระทำของบุคคลใด หรือไม่สั่งการ หรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำของผู้จัดการ หรือบุคคลใด ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น ผู้นั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นๆด้วย…ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 39 วรรค 2 โดยศาลรัฐธรรมนูญได้ให้เหตุผลว่าบทบัญญัติในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 158 ไม่ใช่ข้อสันนิษฐานตามกฎหมายที่จะโยนภาระการพิสูจน์ไปให้แก่ผู้จัดการดังเช่นที่ปรากฏในพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 มาตรา 54 ดังนั้น คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 2/2556 จึงไม่ได้กลับหลักวินิจฉัยในคำวินิจฉัยที่ 12/2555 แต่ประการใด อีกทั้ง โจทก์ที่ฟ้องผู้จัดการนิติบุคคล ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 158 ยังคงมีหน้าที่ต้องนำสืบการกระทำของผู้จัดการว่าได้มีการกระทำครบถ้วนตามองค์ประกอบความรับผิดโดยปราศจากข้อสงสัยตามสมควร (beyond reasonable doubt) หาได้มีลักษณะของข้อสันนิษฐานความรับผิดที่โยนภาระการพิสูจน์ไปให้แก่ผู้จัดการนิติบุคคลตั้งแต่แรกเริ่มคดีไม่
[2] เข็มชัย ชุติวงศ์, คำอธิบายกฎหมายลักษณะพยาน, พิมพ์ครั้งที่ 8 (กรุงเทพฯ: นิติบรรณาการ, 2551), หน้า 111.
[3] พรเพชร วิชิตชลชัย, คำอธิบายกฎหมายลักษณะพยานหลักฐาน, พิมพ์ครั้งที่ 5 (กรุงเทพฯ: สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา, 2555), หน้า 85.
[4] Byrne v. Boadle (1863) Cited in Are we allowing the thing speak for itsef?, Louisiana Law Review (Spring 2011): 2
[5] จรัญ ภักดีธนากุล, กฎหมายลักษณะพยานหลักฐาน, พิมพ์ครั้งที่ 7 (กรุงเทพฯ: สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา, 2555), หน้า 190.
[6] เข็มชัย ชุติวงศ์, คำอธิบายกฎหมายลักษณะพยาน, พิมพ์ครั้งที่ 8, หน้า 110.
[7] จรัญ ภักดีธนากุล, กฎหมายลักษณะพยานหลักฐาน, พิมพ์ครั้งที่ 7, หน้า 199.
[8] R. v. Director of Public Prosecutions (2003) cited in Criminal Law Week 2003/32
[9] จรัญ ภักดีธนากุล, กฎหมายลักษณะพยานหลักฐาน, พิมพ์ครั้งที่ 7, หน้า 200.
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1863
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 19:35 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|