|
|
การเปิดโอกาสให้พรรคฝ่ายค้านดำรงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรของออสเตรเลีย:ประเพณีการปกครองในระบบรัฐสภาที่สังคมไทยควรพิจารณา 30 มิถุนายน 2556 20:52 น.
|
ออสเตรเลียเป็นประเทศหนึ่งที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา โดยได้รับอิทธิพลมาจากระบบรัฐสภาของประเทศอังกฤษเช่นเดียวกับประเทศไทย นับแต่ประเทศออสเตรเลียก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1901 (พ.ศ. 2444) จนถึงปัจจุบัน คือ ปี ค.ศ. 2013 (พ.ศ. 2556) ออสเตรเลียมีสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว 43 ชุด สภาผู้แทนราษฎรแต่ละชุดมีวาระไม่เกิน 3 ปี นับแต่วันประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก 1
เมื่อเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกภายหลังการเลือกตั้ง นอกเหนือจากสมาชิกทุกคนจะทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง โดยกล่าวคำปฏิญาณว่า จะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์หรือสมเด็จพระราชินีนาถแห่งสหราชอาณาจักร ต่อหน้าตัวแทนของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (Governor-General) ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นประธานตุลาการในศาลสูงสุดของประเทศออสเตรเลีย (Chief Justice of the High Court of Australia) 2 แล้ว ยังมีระเบียบวาระเลือกประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรอีก 2 ท่าน เช่นเดียวกับสภาผู้แทนราษฎรของประเทศไทย3
สภาผู้แทนราษฎรของออสเตรเลีย เป็นสภาที่มีพฤติกรรมที่ไม่น่ายึดถือเป็นแบบอย่างเท่าไรนัก เพราะตลอดระยะเวลาของการประชุมจะเต็มไปด้วยการปรบมือ โห่ฮา ตะโกนแทรก ระหว่างที่สมาชิกอีกฝ่ายหนึ่งกำลังอภิปรายอยู่ นอกจากนี้ ทุกครั้งที่มีการถามตอบกระทู้ อภิปรายร่างกฎหมายต่างๆ หรืออภิปรายประเด็นสำคัญอื่นๆ เช่น นโยบายต่างประเทศ สมาชิกที่อภิปรายรวมถึงนายกรัฐมนตรีและผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร จะต้องฉกฉวยโอกาสโจมตีฝ่ายตรงข้ามเสมอ ทำให้บรรยากาศการประชุมสภาผู้แทนราษฎร กลายเป็นการเผชิญหน้ากันเกือบตลอดเวลาโดยไม่จำเป็น
อย่างไรก็ตาม สภาผู้แทนราษฎรของออสเตรเลียมีประเพณีที่น่าสนใจประการหนึ่ง กล่าวคือ นับแต่สภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 38 ซึ่งได้รับเลือกตั้งเมื่อวันเสาร์ที่ 2 มีนาคม ค.ศ. 1996 (พ.ศ. 2539) เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลากว่า 17 ปีแล้ว จะมีสมาชิกจากพรรคการเมืองฝ่ายค้านอย่างน้อย 1 คน ได้รับเลือกเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ไม่ว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะมีเสียงข้างมากท่วมท้นอย่างไรก็ตาม ประเพณีนี้แสดงออกถึงการให้เกียรติพรรคการเมืองฝ่ายค้าน และความใจกว้างของพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลของออสเตรเลีย ที่จะไม่รวบอำนาจในสภาผู้แทนราษฎรไว้แต่เพียงฝ่ายเดียว
เริ่มจากการเลือกตั้งเมื่อวันเสาร์ที่ 2 มีนาคม ค.ศ. 1996 (พ.ศ. 2539) ซึ่งเป็นการแข่งขันกันระหว่างพรรคเลเบอร์ (Australian Labor Party-ALP) ซึ่งเป็นรัฐบาลต่อเนื่องกันมาเป็นระยะเวลา ประมาณ 13 ปี ตั้งแต่ ค.ศ. 1983 (พ.ศ. 2526) ถึง ค.ศ. 1996 (พ.ศ. 2539) นำโดยนายกรัฐมนตรีพอล คีทติง (Paul Keating) กับพรรคการเมืองขั้วตรงข้าม 3 พรรคในเวลานั้น ที่รวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นเสมอมา ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาล เรียกว่า the Coalition ประกอบด้วยพรรคลิเบอร์รัล (The Liberal Party of Australia) พรรคแนชั่นแนล (The National Party of Australia) และพรรคคันทรีลิเบอร์รัล (Country Liberal Party-CLP) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองในเขตปกครองทางตอนเหนือของออสเตรเลีย (Northern Territory-NT) เท่านั้น นำโดยผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรขณะนั้น คือ จอห์น ฮาร์เวิร์ด (John Howard) ผลปรากฏว่า พรรคเลเบอร์พ่ายแพ้การเลือกตั้ง คือ ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพียง 49 คน ส่วนพันธมิตรระหว่างสามพรรคการเมืองได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรวมกัน 94 คน สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างเข้มแข็ง เพราะมีเสียงมากกว่าพรรคการเมืองฝ่ายค้านถึง 45 เสียง ในสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีเพียง 148 ที่นั่ง4
ภายหลังการเลือกตั้งครั้งนั้น สภาผู้แทนราษฎรได้ประชุมกันครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1996 (พ.ศ. 2539) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคลิเบอร์รัล ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล คือ โรเบิร์ต ฮาร์เวอร์สัน (Robert Halverson) จากเขตเลือกตั้ง เคซีย์ (Casey) รัฐวิคตอเรีย (Victoria) ได้รับเลือกเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร 5 เมื่อถึงระเบียบวาระการเลือกรองประธานสภาผู้แทนราษฎร มีสมาชิกถูกเสนอชื่อ 2 คน คือ แกรี่ เนล (Garry Nehl) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากเขตเลือกตั้ง คาวเปอร์ (Cowper) รัฐ นิวเซาท์เวลส์ (New South Wales) พรรคแนชั่นแนลซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล และแฮรี่ เจนคินส์ (Harry Jenkins) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากเขตเลือกตั้ง สกัลแลน (Scullin) รัฐวิคตอเรียพรรคเลเบอร์ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ผลการลงคะแนนเสียงปรากฏว่า แกรี่ เนล ได้ 96 คะแนน แฮรี่ เจนคินส์ ได้ 48 คะแนน แกรี่ เนล ได้ดำรงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง และแฮรี่ เจนคินส์ได้ดำรงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง6
ต่อมาในปี ค.ศ. 1998 (พ.ศ. 2541) ออสเตรเลียมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 39 เมื่อวันเสาร์ที่ 3 ตุลาคม ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า รัฐบาลที่นำโดยพรรคลิเบอร์รัลชนะการเลือกตั้งเป็นสมัยที่สอง โดยได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรวมกัน 80 คน จากจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 148 คน พรรคเลเบอร์ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 67 คน7 สภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 39 เปิดประชุมครั้งแรกเมื่อวันอังคารที่ 10 พฤศจิกายน ค.ศ. 1998 (พ.ศ. 2541) จอห์น แอนดรูว์ (John Andrew) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากเขตเลือกตั้งเวคฟิลด์ (Wakefield) รัฐออสเตรเลียใต้ (South Australia) พรรคลิเบอร์รัลซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร8 เมื่อถึงระเบียบวาระการเลือกรองประธานสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกที่ถูกเสนอชื่อ 2 คน คือ แกรี่ เนล (Garry Nehl) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคแนชั่นแนลซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล และแฮรี่ เจนคินส์ (Harry Jenkins) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเลเบอร์ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านเช่นเดียวกับสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 38 ผลการลงคะแนนเสียงปรากฏว่า แกรี่ เนล ได้ 79 คะแนน แฮรี่ เจนคินส์ ได้ 66 คะแนน แกรี่ เนล จึงได้ดำรงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง แฮรี่ เจนคินส์ ได้ดำรงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สองอีกสมัยหนึ่ง9
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 40 ของออสเตรเลีย เกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน ค.ศ. 2001 (พ.ศ. 2544) 10 รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีจอห์น ฮาร์เวิร์ด ชนะการเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 3 โดยได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรวมกัน 82 คน ส่วนพรรคเลเบอร์ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลดลงเหลือ 65 คน 11 สภาผู้แทนราษฎรชุดนี้เปิดประชุมครั้งแรกเมื่อวันอังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2002 (พ.ศ. 2545) จอห์น แอนดรูว์ จากพรรคลิเบอร์รัลซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล ได้รับเลือกเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 2 12 เอียน คอสลีย์ (Ian Causley) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากเขตเลือกตั้ง เพจ (Page) รัฐนิวเซาท์เวลส์ พรรคแนชั่นแนลซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ได้รับเลือกตั้งเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่งด้วยคะแนน 81 คะแนน แฮรี่ เจนคินส์ จากพรรคเลเบอร์ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านได้ดำรงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สองเป็นสมัยที่ 3 ติดต่อกัน ด้วยคะแนน 66 คะแนน13
ภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 41 ของออสเตรเลีย เมื่อวันเสาร์ที่ 9 ตุลาคม ค.ศ. 2004 (พ.ศ. 2547) พรรคร่วมรัฐบาลชนะการเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 4 โดยได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรวมกันเพิ่มขึ้นเป็น 87 คน พรรคฝ่ายค้าน คือ พรรคเลเบอร์ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลดลงเหลือ 60 คน 14 สภาผู้แทนราษฎรชุดนี้เปิดประชุมครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน ค.ศ. 2004 (พ.ศ. 2547) เดวิด ฮอคเกอร์ (David Hawker) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากเขตเลือกตั้ง แวนนอน (Wannon) รัฐวิคตอเรีย พรรคลิเบอร์รัล ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร15 เอียน คอสลีย์ (Ian Causley) จากพรรคแนชั่นแนลซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ได้รับเลือกเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่งอีกสมัยหนึ่ง ด้วยคะแนน 82 คะแนน แฮรี่ เจนคินส์ จากพรรคเลเบอร์ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านได้รับเลือกเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สองเป็นสมัยที่ 4 ติดต่อกัน ด้วยคะแนน 60 คะแนน16
ตลอดระยะเวลา 11 ปีที่พันธมิตรระหว่างพรรคลิเบอร์รัล พรรคแนชั่นแนล และพรรคคันทรีลิเบอร์รัล ชนะการเลือกตั้งรวม 4 สมัยนั้น สมาชิกจากพรรคลิเบอร์รัลซึ่งเป็น แกนนำรัฐบาล ได้รับเลือกเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่งมาจากพรรคแนชั่นแนล ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ส่วนรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สองเป็นสมาชิกพรรคเลเบอร์ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านตลอด 4 สมัย
ในปี ค.ศ. 2007 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขึ้นในประเทศออสเตรเลีย เมื่อพรรคเลเบอร์ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านต่อเนื่องยาวนานถึง 11 ปี ชนะการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันเสาร์ที่ 24 พฤศจิกายน ค.ศ. 2007 (พ.ศ. 2550) โดยได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสิ้น 83 คน จากจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 150 คน ส่วนพันธมิตรที่เป็นขั้วตรงข้ามกับพรรคเลเบอร์ ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพียง 65 คนเท่านั้น 17 ส่งผลให้หัวหน้าพรรคเลเบอร์ คือ เควิน รัดด์ (Kevin Rudd) ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย สภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 42 ของออสเตรเลีย เปิดประชุมเป็นครั้งแรกเมื่อวันอังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2008 (พ.ศ. 2551) หลังจากดำรงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สองมา 4 สมัยติดต่อกัน แฮรี่ เจนคินส์ ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรโดยไม่มีเสียงคัดค้าน18 แอนนา เบิร์ก (Anna Bourke) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากเขตเลือกตั้ง ชิสซอม (Chisholm) รัฐวิคตอเรีย พรรคเลเบอร์ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ได้รับเลือกตั้งเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง ด้วยคะแนน 83 คะแนน และบรูซ สก๊อต (Bruce Scott) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากเขตเลือกตั้ง มารานัว (Maranoa) รัฐควีนส์แลนด์ (Queensland) จากพรรคแนชั่นแนล ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ได้รับเลือกเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง ด้วยคะแนน 64 คะแนน19
ล่าสุด ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม ค.ศ. 2010 (พ.ศ. 2553) พรรคเลเบอร์นำโดยนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของออสเตรเลีย จูเลีย กิลลาร์ด (Julia Gillard) กับพันธมิตรระหว่าง 4 พรรคการเมือง คือ พรรคลิเบอร์รัล พรรคแนชั่นแนล พรรคคันทรีลิเบอร์รัล และพรรคลิเบอร์รัล แนชั่นแนล (The Liberal National Party of Queensland-LNP) ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของพรรคลิเบอร์รัลและพรรคแนชั่นแนล ในรัฐควีนส์แลนด์เมื่อปี ค.ศ. 2008 (พ.ศ. 2551) มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 72 คนเท่ากัน20 ในที่สุดสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคกรีน (Australian Greens) และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอิสระ 3 คนจาก 4 คน ได้สนับสนุนพรรคเลเบอร์ให้จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย และจูเลีย กิลลาร์ด ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 อาจกล่าวได้ว่า ในสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 43 ซึ่งเป็นชุดปัจจุบัน พรรคเลเบอร์ยังคงเป็นพรรครัฐบาลอยู่เช่นเดิม
สภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 43 นี้ เปิดประชุมเมื่อวันอังคารที่ 28 กันยายน ค.ศ. 2010 (พ.ศ. 2553) แฮรี่ เจนคินส์ จากพรรคเลเบอร์ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ได้รับเลือกเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นสมัยที่ 221 ในการเลือกรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง และคนที่สอง มีสมาชิกได้รับการเสนอชื่อ 2 คน เป็นสมาชิกจากพรรคฝ่ายค้านทั้งคู่ คือ ปีเตอร์ สลิปเปอร์ (Peter Slipper) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากเขตเลือกตั้งฟิชเชอร์ (Fisher) รัฐควีนส์แลนด์ จากพรรคลิเบอร์รัลแนชั่นแนล22 และบรูซ สก๊อต จากพรรคลิเบอร์รัล แนชั่นแนลเช่นเดียวกัน 23 ผลการลงคะแนนปรากฏว่า ปีเตอร์ สลิปเปอร์ ได้ 78 คะแนน ได้เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง ส่วนบรูซ สก๊อต ได้ 71 คะแนน ได้เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สองอีกสมัยหนึ่ง24 หมายความว่า ในสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 43 หลังการเลือกตั้ง มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองฝ่ายค้านถึง 2 คน ได้ดำรงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร
จากที่แสดงรายละเอียดมาทั้งหมดจะเห็นว่า ในสภาผู้แทนราษฎร 6 ชุดล่าสุดของออสเตรเลีย ไม่ว่าฝ่ายรัฐบาลจะมีเสียงข้างมากในสภาท่วมท้นแค่ไหน ก็จะเปิดโอกาสให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ได้มีโอกาสดำรงตำแหน่งรองประธาน สภาผู้แทนราษฎรด้วยอย่างน้อย 1 คน อย่างน้อยที่สุดก็เป็นการแสดงออกถึงการให้เกียรติพรรคการเมืองฝ่ายค้าน และความสมัครใจที่จะแบ่งปันอำนาจในฝ่ายนิติบัญญัติให้แก่ฝ่ายเสียงข้างน้อยในสังคม
อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยไม่มีประเพณีนี้ดังเช่นประเทศออสเตรเลีย ประธานสภาผู้แทนราษฎรและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรอีก 2 คนภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป จึงล้วนเป็นสมาชิกของพรรคแกนนำและพรรคร่วมรัฐบาลทั้งสิ้น รัฐบาลในประเทศไทยจึงสามารถควบคุมได้ทั้งฝ่ายบริหาร และยังยึดครองตำแหน่งสำคัญในฝ่ายนิติบัญญัติไว้จนหมดสิ้น ทว่า ในยามที่ประเทศไทยต้องการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในประเทศ พรรคการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะพรรคการเมืองขนาดใหญ่ 2 พรรค คือ พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีโอกาสเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ควรพิจารณาอย่างจริงจังว่า ยินดีที่จะแสดงความใจกว้างด้วยการเปิดโอกาสให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ได้มีโอกาสดำรงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 เช่นเดียวกับพรรคแกนนำและพรรคร่วมรัฐบาลของออสเตรเลีย เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความสมานฉันท์ และลดการผูกขาดอำนาจของตนเองลงหรือไม่
-----------------------------------
เอกสารอ้างอิง
1 Parliamentary Library, Department of Parliamentary Services, 43rd Parliament: Parliamentary Handbook of the Commonwealth of Australia, 32nd ed. (Canberra: Parliamentary Library, Department of Parliamentary Services, 2011), 272
2 ประเทศออสเตรเลียเป็นหนึ่งในประเทศเครือจักรภพ ที่ยังคงนับถือพระมหากษัตริย์หรือสมเด็จพระราชินีนาถแห่งสหราชอาณาจักรเป็นประมุขของประเทศ ประเทศอื่นๆ ที่ยังคงนับถือประมุขแห่งสหราชอาณาจักรเป็นประมุขของตนเองด้วย เช่น แคนาดา นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เป็นต้น ดูรายละเอียดของคำปฏิญาณตนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของออสเตรเลียได้ที่ Commonwealth of Australia, House of Representatives Practice, 6th ed. (Canberra: Department of the House of Representatives, 2012), 139-141 อนึ่ง หน่วยงานที่ชื่อว่า High Court of Australia นั้น เป็นศาลสูงสุดของประเทศออสเตรเลีย และยังทำหน้าที่เป็นศาลรัฐธรรมนูญอีกด้วย
3 ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรของออสเตรเลียภาษาอังกฤษใช้คำว่า Speaker รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่งใช้คำว่า Deputy Speaker รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง ใช้คำว่า Second Deputy Speaker อนึ่ง พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งของออสเตรเลีย จะดำเนินการจัดตั้งรัฐบาลจนแล้วเสร็จ หัวหน้าพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งจะเข้าสาบานตนเป็นนายกรัฐมนตรีพร้อมรัฐมนตรีคนอื่นๆ ต่อผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก่อนการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก
4 Australian Electoral Commission Party Representation after the 1996 Federal Election, [http://www.aec.gov.au/elections/federal_elections/1996/representation.htm], 26 พฤษภาคม 2556
5 Commonwealth of Australia, House of Representatives Official Hansard, Tuesday 30 April 1996, 4 อนึ่ง คำว่า Hansard ในการเมืองออสเตรเลียแปลว่า รายงานการประชุมที่จดบันทึกคำพูดทุกคำของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา รวมทั้งคำพูดของบุคคลในการประชุมคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ของรัฐสภา ตั้งชื่อตามนามสกุลของผู้บุกเบิกการตีพิมพ์รายงานการประชุมสภาอังกฤษ โทมัส เคอร์สัน แฮนซาร์ด (Thomas Curson Hansard) ผู้สนใจรายงานการประชุมรัฐสภาของออสเตรเลีย สามารถค้นหาได้จากเว็บไซต์ (website) ของรัฐสภาออสเตรเลียที่ www.aph.gov.au
6 เรื่องเดียวกัน, 20
7 Australian Electoral Commission, Party Representation after the 1998 Federal Election, [http://www.aec.gov.au/elections/federal_elections/1998/representation.htm], 27 พฤษภาคม 2556
8 Commonwealth of Australia, House of Representatives Official Hansard, Tuesday 10 November 1998, 4
9 เรื่องเดียวกัน, 21
10 นับแต่การเลือกตั้งเมื่อวันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน ค.ศ. 1998 (พ.ศ. 2541) เป็นต้นมา ออสเตรเลียมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มเป็น 150 คน
11 Australian Politics and Elections Database, The University of Western Australia, Commonwealth Parliament, House of Representatives election, [http://elections.uwa.edu.au/elecdetail.lasso?keyvalue=1260], 27 พฤษภาคม 2556
12 Commonwealth of Australia, House of Representatives Official Hansard, Tuesday 10 February 2002, 4
13 เรื่องเดียวกัน, 25-26
14 Australian Politics and Elections Database, The University of Western Australia, Commonwealth Parliament, House of Representatives election, [http://elections.uwa.edu.au/elecdetail.lasso?keyvalue=1284], 27 พฤษภาคม 2556
15 Commonwealth of Australia, House of Representatives Official Hansard, Tuesday 16 November 2004, 5.
16 เรื่องเดียวกัน, 23
17 Australian Politics and Elections Database, The University of Western Australia, Commonwealth Parliament, House of Representatives election, [http://elections.uwa.edu.au/elecdetail.lasso?keyvalue=1336], 28 พฤษภาคม 2556
18 Commonwealth of Australia, House of Representatives Official Hansard, Tuesday 12 February 2008, 6
19 เรื่องเดียวกัน, 29
20 Brenton Holmes, Sophia Fernandes, 2010 Federal Election: A Brief History, Research Paper No. 8, 2011-2012 (Canberra: Parliament of Australia), 30 สภาพเช่นนี้ ภาษาทางการเมืองเรียกว่า Hung Parliament สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคเล็ก และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่สังกัดพรรคการเมืองจึงกลายเป็นตัวแปรสำคัญว่า ใครจะได้เป็นรัฐบาลและดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ข้อดีสำคัญประการหนึ่งของสภาพเช่นนี้ คือ รัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นจำเป็นต้องเจรจากับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน พรรคการเมืองขนาดเล็ก และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอิสระเพื่อผลักดันนโยบายและกฎหมายต่างๆ ส่งผลให้เสียงข้างน้อยในสังคมมีคุณค่ามากขึ้น ดูรายละเอียดข้อเสนอในลักษณะนี้ได้จาก Mike Steketee, History shows a hung parliament can be good, 23 August 2010, [http://www.theaustralian.com.au/national-affairs/history-shows-a-hung-parliament-can-be-good/story-fn59niix-1225908601329], 28 พฤษภาคม 2556 และ Voters seeing benefits of Hung Parliament, (Media Release of Tony Windsor, Independent Member for New England), 23 October 2012, [http://www.tonywindsor.com.au/releases/121023.pdf], 28 พฤษภาคม 2556
21 Commonwealth of Australia, House of Representatives Official Hansard, Tuesday 28 September 2010, 6.
22 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนนี้เลือกที่จะนั่งกับพรรคลิเบอร์รัลในห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎรของออสเตรเลีย เพราะเคยเป็นสมาชิกพรรคลิเบอร์รัลมาก่อน
23 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนนี้เลือกที่จะนั่งกับพรรคแนชั่นแนลในห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎรของออสเตรเลีย เพราะเคยเป็นสมาชิกพรรคแนชั่นแนลมาก่อน
24 Commonwealth of Australia, House of Representatives Official Hansard, Tuesday 28 September 2010, 28.
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1861
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 19:41 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|