|
|
ครั้งที่ 319 16 มิถุนายน 2556 22:11 น.
|
สำหรับวันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน ถึงวันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน 2556
เมื่อฝ่ายตุลาการสั่งให้ฝ่ายบริหารปลูกต้นไม้
เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาคดีหมายเลขคดีดำที่ 903/2553 คดีหมายเลขแดงที่ 754/2556 ในคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนกับพวกรวม 130 คน ฟ้องกรมทางหลวงกับกระทรวงคมนาคม ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิด หรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย จากกรณีผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองอนุมัติให้บริษัทเอกชนดำเนินโครงการขยายถนนธนะรัชต์ ระยะทาง 8.1 กิโลเมตร โดยในการดำเนินโครงการดังกล่าวได้มีการตัดฟันโค่นทำลายต้นไม้และพื้นดินตลอดแนวทั้งในและนอกเขตทางโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งต่อทรัพยากรธรรมชาติและต่อระบบนิเวศน์ริมทาง ศาลปกครองกลางจึงได้มีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันนำต้นไม้ตามชนิด ประเภท และขนาดเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน และในจำนวนเท่ากันกับต้นไม้ที่ถูกโค่นไปแล้วไปปลูกทดแทน โดยให้เริ่มดำเนินการภายใน 60 วัน นับแต่มีคำพิพากษาถึงที่สุด เพื่อให้มีสภาพใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด
ผมทราบข่าวเรื่องดังกล่าวจากสื่อมวลชนประเภทต่างๆ เป็นระยะๆ เรื่อยมาจนกระทั่งวันเขียนบทบรรณาธิการนี้ก็ยังมีข่าวออกมาว่าหน่วยงานทางปกครองทั้งสองจะอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร หลังจากที่ผมได้อ่านคำพิพากษาฉบับจริงจำนวน 47 หน้าดูแล้วพบว่าเป็นประโยชน์ทางวิชาการ จึงขอนำเรื่องดังกล่าวมาเล่าให้ฟังในบทบรรณาธิการครั้งนี้
คงต้องเริ่มต้นจากในส่วนของข้อเท็จจริงของเรื่องก่อน สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนกับพวกรวม 130 คนที่ประกอบด้วย ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ดำเนินโครงการ นักท่องเที่ยว และนักอนุรักษ์นิยม ได้ฟ้องกรมทางหลวงและกระทรวงคมนาคมต่อศาลปกครองกลางว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ร่วมกันหรืออนุมัติอนุญาตให้บริษัทเอกชนดำเนินโครงการขยายถนนธนะรัชต์จาก 2 ช่องทาง เป็น 4 ช่องทาง ระยะทาง 8.1 กิโลเมตร ในการดำเนินโครงการดังกล่าวมีการตัดฟันโค่นทำลายต้นไม้และพื้นดินตลอดแนวทั้งในและนอกเขตทางโดยไม่ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งไม่ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ และระบบนิเวศน์ริมทางซึ่งมีพรรณไม้หวงห้าม ไม้หายากขนาดใหญ่และเล็ก ต้นไม้ใหญ่บางต้นเป็นต้นไม้หวงห้าม หากมีการตัดต้องได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ แม้ผู้เกี่ยวข้องอ้างว่าจะทำการปลูกต้นไม่มดแทนขึ้นใหม่ก็ไม่สามารถชดเชยกันได้ เพราะกว่าจะโตเท่าเดิมก็ต้องใช้เวลานาน ผู้ฟ้องคดีจึง ฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งใน 3 เรื่องคือ 1.พิพากษาหรือสั่งห้ามผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการขยายหรือปรับปรุงถนนธนะรัชต์ไว้เป็นการชั่วคราวก่อนจะมีการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 41 - 51 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 2.ปรับปรุงฟื้นฟูสภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นตลอดแนวถนนธนะรัชต์ให้กลับมามีสภาพคล้ายดังเดิมหรือเหมือนเดิมมากที่สุดภายใต้กระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนตามกฎหมาย 3.นำต้นไม้บางต้นที่ผู้ถูกฟ้องคดีอนุญาตหรือสั่งการให้ผู้รับเหมาหรือหน่วยงานรัฐอื่นใดดืทำการขุดล้อมออกไปจากพื้นที่มาปลูกในจุดหรือพื้นที่เดิม พร้อมกับนำต้นไม้ยืนต้นที่ยังมีชีวิตทั้งชนิด ประเภท และขนาดเดี่ยวกันหรือใกล้เคียงกันกับต้นไม้ที่ถูกตัดโค่นลงไปแล้วที่ถูกกฎหมายมาปลูกทดแทนในจุดและพื้นที่เดิมพร้อมดูแลให้เจริญเติบโตทุกต้นตลอดแนวเขตทั้งสองด้านของถนนธนะรัชต์ไม่ต่ำกว่า 10,000 ต้น โดยงบประมาณของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองภายในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน
ศาลปกครองกลางได้กำหนดประเด็นในการวินิจฉัยเรื่องนี้ไว้สองประเด็นคือ ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายที่จะมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลหรือไม่ กับ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ร่วมกันอนุมัติอนุญาตให้บริษัทเอกชนดำเนินโครงการขยายถนนธนะรัชต์เป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ในประเด็นแรกนั้น ศาลเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งหมดเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง โดยในส่วนของผู้ฟ้องคดีที่เป็นสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนนั้น ศาลเห็นว่าเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีเนื่องจากเป็นองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และได้รับการจดทะเบียนเป็นองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ การตัดโค่นต้นไม้ถือเป็นการละเมิดต่อวัตถุประสงค์การดำเนินกิจกรรมของสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ส่วนผู้ฟ้องคดีอื่นๆ นั้นส่วนหนึ่งเป็นชาวบ้านผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ดำเนินโครงการ อีกส่วนหนึ่งเป็นนักท่องเที่ยวและนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นผู้ที่เคยได้เห็นและสัมผัสใช้ชีวิตในพื้นที่ดังกล่าว จึงถือว่าเป็นผู้ได้รับความเดือนร้อนเสียหายจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง
ในประเด็นที่สอง ที่เป็นเนื้อหาของการพิพากษาคดีนั้น เนื่องจากผู้ฟ้องคดีได้ฟ้องมาใน 3 ประเด็น คือ 1.การดำเนินโครงการขยายถนนธนะรัชต์ไม่เป็นไปตามมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยโดยไม่มีการจัดทำรายงานการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสุขภาพ(HIA) 2.การดำเนินกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียไม่ถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 และ 3.การตัดต้นไม้ไม่ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ให้ถูกต้องก่อน ทำให้มีการทำลายต้นไม้และพื้นดินบริเวณสองข้างทาง ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ในประเด็นแรกนั้น ศาลเห็นว่าโครงการขยายถนนธนะรัชต์ไม่เข้าข่ายโครงการที่จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม(EIA) ตามมาตรา 46 แห่งกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมเนื่องจากบริเวณถนนธนรัชต์ที่มีการขยายถนนนั้นมิได้อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่อันเป็นบริเวณที่กำหนดไว้ในกฎหมายและประกาศที่ออกตามกฎหมายดังกล่าว ส่วนประเด็นที่ว่าโครงการขยายถนนธนรัชต์เป็นโครงการที่อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 67 วรรคสอง แห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ศาลเห็นว่าในขณะที่มีการอนุมัติโครงการดังกล่าวทั้งโดยคณะรัฐมนตรีและโดยรัฐสภาในส่วนที่เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติยังไม่มีประกาศประเภทโครงการหรือกิจการที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพตามมาตรา 67 วรรคสองแห่งรัฐธรรมนูญ แม้ต่อมาภายหลังจะได้มีการประกาศประเภทโครงการหรือกิจการที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงจำนวน 11 โครงการ แต่โครงการดังกล่าวก็ไม่เข้าข่ายโครงการหรือกิจการตามประกาศ จึงไม่ต้องดำเนินการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อสุขภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน(EIA และ HIA) รวมทั้งไม่ต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียก่อนแต่อย่างใด แต่อย่างไรก็ตาม ศาลได้พิจารณาต่อไปในประเด็นที่สองว่าแม้โครงการขยายถนนธนะรัชต์จะไม่เข้าข่ายโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพที่ต้องดำเนินการตามมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ แต่เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นโครงการของรัฐตามความหมายในข้อ 4 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 ซึ่งออกตามความในมาตรา 11(8) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 โครงการขยายถนนธนรัชต์จึงต้องดำเนินการตามขั้นตอนและกระบวนการที่กำหนดไว้ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าว ซึ่งก็ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการดำเนินการหลายประการที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 แต่เนื่องจากผู้ฟ้องคดีไม่ได้มีคำขอให้ศาลเพิกถอนการกระทำที่ไม่ถูกต้องดังกล่าว ประกอบด้วยคำขอที่ขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีระงับการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการขยายหรือปรับปรุงถนนธนะรัชต์เป็นการกระทบต่อการใช้ถนนอันเป็นสาธารณูปโภคที่จำเป็น และการขยายถนนหรือปรับปรุงถนนก็ได้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ศาลจึงไม่มีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอดังกล่าว
ในประเด็นสุดท้าย เกี่ยวกับเรื่องการตัดต้นไม้เพื่อขยายถนนธนะรัชต์นั้น ศาลได้พิจารณามาตรา 97 แห่งกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่ว่า ผู้ใดกระทำหรือละเว้นกระทำการด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการทำลายหรือทำให้สูญหายหรือเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นของรัฐหรือเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน มีหน้าที่ต้องรับชอบชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหายหรือเสียหายไปนั้น ศาลเห็นว่า แม้ผู้ถูกฟ้องคดีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการเยียวยาความเสียหายด้วยการนำต้นไม้ไปปลูกเสริมบริเวณที่ว่างในเขตทางหลวงแล้วก็ตาม แต่ยังไม่เป็นการเพียงพอแก่พฤติการณ์แห่งความเสียหายของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลายโดยการดำเนินกิจการของผู้ถูกฟ้องคดี
ศาลจึงพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันนำต้นไม้ตามชนิด ประเภท ขนาดเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน ในจำนวนที่เท่ากันกับต้นไม้ที่ถูกตัดโค่นไปแล้วไปปลูกทดแทนตามแนวเขตทางหลวงถนนธนะรัชต์ ระยะทาง 8.1 กิโลเมตร โดยให้เริ่มต้นดำเนินการภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด เพื่อให้มีสภาพใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด
คำพิพากษาที่ได้นำมาเสนอข้างต้นนั้น ผมสรุปเอามาเฉพาะส่วนที่อ่านดูแล้วคิดว่าจำเป็น หากผู้ใดสนใจก็คงต้องไปหาอ่านฉบับเต็มเอานะครับ
ผมคงไม่มีข้อสังเกตอะไรมากเกี่ยวกับสิ่งที่ศาลได้นำมาใช้ประกอบการพิจารณาคดีไม่ว่าจะเป็นในส่วนของข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย รวมไปถึงบรรดา การกระทำ ทั้งหลายของหน่วยงานของรัฐที่ศาลเห็นว่าไม่สอดคล้องกับ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 ที่ผมก็ไม่ทราบว่า ปัจจุบัน สถานะของระเบียบนี้เป็นอย่างไร มีการปฏิบัติตามกันบ้างหรือไม่ หากฝ่าฝืนแล้วจะเกิดอะไรขึ้น แต่ที่ผมอยากนำมากล่าวไว้ในบทบรรณาธิการนี้คงเป็นเรื่อง ผลของคำพิพากษาที่ศาลสั่งให้หน่วยงานของรัฐปลูกต้นไม้กลับคืนไปอย่างเดิมมากกว่า
ผมมีข้อสงสัยอยู่ 2 ประเด็นด้วยกัน ประเด็นแรกเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงครับ ผมไม่ทราบว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่หน่วยงานของรัฐจะไปหาต้นไม้ชนิด ประเภท ขนาดเดียวกันหรือใกล้เคียงกันและในจำนวนที่เท่ากันกับต้นไม้ที่ถูกตัดโค่นไปแล้วคือ 128 ต้น มาปลูก ผมเข้าใจเอาเองว่าการปลูกต้นไม้คงไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรนัก ใครๆ เขาก็ปลูกต้นไม้กันทั้งนั้น ร้านขายต้นไม้ก็มีอยู่เต็มประเทศ แต่ปัญหาคือต้นไม้ขนาดเท่าเดิมนั้นจะหามาจากที่ไหน ผมอ่านดูในคำฟ้องพบว่ามีการพูดถึงต้นไม้ที่ถูกตัดโค่นไปว่าบางต้นมีอายุกว่า 100 ปี มีรัศมีวงรอบโคนตั้งแต่ 50 จนถึงกว่า 300 เซนติเมตร การหาต้นไม้มีอายุมากและขนาดใหญ่แบบนั้นแม้จะทำได้แต่ก็คงเป็นการยากที่จะ ย้าย ต้นไม้มาจากที่อื่น เพราะนอกจากจะไปกระทบกับระบบนิเวศน์ในบริเวณที่ต้นไม้นั้นอยู่มาแต่เดิมแล้ว ระหว่างการขุดและขนย้าย หากต้นไม้ใหญ่ตายไปจะทำอย่างไร
คำพิพากษาศาลดังกล่าว น่าจะ เป็นคำพิพากษาที่ยากแก่การปฏิบัติตาม หรือไม่สามารถปฏิบัติตามได้หรือไม่ก็ไม่ทราบครับ!!!
ประเด็นต่อมาที่ผมมีข้อสงสัยก็คือ ผลของคำพิพากษา หลายๆ คนคงค่อนข้างที่จะ คุ้นเคย กับคำพิพากษาศาลปกครองเกี่ยวกับการตัดสินที่มีผล ย้อนไปหาอดีต ในหลายๆ เรื่องในช่วงเวลาที่ผ่านมาโดยเฉพาะเรื่องที่โด่งดังที่สุดก็คือกรณีเพิกถอนการแต่งตั้งรองอธิบดีกรมสรรพากร 4 คน หลังจากที่เวลาผ่านไป 5 ปี มีผลทำให้คนที่ดำรงตำแหน่งในเวลาที่ศาลตัดสินต้อง ถอยหลัง กลับไป 5 ปีเพื่อเป็นข้าราชการระดับต่ำกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเรื่องดังกล่าวคิดยังไงก็คิดไม่ออกว่าต้องทำอย่างไรคนที่ดำรงตำแหน่งในปัจจุบันจึงจะย้อนกลับไปดำรงตำแหน่งในอดีตได้ เรื่องการตัดต้นไม้นี้ก็เช่นเดียวกันครับ จริงอยู่แม้จะเอาต้นไม้มาปลูกใหม่ได้ ซึ่งหน่วยงานของรัฐก็ทำไปแล้ว แต่การที่ต้องไปหาต้นไม้ แบบเดียว กับต้นไม้ที่ถูกตัดโค่นไปทุกต้นคงเป็นสิ่งที่คล้ายกับเรื่องอื่นๆ ที่ศาลเคยตัดสินไปไป ย้อนไปหาอดีต
อย่างที่ผมได้กล่าวไปในข้อสงสัยประการแรกของผมนะครับว่าไปขุดต้นไม้ใหญ่ที่อื่นมาปลูกใหม่ก็มีความเสี่ยงที่ต้นไม้จะตายแล้วก็ยังไปทำลายระบบนิเวศน์ที่ต้นไม้นั้นอยู่อีกด้วย
การ ย้อนไปหาอดีต ตามคำพิพากษาศาลปกครองก็น่าจะเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ในการปฏิบัติตามทั้งในเรื่องนี้และเรื่องอื่นๆ ที่ศาลเคยตัดสินไปแล้วครับ.
หลายๆ ครั้งที่ผมได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองในบางเรื่องแล้วก็รู้สึกสงสัยว่า ศาลมีหน้าที่ตัดสินคดีชี้ขาดข้อพิพาท หรือว่าศาลมีหน้าที่สั่งการให้ฝ่ายบริหารทำ หรือไม่ทำอะไร ตามที่ศาลเห็นกันแน่ครับ
สำหรับการที่ศาลปกครองมีคำพิพากษาให้หน่วยงานของรัฐไปปลูกต้นไม้แทนต้นไม้ที่ถูกตัดออกไประหว่างการขยายถนนธนะรัชต์นั้น การสั่งการให้หรือไม่ให้ฝ่ายบริหารทำอะไร หรือการเอาอำนาจของฝ่ายบริหารมาใช้เสียเองอาจสร้างความขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายตุลาการได้ หากเรื่องเกิดขึ้นบ่อยความขัดแย้งมีมากขึ้น ก็จะไปกระทบต่อความน่าเชื่อถือของศาลปกครองและอาจนำความเสื่อมมาสู่ศาลปกครองในที่สุดครับ!!!
ในสัปดาห์นี้เรามีบทความมานำเสนอ 3 บทความด้วยกัน บทความทั้ง 2 เขียนโดยเพื่อนข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา บทความแรกเป็นบทความเรื่อง ต้นทุนของประชาชนและผู้ประกอบการในการปฏิบัติตามกฎหมาย ที่เขียนโดยคุณปกรณ์ นิลประพันธ์ ส่วนบทความที่สองได้แก่บทความที่เขียนโดย คุณสมาพร นิลประพันธ์ ชื่อ ความเป็นมา สภาพปัญญา และข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาการผังเมืองของประเทศไทย ส่วนบทความสุดท้ายคือบทความของคุณชำนาญ จันทร์เรือง ที่เขียนเรื่อง " ข่าวที่ไม่เป็นข่าว" ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสามไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม 2556 ครับ
ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1859
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 06:05 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|