|
|
การปกครองแบบประชาธิปไตยในรูปแบบของประเทศไทย 2 มิถุนายน 2556 23:06 น.
|
ผมเขียนบทความนี้ขึ้นมาด้วยความสับสนเป็นอย่างยิ่ง เพราะเหตุมาจากเมื่อผมได้ทบทวนองค์ความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาจนหมดแล้วก็ยังไม่สามารถที่จะอธิบายปรากฏการณ์ที่ผ่านมาของประเทศไทยได้ว่า นี่คือการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจริงหรือ (มาตรา ๒ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย, ๒๕๕๐) เพราะเหตุใดผมจึงกล่าวเช่นนี้ ก็คงสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ที่ไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยที่ผมหรือใครต่อใครหลาย ๆ คนได้ทราบมาในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ผมขอยกตัวอย่างกรณีที่สำคัญ ๆ เพียงบางส่วนมาอธิบายประกอบแนวความคิดของผมมาครับ (โดยอ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๕ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณาและการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น ... และ มาตรา ๕๐บุคคลย่อมมีเสรีภาพในทางวิชาการ)
กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งสองครั้ง โดยครั้งที่ ๑ เรื่อง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๑ และครั้งที่ ๒ เรื่อง การรับเรื่องที่มีผู้ยื่นให้ตีความเกี่ยวกับ พ.ร.บ. กู้เงิน ๒.๒ ล้านล้านบาท (ซึ่งผมมองว่าผิดหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมาแต่ต้น แม้ว่าครั้งที่ ๒ ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก็ตาม เพราะการตรวจสอบองค์กรฝ่ายบริหารก็ควรใช้การตรวจสอบตามวิถีทางที่วางเอาไว้ คือ การตรวจสอบทางรัฐสภาโดยการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือยื่นกระทู้สด) ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญอ้างเหตุตามมาตรา ๖๘ ซึ่งบัญญัติว่า
มาตรา ๖๘ บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้
ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว ...
สืบเนื่องมาจากหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น พระมหากษัตริย์ทรงมอบพระราชอำนาจของพระองค์ผ่านองค์กร ๓ ฝ่าย ได้แก่ ๑) ฝ่ายนิติบัญญัติ (รัฐสภา ซึ่งประกอบด้วยวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร) มีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญคือ การพิจารณาและให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ ๒) ฝ่ายบริหาร (คณะรัฐมนตรี) มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน (มาตรา ๑๗๑ วรรคหนึ่ง) และ ๓) ฝ่ายตุลาการ (ศาล - ทั้งนี้แต่เดิม องค์กรศาลของประเทศไทยมีเพียง ๒ ศาล คือ ศาลยุติธรรมและศาลทหาร ต่อมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับพุทธศักราช ๒๕๔๐ กำหนดให้ศาลมีทั้งหมด ๔ ศาล โดยได้มีการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองเพิ่มขึ้น) ซึ่งอำนาจหน้าที่ของศาลทั้ง ๔ ระบบศาล กล่าวโดยย่อคือ ศาลยุติธรรม มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีทั้งแพ่งและอาญาโดยมีหลักประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษาในการตัดสินคดี ศาลทหาร มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาทหารและคดีอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติการแต่งตั้งและการให้ตุลาการศาลทหารพ้นจากตำแหน่งให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ ศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมมิให้รัฐสภาออกกฎหมายที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญและคุ้มครองให้มีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ (ฉบับพุทธศักราช ๒๕๕๐ มีส่วนเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญจากฉบับพุทธศักราช ๒๕๔๐ คือ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยตามมาตรา ๖๘ มาตรา ๑๕๔ วรรคหนึ่ง มาตรา ๑๘๕ วรรคหนึ่ง มาตรา ๑๙๐ วรรคหก มาตรา ๒๑๑ มาตรา ๒๑๒ มาตรา ๒๑๔ และมาตรา ๒๓๗) และ ศาลปกครอง ทำหน้าที่ตรวจสอบควบคุมการกระทำทางปกครอง อันเป็นการใช้อำนาจของฝ่ายปกครองที่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามกฎหมาย (ชาญชัย แสวงศักดิ์, กฎหมายรัฐธรรมนูญ แนวคิดและประสบการณ์ของต่างประเทศ ๒๕๕๔ หน้า ๓๓๙, ๓๖๓) โดยองค์กรทั้ง ๓ ฝ่ายนั้น ปฏิบัติงานในลักษณะที่คานอำนาจหรือถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อองค์กรฝ่ายที่ ๒ คือ ฝ่ายบริหาร (นายกรัฐมนตรี, คณะรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่ง) ทำหน้าที่ของตนเองได้ไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นการฉ้อโกง ทุจริต หรือปฏิบัติหน้าที่โดยลุแก่อำนาจ เป็นต้น ก็จะถูกตรวจสอบโดยองค์กรฝ่ายที่ ๑ คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ (รัฐสภา) (ชาญชัย แสวงศักดิ์, คำอธิบายกฎหมายปกครอง ๒๕๕๔ หน้า ๓๑๘) ผ่านกระบวนการทางรัฐสภา (มาตรา ๑๕๖ ถึง มาตรา ๑๕๙) ซึ่งหากองค์กรฝ่ายที่ ๒ คือ ฝ่ายบริหาร (คณะรัฐมนตรี) ไม่สามารถแสดงความบริสุทธิ์ของตนเองจนเป็นที่พอใจของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และผลการลงคะแนนไม่เกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา ฝ่ายบริหาร (คณะรัฐมนตรี ซึ่งอาจหมายความรวมถึงทั้งคณะหรือรัฐมนตรีรายบุคคล) ก็จะต้องพ้นจากสมาชิกภาพที่ดำรงตำแหน่งอยู่นั้น และอาจต้องถูกดำเนินคดีอาญาจากการถูกยื่นคำร้องไปที่ ป.ป.ช. เพื่อให้ไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวน ตามมาตรา ๒๗๕ ด้วยก็เป็นได้
ในส่วนของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๘ ที่ผมได้ทำตัวหนาไว้ข้างต้นนั้น ผมได้อ่านและตีความพบว่ามีความเข้าใจดังนี้ คือ ผู้ทราบการกระทำที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ สามารถส่งเรื่องไปให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อมูล และหากอัยการสูงสุดเห็นว่าเรื่องที่ได้รับมาดังกล่าวนั้นมีมูล ก็ให้ส่งเรื่องต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อทำการวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว (ด้วยความเคารพ ผมขออนุญาตเสนอแนะว่า มาตรา ๖๘ นี้หากยังมีความกำกวมจนทำให้มีผู้อ่านและมีผู้ตีความไม่เหมือนกัน คือ ผู้ร้องสามารถยื่นเรื่องได้ทั้ง ๒ ทาง (ซึ่งคนส่วนใหญ่ตีความว่ายื่นได้ช่องทางเดียว) คือ ๑) ทางอัยการสูงสุดและ ๒) ในขณะเดียวกันก็สามารถยื่นเรื่องไปทางศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ดำเนินการได้ ควรปรับข้อความในมาตรานี้ดังนี้คือ จากเดิม ... ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว ... เปลี่ยนเป็น ... ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง และหากอัยการสูงสุดเห็นพ้อง ให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว ... หรือข้อความในทำนองนี้ ผมคิดว่าการตีความน่าจะมีความรัดกุมมากยิ่งขึ้น)
ท้ายที่สุดนี้ ผมมองว่าแม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับพุทธศักราช ๒๕๕๐ จะถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ดีฉบับหนึ่ง แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ยังมีปัญหาในการนำมาปรับใช้อยู่บ้าง เพราะหากยึดตามแนวทางในปัจจุบันที่ปฏิบัติกันอยู่นี้จะพบว่า พระราชอำนาจที่พระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานเพื่อให้องค์กรทั้ง ๓ ฝ่ายนำไปปฏิบัติตามขอบอำนาจของแต่ละองค์กรนั้นจะไม่สามารถทำได้ตามที่ถูกกำหนดไว้ เพราะยังมีอำนาจแอบแฝงอื่นที่อยู่เหนือองค์กรทั้ง ๓ ฝ่าย ดังเช่นกรณีที่ผมยกตัวอย่างในการกระทำของศาลรัฐธรรมนูญครั้งที่ ๒ (ของการยกตัวอย่างของผม) คือ การรับเรื่องเมื่อมีผู้ยื่นให้ตีความเกี่ยวกับพระราชบัญญัติ ฯ ทั้ง ๆ ที่เป็นการกระทำของรัฐสภาโดยแท้ ก็จะทำให้รัฐบาลหรือฝ่ายบริหารเกิดความไม่มั่นคงในการปฏิบัติหน้าที่ เพราะหากต้องถูกตรวจสอบจากหน่วยงานต่าง ๆ อยู่บ่อย ๆ ก็ทำให้เกิดความลังเล ไม่กล้าที่จะตัดสินใจปฏิบัติเรื่องใด ๆ ส่งผลให้การบริหารกิจการบ้านเมืองก็จะเกิดความติดขัด ล่าช้า หากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย (ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล รวมทั้งกลุ่มมวลชนทุกสีเสื้อ ทั้งที่อยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลัง) จะหันหน้าเข้าหากัน พูดคุยกันเพื่อผลประโยชน์ของประเทศอย่างแท้จริง ไม่เล่นเกมการเมืองเพื่อหวังประโยชน์ของตนเองเพียงฝ่ายเดียว แก้ไขมาตราที่ยังมีปัญหาในการนำมาใช้แล้วละก็ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็นับว่ามีความเป็นประชาธิปไตยสูงที่สุดฉบับหนึ่งได้เช่นกัน
 
เอกสารอ้างอิง
ชาญชัย แสวงศักดิ์. (๒๕๕๔). กฎหมายรัฐธรรมนูญ แนวคิดและประสบการณ์ของต่างประเทศ. พิมพ์ครั้งที่ ๒. บริษัท สำนักพิมพ์วิญญูชนจำกัด: กรุงเทพ ฯ.
__________________. (๒๕๕๔). คำอธิบายกฎหมายปกครอง. พิมพ์ครั้งที่ ๑๗ (แก้ไขเพิ่มเติม). บริษัทสำนักพิมพ์วิญญูชนจำกัด: กรุงเทพ ฯ.
สถาบันพระปกเกล้า. (๒๕๕๐). รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๕๕๔. พิมพ์ครั้งที่ ๑. สำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา:กรุงเทพฯ.
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1854
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 19:36 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|