สังคมบอด

19 พฤษภาคม 2556 20:09 น.

       “กูจะยิงให้คลานเป็นหมา”[๑]
       ธรรมดาในอารยประเทศ การประกาศในลักษณะนี้ในพื้นที่สาธารณะย่อมได้รับคำติเตียนจากผู้ที่พบเห็น เพราะความคิดเห็นดังกล่าวแสดงเจตนาของผู้พูดว่า ไม่ต้องการยอมรับความแตกต่างทางความคิด ซึ่งไปไกลถึงขั้นใช้วิธีการรุนแรง แต่ที่น่าตกใจก็คือ เมื่อบุคคลดังกล่าวได้ประกาศข้อความนี้ออกมา กลับมีคนไทยจำนวนมากตอบรับ สรรเสริญในจุดยืนและวิธีการอันเกรี้ยดกราด ขัดต่อกฎหมายและหลักนิติธรรม คำถามคือ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทยกันแน่ ทำไมคนไทยจึงยินดีกับการกำจัดคนที่เห็นต่างจากตนขนาดนี้ เรามาถึงจุดนี้กันได้อย่างไร
       ในสังคมหนึ่งๆนั้น มีคำถามให้ต้องตอบตลอดเวลา ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยที่สุดไปจนถึงเรื่องเหตุบ้านการเมืองที่สำคัญ คำถามว่ารัฐบาลควรจะเจรจากับขบวนการก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้หรือไม่ เราควรจะปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในกรณีปราสาทพระวิหารหรือไม่ ถึงเวลาปฏิรูปการรถไฟแห่งประเทศหรือยัง จะแก้มาตรา ๑๑๒ แห่งประมวลกฎหมายอาญาดีไหม ประเทศไทยพร้อมจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือยัง หรือควรจะถวายคืนพระราชอำนาจในการบริหารประเทศ ไปจนถึงเรื่องเล็กน้อยอย่าง รัฐควรบังคับให้นักเรียนสวมเครื่องแบบ หรือรัฐควรให้จัดธุดงค์กลางเมืองหรือไม่ สังคมต้องพยายามหาข้อตกลงร่วมในเรื่องต่างๆ ข้างต้นเพื่อตัดสินใจว่า สังคมนั้นจะเดินไปในทิศทางไหนต่อ “คำตอบที่ถูกต้อง” จึงสิ่งที่สังคมปราถนา และคำถามใหญ่ที่สุดข้อหนึ่งคือ เราจะหาคำตอบที่ถูกต้องในเรื่องดังกล่าวได้อย่างไร
       คำตอบที่ถูกต้องของแต่ละสังคมอาจจะไม่เหมือนกัน โดยปกติ คำตอบที่ถูกต้องคือคำตอบที่คนส่วนใหญ่ในสังคมเห็นชอบว่าจะทำให้ทุกคนได้รับประโยชน์และพอใจจากการตัดสินใจนั้นได้มากที่สุด ซึ่งอาจจะไม่ใช่คำตอบที่ทำให้แต่ละคนได้รับประโยชน์สูงสุดก็ได้ แต่โดยรวมแล้วสังคมเห็นว่าเป็นตัวเลือกที่เป็นธรรมและรับได้ เพราะฉะนั้น วิธีการหาคำตอบที่ดีจึงควรจะเปิดโอกาสให้ทุกความคิดเห็นถกเถียงกันได้อย่างอิสระมากที่สุด โดยเฉพาะจากผู้ที่ไม่เห็นด้วย หรือเสียประโยชน์จากการตัดสินใจ การ “ถกเถียงกัน” จึงเป็นกุญแจสำคัญของสังคมที่ทุกคนจะอยู่ร่วมกันได้โดยสงบสุข
       เพราะฉะนั้น นี่คือเหตุผลที่สำคัญว่าทำไมระบบประชาธิปไตยจึงต้องรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพดังกล่าวเปิดโอกาสให้ความคิดเห็นต่างๆกันสามารถนำมาถกเถียงกันได้เต็มที่ อาจกล่าวได้ว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น คือเสรีภาพในการพูดสิ่งที่ไม่พึงปราถนาของเสียงส่วนมากในสังคมนั้น เป็นการปลูกฝังคุณสมบัติเริ่มต้นของประชาธิปไตยข้อหนึ่งให้แก่พลเมือง คือ การอดทนอดกลั้น เรียนรู้ที่จะอยู่กับความแตกต่างได้อย่างอารยชน  
       ปัญหาของสังคมไทย คือ เราเป็นสังคมที่ไม่ชอบความเห็นต่าง ไม่ชอบการถกเถียง ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือตัวประชาชนแต่ละคนเอง แม้กฎหมายไทยจะรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไว้ก็ตามที[๒] แต่วัฒนธรรมอำนาจนิยม ที่ผู้ใหญ่ต้องถูกเสมอทำให้ผู้ที่มีอำนาจวาสนาน้อยกว่าไม่กล้าแสดงความคิดเห็นของตนเองขึ้นมา นอกจากนี้ ในช่วงหลายปีหลัง วาทกรรมบางอย่างถูกนำมาใช้แบบสำเร็จรูป เช่น การเป็นคนดี ความกตัญญู รู้รักแผ่นดิน หรือรู้รักสามัคคี หากผู้ใดพยายามจะถกเถียงคุณค่าเหล่านี้ก็อาจถูกตั้งข้อสงสัยในความเป็นไทยได้ ทำให้ข้อสรุปของคนไทยจำนวนมากลัดขั้นตอนการขบคิดและถกเถียงไป คนที่เห็นต่างอาจถูกประนาม ทำร้ายร่างกาย หรือจับกุมดำเนินคดี ในหลายกรณี ผู้เห็นต่างในสังคมถูกลดคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สูญเสียหน้าที่การงานของตน สูญเสียโอกาสทางการศึกษา ถึงขั้นสูญเสียชีวิต บางครั้งผลกระทบยังแผ่ไปถึงครอบครัวญาติพี่น้องที่ถูกนำมาประจาน หรือแม้แต่เมื่อเสียชีวิตไปยังมีผู้แสดงความสาแก่ใจในความตายของผู้วายชนม์  ขึงไม่น่าแปลกใจที่สังคมไทยมีโศกนาฏกรรมของ “ผู้มาก่อนกาล” หรือคนดีที่เมืองไทยไม่ต้องการอยู่เสมอมา  
       เมื่อความแตกต่างทางความคิดจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม แต่ส่วนตัวผู้ที่แสดงความเห็นต่างต้องจ่ายราคาอันแสนแพงในการแสดงความเห็นของตนออกไป จึงไม่ควรแปลกใจที่หลายคนสมัครใจปิดปากตนเองเสียเอง
       เมื่อการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีเป็นไปไม่ได้ ข้อมูลในการตัดสินใจจึงไม่เพียงพอและไม่ถูกต้อง ในภาพรวม อย่างเบาที่สุด สังคมไทยเลือกคำตอบผิด ที่รุนแรงกว่านั้นคือ สังคมไทยกำลังมุ่งหน้าเข้าสู่ความสุดโต่งทางความคิด เมื่อประชากรไม่พอใจที่จะฟังความคิดเห็นต่าง จึงจับกลุ่มแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเฉพาะในหมู่ผู้ที่คิดเห็นตรงกันโดยไม่มีการทัดทาน ความคิดเห็นจึงยิ่งโน้มเอียงไปในทางเดียวกันมากขึ้น จนกลายเป็นความสุดโต่งในทางใดทางหนึ่งขึ้นในที่สุด[๓] ในระดับปัจเจก พลเมืองที่ไม่ถกเถียง คือ พลเมืองที่พร้อมจะยึดมั่นถือมั่นในความเชื่อที่ดูเหลวไหลปราศจากสาระ ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีสมคบคิด ยาผีบอก หรือข่าวลือจากจดหมายลูกโซ่ ในขณะเดียวกันก็เป็นผู้ที่พร้อมจะถูกไปก่อเหตุรุนแรงตามแต่ผู้นำของตนจะชักนำไป
       ที่น่าเศร้าคือ ไม่ใช่เฉพาะบุคคลผู้นิยมความรุนแรงเหล่านี้เท่านั้นที่ได้รับผลเสียจากการขาดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แม้แต่ผู้มีปัญญาปราถนาจะทราบข้อมูลที่แท้จริงก็ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้ เพราะทุกคนล้วนปิดปากตนเองเสียแล้ว ต้นทุนในการเข้าถึงข้อเท็จจริงต่างๆ จึงสูงขึ้น
       สังคมที่ก้าวเข้าสู่ความสุดโต่งทางความคิดคือสังคมที่อ่อนแอ เพราะมองไม่เห็นตัวเลือกอื่นนอกจากตัวเลือกที่ตัวเองคิดว่าเป็นตัวเลือกเดียวที่ถูกต้อง “ความจริง” ในสังคมนั้นจึงมีเพียงแบบเดียว ซึ่งคนเหล่านี้ต้องปกป้องสุดชีวิต โดยลืมไปว่า ในหลายเรื่อง ความจริงหรือตัวเลือกที่ถูกต้องนั้นเปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดเวลา คุณค่าหลายอย่างที่เรายึดถือกันทุกวันนี้ล้วนเริ่มมาจากเสียงส่วนน้อยในสังคม ไม่ว่าจะเป็นความคิดทางสังคม อาทิ การให้สิทธิเพศที่สาม การเลิกทาส ความเสมอภาคทางเพศ หรือทางวิทยาศาสตร์ อาทิ ทฤษฎีวิวัฒนาการ และระบบสุริยจักรวาล แต่ผู้ที่ลุกขึ้นมานำเสนอความคิดเหล่านี้ล้วนสังเวยตัวเองเป็นเหยื่อของสังคมที่ไม่ยอมรับฟังพวกเขาทั้งสิ้น
       ทำอย่างไรสังคมไทยจึงจะส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออกให้มากขึ้นได้ แม้กฎหมายลายลักษณ์อักษรจะรับรองเสรีภาพในการแสดงออกไว้แล้ว แต่การนำมาบังคับใช้กลับขัดกับวัฒนธรรมแบบไทย หากรัฐต้องการแก้ไขปัญหานี้ ก็ควรจะปรับปรุงวิธีการใช้กฎหมายให้สอดคล้องกับหลักการของเสรีภาพในการแสดงออกด้วย มิใช่แต่เพียงลายลักษณ์อักษร
       ตัวอย่างของการบังคับใช้กฎหมายที่ควรปรับปรุงอาทิ ที่ผ่านมา มีการใช้กฎหมายอาญาบางมาตราเพื่อคุกคามผู้ที่เห็นต่างให้เงียบเสียงลงอยู่เสมอ จริงอยู่ที่ในบางครั้งเมื่อคดีขึ้นสู่ศาล หลังจากพิจารณาข้อเท็จจริงแล้ว ศาลตัดสินว่าบุคคลเหล่านี้เป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ความเสียหายได้เกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว ในหลายครั้ง การฟ้องคดีไม่ได้มุ่งที่ผลลัพธ์ว่าผู้ต้องหาจะถูกลงโทษอาญา แต่กระบวนการตั้งแต่การถูกจับกุมเป็นต้นไป ล้วนสร้างความทุกข์ทรมานให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาอย่างแสนสาหัส ดังนั้น ผู้ที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายจึงต้องแสดงความเข้มแข็ง ยึดมั่นในความถูกต้อง หากเห็นว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่มีมูล หรือเห็นว่าไม่เป็นความผิด ก็ควรจะสั่งไม่ฟ้องหรือไม่ดำเนินการต่อตั้งแต่ต้น การปัดภาระโดยสั่งดำเนินคดีแล้วฝากความหวังไว้ที่ศาลยุติธรรม ว่าเมื่อไม่ใช่คนผิดเสียแล้วศาลย่อมจะยกฟ้องเองนั้น ไม่ควรทำอีกต่อไป ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด ผู้ถูกกล่าวหาอาจถูกตัดสินลงโทษได้แม้ว่าโดยมาตรฐานสากล การแสดงออกเช่นนั้นไม่ควรถือว่าเป็นความผิดก็ตามที
       นอกจากนี้ รัฐยังต้องมีมาตรการเชิงรุกเพื่อลดอาชญกรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง (Hate crime) เช่น การล่าแม่มด การประจานข้อมูลส่วนตัวของผู้ที่คิดต่างจากกลุ่มของตนเอง การใช้วาจาปลุกระดมให้เกิดความเกลียดชัง ปลุกระดมให้ใช้กำลัง การกระทำเหล่านี้ควรได้รับโทษตามกฎหมายโดยทันท่วงที  
       หากเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมายบังคับใช้กฎหมายไปในทางคุ้มครองสิทธิเสรีภาพเช่นนี้ นอกจากจะช่วยบุคคลแต่ละคนที่ถูกกลั่นแกล้งแล้ว ยังเป็นการส่งสัญญาณให้กับสังคม ว่ารัฐเอาจริงกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอีกด้วย เมื่อรัฐสามารถลดต้นทุนในการแสดงความคิดเห็นที่ต่างออกไปจากกระแสส่วนใหญ่ในสังคมได้แล้ว ประชาชนย่อมมีแรงจูงใจมากขึ้นที่จะออกมาแสดงความเห็นของตัวเองโดยไม่ต้องกลัวภัยคุกคาม
       สังคมไทยต้องเริ่มเรียนรู้ที่จะอยู่กับความหลากหลายทางความคิด การโต้เถียงกันด้วยเหตุผลต้องเข้ามาเป็นวัฒนธรรมใหม่ สมาชิกในสังคมเรียนรู้ที่จะสงสัย และใช้เหตุผลตรวจสอบวาทกรรมต่างๆ ยอมให้ “ความจริง” ของตัวเองถูกทดสอบ พร้อมที่จะสละความเชื่อเดิมของตนเองที่ถูกหักล้างไปและยอมรับความจริงใหม่ที่ผ่านการพิสูจน์ เมื่อนั้นเอง สังคมไทยจึงจะได้ชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ทั้งหมดนี้ก็เพื่อแสวงหาคำตอบที่ถูกต้องที่สุด เป็นธรรมที่สุด และเหมาะสมที่สุดให้กับสังคม   
       ความไม่รู้ในสังคมไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ตราบใดที่สังคมนั้นยังไม่หยุดที่จะแสวงหาความรู้ ที่น่ากลัวที่สุด คือ เมื่อสังคมนั้นตกลงใจได้ว่าตนเองรู้มากพอแล้ว ไม่ต้องการความรู้อื่นใดอีก เมื่อนั้น ปัญญาของสังคมนั้นจึงจะมืดมิดอย่างแท้จริง รวมทั้งอนาคตของสังคมนั้นด้วย
       “เพราะอีกครึ่งหนึ่งของความรู้ คือรู้ว่าเราไม่อยากรู้อะไร”[๔]     
       
       
       
       
       [๑] นายพงศ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา นักร้อง นักแต่งเพลง และนักดนตรี แสดงความคิดเห็นส่วนตัวกรณีรายการตอบโจทย์บนเฟสบุ๊คส่วนตัว เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๑๕๕๖
       
       
       [๒] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๔๕.
       
       
       [๓] Cass R. Sunstein, Why Societies Need Dissent, p. 120-124 (2003).
       
       
       [๔] พ่อของเด็กหญิงรานี ตัวละครในการ์ตูนเสียดสีสังคมไทยของเรณู ปัญญาดี กล่าวเตือนลูกสาวตัวเองเมื่อเธออยากจะยกเลิกกฎหมายที่ปิดกั้นความรู้ ใน เรณู ปัญญาดี (นามแฝง), ครึ่งหนึ่งของความ (ไม่อยาก) รู้, หน้า ๑๙๓ (๒๕๕๕).
       
       


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1847
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 17:16 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)