|
|
นโยบายในการจัดการขนส่งมวลชนสาธารณะแห่งเมืองสตาร์บูค (Strasbourg) ประเทศฝรั่งเศส 5 พฤษภาคม 2556 17:00 น.
|
เมืองสตาร์บูคตั้งอยู่ใจกลางของประเทศในสหภาพยุโรป ถือว่าเป็นเมืองหลวงของสหภาพยุโรป เพราะมีพรหมแดนติดกับประเทศเยอรมันและแม่น้ำไรน์ (Rhine) และเป็นเมืองที่สามารถเดินทางไปยังประเทศอื่นๆในยุโรปได้อย่างสะดวก เป็นเมืองใหญ่ลำดับที่ 7 ของประเทศฝรั่งเศส มีประชากรที่มีความหลากหลายเชื้อชาติและมีวัฒนธรรมผสมผสานระหว่างฝรั่งเศสและเยอรมัน เนื่องจากเคยตกเป็นเมืองขึ้นของเยอรมัน มีภาษาท้องถิ่นของตัวเอง มีประชากรประมาณ 264,000 คน (ซึ่งเป็นนักศึษาถึง 50,000 คน)
สำหรับนโยบายการคมนาคมขนส่งและการเดินทางของประชาชนของเมืองสตาร์บูค ถือว่าเป็นหัวใจหลักในการพัฒนาเมืองและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย โดยมีนโยบายที่สำคัญในด้านคมนาคมขนส่งมวลชนที่เป็นความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น (เทศบาล) อีก 28 เทศบาล (องค์กรความร่วมมือท้องถิ่น Communauté Urbaine หรือในไทยเรียกรวมๆว่า "สหการ") โดยมีเป้าหมายที่สำคัญสามด้าน คือ
จำกัดและจัดการการใช้รถยนต์บนท้องถนนให้ลดน้อยลง เช่น นโยบายในการจำกัดความเร็วบนถนนในเมืองที่มีผู้อยู่อาศัยหนาแน่น การกำหนดจุดจอดรถรอบนอกเมืองเพื่อให้ผู้ขับรถยนต์ส่วนบุคคลสามารถจอดรถและนั่งรถขนส่งมวลชนเข้ามาในเมือง การปรับเปลี่ยนไฟจราจรโดยให้รถเมล์และรถรางไฟฟ้าได้ไปก่อนรถยนต์ การเก็บค่าจอดรถในเมืองในราคาที่สูงและเก็บค่าที่จอดรถนอกเมืองที่สามารถเชื่อมต่อรถขนส่งมวลชนในราคาที่ต่ำกว่า
พัฒนาทางเลือกสำหรับผู้ที่ขับรถยนต์ส่วนบุคคล เช่น สร้างเครือข่ายระบบขนส่งมวลชนเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์หรือรถรางไฟฟ้าเพื่อให้ผู้ขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลหันมาใช้รถสาธารณะเพิ่มมากขึ้น
ปรับเปลี่ยนพื้นที่สาธารณะของเมืองให้เกิดการใช้ประโยชน์ คือเป็นนโยบายที่จำกัดการเดินรถในพื้นที่ตัวเมืองชั้น เพื่อให้เป็นถนนคนเดินและทางเท้าเท่านั้น รวมถึงจัดพื้นที่สาธารณะเพื่อให้มีสวนสาธารณะ ต้นไม้ รวมถึงงานศิลปะต่างๆอยู่บนท้องถนน และสถานนีรถราง
The Strasbourg tram
เมืองสตาร์บูค ได้มีนโยบายในการเลือกใช้ รถรางไฟฟ้า (tram) ในการจัดการคมนาคมขนส่งในเมืองเป็นแห่งแรก โดยได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนในเมืองในการเลือกระบบขนส่งแบบรถราง (ซึ่งในขณะนั้น มีผู้ที่เสนอตัวรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรี โดยมีการนำเสนอนโยบายที่จัดทำระบบขนส่งมวลชนแบบรถไฟใต้ดิน และรถรางไฟฟ้าแข่งขันกัน ซึ่งในที่สุดผู้ที่เสนอนโยบายจัดทำรถรางไฟฟ้า ก็เป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง)
ในปี ค.ศ. 1994 นโยบายการจัดทำรถรางก็ได้เริ่มขึ้น ถือได้ว่า เป็นเมืองแรกที่นำเอาระบบรถรางที่มีในอดีตมาปรับเปลี่ยนโฉมหน้าใหม่ให้ทันมากยิ่งขึ้น
ในปี ค.ศ. 2010 ด้วยระบบรถรางที่มีความยาวถึง 5.5 กิโลเมตร มี 69 สถานี และมี 6 สถานีศูนย์กลางที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ มีการสร้างที่จอดรถเฉพาะรอบนอกของเมืองเพื่อให้ผู้ที่ขับรถยนต์ส่วนตัวมาจอดรถและอาศัยรถรางไฟฟ้าต่อเข้ามาในเมือง ถือได้ว่า รถรางแห่งเมืองสตาร์บูคเป็นรถรางที่มีความยาวที่สุดในประเทศฝรั่งเศส ณ ขณะนั้น
ในการออกแบบรถรางได้มีการคำนึงถึงผู้ใช้ทุกประเภท โดยการทำทางลาดเพื่อให้ขึ้นลงได้สะดวก สำหรับผู้พิการที่ต้องใช้รถเข็น หรือแม่ลูกออ่นที่ต้องเข็นรถเข็นเด็กขึ้น ในขณะที่มีหน้าต่างขนาดใหญ่ในระดับเดียวกับถนนเพื่อให้เห็นวิสัยทัศน์ได้โดยรอบ ว่ากันว่ามีผู้ใช้ระบบขนส่งมวลชนรถรางนี้ ถึงวันละ 300,000 คนต่อวัน กลายเป็นระบบขนส่งมวลชนหลักที่สำคัญของเมือง อีกทั้งยังส่งเสริมให้ประชาชนใช้รถขนส่งมวลชนในราคาที่ถูก โดยมีการกำหนดราคาค่าโดยสารสำหรับบัตรรายวัน รายเดือน รายปี โดยขึ้นอยู่กับสถานะของผู้โดยสาร (ผู้มีเงินได้, ผู้เกษียณ, นักเรียน นักศึกษา เป็นต้น)
นอกจากนี้ นโยบายด้านคมนาคมขนส่งของเมืองยังเพื่อทางเลือกให้กับผู้ใช้ และส่งเสริมให้มีการใช้ระบบขนส่งมวลชนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงาน (Eco -mobility) มากยิ่งขึ้น เช่น การที่สามารถนำรถจักยานขึ้นรถรางได้ รถรางกับเชื่อมกับถนนคนเดิน รถรางต่อกับรถเมล์ รถรางไปถึงสถานีรถไฟ รถรางกับการเชื่อมต่อที่จอดรถยนต์
France's leading cycle city
เมืองสตาร์บูค ยังขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองจักรยาน เป็นเมืองที่ซึ่งจักรยานเป็นเจ้าแห่งถนน ที่ซึ่งมีเส้นทางจักรยานถึง 536 กิโลเมตร ครอบคลุมถึง 360 ถนน มีที่จอดจักรยานสาธารณะได้ถึง 20,000 คัน โดยที่เมืองแห่งนี้ มีวัฒนธรรมในการใช้รถจักรยานซึ่งมากแตกต่างไปจากเมืองใหญ่อื่นๆ ในประเทศฝรั่งเศส อย่างไรก็ดี เมืองสตาร์บูคก็มีเป้าหมายในการเพิ่มจำนวนผู้ใช้จักรยานให้เพิ่มมากขึ้น โดยมีนโยบายในการจัดหาจักรยานสำหรับให้เช่า (vélhop) ถึง 4,400 คัน วางทั่วทุกจุดของเมือง
A more human city, The street Code
นโยบายที่จัดให้มีถนนคนเดินเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลมีแนวโน้มที่สูงขึ้น การจราจรในเมืองติดขัด มลพิษเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น นโยบายถนนคนเดินจึงเกิดขึ้นพร้อมกับการจัดระบบขนส่งมวลชนของเมืองใหม่ โดยกำหนดเขตพื้นที่สงวนไม่ให้นำรถยนต์ส่วนบุคคลขับเข้ามาโดยเฉพาะตัวเมืองชั้นใน โดยจัดให้มีการเชื่อมต่อของการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลกับรถรางเพิ่มมากขึ้น เช่น มีนโยบายเก็บค่าที่จอดรถในเมืองราคาสูง สร้างที่จอดรถรอบๆ เมืองที่ผู้ขับขี่รถยนต์สามารถจอดรถทิ้งไว้และนั่งรถรางเข้ามาในเมือง การดำเนินนโยบายที่ผ่านมาสามารถลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลได้ถึง 40 กว่าเปอร์เซ็น และผู้ที่เดินทางโดยใช้ถนนคนเดินมีมากถึง 33%
นโยบาย "กฎถนน" มีขึ้นเพื่อสร้างความสมดุลย์ของเมืองในการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกันของทุกคน ทั้งนี้ รวมถึงจัดทำพื้นถนนคนเดินสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางสายตา และผู้พิการ
Strasbourg and the transport systems of tomorrow
สิ่งที่เมืองสตาร์บูคร่วมกับเทศบาลเมืองใกล้เคียง และเมือง kehl ของประเทศเยอรมันทำร่วมกัน คือขยายความเป็นเมืองออกไปและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนโดยอาศัยเครือข่ายคมนาคมขนส่งมวลชน เพื่อให้เมืองไม่มีความแออัด และเป็นเมืองสำหรับทุกคน
สิ่งที่เมืองสตาร์บูค Strasbourg และองค์กรความร่วมมือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (communauté urbaine) ร่วมกันจัดทำเพื่อก่อให้เกิดคมนาคมขนส่งสาธารณะและการเดินทางของประชาชนมีคุณภาพที่ดีขึ้น อยู่บนพื้นฐานความคิดที่สำคัญคือ เป็นหน้าที่ขององค์กรปครองส่วนท้องถิ่นในการจัดบริการสาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพให้กับคนในท้องถิ่นของตน โดยคำนึงถึงหลักว่าด้วยความเสมอภาคของการให้บริการสาธารณะ หลักว่าด้วยความต่อเนื่องของการจัดทำบริการสาธารณะ และหลักว่าด้วยการปรับปรุงพัฒนาคุณภาพของบริการสาธารณะให้ดีขึ้นอยู่เสมอ และแม้ว่าการจัดทำนโยบายการขนส่งมวลชนสาธารณะจะมีการลงทุนที่สูง แต่ก็มีการเก็บค่าบริการที่ต่ำ นั่นก็เพราะการจัดทำบริการสาธารณะในการบริการขนส่งมวลชนมิได้ต้องการแสวงหากำไร แต่มีขึ้นเพื่อให้บริการประชาชน และเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนนั่นเอง !!!
หมายเหตุ : ข้อมูลที่ได้มาจากการที่ผู้เขียนนำผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (นบสท.) กระทรวงมหาดไทย มาศึกษาดูงานที่เมืองสตาร์บูค ประเทศฝรั่งเศส และได้รับฟังการบรรยายจากผู้อำนวยการกองแผนด้านคมนาคมแห่งเมืองสตาร์บูค
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1846
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 19:01 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|