|
|
ครั้งที่ 315 21 เมษายน 2556 16:40 น.
|
สำหรับวันจันทร์ที่ 22 เมษายน ถึงวันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม 2556
สาระสำคัญของกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (1)
สองสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่ สนุกที่สุด ในรอบปีของคนไทย เป็นช่วงเวลาที่หลาย ๆ คนรอคอยเพราะมีวันหยุดยาวหลายวันต่อเนื่อง ได้เล่นสาดน้ำกันอย่างไม่ลืมหูลืมตาให้สมกับที่ต้องเจอกับอากาศร้อนมาก ๆ ที่เริ่มมาตั้งแต่เดือนมีนาคม อย่างไรก็ตาม แม้ความร้อนจะเบาบางลงจากการเล่นสงกรานต์และจากฝนที่ตกลงมาตลอดช่วงเวลาสงกรานต์ แต่บรรยากาศทางการเมืองก็ไม่ได้ผ่อนคลายตามไปด้วย มีหลาย ๆ เรื่องเกิดขึ้นในช่วงเวลาสองสัปดาห์ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่แม้รัฐสภาจะเสนอขอแก้ไขรายมาตราตาม คำแนะนำ ของศาลรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อมีผู้ร้องศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญก็รับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราเอาไว้พิจารณา (อีกแล้ว !!!) ทำให้หลาย ๆ คนมองว่า ชาตินี้คงแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้แน่นอน เพราะยังไงเสียรัฐสภาก็คง ไม่กล้า ที่จะ ต่อกร กับศาลรัฐธรรมนูญเป็นแน่ เรื่องต่อมาก็คือ เรื่องปราสาทพระวิหาร ที่ยังไม่รู้ว่าจะจบลงอย่างไร แต่ที่รู้แน่ ๆ ก็คือ เรื่องนี้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการทำลายล้างทางการเมืองภายในประเทศ ส่วนเรื่องสุดท้ายก็คือ เรื่องของความพยายามที่จะเลื่อนวาระการพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของสภาผู้แทนราษฎรขึ้นมา ซึ่งขนาดแค่มีข่าวก็มีคนเตรียมประท้วงทั้งในและนอกสภากันแล้ว
ทั้ง 3 เรื่องคงทำให้อุณหภูมิทางการเมืองร้อนแรงขึ้นในช่วงหลังสงกรานต์ไปจนกระทั่งถึงปลายปีครับ
ในบทบรรณาธิการครั้งที่แล้ว ผมได้เล่าให้ฟังถึงความเป็นมาของกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐเพื่อเป็นการ ปูพื้น ความเป็นมาของกฎหมายใหม่ฉบับหนึ่งคือ พระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ซึ่งมีผลใช้บังคับไปแล้วเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2556 ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ ผมจะเขียนถึงกฎหมายฉบับนี้ต่อครับ
ดังที่ได้กล่าวไปในบทบรรณาธิการครั้งที่แล้วว่า การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership หรือ PPP) เป็นเรื่องที่ถูกนำมาใช้กับการจัดทำบริการสาธารณะในต่างประเทศมาแล้วในช่วงเวลาหนึ่ง โดยลักษณะของการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนมีหลายรูปแบบ ตัวอย่างเช่น BOO (Built Own Operate) ที่เอกชนเป็นผู้ออกแบบ ก่อสร้าง เป็นเจ้าของ ดำเนินการและบริหารจัดการสินทรัพย์ด้วยตนเอง เมื่อครบกำหนดเวลาหรือสิ้นสุดสัญญาไม่ต้องโอนสินทรัพย์คืนให้กับรัฐ หรือ BOT (Built Own Transfer) ที่เอกชนเป็นผู้ออกแบบ ก่อสร้าง บริหารจัดการ เมื่อครบกำหนดเวลาหรือสิ้นสุดสัญญาก็จะต้องโอนสินทรัพย์คืนให้กับรัฐ ในประเทศไทยมีโครงการ PPP เกิดขึ้นมาแล้วหลายโครงการทั้งที่ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะ เช่น โครงการโรงไฟฟ้าของ กฟผ. โครงการ BTS ของ กทม. เป็นต้น กล่าวโดยสรุป PPP ก็คือการดำเนินการที่เอกชนเข้ามาเป็นผู้จัดทำบริการสาธารณะอันเป็นโครงสร้างขั้นพื้นฐานที่ปกติแล้วรัฐจะเป็นผู้ดำเนินการนั่นเอง การจัดทำบริการสาธารณะในรูปแบบของ PPP นอกจากจะทำให้รัฐประหยัดเงินงบประมาณในการลงทุนแล้วก็ยังทำให้ภาคเอกชนมีช่องทางในการทำธุรกิจมากขึ้น ส่วนประชาชนก็น่าจะได้รับบริการที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการที่รัฐเป็นผู้ดำเนินการจัดทำ
กฎหมายเดิมคือ พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 นั้นเกิดขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์สำคัญคือ เพื่อกำหนดขั้นตอนและระยะเวลาในการพิจารณาให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินงานในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่สำคัญของรัฐ พร้อมทั้งกำหนดให้มีหน่วยงานและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเข้ามาช่วยวิเคราะห์และพิจารณาคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมดำเนินโครงการในทุก ๆ ขั้นตอน กฎหมายดังกล่าวได้กำหนดให้อำนาจในการอนุมัติโครงการลงทุนสำคัญเป็นของคณะรัฐมนตรีแทนที่จะเป็นของกระทรวงหรือรัฐมนตรี มีการกำหนดมาตรฐานขั้นตอนการปฏิบัติงานรวมถึงระยะเวลาการดำเนินงานของเอกชนที่ได้รับการคัดเลือกเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามวัตถุประสงค์ การปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างต้นส่งผลทำให้การดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐเป็นไปอย่างล่าช้าและมีปัญหาทางกฎหมายในหลายประการ
กฎหมายใหม่คือ พระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 จึงเป็นกฎหมายที่มีขึ้นมาเพื่อสานต่อการดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 เหตุผลในการตรากฎหมายฉบับนี้ที่ปรากฏอยู่ในเหตุผลแนบท้ายกฎหมายคือ โดยที่กฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐซึ่งใช้บังคับมาตั้งแต่ พ.ศ. 2535 มีหลักเกณฑ์บางประการที่ไม่ชัดเจน ก่อให้เกิดปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายและการตีความกฎหมายเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังมิได้มีการกำหนดขั้นตอนและหลักเกณฑ์การดำเนินการที่สำคัญบางประการไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญา ประกอบกับในปัจจุบันประเทศไทยมีความจำเป็นต้องจัดทำโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะในด้านต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจำเป็นต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก ทำให้รัฐยังไม่สามารถดำเนินการให้เพียงพอแก่ความต้องการของประชาชนได้ ดังนั้น การมอบหมายให้เอกชนเข้าร่วมดำเนินการในกิจการของรัฐเพื่อจัดทำโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะทำให้มีการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะขึ้น อีกทั้งยังส่งผลให้เป็นการประหยัดงบประมาณของภาครัฐด้วย ทำให้การใช้ทรัพยากรของรัฐเป็นไปอย่างคุ้มค่าและเกิดประสิทธิภาพ และเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยมีการเปิดเสรีด้านการค้าและการลงทุนกับประเทศต่าง ๆ ด้วย สมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ เพื่อให้มีการกำหนดนโยบายของรัฐที่ชัดเจนและแน่นอนในการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ การกำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐให้ครบถ้วน โดยมีความโปร่งใสและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและหลักวินัยการเงิน การคลัง การส่งเสริมและสนับสนุนการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ รวมทั้งให้มีหน่วยงานรับผิดชอบในการทำหน้าที่กำหนดมาตรฐาน กำกับดูแล ส่งเสริม และสนับสนุนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ตลอดจนพัฒนาวินัยการเงินการคลังของประเทศในการให้เอกชนร่วมลงทุน เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงินและการคลังของประเทศในระยะยาว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
โครงสร้างของพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 นั้น ประกอบด้วยมาตราต่าง ๆ รวม 72 มาตรา แบ่งออกเป็น 11 หมวดคือ บททั่วไป คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ แผนยุทธศาสตร์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ การเสนอโครงการ การดำเนินโครงการ การกำกับดูแลและติดตามผล การแก้ไขสัญญาและการทำสัญญาใหม่ กองทุนส่งเสริมการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ บทเบ็ดเตล็ด บทกำหนดโทษและบทเฉพาะกาล ในขณะที่กฎหมายเดิมคือ พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ประกอบด้วยมาตราต่าง ๆ รวม 25 มาตรา แบ่งออกเป็น 5 หมวดคือ บททั่วไป การเสนอโครงการ การดำเนินโครงการ การกำกับดูแลและติดตามผล และบทเฉพาะกาล
ในส่วนของคำนิยามที่ปรากฏอยู่ในพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 นั้น ผมคงไม่ขอนำมากล่าวถึงเพราะเมื่อได้อ่านคำนิยามต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคำว่า กิจการของรัฐ ร่วมลงทุน โครงการ และหน่วยงานเจ้าของโครงการ เห็นได้ชัดเจนว่าผู้ร่างกฎหมายพยายามทำให้คำนิยามเหล่านี้ชัดเจนขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีตจากคำนิยามของคำว่า กิจการของรัฐ ร่วมลงทุน โครงการ และหน่วยงานเจ้าของโครงการ ที่ปรากฏอยู่ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 แต่ผมจะขอนำเอาสาระสำคัญของกฎหมายใหม่คือ พระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญของกฎหมายคือ การร่วมงานระหว่างรัฐกับเอกชนมานำเสนอในเชิงเปรียบเทียบกับกฎหมายเดิมคือ พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ครับ
เพื่อให้มี เจ้าภาพ สำหรับการจัดทำระบบ PPP ในประเทศไทย กฎหมายใหม่ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง ชื่อว่า คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐหรือที่คาดเดาเอาไว้ว่าน่าจะเรียกคณะกรรมการชุดนี้ว่า คณะกรรมการ PPP ประกอบด้วยกรรมการจำนวนไม่เกิน 17 คนดังที่กำหนดไว้ในมาตรา 8 คือ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นรองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ อธิบดีกรมบัญชีกลาง ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ อัยการสูงสุด และผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่เกิน 7 คน โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจเป็นกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญอยู่หลายประการตามมาตรา 16 เช่น จัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อเสนอขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบหลักการโครงการที่จะให้เอกชนร่วมลงทุนและการดำเนินโครงการตามที่กำหนดในกฎหมาย พิจารณาเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางด้านการเงินหรือการคลังในการสนับสนุนให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐต่อรัฐมนตรี พิจารณาอนุมัติหรือตัดสินชี้ขาดการไม่ใช้วิธีการคัดเลือกโดยวิธีการประมูล กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการที่มีวงเงินมูลค่าต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท เพื่อให้หน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติ เป็นต้น ซึ่งในกฎหมายเดิมนั้นไม่ได้มีการตั้งคณะกรรมการตามกฎหมายขึ้นมาเพื่อดูแลการดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติ
นอกจากการตั้งคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐแล้ว กฎหมายใหม่ยังได้กำหนดไว้ในมาตรา 18 ให้มีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ที่นอกจากจะรับผิดชอบงานธุรการแล้วยังมีอำนาจหน้าที่ทางวิชาการอีกหลายประการ เช่น ร่างแผนยุทธศาสตร์ให้คณะกรรมการ ศึกษาและวิเคราะห์โครงการและเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ จัดทำร่างมาตรการหรือแนวทางด้านการเงินหรือการคลังในการสนับสนุนให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐเสนอต่อคณะกรรมการ เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการในกรณีไม่ใช้วิธีการคัดเลือกโดยวิธีการประมูล จัดทำร่างประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐในโครงการที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ร่วมมือทางด้านวิชาการ การวิจัยและพัฒนากับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ เป็นต้น
สาระสำคัญประการแรกของพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ที่จะขอนำเสนอคือ แผนยุทธศาสตร์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ
ในมาตรา 6 ของกฎหมายเดิม กำหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการที่ประสงค์จะให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในโครงการใดเสนอผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการโดยละเอียดตามประเด็นหัวข้อที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกำหนดต่อกระทรวงเจ้าสังกัด แต่ในมาตรา 16 ของกฎหมายใหม่กำหนดให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการที่จะต้องจัดทำแผนยุทธศาสตร์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ โดยแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวนั้น มาตรา 19 กำหนดไว้ว่า จะต้องสอดคล้องกับบทบัญญัติว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนยุทธศาสตร์มีระยะเวลาครั้งละ 5 ปี โดยในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์นั้น คณะกรรมการไม่ได้มีอำนาจเด็ดขาดที่จะดำเนินการ มาตรา 20 ได้กำหนดให้รัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดเสนอกรอบนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐในความรับผิดชอบของกระทรวงต่อคณะกรรมการเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ของคณะกรรมการ และนอกจากนี้ ในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ คณะกรรมการจะต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานของรัฐและสาธารณชนที่เกี่ยวข้องด้วย จากนั้น คณะกรรมการจะต้องเสนอแผนยุทธศาสตร์ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบและประกาศใช้แผนยุทธศาสตร์ในราชกิจจานุเบกษาต่อไป แผนยุทธศาสตร์นี้มีผลผูกพันหน่วยงานของรัฐในการจัดทำและเสนอโครงการ โดยมาตรา 21 วรรคสองของกฎหมายใหม่ได้กำหนดไว้ว่า คณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการต้องยึดแผนยุทธศาสตร์เป็นหลักในการพิจารณาให้ความเห็นชอบโครงการ
จากบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น สองสิ่งเร่งด่วนที่ต้องรีบดำเนินการภายหลังจากที่กฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐประกาศใช้บังคับก็คือ การจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐขึ้นมาเพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ
เรื่องต่อมาที่สำคัญที่ถือว่าเป็นหัวใจของกฎหมายใหม่ก็คือ วิธีการให้เอกชนเข้าร่วมงานกับรัฐนั้น ในกฎหมายเดิมกำหนดขั้นตอนไว้ 3 ขั้นตอนคือ การเสนอโครงการ การดำเนินโครงการและการกำกับดูแลและติดตามผล ส่วนกฎหมายใหม่ได้กำหนดขั้นตอนเอาไว้ 4 ขั้นตอนด้วยกันคือ การเสนอโครงการ การดำเนินโครงการ การกำกับดูแลและติดตามผล และการแก้ไขสัญญาและการทำสัญญาใหม่
ในขั้นตอนของการเสนอโครงการซึ่งเป็นขั้นตอนแรกตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายนั้น กฎหมายเดิมกำหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเสนอผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการต่อกระทรวงเจ้าสังกัด จากนั้นกระทรวงเจ้าสังกัดจึงเสนอผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการต่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเพื่อพิจารณาเสนอต่อคณะรัฐมนตรี แต่ในกฎหมายใหม่นั้น มาตรา 23 ได้กำหนดให้โครงการที่มีมูลค่าตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไปต้องดำเนินการตามหมวด 4 มาตรา 23 - 31 สรุปความได้ว่า หน่วยงานเจ้าของโครงการจะต้องว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อจัดทำรายงานผลการศึกษาวิเคราะห์โครงการตามรายละเอียดที่คณะกรรมการกำหนด จากนั้นหน่วยงานเจ้าของโครงการจะต้องเสนอผลการศึกษาวิเคราะห์โครงการต่อรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยในมาตรา 26 ได้กำหนดระยะเวลาในการพิจารณาของรัฐมนตรีเอาไว้ว่าให้พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับการเสนอเรื่องจากหน่วยงานเจ้าของโครงการ เมื่อรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดได้ให้ความเห็นชอบแล้ว ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเสนอผลการศึกษาดังกล่าวต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ในขั้นตอนนี้ มาตรา 26 วรรคสองได้บัญญัติถึงอำนาจหน้าที่ที่สำคัญของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจไว้ว่า ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจอาจขอให้หน่วยงานเจ้าของโครงการปรับปรุงแก้ไขรายละเอียดของโครงการหรือจัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมได้ แต่ถ้าหากการดำเนินการดังกล่าวทำให้มีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการให้สอดคล้องกัน ก็ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินการไปในคราวเดียวกันแล้วเสนอรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดให้ความเห็นชอบการปรับปรุงแก้ไขอีกครั้งหนึ่ง
ในการพิจารณาผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการนั้น กฎหมายใหม่ได้มอบอำนาจในการกลั่นกรองผลการศึกษาวิเคราะห์โครงการให้แก่สำนักงาน โดยมาตรา 27 บัญญัติว่า หากสำนักงานเห็นด้วยกับโครงการก็ให้เสนอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการของโครงการนั้นต่อไป แต่ถ้าสำนักงานไม่เห็นด้วยก็ให้แจ้งความเห็นของสำนักงานต่อรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดและหน่วยงานเจ้าของโครงการ หากรัฐมนตรีเจ้าสังกัดไม่เห็นด้วยกับความเห็นของสำนักงานก็ให้เสนอเรื่องให้คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐเพื่อพิจารณาตัดสินต่อไป โดยสำนักงานจะต้องพิจารณาโครงการให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการและเอกสารที่เกี่ยวข้องครบถ้วน หากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว มาตรา 27 วรรคท้ายกำหนดไว้ว่าให้ถือว่าสำนักงานเห็นด้วยกับโครงการ
การกำหนดกรอบระยะเวลาไว้ในกฎหมายในแต่ละขั้นตอนก็เพื่อเป็นการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามกฎหมายเดิมที่ไม่มีการกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการต่าง ๆ เอาไว้ ทำให้การดำเนินการโครงการต่าง ๆ เป็นไปอย่างล่าช้า
ส่วนเมื่อคณะกรรมการให้ความเห็นชอบหลักการของโครงการใดแล้วจะต้องมีการดำเนินการอย่างไรต่อไป คงต้องเก็บเอาไว้เขียนต่อในบทบรรณาธิการครั้งหน้าครับ
ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอเพียงบทความเดียว เป็นบทความของคุณ ชำนาญ จันทร์เรือง ที่เขียนเรื่อง "ทั่วโลกมุ่งสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต" ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความด้วยครับ
พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 4 พฤษภาคม 2556 ครับ
ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1842
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 11:20 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|