ทั่วโลกมุ่งสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต

21 เมษายน 2556 16:44 น.

       “ถ้าโทษประหารไม่มีผลเชิงป้องปราม ซึ่งก็เป็นเช่นนั้น และถ้าโทษประหารไม่ทำให้เราปลอดภัยขึ้น และมันก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ ต้องถือว่าโทษประหารเป็นเพียงการแก้แค้นที่มีต้นทุนสูง(If the death penalty is not a deterent,and it is not,and if the death penalty does not make us safer,and it does not,the it is only high-cost revenge.)”
       ชารลส์ เอ็ม แฮร์ริส (Charles M. Harris) ผู้พิพากษาอาวุโสรัฐฟลอริดา/เม.ย.55
       จากรายงานประจำปีของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลที่เผยแพร่ออกไปทั่วโลกเมื่อ 10 เมษายน 2556 ที่ผ่านมาแสดงถึงสถิติโทษประหารในปี 2555 ว่า แนวโน้มทั่วโลกยังคงมุ่งสู่การยกเลิกโทษประหาร โดยมีเพียงหนึ่งในสิบของประเทศทั่วโลกที่ยังมีการตัดสินลงโทษประหารอยู่ อย่างไรก็ตามก็ได้เกิดความถดถอยในปี 2555 เช่นกัน กล่าวคือมีการรื้อฟื้นการประหารชีวิตขึ้นในประเทศแกมเบีย อินเดีย ญี่ปุ่น และปากีสถาน
       แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลรวบรวมข้อมูลการประหารชีวิตได้ใน 21 ประเทศ พบว่ามีการประหารชีวิต 682 ครั้ง ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลข 680 ครั้งในปี 2554 ใน 21 ประเทศเช่นกัน ตัวเลข 682 ครั้งยังไม่รวมการประหารชีวิตหลายพันครั้งในประเทศจีนที่ไม่มีการเปิดเผยตัวเลขอย่างเป็นทางการ ซึ่งถือว่ามากกว่าจำนวนการประหารชีวิตของทั้งโลกรวมกัน 3 ใน 4 ของการประหารชีวิตที่ยืนยันได้ เกิดขึ้นใน 3 ประเทศเท่านั้น ได้แก่ อิหร่าน อิรัก และซาอุดิอาระเบีย
       ประเทศที่ประหารชีวิตบุคคลมากสุดในโลก 5 ประเทศ ได้แก่ จีน อิหร่าน อิรัก ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐฯ โดยมีเยเมนตามมาติดๆ
       วิธีการประหารชีวิตในปี 2555 ได้แก่ การแขวนคอ การตัดศีรษะ การยิงเป้า และการฉีดสารพิษ ที่ซาอุดิอาระเบีย มีการนำศพของชายคนหนึ่งที่ถูกตัดศีรษะเพื่อประหารชีวิตไปประจาน โดยถือว่าเป็น “การตรึงกางเขนเพื่อให้ตายอย่างทรมาน” อย่างหนึ่ง
       แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมีข้อมูลความก้าวหน้าของการยกเลิกโทษประหารในทุกภูมิภาคของโลกที่ถึงแม้ว่าสหรัฐฯ จะเป็นเพียงประเทศเดียวในทวีปอเมริกาที่ยังคงประหารชีวิตในปี 2555 แต่ก็เกิดขึ้นใน 9มลรัฐเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับ 13 มลรัฐ ในปี 2554    คอนเนกติกัตเป็นรัฐลำดับที่ 17 ที่ยกเลิกโทษประหารเมื่อเดือนเมษายน 2555 ที่ผ่านมา
       ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว อินเดียประหารชีวิตบุคคลเป็นครั้งแรกนับจากปี 2547 โดยการแขวนคอนายอัชมาล กาสับ (Ajmal Kasab) มือปืนที่รอดมาได้จากเหตุการณ์ระเบิดที่กรุงมุมไบเมื่อปี 2551
       ที่ญี่ปุ่น มีการประหารชีวิตนักโทษสามคนเมื่อเดือนมีนาคมปีที่ผ่านมา และอีกสี่คนในเวลาต่อมา หลังจากที่งดเว้นมาเป็นเวลา 20 เดือน
       ปัจจุบันยังคงมีผู้ที่ต้องโทษประหารหรือถูกประหารสำหรับความผิดที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการฆ่าโดยเจตนา ซึ่งย่อมไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขการเป็น “อาชญากรรมร้ายแรงที่สุด” ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 6 ของกติกา ICCPR(International Covenant on Civil and Political Rights ) เช่น การใช้โทษประหารสำหรับความผิดในคดียาเสพติดในหลายประเทศรวมทั้งจีน, อินเดีย, อินโดนีเซีย, อิหร่าน, มาเลเซีย, ปากีสถาน, ซาอุดิอาระเบีย, สิงคโปร์, ไทย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเยเมน เป็นต้น
       ความผิดที่ลงโทษด้วยการประหารชีวิตยังประกอบด้วย “การผิดประเวณี” และ “การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายกับชาย” (อิหร่าน) ความผิดเกี่ยวกับศาสนา อย่างเช่น “การละทิ้งศาสนา” (อิหร่าน) และ “การหมิ่นศาสนา” (ปากีสถาน) “การใช้เวทย์มนต์”  (ซาอุดิอาระเบีย) ความผิดทางเศรษฐกิจ (จีน) การข่มขืนกระทำชำเรา (ซาอุดิอาระเบีย) และการลักทรัพย์ในรูปแบบที่ “ร้ายแรง” (ซาอุดิอาระเบีย, เคนยา, แซมเบีย)
       นอกจากนี้ยังมีการลงโทษประหารสำหรับความผิดรูปแบบต่าง ๆ ที่ถือว่าเป็น “กบฏ” “การกระทำที่คุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติ” และ “อาชญากรรมต่อรัฐ”  เช่น ในแกมเบีย, คูเวต, เลบานอน, เกาหลีเหนือ, ปาเลสไตน์ (เวสต์แบงก์; เขตยึดครองของปาเลสไตน์บริเวณฉนวนกาซาที่อยู่ใต้การปกครองของกลุ่มฮามัส) และโซมาเลีย
       ส่วนของประเทศไทยเรา มีการบันทึกข้อมูลการตัดสินประหารชีวิตเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 106 คดี และจนถึงสิ้นปีมีนักโทษประหารอยู่กว่า 650 คน ตัวเลขจากกรมราชทัณฑ์ชี้ให้เห็นว่า อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของนักโทษประหารเป็นความผิดที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด (แต่ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมาไทยเราไม่มีการประหารชีวิตแต่อย่างใด)
       ในวันที่ 15 มีนาคม2555 คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติรับรองผลการพิจารณาการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศ (UPR) ของไทยที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2554 ซึ่งทางการไทยปฏิเสธข้อเสนอแนะให้ทบทวนหรือแก้ไขกฎหมายเพื่อให้มีการยกเลิกโทษประหาร โดยต้องการให้รอผลการศึกษาเพื่อประเมินความเป็นไปได้ในการยกเลิกโทษประหารเสียก่อน ที่น่าเศร้าคือตลอดทั้งปีที่ผ่านมามีเสียงเรียกร้องให้เร่งการประหารชีวิตในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้เร็วขึ้น(นำโดยรองนายกรัฐมนตรีที่จบดอกเตอร์ด้านกฎหมาย???) รวมทั้งการกดดันที่มาจากหน่วยงานของรัฐบาลเอง
       ในวันที่ 20 ธันวาคมปีที่แล้ว ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติมีการพิจารณามติที่ 67/176 รับรองมติฉบับที่ 4 ว่าด้วยความตกลงเพื่อยุติการใช้โทษประหารชั่วคราว โดยมีการรับรอง 111 เสียง ค้าน 41 เสียง และงดออกเสียง 34 เสียง(รวมไทยที่งดออกเสียงเป็นปีที่ 2 แต่ก็ถือว่าเป็นความก้าวหน้าที่จากเดิมที่เคยลงมติคัดค้านมาก่อน) ซึ่งเป็นการเรียกร้องให้รัฐต่าง ๆ เคารพมาตรฐานระหว่างประเทศที่มุ่งคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่ต้องโทษประหาร มีแนวทางจำกัดการใช้โทษประหาร และลดจำนวนความผิดสำหรับโทษประหาร และเป็นการจัดทำความตกลงเพื่อยุติการใช้โทษประหารชั่วคราว
       มีการเพิ่มถ้อยความกำหนดให้รัฐควรเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้โทษประหาร เรียกร้องไม่ให้รัฐใช้โทษประหารกับหญิงตั้งครรภ์หรือผู้เยาว์ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ในขณะที่กระทำความผิด ทั้งนี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อยกเลิกโทษประหารในที่สุด และมติดังกล่าวได้เรียกร้องให้รัฐที่ยกเลิกโทษประหารไปแล้ว ไม่ให้นำกลับมาใช้อีก สุดท้ายจะมีการพิจารณาประเด็นนี้อีกครั้งในสมัยประชุมที่ 69 ในปี 2557
       กล่าวโดยสรุปแม้ว่าจะมีการรรื้อฟื้นโทษประหารขึ้นมาในบางประเทศ แต่สถานการณ์โดยทั่วไปของโลกถือว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น และจะดีขึ้นเรื่อยๆ ที่น่าภูมิใจที่สุดก็คือในภูมิภาคอาเซียนของเราในรอบปี 2555 ที่ผ่านมาไม่มีการประหารชีวิตนักโทษเลยครับ
        
       ----------------
        


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1841
เวลา 6 พฤษภาคม 2567 23:55 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)