ระบบเผด็จการทหาร และ ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุน ต่างก็ ไม่ใช่ “ระบอบประชาธิปไตย” ด้วยกัน (หน้าที่ 3)

25 กุมภาพันธ์ 2556 15:02 น.

       ช่วงระยะที่สาม  เป็น รัฐธรรมนูญที่  “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมืองนายทุน  ในระบบรัฐสภา”  ประเทศแรกและเป็นประเทศเดียวในโลก
                    ช่วงระยะที่สาม    เริ่มต้นด้วย การแก้ไขเพิ่มเติม (มาตรา ๑๕๙)  รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๔   (รธน. ฉบับที่ ๑๕)โดย รธน. ฉบับที่ ๔  พ.ศ. ๒๕๓๕ ในเดือนกันยายน หลังพฤษภาทมิฬ  ซึ่งทำให้”ระบบการบังคับให้ ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมือง ฯ” ตาม รธน.  พ.ศ. ๒๕๓๔  (ที่ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย  ที่เริ่มต้นตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๗)  กลายมาเป็น “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมืองนายทุน  ในระบบรัฐสภา” ประเทศเดียวในโลก   และ หลังจากนั้น  เราก็มี รธน. ฉบับสมบูรณ์ ที่เป็น “ระบบเผด็จการฯ”  ตามมาอีก ๓ ฉบับ จนถึง ปัจจุบัน  (พ.ศ.๒๕๕๕ - ค.ศ.๒๐๑๓)  รวมเวลา ตั้งแต่  พ.ศ. ๒๕๓๕  (ค.ศ. ๑๙๖๒) จนถึงขณะนี้  เป็นเวลา  ๒๐  ปีเศษ  [หมายเหตุ  ท่านผู้ที่มาฟังการบรรยาย  ลองคิดทบทวน ดูว่า  อะไรเกิดขึ้นแก่ประเทศไทย  ในช่วงระยะที่สามนี้ ]
        
          (๑) รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๔   (รธน. ฉบับที่ ๑๕ , ยกร่างโดยคณะกรรมาธิการ ที่แต่งตั้งโดย “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” ตามธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.๒๕๓๔  - คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ)   
                  มาตรา ๑๑๗  (สถานภาพ)  คงเดิม
                  มาตรา ๑๑๘   (คำปฏิญาณ)  คงเดิม
                   [●การบังคับสังกัดพรรคการเมือง   (มาตรา ๑๐๕ (๓)   คงเดิม
                     การพ้นจากสมาชิกภาพของ ส.ส.  (มาตรา ๑๑๔ (๗)  คงเดิม  
                    ● นายกรัฐมนตรี ต้องมาจาก  ส.ส.   ( มาตรา ๑๕๙ วรรคสอง  “นายกรัฐมนตรี ต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร”      แก้ไขเพิ่มเติม โดย รธน. ฉบับที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๓๕   ในเดือนกันยายน  หลังพฤษภาทมิฬ  โดย นายกรัฐมนตรีชั่วคราว)
        
       (๒)  รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๔  แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๓๘  (สำหรับผู้เขียน  คือ  รธน. ฉบัยที่ ๑๖  ; รธน. ฉบับนี้(แม้จะเรียกชื่อว่า เป็น รธน. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม)  เป็นรํฐธรรมนูญ ที่ยกร่างขึ้นใหม่ทั้งฉบับ  โดย “คณะกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ที่แต่งตั้ง โดยรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๔   ได้มีการแก้ไขและเพิ่มเติมบทมาตราเดิม  และมีการเรียงลำดับ“เลขมาตรา” ใหม่ทั้งหมด   และด้วยเหตุนี้เอง   รธน.แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับนี้  จึงเป็นรัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์ทั้งฉบับเป็นเอกเทศ )  
                มาตรา ๑๒๓  (สถานภาพ)  สาระคงเดิม   (มาตรา ๑๑๗ เดิม)
                มาตรา ๑๒๔  (คำปฏิญาณ)  สาระคงเดิม  (มาตรา ๑๑๘ เดิม)  คือ  ก่อนเข้ารับหน้าที่  สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  ต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก  ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้ 
           “ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์  สุจริต  เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย  ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตาม ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”
                     [●การบังคับสังกัดพรรคการเมือง  (มาตรา ๑๑๑ (๓) )  สาระเดิม ของมาตรา ๑๐๕ (๓)   คือ ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ฯ 
                        การพ้นจากสมาชิกภาพของ ส.ส.  (มาตรา ๑๒๐ (๗))  สาระเดิม ของมาตรา ๑๑๔ (๗)  คือ สมาชิกภาพของ ส.ส. สิ้นสุดลง  เมื่อ (๑) ลาออกจากพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิก  (๒) พรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกมีมติให้พ้นจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิก  
                        นายกรัฐมนตรี ต้องมาจาก ส.ส.  (มาตรา ๑๖๓ วรรคสอง)  สาระเดิม ของมาตรา ๑๕๙ วรรคสอง  คือ นายกรัฐมนตรี ต้องเป็น ส.ส.  ]
        
        (๓) รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐   (สำหรับผู้เขียน คือ ฉบัยที่ ๑๗ , ยกร่างโดย  “สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)”  จำนวน ๙๙ คน  ตาม รธน. พ.ศ. ๒๕๓๔  แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๓๙ )
              มาตรา ๑๔๙  (สถานภาพ)  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา   ย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย  และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต   เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย
                มาตรา ๑๕๐   (คำปฏิญาณ) ก่อนเข้ารับหน้าที่  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา   ต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก  ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้
                  “ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์  สุจริต  เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย  ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตาม ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”
                [● การบังคับสังกัดพรรคการเมือง  ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง  ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคการเมือง นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า ๙๐ วัน (มาตรา ๑๐๗ (๔))
                 การพ้นสมาชิกภาพของ ส.ส.    สมาชิกภาพของ ส.ส. สิ้นสุดลง  เมื่อ  (๑) ลาออกจากพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิก    (๒) พรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิก  มีมติ ฯ ให้พ้นจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิก  (มาตรา ๑๑๘ (๘) )  
                นายกรัฐมนตรี ต้องมาจาก ส.ส. (มาตรา ๒๐๑)  นายกรัฐมนตรี ต้องแต่งตั้งจาก  ส.ส.  ]    
        
        (๔ ) รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐  ฉบับปัจจุบัน   ( สำหรับผู้เขียน คือ  รธน.  ฉบับที่ ๑๙) , ยกร่างโดย “สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)” จำนวน ๑๐๐ คน (มาตรา ๑๙)   และ”คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ” จำนวน ๓๕ คน(มาตรา ๒๕)  ตาม รธน. (ฉบับชั่วคราว)  พ.ศ.๒๕๔๙  ของ “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”)    
                มาตรา ๑๒๒  (สถานภาพ)  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา  ย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย โดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติ มอบหมาย หรือความครอบงำ ใด ๆ  และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต   เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดบปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์
                  มาตรา ๑๒๓    (คำปฏิญาณ)   ก่อนเข้ารับหน้าที่  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา  ต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก  ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้
           “ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า  ข้าพเจ้าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต  เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตาม ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”
        
                  [● การบังคับสังกัดพรรคการเมือง   ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียว เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า ๙๐ วันนับถึงวันเลือกตั้ง    เว้นแต่ในกรณีที่มีการเลือกตั้ง เพราะเหตุยุบสภาต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคการเมืองเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า ๓๐ วันนับถึงวันเลือกตั้ง  (มาตรา  ๑๐๑ (๓))
                  การพ้นสมาชิกภาพของ ส.ส.    สมาชิกภาพของ ส.ส. สิ้นสุดลง  เมื่อ  (๑) ลาออกจากพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิก     (๒) พรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิก มีมติ ฯ  ให้พ้นจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิก ฯ   (มาตรา๑๐๖  (๗))
                  ●นายกรัฐมนตรี ต้องมาจาก ส.ส. (มาตรา  ๑๗๑ ว.๒)    นายกรัฐมนตรี ต้องเป็น ส.ส. ฯ ]
        
       --------------------------------------------------------------------------
       
       ถ้อยคำและข้อความใน   บทมาตรา  ที่ว่าด้วย “สถานภาพ ของ ส.ส. / ส.ว.” และ “คำปฏิญาณ ของ ส.ส. / ส.ว.”
       ในรัฐธรรมนูญฉบับต่าง ๆ ของเรา  บอกอะไร  แก่เราได้บ้าง
       
                   ทีกล่าวมาข้างต้นนี้  คือ   บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับ “หลักการของความเป็นประชาธิปไตย - the principle of democracy“  ของ รัฐธรรมนูญ (ฉบับสมบูรณ์)  ทั้ง ๑๒  ฉบับของประเทศไทย   และ ถ้อยคำและข้อความในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ  บอกให้เรารู้ว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ๘๐ ปี  ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช (พ.ศ. ๒๔๗๕)   อาจารย์กฎหมายในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย และ นักวิชาการของประเทศไทย  มี “ความรู้”  หรือ มี “ความไม่รู้” ใน หลักการของความเป็นประชาธิปไตย ที่เป็นหลักสากล  มากน้อยเพียงใด
        
                    ผมไม่ทราบว่า   เมื่อท่านผู้ที่มาฟังการบรรยาย ได้“อ่าน” ถ้อยคำใน บทมาตราข้างต้นนี้แล้ว    ท่าน (ไม่ว่าจะเป็น “นักกฎหมาย” หรือไม่ใช่นักกฎหมาย) ได้สดุดใจในประการใดบ้าง  หรือไม่
                    อันที่จริง  ในข้อความดังกล่าวข้างต้น  ผมได้ทำ“ตัวช่วย” เพื่อช่วยให้ท่านผู้อ่านสังเกตเห็น “ความสำคัญ” ของความแตกต่างของถ้อยคำในตัวบท อยู่แล้วบาง ประการ  เช่น   ผมได้เแบ่งให้เห็น “ช่วงระยะเวลา” ของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่ใช้ถ้อยคำแตกต่างกัน  โดยแบ่งเป็น  ๓ ช่วงเวลา  และ  ผมได้ใช้ “ขนาด” ตัวอักษรที่แสดงให้เห็นความแตกต่างของข้อความ
            
                 “ถ้อยคำ” ที่ผมคิดว่า  “ท่านผู้อ่าน” คงสังเกตเห็น   ก็คือ  ความแตกต่าง ของประโยค  ๒ ประโยค   ประโยคแรก  ที่ว่า   “ส.ส. (และส.ว.) ย่อมเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย  ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายใดๆ   และต้องปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของตนโดยบริสุทธิใจ  ( เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย)”   กับ ประโยคที่สอง  ที่ว่า   “ส.ส. ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย”  ซึ่งสองประโยคนี้  มีความหมายแตกต่างกัน  และ ผู้ที่มีร่างรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ  มี “ความตั้งใจ” ที่จะใช้ให้ไม่เหมือนกัน      
                 ผมอยากให้ท่านผู้ที่มาฟังการบรรยาย สังเกตว่า  ถ้อยคำทั้งสองประโยคนี้  ได้เข้ามาใช้แทนกัน  ในรัฐธรรมนูญฉบับใด ตั้งแต่ปี พ.ศ.ใด บ้าง 
        
          (๑)  ในช่วงระยะแรก  คือ  ตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ จนถึง ปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เป็นเวลานานกว่า ๔๐ ปี  ที่เรามีรัฐธรรมนูญ รวม  ๖ ฉบับ  [คือ  จาก รธน. พ.ศ. ๒๔๗๕ (ฉบับที่ ๒)  จนถึง รธน. พ.ศ. ๒๕๑๑ (ฉบับที่ ๘) ] นั้น  
                 รัฐธรรมนูญของประเทศไทย ทั้ง ๖ ฉบับ  จะเป็นรัฐธรรมนูญ  ที่มีบทมาตรา ที่เป็น “หลักการของความเป็นประชาธิปไตย - the  principle of democracy ”  อันเป็นหลักสากลของการปกครองระบอบประชาธิปไตย  บัญญัติไว้อย่างชัดเจน  ว่า  “ส.ส. ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของตน โดย บริสุทธิใจ  ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายใด ๆ”   กล่าวคือ
                ในรัฐธรรมนูญ  ๔  ฉบับ ( รธน. พ.ศ. ๒๔๗๕   /  รธน. พ.ศ. ๒๔๘๙   / รธน. พ.ศ. ๒๔๙๐ ) /  รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๔๙๕)    ข้อความดังกล่าวจะปรากฎอยู่ใน บทมาตราที่ว่าด้วยสถานภาพ ของ ส.ส. โดยรัฐธรรมนูญ ได้กำหนดให้เป็น “หน้าที่” ของ ส.ส   แต่ รัฐธรรมนูญ (๔ ฉบับ)ดังกล่าว  ไม่ได้ระบุข้อความนี้ซ้ำไว้ในบทมาตราที่ว่าด้วยการปฏิญาณตน   แต่กล่าวรวมความทั้งหมด ไว้ว่า  “ส.ส. จะรักษาไว้และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญนี้” ;  ส่วนในรัฐธรรมนูญอีก  ๒ ฉบับในระยะหลัง ๆ ( รธน. พ.ศ. ๒๔๙๒  /  รธน. พ.ศ.๒๕๑๑)  ก็จะบัญญัติว  “หลักการของความเป็นประชาธิปไตย” ไว้ชัดยิ่งกว่า ๔ ฉบับ ตอนต้น ๆ   คือ  จะกำหนดให้เป็นทั้ง “หน้าที่ของ ส.ส. “ ในบทมาตราที่ว่าด้วยสถานภาพ ของ ส.ส.  และทั้งกำหนดยืนยันให้ต้องปฎิญาณตนด้วยข้อความเดียวกัน  ในบทมาตราที่ว่าด้วยการปฏิญาณตน อีกครั้งหนึ่งด้วย
        
               รวมความว่า  รัฐธรรมนูญ ๖ ฉบับ ในช่วง ระยะแรกนี้  (รธน. พ.ศ. ๒๔๗๕ , รธน. พ.ศ. ๒๔๘๙ , รธน. พ.ศ. ๒๔๙๐, รธน. พ.ศ.๒๔๙๒ ,  รธน. พ.ศ.๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม  พ.ศ.๒๔๙๕ , และ รธน. พ.ศ. ๒๕๑๑)  จึงเป็นรัฐธรรมนูญ ที่เป็น “ระบอบประชาธิปไตย”  ตามหลักสากลของนานาประเทศ  คือ  ส.ส.ไม่ถูกบังคับให้ต้องสังกัดพรรคการเมือง  และ ส.ส. มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส. ได้ตามมโนธรรมของตน
                 และไม่ว่า  บทมาตราเหล่านี้  จะมี “ที่มา” อย่างไร  และเพราะเหตุใด  จึงได้มาเขียน(บัญญัติ)ไว้ในรัฐธรรมนูญของประเทศไทยทั้ง ๖ ฉบับ  แต่สิ่งที่แน่นอน  ก็คือ  อาจารย์กฎหมายในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย และ นักวิชาการของเรา มองไม่เห็นถึง  “ความสำคัญของบทมาตราเหล่านี้”  และไม่ได้สอนนักศึกษากฎหมายของเรา ว่า  บทบัญญัติเหล่านี้ เป็น หลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตย  และ ถ้าหากรัฐธรรมนูญไม่มีบทมาตราเหล่านี้แล้ว  อะไรจะเกิดขึ้นในสังคมไทย ;   เพราะถ้าอาจารย์กฎหมายในคณะนิติศาสตร์ฯ ของเรา  สอนนักศึกษากฎหมายมาตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง    ประเทศไทยคงไม่เกิด “ปัญหา” ดังเช่นปัจจุบันนี้ 
       
                  (๒)   ช่วงระยะที่สอง เป็น ระยะที่รัฐธรรมนูญประเทศไทย  เริ่มละทิ้ง “หลักการสากล  ของความเป็นประชาธิปไตย” ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย  (โดยเขียนบทบัญญัติบังคับ  ให้ ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมือง) ;   โดยช่วงระยะนี้   เรามีรัฐธรรมนูญอยู่ ๓ ฉบับ  เริ่มตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๕๑๗  จนถึง ปี พ.ศ. ๒๕๓๔   ช่วงนี้เป็นระยะเวลาประมาณ ๑๗ ปี   คือ จาก รธน. พ.ศ. ๒๕๑๗  ฉบับที่ ๑๐    ;   รธน. พ.ศ. ๒๕๒๑ฉบับที่ ๑๓   ;   จนถึง รธน. พ.ศ. ๒๕๓๔ ฉบับที่ ๑๕  
                โดยเราจะเห็นได้   จากรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ (รัฐธรรมนูญฉบับแรกของระยะนี้)  ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ บทมาตราที่ว่าด้วยสถานภาพ ของ ส.ส.(มาตรา ๑๒๗)    จะไม่มี “ข้อความ” ที่เป็นหลักการของความเป็นประชาธิปไตย - the  principle of democracy ”   (แตกต่างกับรัฐธรรมนูญในช่วงระยะแรก) ;   แต่อย่างไรก็ตาม  รัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ.  ๒๕๑๗ ฉบับนี้  ยังคงเขียนไว้ใน บทมาตราที่ว่าด้วยการปฏิณาณตน (มาตรา ๑๒๘)  ว่า  ส.ส. ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของตนโดยบริสุทธิใจ   (โดยไม่มีข้อความว่า  “ส.ส. ต้องไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายใดๆ “)            
                    แต่ใน   รัฐธรรมนูญต่อมาอีก ๒ ฉบับ   คือ  รธน. พ.ศ.๒๕๒๑  และ รธน. พ.ศ. ๒๕๓๔  ปรากฎว่า   ได้มีการตัดข้อความที่ว่า “ ส.ส.ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของตนโดยบริสุทธิใจ” (หลักการสากล  ของความเป็นประชาธิปไตย)    ออกจากรัฐธรรมนูญไทยทั้งหมด   และ ใช้ข้อความในบทมาตราที่ว่าด้วยการปฏิญาณตนของ ส.ส.  ว่า “ (ข้าพเจ้า) จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความชื่อสัตย์ สุจริต”   แทนที่  คำว่า “ส.ส. ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของตนโดยบริสุทธิใจ”  
        
                   ระยะที่สองนี้ จึงเป็นช่วงระยะเวลา  ที่อาจารย์กฎหมายในคณะนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยของรัฐ  ได้ละทิ้ง “หลักการของความเป็นประชาธิปไตย - the principle of democracy ”   โดยสิ้นเชิง   และ ไม่ปรากฏว่า  มีอาจารย์กฎหมายหรือนักวิชาการคนใด  ยกปัญหาสำคัญนี้ขึ้นพิจารณา แต่อย่างใด ;  ช่วงระยะที่สอง  เป็นระยะที่รัฐธรรมนูญของเรา  เริ่มใช้ บทบัญญัติ (มาตรการ)ที่บังคับให้ ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมือง อันนำไปสู่  “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมืองนายทุน ในระบบรัฐสภา” (ประเทศเดียวในโลก)  ในที่สุด
                  เป็นที่สังเกตว่า  ทำไม  รัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. ๒๕๑๗  ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของระยะนี้    จึงเขียนครื่งๆ กลาง คือ   ไม่ตัดข้อความที่ว่า “  ส.ส.ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของตนโดยบริสุทธิใจ ฯ”ออกทั้งหมด (ทั้ง ๒ มาตรา)  และ ทำไม จึงยังคงเหลือข้อความนี้ไว้ใน  บทมาตราที่ว่าด้วยการปฏิณาณตนของ ส.ส. / ส.ว. (มาตรา ๑๒๘)  (ทั้ง ๆ ที่ พอจะมองเห็นได้ ว่า  “การปฏิบัติหน้าที่ของส.ส.โดยบริสุทธิใจ”นั้น  อาจจะขัดแย้งกับการปฏิบัติตาม “นโยบายของพรรคการเมือง” ที่ตนสังกัด  (ภายไต้ระบบการบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมืองได้)  ;  เรื่องนี้ไม่เคยมีคำอธิบาย  แต่คงพอคาดหมายได้ว่า น่าจะเป็นเพราะ อาจารย์กฎหมายและนักวิชาการที่ร่างรัฐธรรมนูญ (แม้ว่าจะไม่รู้ “ความสำคัญ” ของข้อความนี้) แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่า การตัดขัอความ “ ส.ส.ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของตนโดยบริสุทธิใจ ฯ ”   ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ใช้กันมานานในรัฐธรรมนูญฉบับต่าง ๆ  ถึง ๔๐ ปีนั้น  จะทำให้เกิดปัญหาหรือมีการยกเป็น “ประเด็น”ขึ้นมาคัดค้านหรือถกเถียงกันหรือไม่ ;  แต่เมื่อปรากฎว่า  วงการวิชาการไทยไม่รู้จักความสำคัญของ“ข้อความ” นี้  และไม่สนใจว่าจะมีข้อความนี้อยู่ในรัฐธรรมนูญไทยหรือไม่  ดังนั้น  ในการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับต่อมา (คือ รธน. พ.ศ. ๒๕๑๑ และ รธน. พ.ศ. ๒๕๓๔   รัฐธรรมนูญไทยก็มีข้อความในการปฏิญาณตนของ ส.ส.  ว่า “(ข้าพเจ้า) จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความชื่อสัตย์ สุจริต”   มาแทนที่  คำว่า “ (ข้าพเจ้า) จะปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของข้าพเจ้าโดยบริสุทธิใจ” 
        
         (๓)  ช่วงระยะที่สาม  ( “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมืองนายทุน  ในระบบรัฐสภา”  ประเทศแรกและประเทศเดียวในโลก)
                        ช่วงระยะที่สามนี้  เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๕  จนถึง ปัจจุบัน  (พ.ศ. ๒๕๕๖)   เป็นระยะเวลา ๒๐  ปี เศษ   ช่วงระยะนี้  เรามีรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น  ๔ ฉบับ  คือ   (๑) รธน. พ.ศ. ๒๕๓๔  แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๔)  ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕    ; (๒) รธน. พ.ศ. ๒๕๓๔  แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๕)  พ.ศ. ๒๕๓๘     ; (๓)  รธน. พ.ศ. ๒๕๔๐ (ฉบับที่ ๑๖ หรือ สำหรับผู้เขียน  คือ ฉบับที่ ๑๗)   ; และ (๔)  รธน. พ.ศ. ๒๕๕๐ ฉบับปัจจุบัน  (ฉบับที่ ๑๘ หรือสำหรับผู้เขียน คือ ฉบับที่ ๑๙) ]
                 ช่วงระยะที่สามนี้  เป็นระยะที่มีการแก้ไข รัฐธรรมนูญของประเทศไทย  จากรัฐธรรมนูญที่ไม่ใช่ “ระบอบประชาธิปไตย” อยู่แล้ว  (เพราะรัฐธรรมนูญของเรามีบทบัญญีติบังคับให้ ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมือง และ ส.ส. ไม่มีเสรีภาพทางการเมืองในการสมัครรับเลือกตั้งโดยอิสระ)  ให้กลายเป็น  “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมืองนายทุน (ในระบบรัฐสภา)”  ประเทศแรกและประเทศเดียวในโลก
        
                  “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมืองนายทุน (ในระบบรัฐสภา)”เกิดขึ้น   เป็นผลเนื่องมาจาก “ความไม่รอบรู้” (ใน “กลไก”ของระบบสถาบันการเมือง - form of government)  ของนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่ง  ที่เข้ามาบริหารประเทศเป็นการชั่วคราว (เพียง  ๓ เดือนเศษ)  แต่ได้มาแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติ (ซึ่งดูเหมือนว่าไม่มีความสำคัญ)ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๔   แต่กลับเป็นบทบัญญัติที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง  เมื่อเป็นการบัญญัติเพิ่มเติม  บวกเข้ากับบทบัญญัติเดิมที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๔ มีอยู่แล้ว  คือ “บทบัญญัติที่บังคับให้ ส.ส. ต้องกัดพรรคการเมือง” และ “บทบัญญัติที่ให้พรรคการเมืองมีอำนาจมีมติให้ ส.ส. พ้นจากสมาขิกภาพ ของ ส.ส.ได้” 
                     บทบํญญัตินั้น คือ  บทบัญญัติกำหนด  ให้นายกรัฐมนตรี จะต้องมาจาก ส.ส. เท่านั้น  
                    [ หมายเหตุ  บทบัญญัตินี้   ทำให้เกิดระบบผด็จการ โดย “พรรคการเมืองนายทุน”  ในระบบรัฐสภา   เพราะทำให้บรรดา “นายทุน” ต่างรวมกลุ่มและรวมทุนกันตั้งพรรคการเมือง ทำการซื้อเสียงในการเลือกตั้ง (ในสภาพที่สังคมไทยเป็นสังคมที่อ่อนแอและขาดประสพการณ์ทางประวัติศาสตร์  และในสภาพที่กลไกพื้นฐานของระบบการบริหารประเทศตาม “กฎหมายปกครอง” ยังพิกลพิการ)  เพื่อเข้ามา ผูกขาดอำนาจรัฐใน “ระบบรัฐสภา”  และแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวได้ทั้งทางตรงและทางอ้อมได้  โดยไม่จำกัด  เพราะกลไกของระบบการปกครองในระบบรัฐสภา  ขาดการแบ่งแยก(การใช้)อำนาจ]
        
                  นอกเหนือจาก “บทบัญญัติที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรี จะต้องมาจาก ส.ส. เท่านั้น”    รัฐธรรมนูญในช่วงระยะเวลาที่สามนี้  ๓ ฉบับแรก (ในจำนวน ๔ ฉบับ)  คือ  รัฐธรรมนูญ พ.ศ. พ.ศ. ๒๕๓๔  แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๔)  พ.ศ. ๒๕๓๕  ; รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๔  แก้ไขเพิ่มเติมทั้งฉบับ  (ฉบับที่ ๕)  พ.ศ. ๒๕๓๘   ; และ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐    ยังคงตัดข้อความ  ที่ว่า “  ส.ส. จะต้องปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของตนโดยบริสุทธิใจ ฯ” (ซึ่งเป็นหลักสากลของ “ความเป็นประชาธิปไตย”)  ออกจากรัฐธรรมนูญของประเทศไทย   และในบทมาตราที่ว่าด้วยการปฏิญาณตน   ก็ได้ใช้ข้อความว่า “ ส.ส. จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความชื่อสัตย์ สุจริตฯ” ไว้แทน  (เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญในช่วงที่สอง)
                 
                     แต่ สำหรับรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๕๐)  ซึ่งเป็นรัฐธรรนูญฉบับสุดท้ายของช่วงระยะเวลานี้    เป็น “รัฐธรรมนูญ”  ฉบับที่สมควรได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษสำหรับนักกฎหมายและนักวิชาการ    เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่มี “วิธีการเขียน”  ที่เกี่ยวกับมาตรฐานทางวิชาการ (พฤติกรรม) ของ  อาจารย์กฎหมาย คณะนิติศาสตร์ ในมหาวิทยาลัย และนักวิชาการของเรา  ที่มีส่วนในการยกร่างรัฐธรรมนูญ  
         
                 รัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๐   ยังคงบทบัญญัติมาตรา ๑๒๓ (คำปฏิญาณ) ไว้เช่นเดียวกับ รัฐธรรมนูญ ๓ ฉบับก่อน คือ ส.ส. จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความชื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศฯ   แต่สิ่งที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนผิดแผกแตกต่างออกไป  จากรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ทั้ง ๓ ฉบับ  ก็คือ  บทบัญญัติ มาตรา ๑๒๒  (สถานภาพ ส.ส.) 
                 บทบัญญัติ มาตรา ๑๒๒  (สถานภาพ ส.ส.) ของรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๐ บัญญัติว่า “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย  โดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติ มอบหมาย หรือความครอบงำใด ๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต  เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย   .............”
        
                 ผมถามตัวเองว่า   เพราะเหตุใด  อาจารย์กฎหมาย คณะนิติศาสตร์ ในมหาวิทยาลัย และนักวิชาการ ที่มีส่วนในการยกร่างรัฐูธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐   จึงได้เติมข้อความที่ว่า   “ส.ส. ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติ มอบหมาย (หรือความครอบงำ) ใด ๆ”  กลับเข้าไปในตัวบท รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ (มาตรา ๑๒๒) อีก  ทั้ง ๆ ที่ อาจารย์กฎหมาย คณะนิติศาสตร์ ในมหาวิทยาลัย ฯ ย่อมทราบดีว่า  บทบัญญัตินี้  “ไม่ตรงกับความเป็นจริง - reality”  เพราะขัดกับบทมาตราของรัฐูธรรมนูญที่บังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง (มาตรา ๑๐๑ (๓) ) และขัดกับบทมาตรา  ที่ให้อำนาจแก่พรรคการเมือง มีมติที่ทำให้ ส.ส.พ้นจากสมาชิกภาพของ ส.ส. ได้ (มาตรา ๑๐๖ (๗) )  และอาจารย์กฎหมาย คณะนิติศาสตร์ ในมหาวิทยาลัย ฯ ทราบอยู่แล้ว  ข้อความนี้ ( ส.ส. ย่อมไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติ มอบหมาย ใด ๆ )  ได้ถูกตัดออกไปจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้ [หมายเหตุ  ถูกตัดออกไป  ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๗   เป็นเวลา ๓๓ ปีมาแล้ว ]  
                   “ผล” ของการเขียนบทบัญญํติ มาตรา ๑๒๒ เช่นนี้  ย่อมมีทำให้อาจารย์กฎหมายอื่นและนักวิชาการอื่นที่ไม่ได้ศึกษาตัวบทรัฐธรรมนูญในรายละเอียด   เข้าใจผิด และคิดว่า  รัฐธรรมนูญของไทย  เหมือนกับรัฐธรรมนูญของประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีบทบัญญัติเช่นนี้  (โดยที่รัฐธรรมนูญของเขา ไม่มีบทบัญญัติบังคับให้ ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมือง ฯลฯ )   และคิดว่า  รัฐธรรมนูญของเรา  เป็น “การปกครองในระบอบประชาธิปไตย”  เหมือนกับประเทศที่พัฒนาแล้ว  และผลที่ตามมาก็คือ   อาจารย์กฎหมายอื่นและนักวิชาการอื่นเหล่านี้  ก็จะสอน “วิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ” อย่างผิด ๆ ให้แก่    “นักศึกษากฎหมาย”ของเรา ไปทั้งประเทศ
        
                      ในการเติมข้อความนี้กลับเข้าไปในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐   ไม่มีคำอธิบายใด ๆ จาก “เอกสาร” ของสภาร่างรัฐธรรมนูญ และของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่แจกจ่ายแก่ประชาชนในการออกเสียงประชามติ  ในปี  ๒๕๕๐ แต่อย่างใด  และ ผมก็ไม่ทราบว่า   อาจารย์กฎหมาย ฯ และนักวิชาการ ที่มีส่วนในการยกร่างรัฐูธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ มีเหตุผล  หรือมี“เจตนา”อย่างไร ในการเขียน มาตรา ๑๒๒  เช่นนั้น ;  [ หมายเหตุ   หากท่านเหล่านี้มี “เหตุผล”  จะกรุณาบอกให้ผมและคนทั่วไปได้ทราบด้วย  ก็จะดีอย่างยิ่ง ] 
                 แต่ ผมหวังว่า   อาจารย์กฎหมาย ฯ และนักวิชาการ ที่มีส่วนในการยกร่างรัฐูธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐  คงไม่ได้มี “เจตนา” ทีจะสร้างความสับสนหรือซ่อนความความจริง ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐  ที่เป็น “ระบอบเผด็จการ โดยพรรคการเมืองนายทุน ในระบบรัฐสภา” ประเทศเดียวในโลก  เพื่อไม่ให้ผู้อื่นสนใจ เพราะหากเป็นเช่นนั้น  ก็จะถือได้ว่า   อาจารย์กฎหมาย คณะนิติศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยของรัฐ และนักวิชาการ ที่มีส่วนในการยกร่างรัฐูธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้ปฏิบัติตน  แตกต่างไปจาก วิถีทางปกติของผู้ที่เป็น “นักวิชาการ”
                   
                  ตั้งแต่เรา ได้เรี่มต้น  “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมืองนายทุน ในระบบรัฐสภา”  ในรัฐธรรมนูญฉบับแรก  คือ “ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. พ.ศ. ๒๕๓๔  แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๔)  พ.ศ. ๒๕๓๕ แล้ว  ใน “รัฐธรรมนูญฉบับต่อ ๆ มา”  นักการเมืองนายทุนเจ้าของพรรคการเมือง  ก็ได้อาศัย “อำนาจการผูกขาด”นั้น แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเพิ่มบทมาตราที่กำหนด “มาตรการ” ต่าง ๆ เพื่อให้ตนเองมีอำนาจเด็ดขาดในการผูกขาดอำนาจรัฐมากยิ่งขึ้น   เช่น สถานที่นับคะแนนของหน่วยเลือกตั้ง  จำนวนผู้สมัตรรับเลือกตั้งในแต่ละเขต(เลือกตั้ง)  หรือแม้แต่การเลือกตั้ง “แบบบัญชีรายชื่อ” ที่เรียกกันว่า ระบบ PR  - proportional representation  ก็ดัดแปลงนำมาใช้ที่ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของระบบ ในการ ซึ่งในปัญหาเหล่านี้ จะต้องพิจารณาจาก “รัฐธรรมนูญ” เป็นรายฉบับ  และไม่ใช่หัวข้อที่ผมจะพูดในการบรรยายครั้งนี้
        
                          ผมเห็นว่า  “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมืองนายทุน ในระบบรัฐสภา” (ประเทศเดียวในโลก)  เป็นระบบที่สร้างความเลวร้าย  - vice ให้แก่คนไทยและสังคมไทย  และ ช่วงระยะเวลาที่สามนี้   เป็น “ต้นเหตุ” ของการทุจริตคอร์รัปชั้นอย่างมโหฬาร /  เป็นต้นเหตุของ นโยบาย populist ทีเกินขอบเขต / และ เป็นต้นเหตุของการแตกแยกของคนไทย ที่เนื่องมาจากการปลุกปั่นและ “การแย่งอำนาจรัฐ” ของกลุ่มนักการเมืองนายทุน เจ้าของพรรคการเมือง เพื่อเข้ามาหาประโยชน์ส่วนตัว
        
                   ข้อที่น่าศึกษา  และท่านที่มาฟังการบรรยายน่าจะต้องทราบ  อีกเรื่องหนึ่ง    ก็คือ  ว่า  เพราะเหตุใด  นักการเมืองนายทุนเจ้าของพรรคการเมือง  จึงต้องการ “รัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ.๒๕๔๐” มากกว่า “ รัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ.๒๕๕๐”  และ  นักการเมืองนายทุนเจ้าของพรรคการเมือง  ก็จะอ้างว่า  “รัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ.๒๕๔๐” เป็นประชาธิปไตย  แต่ “ รัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ.๒๕๕๐” ไม่ใช่ประชาธิปไตย   ทั้ง ๆ ที่  ตามความเป็นจริงแล้ว  รัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ.๒๕๔๐  และ รัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ.๒๕๕๐ ทั้งสองฉบับ ต่างก็เป็น  “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมืองนายทุน ในระบบรัฐสภา”( ประเทศเดียวในโลก)    และไม่ใช่การปกครองใน “ระบอบประชาธิปไตย” เหมือน ๆ กัน ;   จริง ๆ แล้ว   นักการเมืองนายทุนเจ้าของพรรคการเมือง ต้องการอะไรกันแน่   [หมายเหตุ  ถ้าท่านผู้ที่มาฟังการบรรยายอยากทราบ  ก็ขอให้ถามผมหลังการบรรยาย ]
        
       ================================================
       (๓.๒)  (ข)  การเปรียบเทียบพื้นฐาน “ความรู้ (กฎหมายมหาชน)”
       ระหว่างอาจารย์กฎหมาย ในคณะนิติศาสตร์ฯ ของเรา ในปัจจุบัน (ค.ศ. ๒๐๑๓)  กับ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของญี่ปุ่น ในสมัยพระเจ้ามัตสุฮิโต  (ค.ศ. ๑๘๘๙)
        
       -------------------------------------------------------------------------
                     ในการบรรยายใน “หัวข้อ” ที่ผ่านมา  (การเปรียบเทียบ “การปฏิรูปการเมือง” ของประเทศไทย  กับ “การปฏิรูปการเมือง” ของประเทศญี่ปุ่น )   เราได้ทราบแล้วว่า  “ความสำเร็จ”ในการปฏิรูปการเมือง ของพระเจ้ามัตสุฮิโตของญี่ปุ่น  กับความสำเร็จในการปฏิรูปการเมืองในสมัยรัชกาลที่ ๕ ของเรา แตกต่าง กันอย่างมาก  อย่างไม่สามารถเทียบกันได้ 
                    พระเจ้ามัตสุฮิโร   สามารถปฏิรูปการเมืองได้สำเร็จภายในรัชกาลของพระองค์  โดยสามารถพระราชทาน “รัฐธรรมนูญ”ให้คนญี่ปุ่นได้ในปีที่  ๒๒ หลังจากการขึ้นครองราชย์ คือ ในปี ค.ศ. ๑๘๘๙)      และภายไต้การปกครองตามรัฐธรรมนูญ  ประเทศญี่ปุ่น สามารถปฏิรุปกฎหมาย (ประมวลกฎหมายที่สำคัญ)ของประเทศทั้งหมดได้  ภายในปีที่ ๒๔ ของรัชกาล  (ค.ศ. ๑๘๙๑)  และสามารถทำให้ประเทศมหาอำนาจ  ยกเลิก “สนธิสัญญาสภาพนอกอาณาเขต”ได้  ภายในปีที่  ๓๒  ของรัชกาล (ค.ศ. ๑๘๙๙)  คือ หลังจากที่มีการปกครองตามรัฐธรรมนูญ  เพียง ๑๐ ปี
                     รัชกาลที่ ๕ ของเรา (แม้ว่าพระองค์ท่านจะรักษา เอกราชของประเทศ  ให้คนไทยไว้ได้)  แต่กว่าที่ประเทศมหาอำนาจจะยอมยกเลิก “สนธิสัญญาสภาพนอกอาณาเขต”ให้คนไทย  เราต้องรอมาจนถึง รัชกาลที่ ๖  (ค.ศ. ๑๙๒๖) โดยเราอ้างเหตุที่ประเทศไทยได้ส่งทหารไปร่วมรบกับประเทศมหาอำนาจในสงครามโลกครั้งที่ ๑ (ไม่ใช่เพราะว่า เราสามารถปฏิรูปกฎหมายของเราให้ทันสมัยได้)  ;  และกว่าคนไทยจะได้มี “รัฐธรรมูญ” ได้ ก็ล่วงเลยมาถึงรัชกาลที่ ๗  โดยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดย “คณะราษฎร์”  ( ค.ศ. ๑๙๓๒ หรือ พ.ศ. ๒๔๗๕)  ล่าช้ากว่าประเทศญี่ปุ่น ๔๓  ปี   และกว่าที่ประเทศไทยจะแก้ “ประมวลกฎหมาย” ที่สำคัญได้สำเร็จ  ก็ต้องรอมาถึง ปี ค.ศ. ๑๙๓๕ หรือ พ.ศ. ๒๔๗๘  คือ หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาแล้ว ๓ ปี (ล่าช้ากว่าประเทศญี่ปุ่น  ๔๔  ปี) ;  สรุป  ก็คือ  เห็นได้ชัดว่า   การปฏิรูปทางการเมืองของรัชกาลที่ ๕ ของเรา  ยังไม่เสร็จสิ้น
                   ผมได้ทิ้งปัญหา ที่ยังไม่ได้ตอบ  และ เราคงจะต้องหาคำตอบให้พบ  ก็คือ  ในเมื่อเป็นที่ประจักษ์ว่า  กษัตริย์ทั้ง ๒ พระองค์ทรงพระราชอัจฉริยะที่ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน   แต่   “อะไรเล่า  ที่เป็นสาเหตุของ “ความแตกต่างของผลสำเร็จในการปฏิรูปการเมือง”  ของทั้งสองประเทศ
        
                      ในหัวข้อนี้  ผมจะขอบรรยาย  โดยแยกเป็น ๒ ส่วน   คือ
                   ในส่วนแรก  จะเป็นการวิเคราะห์ “เหตุการในอดีต”  คือ  เราจะลองพิจารณาดู  ว่า   “ความสำเร็จ” ของ การปฏิรูปการเมืองของประเทศญี่ปุ่นในสมัยพระเจ้ามัตสุฮิโต  เกิดจากอะไร  และในทางตรงกันข้าม ก็คือ  เพราะเหตุใด  การปฏิรูปการเมืองในสมัยรัชกาลที่  ๕ ของเรา  จึงไม่เสร็จสิ้น  โดยจะพิจารณาต่อเนื่อง  มาจนถึง  “การเปลี่ยนแปลงการปกครอง”  โดยคณะราษฎร์  ในปี พ.ศ. ๒๔๗๕  ที่ทำให้เรามี “รัฐธรรมนูญ ” ฉบับแรก ;   แต่ เพราะเหตูใด  จนกระทั่งขณะนี้   เรา มีรัฐธรรมนูญต่อมาอีก ๑๙ ฉบับ     แต่คนไทย ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จในการปฏิรูปการเมือง   และได้กลายเป็นประเทศเดียวในโลก ที่ใช้ “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมืองนายทุน ในระบบรัฐสภา  ที่เต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่น
                  ในส่วนที่สอง  จะเป็นการวิเคราะห์ “สถานการณ์ในปัจจุบัน”   โดยผมจะกล่าวถึง   “วิวัฒนาการ” ของ กลไก ของระบบสถาบันการเมือง -  form of government ใน “รูปแบบ - system” ต่าง ๆ   ที่ประเทศในยุโรปได้สร้างหรือคิดค้นวางเป็นกฎเกณฑ์ขึ้น ในระหว่างศตวรรษ ที่ ๑๙ - ๒๐ ว่า   form of government มีกี่รูปแบบ   โดยจะเรียงลำดับให้เห็น ว่า แต่ละ “รูปแบบ - system ” ได้ เกิดขึ้นในช่วงใดของศตวรรษ    และ  หลังจากนั้น  ผมก็จะมาตรวจดู พื้นฐาน “ความรู้ (กฎหมาย มหาชน)” ของ อาจารย์กฎหมาย ในคณะนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยของรัฐของเรา” ในปัจจุบัน ( ค.ศ. ๒๐๑๓)   โดยเทียบกับ  ความรู้พื้นฐานของนักวิชาการของญี่ปุ่นในยุค“การปฏิรูปการเมือง” ของพระเจ้ามัตสุฮิโต   (ในปี ค.ศ. ๑๘๘๙)  
       --------------------------------------------------------------------------
       ส่วนที่ ๑   (อะไร คือ “สาเหตุ”  ของความสำเร็จของการปฏิรูปการเมือง ของประเทศญึ่ปุ่น ในสมัยพระเจ้ามัตสุฮิโต   ค.ศ. ๑๘๖๗  ถึง ค.ศ. ๑๙๑๒) 
                     ประเทศญี่ปุ่น   เราลองมาทบทวน “ข้อเท็จจริง” ในการปฏิรูปการเมือง ของ พระเจ้ามัตสุฮิโต อีกครั้งหนึ่ง   เพื่อดูสาเหตุของความสำเร็จของปรแทศญี่ปุ่น
                   ในปี ค.ศ. ๑๘๖๗  (ก่อนรัชกาลที่ ๕ หนึ่งปี)  ประเทศญี่ปุ่นเริ่มการปฏิรูปการเมือง โดยบรรดาไดเมียว (feudal  lords) ๔ -๕ ตระกูลใหญ่  รวมตัวกัน ล้มอำนาจของ “โชกุน - ตระกูลโตกุกาวา  Tokugawa”   ที่ครองอำนาจมานานกว่า ๒๕๐ ปี (ค.ศ. ๑๖๐๓  ถึง  ค.ศ ๑๘๖๗)  และยกเลิกระบบโชกุน โดยถวายพระราชอำนาจคืนให้แก่จักรพรรดิพระเจ้า มัตสุฮิโต (ที่มีพระชนมายุ  ๑๕ ปี)
                ในปี ค.ศ. ๑๘๖๙ ( ๒ ปีต่อมา)  ไดเมียว (feudal  lords) ๔ ตระกูลใหญ่ (Choshu, Heizen, Satsuma และ Tosa)  คืนสิทธืในที่ดิน / คน / และสิทธิพิเศษต่าง ๆ  (feudal fiefs) ที่ตนเคยมีอยู่  ให้แก่จักรพรรดิทั้งหมด  และ ติดตามมาด้วยบรรดาไดเมียวทั้งหมด มากกว่า  ๒๐๐ ตระกูล ได้ทำตาม ;   และในปี ค.ศ. ๑๘๗๑ (อีกสามปีต่อมา)   ประเทศญึ่ปุ่น  ออกกฎหมาย (พระบรมราชโองการ)  ยกเลิกระบบ feudalist  และจัดแบ่งการปกครอง  ออกเป็นเขตการปกครองท้องถิ่น
              ในปี ค.ศ. ๑๘๘๑ ( ๑๔ ปีต่อมา)  จักรพรรดิ สัญญาจะพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่คนญี่ปุ่น  และได้ตั้ง “สภานิติบัญญัติ” ขึ้น  ; และประเทศญี่ปุ่นส่งคณะบุคคลที่ประกอบด้วย “ชนชั้นนำ - elite” คณะใหญ่ ( ประมาณ  ๓๐ คน)  ออกตระเวนหาความรู้และ พบบุคคลสำคัญ / อาจารย์กฎหมายที่มีชื่อเสียง ในประเทศมหาอำนาจ ทั้งในทวิปยุโรปและสหรัฐอเมริกา   โดยไช้เวลาเกือบ ๒ ปี   และกลับมาพร้อมกับการวางแผนปฏิรูปประเทศ  
                ใน ปี  ค.ศ. ๑๘๘๙  ( ๒๒ ปี ต่อมา)  จักรพรรดิพระราชทานและประกาศการใช้ “รัฐธรรมนูญ “ ฉบับแรกของญี่ปุ่น  
                ในปี ค.ศ. ๑๙๑๒  (สิ้นสุดรัชกาล จักรพรรดิมัตสุฮีโต)   ภายไต้ระบบการปกครองตามรัฐธรรมนูญ  ประเทศญี่ปุ่น เป็น “ประเทศมหาอำนาจ”
        
                  ผมเชื่อว่า  จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นนี้ ท่านผู้ที่มาฟังคำบรรยาย คงพอมองเห็นแล้ว ว่า  ทำไม การปฏิรูปการเมืองของพระเจ้ามัตสุฮิโต จึงประสบความสำเร็จ  และ ทำไม การปฏิรูปการเมืองของรัชกาลที่ ๕ ของเรา จึงไม่ประสพความสำเร็จ  เพราะ
                สิ่งที่พระเจ้ามัตสุฮิโต “มี”   แต่ รัชกาลที่ ๕ ของเรา “ไม่มี”   ก็คือ  “ชนชั้นนำ - elite”  ที่มีคุณภาพ นั่นเอง
       (๑)         ชนชั้นนำญี่ปุ่น  มี”ความเสียสละ”  (ไดเมียว ชนชั้นนำของญึ่ปุ่น มากกว่า ๒๐๐ คน  ยอมสละทรัพย์สินและผลประโยชน์ที่ตนเอง  มีมานานกว่า ๒๐๐ ปี ให้แก่จักรพรรดิ  เพื่อทำการปฏิรูปประเทศ)
       (๒)      ชนชั้นนำญี่ปุ่น  มีการขวนขวายหา “ความรู้” อย่างรอบคอบและเป็นระบบ    และ
       (๓)      ชนชั้นนำญี่ปุ่น  มี “ความตั้งใจ” ในการทำงานอย่างเป็นขั้นตอน  โดยมี  “แผนงานที่มุ่งต่อ  ความสำเร็จ”  
        
                ท่านผู้ที่มาฟังคำบรรยายในวันนี้  ท่าน“ คิด” อย่างไร  (?) ;  ท่านคิดว่า ชนชั้นนำของไทย เป็นอย่างไร  และในปัจจุบันนี้  คือ  ค.ศ. ๒๐๑๓  หรือ พ.ศ. ๒๕๕๖  ซึ่งเป็นเวลาห่างกันกว่า  ๑๒๐ ปีเศษ   ท่านคิดว่า   เรามี “ชนชั้นนำ - elite” ไทย  ที่มี “คุณภาพ”  ที่คล้ายหรือ ใกล้เคียง  กับ “คุณาพ” ของ  ชนชั้นนำ - elite ของประเทศญี่ปุ่น ในปี ค.ศ. ๑๘๖๗   หรือไม่
        
               ประเทศไทย   เราได้ทราบแล้วว่า  การปฏิรูปการเมือง ของรัชกาลที่ ๕ ยังไม่เสร็จสิ้น ;  สี่งที่รัชกาลที่ ๕  สามารถทำให้คนไทยได้  ก็คือ  การรักษาเอกราชของประเทศ  และการปฏิรูประบบราชการ (การจัดกระทรวง ทบวง กรม) ฯลฯ  เท่านั้น  แต่เรื่องอื่น ๆ    คือ  การปฎิรูปการเมือง ( การมีรัฐธรรมนูญ - ระบบสถาบันการเมือง)  และการบริหารราชการ(กฎหมายปกครอง)   เช่น  การ การบริหารราชการประจำ  การกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่น ฯลฯ  พระองค์เพียงแต่  ได้ทรงริเริ่มไว้ให้  เท่านั้น 
                ปัญหามีว่า   เรา(คนไทย) ใน ค.ศ. ๒๐๑๓ (พ.ศ. ๒๕๕๖)    จะ มี “ความสามารถ” พอ   ที่จะทำสิ่งที่พระองค์ท่านได้ทรงทำค้างไว้  ต่อไปจนบรรลุ “ผลสำเร็จ” ได้   หรือไม่
        
                 การเปลี่ยนแปลงการปกครองใน ปี พ..ศ. ๒๔๗๕  เป็น “เหตุการณ์”  ที่พิสูจน์ว่า   ชนชั้นนำ - elite ของเรา (คนไทย)   ทำได้ “ดี”   แค่ไหน ;   เราได้ทราบแล้วว่า  เราได้มี “รัฐธรรมนูญ”  ฉบับแรกในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ (พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ชั่วคราว พ.ศ. ๒๔๗๕ และ ตามมาด้วยรัฐธรรมนูญ อีก ๑๘ ฉบับ  รวมเป็น ๑๙ ฉบับ[หมายเหตุ   โปรดดู การเรียงลำดับรัฐธรรมนูญฉบับต่าง ๆ ของประเทศไทย จาก หัวข้อ ๓.๒ (ก) ]
               รัฐธรรมนูญฉบับแรกของเรา (ค.ศ. ๑๙๓๒)    เริ่มต้นด้วยการลอกเลี่ยนกลไก (ระบบสถาบันการเมือง - form of government   จาก   รัฐธรรมนูญของรัสเซีย  ปี ค.ศ. ๑๙๑๘  ;   และจากปี ค.ศ. ๑๙๓๒    รั๙ธรรมนูญ ฉบับต่อ ๆ มา ของ เรา    ใช้กลไก (ระบบสถาบันการเมือง - form of government)    ในระบบรัฐสภา  parliamentary  system  ตาม “รูปแบบของประเทศอังกฤษ“  (โดยมีสมาชิกสภาที่มาจากการเลือกตั้งบ้าง  มาจากการแต่งตั้งบ้าง) จนถึง พ.ศ. ๒๕๑๗   (ค.ศ.  ๑๙๗๔) ;  จากปี พ.ศ. ๒๕๑๗   ชนชั้นนำ - elite ของ เรา   เริ่มดัดแปลงกลไก (ระบบสถาบันการเมือง)ในระบบรัฐสภา ฯ    ด้วยการบังคับ ให้ ส.ส.  ต้องสังกัดพรรคการเมือง  ;  และตั้งแต่  ปี ค.ศ. ๑๙๙๒  (พ.ศ. ๒๕๓๕)  จนถึง ปัจจุบัน ค.ศ. ๒๐๑๓  ชนชั้นนำ - elite ของ เรา   ได้ใช้กลไก (ระบบสถาบันการเมือง)  ทีคิดขึ้นเอง เป็น “ระบบเผด็จาร  โดยพรรคการเมืองนายทุน  ในระบบรัฐสภา”  ประเทศเดียวในโลก    และชนชั้นนำ - elite ของ เรา   บอกให้เรา (คนไทย)   เรียกระบอบนี้ว่า    เป็น “ระบอบประชาธิปไตย
                    สภานภาพและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน  ไม่ว่าจะเป็นการทุจริตคอร์รัปชั่น และการแตกแยกของคนไทย ในปัจจุบัน  เป็นที่ประจักษ์แก่คนไทยทุกคน ;   ดังนั้น  ท่านผู้ที่มาฟังการบรรยาย ในวันนี้   คงให้ “คำตอบ” แก่ตัวท่านได้เองว่า   ชนชั้นนำ - elite ของ เรา (คนไทย)    มี “ความสามารถ” พอ   ที่จะทำสิ่งที่รัชกาล  ที่  ๕   ได้ทรงทำค้างไว้  ต่อไปจนบรรลุ “ผลสำเร็จ” ได้   หรือไม่ 
        
        --------------------------------------------------------------------------
        
       (ข) การเปรียบเทียบ “ความรู้“ อาจารย์กฎหมาย ในคณะนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยของรัฐของเรา” ในปัจจุบัน ( ค.ศ. ๒๐๑๓) กับ “ความรู้”  ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญของประเทศญี่ปุ่นในสมัยพระเจ้ามัตสุฮิโตพระราชทานรัฐธรรมนูญ แก่คนญี่ปุ่น   ในปี ค.ศ. ๑๘๘๙]
        ฯลฯ                                 ฯลฯ                                   ฯลฯ
       ฯลฯ                                 ฯลฯ                                   ฯลฯ
        
       --------------------------------------------------------------------------
        
                        ผมต้องขออภัย   และต้องขอ  จบ “คำบรรยายของผมในวันนี้”  เพียงเท่านี้   เพราะผมบังเอิญมี “เวลา” เขียนคำบรรยายได้เพียงเท่านี้   
                     “ หัวข้อ” ใน คำบรรยายส่วนที่เหลือ :   “บางหัวข้อ”อาจ เป็นสาระในทางวิชาการ    ซึ่งท่านคงต้องไปแสวงหา “ความรู้” เอาเอง   แต่“บางหัวข้อ” เป็นเรื่องข้อเท็จจริง   ที่เป็น “เหตุการณ์” ปัจจุบันที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ( และยังจะเกิดต่อไป)  ซึ่ งก็จะเป็นข่าวปรากฎให้เห็นอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์เป็นรายวัน    ถ้าท่านผู้ที่มาฟังการบรรยายในวันนี้ ติดตามอ่านและ “คิด”ดู    ท่านก็สามารถรวบรวมมาเป็น “ความรู้” ของท่านได้เอง ว่า  “บทกฎหมาย” ของเรา ว่าด้วยเรื่องอะไรบ้าง  ที่ยังพิกลพิการ (ซึ่งมีอยู่มากมาย)
                 และอันที่จริงแล้ว  ในหน้าแรก (ๆ)  ของเอกสารนี้   ผมได้ตั้งใจวาง  “หัวข้อ” การบรรยายของผมในวันนี้  โดยกำหนด “ประเด็น”สำคัญ ของปัญหาของประเทศไทยไว้ตามลำดับ   จนกระทั่งถึง วิธีการหาทางออก  (จาก “กะลา(ความรู้)” ของอาจารกฎหมายในคณะนิติศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยของรัฐ ) ไว้แล้ว ;  หากท่านผู้ที่มาฟังการบรรยายในวันนี้  จะนำประเด็นเหล่านี้ไปพิจารณา และ“คิด”ต่อไป   บางที และบางที ....   เราอาจจะเปลี่ยน  “วิถีทาง” ทางการเมือง   ที่มุ่งไปสู่การล่มสลายของประเทศได้  โดยไม่ต้องรอให้เป็น  เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง
                 ผมคิดว่า  สิ่งที่คนไทยควรจะต้องทำอย่างเร่งด่วน   ก็คือ   การแสวงหา  “รูปแบบของระบบสถาบันการเมือง  - form of government”  ที่ทำให้ คนดีได้มาปกครองบ้านเมือง    และ ไม่ควร “หลง” ไปพิจารณาเรื่องอื่น ๆ  ตามคำชักนำ ของ “คนไม่ดี”
        
                    ในประการสุดท้าย  ก่อนทีจะยุติการบรรยายวันนี้   ผมอยากจะ “ถาม” ท่านผู้ที่มาฟังการบรรยาย  ว่า  ท่านสังเกตเห็นหรือไม่ว่า  ในการบรรยายเท่าที่ผ่านมา(ซึ่งเป็น เอกสารประมาณ ๔๐ หน้าเศษ) นี้    ยังมี “ข้อเท็จจริงบางประการ” (ที่อาจจะสำคัญที่สุดของการบรรยายครั้งนี้   แต่ผมยังไม่ได้บอกกับท่าน ;   ท่านทราบหรือไม่ว่า   “ข้อเท็จจริง”   ที่ท่านควรทราบ แต่ผมยังไม่บอกท่านนั้น  คือ  ข้อเท็จจริง  อะไร (?)
        
                    ข้อเท็จจริง นั้น   คือ ..................................................................................................
        
                                                                                                                                        กุมภาพันธ์  ๒๕๕๖  (ค.ศ. ๒๐๑๓)
        
             
       
        ตอนที่ 1
        ตอนที่ 2
        ตอนที่ 3


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1824
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 23:56 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)