ครั้งที่ 310

10 กุมภาพันธ์ 2556 21:37 น.

       สำหรับวันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ ถึงวันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2556
       
       “การทำโพล”
       
       เรื่องที่ได้ยินได้ฟังบ่อยที่สุดเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่จะมีขึ้นในอีก 3 สัปดาห์ข้างหน้าก็คือ ผลการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่มีขึ้นอย่าง “ถี่มาก” แทบจะเรียกได้ว่า ทุกเช้า ต้องได้อ่านหรือได้ยินได้ฟังผลการทำสำรวจของสถาบันต่างๆ
       มีผู้ออกมาตั้งข้อสงสัยว่าการนำเสนอผลการสำรวจความคิดเห็น หรือการทำโพล (poll) เกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครนั้น เป็นการกระทำที่มีวัตถุประสงค์ซ่อนเร้นแอบแฝงอยู่หรือไม่ เพราะสิ่งที่ประชาชนได้อ่าน ได้เห็น ได้ยิน ได้ฟังอยู่ทุกวันอาจเป็นส่วนสำคัญที่โน้มน้าวจิตใจให้ไปเลือกผู้ที่ได้คะแนนนำจากผลการสำรวจความคิดเห็นได้ ซึ่งในเรื่องนี้พรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องก็ได้ออกมาให้ข่าวเชิงปฏิเสธว่า การทำโพลเป็นเรื่องที่หน่วยงานหรือสถาบันการศึกษาที่มีความเป็นอิสระเป็นผู้จัดทำ คงไม่มีใครเข้าไปแทรกแซงได้ เจ้าของโพลย่อมต้องรักษามาตรฐานและความน่าเชื่อถือของตัวเอง ทำโพลตามระเบียบวิธีวิจัยที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ
       นอกจากนี้ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาก็ยังมีข่าวนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตขอลาออกจากตำแหน่งโดยให้เหตุผลว่า อับอายกับการทำโพลที่เอาใจผู้มีอำนาจและไม่มีคุณภาพ
       แม้ว่าเรื่องของการสำรวจความคิดเห็นนี้จะมีผู้พูดถึงกันมาก และก็ทำให้เป็นที่สงสัยได้ว่ามีปัญหาเกิดขึ้น  แต่พอพ้นช่วงเวลาของการเลือกตั้งไป ผู้คนก็ลืมแล้วก็ไม่ได้สานต่อความคิดที่ว่าจะทำอย่างไรกับการสำรวจความคิดเห็นที่มีปัญหา
       ย้อนหลังกลับไปเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2544 ผมได้เขียนบทความในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน เรื่อง “ประเทศไทยควรมีกติกาการทำโพลหรือยัง”   จนถึงวันนี้ 12 ปีผ่านไป ปัญหาที่เกิดจากการสำรวจความคิดเห็นในบ้านเราก็ยังวนเวียนอยู่ในจุดเดิมคือ ประเทศไทยยังไม่มีกติกาในการสำรวจความคิดเห็นแต่เราก็มีการสำรวจความคิดเห็นกันมากแล้วผู้คนก็มีข้อสงสัยถึงความโปร่งใสของการสำรวจความคิดเห็น ในบทความดังกล่าว  ผมได้นำเอากฎหมายเกี่ยวกับการทำโพลของฝรั่งเศสมาเล่าให้ฟัง แต่เนื่องจากในปี พ.ศ. 2544 เอกสารที่หาได้ยังไม่สมบูรณ์ ระบบ internet ก็ยังใช้งานไม่ดีเหมือนปัจจุบัน บทความนั้นจึงไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร ในบทบรรณาธิการครั้งนี้จึงขอนำเอากฎหมายของฝรั่งเศสเกี่ยวกับการทำโพลมาเล่าให้ฟังใหม่
       รัฐบัญญัติว่าด้วยการจัดพิมพ์และเผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะ ฉบับลงวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1977 เป็นกฎหมายสั้น ๆ ที่มีบทบัญญัติอยู่เพียง 14 มาตรา รัฐบัญญัตินี้ถูกแก้ไขเพิ่มเติมอีกครั้งในปี ค.ศ. 2002 สาระสำคัญของรัฐบัญญัติฉบับนี้ก็คือการกำหนดกติกากลางในการจัดพิมพ์หรือเผยแพร่ความคิดเห็นสาธารณะเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งระดับชาติ ระดับท้องถิ่น ระดับสหภาพยุโรป และการออกเสียงประชามติ โดยในรัฐบัญญัติดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติใดๆ ที่ห้ามทำการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะแต่การจะจัดพิมพ์หรือเผยแพร่จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด
       รัฐบัญญัติดังกล่าวได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง เรียกว่า คณะกรรมการว่าด้วยการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะ (la Commission des sondages) ประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่งที่มาจากสมาชิกสภาแห่งรัฐ (Conseil d'État) ศาลฎีกา (Cour de Cassation) และศาลตรวจเงินแผ่นดิน (Cour de Comptes) ในจำนวนเท่าๆ กันและจะต้องมีจำนวนเป็นเลขคี่ ส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 2 คนนั้น ได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐกฤษฎีกาเช่นเดียวกับกรรมการโดยตำแหน่ง คุณสมบัติของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่รัฐบัญญัติกำหนดไว้ก็คือ ต้องไม่เคยทำงานอยู่ในองค์กรหรือหน่วยงานที่จัดทำผลการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปีก่อนวันที่ได้รับการแต่งตั้ง
       คณะกรรมการว่าด้วยการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะมีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญอยู่หลายประการ เช่น ศึกษาและเสนอหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะต่อสภาแห่งรัฐ (Conseil d'État)เพื่อดำเนินการออกเป็นรัฐกฤษฎีกา ประกาศในรัฐกิจจานุเบกษาถึงข้อความที่ต้องแสดงหรือห้ามแสดงในผลการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะ กำกับดูแลไม่ให้บุคคลหรือองค์กรทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะ “ร่วมมือกัน” จัดทำการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะเพื่อให้เกิดผลบางประการ หรือขัดขวางการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะขององค์กรหรือบุคคลอื่น
       ส่วนหลักเกณฑ์ของการจัดพิมพ์และเผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นสาธารณะตามรัฐบัญญัตินี้ ได้แก่
       1. ผู้จัดทำหรือเผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะจะต้องแจ้งไปยังคณะกรรมการถึงชื่อขององค์กรหรือบุคคลที่ทำการสำรวจ ชื่อของผู้ให้ทำการสำรวจ จำนวนประชาชนที่ทำการสำรวจ และวันที่ทำการสำรวจพร้อมกับผลการสำรวจที่จะจัดพิมพ์หรือเผยแพร่
       2. ในการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะตามกฎหมายนี้ ผู้ทำการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะจะต้องแจ้งไปยังคณะกรรมการว่าประสงค์จะทำการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะในกรณีใด หากไม่แจ้งก็ไม่สามารถดำเนินการจัดพิมพ์หรือเผยแพร่ผลความคิดเห็นสาธารณะดังกล่าวได้
       3. องค์กรหรือบุคคลผู้ทำการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะจะต้องแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะ หลักเกณฑ์และวิธีการในการเลือกตัวบุคคลเพื่อทำการสำรวจ วิธีการถามคำถาม จำนวนบุคคลที่ไม่ตอบคำถามแต่ละคำถาม และวิธีการเผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะต่อคณะกรรมการ  คณะกรรมการมีอำนาจที่จะกำหนดให้องค์กรหรือบุคคลที่ทำการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะจัดพิมพ์หรือเผยแพร่สิ่งใดสิ่งหนึ่งดังกล่าวมาแล้วข้างต้นเผยแพร่พร้อมกับผลการสำรวจความเห็นสาธารณะได้
       4. องค์กรหรือบุคคลผู้ทำการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะจะต้องให้ความร่วมมือกับคณะ กรรมการด้วยการให้ข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะต่อคณะกรรมการตามที่คณะกรรมการร้องขอ
       5. คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบว่าการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะได้ทำตามรัฐบัญญัติและหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนดหรือไม่
       6. องค์กรผู้ทำหน้าที่เผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะได้ทำการเผยแพร่ผลการสำรวจความเห็นสาธารณะที่ไม่ได้ดำเนินการตามกฎหมายหรือระเบียบของคณะกรรมการ จะต้องทำการเผยแพร่คำสั่งของคณะกรรมการที่มีผลต่อการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะนั้นตามคำขอของคณะกรรมการ
       7. คำสั่งของคณะกรรมการพิจารณาผลการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะ อาจถูกตรวจสอบได้โดยศาลปกครอง
       นอกจากนี้แล้ว รัฐบัญญัติฉบับดังกล่าวยังกำหนดถึงการห้ามการเผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะเอาไว้ด้วยโดยกฎหมายฉบับนี้ได้ห้ามเผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะในช่วง 1 สัปดาห์ก่อนการเลือกตั้งและในวันเลือกตั้ง โดยห้ามพิมพ์ เผยแพร่หรือแสดงข้อคิดเห็นเกี่ยวกับผลการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะ
       ในกรณีที่มีผู้ฝ่าฝืนบทบัญญัติต่างๆ รัฐบัญญัติก็ได้กำหนดบทลงโทษไว้ในหลายกรณี เช่น กรณีของผู้ที่จัดพิมพ์หรือเผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะซึ่งมิได้ทำตามที่รัฐบัญญัติกำหนด อาทิ   ไม่มีการแจ้งชื่อขององค์กรหรือบุคคลที่ทำการสำรวจ ชื่อของผู้ให้ทำการสำรวจ จำนวนประชาชนที่ทำการสำรวจ วันที่ทำการสำรวจ หรือบทลงโทษผู้ที่จัดพิมพ์หรือโฆษณาผลการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะที่ทำขึ้นอย่างเป็นเท็จ หรือบทลงโทษผู้ที่ไม่ยอมเผยแพร่คำสั่งของคณะกรรมการเกี่ยวกับการชี้แจงข้อเท็จจริงของผลการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะรายหนึ่งรายใด เป็นต้น และนอกจากนี้ เมื่อศาลสั่งลงโทษผู้กระทำผิดตามรัฐบัญญัติ ผู้นั้นจัดพิมพ์หรือเผยแพร่คำพิพากษาศาลกรณีดังกล่าวด้วยวิธีการเดียวกับที่ได้จัดพิมพ์หรือเผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะที่ถูกตัดสินว่าทำผิดรัฐบัญญัติฉบับนี้ไปแล้ว
       ในส่วนของประเทศไทยนั้น ในปัจจุบันเรายังไม่มีกฎหมายกลางที่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะ แต่อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการการเลือกตั้งก็ได้ออกประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง แนะนำวิธีการและลักษณะต้องห้ามเกี่ยวกับการเปิดเผยหรือเผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการลงคะแนนเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2551 มาเพื่อใช้ควบคุมการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะโดยประกาศดังกล่าวมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะในข้อ 4 และข้อ 5 ดังนี้
       “ข้อ 4  ผู้สมัครหรือผู้ใดจะกระทำการเปิดเผยหรือเผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการลงคะแนนเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นต้องไม่เป็นการกระทำใดๆ อันเป็นการหลอกลวง หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในเรื่องใดอันเกี่ยวกับผู้สมัครใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครใด หรือให้งดเว้นการลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครใด อันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 57(5) แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545
        ข้อ 5  ผู้สมัครหรือผู้ใดไม่ควรเปิดเผยหรือเผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการลงคะแนนเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ในระหว่างเวลาเจ็ดวันก่อนวันเลือกตั้งจนถึงเวลาปิดการลงคะแนนเลือกตั้ง”
       อ่านแล้วก็ไม่มีอะไรมากสำหรับกติกาของการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะของคณะกรรมการการเลือกตั้ง จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมเราจึงต้องมาโต้เถียงหรือระแวงสงสัยกันทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งไม่ว่าระดับชาติหรือระดับท้องถิ่นว่า การสำรวจความคิดเห็นของแต่ละสำนักมีการเอื้อประโยชน์แก่ผู้สมัครบางคนหรือไม่ หรือบรรดาองค์กรที่เป็นผู้จัดทำการสำรวจความคิดเห็น “ร่วมมือกัน” เพื่อให้ผลการสำรวจออกมาในแนวทางเดียวกันเพื่อให้เกิดกระแสสร้างความนิยมในตัวบุคคลมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่จริงหรือไม่
       การสำรวจความคิดเห็นที่ไม่เป็นไปตามกติกาหรือการสำรวจความคิดเห็นที่เป็นการสร้างกระแส อาจส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งได้ในหลายกรณี เช่น อาจทำให้คนที่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเลือกใครตัดสินใจไปเลือกคนที่ผลการสำรวจความคิดเห็นอยู่ในระดับดีเนื่องจากเข้าใจว่าคนดังกล่าวเป็นที่นิยมของประชาชน หรืออาจทำให้คนที่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเลือกใครตัดสินใจไม่ไปเลือกตั้งเพราะคนที่ตนเองชอบหรือชื่นชมไม่เป็นที่นิยมของประชาชน เลือกไปก็เสียเวลาเปล่าจึงไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งหรืองดออกเสียง ซึ่งไม่ว่าจะเป็นกรณีใดก็จะส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งเพราะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ได้คนที่ไม่ใช่ตัวจริงเข้ามา
       ปัญหาที่เกิดจากการสำรวจความคิดเห็นคงน้อยลงหรือหมดไป หากเรามีกติกากลางที่ บุคคลหรือองค์กรที่จะจัดทำการสำรวจความคิดเห็นต้องยึดถือและปฏิบัติตามกติกากลางเหล่านี้ มีหลายเรื่อง เช่น วิธีการเลือกบุคคลเพื่อสำรวจความคิดเห็น สัดส่วนของสาขาอาชีพที่จะทำการสำรวจความคิดเห็น อายุและจำนวนของบุคคลที่จะทำการสำรวจความคิดเห็น เขตพื้นที่ที่ทำการสำรวจความคิดเห็น เนื้อหาของคำถาม วิธีการเผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็น เอกสารที่ต้องเผยแพร่ออกไปพร้อมๆ กับการเผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็น เป็นต้น ข้อมูลต่างๆเหล่านี้เป็นข้อมูลที่จะต้องเปิดเผยออกมาพร้อมๆ กับผลของการสำรวจความคิดเห็น อย่างน้อยก็เพื่อความโปร่งใสของผลการสำรวจความคิดเห็น และเพื่อป้องกันมิให้มีผู้ฉวยโอกาสทำการสำรวจความคิดเห็นด้วยวิธีการ “นั่งเทียน” เพื่อให้ผลของการสำรวจความคิดเห็นออกมาเป็นบวกกับผู้ที่ตนสนับสนุนหรือผู้ว่าจ้าง !!!
       เมื่อ 14 ปีที่แล้ว ตอนที่ผมเขียนบทความเรื่อง “ประเทศไทยควรมีกติกาการทำโพลหรือยัง” ตอนนั้นมีการเลือกตั้งระดับชาติครั้งสำคัญ แล้วก็มีการสำรวจความคิดเห็นที่ผลของการสำรวจความคิดเห็นออกมาคล้ายๆ กับผลการสำรวจความคิดเห็นของการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน ในครั้งนั้น มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันมากเกี่ยวกับผลการสำรวจความคิดเห็นที่ “น่าจะ” ไม่ถูกต้องและมีลักษณะเป็นการชี้นำ แต่เมื่อเลือกตั้งเสร็จ ก็ไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้อีก ปล่อยให้ทุกอย่างผ่านไปจนกระทั่งเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นกับการสำรวจความคิดเห็นของการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครว่าอาจมีปัญหาเรื่อง “ความถูกต้อง” ของวิธีการสำรวจความคิดเห็นจนทำให้ผลออกมาดูแปลก ๆ
       ปัญหาที่เกิดจากการนำเสนอผลการสำรวจความคิดเห็นของการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในครั้งนี้ ทำให้มองเห็นถึงความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องมีกติกากลางที่นำมาใช้กับกระบวนการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะ และการนำเสนอผลของการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะ
       
       คงไม่สายเกินไปที่จะย้อนกลับมาพูดถึงเรื่อง “ประเทศไทยควรมีกติกาการทำโพลหรือยัง” นะครับ !!
       
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอสองบทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความภาษาอังกฤษของ อาจารย์ Martin Morgan - Taylor ที่เขียนร่วมกับอาจารย์ Pedithep Youyuenyong จากDe Montfort Law School, Leicester, ประเทศอังกฤษ เรื่อง “An Introduction to French Light Pollution Law"   และบทความของคุณชำนาญ จันทร์เรื่อง ที่เขียนเรื่อง “สภาพลเมืองกับประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ" ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสองบทความด้วยครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2556 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1821
เวลา 28 มีนาคม 2567 22:19 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)