|
|
สถานการณ์ที่ไม่ปกติ (les circonstances exceptionnelles) ในระบบกฎหมายฝรั่งเศส 27 มกราคม 2556 21:05 น.
|
อำนาจของตุลาการศาลปกครองในการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายในกรณีที่เกิดเหตุการณ์สถานการณ์ที่ไม่ปกติมีความยืดหยุ่นมากกว่าการตรวจสอบความชอบด้วยในกรณีทั่วไป ตัวอย่างในกรณีนี้ก็เช่น หากมีวิกฤติการณ์ (les situations de crise) เกิดขึ้นแล้ว การตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายในขณะเหตุการณ์ดังกล่าวจะลดหย่อนลงจากที่เคยเป็นการควบคุมในระดับสูงมาเป็นการควบคุมในระดับปกติ (หรือต่ำกว่าปกติ) ดังนั้น นอกจากเงื่อนไขในเรื่องระดับของความชอบด้วยกฎหมายที่ตุลาการต้องใช้ในการพิจารณาพิพากษาคดีแล้วความชอบด้วยกฎหมายของการประกาศภาวะสถานการณ์ที่ไม่ปกติของฝ่ายปกครองย่อมเป็นอีกเงื่อนไขหนึ่งที่ตุลาการศาลปกครองจะต้องหยิบยกมาพิจารณา ทั้งนี้ เนื่องมาจากสาเหตุที่ว่า การที่ฝ่ายปกครองอ้างความมีอยู่ของสถานการณ์ที่ไม่ปกติ จะทำให้ฝ่ายปกครองปลดเปลื้องความรับผิดจากการกระทำของตนในขณะนั้นได้
ในกรณีที่มีเหตุการณ์ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ (imprévisible) ซึ่งเกิดขึ้นเป็นเฉพาะเหตุการณ์ (pontuel) เหตุการณ์ดังกล่าวย่อมส่งผลให้เกิดความเร่งด่วน (urgence) ต่อฝ่ายปกครองในการบริหารจัดการ จึงเป็นที่มาของการยกเว้นระดับความเข้มงวดของการกระทำของฝ่ายปกครองซึ่งในสภาวะปกติจะต้องอยู่ภายใต้หลักว่าด้วยการกระทำของฝ่ายปกครองต้องชอบด้วยกฎหมาย[๑] ในบางครั้ง ฝ่ายปกครองอาจมีการกระทำทางปกครองใดๆที่ไม่ต้องคำนึงถึงหลักว่าด้วยความชอบด้วยกฎหมายเลยก็ได้[๒]
ในกรณีที่เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่คาดหมายล่วงหน้าได้ (prévisible) หรือเป็นวิกฤติการณ์ที่สามารถคาดหมายล่วงหน้าซึ่งมีกฎเกณฑ์ทางกฎหมายบัญญัติให้อำนาจฝ่ายปกครองกระทำการใดๆไว้แล้ว ฝ่ายปกครองย่อมสามารถอ้างบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวขึ้นมาเป็นข้อปลดเปลื้องความรับผิดของตนได้ การกำหนดนิยาม วิกฤติการณ์ที่สามารถคาดหมายล่วงหน้า จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการตรวจสอบการกระทำของฝ่ายปกครองและ/หรือปลดเปลื้องความรับผิดของฝ่ายปกครอง
การศึกษาอำนาจตุลาการในการพิจารณาพิพากษาคดีปกครองภายใต้สถานการณ์ที่ไม่ปกติจึงอาจแบ่งการศึกษาออกเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนที่ ๑ การศึกษาทฤษฎีสถานการณ์ที่ไม่ปกติตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายลายลักษณ์อักษร และ ส่วนที่ ๒ การศึกษาทฤษฎีสถานการณ์ที่ไม่ปกติตามแนวคำพิพากษา
ส่วนที่ ๑ การศึกษาทฤษฎีสถานการณ์ที่ไม่ปกติตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายลายลักษณ์อักษร
กฎหมายลายลักษณ์อักษรได้บัญญัติถึงกรณีที่ถือว่าเป็น สถานการณ์ที่ไม่ปกติ ไว้ ๓ ประการกล่าวคือ กรณีกฎอัยการศึก (l’état de siège) กรณีสถานการณ์ฉุกเฉิน (l’état d’urgence) และกรณีตามมาตรา ๑๖ แห่งรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสฉบับปัจจุบัน (ค.ศ. ๑๙๕๘) ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
๑.๑ กรณีกฎอัยการศึก
กฎอัยการศึก เป็นถ้อยคำที่พบในรัฐบัญญัติ ลงวันที่ ๙ สิงหาคม ค.ศ. ๑๘๔๙[๓] รัฐบัญญัติ ลงวันที่ ๓ เมษายน ค.ศ. ๑๘๗๘ และมาตรา ๓๖ แห่งรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสฉบับปัจจุบัน
เงื่อนไขในการประกาศกฎอัยการศึก คือ สถานการณ์ในขณะนั้นจะต้องเป็นเหตุอันตรายอย่างร้ายแรง (péril imminent) อันเนื่องมาจากภาวะสงคราม (กับต่างประเทศ) หรือเกิดจากการจลาจลโดยใช้อาวุธ (l’insurrection armée) ซึ่งอาจลุกลามไปเป็นการเกิดสงครามกลางเมือง (la guerre civile) หรือการยึดอำนาจ (le Coup d’Etat) การประการกฎอัยการศึกจะต้องกระทำโดยรัฐกฤษฎีกาที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีโดยมีประธานาธิบดีเป็นผู้ลงนาม (le décret en Conseil des ministres) ระยะเวลาของสถานการณ์ไม่ปกติประเภทกฎอัยการศึกนี้ต้องไม่เกินกว่า ๑๒ วัน ทั้งนี้ ตามความในมาตรา ๓๖ แห่งรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสฉบับปัจจุบัน
ผลของการประการกฎอัยการศึก มี ๒ ประการคือ ประการแรก อำนาจในการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศจะถูกถ่ายโอนไปเป็นของฝ่ายการทหาร หากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นในขณะนั้นก็อยู่ในอำนาจในการพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร (les juridictions militaires) และประการที่สอง เสรีภาพของประชาชน (les libertés publiques) จะถูกจำกัดโดยรัฐ
อย่างไรก็ดี การประกาศกฎอัยการศึกจะสิ้นผลไปหากไม่ชอบด้วยเงื่อนไขตามที่กำหนด เช่น มีระยะเวลาเกิน ๑๒ วัน หากเป็นกฎอัยการศึกที่ออกโดยรัฐกฤษฎีกาที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีโดยมีประธานาธิบดีเป็นผู้ลงนาม หรือจากการยกเลิกรัฐกฤษฎีกาที่ผู้ก่อให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นผู้ลงนามซึ่งต่อมารัฐกฤษฎีกานั้นไม่ได้รับความเห็นชอบหรือได้รับการบัญญัติเป็นกฎเกณฑ์แห่งกฎหมายในระดับรัฐบัญญัติ
๑.๒ กรณีสถานการณ์ฉุกเฉิน
สถานการณ์ฉุกเฉิน (l’état d’urgence) เป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติที่มีลักษณะแตกต่างจากกฎอัยการศึกเนื่องจากสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นสภาวะการเข้าแทรกแซงของพลเรือน (le régime civil) ไม่ใช่จากฝ่ายทหารดังเช่นที่ปรากฏในกฎอัยการศึก กฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่ให้อำนาจฝ่ายปกครองในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน คือ รัฐบัญญัติ ลงวันที่ ๓ เมษายน ค.ศ. ๑๙๕๕ รัฐบัญญัติ ลงวันที่ ๗ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๕๕ และรัฐกำหนด[๔] ลงวันที่ ๑๕ มกราคม ค.ศ. ๑๙๖๐ การกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินไม่ถือเป็นการยกเลิกกฎอัยการศึกที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้า ทั้งนี้ ตามคำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คดี Etat d’urgence en Nouvelle-Calédonie ลงวันที่ ๒๕ มกราคม ค.ศ. ๑๙๘๕
เงื่อนไขของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน คือ สถานการณ์ในขณะนั้นจะต้องเป็นเหตุอันตรายอย่างร้ายแรง (péril imminent) อันเป็นภัยต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน (l’ordre public)หรือเป็นกรณีที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบอย่างร้ายแรงต่อการใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุขของประชาชน ซึ่งเงื่อนไขประการที่สองนี้ มักจะถูกหยิบยกมาเทียบเคียงกับกรณีการเกิดภัยธรรมชาติอย่างร้ายแรงนั่นเอง การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี ซึ่งรัฐสภาห้ามกำหนดระยะเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินเกิน ๑๒ วัน ทั้งนี้ ตามมาตรา ๓๖ แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
ผลของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและศาลทหารมีอำนาจในการป้องกันมิให้เกิดการกระทำผิดกฎหมาย (le pouvoir de police) มากกว่ากรณีปกติ อย่างไรก็ดี มาตรการใดๆที่ฝ่ายปกครองดำเนินการไปในขณะสถานการณ์ฉุกเฉินถือเป็นมาตรการที่สามารถนำมาฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายได้ ทั้งนี้ ตามคำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Mme Dagostini ลงวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๘๕
การสิ้นผลไปของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นไปในทำนองเดียวกับการสิ้นผลของการประกาศกฎอัยการศึก และสถานการณ์ฉุกเฉินจะสิ้นผลภายใน ๑๕ วัน หากคณะรัฐบาลที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินลาออกหรือมีการยุบสภา
๑.๓ สถานการณ์ไม่ปกติตามความในมาตรา ๑๖ แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
เงื่อนไขในการใช้อำนาจตามมาตรา ๑๖ แห่งรัฐธรรมนูญ คือ อำนาจในการบริหารจัดการประเทศในกรณีปกติได้รับการกระทบกระเทือน อันเนื่องมาจากเกิดเหตุการณ์กระทบกระเทือนต่อสถาบันแห่งสาธารณรัฐ (les institutions de la République) หรือ ความอิสระของชาติ (l’indépendance de la Nation) หรือ เกิดกับดินแดน (l’intégralité de son territoire) หรือ การดำเนินการตามข้อตกลงระหว่างประเทศเป็นผลให้เกิดการคุกคามอย่างรุนแรงและทันใด ซึ่งหากเข้าตามเงื่อนไขสองประการดังที่กล่าวมาแล้วผลจะเป็นว่าประธานาธิบดีมีอำนาจในการออกคำสั่ง(แต่เพียงผู้เดียว)ในการออกมาตรการใดๆเพื่อมาดำเนินการให้เกิดความสงบ ซึ่งอำนาจตัดสินใจของประธานาธิบดีตามความในมาตรา ๑๖ นี้ ไม่ถือเป็นการใช้อำนาจทางปกครอง ดังนั้น จึงไม่สามารถฟ้องต่อศาลปกครองได้
อย่างไรก็ดี ภายหลังจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญในปี ค.ศ. ๒๐๐๘ ได้มีการแก้บทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไว้ว่า หากภายในสามสิบวันนับแต่ได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว พบว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน ๖๐ คนหรือสมาชิกวุฒิสภาจำนวน ๖๐ คน สามารถยื่นฟ้องต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวได้
คำสั่งที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๑๖ ถือเป็นคำสั่งที่มี ๒ ลักษณะ คือ มีลักษณะเป็นการกระทำการในเชิงออกกฎหมาย (l’acte législatif) ซึ่งอยู่นอกเหนือการตรวจสอบขององค์กรฝ่ายตุลาการ[๕] คำสั่งดังกล่าวยังมีลักษณะเป็นการออกกฎ (le domaine réglementaire) ซึ่งคำสั่งในลักษณะนี้อยู่ภายใต้การตรวจสอบขององค์กรฝ่ายตุลาการ
๒. การศึกษาทฤษฎีสถานการณ์ที่ไม่ปกติตามแนวคำพิพากษาของศาล
ทฤษฎีว่าด้วย อำนาจยามสงคราม หรือ สถานการณ์ที่ไม่ปกติ นั้น เป็นทฤษฎีที่เป็นพื้นฐานของกฎอัยการศึก สถานการณ์ฉุกเฉินและสถานการณ์ไม่ปกติดังที่กล่าวมาแล้วในข้อ ๑ ทฤษฎีดังกล่าวส่งผลให้การกระทำทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในสภาวะการณ์ปกติกลายมาเป็นการกระทำทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายด้วยเหตุที่ว่าการกระทำนั้นจะต้องเป็นการกระทำที่เป็นไปเพื่อการรักษาความสงบเรียบร้อยและรักษาความต่อเนื่องในการให้บริการสาธารณะ ทฤษฎีนี้เป็นทฤษฎีที่สภาแห่งรัฐวางหลักไว้ในคำพิพากษาช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเพื่อให้การกระทำของฝ่ายปกครองในช่วงดังกล่าวเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย จึงอาจกล่าวได้ว่าทฤษฎีว่าด้วยสถานการณ์ไม่ปกติอาจถูกหยิบยกมาปรับใช้เพื่อให้การกระทำทางปกครองที่ฝ่ายปกครองได้กระทำไปแล้วนั้นเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย
๒.๑ ความหมายของ สถานการณ์ที่ไม่ปกติ
สภาแห่งรัฐวางหลักเกี่ยวกับ สถานการณ์ที่ไม่ปกติ ไว้หลายกรณีด้วยกัน ตัวอย่างแรกคือ การนำ สถานการณ์ไม่ปกติ มาใช้ในเหตุการณ์ยามสงคราม คำพิพากษาลักษณะนี้พบในช่วงปี ค.ศ. ๑๙๑๔-๑๙๑๘ และช่วง ค.ศ. ๑๙๓๙-๑๙๔๕ ซี่งเป็นคำพิพากษาที่มีความในเชิงขยายไปจากทฤษฎีเรื่องดังกล่าวค่อนข้างมาก กล่าวคือ ในเริ่มแรกเป็นการตีความภายหลังจากการสงคราม (des suites de la guerre)[๖] ต่อมาเป็นการตีความเรื่องวิกฤติการณ์ในช่วงสงครามสงบ (les périodes critiques en temps de paix)[๗] ต่อมาเป็นการให้ความหมายเรื่องสถานการณ์ที่ไม่ปกติโดยใช้หลักว่าเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติที่มีความเป็นพิเศษ (le circonstance exceptionnelle particulière) แทนที่จะใช้คำว่าสถานการณ์ที่ไม่ปกติแบบทั่วไป (le circonstance exceptionnelle générale)[๘] ซึ่งเป็นการตีความอันเนื่องมาจากภาวะภูเขาไฟระเบิดที่จังหวัดกัวดาลูป[๙]
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าศาลจะตีความ สถานการณ์ที่ไม่ปกติ ไว้เช่นไรก็ตาม แต่การตีความทุกครั้งของศาลก็จะต้องพิจารณาเงื่อนไข ๒ ประการ คือ การคำนึงหลักว่าด้วยความชอบด้วยกฎหมาย (le principe de légalité) และการคำนึงถึงขอบเขตของการอำนาจในการควบคุมของตน ยิ่งไปกว่านั้น ศาลจะต้องพิจารณาด้วยว่าสถานการณ์ดังกล่าวเป็น สถานการณ์ที่ไม่ปกติ อย่างแท้จริง ทั้งนี้ เนื่องมาจากเหตุผลที่ว่าสถานการณ์ที่ไม่ปกติไม่ใช่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้เป็นการทั่วไปโดยตัวของมันเอง (la circonstance exceptionnelle par nature) แต่เป็นสถานการณ์ที่ศาลเป็นผู้กำหนดนิยามโดยพิจารณาจากเหตุการณ์แวดล้อมที่เกิดขึ้น แม้ว่าจะมีการกล่าวถึง สถานการณ์ที่ไม่ปกติ เอาไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่สภาวการณ์ดังกล่าวก็มิได้หมายความว่าจะนำเรื่อง สถานการณ์ที่ไม่ปกติ มาปรับใช้ได้กับทุกกรณี เช่น กรณีตามคำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Oriano ลงวันที่ ๒๔ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๖๔ ซึ่งมีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการให้ข้าราชการผู้หนึ่งพักงานเป็นกรณีพิเศษ (un congé spécial) โดยมิได้บอกกล่าวกับข้าราชการผู้นั้นล่วงหน้า สถานการณ์ดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ดังนั้น อาจสรุปได้ว่านิยามของ สถานการณ์ที่ไม่ปกติ มักเป็นกรณีที่สถานการณ์ดังกล่าวเป็นสถานการณ์ที่ไม่ธรรมดา (anormale) และเป็นสถานการณ์ที่ร้ายแรง (grave) เช่น กรณีสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความหายนะ (cataclysme) การหยุดงานทั่วไปที่มีผลทำให้ประเทศเป็นอัมพาต[๑๐] หรือเป็นกรณีที่เกิดสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นอย่างยิ่ง (l’urgence extrême)[๑๑]
อนึ่ง จะต้องไม่สับสนระหว่างสถานการณ์ที่ไม่ปกติกับสถานการณ์เฉพาะ (la circonstance particulière) ซึ่งศาลจะกำหนดให้ใช้มาตรการทางตำรวจ (le mesure de police)[๑๒]
๒.๒ การควบคุมการกระทำของฝ่ายปกครองในช่วงสถานการณ์ที่ไม่ปกติ
สภาแห่งรัฐได้มีการตีความเกี่ยวกับการควบคุมการกระทำของฝ่ายปกครองในช่วงสถานการณ์ไม่ปกติควบคู่ไปกับการกำหนดนิยามของสถานการณ์ที่ไม่ปกติ โดยมีข้อพิจารณา ๒ ประการ
การพิจารณาประเด็นแรก คือ ข้อพิจารณาที่ว่าฝ่ายปกครองไม่สามารถอ้างเหตุผลเรื่องของการมีอยู่ของสถานการณ์ที่ไม่ปกติมาเป็นข้ออ้างเพื่อให้การกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของตนเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายไปได้ ดังนั้น ศาลจึงมีอำนาจในการตรวจสอบการกระทำดังกล่าวของฝ่ายปกครองเสมอว่า ในท้ายที่สุดแล้ว การกระทำของฝ่ายปกครองในครั้งนั้นเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งก็จะไม่ใช้วิธีอื่นใดนอกเหนือไปจากการตรวจสอบว่าฝ่ายปกครองได้นำหลักความชอบด้วยกฎหมายนั้นมาใช้โดยครบถ้วนหรือไม่ การกระทำดังกล่าวมีผลเช่นไรกับบริการสาธารณะหรือมีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือไม่[๑๓] ซึ่งหากฝ่ายปกครองสามารถพิสูจน์ถึงเหตุต่างๆดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนี้ได้ครบถ้วน
การพิจารณาประเด็นที่สอง คือ การพิจารณาว่าอาจมีข้อจำกัดบางประการในการใช้มาตรการใดๆของฝ่ายปกครองในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ซึ่งในบางครั้งพบว่าข้อจำกัดบางประการนั้นกลายมาเป็นเงื่อนไขให้ฝ่ายปกครองสามารถกระทำการใดๆที่ชอบด้วยกฎหมายในสถานการณ์ที่ไม่ปกตินั้นได้ ดังที่ปรากฏในคำพิพากษาสภาแห่งรัฐ (ที่ประชุมใหญ่) คดี Laugier ลงวันที่ ๒๖ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๘ ซึ่งเป็นกรณีของการออกมาตรการทางนิติบัญญัติบางประการขึ้นมาในช่วงเหตุการณ์ยกพลขึ้นบกของฝ่ายสัมพันธมิตรในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง หรือกรณีที่ผู้มีอำนาจกระทำการมอบอำนาจให้หน่วยงานที่มีหน้าที่จัดเก็บภาษีเทศบาลกระทำการใดๆ ในช่วงอุทกภัย (le débâche)[๑๔] ซึ่งแม้ว่าจะมีการมอบอำนาจที่ผิดแบบ (le vice de forme) จากการมอบอำนาจดังกล่าว ก็ถือว่าการมอบอำนาจนั้นยังคงเป็นการมอบอำนาจที่ถูกต้องตามกฎหมาย[๑๕]
อาจกล่าวได้ว่า สถานการณ์ที่ไม่ปกติเป็นเหตุผลที่ทำให้มาตรการใดๆที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกลายเป็นมาตรการที่ชอบด้วยกฎหมายได้ ดังนั้น มาตรการใดๆที่ฝ่ายปกครองกระทำลงไปในขณะสถานการณ์ที่ไม่ปกตินั้นก็จะมีลักษณะเป็นมาตรการที่ผิดกฎหมายในแบบปกติ (แบบทั่วไป) ซึ่งศาลปกครองมีอำนาจในการควบคุมตรวจสอบอยู่แล้ว[๑๖] ซึ่งข้อความคิดดังกล่าวส่งผลถึงการปราศจากอำนาจของฝ่ายปกครองในการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำใดๆที่มีความร้ายแรงเป็นอย่างยิ่ง เช่น ซึ่งก็คือการปฏิเสธไม่ทำการบังคับตามคำพิพากษาของศาลอันถือเป็นการกระทำอันร้ายแรงที่มีวัตถุประสงค์ในการล้มล้างการแบ่งแยกอำนาจ (le séparation de pouvoir)[๑๗] การยับยั้งการบังคับใช้รัฐบัญญัติในช่วงภาวะสงคราม[๑๘] และยังหมายความรวมถึงมาตรการใดๆของตำรวจที่ถือเป็นมาตรการที่ร้ายแรงอันกระทบต่อเสรีภาพของประชาชน (la liberté publique) อีกด้วย เช่น การจับ การฟ้องขับไล่หรือการขับออกนอกราชอาณาจักร (l’expulsion)[๑๙] การยึดทรัพย์ (la réquisitions)[๒๐] หรือกรณีคำสั่งห้ามเด็ดขาดที่บังคับใช้กับประชาชนทุกคน[๒๑]
อย่างไรก็ดี ศาลถือว่าฝ่ายปกครองเองก็มีข้อจำกัดในการนำหลักเรื่องสถานการณ์ที่ไม่ปกติมาบังคับใช้ ๓ ประการด้วยกัน ประการแรก คือ ข้อจำกัดในเรื่องระยะเวลาของสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ดังที่ปรากฎในคำพิพากษาสภาแห่งรัฐ (คณะพิเศษ) คดี Andriamisera ลงวันที่ ๗ มกราคม ค.ศ. ๑๙๕๕ ดังนั้น คำสั่งของฝ่ายปกครองที่กระทำลงไปขณะที่เกิดสถานการณ์หนึ่งแต่ไม่ได้มีช่วงเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของสถานการณ์นั้นจึงถือเป็นคำสั่งทางปกครองที่จะต้องถูกตรวจสอบดังเช่นกรณีปกติ[๒๒] หรือกรณีที่ฝ่ายปกครองจะต้องออกมาตรการใดๆในระหว่างช่วงเวลาสถานการณ์ที่ไม่ปกติ และช่วงเวลาดังกล่าวนั้นได้ผ่านเลยไปแล้วทำให้ฝ่ายปกครองปราศจากอำนาจดังกล่าว[๒๓] ประการที่สอง คือ ข้อจำกัดที่ว่าการกระทำในระหว่างสถานการณ์ไม่ปกติของฝ่ายปกครองย่อมถูกตรวจสอบได้ กล่าวคือ ศาลจะเข้ามาตรวจสอบว่าการกระทำของฝ่ายปกครองนั้นไม่ได้เกินกว่าความจำเป็นที่ต้องกระทำในระหว่างสถานการณ์ที่ไม่ปกตินั่นเอง ดังที่ปรากฎในคำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Dame Dol et Laurent ลงวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๑ และ Jarrigion ลงวันที่ ๑๘ เมษายน ค.ศ ๑๙๔๗ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ฝ่ายปกครองจะดำเนินการตรวจสอบความได้สัดส่วน (un contrôle de proportionnalité) ว่าการกระทำดังกล่าวของฝ่ายปกครองนั้นเป็นการกระทำที่มีวัตถุประสงค์เกินกว่าเหตุหรือไม่[๒๔] ประการที่สาม คือ ข้อจำกัดในเรื่องของการควบคุมโดยศาลที่มีพื้นฐานความคิดว่า แม้ว่าการกระทำดังกล่าวในระหว่างสถานการณ์ไม่ปกติจะเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในกรณีปกติก็ตาม แต่หากการกระทำนั้นก่อให้เกิดความเสียหาย ฝ่ายปกครองก็มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบในกรณีดังกล่าวด้วย โดยศาลจะหยิบยกแนวความคิดในเรื่องความรับผิดที่ค่อนข้างเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้เสียหายมาปรับใช้ในกรณีนี้ ซึ่งหมายความถึง ความรับผิดโดยปราศจากความผิด (la responsabilité sans faute) นั่นเอง
บทสรุป
แม้ว่ากฎหมายจะมีบทบัญญัติเรื่องสถานการณ์ที่ไม่ปกติที่ค่อนข้างละเอียดชัดเจนแล้วก็ตาม แต่ก็พบว่าศาลปกครองมีบทบาทสำคัญในการตีความ วางหลักและกำหนดการเยียวยาความเสียหายที่เกิดจากเหตุดังกล่าว สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ต้องหยิบยกมาพิจารณาเสมอในการศึกษาเรื่องสถานการณ์ที่ไม่ปกติคือ ความเข้าใจที่ว่าการกำหนดนิยามของสถานการณ์ไม่ปกติเป็นหน้าที่ของศาลโดยจะพิจารณาจากเหตุการณ์แวดล้อมที่เกิดขึ้น ซึ่งแม้ว่าจะมีการกล่าวถึง สถานการณ์ที่ไม่ปกติ เอาไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่สภาวการณ์ดังกล่าวก็มิได้หมายความว่าจะนำเรื่อง สถานการณ์ที่ไม่ปกติ มาปรับใช้เพื่อเป็นการเอื้อประโยชน์ให้การกระทำใดของฝ่ายปกครอง (ซึ่งในช่วงเวลาปติถือเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย) ในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายขึ้นมาได้ การพิจารณาเรื่องสถานการณ์ที่ไม่ปกติจึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงบทบาทที่สำคัญของศาลในการสร้างหลักกฎหมายในเรื่องต่างๆให้ชัดเจนและเหมาะสมสอดคล้องกับสภาวะเหตุการณ์
______________________________________
[๑] ดังที่วางหลักไว้ในคำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี SGEN ลงวันที่ ๙ เมษายน ค.ศ. ๑๙๗๖
[๒] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Alix ลงวันที่ ๒๒ มกราคม ค.ศ. ๑๙๖๕
[๓] ต่อมาได้รับการแก้ไขในปี ค.ศ. ๑๙๑๖ และ ค.ศ. ๑๙๔๔
[๔] รัฐกำหนด (l’ordonnance) ในฝรั่งเศสจะออกได้ต่อเมื่อฝ่ายบริหารได้รับอนุมัติจากรัฐสภาก่อน โดยรัฐสภาจะต้องออกรัฐบัญญัติมอบอำนาจ (la loi d’habilitation) ให้ฝ่ายบริหารออกรัฐกำหนดในเรื่องและภายในกำหนดเวลาที่ระบุไว้
[๕] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Rubin de Servens ลงวันที่ ๒ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๖๒
[๖] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Ch.synd. xxx ลงวันที่ ๒๗ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๒๔
[๗] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Cotte ลงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๒๔
[๘] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Rodes ลงวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๘๓
[๙] เป็นหนึ่งในจังหวัดโพ้นทะเลของฝรั่งเศส เช่นเดียวกับ กุยาน (Guyane) มาตินิก (Martinique) มายอทท์ (Mayotte) ลา เรอูยง (La Réunion)
[๑๐] ทั้งนี้ ตามคำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Jarrigion ลงวันที่ ๑๘ เมษายน ค.ศ. ๑๙๔๗
[๑๑] ทั้งนี้ ตามคำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Synd. CFDT des P et T du Haut-Rhin ลงวันที่ ๑๘ เมษายน ค.ศ. ๑๙๔๗
[๑๒] คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นแห่งเมือง Versailles คดี Soc. Fun Productions ลงวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๙๒
[๑๓] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Soc. Damien ลงวันที่ ๒๘ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๗
[๑๔] ตามคำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Marion ลงวันที่ ๗ มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๔
[๑๕] ทั้งนี้ ตามคำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Courrent ลงวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๑
[๑๖] คำพิพากษาศาลชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คดี Dame de la Murette ลงวันที่ ๒๗ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๕๒
[๑๗] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Couitéas ลงวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๒๓ ดังนั้น จึงอาจถือได้ว่า แม้จะมีการออกกฎกระทรวง (le décret) เพื่อประกาศภาวะสงครามในปี ค.ศ. ๑๙๑๔ ก็ตาม แต่การดำเนินการทางฝ่ายนิติบัญญัติก็ยังคงต้องดำเนินการดังเช่นที่ปรากฏในภาวะปกติ
[๑๘] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Heyriès ลงวันที่ ๒๘ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๑๘
[๑๙] ตามคำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Dame Dol et Laurent ลงวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๑๙ ซึ่งมีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการขับไล่เด็กหญิงสองคนออกจากค่ายผู้อพยพ กรณีดังกล่าวถือเป็นอำนาจของศาลทหารในการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมาย
[๒๐] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Marion ลงวันที่ ๕ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๘
[๒๑] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Delmotte et Senmartin ลงวันที่ ๖ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๕
[๒๒] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Delle Idessesse ลงวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๔
[๒๓] คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Consorts Perrin ลงวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๕๐
[๒๔] ดังที่ปรากฏในคำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Canal, Robin et Godot ลงวันที่ ๑๑๙ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๖๒
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1816
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 19:14 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|