|
|
ครั้งที่ 308 13 มกราคม 2556 21:13 น.
|
สำหรับวันจันทร์ที่ 14 ถึงวันอาทิตย์ที่ 27 มกราคม 2556
ซื้อเวลาแก้รัฐธรรมนูญ
เรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังคงเป็นหัวข้อสนทนา ข้ามปี ที่สำคัญหัวข้อหนึ่งที่ดูๆ ไปแล้วก็ยังไม่ พบทางออก ที่ชัดเจน
สัปดาห์ที่ผ่านมา ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ได้เสนอความเห็นว่า มีแนวคิดแก้ไขรัฐธรรมนูญ 9 ประเด็น รวม 81 มาตรา ได้แก่ การยกเลิกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองย้ายไปเป็นแผนกในศาลฎีกา ยกเลิกผู้ตรวจการแผ่นดิน ปรับปรุงที่มาของ ปปช. และ กกต. สมาชิกวุฒิสภาให้มาจากการเลือกตั้ง แก้ไขมาตรา 190 เกี่ยวกับเรื่องอำนาจของรัฐสภา และแก้ไขมาตรา 237 เรื่องการยุบพรรค ข้อเสนอเหล่านี้นับเป็นข้อเสนอแรกที่เป็น รูปธรรม ที่สุดที่มาจากบุคคลในรัฐบาลนับแต่มีกระแสการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อกลางปีที่ผ่านมา
ข้อเสนอดังกล่าว ผมเข้าใจว่ามาจากการสัมมนาของพรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 6 มกราคม ที่ผ่านมา เพราะนอกจากข้อเสนอของ ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง ยังมีข้อเสนอของนายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ที่เสนอให้สถาบันการศึกษาคือ คณะนิติศาสตร์ประมาณ 3-4 สถาบัน มาช่วยหาคำตอบว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญควรทำอย่างไร โดยเข้าใจว่าจะให้เวลาประมาณ 45-60 วัน
นี่คือ ท่าที ล่าสุดที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาจากฟากของรัฐบาลครับ
ข้อเสนอให้สถาบันการศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในการหาแนวทางเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องใหม่ สมัยที่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีความพยายามที่จะปฏิรูปการเมืองด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยในตอนนั้นก็ใช้ วิธีการเดียวกัน กับข้อเสนอของเลขาธิการพรรคเพื่อไทยก็คือ พิงหลังนักวิชาการ แต่จะแตกต่างกันอยู่ตรงที่ สมัย พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร คิดได้ลึกกว่าและเป็นระบบมากกว่า เท่าที่ผมจำได้น่าจะมีอยู่ 2 ส่วน ส่วนแรกคือ ให้สถาบันการศึกษาแต่ละแห่งเสนอโครงการวิจัยเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญเข้ามาที่สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) มีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาโครงการที่เสนอเข้ามา แล้วก็มีงบประมาณให้ไปดำเนินการทำวิจัย ซึ่งผมจำไม่ได้แล้วว่าในที่สุดแล้วผลเป็นอย่างไร มีการทำวิจัยในเรื่องใดหรือไม่ กับส่วนที่สองคือ มีการตั้งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อจัดการศึกษาประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มี ศาสตราจารย์ ดร.ปรัชญา เวสารัชช์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ในขณะนั้น) เป็นประธานกรรมการ คณะกรรมการชุดนี้ได้ทำการรวบรวมประเด็นความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ จากผลงานวิจัย วิทยานิพนธ์ บทความทางวิชาการและความเห็นทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยคณะกรรมการชุดนี้ได้จัดทำรายงานการศึกษาข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ออกมาเผยแพร่ ประกอบด้วยเรื่องที่จะต้องได้รับการทบทวน จำนวน 58 เรื่อง ที่น่าสนใจมีอยู่หลายเรื่อง แต่จะขอนำมาเล่าให้ฟัง เล่นๆ เพียงเรื่องเดียวคือ เรื่องของระบบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มาจากผลการศึกษาของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต โดยนักวิชาการผู้ล่วงลับไปแล้วคือ อาจารย์ทิวา เงินยวง ได้เสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการศึกษาวิจัยการเมืองเพื่อการแก้ไขและเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ขึ้นมาโดยมีที่มาจากนักวิชาการในมหาวิทยาลัย ทำหน้าที่รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในเรื่องปัญหาที่เกิดจากรัฐธรรมนูญ เมื่อได้ประเด็นที่ชัดเจนก็จะส่งต่อไปให้ให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ ซึ่งมีที่มาจากนักกฎหมายมหาชนเป็นคนยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของสภาพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีที่มาทั้งจากการเลือกตั้งและจากการแต่งตั้งทำหน้าที่ให้ความเห็นในร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนที่จะนำไปให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางแล้วนำกลับมาให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ ดำเนินการปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญภายหลังจากการรับฟังความคิดเห็นของสภาพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญและประชาชน จากนั้นจึงค่อยนำร่างรัฐธรรมนูญไปให้ประชาชนออกเสียงแสดงประชามติว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
นี่คือข้อเสนอเพียงข้อเสนอเดียวจากหลายๆ ข้อเสนอของการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ได้มาจาก รายงานการศึกษาข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ที่มาจากการรวบรวมของคณะกรรมการอำนวยการเพื่อจัดการศึกษาประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นมาแล้วในปี 2549 ครับ
ผมไม่ทราบว่า ข้อเสนอของเลขาธิการพรรคเพื่อไทยที่ให้คณะนิติศาสตร์ของสถาบันต่างๆ เข้ามาช่วยหาคำตอบให้กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 นี้จะออกมาในรูปไหนและจะได้รับการยอมรับจากทุกๆ ฝ่ายมากน้อยเพียงใด เพราะคณะนิติศาสตร์ของแต่ละมหาวิทยาลัยต่างก็มีความถนัดและความชำนาญของตนเองที่อาจจะไม่ตรงกับเรื่องที่ต้องทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เป็นได้ นอกจากนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่ามีนักวิชาการจำนวนหนึ่งเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 มาแล้วซึ่งเราก็คงพอมองเห็นความ "เก่งกาจ" ของนักวิชาการเหล่านั้นที่สามารถทำให้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 "ร้ายกาจ" ได้ถึงเพียงนี้ ผมเกรงว่าเมื่อรัฐบาลส่งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สถาบันการศึกษา นักวิชาการเหล่านั้นก็จะเข้าไปมีส่วนร่วมอีก ผลที่ออกมาจึง "น่าจะ" ไม่มีอะไรแปลกใหม่เพราะผู้ที่มีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 คงไม่คิดที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 เป็นแน่ สังเกตได้จากที่ผ่านมาเวลามีปัญหาเกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 นักวิชาการหลายสำนักต่างก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ช่วยกันเสนอทางออกหรือไม่ก็คัดค้าน แต่นักวิชาการที่มีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 กลับเงียบกันไปหมด แล้วอย่างนี้จะให้มาหาคำตอบว่าจะทำอย่างไรกับรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ได้อย่างไรครับ!!!!! นอกจากนี้ยังมีอีกกรณีที่อาจสร้างปัญหาให้กับรัฐบาลก็คือหากนักวิชาการแต่ละสถาบันมีความเห็นไปในทางตรงกันข้ามกัน รัฐบาลจะทำอย่างไรครับ
เป็นที่น่าแปลกใจมากว่าในวันนี้ แม้จะมีข้อเสนอมากมายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญจากนักวิชาการหลายกลุ่มแต่ทำไมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลายต่างก็ เพิกเฉย และ ไม่มีคำตอบ ให้กับกับข้อเสนอเหล่านั้น หรืออาจเป็นไปได้ว่าฝ่ายข่าวของรัฐบาลและของรัฐสภา ไม่ได้ให้ความสนใจที่จะนำข้อเสนอในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของนักวิชาการไปวิเคราะห์และนำเสนอให้ เจ้านาย ของตนพิจารณาก็ไม่ทราบได้ครับ
ตอนที่ผมค้นข้อมูลเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนำมาเขียนบทบรรณาธิการครั้งนี้ ก็ได้พบข้อเขียนเก่าๆ ของผมเกี่ยวกับการเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นจำนวนมาก บางข้อเสนอก็ยังคงใช้ได้ แต่บางข้อเสนอก็ พ้นยุค ไปแล้ว เพราะฉะนั้น หากจะสรุปข้อเสนอเกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ในบทบรรณาธิการครั้งที่ 273 ที่ได้เผยแพร่ไปเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2554 ผมได้เสนอเอาไว้ว่า ... ผมเคยเสนอไปแล้วหลายครั้งถึงรูปแบบของการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยนักวิชาการ ซึ่งก็ไม่เป็นที่ยอมรับและสนใจของผู้คนในสังคมมากนัก ในวันนี้ แม้ผมจะยังยึดมั่นในข้อเสนอเดิม แต่เพื่อให้สอดคล้องกับสิ่งที่รัฐบาลกำลังจะนำเสนอก็คือการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ผมจึงขอเสนอให้มี คณะนักวิชาการ เข้ามามีบทบาทในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่ผมคิดว่า คณะนักวิชาการ มีความเหมาะสมกว่า สภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่มาจาก ตัวแทนประชาชน ก็เพราะผมมองว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญนั้น ผู้จัดทำควรจะต้องเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญจะต้องทำงานบนพื้นฐานของวิชาการและสามารถทำเอกสารการศึกษาวิเคราะห์ (study report) ที่ได้มาตรฐาน การจัดทำรัฐธรรมนูญโดยไม่มีการศึกษาวิเคราะห์ที่รอบคอบและได้มาตรฐานย่อมจะก่อให้เกิดปัญหาในทางบริหารตามมา และอาจเกิดปัญหาการบิดเบือนการใช้อำนาจ (abuse of power) ซึ่งจะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี ด้วยเหตุนี้ที่ผมคิดว่าควรเป็นหน้าที่ของ คณะนักวิชาการ ที่จะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในตอนเริ่มต้นกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการทำ ข้อเสนอเพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก่อนที่จะมีการ ตั้ง สภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไปครับ
หน้าที่ของ คณะนักวิชาการ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเริ่มต้นจากการต้องทำการศึกษารัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 และฉบับปี พ.ศ. 2550 อย่างละเอียดดูก่อนว่า รัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับมีปัญหา อุปสรรคและข้อบกพร่องอย่างไรในระหว่างที่มีผลใช้บังคับ ในการศึกษาของ คณะนักวิชาการ ควรแยกปัญหา อุปสรรคและข้อบกพร่องที่ตรวจสอบพบออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือปัญหา อุปสรรคและข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นจากตัวบทของรัฐธรรมนูญ กับส่วนที่สองคือ ปัญหา อุปสรรคและข้อบกพร่องที่เกิดจาก พฤติกรรม ของผู้ใช้รัฐธรรมนูญที่พยายามหาทางใช้รัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ตน เองและพวกพ้องมากกว่าให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนครับ
เมื่อได้ทราบถึงปัญหา อุปสรรคและข้อบกพร่องทั้งสองส่วนแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของ คณะนักวิชาการ ที่จะต้องมาวิเคราะห์ว่า จำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะในส่วนของปัญหาที่เกิดจาก ตัวบท ของรัฐธรรมนูญนั้น เป็นสิ่งที่อย่างไรเสียก็คงต้องแก้ไข แต่ปัญหาที่เกิดจาก พฤติกรรม ของผู้ใช้รัฐธรรมนูญในบางครั้งอาจไม่มีความจำเป็นถึงขนาดที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ได้หากผู้ใช้รัฐธรรมนูญ เข้าใจ ในความเป็นรัฐธรรมนูญเพียงพอ เมื่อ คณะนักวิชาการ ทำการวิเคราะห์ปัญหา อุปสรรคและข้อบกพร่องทั้งหมดจนได้ความกระจ่างแล้ว คณะนักวิชาการ ก็จะต้องทำการศึกษาต่อไปถึงทิศทางที่ประเทศไทยจะเดินต่อไปในวันข้างหน้า เช่น หากเห็นว่ารูปแบบของ รัฐสวัสดิการ เป็นสิ่งที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย ก็จะต้องนำเสนอเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม ประกอบด้วยเหตุผลที่สนับสนุนแนวคิดของตนเองเอาไว้ด้วย เมื่อทำทุกอย่างครบแล้ว คณะนักวิชาการ ก็จะต้องจัดทำ ข้อเสนอทางวิชาการ ซึ่งประกอบด้วยสาระสำคัญ 4 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกเป็นสภาพปัญหาที่เกิดจากจากการบังคับใช้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับปี พ.ศ. 2540 และฉบับปี พ.ศ. 2550 ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศชาติและประชาชน ส่วนที่สองเป็นสภาพปัญหาของประเทศที่กำลังเผชิญอยู่ ส่วนที่สามเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และส่วนสุดท้ายเป็นข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมคือ หากต้องแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับก็ต้องมีการนำเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งจะต้องประกอบด้วยคำอธิบายสาระสำคัญที่ปรากฏอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ข้อเสนอทางวิชาการ ที่ว่านี้จะต้องมีรายละเอียดที่สมบูรณ์ ครบถ้วน มีความเป็นเหตุเป็นผล และเป็นรูปธรรม โดย คณะนักวิชาการ ควรที่จะต้องทำตารางเปรียบเทียบบทบัญญัติรายมาตราของรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 กับข้อเสนอของ คณะนักวิชาการ ที่ควรจะต้องเป็นร่างรัฐธรรมนูญพร้อมด้วยเหตุผลที่สนับสนุนข้อเสนอของตนเองเอาไว้ให้ชัดเจนด้วย
ข้อเสนอทางวิชาการ คือ งานชิ้นเดียวของ คณะนักวิชาการ เมื่อส่งมอบงานให้กับ ผู้แต่งตั้ง แล้วคณะนักวิชาการ ก็หมดหน้าที่ลงในทันที เหตุการณ์ต่อจากนั้นก็คือ ผู้แต่งตั้ง จะต้องนำเอา ข้อเสนอทางวิชาการ ของ คณะนักวิชาการ เข้าสู่การวิพากษ์วิจารณ์และรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวางด้วยการเผยแพร่เอกสารดังกล่าวทุกวิถีทาง รวมทั้งจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเพื่อให้ประชาชนทั่วไป เจ้าหน้าที่ของรัฐ นักการเมืองทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น และทุกภาคส่วนของสังคมให้สังคมได้เรียนรู้และรับทราบปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างชัดเจน รวมทั้งทำความเข้าใจในบรรดา ข้อเสนอทางวิชาการ เหล่านั้นด้วย
ขั้นตอนสุดท้ายคงเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด ภายหลังจากรับฟังความคิดเห็น หากปรากฏว่าควรต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของ คณะนักวิชาการ ก็คงต้องพิจารณากันดูว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอนั้นเป็นการแก้ไขมากหรือน้อย ถ้าแก้ไขมาก ก็ควรตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาพิจารณาข้อเสนอของคณะนักวิชาการอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในขั้นตอนนี้คงใช้เวลาไม่นานนักเพราะสภาร่างรัฐธรรมนูญมี ข้อเสนอทางวิชาการ ของคณะนักวิชาการ เป็นฐานในการทำงานอยู่แล้ว แต่ถ้าหากเป็นการแก้ไขน้อย ก็คงต้องให้เป็นหน้าที่ของรัฐสภาที่จะดำเนินการต่อไปโดยไม่จำเป็นต้องตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญให้ยุ่งยากและสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุครับ !!!
ด้วยวิธีการเช่นนี้ จะทำให้เราได้รัฐธรรมนูญที่ผ่านการศึกษาวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ ถูกต้องตามหลักวิชาการ แต่อย่างไรก็ตาม หากไม่ไว้ใจ คณะนักวิชาการ หรือเกรงว่าคณะนักวิชาการ จะพลาดเพราะ ขาดประสบการณ์ ก่อนที่จะนำ ข้อเสนอทางวิชาการ ออกสู่สายตาสาธารณชน ก็สามารถกำหนดให้มีขั้นตอนของการให้ความเห็นใน ข้อเสนอทางวิชาการ ของคณะนักวิชาการ โดยสมาชิกรัฐสภาก่อนก็ได้ โดยจัดให้มีการประชุมร่วมของรัฐสภาเพื่อแสดงความคิดเห็น จากนั้นก็นำเอาประเด็นข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะที่ได้จากรัฐสภามาเสนอไว้เป็นข้อสังเกตแนบท้าย ข้อเสนอทางวิชาการ
ถ้ารัฐบาลเห็นด้วยกับแนวทางที่ผมเสนอข้างต้น ก็มาถึงจุดสุดท้ายที่จะต้องพิจารณาคือ ใครคือ คณะนักวิชาการ ที่จะเข้ามาทำ ข้อเสนอทางวิชาการ ?
ในบ้านเรา มีนักวิชาการอยู่มากมายที่มีความรู้ความสามารถ ในอดีต สมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ก็เคยให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาไปทำข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 มาแล้ว แต่ตอนนั้นผมเข้าใจว่า มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ต่างคนก็ต่างทำเลยไม่เกิดผลในทางปฏิบัติและพอมีการรัฐประหารทุกอย่างก็จบสิ้นลง
หากจะให้ผมเสนอ ผมคิดว่าเรื่องนี้ควรทำโดยหลายสถาบันหรือหลายองค์กรทางวิชาการเพื่อนำผลที่ได้มาเปรียบเทียบกัน โดยผมเห็นว่า สภาวิจัยแห่งชาติและสถาบันพระปกเกล้า น่าจะเป็น สถาบัน ที่เหมาะสมที่สุดที่จะทำการศึกษาเพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ แต่ถ้าจะเอาให้สุดขั้วกันไปเลย ก็อาจจะขอให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (TDRI) เป็นผู้ทำเพิ่มขึ้นอีก 1 รายก็ได้ ส่วนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยนั้น ผมคิดว่า คงยากที่จะเข้ามาร่วมในการหาทางออกให้กับประเทศด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในฐานะที่เป็นผู้มีประสบการณ์มาแล้ว เนื่องจากผมเคยเสนอขอทุนสนับสนุนการทำวิจัยเมื่อต้นปี พ.ศ. 2554 เพื่อทำการวิจัย เรื่อง รูปแบบขององค์กรในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญและร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย แต่ต่อมา ผมก็ได้รับคำตอบปฏิเสธเป็นหนังสือไม่ให้ทำงานวิจัยเรื่องดังกล่าวโดยมีเหตุผลว่า ยังไม่สามารถจัดสรรทุนวิจัยให้ได้ ดังนั้น ในเมื่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยไม่ให้ความสำคัญกับการศึกษาวิจัยเรื่องรัฐธรรมนูญ ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปรบกวนใด ๆ ทั้งสิ้น ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของสภาวิจัยแห่งชาติ สถาบันพระปกเกล้าและสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศจะเหมาะสมกว่า นอกจากนี้ หากจะให้สถาบันหรือองค์กรมากกว่า 1 แห่งเป็นผู้ทำการศึกษาที่กล่าวแล้วข้างต้น ก็ควรให้เป็นหน้าที่ของสภาร่างรัฐธรรมนูญที่จะตั้งขึ้นมาเป็นผู้ เลือก ว่าจะนำเรื่องใดจาก ข้อเสนอทางวิชาการ ของสถาบันหรือองค์กรใดมาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญครับ
รัฐบาลควรให้งบประมาณสนับสนุนการจัดทำข้อเสนอทางวิชาการของ คณะนักวิชาการ ในจำนวนที่มากพอสมควร เพื่อที่จะได้ ระดม ผู้เชี่ยวชาญจากทุกสาขามาร่วมกันศึกษาวิเคราะห์เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์ที่สุดให้กับประเทศไทยต่อไปครับ
ข้อเสนอ ข้อเสนอทางวิชาการ ซึ่งเป็น ผลงานของคณะนักวิชาการ จะเป็นสิ่งที่ทั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญและประชาชนนำไปประกอบการตัดสินใจว่า ควรจะแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ อย่างไร และโดยวิธีใด
รัฐบาลไม่จำเป็นต้องตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาทำเองให้เปลืองตัวเพราะไม่ว่าจะตั้งใครมาก็ไม่สามารถพ้นข้อครหาไปได้ครับ !!!
การแก้รัฐธรรมนูญที่ปลอดภัยที่สุดจึงน่าจะมีเพียงวิธีการเดียวเท่านั้นครับ !!! ...
คงไม่มีอะไรที่ผมจะต้องเขียนเพิ่มเติมอีกแล้ว ผมเห็นว่าบางส่วนของข้อเสนอข้างต้นยังคงความชัดเจน สามารถนำมาใช้งานได้และน่าจะดีกว่าข้อเสนอของเลขาธิการพรรคเพื่อไทยที่จะให้สถาบันการศึกษาคือ คณะนิติศาสตร์ประมาณ 3-4 สถาบัน มาช่วยหาคำตอบว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญควรทำอย่างไร เพราะหาไม่แล้ว หากดำเนินการตามข้อเสนอของเลขาธิการพรรคเพื่อไทย การกระทำดังกล่าวก็อาจซ้ำรอยเดิมกับที่เกิดขึ้นมาแล้วในสมัย พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร ที่ผมได้เล่าให้ฟังไปแล้วข้างต้นก็คือ ไม่สำเร็จ ซึ่งถึงตอนนั้นสังคมก็คงเกิดความเคลือบแคลงสงสัยได้ว่า รัฐบาลจริงใจมากน้อยแค่ไหนกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะเดินหน้าต่อไปด้วย วิธีการอื่น สุดแล้วแต่จะหารูปแบบและวิธีการแปลกๆ มานำเสนอ หรือว่ารัฐบาลจะ ถอย เลิกคิดที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเหมือนเลิกคิดที่จะทำหลายๆ เรื่องที่เคยเสนอมาแล้วก่อนหน้านี้
หรือว่า ใจจริงแล้วรัฐบาลตั้งใจที่จะ ถอย ในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว แต่ก็ "ไม่กล้า" และต้องการรักษา ฐานเสียง บางส่วนเอาไว้ จึงพยายามสรรหารูปแบบและวิธีการต่างๆ มาใช้กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อ ซื้อเวลา ให้ผ่านไปวันๆก็ไม่ทราบได้ครับ
รับมาตรงๆ เลยดีกว่าว่า เลิกคิดที่จะแก้รัฐธรรมนูญ แล้วครับ !!!
แต่ต้องบอกเหตุผลมาด้วยนะครับว่า เพราะอะไร !!!
ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอ 4 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความภาษาฝรั่งเศสของคุณ Jacques Serba อาจารย์ และนักวิจัยของสถาบัน Institut de Relations Internationale s et Stratégiques (IRIS) แห่งประเทศฝรั่งเศส ที่เขียนเรื่อง "La LOLF n''a pas rendu les associations - les ONG - plus dépendantes de l''Etat, mais plus transparentes dans leurs relations avec l''Etat" บทความที่สองเป็นบทความของ ดร. ปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์ พนักงานคดีปกครองชำนาญการ สำนักวิจัยและวิชาการ สำนักงานศาลปกครอง ที่เขียนเรื่อง "คดีพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดของรัฐ : ควรเป็นอำนาจของศาลใด? " และบทความที่สามเป็นบทความตอนที่สองของ คุณธีรพัฒน์ อังศุชวาล นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง "รัฐไทยกับการจัดทำกฎหมายทรัพยากรน้ำ : บทสะท้อนการมีส่วนร่วมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญปี 2540 (ตอนที่ 2)" และบทความที่สี่ เป็นบทความเรื่อง "ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับนโยบายและกลยุทธ์ในการจัดให้มี ปรับปรุงแก้ไข หรือยกเลิกกฎหมายเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" ที่เขียนโดย คุณปกรณ์ นิลประพันธ์ กรรมการร่างกฎหมายประจำ (นักกฎหมายกฤษฎีกาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสี่บทความด้วยครับ
พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 28 มกราคม 2556 ครับ
ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1814
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 13:46 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|