คดีพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดของรัฐ : ควรเป็นอำนาจของศาลใด?

13 มกราคม 2556 21:14 น.

       การหยิบยกประเด็นอำนาจของศาลในการพิจารณาพิพากษาคดีใดย่อมมีความเกี่ยวข้องกับการแบ่งประเภทคดีของศาลไม่มากก็น้อย ในทางตำรากฎหมายปกครองพบว่ามีการแบ่งกลุ่มคดีอันเกี่ยวเนื่องกับการพิจารณาประเด็นอำนาจศาลออกเป็น ๓ กลุ่มด้วยกัน กล่าวคือ คดีเกี่ยวกับคำสั่งของฝ่ายปกครอง คดีเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และประการสุดท้าย คือ คดีเกี่ยวกับความรับผิดของรัฐ
       บทความฉบับนี้เป็นการศึกษาอำนาจของศาลในประเทศต่างๆ ในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับความรับผิดของรัฐ  โดยจะใช้คำว่า “ความรับผิดของรัฐ” อันถือเป็นศัพท์ที่มีความหมายกว้างกว่า “ความรับผิดละเมิด” ซึ่งในบางประเทศถือว่าเป็นการรับผิดตามกฎหมายแพ่งเท่านั้น  ยิ่งไปกว่านั้น บทความฉบับนี้ได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบอำนาจของศาลในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับความรับผิดของรัฐในประเทศต่างๆโดยถือประเทศฝรั่งเศสเป็นหลักโดยมีแหล่งข้อมูลค้นคว้าจากเอกสารตำราในภาษาฝรั่งเศสเป็นสำคัญ
       บทความฉบับนี้มีความประสงค์เพียงการนำเสนอระบบศาลของประเทศต่างๆในยุโรปที่มีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับความรับผิด  โดยการเขียนบทความฉบับนี้นี้มีเหตุผลเบื้องหลังจากคำถามของนิสิต/นักศึกษาระดับปริญญาโทเพื่อให้ผู้เขียนอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของรัฐ บ้าง กรณีละเมิดที่รัฐต้องรับผิด บ้าง จากการสอบถามพบว่านิสิต/นักศึกษายังไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของรัฐอย่างถ่องแท้ซึ่งมีสาเหตุมาจากการขาดไปซึ่งเอกสารทางวิชาการที่ตอบคำถามในประเด็นดังกล่าว เหตุผลเบื้องหลังดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้เขียนหยิบยกคำถามว่าด้วยอำนาจศาลในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับความรับผิดของรัฐเป็นประเด็นในการศึกษาค้นคว้าในบทความฉบับนี้  อนึ่ง บทความนี้มีเนื้อหาสาระที่เกี่ยวข้องกับการจัดระบบศาลในประเทศต่างๆ และนิยามของ “ความรับผิด” ที่แตกต่างกันไปตามกฎหมายของแต่ละประเทศ ซึ่งหากผู้อ่านมีความรู้พื้นฐานในเรื่องดังกล่าวอยู่บ้างย่อมจะช่วยเสริมให้สามารถทำความเข้าใจบทความฉบับนี้ได้ดียิ่งขึ้น  อย่างไรก็ดี ผู้เขียนได้ทำการค้นคว้าเกี่ยวกับการจัดระบบศาลในประเทศต่างๆไว้ในเชิงอรรถตามสมควรแล้ว สำหรับนิยามของ“ความรับผิด” ที่แตกต่างกันไปตามกฎหมายของแต่ละประเทศ นั้น ผู้เขียนจะดำเนินการค้นคว้าเป็นเวลาถัดไป
                                       ทฤษฎีว่าด้วยความรับผิดของรัฐเป็นทฤษฎีที่มีวิวัฒนาการที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือ เริ่มจากแนวความคิดในช่วงศตวรรษที่ ๑๙ ว่ารัฐไม่ต้องรับผิด  ในเวลาต่อมาพบว่าแนวคิดที่รัฐไม่ต้องรับผิดนี้ได้มีข้อยกเว้นหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่การใช้อำนาจของรัฐนั้นมีผลกระทบต่อทรัพย์สินของเอกชน ซึ่งเป็นข้อยกเว้นประการแรกที่ฝ่ายปกครองจะต้องรับผิดต่อเอกชนอันเนื่องมาจากความเสียหายนั้น
       ผลจึงเป็นว่าในเวลาต่อมามีข้อยกเว้นในกรณีการรับผิดของรัฐในกรณีต่างๆ เพิ่มขึ้นมาอีกมากมาย จนกระทั่งกลายเป็นว่าในกลางศตวรรษที่ ๒๐ ทฤษฎีความรับผิดของรัฐได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่ถือว่ารัฐไม่ต้องรับผิดมาเป็นแนวความคิดว่าด้วยความรับผิดของรัฐ ดังที่ปรากฏในมาตรา ๒๘ แห่งรัฐธรรมนูญอิตาลี ค.ศ. ๑๙๔๗ มาตรา ๓๔ แห่งรัฐธรรมนูญเยอรมัน ค.ศ. ๑๙๔๙ มาตรา ๒๒ แห่งรัฐธรรมนูญโปรตุเกส ค.ศ. ๑๙๗๖ มาตรา ๙ มาตรา ๑๐๖ และมาตรา ๑๔๙ แห่งรัฐธรรมนูญสเปน ค.ศ. ๑๙๗๘  ปัจจุบันถือว่าแนวความคิดว่าด้วยการรับผิดของรัฐเป็นหลักที่สำคัญของแนวคิดเรื่องนิติรัฐ (l’Etat de droit)
                                       อาจกล่าวได้ว่าแนวความคิดว่าด้วยความรับผิดของรัฐมีเหตุผลสนับสนุน ๒ ประการ กล่าวคือ ประการแรก ถือว่าความรับผิดของรัฐเป็นแนวความคิดที่ถ่ายโอนมาจากความรับผิดตามกฎหมายแพ่ง   ทั้งนี้ การหยิบยกกฎหมายแพ่งมาอ้างอิงนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญเนื่องจากประเทศในยุโรปบางประเทศไม่มีกฎหมายปกครองที่มีความเป็นเอกเทศ แต่กลับใช้กฎหมายแพ่งในการพิจารณาการกระทำใดๆ ของฝ่ายปกครองแทน  อย่างไรก็ดี การนำกฎหมายแพ่งมาปรับใช้กับเรื่องความรับผิดของฝ่ายปกครองยังคงปรากฏและมีผลจนถึงปัจจุบันด้วยเหตุผลว่า ความรับผิดของรัฐหรือความรับผิดของเอกชนย่อมมีพื้นฐานแนวคิดในเรื่องเดียวกันนั่นเอง เหตุผลประการแรกนี้ทำให้มีการยอมรับว่าการกระทำของรัฐอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนได้ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะเกิดขึ้นโดยอุบัติเหตุหรือเกิดจากการละเมิดหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด
                                       เหตุผลประการที่สองที่เป็นการสนับสนุนความคิดว่าด้วยความรับผิดของรัฐ คือ เหตุผลว่าด้วยการคุ้มครองประโยชน์ของเอกชนและความเท่าเทียมกันของประชาชนในการรับภาระสาธารณะ เหตุผลประการนี้มีพัฒนาการมาจากการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี ค.ศ. ๑๗๘๙ และได้แพร่หลายไปในยุโรปในเวลาต่อมา เหตุผลประการเดียวกันนี้เองที่ส่งผลให้รัฐจะต้องรับผิดหากการกระทำการใดๆของรัฐเพื่อประโยชน์สาธารณะ (l’intérêt général) ส่งผลทำให้เอกชนเสียหายเกินปกติ ซึ่งเหตุผลประการที่สองนี้ส่งผลให้จะต้องมีการเยียวยาความเสียหายที่เกิดกับทรัพย์สินของเอกชน  อนึ่ง เหตุผลประการนี้ไม่ได้เป็นแนวความคิดที่สามารถหยิบยกมาปรับใช้กับความเสียหายที่เกิดกับทรัพย์สินของเอกชนในทุกกรณี ทั้งนี้ เนื่องมาจากสาเหตุที่ว่าการชดใช้ความเสียหายที่เกิดกับทรัพย์สินของเอกชนนั้นต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์เคร่งครัดตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น[๑]
                                       การศึกษาอำนาจศาลในการพิจารณาพิพากษาความรับผิดของรัฐตามบทความฉบับนี้จะเป็นเพียงการศึกษาเขตอำนาจของรัฐในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับความรับผิดเท่านั้น แต่จะไม่ศึกษาไปถึงความรับผิดส่วนตัวของเจ้าหน้าที่ของรัฐ  ยิ่งไปกว่านั้น บทความนี้จะทำการศึกษาโดยเน้นไปในเชิงตอบคำถามว่าการพิจารณาพิพากษาคดีว่าด้วยความรับผิดของรัฐในประเทศต่างๆในยุโรปนั้นอยู่ภายใต้อำนาจของศาลใด  ทั้งนี้ เนื่องมาจากสาเหตุที่ว่าการศึกษาในประเด็นดังกล่าวนั้นถือเป็นเรื่องที่มีความพิเศษแยกไปจากเรื่องอื่นในกฎหมายมหาชนโดยหลักการดังกล่าวนี้พบในกฎหมายของประเทศทุกประเทศแม้ว่าประเทศนั้นจะอยู่ในระบบกฎหมาย common law ก็ตาม  อย่างไรก็ดี พบว่าโดยทั่วไปความรับผิดของฝ่ายปกครองเป็นหลักที่ได้รับการพัฒนามาจากแนวคำพิพากษาของศาล ดังเช่นที่ปรากฏในทฤษฎีกฎหมายปกครองของประเทศฝรั่งเศส[๒]เป็นสำคัญ
       อาจกล่าวได้ว่าการตอบคำถามว่าศาลใดควรเป็นศาลที่มีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับความรับผิดของรัฐย่อมเกี่ยวข้องกับการแบ่งระบบศาลและการแบ่งประเภทตามกฎหมายภายในของประเทศนั้นๆไม่มากก็น้อย บทความนี้จึงแบ่งเค้าโครงการศึกษาออกเป็น ๓ ส่วนโดยแบ่งตามอำนาจในการพิจารณาพิพากษาของศาลในคดีเกี่ยวกับความรับผิดของรัฐ  กล่าวคือ (ก) ประเทศที่ศาลปกครองเป็นศาลที่มีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับความรับผิดของรัฐ (ข) ประเทศที่ศาลยุติธรรมเป็นศาลที่มีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับความรับผิดของรัฐ และ (ค) ประเทศที่ทั้งศาลปกครองและศาลยุติธรรมเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับความรับผิดของรัฐ โดยมีรายละเอียด ดังนี้                    
       (ก) ประเทศที่ศาลปกครองเป็นศาลที่มีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับความรับผิดของรัฐ
                                       แนวคิดดังกล่าวปรากฏในช่วงศตวรรษที่ ๑๙ โดยมีประเทศฝรั่งเศสเป็นต้นแบบและมีสภาแห่งรัฐฝรั่งเศสเป็นองค์กรที่วางหลักในเรื่องแนวคิดนี้โดยเริ่มจากแนวความคิดว่าด้วยการปราศจากความรับผิดของรัฐ (l’irresponsabilité de l’Etat) ต่อมาจึงพัฒนาแนวความคิดดังกล่าวเป็นกลุ่มกฎหมายพิเศษ ซึ่งก็คือกฎหมายว่าด้วยความรับผิดซึ่งวางหลักให้ศาลปกครองมีอำนาจอย่างกว้างขวางในการพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวโดยมีข้อยกเว้นเพียง ๒ ประการด้วยกัน คือ กรณีความเสียหายที่เกิดจากยานพาหนะและความเสียหายที่เกิดกับนักเรียนประถม (l’élève) แม้ว่าจะเป็นโรงเรียนประถมศึกษาของรัฐก็ตาม เงื่อนไขในการฟ้องให้รัฐเป็นฝ่ายเยียวยาความเสียหายมีเพียงว่า ผู้เสียหายจะต้องดำเนินการการร้องเรียนต่อฝ่ายปกครองเพื่อให้ฝ่ายปกครองมีคำตัดสินภายในฝ่ายปกครอง (la théorie de la décision préalable) ก่อนนำมาฟ้องเป็นคดีต่อศาล
                                       มีการนำแนวความคิดของประเทศฝรั่งเศสมาใช้ในประเทศต่างๆ คือ ประเทศสเปน ประเทศโปรตุเกส และประเทศกรีซ กล่าวคือ
                                       ประเทศสเปน[๓] นั้น พบว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวปรากฏในพระราชบัญญัติ ลงวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๙๒ ว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและการพิจารณาคดีปกครองทั่วไป[๔]  (มาตรา ๑๓๙ ถึงมาตรา ๑๔๔) และพระราชกฤษฎีกา (le décret royal) ลงวันที่ ๒๖ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๙๙ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของฝ่ายปกครองในคดีเกี่ยวกับความรับผิด[๕] กฎเกณฑ์ทางกฎหมายทั้งสองฉบับนี้ยึดถือตามแนวทางเดิมที่ใช้ในประเทศสเปนนับตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๕๐ โดยวางหลักไว้ว่า การฟ้องเพื่อให้ฝ่ายปกครองเยียวยาความเสียหายที่ตนได้รับนั้นจะต้องดำเนินการฟ้องต่อฝ่ายปกครองผู้เป็นผู้กระทำผิดภายในหนึ่งปีนับแต่การกระทำความเสียหายนั้นเกิดขึ้น  วิธีพิจารณาคดีในกรณีดังกล่าวได้ถูกบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๔๒ และมาตรา ๑๔๓ ของกฎหมายฉบับปี ค.ศ. ๑๙๙๒ กล่าวคือ ฝ่ายปกครองจะต้องเสนอข้อหารือไปยังสภาแห่งรัฐซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่เพียงที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาลหากพบว่าความรับผิดที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความรับผิดของรัฐ (มาตรา ๒๒ แห่งรัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ฉบับ ๓/๑๙๘๐ ลงวันที่ ๒๒ เมษายน ค.ศ. ๑๙๘๐) หรือการเสนอข้อหารือดังกล่าวไปยังสภาที่ปรึกษาอิสระ (une Communauté autonome) แต่หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้กระทำละเมิดแล้วไม่จำเป็นต้องขอความเห็นจากองค์กรใดๆ เป็นการล่วงหน้า ซึ่งองค์กรผู้ขอหารือนี้จะต้องมีการพิจารณาและทำความเห็นตอบภายในระยะเวลา ๖ เดือน รูปแบบการระงับข้อพิพาทระหว่างผู้เสียหายกับรัฐหรือหน่วยงานทางปกครองผู้กระทำละเมิดอาจเป็นรูปแบบของข้อตกลงระหว่างผู้เสียหายและฝ่ายปกครองตามความในมาตรา ๘๘ แห่งรัฐบัญญัติ ๓๐/๙๒ ว่าด้วยกฎเกณฑ์ของฝ่ายปกครองและวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (la loi sur le régime juridique des administrations et de la procédure administrative) ข้อตกลงดังกล่าวมาสถานะทางกฎหมายเป็นสัญญาทางกฎหมายมหาชน (un contrat de droit public) หรือสัญญาตกลงทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้น (un contrat de substitution) หากการบังคับตามสัญญาดังกล่าวมีข้อพิพาทแล้ว ศาลปกครองย่อมเป็นศาลที่มีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาข้อพิพาทดังกล่าวรวมทั้งการพิจารณาพิพากษาในกรณีที่ฝ่ายปกครองไม่ดำเนินการใดๆ (le silence de l’administration) เพื่อเป็นการเยียวยาความเสียหายดังกล่าวด้วย
                                       ประเทศโปรตุเกส[๖] นั้น ศาลที่มีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับความรับผิดของรัฐคือ ศาลปกครอง ทั้งนี้ ตามมาตรา ๔ แห่งรัฐบัญญัติ ๑๓/๒๐๐๒ ลงวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๒๐๐๒ ว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและภาษี (la loi portant statut des tribunaux administratifs et fiscaux) ซึ่งการดำเนินการเพื่อให้รัฐต้องรับผิดอันเนื่องมาจากการกระทำดังกล่าวเป็นไปตามกระบวนการปกติ[๗] ทั้งนี้ ตามมาตรา ๓๗ แห่งประมวลกฎหมายว่าด้วยศาลปกครอง (le Code des juridictions administratives) ลงวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๒๐๐๒
                                       ประเทศกรีซ[๘] นั้น รัฐธรรมนูญลงวันที่ ๙ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๙๕ ได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจของศาลปกครองในการพิจารณาพิพากษาความรับผิดอันเนื่องมาจากการที่ฝ่ายปกครองเป็นผู้กระทำผิด ดังที่ปรากฏในมาตรา ๙๔  ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบัญญัติ ๑๔๐๖/๑๙๘๓ ลงวันที่ ๑๑ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๘๕ ได้บัญญัติเกี่ยวกับอำนาจของศาลปกครองในการพิจารณาพิพากษาคดีประเภทดังกล่าวซึ่งเดิมเป็นอำนาจของศาลแพ่ง ยกเว้นในกรณีที่ฝ่ายปกครองดำเนินกิจกรรมนั้นภายใต้กฎหมายเอกชน เช่น การจัดการอสังหาริมทรัพย์ของเอกชน (le patrimoine privé) เท่านั้นที่ยังอยู่ภายใต้อำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม[๙]
                                      
       (ข) ประเทศที่ศาลยุติธรรมเป็นศาลที่มีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับความรับผิดของรัฐ 
                                       มีหลายประเทศในยุโรปที่ให้ศาลยุติธรรมเป็นศาลที่มีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาความรับผิดของรัฐ แม้ว่าประเทศเหล่านั้นจะอยู่ภายใต้กฎหมายมหาชนว่าด้วยความรับผิดของรัฐก็ตาม   ทั้งนี้ ประเทศที่ถือว่าเป็นต้นแบบในเรื่องของอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลในลักษณะดังกล่าว คือ สหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์ ที่ให้อำนาจศาลสูงสุด (les juridictions civils supérieurs) ในการพิจารณาพิพากษาความเสียหายที่เกิดจากการกระทำของฝ่ายปกครอง
                                       นอกจากนั้น พบว่าประเทศบางประเทศที่อยู่ในกลุ่มกฎหมายโรมันให้อำนาจศาลแพ่งในการพิจารณาพิพากษาคดีว่าด้วยความรับผิดของรัฐด้วย  ทั้งนี้ เนื่องมาจากเหตุผลที่ว่าประเทศต่างๆเหล่านั้นยึดถือแนวคิดที่ว่าฝ่ายปกครองไม่ควรเป็นผู้รับผิดยกเว้นกรณีที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของฝ่ายปกครองเท่านั้น[๑๐] ลักษณะดังกล่าวปรากฏในประเทศออสเตรีย[๑๑] ตามความในรัฐบัญญัติ ลงวันที่ ๑๘ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๘ ว่าด้วยความรับผิดของนิติบุคคลทางกฎหมายมหาชนอันเนื่องมาจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการบังคับตามกฎหมาย (la responsabilité des personnes de droit public pour les dommages causés lors de l’exécution de la loi) การพิจารณาพิพากษาความรับผิดในกรณีดังกล่าวนี้ถือตามหลักเกณฑ์ในกฎหมายแพ่ง และมีขั้นตอนในการเรียกร้องความเสียหายโดยเริ่มจากการที่ผู้เสียหายจะต้องยื่นร้องเรียนต่อฝ่ายปกครองเสียก่อน แล้วต่อมาจึงเป็นอำนาจในการพิจารณาพิพากษาของศาลแพ่งชั้นต้น (le tribunal civil de première instance)
                                       ลักษณะดังกล่าวยังเป็นไปในทำนองเดียวกันในประเทศเยอรมนี[๑๒] ซึ่งมีระบบศาลคู่และมีการพิจารณาพิพากษาความรับผิดโดยใช้หลักเกณฑ์ทางกฎหมายมหาชน ทั้งนี้ มาตรา ๓๔ แห่งรัฐบัญญัติกฎหมายพื้นฐาน (la loi Fondamentale) ได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนถึงอำนาจของศาลยุติธรรมในการพิจารณาพิพากษาคดีประเภทที่มีลักษณะของ “กรณีที่บุคคลใดได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากการดำเนินการของฝ่ายปกครองที่บุคคลนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องได้กระทำละเมิดต่อหน้าที่ที่ฝ่ายปกครองจะต้องมีต่อบุคคลภายนอก”[๑๓] ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้เป็นกรณีที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (la collectivité locale) จะต้องเป็นผู้รับผิดในกรณีนั้น สำหรับความรับผิดอันเนื่องมาจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ (le fonctionnaire) ซึ่งอยู่ภายใต้สังกัดขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น  กรณีดังกล่าวเป็นไปตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและจะต้องนำหลักเกณฑ์ทางแพ่งมาใช้ในการพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าว บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งในเรื่องดังกล่าวนี้ถือเป็นกรณีเฉพาะที่ประมวลกฎหมายแพ่งได้บัญญัติหลักการเกี่ยวกับอำนาจมหาชน (la puissance publique) ซึ่งเป็นเรื่องทางกฎหมายมหาชน อย่างไรก็ดี หลักการดังกล่าวนี้เป็นหลักการที่เปลี่ยนแปลงภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐ (la Cour constitutionnelle fédérale) มีคำพิพากษาที่วางหลักเน้นย้ำลักษณะทางกฎหมายมหาชนของความรับผิดและพิพากษาว่าตนไม่มีอำนาจในการพิจารณาพิพากษารัฐบัญญัติของมลรัฐ (la loi fédérale) ที่มีเนื้อหาสาระเปลี่ยนแปลงหลักในเรื่องความรับผิดของรัฐ (Staatshaftungsgesetz)  ดังนั้น หากสหพันธรัฐมีอำนาจทางกฎหมายให้มีอำนาจในการพิจารณาคดีแพ่งแล้ว สหพันธรัฐย่อมมีอำนาจจำกัด (une compétence législative restreinte) ในการพิจารณาคดีปกครอง  คำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐมีผลทำให้มีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์เรื่องอำนาจในการพิจารณาพิพากษาในประเด็นความรับผิดของรัฐ โดยกำหนดให้อำนาจดังกล่าวเป็นอำนาจของสหพันธรัฐ ทั้งนี้ ตามมาตรา ๗๒ อันเป็นผลมาจากการรัฐบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ลงวันที่ ๒๗ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๙๔ อย่างไรก็ดีบทบัญญัติดังกล่าวยังไม่เคยถูกนำมาปรับใช้จนถึงปัจจุบัน
       ค) ประเทศที่ทั้งศาลปกครองและศาลยุติธรรมเป็นศาลที่มีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับความรับผิดของรัฐ 
                                       ประเทศกลุ่มที่มีระบบการพิจารณาคดีความรับผิดของรัฐในลักษณะดังกล่าว คือ ประเทศเบลเยียม ประเทศอิตาลี และประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับความรับผิดของรัฐเป็นอำนาจของทั้งศาลแพ่งและศาลปกครองในรูปแบบที่ค่อนข้างซับซ้อนแต่มีความสมดุล กล่าวคือ เดิมนั้นศาลแพ่งเป็นเพียงศาลเดียวที่มีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีความรับผิดของรัฐ ซึ่งต่อมามีการจำกัดอำนาจของศาลแพ่งในการพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวทีละเล็กทีละน้อย แต่ศาลแพ่งก็ยังคงแทบจะมีอำนาจเต็ม (quasi-totalité) ในการพิจารณาพิพากษาคดีประเภทดังกล่าว
                                       ประเทศเบลเยียม[๑๔] นั้น เดิมรัฐธรรมนูญ ค.ศ. ๑๘๓๑ วางหลักให้ศาลแพ่งมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีพิพาททุกประเภทรวมทั้งคดีเกี่ยวกับการเมือง ดังนั้น ศาลแพ่งจึงมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการเยียวยาความเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำของรัฐด้วย ศาลสูงสุด (la Cour de cassation) ของเบลเยียมมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการขัดกันของอำนาจระหว่างศาลแพ่งและสภาแห่งรัฐ ได้ขยายหลักว่าด้วยเขตอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับความรับผิดของรัฐไว้ในคำพิพากษาคดี La Flandria ลงวันที่ ๕ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๒๐ โดยให้นิยามเกี่ยวกับความรับผิดของรัฐไว้ว่าหมายความรวมถึงกรณีที่เป็นความรับผิดทางแพ่งของรัฐอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครอง (la responsabilité civile d’Etat aux activités de puissance publique) และคำพิพากษาลงวันที่ ๗ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๖๓ ว่าด้วยนิยามของ “ความผิด” ที่เกิดจากคำสั่งทางปกครองกรณีพิเศษ (la notion de faute aux décisions administratives irrégulières)
                                       ต่อมาเมื่อมีการก่อตั้งสภาแห่งรัฐในปี ค.ศ. ๑๙๔๖ ซึ่งเป็นสถาบันที่มีอำนาจในการให้คำแนะนำแก่ฝ่ายปกครองควบคู่ไปกับการตัดสินคดีปกครอง สภาแห่งรัฐจึงมีอำนาจในให้คำแนะนำเกี่ยวกับ “คำขอในประเด็นการเยียวยาความเสียหายอันเนื่องมาจากความเสียหายกรณีพิเศษ ความเสียหายทางจิตใจหรือความเสียหายทางด้านร่างกายที่เกิดจากฝ่ายปกครอง”[๑๕] ต่อมาพระราชบัญญัติ ลงวันที่ ๓ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๗๑ ได้ถ่ายโอนอำนาจดังกล่าวมาเป็นอำนาจของสภาแห่งรัฐในส่วนที่เป็นการตัดสินคดีปกครอง (กล่าวคือ มาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติเกี่ยวกับองค์กรของสภาแห่งรัฐ[๑๖]) อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติพบว่าคดีปกครองเกี่ยวกับการเยียวยาความเสียหายกรณีพิเศษนี้ไม่มีการพัฒนามากนัก
                                       ประเทศอิตาลี[๑๗] นั้น มีลักษณะเช่นเดียวกับประเทศเบลเยียม กล่าวคือ อำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับความรับผิดเป็นอำนาจของศาลแพ่งแต่เพียงผู้เดียว ทั้งนี้ ตามความในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรอิตาลี ค.ศ. ๑๙๔๘ ที่กำหนดให้ศาลแพ่งมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีพิพาททางปกครองที่มีผลกระทบกับบุคคลสิทธิ (le droit subjectif) ของผู้ฟ้องคดีเท่านั้น จนกระทั่งมาถึงปลายศตวรรษที่ ๑๙ ศาลสูงสุด (la Cour de cassation) ของอิตาลีซึ่งเป็นองค์กรที่มีบทบาทในการระงับข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการขัดแย้งเรื่องอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลได้มีคำพิพากษาวางหลักว่าบุคคลธรรมดา (la personne privée) ซึ่งได้รับความเดือดร้อนเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำของฝ่ายปกครองไม่มีสิทธิฟ้องคดีเพื่อให้ฝ่ายปกครองรับผิดในกรณีดังกล่าว ยกเว้นกรณีที่ความเสียหายดังกล่าวนั้นก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลสิทธิของบุคคลนั้นในประเด็นว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สิน (le droit de propriété) หรือสิทธิในชีวิต (le droit à la vie) ซึ่งศาลที่มีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวคือศาลยุติธรรมซึ่งเป็นศาลเดียวที่มีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาการกำหนดค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำของฝ่ายปกครอง
                                       นับตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๗๐ ศาลสูงสุดได้ยอมรับการฟ้องคดีเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหายของบุคคลธรรมดาในคดีที่บุคคลสิทธิของบุคคลดังกล่าวได้รับการกระทบกระเทือนอันเนื่องมาจากการกระทำการของรัฐมากยิ่งขึ้น  ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๙๙๙ ศาลสูงสุดได้มีคำพิพากษาหมายเลข ๕๐๐/๑๙๙๙  ลงวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๙๙ วางหลักหากแม้ว่าการกระทำดังกล่าวจะกระทบเพียงประโยชน์ที่กฎหมายรับรอง (l’intérêt légitime) ก็ถือเป็นการเพียงพอแล้วที่จะเป็นเงื่อนไขที่ศาลจะรับไว้พิจารณาได้ ดังนั้น จึงอาจถือได้ว่าการฟ้องคดีเพื่อให้ฝ่ายปกครองต้องรับผิดอันเนื่องมาจากการกระทำของตนในอิตาลีนั้นจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขประการใดประการหนึ่งในสองประการ คือ ความเสียหายนั้นจะต้องเป็นความเสียหายที่เกิดกับบุคคลสิทธิของผู้ฟ้องคดี และความเสียหายนั้นมีผลกระทบกระเทือนประโยชน์ที่กฎหมายรับรอง  ยิ่งไปกว่านั้น ศาลสูงสุดยังวางหลักต่อไปอีกว่า ศาลแพ่งยังอาจดำเนินการฟ้องคดีเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้เสียหายอันได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำใดๆของฝ่ายปกครองได้อีกหากพบว่าการกระทำนั้นเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย (le caractère contraire au droit)  อย่างไรก็ดี ประมวลกฎหมายแพ่งอิตาลีได้วางหลักไว้ในมาตรา ๒๐๔๓ ในทำนองที่ว่าการกระทำผิดไม่ถือเป็นการเพียงพอที่ศาลจะกำหนดให้มีการชดใช้ความเสียหาย แต่การกระทำดังกล่าวจะต้องเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อกฎหมาย (la violation du droit) ด้วย ซึ่งหากครบตามเงื่อนไขดังกล่าวแล้วศาลอาจสั่งให้มีการยกเลิกคำสั่งทางปกครองดังกล่าวเอาไว้เป็นการล่วงหน้า (l’annulation préalable de la décision administrative) ก่อนก็ได้
                                       ตามสถิติพบว่ามีการหยิบยกบทบัญญัติของศาลแพ่งในการดำเนินการฟ้องคดีเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้เสียหายอันได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำใดๆของฝ่ายปกครองได้อีกหากพบว่าการกระทำนั้นเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย (le caractère contraire au droit) ค่อนข้างน้อย ฝ่ายนิติบัญญัติของอิตาลีจึงได้แก้ปัญหาด้วยการบัญญัติกฎหมายเพื่อให้มีการขยายการตีความในเรื่องความรับผิดของรัฐ ดังที่ปรากฏในรัฐบัญญัติเลขที่ ๒๐๕/๒๐๐๐ ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ค.ศ. ๒๐๐[๑๘]  และเป็นรัฐบัญญัติที่ศาลรัฐธรรมนูญรับรองถึงความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้วตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๒๐๕/๒๐๐๐ ลงวันที่ ๖ กรกฎาคม ค.ศ. ๒๐๐๔
                                       รัฐบัญญัติดังกล่าววางหลักเกี่ยวกับอำนาจของศาลในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับความรับผิดของรัฐไว้ว่า เป็นอำนาจของศาลปกครองในการพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวหากปรากฏว่าข้อพิพาทนั้นเป็นข้อพิพาทที่อยู่ภายในเขตอำนาจของศาลปกครองมาแต่ต้นแล้ว (dans leur domaine de compétence) รัฐบัญญัติดังกล่าวจึงมีความหมายในเชิงที่ว่า ความเสียหายนั้นจะต้องเกิดจากการกระทำของฝ่ายปกครอง ไม่ว่ากรณีดังกล่าวจะเป็นกรณีที่ศาลพบว่าการกระทำของฝ่ายปกครองนั้นเป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมาย (แม้ว่าการกระทำนั้นจะไม่ละเมิดต่อบุคคลสิทธิของผู้เสียหาย) หรือไม่ว่ากรณีดังกล่าวจะเป็นกรณีที่อยู่ภายใต้อำนาจของศาลปกครองโดยตรงตามที่กฎเกณฑ์ทางกฎหมายให้อำนาจไว้ โดยมิต้องพิจารณาว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายของฝ่ายปกครองหรือเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อบุคคลสิทธิของผู้เสียหายหรือไม่
                                       ตุลาการศาลปกครองได้ตีความถ้อยคำตามรัฐบัญญัติดังกล่าวอย่างเคร่งครัดว่าศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาเพียงความเสียหายอันเนื่องมาจากคำสั่งทางปกครองซึ่งศาลปกครองเป็นผู้สั่งให้เพิกถอน[๑๙] (une décision administrative qu’il vient d’annuler) เท่านั้น ซึ่งการเยียวยาความเสียหายดังกล่าวมีได้หลายกรณี เช่น การกระทำการใดๆที่มีผลเป็นการทดแทนความเสียหายดังกล่าว (เช่น การออกคำสั่งทางปกครองฉบับใหม่มาทดแทนคำสั่งทางปกครองที่ถูกเพิกถอนแล้ว) หรือการกำหนดค่าสินไหมทดแทนเป็นตัวเงิน  จึงอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่ากฎหมายอิตาลีมีวิวัฒนาการในเรื่องการเยียวยาความเสียหายจากเดิมที่เป็นอำนาจในการพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมมาเป็นอำนาจในการพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองอย่างสมบูรณ์
                                       ประเทศเนเธอร์แลนด์[๒๐] นั้น หลักทั่วไปถือว่าศาลแพ่งเป็นเพียงศาลเดียวที่มีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับความเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำของฝ่ายปกครอง ไม่ว่าการกระทำดังกล่าวจะเป็นการกระทำของฝ่ายปกครองอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองโดยแท้ หรือเป็นการกระทำของฝ่ายปกครองในสถานะเอกชน ดังที่ปรากฏในมาตรา ๖:๑๖๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งเนเธอร์แลนด์
                                       แต่หากความเสียหายดังกล่าวนั้นเป็นความเสียหายที่เกิดจากการตัดสินใจของฝ่ายปกครอง (la décision administrative) แล้ว ถือว่าศาลปกครองเป็นศาลเดียวที่มีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าว ทั้งนี้ ตามบทบัญญัติมาตรา ๘:๗๓ แห่งรัฐบัญญัติทั่วไปว่าด้วยกฎหมายปกครอง (la loi générale sur le droit administratif) ซึ่งให้อำนาจศาลปกครองในการพิจารณาพิพากษาเพื่อกำหนดค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการตัดสินใจของฝ่ายปกครอง  อย่างไรก็ดี ผู้เสียหายอันเนื่องมาจากการตัดสินใจของฝ่ายปกครองย่อมมีสิทธิในการเรียกร้องต่อฝ่ายปกครองเพื่อให้เป็นผู้รับผิดในกรณีดังกล่าวได้เสมอ ซึ่งหากฝ่ายปกครองมีการดำเนินการอย่างไรแล้ว ผู้เสียหายย่อมนำการดำเนินการของฝ่ายปกครองในครั้งหลังนี้มาฟ้องคดีต่อศาลได้อีก ทั้งนี้ เนื่องมาจากเหตุผลว่าการดำเนินการดังกล่าวของฝ่ายปกครองย่อมถือเป็น “การตัดสินใจของฝ่ายปกครอง” อันอยู่ภายใต้อำนาจในการพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองนั่นเอง  ดังนั้น ศาลปกครองเนเธอร์แลนด์จึงมีอำนาจในการเพิกถอนการกระทำของฝ่ายปกครองรวมทั้งพิพากษาให้คำพิพากษาของตนมีผลแทนที่คำสั่งทางปกครองนั้นหรือมีผลอย่างใดๆให้ฝ่ายปกครองดำเนินการก็ได้
       บทสรุป
       อำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับความรับผิดของรัฐของประเทศต่างๆ มีความแตกต่างกันตามระบบกฎหมายของประเทศนั้นซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจในการพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองหรือศาลยุติธรรมแล้วแต่กรณี  ซึ่งในแต่ละประเทศก็มีวิวัฒนาการทางการศาลที่ทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีประเภทดังกล่าวแตกต่างกันไปตามบริบททางประวัติศาสตร์และลักษณะของระบบกฎหมายของประเทศนั้น
       กลุ่มประเทศที่ศาลแพ่งมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีว่าด้วยความรับผิดของฝ่ายปกครองนั้น นอกเหนือไปจากเหตุผลว่าเรื่องระบบศาลเดี่ยวแล้ว ก็ยังมีเหตุผลประกอบคือเมื่อฝ่ายปกครองดำเนินการในฐานะเอกชน ฝ่ายปกครองก็ควรที่จะต้องรับผิดในฐานะเอกชนซึ่งอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายแพ่ง ดังนั้น ศาลที่ควรจะมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับความรับผิดดังกล่าวจึงควรเป็นศาลยุติธรรม แนวความคิดนี้ปรากฏในประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรปเป็นการทั่วไป ยกเว้นประเทศสเปน (ซึ่งมีระบบศาลเดี่ยว) ดังที่ปรากฏในมาตรา ๑๔๔ แห่งรัฐบัญญัติของสเปน ลงวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๙๒ ว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและการพิจารณาคดีปกครองทั่วไป ซึ่งต่อมาได้ถูกปรับปรุงแก้ไขโดยรัฐบัญญัติ ลงวันที่ ๑๓ มกราคม ค.ศ. ๑๙๙๙ วางหลักให้ศาลปกครองเป็นศาลที่มีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับความรับผิดของฝ่ายปกครองตามกฎเกณฑ์ที่รัฐบัญญัติฉบับนี้วางหลักไว้แม้ว่าการกระทำดังกล่าวของฝ่ายปกครองจะเป็นการกระทำตามกฎหมายแพ่ง หรือดังที่พบในประเทศโปรตุเกส และกรีซ ซึ่งมีระบบศาลคู่ โดยเป็นไปตามมาตรา ๔ ย่อหน้าที่ ๑ ของรัฐบัญญัติของโปรตุเกส ลงวันที่ ๑๓/๒๐๐๒ ว่าด้วยเขตอำนาจศาลปกครอง ได้บัญญัติไว้ครบถ้วนเกี่ยวกับอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีปกครองเกี่ยวกับความรับผิดของรัฐ และรัฐธรรมนูญกรีซลงวันที่ ๙ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๙๕ ซึ่งมีบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจของศาลปกครองในการพิจารณาพิพากษาความรับผิดอันเนื่องมาจากการที่ฝ่ายปกครองเป็นผู้กระทำผิด
       นอกเหนือจากประเทศสเปน โปรตุเกสและกรีซ แล้ว ประเทศฝรั่งเศสถือเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของประเทศที่ให้ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีว่าด้วยความรับผิดของรัฐและยังถือเป็นประเทศแม่แบบในการพัฒนาแนวความคิดว่าด้วยความรับผิดของรัฐในหลายๆประเด็น ที่สำคัญคือการแบ่งแยกมูลฐานของความรับผิดเป็น ๒ ประเภท คือ ความรับผิดบนพื้นฐานความผิด (la responsabilité pour faute) และความรับผิดโดยปราศจากความผิด (la responsabilité sans faute)
       การศึกษาเกี่ยวกับมูลฐานของความรับผิดทั้งสองประเภทนี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการศึกษาเกี่ยวกับความรับผิดของฝ่ายปกครอง อาจกล่าวได้ว่าการศึกษาในประเด็นดังกล่าวมีความซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง เนื่องมาจากสาเหตุที่ว่าหากนำ “ความรับผิดบนพื้นฐานความผิด” มาพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว ยังอาจแยกการรับผิดตามเหตุผลดังกล่าวออกเป็นอีก ๓ กลุ่มประเทศ กล่าวคือ กลุ่มของประเทศฝรั่งเศสและเบลเยียมที่ถือตามแนวความคิดความรับผิดบนพื้นฐานการกระทำความผิด กลุ่มของประเทศเยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกสและกรีซที่ยึดถือทฤษฎีการกระทำที่ผิดกฎหมายประกอบการกระทำความผิด (illicéité et faute)  และกลุ่มที่สาม กลุ่มของประเทศในกลุ่มสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์ซึ่งยึดถือทฤษฎีการกระทำผิดทำนองเดียวกับความรับผิดละเมิดตามกฎหมายแพ่ง (le délit civil หรือ tort) ซึ่งการศึกษาลึกซึ้งไปถึงมูลฐานของความรับผิดย่อมมีส่วนสำคัญในการทำความเข้าใจถึงเรื่องศาลที่ทำหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับความรับผิดของรัฐมากยิ่งขึ้น
       ----------------------------------------------------------------------
        
        
        
        
                                      
                      
       
       
       
       
       
       [๑] ปัจจุบันเหตุผลประการนี้ได้ถูกหยิบยกมาเป็นข้อสนับสนุนเพื่อให้รัฐต้องรับผิดโดยปราศจากความ (la responsabilité sans faute) ตามกฎหมายฝรั่งเศส
       
       
       [๒] ดังที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คดี Blanco ลงวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๗๓ คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Lemonnier ลงวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ คดี Delville ลงวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๕๑ และคำพิพากษาสภาแห่งรัฐในหลายคดีซึ่งมีผลเป็นการวางหลักในเรื่องความรับผิดของรัฐทั้งสิ้น
       
       
       [๓] ประเทศสเปนใช้ระบบศาลเดี่ยว[๓] โดยมีศาลฎีกาเป็นศาลสูงสุด รองลงมาเป็นศาลระดับประเทศ ศาลอุทธรณ์ภาคแห่งแคว้นอิสระ ศาลจังหวัด และศาลชำนัญพิเศษต่างๆ ส่วนศาลรัฐธรรมนูญและศาลตรวจเงินแผ่นดินนั้น จะแยกออกมาจากระบบศาลยุติธรรม ในส่วนขององค์กรวินิจฉัยคดีปกครองนั้น พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีปกครองในชั้นศาล ค.ศ. ๑๙๙๘  (Ley 29/1998, de 13 de julio, reguladora de la Jurisdicción Contencioso-Administrativa) ได้วางหลักเกี่ยวกับโครงสร้างขององค์กรตุลาการที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาคดีปกครองของสเปนไว้ โดยบัญญัติให้มีองค์กรวินิจฉัยคดีปกครอง จำนวน ๕ องค์กร คือ (๑) ศาลปกครองชำนัญพิเศษ (Juzgados de lo Contencioso-administrativo) (๒) ศาลปกครองกลางชำนัญพิเศษ (Juzgados Centrales de lo Contencioso-administativo) (๓) ศาลอุทธรณ์แห่งแคว้นปกครองตนเองแผนกคดีปกครอง (Salas de lo Contencioso-administrativo de los Tribunales Superiores de Justicia) (๔) ศาลอุทธรณ์แห่งชาติแผนกคดีปกครอง (Sala de lo Contencioso-administrativo de la Audiencia Nacional) และ (๕) ศาลฎีกาแผนกคดีปกครอง (Sala de lo contencioso-administrativo del Tribunal Supremo)
       
       
       [๔] « le régime juridique des administrations publiques et la procédure administrative générale »
       
       
       [๕] « la procédure suivie par l’administration en matière administrative »
       
       
       [๖] ประเทศโปรตุเกสใช้ระบบศาลคู่ ศาลยุติธรรมมี ๓ ชั้นศาล โดยแบ่งเป็นศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์และศาลชั้นต้น ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีปกครองและคดีภาษีอากร โดยประกอบด้วย ศาลปกครองสูงสุด ศาลปกครองชั้นอุทธรณ์ และศาลปกครองและภาษีอากรชั้นต้น ศาลปกครองสูงสุดมีอำนาจในการพิจารณาคดีอุทธรณ์คำพิพากษาคดีปกครอง ภาษีและศุลกากร พิจารณาความไม่ชอบด้วยกฎหมายของกฎต่างๆ พิจารณาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองและความรับผิดทางแพ่ง การบังคับคดีตามคำพิพากษา แต่ไม่ได้มีอำนาจในการให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่รัฐบาล (โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ พัชราภรณ์ ศิริวิมลกุล, “สาธารณรัฐโปรตุเกส”, วารสารวิชาการศาลปกครอง ฉบับพิเศษ  (ตุลาคม ๒๕๕๒) : หน้า ๖๘-๖๙
       
       
       [๘] ประเทศกรีซหรือสาธารณรัฐเฮเลนิกใช้ระบบศาลคู่ โดยมีองค์กรสูงสุดในการพิจารณากระบวนการยุติธรรมทางแพ่งและทางอาญาคือศาลฎีกา ส่วนองค์กรสูงสุดในการพิจารณากระบวนการยุติธรรมทางปกครองคือ สภาแห่งรัฐ  องค์กรวินิจฉัยคดีปกครองของกรีซมี ๓ ชั้นศาล คือ ศาลปกครองชั้นต้น ศาลปกครองชั้นอุทธรณ์และสภาแห่งรัฐ นอกจากนั้นยังมีศาลตรวจเงินแผ่นดินที่มีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับการเงินการคลัง เงินบำเหน็จบำนาญของข้าราชการ และความรับผิดในทางปกครองของเจ้าหน้าที่ของรัฐอีกด้วย โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ ณัฐพร อรุณทอง, “สาธารณรัฐเฮเลนิก”, วารสารวิชาการศาลปกครอง ฉบับพิเศษ  (ตุลาคม ๒๕๕๒) : หน้า ๓๓-๓๕
       
       
       [๙] โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติม ที่ E.Spilotopoulos, Droit administratif hellénique, 2 éd., Athènes-Bruxelles, 2004, p.154 และ 166 
       
       
       [๑๐] « l’autorité de l’Etat n’était pas en cause, mais seulement son patrimoine »
       
       
       [๑๑] ระบบการศาลของออสเตรียเป็นระบบศาลคู่โดยได้รับอิทธิพลส่วนใหญ่มาจากเยอรมนี มีศาลปกครองสูงสุดซึ่งจัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ. ๑๘๗๖ หน้าที่พิจารณาพิพากษาข้อพิพาทตามกฎหมายมหาชน ซึ่งเป็นไปตามมาตรา ๑๒๙ ของรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐออสเตรีย ศาลปกครองมีหน้าที่ในการเป็น “หลักประกันความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครองทั้งมวล” ศาลปกครองจึงมีหน้าที่ควบคุมความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งทางปกครองและคุ้มครองสิทธิของประชาชนจากการที่ฝ่ายปกครองละเลยต่อหน้าที่ รัฐบัญญัติว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครองบัญญัติให้คดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองคือ คดีโต้แย้งคำสั่งทางปกครองและคดีละเมิดหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือคดีละเลยต่อหน้าที่ โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ เบญสุดา เฉลิมวิสุตม์กุล, “สาธารณรัฐออสเตรีย”, วารสารวิชาการศาลปกครอง ฉบับพิเศษ  (ตุลาคม ๒๕๕๒) : หน้า ๕๓-๕๔
       
       
       [๑๒] ระบบการศาลของเยอรมนีเป็นระบบศาลคู่ กล่าวคือ ประกอบไปด้วยศาลทั่วไป ๕ ระบบศาล (ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลแรงงาน ศาลสังคม และศาลภาษี) และศาลรัฐธรรมนูญซึ่งต่างก็ไม่ขึ้นต่อกัน อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและรัฐบัญญัติการรักษาเอกภาพแห่งคำพิพากษา ได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๙๕ (๓) ให้มีการจัดตั้งองค์คณะรวมของศาลสูงสุดสหพันธรัฐ เพื่อธำรงไว้ซึ่งเอกภาพแห่งคำพิพากษา โดยบัญญัติให้องค์คณะดังกล่าวประกอบไปด้วยประธานศาลทั้ง ๕ ระบบ และหากว่าศาลแห่งสหพันธรัฐใดต้องการตัดสินคดีให้แตกต่างกับคำตัดสินของสหพันธรัฐอื่นๆ ศาลแห่งสหพันธรัฐนั้นต้องส่งเรื่องเข้าไปที่องค์คณะรวมของศาลสูงสุดแห่งสหพันธรัฐ สำหรับระบบศาลปกครองนั้นมี ๓ ชั้นศาล คือ ศาลปกครองชั้นต้น ศาลปกครองชั้นสูง (อุทธรณ์) และศาลปกครองแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเป็นศาลปกครองสูงสุด อำนาจศาลปกครองเป็นไปตามมาตรา ๔๐ วรรคหนึ่งแห่งรัฐบัญญัติวิธีพิจารณาคดีปกครองที่บัญญัติว่า “ศาลปกครองมีอำนาจในคดีพิพาทในแดนกฎหมายมหาชนที่มิใช่กรณีพิพาทตามรัฐธรรมนูญ...” โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ เชิดวุฒิ สินพิมลบูรณ์, “สหพันธสาธารณรัฐเยอรมนี”, วารสารวิชาการศาลปกครอง ฉบับพิเศษ  (ตุลาคม ๒๕๕๒) : หน้า ๕๐-๕๒
       
       
       [๑๓] « lorsqu’une personne, dans l’exercice d’une fonction publique dont elle est investie, viole ses obligations de service envers un tiers »
       
       
       [๑๔] รัฐธรรมนูญเบลเยียมกำหนดให้ระบบศาลของเบลเยียมในปัจจุบันเป็นระบบศาลเดี่ยว โดยมีสภาแห่งรัฐทำหน้าที่ในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีปกครองและเป็นองค์กรที่ปรึกษาทางกฎหมาย โดยรัฐธรรมนูญเบลเยียมบัญญัติรับรองสถานภาพของสภาแห่งรัฐไว้อย่างเป็นทางการว่า สภาแห่งรัฐแผนกคดีปกครองมีสถานะเป็นองค์กรวินิจฉัยคดีปกครองที่เป็นองค์กรอิสระจากฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการและฝ่ายบริหาร แม้ว่าสภาแห่งรัฐจะต้องอาศัยงบประมาณจากฝ่ายบริหารแต่การดำเนินงานของสภาแห่งรัฐก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาหรืออำนาจกำกับดูแลจากฝ่ายบริหาร สภาแห่งรัฐอาจถูกตรวจสอบภาระหน้าที่จากศาลฎีกาได้เพียงประการเดียว คือ ปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการวินิจฉัยเกินอำนาจหน้าที่ (outrepasser ses compétences) และสภาแห่งรัฐย่อมไม่มีอำนาจในการพิจารณาในประเด็นความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายและมีหน้าที่ต้องส่งประเด็นดังกล่าวไปยังศาลชี้ขาดข้อพิพาท (la Cour d’arbitrage) โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ดร.เอกบุญ วงศ์สวัสดิ์กุล ดร.บรรเจิด สิงคะเนติและคณะ), รายงานการศึกษาวิจัย เรื่อง วิธีพิจารณาคดีปกครองเปรียบเทียบ เสนอต่อสำนักงานศาลปกครอง, กันยายน ๒๕๔๙
       
       
       [๑๕] « les demandes d’indemnité relatives à la réparation d’un dommage exceptionnel, moral ou matériel, causé par une autorité administrative »
       
       
       [๑๖] « Des lois coordonnées sur le Conseil d’Etat »
       
       
       [๑๗] ระบบศาลของอิตาลีในอดีตเป็น “ระบบศาลเดี่ยว” กล่าวคือ มีศาลยุติธรรมเพียงศาลเดียวที่มีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีทุกประเภท ซึ่งต่อมาพบว่าการใช้ระบบศาลเดี่ยวก่อให้เกิดปัญหาจำนวนมาก เนื่องมาจากสาเหตุที่ว่า ศาลยุติธรรมมีเพียงอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีปกครองแต่ไม่มีอำนาจเพิกถอนนิติกรรมทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ดังนั้น จึงมีการออกรัฐบัญญัติ เลขที่ ๕๙๙๒ ลงวันที่ ๓๑ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๘๙ เพื่อตั้งสภาแห่งรัฐคณะที่สี่ขึ้น (ซึ่งแต่เดิมนั้น สภาแห่งรัฐมีเพียงองค์คณะที่ ๑-๓ และทำหน้าที่ในการเป็นที่ปรึกษากฎหมาย) โดยให้มีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง อาจถือได้ว่ารัฐบัญญัติฉบับดังกล่าวเป็นกฎหมายที่จัดให้มี “ศาลปกครอง” เป็นเอกเทศจากศาลยุติธรรม และส่งผลให้ระบบศาลของสาธารณรัฐอิตาลีเป็นระบบ “ศาลคู่” นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ต่อมาเมื่อสาธารณรัฐอิตาลีมีการตรารัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. ๑๙๔๘ ก็ได้มีการบัญญัติรองรับอำนาจของศาลปกครองไว้ในรัฐธรรมนูญดังกล่าวโดยบัญญัติให้ระบบศาลในสาธารณรัฐเป็นระบบศาลคู่ (คือศาลยุติธรรมและศาลปกครอง) และกำหนดให้ศาลปกครองมีสองลำดับชั้น กล่าวคือ สภาแห่งรัฐทำหน้าที่เป็นศาลปกครองสูงสุด และศาลปกครองในภูมิภาคทำหน้าที่เป็นศาลปกครองชั้นต้น  โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ กาญจนา ปัญญานนท์, “สาธารณรัฐอิตาลี”, วารสารวิชาการศาลปกครอง ฉบับพิเศษ  (ตุลาคม ๒๕๕๒) : หน้า ๒๒-๒๗
       
       
       [๑๘] ซึ่งเป็นรัฐบัญญัติที่มีข้อความเช่นเดียวกับรัฐกฤษฎีกา (le décret) เลขที่ ๘๐ ลงวันที่ ๓๑ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๙๘
       
       
       [๑๙] การเพิกถอนคำสั่งทางปกครองมีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ฝ่ายปกครองออกคำสั่ง (l’effet rétroactif)
       
       
       [๒๐] ประเทศเนเธอร์แลนด์มีสภาแห่งรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลและทำหน้าที่เป็นศาลปกครองสูงสุดของประเทศ ในส่วนของหน้าที่เป็นศาลปกครองสูงสุดนั้น สภาแห่งรัฐจะทำหน้าที่เป็นศาลปกครองสูงสุด ซึ่งมีเขตอำนาจทั่วไปในประเทศเนเธอร์แลนด์ ในการพิจารณาคดีพิพาททางปกครองที่ฟ้องตรงต่อสภาแห่งรัฐตามที่ระบุในกฎหมาย รวมถึงการฟ้องร้องที่เกี่ยวกับการออกคำสั่งของฝ่ายปกครอง รวมถึงการพิจารณาอุทธรณ์ที่ยื่นโดยเจ้าหน้าที่รัฐ สมาคม หรือบริษัทเอกชน โต้แย้งคำสั่งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนจังหวัด หรือรัฐบาลกลาง ตลอดจนข้อพิพาทซึ่งเกิดจากองค์กรของรัฐทั้งสองฝ่าย อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณาคดีบางประเภทสภาแห่งรัฐจะทำหน้าที่เป็นศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุดในเวลาเดียวกัน อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากสภาแห่งรัฐที่ทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีปกครองแล้ว ยังมีศาลอุทธรณ์ส่วนกลางในจังหวัด Utrect ที่เป็นศาลสูงสุดในการพิจารณาคดีเกี่ยวกับข้าราชการพลเรือน ส่วนคดีปกครองที่เกี่ยวกับสังคม-เศรษฐกิจนั้น อยู่ภายใต้อำนาจในการพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองสำหรับการค้าและอุตสาหกรรม โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ พัชราภรณ์ ศิริวิมลกุล, “ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์”, วารสารวิชาการศาลปกครอง ฉบับพิเศษ  (ตุลาคม ๒๕๕๒) : หน้า ๓๖-๓๘
        
       
       


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1810
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 18:56 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)