|
|
ครั้งที่ 307 30 ธันวาคม 2555 22:24 น.
|
สำหรับวันจันทร์ที่ 31 ธันวาคม 2555 ถึงวันอาทิตย์ที่ 13 มกราคม 2556
แน่ใจหรือว่าจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ปี พ.ศ. 2555 เป็นอีกปีหนึ่งที่มีเหตุการณ์สำคัญๆ เกิดขึ้นมากมาย การเมืองที่แย่มาตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ. 2549 ก็ยังคงแย่อยู่เหมือนเดิม ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นและเกี่ยวข้องกับการเมืองก็ยังคงวนเวียนอยู่กับเรื่องของ ทักษิณ เกิดอะไรขึ้นก็มี ทักษิณ เป็นต้นเหตุหรือเป็นการทำเพื่อ ทักษิณ ทั้งนั้น ชื่อของ ทักษิณ เป็นชื่อที่ถูกนำมาใช้กับทุกๆ เรื่อง เป็นชื่อที่มีคนพูดถึงมากที่สุดแล้วก็เป็นชื่อที่กลายมาเป็นต้นเหตุของความวุ่นวายทางการเมืองอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมา เป็นชื่อที่หากเอาไป ปะ ไว้บนเรื่องเรื่องหนึ่งก็จะทำให้สิ่งที่ถูกปะขายได้ แต่ในเวลาเดียวกันก็เป็นชื่อที่หากเอาไป ปะ ไว้บนเรื่องอีกเรื่องหนึ่งก็จะทำให้สิ่งที่ถูกปะมีปัญหาและถูกคัดค้านอย่างรุนแรงครับ
เรื่องวุ่นๆ เรื่องสุดท้ายที่เกิดขึ้นปลายปี 2555 คงหนีไม่พ้นเรื่องของการออกเสียงประชามติ หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 18-22/2555 และมีตอนหนึ่งในคำวินิจฉัยที่ได้กล่าวเอาไว้ว่า เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้มาโดยการลงประชามติของประชาชนก็ควรจะได้ให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าสมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ รัฐสภาและรัฐบาลต่างก็พยายามหาทางออกให้กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ยัง คา อยู่ในรัฐสภา ต่อมา เมื่อคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลได้เสนอแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้พรรคร่วมรัฐบาลพิจารณา บทสรุปที่ได้มาก็คือ คณะรัฐมนตรีควรจะเป็นผู้จัดให้มีการออกเสียงประชามติตามมาตรา 165 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเพื่อสอบถามประชาชนว่าสมควรที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ เรื่องดังกล่าวกลายเป็นหัวข้อสนทนาและวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่นักการเมือง บางคนก็ดูออกอาการ ฝ่อ กลัวว่าหากมีการออกเสียงประชามติแล้วปรากฏว่าได้คะแนนไม่ผ่านเกณฑ์ รัฐบาลก็จะอยู่ไม่ได้แล้วการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะไม่เกิดขึ้น บางคนก็ออกอาการกลัวว่าแม้จะได้คะแนนผ่านเกณฑ์แต่ก็อาจมีคนไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญด้วยเหตุอื่นที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วก็อาจจะกลายเป็นเหตุให้ถูกยุบพรรคการเมืองได้ จนบัดนี้ หนึ่งเดือนผ่านไปก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนจากฝ่ายการเมืองว่าจะหาทางออกอย่างไรเพื่อให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สามารถทำได้
ความเห็นส่วนตัวของผมนั้นชัดเจนมาตั้งแต่แรกแล้วว่าไม่เห็นด้วยกับการให้ประชาชนออกเสียงประชามติก่อนการลงมติในวาระที่สามของรัฐสภา ที่ผมไม่เห็นด้วยก็เพราะนอกจากจะสิ้นเปลืองงบประมาณของประเทศไปอย่างไม่เกิดอะไรทั้งนั้นเลยแล้ว ก็ยังไม่เห็นด้วยเพราะมองไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องไปเดินตาม คำแนะนำ ของศาลรัฐธรรมนูญเนื่องจากในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญรวมไปถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับนั้น ไม่มีมาตราใดเลยในรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการเข้ามาตรวจสอบ การดำเนินการของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาเป็นการใช้อำนาจที่ตนเองไม่มี จึงไม่มีผลผูกพันให้ใครต้องปฏิบัติตาม ผมลองนึกเล่น ๆ ดูว่า สมมติคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญที่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้มาโดยการลงประชามติของประชาชนนั้นมี ตรรกะ และ เหตุผล มี แนวคิด และ ทฤษฎี ที่ถูกต้องรองรับอยู่ วิธีการดังกล่าวก็ควรจะต้องนำไปใช้กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแก้ไขที่กระทบต่อโครงสร้างหรืออำนาจหน้าที่ขององค์กรต่างๆ ที่รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ได้วางเอาไว้ ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2554 มีการจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) และ (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2554 การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ในครั้งนั้นเป็นการแก้ไขทั้งจำนวนและวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 2 ประเภทคือ ทั้งสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งกับแบบสัดส่วนซึ่งถือว่าเป็นการเป็นการแก้ไขที่กระทบต่อ หลักการสำคัญ ที่รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ได้กำหนดเอาไว้แต่ทำไมตอนนั้นถึงไม่มีใครยกประเด็นที่ว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องไปถามประชาชนก่อน หรือว่าเป็น ตรรกะ เหตุผล แนวคิด ทฤษฎี ที่ศาลรัฐธรรมนูญสร้างขึ้นมาใช้เฉพาะกับการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับก็ไม่ทราบได้ครับ !!!
ผม ยุ มาหลายครั้งแล้วว่า รัฐสภาควรลงมติในวาระที่สามเพื่อ รับ หรือ ไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ให้สิ้นเรื่องสิ้นราวไปเลย ถ้ากลัวเหลือเกิน ก็ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าเห็นแก่ความถูกต้องและเข้าใจคำว่า หน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ อย่างชัดเจนก็ควรจะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของตนเองต่อไปด้วยการลงมติในวาระที่สามรับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... แล้วก็รีบดำเนินการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญต่อไปเลย แต่ถ้าไม่กล้าลงมติในวาระที่สามเพื่อ รับ ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... แล้วก็ไม่กล้าที่จะนำประเด็นดังกล่าวไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติ ทางเลือกหนึ่งที่อาจทำได้ก็คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา
ตัวอย่างที่น่าสนใจของการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในประเทศไทยก็คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปี พ.ศ. 2534 ซึ่งมาจากการรัฐประหารเคยถูกแก้เป็นรายมาตรา ครั้งใหญ่ มาแล้ว 1 หน โดยในการแก้ครั้งนั้นเป็นการแก้ไขถึง 188 มาตรา ในหมวด 3-11 ยกเว้น ไม่แตะ อยู่ 2 หมวดคือ หมวด 1 บททั่วไป กับหมวด 2 พระมหากษัตริย์
ผมพยายามค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนั้นแต่ก็พบว่าหายากเหลือเกิน ที่พบแล้วก็มีรายละเอียดพอเข้าใจได้ก็คือข้อมูลที่อยู่ในหนังสือ เรื่อง วิวัฒนาการของระบอบรัฐธรรมนูญไทยจากอดีตถึงปัจจุบัน ของ ศ.ดร.กระมล ทองธรรมชาติ และ ดร.เชาวนะ ไตรมาศ ซึ่งผมขอคัดลอกนำมาเสนอไว้ในที่นี้
...นอกจากนั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยังมีการแก้ไขในสาระสำคัญอีก 2 ครั้ง โดยในครั้งแรกซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมในเดือนมกราคม พ.ศ. 2538 ระหว่างที่นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี มีสาเหตุสืบเนื่องมาจากกระแสความเรียกร้องต้องการของประชาชน นักวิชาการ นักการเมืองที่รักประชาธิปไตย และสื่อมวลชน เคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลและรัฐสภา จนกระทั่ง สภาผู้แทนราษฎรได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีนายชุมพล ศิลปอาชา เป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปลายปี 2536 และสามารถจัดทำรายงานเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรโดยเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถึง 25 ประเด็นด้วยกัน อาทิ ให้มีศาลรัฐธรรมนูญ และลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งจาก 20 ปี ลงเหลือ 18 ปี เป็นต้น ปรากฏว่า ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นต่าง ๆ ดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่เพียงประเด็นเดียวคือ ลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงเหลือ 18 ปีเท่านั้น ในขณะเดียวกันสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 159 คน โดยมีพรรคชาติไทยเป็นแกนนำ ได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเช่นกัน และได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ในคราวประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ 1 (สมัยวิสามัญ) ในวันที่ 4 มกราคม 2538 ในวาระที่สาม ด้วยคะแนนเสียง 591 จากจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ทั้งสองสภา 630 คน ในขณะนั้น ส่งผลให้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขฉบับที่ 5 มีผลใช้บังคับในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2538 ครั้งนี้ถือว่าเป็นการแก้ไขในสาระสำคัญอีกครั้งหนึ่ง รวมกันถึง 188 มาตรา ครอบคลุมสาระสำคัญเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย จำนวนวาระและอำนาจหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภา หลักเกณฑ์การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อายุของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา คณะกรรมการการเลือกตั้ง ศาลปกครอง และการกระจายอำนาจการเงินการคลังให้แก่ท้องถิ่น ทั้งนี้ ประกอบด้วยการแก้ไขหมวดและมาตราดังต่อไปนี้
แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 3 ถึง หมวด 11 มาตรา 24 ถึงมาตรา 211 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 ซึ่งเป็นเรื่องที่ว่าด้วย สิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย (หมวด 3) หน้าที่ของชนชาวไทย (หมวด 4) แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ (หมวด 5) รัฐสภา (หมวด 6) คณะรัฐมนตรี (หมวด 7) ศาล (หมวด 8) การปกครองท้องถิ่น (หมวด 9) ตุลาการรัฐธรรมนูญ(หมวด 10) และการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (หมวด 11)
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2538 จะมีผลทำให้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2534 มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นก็ตาม แต่ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยจำนวนหนึ่งก็ยังไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยอ้างว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีที่มาจากคณะ รสช. และเรียกร้องให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยเฉพาะเรืออากาศตรีฉลาด วรฉัตร ได้ลงทุนเรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ด้วยการอดข้าวประท้วง หน้าอาคารรัฐสภาเป็นเวลานานตั้งแต่เดือนเมษายน 2538 พอดีในระยะเดียวกันนี้ คณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย ซึ่งประธานรัฐสภานายมารุต บุญนาค ตั้งขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2537 โดยมีศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี เป็นประธานเพื่อทำหน้าที่ศึกษาหาแนวทางในการพัฒนาประชาธิปไตย ได้นำเสนอรายงานการศึกษาให้แก่ประธานรัฐสภาเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2538 โดยรายงานดังกล่าวได้เสนอให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับเพื่อปฏิรูปการเมืองทั้งระบบให้เป็นประชาธิปไตยที่ชอบธรรมและเข้มแข็งมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งสามารถทำได้โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 มาตรา 211 เสียใหม่ อนุญาตให้มีการร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้...
นอกจากข้อมูลข้างต้นแล้ว เหตุผลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ปรากฏอยู่ในตอนท้ายของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พุทธศักราช 2538 ยังได้อธิบายถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ครั้งใหญ่ เอาไว้ว่า ...โดยที่ในขณะนี้มีการเรียกร้องให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในประเด็นต่างๆ หลายประเด็น และได้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนหนึ่งเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติมประเด็นละฉบับ ซึ่งการแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวจะทำให้เกิดความขัดแย้งในบทบัญญัติต่างๆ ที่มิได้แก้ไขเพิ่มเติม และโดยเหตุที่ในปัจจุบันมีผู้เสนอแนวคิดใหม่ๆ ที่สมควรบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงเป็นการสมควรที่จะได้ดำเนินการให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันพิจารณาเพื่อปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยใหม่ในส่วนสำคัญๆ ทั้งฉบับให้เกิดความสมานฉันท์ เป็นการแสดงถึงความรู้รักสามัคคีของคนในชาติ ดังกระแสพระราชดำรัสซึ่งได้พระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทยทั้งชาติ จึงจำเป็นต้องตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปรับปรุงและแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ขึ้น...
เมื่อได้อ่านข้อมูลที่ได้นำเสนอไปทั้งหมดแล้วผมเกิดความรู้สึก ผิดหวัง ในหลายๆ เรื่องด้วยกัน แต่เรื่องที่ ผิดหวัง มากที่สุดก็คือ คุณภาพของนักการเมือง (บางกลุ่ม) และประชาชน (บางกลุ่ม) ที่ทำให้ต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมความรู้ ความคิดและความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยของนักการเมือง (บางกลุ่ม) และประชาชน (บางกลุ่ม) ในปัจจุบันถึงได้แตกต่างไปจากนักการเมือง (บางกลุ่ม) และประชาชน (บางกลุ่ม) ในอดีตเป็นอย่างมาก ทั้งๆ ที่ไม่ควรมีความแตกต่าง !!! ก่อนปี พ.ศ. 2540 ขนาดรัฐสภาแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่เกิดจากการรัฐประหารไปแล้วเกือบทั้งฉบับเพื่อให้มีเนื้อหาที่เป็นประชาธิปไตย ก็ยังมีนักการเมือง (บางกลุ่ม) และประชาชน (บางกลุ่ม) ออกมาเรียกร้องขอให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปี พ.ศ. 2534 นั้นมีที่มาจากคณะรัฐประหาร มีรูปแบบที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย เรียกร้องกันจนกระทั่งในเวลาเพียงไม่กี่เดือนหลังจากที่รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับ 5) มีผลใช้บังคับ รัฐสภาก็จัดทำรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6) ขึ้น เพิ่มหมวดใหม่ที่เกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญอันเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ดูแล้วช่างแตกต่างไปจากนักการเมือง (บางกลุ่ม) และประชาชน (บางกลุ่ม) ในปัจจุบันอย่างลิบลับที่คิดเป็นเพียงอย่างเดียวคือ เกลียดทักษิณ จนทำให้ดวงตามืดมัวมองไม่เห็นความถูกต้อง มองไม่เห็นความน่าเกลียดของมาตรา 309 มองไม่เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 มีที่มาจากการรัฐประหาร มองไม่เห็นบทบัญญัติจำนวนหนึ่งที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย คนเหล่านี้พากันออกมาปกป้องสิ่งที่ไม่ควรปกป้อง โดยไม่นึกเลยสักนิดว่าตนเองกำลังทำสิ่งที่ขัดกับแนวคิดและหลักการของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอยู่
ไม่ทราบจริงๆ ว่า ทำไมคนเหล่านั้นถึงได้คิดได้แค่นั้นเองครับ
การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา (ครั้งใหญ่) ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี พ.ศ. 2538 น่าจะเป็นทางออกอีกทางหนึ่งของความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลและรัฐสภาในปัจจุบัน
แต่เชื่อเถิดครับ ผมเดาเอาว่ายังไงๆ รัฐบาลและรัฐสภาก็ไม่กล้าที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ในช่วงเวลานี้อย่างแน่นอนครับ
ก็กลัว ศาลรัฐธรรมนูญ จบแทบจะไม่กล้า หายใจ อยู่แล้วครับ
ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอสามบทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความของ รองศาสตราจารย์เจริญศักดิ์ ศาลากิจ แห่งคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เขียนเรื่อง ความชอบด้วยกฎหมายของร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ บทความที่สองเป็นบทความของคุณชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ ที่เขียนเรื่อง เลือกตั้งผู้ว่าฯ : กรุงเทพมหานคร กับ เชียงใหม่มหานคร และบทความที่สามเป็นบทความเรื่อง รัฐไทยกับการจัดทำกฎหมายทรัพยากรน้ำ : บทสะท้อนการมีส่วนร่วมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ปี 2540 (ตอนที่ 1) โดย คุณธีรพัฒน์ อังศุชวาล นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสามบทความด้วยครับ
เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ ผมและทีมงาน www.pub-law.net ขออวยพรให้ผู้ใช้บริการทุกคนมีแต่ความสุข สมหวัง สมปรารถนาทุกประการตลอดปี 2556 ครับ
พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 14 มกราคม 2556
ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1809
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 12:59 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|